ไม่เลิก MOU 44 ได้สอง-เสียสาม !

คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ
.
เอาเลยครับ เป็นหน้าที่และอำนาจรวมทั้งความรับผิดชอบของท่าน
.
ผมขอตั้งประเด็นบ้างว่าถ้าไม่เลิก MOU 2544 เดินหน้าต่อไปตามกรอบเดิมเป๊ะ ๆ ไม่ปรับ ไม่แก้ สมมติถ้าเจรจาสำเร็จ เราจะ “ได้” และจะ “เสีย” อะไร
.
ย้ำว่าเป็นเรื่อง “ถ้า..” หรือ “สมมติ..” ว่าการเจรจาเดินหน้าต่อไปจนสำเร็จถึงขั้นสามารถมีข้อตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชา
.
ขอฟันธงว่า….
.
ได้สอง-เสียสาม !
.
“ได้หนึ่ง” - ได้ผลประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียม
.
ข้อนี้ได้แน่ ๆ สมใจวัตถุประสงค์หลักของ MOU 2554 ข้อ 2 (ก) คือได้จากส่วนแบ่งในการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ผืนดินใต้ทะเลเขตไหล่ทวีปอ้างสิทธิทับซ้อนในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วมไทยกัมพูชา (JDA) จำนวน 16,000 ตารางกิโลเมตรใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ หรือเขตสีเหลืองในภาพประกอบ
.
ส่วนจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นตัวเงินจริง ๆ เท่าไร ขึ้นอยู่กับข้อตกลง และมูลค่าสัมปทานในการผลิตปิโตรเลียมที่จะเกิดขึ้นจริง
.
เป็นหลักล้านล้านบาทแน่นอน !
.
และนอกจากส่วนแบ่งโดยตรงแล้ว ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนึ้ที่จะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน บวกกับภาระของประชาชนในค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะลดลงระดับหนึ่ง อาจตีค่าเป็นเม็ดเงินได้อีกมากเช่นกัน
.
ได้ผลประโยชน์มหาศาล - พอพูดได้
.
“ได้สอง” - ได้ความสบายใจเต็มร้อยในเรื่องเกาะกูด
.
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลบนพื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อน 10,000 ตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือตาม MOU 2544 ขัอ 2 (ข) ที่กำหนดให้ต้องกระทำพร้อมกันไปชนิดแบ่งแยกกันไม่ได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์บนพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตามข้อ 2 (ก) ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ก็ไม่พ้นที่กัมพูชาจะต้องเสียเขตแดนทางทะเลทันทีจากเขตไหล่ทวีปที่ประกาศกฤษฎีกากำหนดไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ไม่มากก็น้อย แนว A-S-P ด้านบนที่แสดงไว้ในภาพประกอบจะเปลี่ยนไป แม้แต่เส้นเว้าอ้อมเกาะกูดเป็นรูปตัว U ตามผังท้าย MOU 2544 ก็จะเปลี่ยนไป โดยความเป็นได้มากที่สุดคือขยับเส้นเขตไหล่ทวีปด้านบนส่วนกลางตรงจุด S (ยอดเขาสูงสุดบนเกาะกูด) และส่วนปลายทางทิศตะวันตก ณ จุด P ลงมาทางใต้พอสมควร เกาะกูดจะไม่ถูกรบกวนรุกล้ำโดยเส้นใด และยังจะมีทะเลอาณาเขตเหลืออยู่แน่
.
จะไม่เหลือประเด็นให้พูดถึงเกาะกูดอีกต่อไปแน่นอน
.
หากจะมองว่าเป็นการได้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญยิ่งที่ประเทศเราต้องการ - ก็พอพูดได้
,
แต่อย่าลืมว่าปัญหานี้จบไปตั้งแต่เมื่อ 127 ปีที่แล้ว เมื่อเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 ชนิดไม่มีทางบิดเบือนเป็นอื่น ทะเลอาณาเขตของเกาะกูดก็ต้องเป็นของไทยด้วยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่นานาอารยะประเทศยึดถือ ไม่ว่ากฎเกณฑ์ที่ใน ค.ศ. 1907 ขณะทำสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ขณะกัมพูชาประกาศเขตไหบ่ทวีป หรือที่ชัดเจนที่สุดคืออนุสัญญาสหประขาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ UNCLOS 1982 ที่ใช้ในปัจจุบัน เมื่อกัมพูชารุกล้ำด้วยการประกาศเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2515 ประเทศไทยก็ได้ดำเนินการตอบโต้และยืนยันสิทธิอย่างแข็งขันมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ตั้งประภาคาร 6 แห่งบนเกาะกูด ส่งกำลังทหารเข้ารักษาการณ์ ไม่มีเหตุใด ๆ ให้ต้องกังวลจนต้องไปยอมสร้างนวัตกรรมกรอบการเจรจาพิสดารที่ส่งผลข้างเคียงใหม่ขึ้นมา ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการ “ลดระดับ” การยืนยันสิทธิของตนลงมาในระดับที่มีนัยสำคัญ
.
เอาละ แต่จะบอกว่าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ปลอดภัยล้านเปอร์เซนต์ จะได้ไม่ต้องมีประเด็นเรื่องนี้ให้หยิบยกมากล่าวอ้างกันอีก ก็ไม่ว่ากัน
.
แต่อยากจะบอกว่าเป็นการได้แค่ความสบายใจในสิ่งที่แท้จริงแล้วเป็นของเรามาแต่ต้น
.
คำถามที่ต้องถามคือ “ราคาที่ต้องจ่าย” นั้น “คุ้ม“ กันหรือไม่ ?
,
หรือพูดง่ายว่า “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ ?
.
ก็ต้องพิจารณาข้อเสียที่ผมเห็นว่าจะตามมาอีก 3 ประการ แล้วช่วยกันคิดช่วยกันตอบ
.
“เสียหนึ่ง” - เสียผลประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียม
.
จากเหตุเดียวกับ “ได้หนึ่ง“ ข้างต้นละครับ แต่เป็น “อีกด้านหนึ่งของเหรียญ” คือส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เราอาจจะได้หลายล้านล้านบาทนั้นเกิดบนฐานของรูปพรรณสัณฐานเขตพัฒนาร่วม (JDA) ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว โดยมีเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาและไทยเป็นพิกัดกำหนดทางทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก หรือด้านซ้ายกับด้านขวาในแผนผังท้าย MOU 2544 ตามที่แสดงไว้เป็นพื้นที่สีเหลืองในภาพประกอบ แต่หากเราไม่ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา พ.ศ. 2515 ขอให้เพื่อนเรากลับไปกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเสียใหม่ให้ตรงตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ละเมิดอธิปไตยไทยตลอดแนวตั้งแต่ส่วนบนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ (ในภาพคือแนว A-S-P) ส่วนกลางและล่างจจากจุด P ลงมา จนสุดทิศใต้แบ้ววกกลับทางตะวันออกไปยังชายฝั่งกัมพูชา แล้วค่อยพิจารณาเจรจาแบ่งประโยชน์ในเขตพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่ยังเหลืออยู่ เราอาจจะได้ส่วนแบ่งมากกว่านี้ หรืออาจเป็นของเราเกือบหมด
.
ส่วนที่เสียไปนี้จะคิดเป็นเงินเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่ของกัมพูชา และจำนวนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่จะยังคงมีอยู่จำนวนหนึ่ง
.
แต่ก็เป็นหลักล้านล้านบาทแน่นอนเช่นกัน !
.
เสียส่วนนี้คือเสียทันที
.
“เสียสอง” - เสียเขตแดนทางทะเลทันที
.
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลบนพื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อน 10,000 ตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือตาม MOU 2544 ขัอ 2 (ข) ที่จะต้องกระทำพร้อมกันไปชนิดแบ่งแยกจากกันไม่ได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์บนพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตามข้อ 2 (ก) ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ก็ไม่พ้นที่ไทยจะเสียเขตแดนทางทะเลทันที ไม่มากก็น้อย
.
โอกาสที่จะไม่เสียมีอยู่หนทางเดียว คือกัมพูชายอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศพระบรมราชโองการพ.ศ. 2516
.
ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
.
ตามกรอบ MOU 2544 โอกาสที่จะเป็นไปได้สูงสุดคือทั้งไทยและกัมพูชาตกลงเส้นเขตไหล่ทวีปกันใหม่เฉพาะส่วนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยเส้นที่ตกลงกันใหม่นั้นต้องไม่ลากผ่ากลางเกาะกูด ไม่ว่าจะลากผ่าน ลากเว้น หรือลากเว้าเป็นตัว U ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจุดไหนตำแหน่งใด ไทยก็จะเสียเขตแดนทางทะเลผิดไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศพระบรมราขโองการพ.ศ. 2516 ทั้งนั้น
.
จะเสียเขตแดนทางทะเลครั้งนี้ไปเท่าไร กี่ตารางกิโลเมตร ไม่ทราบ เทียบและชั่งน้ำหนักกับการได้ส่วนแบ่งมหาศาลจากการได้ใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมแล้ว คุ้มกันหรือไม่ ได้คุ้มเสียหรือไม่ พึงพิจารณาด้วยข้อมูลและสติปัญญา
.
ประเด็นนี้เราสูญเสียทันที
.
ทันทีที่ตกลงเสร็จ ผ่านรัฐสภา และลงนามในหนังสือสัญญา
,
รัฐบาลไหนทำสำเร็จ สมาชิกรัฐสภาคนไหนลงมติเห็นชอบ เจ้าหน้าที่รัฐคนไหนบ้างมีส่วนร่วมในกระบวนการ จะได้รับเกียรติบันทึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์จดจำกันไปชั่วลูกชั่วหลานแน่นอน
.
ฐานเป็นผู้ตัดสินใจทำให้ประเทศไทยต้องเสียเขตแดนทางทะเล !
.
เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลจากทรัพยากรปิโตรเลียมใต้อ่าวไทย !!
.
มีข้อสังเกตสำคัญชวนคิดแทรกตรงนี้ว่า หัวข้อ “ได้สอง” กับ “เสียสอง” คือการที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะต้องตกลงยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่เฉพาะพื้นที่ส่วนเหนือละติจูด 11 องศาเหนือแทนที่เส้นเขตไหล่ทวีปเดิมที่ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2515 และ 2516 นี่แหละคืออุปสรรคสำคัญที่สุดเบื้องต้นที่จะทำให้การเจรจาตามกรอบ MOU 2544 จบยาก หรือจบไม่ได้เลย


.
ทั้ง 2 ประเทศไม่ได้มีแค่รัฐบาล แต่มีทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน มีทั้งประขาขน
.
รวมทั้งมีการเลือกตั้งด้วย !
.
รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาอาจเห็นด้วยเหตุด้วยผลด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจว่าการได้ใช้ปิโตรเลียมในเวลาที่เหมาะสมนั้นคุ้มค่ามหาศาลกับการแลกเปลี่ยนใด ๆ แต่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศอาจจะคิดต่างออกไปเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ต้องแลกออกไปนั้นคือเขตแดนทางทะเลเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ พื้นที่จะต้องลดหดหายไปจากเส้นเขตไหล่ทวีปที่ประกาศไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 ในกรณีของกัมพูชา และ พ.ศ. 2516 ในกรณีของไทย
.
กัมพูชา “เปิดเกม” นี้ออกมาเองเมื่อ พ.ศ. 2515 จนประชาชนกัมพูชาจำนวนมากก็เชื่อไปแล้วว่าเกาะกูดอาจเป็นของเขาไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อปี พ.ศ. 2538 เคยมีข่าวลงในนสพ.กัมพูชาจนกระทรวงต่างประเทศของไทยต้องเชิญทูตกัมพูชามาพบ ทุกวันนี้ลองดูในโซเชี่ยลมีเดียของกัมพูชา หรือมุมมองของพรรคฝ่ายค้าน จะพบว่าไม่ง่ายนักต่อการตัดสินใจของรัฐบาลกัมพูชา เพราะการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 จะสำเร็จได้ส่วนแบ่งปิโตรเลียมก็ต่อเมื่อต้องเสียเขตแดนทางทะเลส่วนบนละติจูด 11 องศาเหนือ โดยยอมเบนเส้นขอบไหล่ทวีปด้านบนลงมาให้ห่างพ้นจากเกาะกูด
.
ที่สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญกัมพูชา ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) กำหนดเขตแดนของประเทศไว้ชัดเจน ห้ามเปลี่ยนแปลง ข้อตกลงหรือสัญญาใดที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไม่สามารถกระทำได้
.
ประเด็นนี้ ตัวแทนของรัฐบาลกัมพูชาได้กล่าวไว้ชัดเจนในพิธีเปิดการเจรจากับฝ่ายไทยครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538 ยุคนายสุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้ว โดยใช้คำว่าเขตแดนกัมพูชาเป็นเรื่อง Non negotiable !
.
แล้วกัมพูชาจะมาเจรจาตามกรอบ MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ได้อย่างไร
.
นี่แหละคือ “ทางตัน” ที่แท้จริง !
.
เอาละ จบข้อสังเกตสำคัญกันไว้แค่นี้ก่อน กลับไปสู่เรื่องที่ตั้งใจพูดต่อนะ
.
“เสียสาม” - (อาจ)เสียเขตแดนทางทะเลในอนาคต
.
พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตรใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ แม้ MOU 2544 ข้อ 2 (ก) จะกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่เจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล แต่มีโอกาสที่จะต้องเจรจาในอนาคต
.
ไม่ว่าจะอีกกี่สิบกี่ร้อยปี
.
เพราะ MOU 2544 เป็นกรอบสำหรับตกลงแบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมในเขตใต้พื้นทะเลไหล่ทวีปที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงในอ่าวไทยยังมีทรัพยากรอื่น ๆ อีกมากในน้ำทะเล อาทิ ปลา สัตว์น้ำต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิในการเดินเรือ การที่พื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 16,000 ตารางกิโลเมตรยังไม่ได้แบ่งเขตแดนทางทะเลกันชัดเจน อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือข้อพิพาทในอนาคตได้
.
ผลการเจรจาในอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ไม่ทราบ แต่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าถ้าจะตกลงกันได้ก็ต้องไม่เป็นไปตามเส้นเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2516 ของไทยแน่นอน และไม่เป็นไปตามเส้นไหล่ทวีป พ.ศ. 2515 ของกัมพูชาแน่นอนเช่นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเอาเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกฝ่ายมาเป็นพิกัดกำหนดรูปพรรณสัณฐานของพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ไว้ตายตัวตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ก) และแบ่งผลประโยชน์กันไปเรียบร้อยแล้ว โอกาสที่เป็นไปได้สูงสุดคือการตกลงกำหนดเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปไว้ระหว่างเส้น 2515 กับเส้น 2516 ณ จุดใดจุดหนึ่ง
.
จะเป็นจุดใด ก็ขึ้นอยู่กับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่เหนือเส้นละติดจูด 11 องศาเหนือที่สองประเทศตกลงกันไปก่อนแล้วตามเงื่อนไข MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ด้วยเช่นกัน
.
แต่ไม่ว่าจะจุดไหน ที่ใด ประเทศไทยก็เสียเขตแดนทางทะเลใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ผิดไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศพระบรมราขโองการ พ.ศ. 2516 ทั้งนั้น
.
ลูกหลานเหลนในอนาคตคงจะได้ศึกษาชื่อและวิธีคิดของบรรพบุรุษของเขาที่มีส่วนร่วมตัดสินใจตามกรอบ MOU 2544 แน่
.
จะสรรเสริญหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องในอนาคต
.
.
ทั้งหมดนี้คือคำตอบต่อคำถามที่ว่าหากเราเดินหน้าเจรจาต่อตาม MOU 2544 จนสำเร็จลุล่วงแล้ว เราจะได้อะไร เราจะเสียอะไร ?
.
ส่วนจะได้คุ้มเสียหรือได้ไม่คุ้มเสีย เชิญพิจารณากัน !
.
.
คำนูณ สิทธิสมาน
11 พฤศจิกายน 2567

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน

'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน

ทร. เตรียมจัดเสวนาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ปม MOU 44 หวังสื่อสารให้สังคมเข้าใจ

พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี เมื่อถามว่า อดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงกรณี MOU 44

ถึงบางอ้อ ดร.เสรี เผยเหตุ 'กัมพูชา' ยอมตกลง MOU44

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนาม MOU44 มีหรือจะพูดว่า MOU44 ไม่ดีสำหรับประเทศไทย เขาย่อมพูดว่าเป็นผลดี

‘ภูมิธรรม’ มั่นใจนายกฯกลับมาประชุมตั้ง ‘เจทีซี’ เสร็จ ชงเข้าครม.19 พ.ย.ทันที

‘ภูมิธรรม’ ระบุ หากนายกฯกลับมา เรียกถก ตั้ง เจทีซี วันนี้ก็ เข้าครม.ทันพรุ่งนี้ โยน กต.เคาะรายชื่อ ลั่น เกาะกูดไม่จบซํ้ารอยเขาพระวิหารแน่ ยัน ไม่มีเหตุผลต้องยกเลิกเอ็มโอยู 44