เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น
.
ขอคุยเรื่องเบา ๆ สลับฉากเป็นเสมือนภาคแยกบ้าง !
.
เรื่องเอกสารแนบท้าย 1 หน้ากระดาษที่มีลักษณะเป็นแผนที่หรือแผนผังแสดงพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนของทั้งกัมพูชาและไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนขีดเส้นแทยงถี่ ๆ มองไกล ๆ เห็นเป็นสีเทา ส่วนล่างเป็นสีขาวตามปกติ
.
เส้นแบ่งพื้นที่เป็นส่วนบนและส่วนล่างนี่ละที่เป็นประเด็น
.
พวกเรารู้จักกันมานานในนาม…
.
“ละติจูดที่ 11 องศาเหนือ”
.
ในเอกสารประกอบทั้งฉบับภาษาอังกฤษกับภาษาไทย มีระบุตัวเล็ก ๆ ไว้ตรงส่วนปลายทางขวามือของเส้นแนวนอนของกระดาษเส้นที่ 2 จากข้างบน เขียนไว้ตรงกัน ผมตัดแยกออกมาวงกลมสีเหลืองไว้ให้เห็นชัดขึ้นหน่อย
.
“11° E”
.
E คือ “East” หรือตะวันออก !
.
งงมั้ยล่ะ ก็เส้นสมมติทางภูมิศาสตร์แนวนอนบนแผนที่โลกเพื่อใช้ระบุพิกัดว่าอยู่ส่วนไหนของพื้นโลกนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “ละติจูด” (Latitude) หรือที่เราเรียนภูมิศาสตร์กันแต่เด็ก ๆ จนลืมไปแล้วเรียกว่า “เส้นรุ้ง” ตัวเลขมีตั้งแต่ 0 - 90 หมายความว่าทำมุมกี่องศากับเส้นศูนย์สูตร (Equator) เป็นเส้นแนวนอนเริ่มจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นและลงไปยังขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ จึงมีหน่วยเรียกขานแต่ละเส้นเป็น ”องศาเหนือ“ กับ ”องศาใต้“ เท่านั้น
.
มีแต่ °N กับ °S เท่านั้น
.
ต่างกับเส้นสมมติทางภูมิศาสตร์แนวตั้งคือ “ลองติจูด” (Longitude) หรือ “เส้นแวง” ที่มีหน่วยเรียกขานเป็น “องศาตะวันออก” กับ “องศาตะวันตก” เท่านั้นเช่นกัน
.
มีแต่ °E กับ °W เท่านั้น
.
แล้วเส้นสำคัญใน MOU 2544 ที่ระบุว่าเป็น “11° E” นี่มันอะไรกัน !
.
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ทำให้งงขึ้นคือเส้นที่ควรจะหมายถึงละติจูดล่าง ๆ ลงมาเป็นเส้นที่ 3 ที่ 4 ในแผนผังก็ล้วนใช้หน่วยเป็น ”°E” ทั้งนั้น
.
“10° E” และ ”9° E” อย่างที่เห็น !
.
จะบอกว่าไม่ใช่ละติจูด ก็ไม่ได้ เพราะหน่วยระบุเส้นแนวตั้งที่ควรจะเป็นลองติจูดนั้นใช้หน่วยถูกต้อง และตรงตามพิกัดภูมิศาสตร์ที่เป็นจริง คือ ”องศาตะวันออก“ หรือ ”° E” ตามที่เห็นอยู่ 3 เส้น
.
“101° E”, “102° E” และ ”103° E”
.
ตีความประกอบกันแล้ววินิจฉัยได้ว่าเขียนผิดหรือพิมพ์ผิด !
.
ที่เขียนว่า “11° E” นั้น ผิด ที่ถูกต้องเป็น…
.
”11° N”
.
ถามว่าเอกสารแนบท้ายนี้สำคัญแค่ไหน ก็ต้องตอบว่าสำคัญมาก เพราะในเนื้อความ 2 หน้ากระดาษก่อนหน้าไม่ได้ระบุข้อความบรรยายระบุพิกัดไว้เลย เขียนไว้ในข้อ 2 (a) หรือ 2 (ก) และข้อ 2 (b) หรือ 2 (ข) โยนมาที่ “เอกสารแนบท้าย” เลย
.
“จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม ดังปรากฎในเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาพัฒนาร่วม) และ…” - ข้อ 2 (ก)
.
“การตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย” - ข้อ 2 (ข)
.
ควรเข้าใจร่วมกันว่า MOU 2544 นี้แม้จะยังเป็นแค่ “กรอบการเจรจา” และแม้จะใช้ชื่อว่า ”บันทึกความเข้าใจ…“ แต่การลงนามโดยผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 นี่ไม่ใช่ผมพูดเอง แต่เป็นการยืนยันเป็นข้อเขียนทางวิชาการชิ้นสำคัญเมื่อปี 2554 ของนักกฎหมายชั้นครูผู้เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่มีบทบาทโดยตรงกับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้
.
อ้อ และตัว MOU 2544 ในข้อ 2 (ก) ที่ยกมาข้างต้นก็ใช้คำว่า “สนธิสัญญา(พัฒนาร่วม)” นะ
.
ความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารแนบท้ายสนธิสัญญาที่กำหนดเขตไว้คร่าว ๆ ให้เข้าใจตรงกัน เพื่อเจรจาในรายละเอียดให้ได้ข้อยุติต่อไป ยังไม่ต้องกำหนดพิกัดให้ตรงเป๊ะ ๆ เหมือนระบุในประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของทั้ง 2 ประเทศ ดังที่ในเอกสารนี้เองหลายจุดก็เขียนหมายเหตุไว้ว่า “ซึ่งต้องรับรองความถูกต้องต่อไป” หรือ “to be verified” ก็จริง แต่มันก็ไม่ควรจะต้องผิดพลาดแบบขำ ๆ เป็นชนวนให้ถูกล้อเช่นนี้ ไม่รู้หลุดลอดสายตาบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถสูงตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการมาจนถึงรัฐมนตรีผู้ลงนามได้อย่างไร
.
คนส่วนใหญ่อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่ได้สังเกต หรือพอเห็นแล้วก็เข้าใจได้ว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ไม่น่าจะกระทบสารัตถะของสนธิสัญญา แต่ในการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความผิดพลาดนี้จะกระทบสารัตถะหลักหรือไม่อย่างไรในอนาคต ยังไม่อาจทราบได้
.
จะเขียนล้อเขียนเสียดสีให้สนุกสนานเฮฮากันมากกว่านี้ ก็พอทำเป็นนะ
.
แต่ไม่ละครับ เห็นใจ
.
เข้าใจความรู้สึกของคนของกระทรวงการต่างประเทศเวลาไปชี้แจงในเวทีกรรมาธิการต่าง ๆ แล้วถูกถามเรื่อง “11° E” นี้
.
“เขียนผิด” จาก “° N” เป็น ”° E” แค่นี้พอทน
.
ขออย่า “คิดผิด” ในหลักการก็แล้วกัน…
.
หากเป็นเช่นนั้น สุดจะทน
.
.
คำนูณ สิทธิสมาน
13 พฤศจิกายน 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน
'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน
ทร. เตรียมจัดเสวนาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ปม MOU 44 หวังสื่อสารให้สังคมเข้าใจ
พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี เมื่อถามว่า อดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงกรณี MOU 44
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
‘หมอวรงค์’ ขอบคุณคนคลั่งชาติ ร่วมลงชื่อยกเลิก MOU44 ทะลุหลักแสน
หมอวรงค์ ขอบคุณคนคลั่งชาติ ร่วมลงชื่อ ยกเลิก MOU44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูด
ถึงบางอ้อ ดร.เสรี เผยเหตุ 'กัมพูชา' ยอมตกลง MOU44
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนาม MOU44 มีหรือจะพูดว่า MOU44 ไม่ดีสำหรับประเทศไทย เขาย่อมพูดว่าเป็นผลดี
‘ภูมิธรรม’ มั่นใจนายกฯกลับมาประชุมตั้ง ‘เจทีซี’ เสร็จ ชงเข้าครม.19 พ.ย.ทันที
‘ภูมิธรรม’ ระบุ หากนายกฯกลับมา เรียกถก ตั้ง เจทีซี วันนี้ก็ เข้าครม.ทันพรุ่งนี้ โยน กต.เคาะรายชื่อ ลั่น เกาะกูดไม่จบซํ้ารอยเขาพระวิหารแน่ ยัน ไม่มีเหตุผลต้องยกเลิกเอ็มโอยู 44