เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในกระแสโลกยุคไอทีที่เร่าร้อนด้วยวัตถุนิยมเทคโนโลยีชั้นสูง จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ไม่ว่ารูปธรรม นามธรรม.. โดยเฉพาะผลกระทบต่อจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ที่ยากจะต้านทาน จึงทำให้เห็นความผกผันเชิงวิปริต.. วิปลาส ไม่ว่าในสัญญา จิตใจ และทิฏฐิ.. ให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามของมหาชน ที่สืบสานอารยธรรมกันมายาวนาน
พุทธศาสนาในแวดวงบ้านเราก็หนีไม่พ้น.. เมื่อกระแสโลกวัตถุนิยมไอทีแผ่รัศมีเข้าครอบคลุมไปทั่ว จึงได้เห็นความหวั่นไหวไปตามกระแสของบรรดาพระภิกษุ สามเณร และเหล่าพุทธศาสนิกชนชาววัด.. ผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ดังการก่อเกิดปรากฏการณ์ คนสอนธรรม.. คนตื่นธรรม.. พระตื่นพุทธพจน์.. สามเณรตื่นรู้.. แม่ชีตื่นปฏิบัติเกิดขึ้นมากมาย
ในขณะที่หมู่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังถือปฏิบัติตามแนวเดิมที่เคยถือกันมา อย่างไม่ใส่ใจในความเป็นไป.. จึงเป็นปัจจัยให้เกิดคลื่นกระแสปลุกเร้าจิตใจของหมู่ชนที่ใคร่เรียนรู้ เข้าใจธรรม ในแบบฉบับสังคมไอที.. ที่ยึดหลัก รวดเร็ว ฉับไว ตรงใจ.. ถูกกระแส
ปรากฏการณ์วิวาทะระหว่าง ภิกษุกับภิกษุ.. ชาวบ้านกับชาวบ้าน ที่ถือธรรมคติต่างกัน จึงเกิดปรากฏแพร่ภาพเสียงไปทั่วโลกโซเชียล อย่างไร้ความเคารพยำเกรงกันและกัน...
การพยายามใช้สื่อไอทีทุกรูปแบบ เพื่อเผยแพร่ความคิด คำพูดของตน.. ที่อ้างว่า เป็นคำสั่งสอนที่ถูกต้อง ตรงตามพระพุทธธรรม.. จึงเป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากทุกสำนัก.. ที่ต่างพากันออกอากาศเผยแพร่ผ่านระบบไอทีไปสู่ชาวบ้านทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากในยุคปัจจุบัน
ปัญหาจึงเกิดปรากฏมากขึ้นในสังคมศาสนา.. ซึ่งแม้ว่าองค์กรรับผิดชอบจะออกมาทำหน้าที่ขจัดปัญหาดังกล่าว แต่ก็ล่าช้าไม่ทันการณ์.. ด้วยความเร็วของคลื่นไอทีที่แผ่ไปทั่วอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม ไม่เว้นวัดบ้าน วัดป่า.. พระภิกษุหรือสามเณร.. ตลอดจนแม่ชี ชาววัด ที่มีหน้าที่เพิ่มในการช่วยกัน กดแชร์ กดไลก์.. ให้ความเห็นเชียร์ครูบาอาจารย์ของตน และสกัดทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่เกรงกลัวว่าจะผิดศีล.. ผิดธรรม..
หลวงพ่อ หลวงพี่ พระอาจารย์ในโลกโซเชียลปัจจุบัน จึงมีบทบาทมาก.. ต่อการโน้มน้าวชักนำจิตวิญญาณสาธุชน.. ชาวบ้านทั้งหลาย.. จนเสมือน สามารถยึดอำนาจการปกครององค์กรศาสนาไปได้ด้วยเครื่องมือไอทีอันทรงอิทธิพลต่อมหาชน..
หลายสำนัก.. จึงผุดปรากฏตัวขึ้นด้วยการแสดงบทบาทท่าทีในฐานะ ผู้รู้.. ผู้เชี่ยวชาญทางพระธรรมวินัย.. จึงก่อเกิดบทบาทผู้นำจิตวิญญาณแบบใหม่ในวิถีพุทธขึ้น เมื่อสังคมส่วนหนึ่งได้รับแนวคิดและการกระทำของเจ้าสำนัก.. และบรรดามวลสมาชิกในสำนักนั้นๆ.. ที่อาศัยเครื่องแบบศาสนา ประกาศตนเป็นต้นแบบแท้จริงอย่างไร้ความเกรงใจในพระเถรานุเถระทั้งหลาย
ด้วยความอ่อนแอ.. ความอ่อนล้า ความอ่อนด้อย ขององค์กรศาสนาแบบดั้งเดิม ที่ปล่อยให้มีการปฏิบัติอย่างไม่แน่วแน่ มั่นคง ตามพระธรรมวินัยดั้งเดิม.. ดังมีหลายพวก.. หลายคณะ ที่สืบเนื่องการปฏิบัติกันแบบผิดๆ อย่างไม่ยอมแก้ไข.. จึงกลายเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดกลุ่มศาสนาใหม่ขึ้น.. โดยอ้างว่าเป็นกลุ่มสัทธรรมแท้จริง.. โดยพยายามกล่าวย้ำว่าที่กระทำกันมา ผิดเพี้ยน ไม่ตรงตามหลักธรรมคำสั่งสอนที่ถูกต้อง จึงได้เห็นกระแสความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงขึ้นในหมู่ศาสนิกชนรุ่นใหม่!!
อะไรๆ จึงเกิดขึ้น ปรากฏอย่างไม่มีใครใส่ใจรับผิดชอบ ว่า.. จะเกิดผลกระทบต่อศาสนา.. กระทบต่อองค์กรศาสนาอย่างไรบ้าง...
ดูเหมือนเรื่องหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนา กลายเป็นเรื่องสนุกของบุคคลและหมู่ชนบางกลุ่มบางคณะ ที่สามารถ คิด พูด ทำ แสดงอย่างไรก็ได้ตามทิฏฐิของตน.. มิหนำซ้ำยังได้รับแรงสนับสนุนจากทางโลกนิยม.. จนเกิดแฟชั่นในการเผยแผ่ศาสนารูปแบบใหม่
จึงนับเป็นห้วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์ศาสนา ที่ทุกฝ่ายควรกลับมาใส่ใจรับผิดชอบอย่างมี สติปัญญา และคำนึงถึงคุณประโยชน์โดยธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง...
สำคัญยิ่ง.. คือ การดำเนินงานร่วมกันด้วยความสามัคคีธรรม.. อย่างมีแบบแผนการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกัน.. ที่ต้องคำนึงถึงคุณค่าอันสูงสุดของ พระธรรมวินัย เป็นที่สุด...
โดยจะต้องไม่แก่งแย่งกันกล่าว.. แก่งแย่งกันรักพระศาสนา... แต่จะต้องคืนกลับมาดำเนินงานร่วมกันอย่างยึดมั่นใน อริยประเพณี.. ที่สืบพระพุทธศาสนาให้มั่นคง.. ดำรงอยู่มาได้จนถึงวันนี้ ที่มีอายุมากกว่า ๒,๐๐๐ ปี...
ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเถรเจ้า กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ในเหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานและไม่นาน!? ว่า... “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี และพระพุทธเจ้าเวสสภู ดำรงอยู่ไว้ไม่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า.. สารีบุตร พระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู ทรงผ่อนคลายที่จะแสดงธรรมพิสดารแก่สาวก... สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ.. ชาตกะ.. อัพภูตธรรม.. เวทัลละ ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์จึงมีน้อย มิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก ไม่มีการแสดงปาติโมกข์
เมื่อหมดพระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติวรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล..
เธอเหล่านั้น พาให้ พรหมจรรย์สูญสิ้นโดยเร็วพลัน ฯลฯ.. สารีบุตร นี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี และพระพุทธเจ้าเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน”
พระพุทธศาสนาของเรา.. โดยพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศสิกขาบท.. ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ไว้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ.. ด้วยพระประสงค์เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ที่แสดงพรหมจรรย์ด้วยพยัญชนะและอรรถ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ โดยสิ้นเชิง ไว้ดีแล้ว ทั้งนี้ เพื่อการสืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนาให้เป็นไปในโลก.. เพื่ออนุเคราะห์โลกตราบนานเท่านาน
จึงได้เห็นความรับผิดชอบของพระสงฆ์สาวกในยุคสมัยแรกๆ ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบ โดยยึดมั่นในพระโอวาทปาติโมกข์ อันแสดงความชัดเจนในหลักการ อุดมการณ์ และข้อปฏิบัติ.. ที่ถ่ายทอดเป็นสิกขาบท เพื่อการศึกษาปฏิบัติอย่างเป็นแบบอย่างเดียวกันของคณะสงฆ์.. เพื่อสถาปนาความมั่นคงของคณะสงฆ์ในการทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมวินัยให้มี เอกภาพ.. เอกธรรม เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความ สามัคคีธรรม
ดังที่พระมหากัสสปเถรเจ้าได้ประกาศให้คณะสงฆ์ทราบด้วย “ญัตติทุติยกรรม” วาจา.. หลังจากพุทธปรินิพพานไม่นาน ว่า..
“สงฆ์ไม่พึงบัญญัติ สิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว นี้เป็นญัตติ....”
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ในสังคมปัจจุบันในศาสนาพุทธของเรา มักจะมีผู้ทำตัวเป็นผู้รู้ออกมาแสดงความอวดรู้ อวดฉลาด ตามประสาปุถุชน ด้วยการนึกคิด ตรึกตรอง ตามทิฏฐิของตนเอง.. ว่า สิ่งนั้นทำได้ สิ่งนี้ทำไม่ได้.. สิ่งนี้ควรทำ.. สิ่งนี้ไม่ควรทำ..
หลายครั้งที่ได้ฟังคำพูดล่วงเกินพระสัพพัญญุตญาณ ว่า.. ถ้าพระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ในปัจจุบัน ย่อมที่จะบัญญัติเปลี่ยนแปลงสิ่งที่บัญญัติไว้แล้วในหลายสิกขาบท เช่น ห้ามพระสงฆ์รับทองเงิน.. ยินดีในการรับทองเงินเพื่อตน.. หรือเก็บทองเงินไว้เพื่อตน เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อต้องการรับรองแนวทางการกระทำตามความคิดของตนว่า พระสงฆ์ในพุทธศาสนาสามารถรับเงินทองของมีค่า.. ทำธุรกรรมเหมือนคนทางโลกได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหารกรุงรังแวดวงภิกษุสงฆ์มานาน และเป็นไปทั่ว ไม่ว่าพระสงฆ์ในประเทศหรือในต่างประเทศ แม้จะอ้างตนว่า เป็นพุทธเถรวาท ที่ยึดมั่นในพระสัทธรรมดั้งเดิม.. อันเนื่องมาจากการสังคายนาครั้งที่ ๑ ของพระมหาเถระ ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันตสาวกจำนวน ๕๐๐ รูป.. ที่มี เถรวาทะ ชัดเจน เป็น สังฆมติ ว่า.. “จะไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ จะไม่เพิกถอน สิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว...”
สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่ง คือ การประพฤติตนที่ไม่เคารพในพระวินัยที่วางระเบียบแบบแผนไว้ดีแล้ว ในความเป็นอริยประเพณีที่สอดรับเป็นหนึ่งเดียวกัน
ดังที่ได้เห็นพฤติกรรมผู้อ้างตนว่าเป็นภิกษุในพุทธศาสนา แสดงพฤติกรรม ทั้งกาย วาจา.. อย่างขาดความสำรวม.. ละทิ้งความสังวรในพระปาติโมกข์ ด้วยการแสดงโวหารวาที กิริยาท่าทาง ที่ถ่อยเถื่อน ต่ำกว่าปุถุชนทั่วไป ที่ปรากฏในโลกโซเชียลยุคไอที
...และเมื่อบวกกับพฤติกรรมที่แสดงออกแบบแหวกแนว เพื่อดึงกระแสสร้างความสนใจ บวกกับคำพูดแบบชาวบ้านในการแสดงโวหารวาทีที่ประกอบความรู้ทางธรรมที่จดจำมา.. จึงทำให้เกิดกระแสไวรัลในแวดวงศาสนาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการชักนำไปตามหลักธรรมคำสอนที่ตนเองคิดค้นคำกล่าวขึ้นมาใหม่.. จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายในฐานะพุทธบริษัทจะได้ช่วยกันตื่นตระหนักรู้ด้วยสติปัญญา.. เพื่อช่วยกันปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา และสำคัญยิ่ง คือ ไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันทำลายพระศาสนา!!.
เจริญพร
dhamma_araya@hotmail.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .
ไม่เลิก MOU 44 ได้สอง-เสียสาม !
คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ