ผลในทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือกับคำถาม ไม่ใช่แค่คำถามจากในพื้นที่เท่านั้น แต่คำถามจากประชาคมระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย และเสรีภาพประชาชน การสังหารหมู่ที่มีประชาชนเสียชีวิตเกือบร้อยคน แต่ไม่สามารถหาคนมารับผิดชอบกับการตายเหล่านั้นได้ ทั้งที่การพิจารณาคดีในชั้นศาลเดินทางมาถึงจุดก่อนหน้านี้แล้ว รัฐบาลไม่อาจหลีกเลี่ยงคำถามเหล่านี้ได้ในเวทีระหว่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย
"คดีตากใบ"ที่เกิดเหตุเมื่อ 25 ต.ค. 2547 และมีอายุความ 20 ปี ได้หมดอายุความไปแล้วเมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา
ทำให้คดีดังกล่าวที่มีการฟ้องไปสองสำนวนคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส สุดท้ายแล้ว ศาลก็ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบ คดีไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม หลังไม่สามารถนำตัวจำเลยในคดีตากใบมาส่งต่อศาลได้ภายในเส้นตายวันที่ 25 ต.ค.
เรื่องดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมายถึง กระบวนการยุติธรรม-การบังคับใช้กฎหมาย ที่สุดท้ายแล้ว คดีต้องหมดอายุความไป เพราะรัฐไทยไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาส่งศาลได้ตามหมายจับ จนคดีหมดอายุความ
"รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน -รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร -กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งติดตามเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดหลายปีในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง"ซึ่งบทบาทที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นนักการเมืองที่นำปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ มาตลอด และเป็นคนที่เคลื่อนไหวเรื่องคดีตากใบทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ มาตลอดเช่นกัน ได้มาสะท้อนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ต่างๆ หลังจากคดีตากใบหมดอายุความ
ลำดับแรก เราขอให้ "รอมฎอน"เล่าถึงเส้นทางคดีตากใบ ที่มีการไปยื่นฟ้องศาลนราธิวาสในปีนี้สองคดีคือคดีของประชาชน กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบที่ส่วนใหญ่จำเลยในคดีนี้จะเป็นระดับผู้สั่งการ กับคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องที่จำเลยส่วนใหญ่เป็นระดับปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมขนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี และมีผู้เสียชีวิต 78 ศพ เพราะยังมีประชาชนจำนวนมาก สงสัยว่า คดีนี้เกิดขึ้นมายี่สิบปีแล้ว เหตุใดถึงเพิ่งมีการยื่นฟ้องคดีในปีนี้ ที่เป็นปีสุดท้ายของอายุความตามกฎหมาย
"รอมฎอน" เล่าเส้นทางคดีตากใบโดยสรุปว่าการติดตามความยุติธรรมในเรื่องเหตุการณ์ตากใบ มีการติดตามมาตลอดทุกปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปี 2547 จากญาติผู้เสียชีวิตและองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ ผ่านการจัดงานรำลึกครบรอบเหตุการณ์ตากใบที่มีการจัดงานทุกวันที่ 25 ตุลาคมของทุกปี และการจัดงานทำบุญตามหลักศาสนาอิสลาม ในวันที่ 11 เดือนรอมฏอน ที่จะสลับหมุนเวียนกันไปตามปฏิทินจันทรคติที่ตัวผมเอง ก็ได้ติดตามเรื่องนี้มาต่อเนื่อง เคยมีการนำเรื่องตากใบไปพูดในที่ประชุมสภาฯว่า กำลังเข้าสู่ช่วงนับถอยหลังอายุความคดีตากใบที่เหลืออีกหนึ่งปีก็จะหมดอายุความ ตอนช่วงการหารือในที่ประชุมสภาฯ หลังผ่านการจัดงานครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ
โดยตอนที่มีการจัดงานครบรอบ 19 ปีดังกล่าว (25 ตุลาคม 2566) มีคำถามจากฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตที่ตั้งคำถามกับทนายความที่มาจัดเวทีเสวนาพูดคุยกันเรื่องเหตุการณ์ตากใบว่า จะครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ตากใบ แล้วคดีความที่เป็นคดีอาญาไปถึงไหน ก็ปรากฏว่าทนายก็ตอบไม่ได้ ไม่มีใครตอบได้ว่าคดีอาญาไปถึงไหน เลยเป็นเหตุให้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่มีทนายความ-นักกฎหมายมุสลิมที่ติดตามเรื่องนี้ ได้ทำหนังสือเพื่อให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยการเรียกข้อมูลและตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง
ต่อมามีการประชุมคณะกมธ.กฎหมายฯ ที่พิจารณาเรื่องคดีอาญาตากใบครั้งแรกเมื่อ 13 ธ.ค. 2566 โดยเชิญหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล-ชี้แจงกับกมธ.ฯ อาทิเช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ที่ทำเรื่องเยียวยา-ตัวแทนสำนักงานอัยการภาค 9 -ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ,สภ.อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี และสภ.อ.ตากใบ นราธิวาส
...ต้องบอกตามตรงว่า ก่อนหน้านั้น คนที่ติดตามเรื่องตากใบมาตลอด ก็ไม่รู้สถานภาพของคดีว่าไปถึงไหน จนการประชุมกมธ.ฯ เมื่อ 13 ธ.ค. 2566 เราถึงเพิ่งมารู้ว่าเรื่องมันถูกเพิกเฉยเสียจนกระทั่งว่าตำรวจและอัยการ ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้คดีอาญาไปถึงไหน จนกระทั่งมันมีประเด็นขึ้นมาว่า"สำนวนคดีตากใบ"มันหายไป ก็มาจากการประชุมวันดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงแล้วสำนวนไม่ได้หาย เพราะเมื่อกมธ.ฯ มีการให้ตำรวจไปรวบรวมพยานเอกสาร-หลักฐานต่างๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดี ส่งกลับมายังกมธ.กฎหมายฯ โดยให้เวลาหนึ่งเดือน ซึ่งจุดนี้คือที่มาที่เราเริ่มเห็นท่าทีแล้วว่าเหมือนกับมีความพยายามจะทำให้คดีตากใบมันหายไป ไม่มีใครทำ
การประชุมกมธ.กฎหมายฯ วันดังกล่าวประเด็นเรื่องการเยียวยา สิทธิในการฟ้องคดีตกไป เพราะในที่ประชุมมีการซักถามประเด็นดังกล่าว ที่ตัวแทนของหน่วยงานรัฐเช่น ศอ.บต. ก็มาอธิบายเรื่องการให้เงินเยียวยา(สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เราก็มีการตั้งคำถามกันว่า การให้เงินเยียวยาไปแล้ว จะมีผลต่อการดำเนินคดีอาญาหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเป็นคนละส่วนกัน เพราะการช่วยเหลือเยียวยา ไม่ได้ตัดสิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญา เพราะเรื่องนี้เป็นอาญาแผ่นดิน การเยียวยาจึงไม่สามารถมาลิดรอนสิทธิของประชาชนในการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่วนการตั้งต้นทำคดีขึ้นมา ช่วงแรกมีการตั้งข้อสังเกตุว่า คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ พูดอีกแบบก็คือ มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ยังมีข้อกังขาตรงนี้
"รอมฎอน"กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมา ตำรวจก็มีการส่งเอกสารมาที่คณะกมธ.กฎหมายฯ ซึ่งตัวผมเองไม่ได้อยู่ในคณะกมธ.ฯชุดดังกล่าว แต่ว่าติดตามเรื่องนี้มาตลอดจึงขอประธานกมธ.ฯ เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง(ตอนพิจารณาเรื่องเหตุการณ์ตากใบ) จนเราได้เอกสารมา และพบว่า เรื่องคดีตากใบ จะแยกเป็นสองส่วน
โดยส่วนแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ที่มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ หน้าสภ.อ.ตากใบ และส่วนที่สอง เป็นคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตระหว่างขนย้ายลำเลียงอีก 78 ศพ ทั้งสองกรณีรวมผู้เสียชีวิต 85 คน และผู้รับผิดชอบสำนวนตั้งต้น ก็คนละส่วนกัน
คดีแรก เป็นของพนักงานสอบสวนสภ.อ.ตากใบ ส่วนคดีที่สอง คือหลังมาพบศพที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานีที่อยู่ในพื้นที่ สภ.อ.หนองจิก
เรามาพบว่า ทั้งสองสำนวนคดีมีความคืบหน้าที่แตกต่างกัน โดยสำนวนคดีแรก สลายการชุมนุมที่เสียชีวิต 7 ศพ เราพบเอกสารล่าสุดของอัยการผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการนราธิวาส มีคำสั่งตามความเห็นที่่ส่งมาจากพนักงานสอบสวน สภ.อ.ตากใบ มีคำสั่งให้งดการสอบสวนเนื่องจากไม่พบผู้กระทำความผิด แต่คดีนี้หากพบตัวผู้กระทำความผิด ก็ต้องทำการสอบสวนต่อไป พูดอีกแบบก็คือ คดีนี้ยังไม่ถึงชั้นศาล พูดง่ายๆ ก็คือ มีการตายเกิดขึ้นระหว่างความชุลมุนวุ่นวาย(เมื่อ 25 ต.ค. 2547) แล้วไม่พบคนที่ยิงที่ทำให้มีคนเสียชีวิต ไม่พบว่าเป็นใคร ที่เป็นเรื่องที่มีปริศนาพอสมควร เพราะในรายงานสอบข้อเท็จจริงโดย คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ตั้งสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็พบว่ามีการใช้อาวุธในการสลายการชุมนุม มีการพบอาวุธปืนในแม่น้ำที่ติดกับที่ชุมนุม หลังจากวันเกิดเหตุหนึ่งวัน แต่ในสำนวนก็มีเอกสารหลักฐานที่สภ.อ.ตากใบพยายามจะบ่งชี้ว่า ก็ได้พบอาวุธที่ตกอยู่ข้างศพด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ยังเป็นที่กังขาเพราะจากปากคำของผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุ ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ที่บันทึกไว้ในรายงานของคณะกรรมการฯยืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้อาวุธจากฝั่งผู้ชุมนุมเลย และภาพที่ปรากฏก็คือ ผู้เสียชีวิต ถูกยิงหัวห้าคน โดยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหกคน ส่วนคนที่เจ็ดไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และเราก็พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาก็ได้มาร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่ฟ้องในตอนหลัง
"รอมฎอน" ย้ำว่าข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นปริศนามาก คดีนี้เป็นคดีที่มีปริศนาที่สุด แต่ถูกให้ความสนใจน้อยที่สุด ซึ่งในคำสั่งของอัยการที่งดการสอบสวน ออกมาประมาณปลายปี 2549 ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหารโดยคมช.ปี 2549 และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกสุรยุทธ์ ได้กล่าวคำขอโทษที่ปัตตานี ต่อหน้าผู้นำศาสนาฯ เมื่อช่วงเดือนพ.ย. ปี 2549 และอีกสองวันหลังจากนั้น อัยการมีคำสั่งถอนฟ้องอีกหนึ่งคดี ก็คือคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีอาญาผู้ชุมนุม 59 คน ซึ่งรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ พยายามส่งสัญญาณประนีประนอม แต่อีกด้านหนึ่งก็เบลมรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรไปด้วยในเวลาเดียวกัน และต่อมาอีกหนึ่งเดือน ก็มีการยุติการสอบสวนคดีสลายการชุมนุมด้วยเช่นกัน อันนี้คือคดีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม
ส่วนคดีผู้เสียชีวิต 78 ศพ เอกสารที่ส่งมายังกมธ.กฎหมายฯ ก็เป็นเอกสารของพนักงานสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปสู่ลักษณะการเสียชีวิตด้วย ซึ่งลักษณะการตาย คือตายภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน เพราะอย่างกรณี 7 ศพมันยังไม่ชัดเพราะเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมที่มีความชุลมุนวุ่นวาย แต่กรณี 78 ศพ เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายลำเลียง แล้วมาพบที่่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานีว่าเสียชีวิต 78 ศพ ดังนั้น ต้องเริ่มจากการชันสูตรพลิกศพ โดยศาลต้องมีการไต่สวนการตาย คดีนี้เรียกกันในแวดวงกฎหมายว่าเป็นคดี ช. คือคดีชันสูตรพลิกศพ ซึ่งศาลต้องมีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน เป็นใคร ชื่ออะไร พักอาศัยที่ไหน ตายอย่างไร และตายโดยใคร อันนี้คือความสมบูรณ์ของคดี ที่ต้องระบุลักษณะเช่นนี้ เพื่อเป็นสารตั้งต้นของการทำสำนวนวิสามัญฆาตรกรรม หรือสำนวนฆ่าคนตายต่อไป
โดยคดีนี้ถูกโอนไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดสงขลา ทางศาลใช้เวลาพิจารณาอยู่ประมาณ 4-5 ปี ซึ่งศาลมีคำสั่งในช่วงต้นปี 2552 บอกว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ ขาดอากาศหายใจภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แค่นี้จบ โดยที่ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ทั้ง 78 ศพแต่ละคนตายด้วยสาเหตุอะไรและตายโดยใคร ไม่ได้ระบุ โดยระบุกว้างๆแค่ว่าขาดอากาศหายใจ บางคนก็มีอาการบอบช้ำ เป็นต้น ก็ทำให้เกิดความคาใจเกิดขึ้นในหมู่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตและประชาชนที่ติดตามเรื่องตากใบ โดยหลังจากนั้น ศาลก็ส่งสำนวนมาที่อัยการและพนักงานสอบสวน ทางพนักงานสอบสวนก็เห็นว่าเนื่องจากศาลมีคำสั่งว่า ผู้เสียชีวิตขาดอากาศหายใจ ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยไม่พบผู้กระทำความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนก็เลยมีความเห็นยุติการสอบสวน และทำหนังสือไปถึงผวจ. ตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ซึ่งผวจ.ปัตตานีเวลานั้น ก็ไม่ได้มีความเห็นแย้งอะไร หรือพูดอีกแบบก็คือ ยังเป็นคดีที่ยังไม่ปิดสำนวน แต่ค้างไว้ไม่มีการทำสำนวนต่อ
หลังจากนั้นอีก 14 ปีถึงเพิ่งมารู้ว่าทั้งหมด เปิดไว้แค่นี้ ทีนี้ทั้ง 7 ศพในสำนวนคดีแรก และอีก 78 ศพในคดีที่สอง ยังไม่เคยไปถึงมือศาลยุติธรรม ซึ่งตรงนี้ เป็นความเข้าใจผิดของนักวิชาการอย่าง ดร.สุรชาติ บำรุงสุข (อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ที่เข้าใจผิดในข้อมูลพื้นฐาน-ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคดีอาญาของประเทศไทย โดยออกมาทึกทักตีความไปว่า การเยียวยา ก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะดร.สุรชาติ ไปเข้าใจว่าคดีจบไปแล้ว มีการเยียวยาแล้ว ที่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรง อันนี้ยังไม่รวมที่ไปเข้าใจว่า กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่ตั้งโดยฝ่ายรัฐบาลเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมด้วย ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทั้งเรื่องหลักการแบ่งอำนาจหน้าที่ และความเข้าใจต่อกระบววนการแสวงหาข้อเท็จจริง ที่แยกส่วนกันกับกระบวนการยุติธรรม เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่น่าตกใจมาก เพราะนายสุรชาติ เป็นนักวิชาการด้านความมั่นคง ที่ไม่น่าจะพลาดในพื้นฐานข้อเท็จจริงเช่นนี้ จนกลายเป็นว่าท่าที จุดยืนและข้อเสนอ ข้อสังเกตุของนายสุรชาติ ได้กลายเป็นการให้ความชอบธรรมในการหนีคดีของจำเลยทั้ง 14 คนที่เป็นเรื่องที่่ร้ายแรงมากในความเห็นผม แต่ทั้งหมด ข้อเท็จจริงก็คือ เพิ่งมารู้กันในตอนพิจารณาของกรรมาธิการฯ และในสภาผู้แทนราษฎร
จนท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.หนองจิก และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เมื่อเห็นว่ามีการตั้งคำถามแบบนี้ และเพื่อให้สิ้นสงสัย ตำรวจก็ส่งเอกสารที่เป็นบันทึกประจำวันของสภ.อ.หนองจิกว่า ได้เปิดสำนวนคดีขึ้นมาใหม่ โดยใช้สำนวนคดีที่ 13/2567 ในการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตายของ 78 ศพ
...พูดอีกแบบก็คือ คดีนี้ค้างเติ่งมา 14 ปีแล้วเพิ่งมาเปิดคดีกันใหม่ เป็นสำนวนคดี 13/2567 เมื่อไม่กี่เดือนนี้เอง โดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาทำสำนวนคดี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ขณะที่ฝั่งญาติของผู้เสียชีวิต ที่ตลอดการพิจารณาของกมธ.กฎหมายฯ ก็เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ทุกครั้ง และพบความจริงว่า เจ้าหน้าที่ทำได้แค่นี้ ก็เลยมีการหารือกันว่าตอนนี้เข้าช่วงสุดท้ายแล้วก่อนที่อายุความของคดีจะหมด ก็เลยตัดสินใจรวมตัวกันแล้วยื่นฟ้องคดีต่อศาลในฐานะฝ่ายประชาชน ที่กฎหมายเปิดช่องให้ฟ้องได้ นอกเหนือจากการฟ้องของอัยการ เพียงแต่หากประชาชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง ศาลจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อน ซึ่งทั้งสองสำนวนก็มาบรรจบกัน เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ที่เป็นช่วงหกเดือนก่อนหมดอายุความ
โดยในฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ส่งสำนวนหลังรวบรวมพยานหลักฐานอยู่สามเดือน และส่งให้อัยการสูงสุด โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ขณะที่อีกสำนวน ที่ศาลนราธิวาส วันเดียวกัน ประชาชน 48 คน ก็รวมตัวกันแล้วยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐรวม 9 คน โดยมี พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นจำเลยที่หนึ่ง โดยยื่นฟ้องที่ศาลนราธิวาส ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรก 24 มิ.ย. 2567 และอีกครั้งคือ 19 ก.ค. 2567 ซึ่งวันที่ 24 มิ.ย.ผมไม่ได้ไปสังเกตุการณ์เพราะต้องไปศึกษาดูงานกับกมธ.ความมั่นคงฯ ที่ประเทศโปแลนด์ โดยก็มีพลเอกพิศาลร่วมคณะไปด้วย ก็มีการคุยกันเรื่องคดีตากใบกันอยู่ แต่ต่อมาวันที่ 19 ก.ค. ผมก็ไปสังเกตุการณ์ที่ศาลนราธิวาส ต่อมา 23 ส.ค. อีกหนึ่งเดือนถัดมา ศาลนราธิวาส ประทับรับฟ้อง
"รอมฎอน-รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" สรุปว่า ทั้งหมดทั้งมวล ก่อนที่ศาลนราธิวาสจะประทับรับฟ้องคดี เมื่อ 23 ส.ค. และนัดเบิกคำให้การจำเลยวันที่ 12 ก.ย. ซึ่งจำเลย 7 คน ไม่มาศาล ทางศาลก็เลยออกหมายจับ ซึ่งเส้นทางของคดี ทั้งสองส่วนคือคดีที่ประชาชนฟ้องเอง กับคดีที่ตำรวจภูธรภาค 9 สอบสวนใหม่ มาบรรจบกันอีกครั้งเมื่อ 12 ก.ย. แต่เป็นคนละความเคลื่อนไหว คือ 12 ก.ย. เป็นการไต่สวนมูลฟ้องนัดแรกของคดีที่ประชาชนฟ้อง ส่วนสำนวนคดีที่อยู่ในการพิจารณาของอัยการแล้ว ทางอัยการรับสำนวนมาจากตำรวจเมื่อ 25 เม.ย. ทางอัยการ ก็ให้พนักงานสอบสวนไปหาพยานหลักฐานเพิ่ม ที่หนึ่งในนั้นคือรายงานสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่ตั้งสมัยรัฐบาลทักษิณ และเมื่อ 12 ก.ย. อัยการก็มีความเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวน โดยอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องและออกหมายจับวันที่ 20 ก.ย.
เส้นทางคดีทั้งหมด ผมจะบอกว่าเพื่อโต้แย้งหรือตอบคำถามที่ว่าทำไมเพิ่งมาฟ้องคดีตากใบว่า เพราะมันเพิ่งมาปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นคณะกรรมาธิการของสภาฯ ในกลไกของสภาฯ จึงไปกระตุ้นให้พนักงานสอบสวนตั้งคดีใหม่ และกระตุ้นให้ประชาชนเห็นว่าคงคาดหวังกับเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ก็เลยร่างฟ้องคดีกันเองเมื่อต้นปี เรื่องนี้้มันไม่ใช่การปลุกปั่น ปลุกขึ้นมา แต่เป็นความพยายามของพี่น้องประชาชน และภาคประชาสังคม และตัวผมเองด้วยในฐานะนักการเมืองที่เราก็ตามเรื่องนี้มา
เพราะเรื่องตากใบ ผมก็อภิปรายครั้งแรกเลยตอนอภิปรายช่วงการแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ตอนนั้น ผมก็ไม่รู้ว่าคดีไปถึงไหน โดยตอนนั้นไม่ได้มีความคิดเรื่องการฟ้องคดีอาญาอยู่ในหัวเลย แต่ไปคิดเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศไปแล้ว ตอนนั้นไม่รู้เลยว่ามันจะมีความคืบหน้าได้ขนาดนี้ จนเพิ่งมารู้ข้อเท็จจริงช่วงปลายปีนี้ว่าคนที่ทำสำนวนยังตอบอะไรไม่ได้เลย เลยยิ่งทำให้ตกใจ ซึ่งผมก็เข้าใจว่า ทางเจ้าหน้าที่เอง เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาได้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจก็ต้องทำหน้าที่ของเขา ส่วนชาวบ้าน เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่เองยังตอบได้แค่นี้ แล้วจะเอาอย่างไรดี เพราะหากหมดอายุความปีนี้ ปีหน้าก็แค่มาจัดงานรำลึก แล้วก็แค่มานั่งบ่นกันว่าเราไม่ได้ทำจนถึงที่สุด ทั้งหมดคือที่มาของคดีตากใบ
ติดตามตัวจำเลยไม่ได้ ประชาชนรู้สึกการดำเนินคดีอาญา ใช้มาตรฐานที่แตกต่างกัน
-ที่ผ่านมา คิดว่าภาครัฐ เอาจริงเอาจังหรือไม่ ในการพยายามติดตามตัวจำเลย มาส่งศาลตามหมายจับ?
ผมว่าถึงเวลานี้ ประชาชนตัดสินได้แล้วว่าความจริงจังตั้งแต่รัฐบาล ไล่มาถึงหน่วยงานต่างๆ ความจริงจังของหน่วยงานต่างๆ ที่จะลากตัวจำเลยที่มีการออกหมายจับ ความพยายามเหล่านั้นจริงจังมากพอหรือไม่ ผมว่าประชาชนตัดสินได้แล้ว และยิ่งเรามีกรณีเปรียบเทียบข้างเคียง ที่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ที่สาธารณชนให้ความสนใจ เป็นเรื่องที่มีผลกระทบกว้างไกลเหมือนกัน ก็คือกรณีดิไอคอน กรุ๊ป
เราเห็นการเปรียบเทียบอย่างชัดเจน มันประจักษ์ในพื้นที่สาธารณะ ว่าขีดความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของบ้านเราทั้งเชิงทักษะ และเรื่องเทคโนโลยี เรามีขีดความสามารถมากกว่านี้
ดังนั้นกรณีตากใบ และเปรียบเทียบโดยเฉพาะกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีการเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่ง คือเราเปรียบเทียบกรณีประชาชนถูกกล่าวหาในคดีร้ายแรง เขาจะเป็นสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็น อย่างไรหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เราเห็นการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่หมาย สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือหมายคดีอาญาต่างๆ พบว่าวิธีการปฏิบัติ มันต่างกัน รูปธรรมที่เป็นเรื่องที่ประจักษ์ในพื้นที่สาธารณะอย่างชัดๆ คือการตั้งหมายต่างๆ เช่น หมายจับ หากเดินทางไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นการประกาศจับบุคคลที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งนำไปติดในพื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน ที่จะเห็นความพยายามในการติดตามจับกุมตัว มีการปิดล้อมตรวจค้น เราเห็นมาตรฐานเหล่านั้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันก็เลยไม่แปลกที่คนจะรู้สึกว่า ในกรณีที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตกเป็นจำเลย มีหมายจับแล้วด้วยซ้ำ แต่ความพยายาม(หาตัว) กลับเล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกัน
จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะรู้สึกว่าการดำเนินคดีอาญาต่อเรื่องนี้ใช้มาตรฐานที่แตกต่างกัน จนญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ เขารู้สึกหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าตัวการพิจารณาคดีจะเดินทางมาไกลถึงขั้นนี้ แต่เขาก็ยังรู้สึกว่า เราน่าจะทำได้มากกว่านี้ ซึ่งทั้งหมด เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจก แจกแจงต่อญาติผู้สูญเสีย ไม่ใช่มาโยนความผิดให้พรรคฝ่ายค้าน มาบอกว่าเป็นเรื่องการเมือง โยนความผิดให้คนนั้นคนนี้ แต่ตัวเองก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าทำงานอย่างเต็มที่จริงๆ
-หลังวันที่ 25 ตุลาคม ควรต้องมีการดำเนินการอะไรหรือไม่ เช่นการเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต หรือการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อพูดคุย เปิดเผยข้อมูลเรื่องคดีตากใบ?
ก็มีข้อเสนอออกมามากมายเช่น การให้สภาฯเป็นเจ้าภาพในการเปิดพื้นที่ไต่สวนสาธารณะ เพื่อเปิดเผยความจริงเรื่องนี้ หรือข้อเสนอถึงฝ่ายบริหารให้มีคำขอโทษต่อกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว ที่รัฐบาลควรตระหนักรับฟัง เพื่อเป็นหลักประกันว่า ในคดีที่มีอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกดำเนินคดี จะไม่ลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันในการขีดเส้นบรรทัดฐานใหม่ว่ากรณีที่มีเหตุการณ์แล้วประชาชนเสียชีวิตเยอะขนาดนี้ รัฐบาลควรใส่ใจดูแล ไม่ต้องไปโยนความผิดให้รัฐบาลอื่น ไม่ต้องมาโยนความผิดให้ฝ่ายค้าน หรือโยนความผิดให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อาจเคยเป็นสมาชิกของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่จำเป็น
คดีหมดอายุความจะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการสันติภาพ
-ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า เมื่อคดีหมดอายุความ สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะอาจมีการก่อเหตุอะไรขึ้น?
ในความเห็นผม หลายคนอาจโฟกัสไปที่เหตุรุนแรง แต่สำหรับผม คิดว่าควรโฟกัสไปที่ความรู้สึกของประชาชน ซึ่งสัมพันธ์กับความชอบธรรมในการปกครองของรัฐไทยในพื้นที่ เรื่องนี้สำคัญกว่าในความเห็นผม เพราะสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาทางการเมือง สิ่งที่เราควรใส่ใจและต้องติดตาม คือเรื่องความชอบธรรมของอำนาจรัฐในสายตาประชาชน เรื่องนี้จะลดน้อยลงแน่ จะเกิดคำถามใหญ่โตว่าประเทศไทย มีอำนาจรัฐที่แข็งแกร่งขนาดไหน ความแข็งแกร่งที่ว่า ไม่ใช่สัมพันธ์กับการใช้กำลัง การบังคับใช้กฎหมาย การแสดงกำลัง เช่นการตั้งด่านสกัดต่างๆ ไม่ใช่สิ่งนั้น แต่ความแข็งแกร่งของอำนาจรัฐไทย คือความชอบธรรมในสายตาประชาชน ถ้าปราศจากสิ่งนี้ อำนาจรัฐ ก็จะอ่อนแอ อำนาจรัฐไม่ได้มาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด หรือการแสดงกำลังให้ประชาชนหวาดหวั่น หวาดกลัว แต่อำนาจรัฐมาจากความรู้สึกยินยอมที่จะถูกปกครองโดยประชาชน แต่เมื่อหนึ่งเมื่อใด กระบวนการยุติธรรม มันไม่สามารถทำงานได้อย่างที่มันควรจะเป็น วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ยังเป็นเรื่องใหญ่ ยังเป็นสิ่งที่ปักหลักอย่างมั่นคงในสังคมไทย
ตราบใดที่มีสิ่งนี้ ความชอบธรรมของอำนาจรัฐต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะเป็นเรื่องยาก และมันจะสัมพันธ์แบบยากเย็น และลำบากของกระบวนการสันติภาพที่กำลังง่อนแง่นอยู่ในเวลานี้ ประชาชนจะเชื่อมั่นน้อยลงว่ามันคือแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะนำไปสู่เหตุผลรองรับของการปฏิบัติการทางทหารของบีอาร์เอ็นและกระบวนการอื่นๆ คือสำหรับผมไม่ได้โฟกัสที่เหตุรุนแรงก่อน แต่โฟกัสที่ความชอบธรรมของอำนาจรัฐก่อน ถึงจะอธิบายได้ว่า ทำไมขบวนการติดอาวุธที่มีกำลังพอที่จะก่อเหตุได้ ถึงเลือกที่จะปฏิบัติการได้ คือเขาต้องมีเหตุผลในการรองรับแล้วก่อเหตุเหล่านั้น แล้วประชาชนไม่ได้ขัดขวาง ซ้ำร้ายกว่านั้น ประชาชนบางส่วนอาจสนับสนุนด้วย เพื่อที่จะส่งสัญญาณว่า อำนาจรัฐมันไม่มีความชอบธรรม อันนี้คือเรื่องที่น่ากังวล
กับอีกเรื่องคือเรื่องผลในทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือกับคำถาม ไม่ใช่แค่คำถามจากในพื้นที่เท่านั้น แต่คำถามจากประชาคมระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย และเสรีภาพประชาชน การสังหารหมู่ที่มีประชาชนเสียชีวิตเกือบร้อยคน แต่ไม่สามารถหาคนมารับผิดชอบกับการตายเหล่านั้นได้ ทั้งที่การพิจารณาคดีในชั้นศาลเดินทางมาถึงจุดก่อนหน้านี้แล้ว รัฐบาลไม่อาจหลีกเลี่ยงคำถามเหล่านี้ได้ในเวทีระหว่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย
และจะมีคำถามเหล่านี้จากกลุ่มประเทศมุสลิมด้วยเช่นกัน ที่รัฐบาลต้องเตรียมคำตอบ และก็จะเป็นปัญหาในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศมุสลิมด้วยเช่นกัน ก็เป็นผลกระทบที่ผมคิดว่า หากไม่คิดคำนวณให้ดี ไม่เห็นภาพรวมแบบนี้ และไม่ได้ทำงานอย่างจริงจัง ผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องชีวิตของผู้คนที่สูญเสียไปจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แต่มันจะเป็นความเสียหายในทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หัวหน้าเท้ง' สวนกลับ 'ทักษิณ' เร่งเครื่องเต็มสูบ ไม่ช่วยเพื่อไทยเหนือกว่า ปชน.
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ปราศรัยพาดพิงพรรคประชาชนทำงานไม่เป็น ว่า สิ่งหนึ่งที่พรรคประชาชนมีผลงานเป็นรูปธรรม
'หัวหน้าปชน.' โต้ กกต. ฟัน สส.ชลบุรี ข้อหาเล็กน้อย สั่งทีม กม. สู้คดี
'ณัฐพงษ์' แจง กกต. สั่งดำเนินคดี 'สส.ชลบุรี' ยื่นบัญชีรายจ่ายเลือกตั้งเท็จ ชี้ ปชน. เตรียมทีมกฎหมายไว้แล้ว เชื่อ สังคมมองออก ข้อหาเล็กน้อย กลั่นแกล้งการเมืองหรือไม่
'เท้ง' ลุ้น! ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน เมินตอบ 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง-แพทองโพย'
'เท้ง' ยิ้ม ปัดให้ความเห็น 'ฉายารัฐบาล-นายกฯ' บอกอยากฟังของตัวเองมากกว่า ชี้สื่อทำเนียบ-รัฐสภามีสิทธิ์ตั้งคำถาม พร้อมรับมาสะท้อนปรับปรุงการทำงาน
'อดีตนายก อบจ.นนทบุรี' สมัครชิงสมัย 5 น้ำตาคลอขอทำเพื่อลูกหลาน ยันไม่ใช่บ้านใหญ่
'นายก อบจ.คนเก่านนทบุรี' น้ำตาคลอ ขอทำเพื่อลูกหลานสมัยที่ 5 ยันไม่มีบ้านใหญ่ ตกลงเบอร์กับผู้สมัคร ปชน. ก่อน ไม่ต้องจับฉลาก
‘สส.ชวาล’ ลั่นยินดีพิสูจน์ตัวเอง หลัง กกต.สั่งฟันคดีอาญา ยื่นบัญชีเลือกตั้งไม่ตรงความจริง
ผมยินดีพิสูจน์ต่อไปตามกระบวนการของศาล และจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปในฐานะผู้แทนราษฎรเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวชลบุรี
กกต.ฟันอาญา สส.พรรคส้ม ยื่นบัญชีใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ตรงจริง
กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา"ชวาล" สส.ปชน.ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง โทษหนักทั้งจำคุก-ตัดสิทธิ 5 ปี