ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน มลภาวะเป็นพิษโดยเฉพาะช่วงรถติด อากาศก็ร้อนเหลือเกิน รัฐบาลก็เปลี่ยนบ่อย ไม่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เจ๋ง ๆ ออกมาให้เห็น ตลาดหุ้นก็มีแต่ทรงกับทรุดและที่สำคัญดูเหมือนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะไม่ไปไหนเสียที
แต่ต้องยอมรับว่าหลังจากเข้าทำงานในองค์การสหประชาชาติ ได้คลุกคลีกับเพื่อนร่วมงานหลายประเทศ หลายวัฒนธรรม และได้ไป mission เพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ดิฉันกลับมีความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมากเกี่ยวกับประเทศไทย คือรู้สึกโชคดีมากที่เป็นคนไทย และอยู่ในแผ่นดินไทย เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดิฉันคิดว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่มากอันดับต้น ๆ ของโลก ไทยแทบจะไม่มีภัยธรรมชาติ มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม อาหารที่แสนอร่อย และคนไทยที่ส่วนใหญ่รักสงบมีน้ำใจ
ในแง่ภูมิศาสตร์ เราก็มีความได้เปรียบอย่างมาก กล่าวคือเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งทางบกและทางอากาศ พื้นที่ส่วนใหญ่ก็มีความอุดมสมบูรณ์มาก ภาคการเกษตรไทยมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงทางอาหารทั้งในและต่างประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าไทยจะมีภูมิศาสตร์ที่เป็นต่อ สภาพแวดล้อมน่าอยู่ ไม่ได้มีสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือปัญหาทางเศรษฐกิจการคลังใหญ่ ๆ แต่อันดับความน่าเชื่อถือของไทยก็ไม่ไปไหนเสียที
ดิฉันเคยเขียนบทความเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี 2555 โดยวิเคราะห์สาเหตุที่อันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่ขยับไปไหนเลยหลังจากวิกฤตค่าเงินบาท แถมยังตกลงอีกเป็น BBB ในปีที่บทความออกเผยแพร่ ในตอนนั้น ดิฉันได้อธิบายถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่เคยกลับไปที่เกรด A (โดย Fitch Ratings) ซึ่งเป็นอันดับที่เราเคยได้ในช่วงก่อนวิกฤตค่าเงินบาท ปัจจัยหลัก ๆ ที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลในตอนนั้นได้แก่ ระดับรายได้ต่อหัวและอันดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการเมืองที่ยังขาดเสถียรภาพและนโยบายประชานิยม
ถึงตอนนี้เวลาผ่านไป 10 กว่าปี หลายท่านได้ตั้งคำถามกับดิฉันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าทำไมประเทศไทยดูเหมือนยังไม่ไปไหนเสียที ทำไมหลังโควิดไทยจึงฟื้นตัวช้าขนาดนี้ ดิฉันจึงตัดสินใจกลับมาเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะคำถามในวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ต่างจากในอดีตมากนัก อันดับความน่าเชื่อถือของไทยเองไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลยในรอบ 20 ปีนับแต่ปี 2547 ที่ ระดับ BBB+ (lower medium grade) หรือกลุ่มสุดท้ายของกลุ่มที่ลงทุนได้ (investment grade) และเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็คล้ายเดิมเกือบทั้งหมด
ที่น่าเป็นห่วง คือ นอกจากโอกาสที่ไทยจะได้รับการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจะค่อนข้างริบหรี่แล้ว ล่าสุดในปีนี้ Fitch ยังมีมุมมองว่าไทยอาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ จากปัญหาด้านการคลังภาครัฐที่มีต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ที่ระดับ 64% ของ GDP และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยซึ่งอาจฉุดรั้งการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิผลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
หลายท่านคงจำกันได้ว่า เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ย 9.5% ในช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (2530-2539) แต่หลังจากนั้นไทยก็กลับกลายเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตต่ำลงมาก โดยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3.5% ในช่วงปีหลังลดค่าเงินบาทถึงช่วงก่อนวิกฤตโควิด และหลังวิกฤตโควิดก็ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าโดยโตไม่ถึง 2% (2564-2566) และคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% ในปีนี้
ดิฉันคิดว่าปัญหาของไทยหยั่งรากลึกมากกว่าปัจจัยที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือใช้ในการประเมิน ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายด้าน ที่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนอ่อนแอ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญสองประการที่ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วน คือ ปัญหาประชากรสูงวัยและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่บั่นทอนกำลังซื้อชนชั้นกลาง
สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว คือมีประชากรสูงวัยในสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด อัตราการเกิดของไทยก็เข้าขั้นวิกฤตแล้ว โดยปัจจุบันอัตราเด็กเกิด (6.7 ต่อประชากร 1 พันคน) มีน้อยกว่าอัตราการตาย (9.1 ต่อประชากร 1 พันคน) ไปเรียบร้อยแล้ว และหากปล่อยไปเช่นนี้ประชากรไทยอาจจะลดลงเหลือเพียง 30 กว่าล้านคนในอีก 60 ปีข้างหน้า
ความเหลือมล้ำก็เป็นอีกประเด็นที่ควรดูแล ปัจจุบันรัฐบาลมักใช้จ่ายเงินเพื่อผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ชนชั้นกลางมักจะถูกลืมและเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาษีด้วย การนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากจะทำให้คนชั้นกลางจนลงอย่างมากแล้ว ยังทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี (คาดการณ์ว่าจะติดลบถึง 20% ในปี 2567)
พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนไทย 66 ล้านคน มีคนจ่ายภาษีจริงๆ เพียง 4 ล้านคน และคนที่จ่ายทั้งภาษีเงินได้และภาษีที่ดินก็มีน้อยกว่านี้มาก ชนชั้นกลางที่ถือครองที่ดินที่มีรายได้น้อยแต่โดนรีดภาษีทั้งสองประเภท เป็นกลุ่มคนที่แบกรับภาระภาษีของประเทศนี้อย่างเต็มที่ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้เป็นไปตามความสามารถในการจ่ายภาษีของประชาชนจะส่งผลให้ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และคนไทยชั้นกลางล่มสลายในอนาคตอันใกล้ และที่ดินของประเทศก็มีแนวโน้มตกไปอยู่กับคนรวยที่มีความสามารถพัฒนาที่ดินหรือกลุ่มทุนต่างชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่น่ากลัวในอนาคตจึงอาจไม่ได้อยู่ระหว่างคนรวยกับคนจน แต่อยู่ระหว่างชนชั้นกลางกับคนกลุ่มอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ดิฉันเชื่อว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเหมือนในอดีต แต่รัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประชากรอย่างเร่งด่วน รวมถึงพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกครั้งให้สอดคล้องกับความสามารถในการเสียภาษีจริง เหล่านี้จะช่วยพลิกฟื้นอำนาจซื้อของชนชั้นกลางและภาคอสังหาริมทรัยพ์ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ในด้านการใช้จ่าย รัฐบาลควรใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่ม เพื่อกระตุ้นรายได้และกำลังซื้อของประชาชน ลดภาระการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว ส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืน
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร เทียนทิพ สุพานิช
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน
'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า
ไทยพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% เริ่ม 1 พ.ย.
ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปี 67 โต 2.4%
ธนาคารโลก (World Bank) คงคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.4% เร่งตัวขึ้นจาก 1.9% ในปี 66