พล.ร.อ.พัลลภ อดีตเสธ.ทร. ผ่ากับดัก MOU 44 บันไดสามขั้น เสี่ยงทำไทย สูญเสียดินแดน

ด้วยความเสี่ยงต่างๆ ในเรื่องการยอมรับ เส้นที่เขามาลากผ่านเกาะกูดต่างๆ มองดูว่าขณะนี้มันเหมือนเป็นกับดัก ในเรื่องที่เราจะไปสู่การสูญเสียดินแดนของเราได้...เรื่องนี้มีความเสี่ยงเนื่องจากว่า MOU 44 และ OCA มันมีพัฒนาการมาเป็นมหากาพย์ ในฐานะนักการทหาร มองว่าสถานการณ์ของเราในขณะนี้ ที่เรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 เพราะถ้ามองให้ดีตามช็อตอะไรต่างๆ มันเหมือนมีกับดักอยู่

ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง เพราะจากนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ในเรื่องการหาแหล่งพลังงานใหม่ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 26,000 ตร.กม. ไทย-กัมพูชา ที่คาดการณ์กันว่าจะมีแหล่งพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาลร่วม 10 ล้านล้านบาท ท่ามกลางความเห็นและข้อเสนอแนะที่ออกมาจากฝ่ายต่างๆ เช่น ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 หรือข้อเป็นห่วงว่าหากมีการเจรจากันดังกล่าว อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ไทยจะเสียดินแดนในอนาคต คือเกาะกูด จนทำให้เรื่องดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังที่ "ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม" ที่ออกมาระบุว่า

"การที่รัฐบาลจะนำเรื่องนี้มาพูดคุย ซึ่งเข้าใจว่าผมน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ มองว่าเรื่องนี้ต้องเจรจากัน แต่ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับประชาชน อย่าขยายเป็นเรื่องการยึดดินแดน เสียดินแดนชาติขึ้นมา เพราะเป็นการปลุกความคลั่งชาติขึ้นมาทำร้ายผลประโยชน์ที่ประเทศควรจะได้รับ" รมว.กลาโหมระบุไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" สัมภาษณ์พิเศษ "พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ-อดีตสมาชิกวุฒิสภา-อดีตเสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.)" ซึ่งสมัยเป็น สว.มีบทบาทอย่างมากในการติดตาม การอภิปรายเรื่องความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา มาตลอดต่อเนื่อง

โดย "พล.ร.อ.พัลลภ-อดีตเสนาธิการทหารเรือ" กล่าวว่า ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ลำดับแรกต้องดูเรื่องการลากเส้นที่ถูกต้องก่อน เริ่มที่การดูว่าการลากเส้นมีกฎเกณฑ์ กฎกติกาอย่างไร ซึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดการพูดกันว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน เป็นเรื่องของการอ้างสิทธิ แต่ขอเล่าย้อนให้ฟังเรื่องเกาะกูดที่กำลังเป็นประเด็น แล้วไปเรียกว่าพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด จริงๆ ผมไม่อยากใช้คำนี้ เพราะเกรงจะเข้าใจผิด สำหรับผมแล้วเรื่องนี้มีความชัดเจนทั้งในแง่ประวัติศาสตร์, สนธิสัญญาต่างๆ และกฎหมายระหว่างประเทศ  ตลอดจนศักยภาพต่างๆ ในการที่เราจะรักษาอธิปไตย 

เกาะกูดเป็นของไทยเราชัดเจน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะเป็นแบบนี้ต่อไป เป็นหนึ่งอำเภอของเรา”

ที่ตอนนี้พูดกันเรื่องเกาะกูด-อธิปไตย สำหรับผมแล้วก่อนหน้านี้สมัยเป็น สว. ผมยังไม่เคยอภิปรายเรื่องอธิปไตยเกาะกูด เพราะเกาะกูดเป็นของเราอยู่แล้ว แต่สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้นเวลานี้ คือเป็นพื้นที่ทะเลใต้เกาะกูดลงมา เวลาที่ไปเรียกกันพื้นที่ทับซ้อน จริงๆ อยากให้เรียก "พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา" เป็น OCA ที่บังเอิญมาเกิดใต้เกาะกูดลงไปถึงอ่าวไทย ที่ตอนนี้ประเด็นอยู่ที่ว่าน้ำจรดทรายเลยหรือไม่ หรือจะเว้นระยะบริเวณอาณาเขต 12 ไมล์รอบเกาะกูด ก็ต้องมีการเจรจากัน แต่ขณะนี้เรื่องการอ้างสิทธิ์ ต่างฝ่ายต่างก็ประกาศโดยใช้คำว่าเส้นไหล่ทวีป  (continental shelf)ซึ่งแต่ละประเทศประกาศไม่ตรงกัน

โดยเรื่องไหล่ทวีป เกิดขึ้นครั้งแรกตามอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 ที่จะมีอนุสัญญาย่อยอยู่อีก 3-4 ฉบับ หนึ่งในนั้นคืออนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป อนุสัญญาฉบับดังกล่าวจะมีความชัดเจนในเรื่องของความลึกของน้ำคือ 200 เมตร แต่ต่อมาเกิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่เป็นกฎหมายทะเลเหมือนกัน ก็ได้เปลี่ยนจากไหล่ทวีป จากใช้ความลึกน้ำ 200 เมตร มาเป็นระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นชายฝั่ง และอาจขยายได้ถึง 310 เมตรในบางกรณี

กฎหมายทะเลทั้งสองฉบับยังมีผลบังคับใช้อยู่ ยังไม่ได้ยกเลิก กฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดในเรื่องของการแบ่งเขต  ให้ใช้เส้นมัธยะ หรือ Median Line คำว่า "ไหล่ทวีป" ปรากฏอยู่ในกฎหมายทะเลทั้งสองฉบับ การประกาศของกัมพูชากับของไทย ที่กัมพูชาประกาศปี 2515 ส่วนไทยประกาศปี 2516 ตอนนั้นยังไม่เกิดกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ตรงกับปี 2525 เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1958 ที่มีการพูดถึงเรื่องไหล่ทวีปไว้แล้ว

...ทั้งสองประเทศก็ยึดถือทั้งสองฉบับ โดยทั้งสองฉบับให้ความสำคัญว่าเวลาหากมีปัญหา รัฐประชิดกัน ให้แบ่งด้วยหลักการของเส้นมัธยะ ซึ่งเส้นมัธยะก็คือเส้นที่ทุกจุดของเส้นนี้ จะอยู่ห่างจากเส้นฐานในระยะทางที่เท่ากัน เส้นฐานนี้เรียกว่า Baseline คือเส้นแนวน้ำลดตลอดแนวชายฝั่งหรือเกาะของแต่ละประเทศ ที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต

ลักษณะของเส้นมัธยะของรัฐที่อยู่ประชิดกันจะมีอยู่สองลักษณะ ด้านซ้ายจะเป็นลักษณะของรัฐชายฝั่งที่มีประชิดพรมแดนทางบกติดต่อกัน ส่วนด้านขวาก็คือลักษณะที่ว่ามีทะเลคั่นกลางอยู่ตรงข้ามกัน

เผอิญระหว่างไทยกับกัมพูชา เรามีทั้งสองลักษณะควบคู่กัน อย่างลักษณะของทะเลคั่นกลาง โดยมีชายฝั่งอยู่ตรงข้ามกัน คือชายฝั่งภาคใต้ด้านอ่าวไทย และชายฝั่งของกัมพูชา เกาะกง เกาะกูด กำปงโสมลงมา อันนี้อยู่ตรงข้ามกัน  การแบ่งก็แบ่งตรงข้ามกันไป คนละครึ่งของฝั่งทะเล

แต่อีกลักษณะหนึ่งที่เป็นปัญหาแต่ไม่ค่อยได้กล่าวถึงกัน ก็คือ เราก็มีพรมแดนอยู่ประชิดกันด้วย ตรงบ้านหาดเล็ก  จังหวัดตราด ตรงหลักเขต 73 ตรงนั้นคือจุดที่เป็นปัญหาและเป็นการแบ่งเขตที่ค่อนข้างจะยาก เพราะในลักษณะแบบนี้ หากดูจาก OCA ของเรา ระหว่างไทยกับกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชาประกาศเมื่อปี 2515 ของไทยเราประกาศปี 2516  โดยกัมพูชาลากเส้นในแนวทิศ 266 จากหลักเขตที่ 73 (แนวทิศ 266 จากหลักเขต 73 เป็นเซ็นเตอร์แล้วลากออกมา)

ส่วนของเราตรงบ้านหาดเล็ก จังหวัดตราด  ใช้หลักการเส้นมัธยะ โดยเราใช้ระยะการลากเส้นที่ห่างกันระหว่างปลายเกาะกูดกับเกาะกงของกัมพูชา ซึ่งเป็นหลักการของเส้นมัธยะเต็มๆ อยู่ระหว่างครึ่งกัน ซึ่งการประกาศไหล่ทวีปที่ผ่านมา ที่ผ่านมาแต่ละประเทศก็ประกาศอ้างว่ามีสิทธิตามกฎหมายทะเล แต่เป็นการประกาศในลักษณะที่ว่าประกาศฝ่ายเดียว  อย่างกฎหมายทะเลให้ 200 ไมล์ ก็ลากไป 200 ไมล์ หรือน้ำลึก 200 เมตร ก็ไปถึงจุดน้ำลึก 200 เมตร ซึ่งในอ่าวไทยน้ำไม่ถึง ซึ่งทุกประเทศก็ประกาศเต็มสิทธิ เรียกว่ากฎกติกาให้เท่าใดก็ประกาศเท่านั้น

แต่ในส่วนของเส้นที่ลากผ่านเกาะกูด มันไม่ใช่เส้นมัธยะ  ไม่อยู่ในกติกานี้ เป็นเส้นที่อ้างเกินสิทธิ เพราะในสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มีการทำแผนที่และสัญญา ซึ่งในแผนที่แนบท้ายตัวสนธิสัญญา บนบกจะทำเป็นเครื่องหมายเส้นเขตแดน เป็นเครื่องหมายบวก-ลบ มา จนกระทั่งมาถึงปลายจังหวัดตราด ตรงบ้านหาดเล็ก ที่สมัยก่อนไม่มีเครื่องมือ ไม่มีแผนที่ ไม่มีจีพีเอสที่เป็นมาตรฐาน การจะรู้ว่าเขต 73 ที่อยู่ตรงชายหาด มันอยู่ตรงไหนแน่ เพราะหากจะเอาต้นไม้มาเป็นเกณฑ์ เกิดต้นไม้ตายไปก็จะยุ่ง จะปักเสาถ้าเกิดเสาถูกทำลายไป อะไรต่างๆ ก็เลยบอกว่าให้นับจากยอดแหลมของเกาะกูดไปทางขวา ทางทิศตะวันออก ชนชายหาดเมื่อใดตรงนั้นคือหลักเขต 73

"พล.ร.อ.พัลลภ" ย้ำว่า สรุปมันคือเส้นเล็ง มันไม่ใช่เส้นเขตแดนทางทะเล เพราะในปี ค.ศ. 1907 หรือปี พ.ศ. 2450 มันยังไม่มีกฎหมายทะเล คำว่าทะเลอาณาเขตยังไม่เกิดขึ้น เพราะตอนนั้นแค่ว่าแหย่ลงน้ำทะเล ก็แทบเป็นทะเลหลวงไปแล้ว เพราะเป็นแค่เส้นเล็งเฉยๆ เข้าใจว่าทางการกัมพูชาจะใช้เส้นนี้ตีย้อนกลับขึ้นมา ว่าตรงนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ก็มีนักศึกษาปริญญาเอกของกัมพูชาในฝรั่งเศส เขาทำการศึกษาและเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องนี้เอาไว้ ก็สอดคล้องกันว่าเขาใช้เส้นเล็งนี้ออกมา แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่าเกาะหรืออ้อมเกาะมาอย่างไร แต่มันไม่มีในหลักการกฎหมายทะเลและเส้นมัธยะ นี่คือที่มาของเส้นว่าทำไมลากผ่านเกาะกูดขึ้นมา

...เพราะฉะนั้น ตรงหลักเขต 73 มันเกยกัน มันซ้อนกัน ตั้งแต่ชายหาดลงไปถึงชายทะเล ซึ่งลักษณะนี้ที่เขาใช้เส้นเล็งออกมาในลักษณะที่เรียกว่าเกินสิทธิ คือมันไม่อยู่ในกติกา เพราะเกินสิทธิ ก็ทำให้เกิดพื้นที่เรียกว่า "อ้างเกินสิทธิในพื้นที่ซึ่งมันควรเป็นไปตามสิทธิ" อดีตเสนาธิการทหารเรือ-พล.ร.อ.พัลลภ กล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งชำนาญในด้านแผนที่ทะเล ซึ่งผมได้ศึกษาและทำเรื่องนี้สมัยเป็นสมาชิกวุฒิสภาสมัยที่ผ่านมา ที่พูดง่ายๆ ว่าเส้นที่กัมพูชาลากจากเส้นบนสุดผ่านเกาะกูดไปเขต 73 เราถือว่าเป็นเส้นที่ไม่ถูกต้อง มันเกินสิทธิ ซึ่งในแง่มุมของฝ่ายกัมพูชา ถ้าเขาจะลากเส้นเขาต้องใช้ Maximum Claim  แต่ตรงหลักเขต 73 ที่เป็นเขตแดนประชิดกัน ไม่มีทางดิ้นไปไหนเลย นอกจากต้องใช้หลักการของเส้นมัธยะ คือลากจากเส้นเขต 73 ออกมาระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง ซึ่งมันควรเป็นเส้นเดียวกับที่เราลาก แต่ในแง่มุมของกัมพูชา เวลาลากเส้นทะเลการแบ่งจะมีผลคือ ให้ห่างจากชายฝั่งเท่ากันของไทยกับกัมพูชา และให้ห่างจากเกาะใหญ่ของแต่ละประเทศให้เท่าๆกัน หรือให้ห่างจากหินในทะเลที่มีอยู่หลายอันในระยะเท่าใด  อันนี้เป็นเรื่องเทคนิคของทางแผนที่ทะเล

ซึ่งเส้นแรกๆ ที่มีปัญหามันควรจะต้องไม่มีปัญหา ควรต้องลากเป็นเส้นเดียวกันเพราะต้องเป็นไปตามสิทธิ ไม่มีทางบิดพลิ้วได้เลย เพราะต้องเป็นไปตามหลักการของเส้นมัธยะ  เพราะตรงนั้นเป็นทะเลอาณาเขต แต่พอถัดออกมาที่เป็นไหล่ทวีป ก็อาจให้เอฟเฟกต์เส้นของคุณหรือเกาะของคุณมากหน่อย ส่วนเกาะของเราเช่นเกาะสมุย เกาะพะงันให้น้อย เขาก็เลยเกยมาเยอะ

 สรุปมันก็เลยเกิดแผนที่นี้ขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วหากกัมพูชาเขาลากเส้นตามสิทธิจริงๆ ตามกฎกติกาจริง โดยใช้หลักของเส้นมัธยะ พื้นที่ของเราเองก็ใช้ Maximum Claim  ออกไปด้วย พื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความชอบธรรมในการอ้างตามสิทธิก็จะประมาณ 14,000 ตารางกิโลเมตร ที่คือพื้นที่สีเขียว ซึ่งโอเคต่างฝ่ายต่างอ้างตามกฎกติกา ที่ไปเจรจากันอีกทีได้ แต่ว่าตรงเกาะกูดมันไม่ใช่ ตรง 12,300 กว่าตารางกิโลเมตรเป็นของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเกินสิทธิเขา นี่คือหลักการกว้างๆ ก็มีนักวิชาการอะไรต่างๆ ลองพล็อตพื้นที่ซึ่งเหมาะสม ที่จะยอมรับว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน ก็จะเหลือสักประมาณ 5,000-6,000 ตารางกิโลเมตรที่ต้องมาเจรจากัน  โดยของเรา เราก็ Maximum Claim ของเราอยู่ แต่อาจต้องมีการมาพูดคุยกัน คือกลางทะเลมันพูดคุยกันไม่ยาก แต่ตรงติดชายฝั่งมันเป็นทะเลอาณาเขต มันต้องเป๊ะเลย

ข้อแตกต่าง OCA ไทย-กัมพูชา กับ JDA ไทย-มาเลเซีย

พล.ร.อ.พัลลภ" เน้นย้ำว่า ผมจะเทียบว่า OCA ของเรามัน 26,400 ตารางกิโลเมตร มันขนาดเท่ากับตรัง, พัทลุง, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาสรวมกัน ขณะที่ "พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย" หรือ Malaysia-Thailand  Joint Development Area: JDA ของไทยกับมาเลเซีย อยู่ที่ 7,250 ตารางกิโลเมตร โดย OCA ไทย-กัมพูชา จึงใหญ่กว่า JDA ร่วม 3.6 เท่า แต่ความต่างที่คนไม่ค่อยพูด คือของไทยกับมาเลเซียตรงปลายแม่น้ำโก-ลก รอยต่อระหว่างนราธิวาสกับมาเลเซีย เราตกลงกันได้เรียบร้อยแล้วในส่วนที่เป็นทะเลอาณาเขต ซึ่งเส้นเขตแดนไทย-มาเลเซีย ลากออกไป 5.7 กิโลเมตร มันเป็นเส้นเดียวกัน กลัดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง ตรงกันแล้ว ส่วนที่เป็นปัญหาที่มาทำ Joint Development 7,200 กิโลเมตร เนื่องจากว่าแต่ละฝ่ายก็อ้างผลของเอฟเฟกต์ของเกาะที่แตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล การเจรจาด้านนี้ จึงใช้เวลานาน เมื่อต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลและอยู่บนกฎกติกา ที่ถูกต้องตามกฎหมายทะเล ก็เลยไม่มีการทำเอ็มโอยูใดๆ ทั้งสิ้น จึงเกิดเป็น JDA ขึ้นมาได้

แต่ของกัมพูชา แค่กลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว  พอผิด พื้นที่ OCA ของเรา ของเรากับกัมพูชา ไม่มีส่วนใดแม้แต่ตารางนิ้วเดียวที่ตกลงกันได้ เขตแดนทางทะเลเรากับกัมพูชา ไม่มีส่วนใดเลยที่เราตกลงกันได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว เพราะว่ามันทับซ้อนกันตั้งแต่ทรายเม็ดแรกแล้วที่ชายหาด”

-หากจะมีการไปตกลงเรื่องผลประโยชน์พลังงาน ใต้พื้นที่ OCA ได้หรือไม่?

ก็ทำขนาดของพื้นที่ OCA ให้มันเหมาะสมเสียก่อน ผมคิดว่าหากตกลงกันขณะนี้อันตรายอย่างยิ่ง หากไม่เอาเส้น 266 ลงก่อนอันตราย เพราะว่ามันมีเอกสารฉบับหนึ่งที่ค้ำอยู่คือ MOU 44

เรื่อง MOU 44 มีการพูดคุยกันพอสมควรแล้วที่ทำเมื่อปี 2544 โดยมีแผนที่แนบท้าย ที่ทำขึ้นมาโดยมีข้อตกลงสำคัญคือ ให้มีการเจรจาสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือให้ทำความตกลงพัฒนาร่วมในพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ซึ่งในแผนที่ก็คือส่วนสีขาว ส่วนพื้นที่แรเงาที่เป็นพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไปก็ให้เป็นพื้นที่แบ่งเขต แต่มีการกำหนดว่าทั้งสองเรื่องต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ไม่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งมันเป็นเดดล็อกทำให้เดินหน้าไปลำบาก แต่ที่สำคัญมีการไปกำหนดเงื่อนไขไว้อันหนึ่งอยู่ในข้อ 5 ว่าในพื้นที่ซึ่งต้องแบ่งเขต คือไม่ว่าการดำเนินการตาม MOU จะดำเนินการไปอย่างไร ก็ไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายที่ประกาศไว้เดิม คือแม้จะเจรจาตาม MOU ไปอย่างไรก็แล้วแต่ แต่อีกฝ่ายอาจกลับไปตามเส้นเขตแดนที่ตัวเองประกาศเมื่อปี 2515 หรือ 2516 ได้ 

ผมได้เสนอว่า MOU 44 ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา จึงควรยกเลิกโดยเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีมติ ครม.ปี 2552 ให้ยกเลิก (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) แต่เข้าใจว่าในยุคนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเรื่องที่กระทบกับเขตแดนต้องเอาเข้าที่ประชุมรัฐสภา

บันไดสามขั้น สู่กับดักความเสี่ยง เสียดินแดน

-ระหว่างการยกเลิก MOU 44 กับการให้กัมพูชาเอาเส้น 266 ลงก่อน อันไหนควรทำก่อนทำหลัง?

ทำก่อนและทำทันทีได้เลย คือยกเลิก MOU 44 ส่วน 266 เป็นการประกาศฝ่ายเดียว ของเราก็ประกาศ 211 ไว้ ก็ปล่อยให้มันเกยไว้แบบนี้ แต่ว่า MOU 44 มันเป็นเอกสารที่เหมือนว่าเราไปประทับตรา ว่าเรายอมรับว่ามีพื้นที่ทับซ้อน มีเส้นนี้ขึ้นมา มันกึ่งๆ ยอมรับเส้น 266 เพราะของกัมพูชาที่ประกาศตอนปี 2515 และของเราประกาศตอนปี 2516 ก่อนหน้านี้ปี 2544 เราไม่เคยยอมรับว่าเส้นที่ลากผ่านเกาะกูด เป็นเส้นที่ถูกต้อง เราไม่เคยยอมรับเลย จนกระทั่งมีมาปรากฏใน MOU 44 มันคือยอมรับเลย

...เพราะในส่วนของอารัมภบท MOU 44 เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า ตระหนักว่าที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า recognizing  จากผลของการอ้างสิทธิของประเทศทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ก็คือแต่ก่อนเราไม่ได้ยอมรับเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่ก่อนเป็นที่ของเรา  มันเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตรงนี้เอง เพราะฉะนั้นหากปล่อยเอาไว้ ประกอบกับเงื่อนไขในเรื่องการแบ่งเขตว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อให้เราเจรจาไปตาม MOU 44 ทางฝ่ายโน้นก็อาจบอกว่าขอกลับไปเป็นตามที่เคยประกาศไว้ตอนปี 2515

ซึ่งเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 23 ปี  เนื่องจาก MOU 44 มีเงื่อนไข คือต้องดำเนินการไปพร้อมกันทั้งการแบ่งเขต การแบ่งปันผลประโยชน์น้ำมัน แต่ฝ่ายกัมพูชาท่าทีเขาชัดเจนขณะนี้ว่าต้องการเรื่องการแบ่งปันผลผลิต แบ่งปันน้ำมัน มากกว่าเรื่องการแบ่งเขต มันก็เดินหน้าไม่ได้ ก็เลยเดดล็อกกันอยู่

"พล.ร.อ.พัลลภ" เปิดเผยว่า 23 ปีที่ผ่านมาหลังมีการทำ MOU 44 มีการประชุมเรื่องการแบ่งเขตไปแค่สองครั้ง  ประชุมกันเรื่องการแบ่งปันทรัพยากรประมาณ 5-6 ครั้ง ที่ก็ถือว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะฉะนั้นผมกล่าวได้ว่า ทั้ง MOU 44 และ OCA ผมถือว่าด้วยความเสี่ยงต่างๆ ในเรื่องการยอมรับ เส้นที่เขามาลากผ่านเกาะกูดต่างๆ ผมมองดูว่าขณะนี้มันเหมือนเป็นกับดัก ในเรื่องที่เราจะไปสู่การสูญเสียดินแดนของเราได้

ขณะนี้มีข้อเรียกร้องเรื่องการแบ่งปันพลังงาน ผมมองว่าเรื่องของ MOU 44 และการแบ่งปันพลังงาน แม้ MOU 44  จะบอกไว้เรื่องการแบ่งปันพลังงานแล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้มีความเสี่ยงเนื่องจากว่า MOU 44 และ OCA มันมีพัฒนาการมาเป็นมหากาพย์ ผมในฐานะนักการทหาร มองว่าสถานการณ์ของเราในขณะนี้ มองออกว่าที่เรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 เพราะถ้ามองให้ดีตามช็อตอะไรต่างๆ มันเหมือนมีกับดักอยู่ด้วยบันไดสามขั้นด้วยกัน

ขั้นแรกก็คือ ที่เป็นพัฒนาการของสถานการณ์ โดยสถานการณ์แรกคือ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเส้นเขตแดนที่ลากผ่านเกาะกูดที่ลากผ่านเกินสิทธิ แต่ของเราตามสิทธิแต่จะทำอย่างไรให้เส้นนี้มีความชอบธรรม ก็คือทำให้มันปรากฏอยู่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับหรือไม่ ก็คือ MOU 44 เพราะคือ MOU 44  บอกว่ายอมรับตรงนี้ แผนที่แนบท้ายก็มี  ซึ่งเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ เขาจะชิงไหวชิงพริบกัน ขั้นแรกตอนนี้คือ MOU 44 ก็เหมือนกับเป็นการสร้างความชอบธรรมระดับหนึ่งให้กับเส้น 266 ซึ่งขณะนี้ผมมองดูว่าเราอยู่ในกับดักบันไดขั้นที่หนึ่งอยู่แล้ว

บันไดขั้นที่สองคือ เมื่อเส้นนี้มีความชอบธรรม ก็จะสร้างสิทธิอธิปไตยของแต่ละฝ่ายขึ้นในพื้นที่ OCA นี้ สิทธิอธิปไตย กฎหมายทะเล มันจะอ่อนจากอำนาจอธิปไตยหน่อย อำนาจอธิปไตยคุณมีอำนาจร้อยเปอร์เซ็นต์ นิติบัญญัติ ตุลาการ อำนาจศาล เหมือนแผ่นดินก็คือทะเลในอาณาเขต แต่ว่าพ้นจากพื้นที่ทะเลอาณาเขตไป ที่คือพื้นที่ไหล่ทวีป เรียกว่าสิทธิอธิปไตยคือรัฐชายฝั่ง มีสิทธิในทรัพยากรทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นปลา น้ำมัน ก๊าซ อะไรต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว เรียกว่าสิทธิอธิปไตย แต่ส่วนอื่นเช่นต่างชาติยังเดินเรือผ่านได้ตามปกติ  คือไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีสิทธิอธิปไตย  บันไดขั้นที่สองคือต่างฝ่ายต่างสร้างให้มีอธิปไตยในส่วนนี้ แต่ก่อนเราจะเห็นว่าใต้เกาะกูด เป็นสิทธิอธิปไตยของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ทีนี้หากว่าพื้นที่สีแดง หากเขาได้เข้ามีส่วนมาแชร์  มีส่วนแบ่งในสิทธิอธิปไตยด้วย ตรงนี้ก็เท่ากับว่าเรายอมรับในสิทธิอธิปไตยของเขา ในพื้นที่ซึ่งปกติแล้วเขาไม่มีสิทธิ์เลย  แต่เขาสามารถจะมาแชร์ในส่วนนี้ได้ นี่คือขั้นที่สอง

ส่วนขั้นที่สาม คือสมมุติขั้นที่หนึ่งเรียบร้อย ขั้นที่สองเราตกลงแบ่งปันแล้ว ต่อไปอีก 40-50 ปีน้ำมันหมด ก๊าซหมด  รุ่นลูกรุ่นหลานเราต่อไปจะทำอย่างไร มันยังทับซ้อนกันอยู่ ก็ชวนกันเจรจา

 ตรงนี้จะยากเพราะอีกฝ่ายก็อาจขยาย เพราะจากเคยมีสิทธิอธิปไตย ก็ขอขยายเป็นอำนาจอธิปไตยมาได้ไหม สมมุติว่ามันยังทับซ้อนกันอยู่ แล้วมีกรณีพิพาท มีทะเลาะกัน มีเรือประมงไปจับปลา แล้วเกิดมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ต่างบอกว่าเป็นเขตของตัวเอง ถ้าเกิดข้อพิพาทแล้วขึ้นสู่ศาลโลก มีการฟ้องร้องกัน เราจะเสียเปรียบเพราะการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ในเรื่องการแบ่งเขตแดน ผมบอกเลยว่าโดยกฎหมายทะเล เขาใช้หลักของเส้นมัธยะ กับอีกอันที่เขาเขียนเปิดไว้ หรือในบางกรณีที่บางประเทศมี "สิทธิทางประวัติศาสตร์" และแม้แต่อนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 ก็ได้รับรองสิทธิทางประวัติศาสตร์ไว้ด้วย ซึ่งสิทธิทางประวัติศาสตร์หมายถึงว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยได้มาร่วมใช้สิทธิในพื้นที่นั้นอย่างไรบ้าง ก็เมื่อเขาเคยมีสิทธิอธิปไตยแล้ว แล้วเราเองก็ยอมรับในส่วนนี้พื้นที่ใต้เกาะกูด ดังนั้นมันก็มีความเสี่ยง ผมไม่ได้หมายถึงว่าเราจะเสียร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่ารุ่นลูกรุ่นหลานจะกล้าเอาเคสนี้ขึ้นสู่ศาลโลกหรือไม่

-คนก็พูดกันว่า ต่อไปพลังงานฟอสซิลจะหมดไปแล้ว หากไม่เอาพลังงานตรงพื้นที่ดังกล่าวมาใช้อาจเสียเปล่า เรื่องอาณาเขตไว้ทีหลัง เป็นการพูดง่ายไปใช่ไหม?

ใช่ครับ แต่มันเสี่ยงที่จะเข้าไปสู่ขั้นที่สาม เพราะว่าตอนนี้เราเข้าไปอยู่ในกับดักขั้นที่สองแล้ว คือมี MOU ไว้แล้ว ก็อย่างที่ผมเสนอว่าสิ่งที่ต้องทำอันแรกก็คือ หนึ่ง-ยกเลิก MOU 44 สอง-คือในทุกกรณี เราต้องไม่เข้าไปสู่บันไดขั้นที่สอง คือไม่มีการแชร์ ไม่มีการแบ่งปันทรัพยากรใดๆ ในพื้นที่ แต่ถ้าจะเจรจากันหลังยกเลิก MOU 44 เราสามารถใช้กลไกเจรจาตามปกติได้ โดยมีกฎหมายทะเลเป็นกรอบกติกา ที่เราก็ดำเนินการสำเร็จมาแล้วกับประเทศอื่นๆ

-แล้วมีหรือที่กัมพูชาจะยอมเอาเส้น 266 ลง เป็นไปได้หรือไม่?

ตรงนี้ถ้าคิดว่าเรามีความสัมพันธ์กันดี มีอะไรกันดี ก็คุยกันด้วยเหตุด้วยผล ผมเข้าใจว่าถ้าพูดจากัน เจรจากันในเชิงเทคนิคของแต่ละฝ่าย ก็คงพอเข้าใจ มองออกว่าตรงนี้มันเคลมเกินสิทธิ มันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทั้งเกาะกูด เกาะกง  ทั้งสองเกาะ ไม่ว่าจะเป็นเกาะอะไรของแต่ละประเทศ มีอาณาเขตทะเลของตัวเอง และถ้าอยู่กลางไกลก็มีไหล่ทวีปตัวเอง สมมุติคิดแบบอกเขาใส่อกเรา ถ้าเขาลากผ่านเกาะกูดเรา แล้วถ้าเส้นสีเขียว ไปลากผ่านเกาะกงเขาบ้าง มันก็ยุ่ง แต่เราคงไม่ทำถึงขั้นนั้น เพราะเราใช้หลักการของเส้นมัธยะ ก็คือ ห่างจากปลายเกาะกูดกับห่างจากปลายเกาะกงเท่าๆ กัน นี้คือกฎกติกาตามหลักการของเส้นมัธยะ

รักชาติ วัตถุประสงค์ชัดเจนว่าทำเพื่อผลประโยชน์ ทำเพื่อให้ชาติเจริญรุ่งเรือง ไม่เสียผลประโยชน์...ถามว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ด้านนี้ ในการที่จะรักษาสมบัติของแผ่นดิน  น่าจะเป็นการรักชาติ เพราะว่าด้วยเป้าหมายแบบนี้และวิธีการของเรา ว่ากันด้วยหลักของเหตุผล หลักวิชาการ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ส่วนคลั่งชาตินั้นก็อาจจะออกมาในลักษณะเป้าหมายของเขา ต้องการให้เกิดกระแสหรือเกิดอะไรขึ้นมา เพื่อหวังผลอย่างอื่นหรือด้วยวิธีการที่รุนแรง อันนั้นก็อาจถูกเรียกว่าคลั่งชาติได้

นุนใช้ความสัมพันธ์อันดี ทักษิณ-ฮุน เซน เจรจานอกรอบ 

-คุณทักษิณก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับฮุน เซน ถ้าใช้ตรงนี้ให้เป็นจุดแข็ง และขอให้กัมพูชายินยอม เอาเส้น 266 ลง ก็น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดง?

อันนี้ผมคิดว่าจะเป็นคุโณปการอย่างยิ่ง เพราะอย่างไรเสียส่วนใหญ่คงยอมรับไม่ได้ ถ้าจะต้องแบ่งปันน้ำมันในพื้นที่ซึ่งมันใหญ่เช่นนี้ ก็ต้องลดพื้นที่สีแดงลงมา การที่จะลดพื้นที่สีแดงลงมาได้ ก็ต้องปรับเส้นพื้นที่ซึ่งลากผ่าน 266 ลง หากลงมาได้ เส้นอื่นๆ มันเป็นเทคนิคละเอียดไปละ แต่ว่าตัวหลักการเส้นตรงนี้มันผิด เพราะฉะนั้นถ้าหากมีความสัมพันธ์ที่ดี  แล้วสามารถพูดคุยกัน แล้วแก้ไขตรงนี้ได้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างมาก

-เห็นพูดเรื่องนี้มาเยอะ เคยโดนท้วงติงว่าปลุกระดม คลั่งชาติอะไรหรือไม่?

 ก็เคยโดนเหมือนกัน แต่ว่าผมไม่ค่อยได้ตามโซเชียลมีเดียอะไรมากนัก ผมก็แค่อยู่ในไลน์กลุ่มต่างๆ แต่ว่าเมื่อข้อมูลที่ผมอภิปรายไป แล้วมีเพื่อนฝูงนำไปแชร์ ดูคอมเมนต์ต่างๆ ก็มีพูดในลักษณะทำนองนั้นเหมือนกัน 

-มันมีเส้นแบ่งระหว่าง คลั่งชาติ รักชาติ ทำลายชาติ  ในมุมส่วนตัวคิดอย่างไร?

ผมคิดว่าเราต้องดูที่วัตถุประสงค์ของการกระทำ เป้าหมายของการกระทำและวิธีการกระทำ วัตถุประสงค์กับเป้าหมาย มันจะมีอะไรที่แตกต่างกัน

 หากรักชาติ วัตถุประสงค์ชัดเจนว่าทำเพื่อผลประโยชน์  ทำเพื่อให้ชาติเจริญรุ่งเรือง ไม่เสียผลประโยชน์ ที่จะตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ว่าเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ว่าบุคคลมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสมบัติของชาติ สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน

ถามว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ด้านนี้ ในการที่จะรักษาสมบัติของแผ่นดิน ก็น่าจะเป็นการรักชาติ เพราะว่าด้วยเป้าหมายแบบนี้และวิธีการของเรา ก็ว่ากันด้วยหลักของเหตุผล ด้วยหลักวิชาการ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ส่วนคลั่งชาตินั้นก็อาจจะออกมาในลักษณะ ถ้าเป้าหมายของเขาต้องการให้เกิดกระแสหรือเกิดอะไรขึ้นมา เพื่อหวังผลอย่างอื่นหรือด้วยวิธีการที่รุนแรง อันนั้นก็อาจถูกเรียกว่าคลั่งชาติได้ แต่ว่าเป้าหมายกับวิธีการก็จะรุนแรงกว่ารักชาติ ส่วนขายชาตินั้นมันคงชัดเจน เป้าหมายและวิธีการคงหลากหลาย ส่วนเป้าหมายก็ชัดเจนอยู่แล้ว สรุปคือขีดเส้นแบ่งกันด้วยเป้าหมายและวิธีการที่จะทำ

-เห็นด้วยหรือไม่ที่กองทัพเรือ ควรจะมีเรือดำน้ำสักหนึ่งลำหรือสองลำ?

เรื่องนี้ผมคิดว่ามีความจำเป็น ซึ่งตั้งแต่ผมยังรับราชการ  เวลาเรามองกองทัพ เรามองที่ขีดความสามารถ เพราะโดยสมการอย่างผมเรียนวิทยาลัยการทัพมา เขาจะมีสมการสั้นๆว่าหากจะมองว่าอะไรคือภัยคุกคาม ให้มองดูว่าขีดความสามารถกับขีดความตั้งใจเขาเป็นอย่างไร ขีดความสามารถนั้นใช้เวลาในการเสริมสร้างพัฒนา ส่วนความตั้งใจนั้นปรับเปลี่ยนได้เร็ว

เรือดำน้ำเป็นขีดความสามารถในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเสริมสร้างพัฒนาเป็นสิบๆ ปี เป็นรุ่นๆ คน ในอีกมิติหนึ่ง การที่เราไม่มีมาเป็นระยะเวลานาน มันเป็นการสูญเสียขีดความสามารถไปโดยหากจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา ไม่ใช่เนรมิตแล้วมีเรือดำน้ำขึ้นมาได้ เพราะต้องใช้เวลาในการเสริมสร้าง การมีหรือไม่มีเรือดำน้ำมันส่งผลต่อประเทศที่จะเป็นคู่ต่อสู้เรามาก รู้ว่าไม่มีง่ายเลย จะเข้ามาโจมตีอะไรไม่ต้องระวัง  แต่หากรู้ว่ามี มีการซื้อมา แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน อันนี้อันตราย  เหมือนกับเราจะเดินเข้าไปในสนาม เด็กมาเล่นในสนาม แล้วไปบอกว่าให้ระวังงูในสนาม รู้ว่ามีงูแต่ไม่รู้อยู่ที่ไหน ก็ไม่กล้าเข้ามาแล้ว ยังไงก็จำเป็น ต้องมีเรือดำน้ำ ก็เอาใจช่วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด

ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ

'หมอวรงค์' โต้ยิบ! 'นพดล' ช่วยใช้สติอ่าน MOU 44 อย่าเอาแต่พูดวนเวียนซ้ำซากแบบอุ๊งอิ๊ง

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถึงนายนพดล ปัทมะ อีกครั้งช่วยใช้สติอ่านด้วยหมอจะสอนกฏหมายคุณ

'นพดล' หยัน 'หมอวรงค์' ศึกษา MOU 44 ให้ลึกซึ้งค่อยมาโต้กัน ย้ำไทยไม่ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ตอบโต้ว่านายนพดลตอบมั่วๆเรื่องที่ว่าไทยไม่เคยยอมเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา และหมอวรงค์อ้างแผนผังแนบท้ายเอ็มโอยู 44 ว่าเป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา

'นพดล' ยันไทยไม่เคยยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา อัด 'วรงค์' คิดเองเออเอง

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่วันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม