‘งานหนังสือ’ เมื่อเอ่ยคำนี้ขึ้นมา เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพบูธจำหน่ายหนังสือลดราคาที่เนืองแน่นไปด้วยผู้อ่านที่มาเลือกซื้อหนังสือกันหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน ตำราเรียน พัฒนาตนเอง ธุรกิจ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม รวมถึงนวนิยาย ฯลฯ
เมื่อก่อน ภาพจำของงานหนังสือ คือ การลดราคากระหน่ำชนิดที่หน้าร้านหนังสือต่างๆ ไม่อาจทำได้ แต่ในยุคที่การสั่งซื้อออนไลน์มี ‘โค้ด’ ลดอย่างมากมายอยู่ทุกวันนั้น ทำให้การกดสั่งซื้ออยู่ที่บ้านอาจได้หนังสือใหม่ที่เพิ่งออกในราคาที่ถูกกว่าไปซื้อเองที่งานหนังสือ
วันนี้ไปจนถึง 20 ตุลาคมนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในหัวข้อ “อ่านกันยันโลกหน้า” ซึ่งมีสำนักพิมพ์หลายแห่งที่ขายได้ทะลุเป้าไปแล้ว
คำถามจึงมีว่า แล้วอะไรเป็นเสน่ห์ของงานหนังสือที่ทำให้ยังมีคนไปเดินกันอย่างต่อเนื่อง
อาจกล่าวได้ว่า งานหนังสือเป็นทั้งการขายอรรถประโยชน์ในแง่ความคุ้มค่าที่ได้รับ และขายอารมณ์ความรู้สึกในแง่ประสบการณ์ที่ได้รับไปพร้อมๆ กัน
นักอ่านหลายคนอยากไปพบปะนักเขียน นักแปลคนโปรด อยากไปสนับสนุนสำนักพิมพ์ที่ตนชื่นชอบ ได้พูดคุยกับบรรณาธิการสำนักพิมพ์ และนัก ‘ป้ายยา’ หนังสือมือฉมังที่ทำให้อยากอ่านอะไรๆ เพิ่มเติม รวมทำให้ให้ได้บังเอิญพบเจอมิตรสหายหลายคนที่เดินสวนกันในงาน หรือแม้กระทั่งการนัดเพื่อนฝูงมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอีกด้วย เพราะในงานหนังสือยังมีทั้งเวทีกิจกรรม นิทรรศการ ไปจนถึง ‘ห้องสมุดสุดสยอง’ ที่ชวนให้ร่วมสนุกด้วยความตื่นตาตื่นใจ
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปเดินงานหนังสือมาแล้ว 3 วัน ได้ทั้งหนังสือและความทรงจำ หนังสือที่ได้มามีทั้งที่ตั้งใจจะไปซื้อ และเล่มที่บังเอิญพบในงาน จึงขอเลือกหนังสือแนวสารคดีที่เพิ่งออกใหม่ในงานหนังสือรอบนี้จากนักเขียนไทยมาแนะนำจำนวน 9 เล่ม
กามโรคในสังคมไทย ของ ระชา ภุชชงค์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์สวยงามสมสมัย จำหน่ายในราคาย่อมเยา นำเสนอประเด็นประวัติศาสตร์สังคมผ่านกามโรคตั้งแต่สมัยจารีตโบราณมาจนถึงสมัยใหม่ ทั้งประเด็นกรอบศีลธรรม การใช้กฎหมายควบคุม ตลอดจนระบบสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องอย่างน่าสนใจ ต้องขอกล่าวไว้ด้วยว่า นานๆ ทีจะเห็นกรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือในทำนองนี้จึงอยากสนับสนุนและให้กำลังใจ
รักสมัยใหม่: สังคมวิทยาความรัก ของ วิลาสินี พนานครทรัพย์ โครงการจัดพิมพ์คบไป เป็นงานวิชาการว่าด้วยความรักของปัจเจกชนที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขและบริบททางสังคม ทั้งการบริโภค การขยายตัวของสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การคมนาคม และบทบาทของรัฐในการควบคุมกำกับความรัก
บ้านและสวย ของ ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ สำนักพิมพ์คอมม่อนบุ๊คส ว่าด้วยรสนิยม ความงาม และพื้นที่ทางอารมณ์ของครอบครัวชนชั้นกลางไทย ซึ่งปรับปรุงมาจากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว. เป็นงานที่เรียกได้ว่า บุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทยผ่านพื้นที่บ้านและความงามของบ้าน ซึ่งจะทำให้เรามองเรื่องใกล้ตัวเราด้วยสายตาที่แตกต่างออกไปจากเคย
แห่งใดหรือคือบ้าน ของ ‘นิ้วกลม’ สำนักพิมพ์คู้บ เล่าเรื่องการเดินทางในนิวซีแลนด์พร้อมประสบการณ์ที่สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และเรียกน้ำตา ด้วยภาษาที่อ่านง่าย แต่มีข้อคิดกินใจ เสมือนหนึ่งว่า การเดินทางออกไปนอกพื้นที่คุ้นเคยนั้น เป็นการเดินทางภายในจิตใจของเราเอง เพื่อขบคิดไขข้อคำถามบางประการให้แจ่มชัดขึ้น เช่น “บ้านของเราอยู่ที่ไหน”
ตำรับสร้าง(รส)ชาติ ของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน กล่าวถึงประวัติศาสตร์สังคมไทยผ่านตำราอาหารที่คลี่คลายจาก “มุขปาฐะ” ที่หวงแหนในวงแคบ มาสู่การตีพิมพ์เป็น “ลายลักษณ์” เผยแพร่ในวงกว้าง และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของอาหารกับการเมือง ทั้งอาหารชาววัง และอาหารเพื่อโภชนาการของประชากรฉบับคณะราษฎร ภายในเล่มมีหนังสือเก่า เอกสารเก่ามาประกอบให้อ่านอย่างจุใจ
1967 “ทหารไทย” ใน “สมรภูมิเวียดนาม” ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ สำนักพิมพ์สารคดี นำเสนอประเด็นประวัติศาสตร์สังคมเวียดนามที่มีทหารไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในสมรภูมิรบ ผ่านหลักฐานทั้งในและต่างประเทศอย่างรอบด้าน พร้อมประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสอดีตสนามรบเหล่านั้น เป็นหนังสือที่ทำให้เห็นบริบทสงครามเย็นระดับโลกในเวลานั้น และทำให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของไทยในอดีตอีกด้วย
World Expo Revisited ของ ‘Little Thoughts’ สำนักพิมพ์แสงดาว ซึ่งพาไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ยุคอุตสาหกรรมผ่านงานนิทรรศการโลก ตั้งแต่ลอนดอน ค.ศ. 1851 จนถึงโอซาก้าที่กำลังจะมีขึ้นในปีหน้า ซึ่งทำให้เห็นว่า ไม่เพียง ‘วัตถุ’ เท่านั้นที่นำมาจัดแสดง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ‘ความคิด’ ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย เมื่อมองเห็นอดีตแจ่มชัด เราย่อมเห็นอนาคตชัดแจ้ง
วิชาคนตัวเล็ก ของ พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ สำนักพิมพ์วีเลิร์น กล่าวถึง 33 วิธีคิดที่จะช่วยให้เอาชนะอุปสรรคที่ใหญ่เกินตัว ผ่านประสบการณ์การทำธุรกิจสำนักพิมพ์ของผู้เขียนที่เล่าอย่างกระชับ และให้ข้อที่เป็นประโยชน์ แม้ผู้อ่านจะไม่ได้อยู่ในวงการหนังสือก็ตาม เช่น กำแพงที่สูงที่สุดคือความคิดของเราเอง “คุณค่า” คือสิ่งหลอมรวมผู้คนไว้ด้วยกัน การยิ้มให้ความล้มเหลว และการทำน้อยได้มาก เป็นต้น
เธอเป็นลูกสาว ของ ‘จิน แซ่ตั้ง’ สำนักพิมพ์อ่าน เป็นบันทึกในรูปกึ่งนิยายเพื่อเลี่ยงไม่ให้กระทบกับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก เพราะเล่าเรื่องครอบครัวธรรมดาสามัญ ที่ยายของผู้เขียนอพยพมาจากเมืองจีนและถูกบังคับให้ขายตัว ส่วนแม่ ซึ่งเคยทำงานในไนต์คลับ เป็น ‘เมียน้อย’ ของพ่อ โดยในบั้นปลายชีวิต แม่ความจำเสื่อมและมีปัญหาทางจิต ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยไปพร้อมกับการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างยากลำบาก ผ่านการสะท้อนประเด็นปัญหาในสังคมไทยได้อย่างคมคาย ทั้งเรื่องการประกันสุขภาพถ้วนหน้า จรรยาบรรณแพทย์ ความเชื่อเรื่องคนทรงเจ้า ความเหลื่อมล้ำในสังคม อำนาจรัฐ ไปจนถึงคำถามเชิงศีลธรรมถึงหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด
เล่มสุดท้ายนี้เป็นเล่มที่อยากแนะนำผู้อ่านที่สนใจเรื่องนโยบายสาธารณะเป็นพิเศษ เพราะทำให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตของผู้คนแปรผันตามนโยบายสาธารณะต่างๆ เพียงใด
นักเขียนไทยที่เขียนหนังสือดีๆ ยังมีอยู่อีกไม่น้อย อยากชวนให้สนับสนุนผลงานของนักเขียนไทยกันครับ
กษิดิศ อนันทนาธร
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
วันพุธที่ 16 ตุลาคม
กษิดิส อนันทนาธร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เค ร้อยล้าน' ไม่รอดป่วนงานหนังสือ ตะโกนมีระเบิด บุกล็อคคอ 'ธนาธร'
จากกรณี นายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือ เค ร้อยล้าน ได้เข้ามาภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมนำกระเป๋าใบหนึ่งโยนลงพื้นที่ พร้อมตะโกนว่า "มีระเบิด"
'ทักษิณ' โผล่แจกลายเซ็นข้ามโลก ลั่นพร้อมสู้ทุกปัญหา ไม่ยอมแพ้
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ร่วมกิจกรรมแจกลายเซ็นผ่านระบบเทเลปริ้นเตอร์ให้กับผู้ที่มาซื้อหนังสือ “THAKSIN SHINAWATRA Theory and Thought”