วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันตำรวจ ตำรวจถือเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกิจการกรมพลตระเวนกับกรมตำรวจภูธรเข้าด้วยกันเป็นกรมเดียว เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2458 เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล ยกฐานะเจ้ากรมเป็นอธิบดี
ทุกปีจะมีพิธีทำบุญบำเพ็ญกุศลทางศาสนา พิธีมอบโล่ห์และประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นและประชาชนที่ช่วยสนับสนุนราชการตำรวจ พิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ตำรวจ พิธีสวนสนามของข้าราชการตำรวจ และมีงานเลี้ยงรับรอง ดำเนินการมาเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นที่เศร้าโศกเสียใจของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ รวมทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ทุกหมู่เหล่า จึงได้มีการงดจัดกิจกรรมวันตำรวจในวันที่ 13 ตุลาคมมาโดยตลอด เพื่อเป็นการแสดง ความอาลัยแด่พระองค์ท่าน โดยเลื่อนไปจัดวันอื่นในเดือนตุลาคมแทน
นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อตำรวจตลอดมา พระองค์ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินร่วมในพิธีวันตำรวจ วันที่ 13 ตุลาคม และพระราชทานธงชัย ประจำหน่วยงานตำรวจ ณ พระราชวังดุสิต ใน พ.ศ. 2495 พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2495 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้เป็นเครื่องเตือนจิตใจของข้าราชการตำรวจตอนหนึ่งว่า “ท่านเป็น ตำรวจ จงทำตนให้สมกับที่เป็นตำรวจ จงเป็นตำรวจที่ดี ... ไม่ว่าจะเป็นตำรวจชั้นใด จะเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร ก็ดี ชั้นนายสิบหรือพลตำรวจก็ดี นับเป็นผู้มีเกียรติเสมอเหมือนกันหมด คือเกียรติแห่งลูกผู้ชายที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองของตน ให้สมกับคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวไว้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตัวเอง แต่ให้นึกถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลาย จงตั้งใจปฏิบัติราชการตามหน้าที่ของตนตามตำแหน่งชั้นอย่างเต็มที่ เพื่อชาติบ้านเมืองของเราจะได้ยั่งยืนถาวรเหมือนอย่างบรรพบุรุษของเราได้กระทำมาแต่ก่อน”
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2499 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และทอดพระเนตรการสวนสนามและรับการถวายความเคารพจากขบวนสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจหน่วยต่างๆ และเสด็จฯ ยังโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกครั้งเนื่องในโอกาสวันสถาปนาครบ 100 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2545 ประทับรถยนต์พระที่นั่งตรวจพลสวนสนามและประทับ ณ พลับพลาพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของข้าราชการตำรวจและนักเรียนนายร้อยตำรวจ อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกระบี่ให้แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจที่สำเร็จการศึกษาเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 50 ปี และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2534 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังกรมตำรวจเป็นครั้งสุดท้ายในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หน้าอาคาร 1 กรมตำรวจ และอาคารโรงพยาบาลตำรวจ
พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฎษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2541 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อการพัฒนาปรับปรุงกรมตำรวจอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2555 พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดสร้างพระนิรันตรายขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำไปประดิษฐานให้ข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น“ราชาผู้พิทักษ์” ยามประเทศชาติมีภัยจากการก่อการร้าย พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหน่วยตำรวจหลายหน่วยหลายครั้ง ทรงเป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจ พระราชทานพระบรมราโชวาทให้ตำรวจยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ พระราชทานโครงการให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการจราจรตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร โครงการพัฒนาห้วยทราย ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีอดีตข้าราชการตำรวจผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ. เสริม จารุรัตน์ อดีตนายตำรวจราชสำนัก พล.ต.อ. พงษศักดิ์ โรหิโตปการ พล.ต.ท.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจสื่อสาร ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดเพื่อถวายงานด้านต่างๆ เช่น การดูแลพี่น้องประชาชนในบริเวณชายแดนและถิ่นทุรกันดาร การแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร
ทุกครั้งที่เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ ไม่ว่าโดยพระราชพาหนะใด ทั้งเครื่องบิน เรือ รถยนต์ และรถไฟ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายได้ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพเสมอมาคือ พระองค์สนพระทัยและมีพระอัจฉริยภาพด้านวิทยุสื่อสารเป็นเลิศ พระองค์โปรดที่จะทดลองติดต่อสื่อสารกับสถานีวิทยุของหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความอารักขาตามเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านด้วยพระองค์เองตลอดเวลา หากไม่มีประสิทธิภาพ จะรับสั่งแนะนำให้แก้ไขทันที ส่งผลให้โครงการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของราษฎรเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เนื่องในพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 7 รอบ 84 พรรษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผมเป็นหัวหน้าคณะทำงานจัดทำหนังสือ”84 พรรษา ราชาผู้พิทักษ์" เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมจิตร่วมใจแสดงความจงรักภักดี ถวายราชสักการะ และเทิดทูนเชิดชูพระเกียรติยศโดยหนังสือเล่นนี้ได้บันทึกเรื่องราวพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณไว้เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนและอนุชนรุ่นหลังได้รับทราบพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่ทรงพระราชทานให้ตำรวจไทย อีกทั้งให้ปวงข้าราชการตำรวจทั้งหลาย ตลอดจนประชาชนชาวไทยได้น้อมรำลึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงเป็น“ราชาผู้พิทักษ์” ตลอดไป
ผมรับราชการเป็นตำรวจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆสูงขึ้นมาโดยลำดับ แต่การแต่งตั้งที่ผมมีความภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิตราชการตำรวจคือการได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นนายตำรวจราชสำนักเวร เมื่อแต่งเครื่องแบบได้ประดับเครื่องหมาย ภปร.(“ภ”มหาภูมิพลอดุลยเดช “ปร”ปรมาราชาธิราช)อันเป็นพระนามย่อของพระองค์ท่านไว้ที่บ่าด้านขวา ทุกครั้งที่ได้รับคำสั่งไปปฏิบัติหน้าที่ถวายงานรักษาความปลอดภัยจะมีความสุขมาก เพราะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด
ยังจำได้เมื่อครั้งเข้าเวรฯถวายงานที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน ภาพพระองค์ท่านยังติดตราตรึงใจมา จนทุกวันนี้ พระองค์ท่านเสด็จลงทรงดนตรีร่วมกับนักดนตรีวงดนตรีประจำพระองค์ เริ่มตั้งแต่เสด็จฯมาถึงทรงเล่นกับคุณทองแดงสุนัขทรงเลี้ยงและลูกๆอีกหลายตัว พระองค์ทรงรักและมีพระเมตาต่อสุนัขมากๆทรงปฏิบัติและเล่นหยอกล้อกับสุนัขด้วยความสนุกสนานเป็นเวลานาน จดจำชื่อสุนัขได้ทุกตัว พระราชทานอาหาร ขนมให้สุนัข จนได้เวลาพอสมควรเจ้าหน้าที่ก็จะเอาสุนัขออกไป พระองค์ทอดพระเนตรสุนัขขณะเดินออกไปจนสุดสายพระเนตร
จากนั้นก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปที่วงดนตรี ทรงเปิดกระเป๋าอุปกรณ์ดนตรีซี่งมีอยู่หลายชนิดมาทำความสะอาดเช็คให้สะอาด ผมนั่งดูเห็นว่าพระองค์ได้เช็ดเครื่องดนตรีเสมือนหนึ่งเป็นของรักของหวงของพระองค์ท่านด้วยความปราณีต จากนั้นก็จะเริ่มทรงดนตรี พวกข้าราชบริพานและทหารตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ถวายงานเป็นผู้ชมผู้ฟัง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในทางดนตรีอย่างมาก ดังที่ได้รับทราบทั่วกัน ได้ทรงแต่งเพลงพระราชนิพนธ์ไว้จำนวนมาก จะทรงดนตรีโดยตลอดเป็นประจำส่วนพระองค์ และเคยเสด็จทรงดนตรีร่วมกันนิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางโอกาส
ผมนั่งฟังพระองค์ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงสากล และเพลงไทย หลายสิบเพลง เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงศษ เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืน ประมาณตีสอง จนฟ้าสางสว่างในตอนเช้า เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความเพลิดเพลินกับเสียงเพลงที่ทรงบรรเลง เมื่อเสร็จการทรงดนตรี พระองค์ก็จะปฏิบัติเหมือนเดิมเช็คทำความสะอาดเครื่องดนตรีและเก็บเข้าที่ด้วยพระองค์เอง ทรงขอบใจนักดนตรีที่เข้าร่วมเล่นดนตรีด้วย และก็มาทักทายพูดคุยกับข้าราชบริพานและทหารตำรวจที่มาเฝ้าฯด้วยพระเมตตา สักพักจึงเสด็จกลับห้องประทับ สร้างความปิติยินดีกับทุกคนด้วยถ้วนหน้า
ผมถวายงานปฏิบัติหน้าที่นายตำรวราชสำนักเวรจนถึงวันสุดท้ายที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินกลับมาพักรักษาพระวรกายที่กรุงเทพฯและก็ไม่ได้เสด็จกลับพระราชวังไกลกังวลจนสิ้นพระชนม์ ผมเกษียณจากราชการแล้วไปนั่งเฝ้ารับเสด็จพระองค์ท่านครั้งสุดท้าย ริมถนนหลักเมือง หน้าศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สนามหลวง ตอนอัญเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระบรมมหาราชวัง ได้มีโอกาสเข้ากราบพระบรมศพ และร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ส่งเสด็จฯสู่สวรรคาลัย
ทุกวันที่ 13 ตุลาคม ประชาชนชาวไทยทุกคน และตำรวจทุกนายจะจดจำวันนี้ไว้ในความทรงจำตลอดไป พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ราชาผู้พิทักษ์ ปกปักรักษา ดูแลพสกนิกรทุกหมู่เหล่าด้วยทศพิธราชธรรมมาตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์สมบัติ พระสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)
สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ