ธรรมาภิบาลกับรายงานทางการเงิน

           ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้ถึงข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการจัดทำรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้องตามจริง เป็นการตกแต่งงบการเงินให้ผู้อื่นเข้าใจผิด จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย  รวมไปถึงการยักยอกเงินของบริษัทเข้าไปในบัญชีตนเอง  โดยผ่านช่องทางการทำธุรกรรมต่าง ๆ   เป็นต้น  และเมื่อมีการตรวจพบ สังคมมักจะมีคำถามกับผู้สอบบัญชีเป็นรายแรก กรรมการตรวจสอบและผู้ตรวจสอบภายใน จะเป็นรายต่อมา คำถามคือ ทำไมตรวจไม่พบหรืออย่างไร ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นจนเกิดความเสียหายกับองค์กรมากมายปานนั้น

           ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับกระบวนการจัดทำรายงานทางการเงินก่อน การจัดทำเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทเป็นเบื้องต้น เมื่อจัดทำเสร็จต้องส่งมอบให้ผู้สอบบัญชี ทำการตรวจสอบรับรองรายงานทางการเงินนั้น จนได้ความเห็นของผู้สอบบัญชีว่ารายงานทางการเงินนั้น ถูกต้องตามที่ควรหรือมีเงื่อนไขใดก็ตาม  งบการเงินหรือรายงานทางการเงินนั้นจะถูกส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบทำการสอบทาน ให้ความเห็นชอบ เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ จัดส่งตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

             ในกระบวนการจัดทำงบการเงินนี่เองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท หากสองฝ่ายนี้มีธรรมาภิบาลที่ดีย่อมจะนำมาซึ่งรายงานที่ถูกต้องครบถ้วนเชื่อถือได้  นั่นแปลว่าภายในองค์กรต้องมีแนวปฎิบัติที่ดีในการกำกับดูแลและการปฏิบัติงานทุกด้าน  มีการอบรม ให้ความรู้ เน้นการมีจริยธรรมคุณธรรมในการปฏิบัติงาน  จัดให้มีระบบการควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร มีระบบการป้องกันทุจริต ซึ่งระบบที่กล่าวนี้ต้องฝังไว้ในกระบวนการทำงานทุกด้านทุกคน   สิ่งเหล่กานี้จะนำมาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นจริง  นำไปสู่การบันทึกรายการทางบัญชีที่ถูกต้อง เมื่อออกมาเป็นรายงานทางการเงินก็จะถูกต้องเช่นกัน  กระบวนการที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนการทำงานข้างในที่บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ ถึงความเข้มงวด ความใส่ใจ ในการทำมากน้อย แค่ไหน อย่างไร ฝ่ายบัญชีเอง เป็นผู้อยู่แนวหลัง ในการรับเอกสารหลักฐาน รายงานการทำธุรกรรมด้านต่าง ๆ  มาบันทึกรายการ หากข้อมูลที่ได้มาไม่ถูกต้อง  แม้ฝ่ายบัญชีจะรอบรู้ในการทำบัญชี สุดท้ายรายงานการเงินก็ยังไม่ถูกต้อง เชื่อถือไม่ได้  นี่คือจุดอ่อนของทุกองค์กร ที่มีระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงระบบการป้องกันทุจริตที่ไม่เข้มแข็งเพียงพอ   หรือแม้แต่มีระบบเพียงพอ แต่การกำกับดูแลการจัดทำรายงานทางการเงินของฝ่ายบัญชีไม่เข้มแข็ง ทำให้เกิดการตกแต่งงบการเงิน สุดท้ายงบการเงินก็เชื่อถือไม่ได้  การกำกับดูแลนี้ขึ้นกับเหล่าผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทที่ต้องมีการติดตาม ประเมินผลอยู่อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ที่สำคัญต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีด้วย

           หน้าที่ของผู้สอบบัญชีในการสอบทานรายไตรมาสหรือการตรวจสอบประจำปีนั้น มีมาตรฐานการสอบบัญชีบังคับให้ผู้สอบบัญชีทุกคนต้องปฏิบัติตาม  ซึ่งในระบบการตรวจสอบนอกจากมีระบบตรวจสอบตามมาตรฐาน มีจรรยาบรรณวิชาชีพที่ต้องรักษาอย่างเคร่งครัดแล้ว  ยังต้องมีการประเมินการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง รขององค์กร รวมถึงการสังเกตรายการทุจริตที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่องบการเงินด้วย

             เรื่องการสังเกตเกี่ยวกับการทุจริต    ยังมี มาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ระบุไว้ หากผู้สอบบัญชีพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด ผู้สอบบัญชี ต้องรายงานคณะกรรมการตรวจสอบ    ประเด็นความผิดที่สงสัย ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามมาตราที่ระบุ จะขอนำเนื้อหามาตราดังกล่าวมาให้ท่านผู้อ่านรับทราบดังนี้

            มาตรา ๒๘๑/๒ กรรมการหรือผู้บริหาร ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นใดได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัตืหน้าที่ และเป็นการทำโดยทุจริต

             มาตรา ๓๐๕ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใด ๆ อันพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึด อายัด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่่ง เพื่อเป็นพยานหลักฐาน

             มาตรา ๓๐๖ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของ นิติบุคคลใด ดำเนินการโดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอัน เป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

             มาตรา ๓๐๘ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล  ครอบครองทรัพย์ซึ่งยังเป็นของนิติบุคคล หรือซึ่งนิติบุคคลเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต

            มาตรา ๓๐๙ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำ ลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซี่งทรัพย์สินอันนิติบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น   

            มาตรา ๓๑๐ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล รู้ว่า เจ้าหนี้ของนิติบุคคลดังกล่าว หรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่น ซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้บังคับการชำระหนี้ หรือใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องชำระหนี้ แต่ได้มีการ (๑) ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้ผู้อื่น  หรือ (๒) แกล้งให้นิติบุคคลนั้นเป็นหนี้ที่ไม่เป็นความจริง

             มาตรา ๓๑๑ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล กระทำการหรือไม่กระทำ การเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล

           มาตรา ๓๑๒ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล กระทำ หรือยินยอมให้กระทำการดงัต่อไปนี้ (๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร หรือหลักประกันของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคล (๒) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคล หรือที่เกี่ยวกับ นิติบุคคล หรือ (๓) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง กระทำ หรือยินยอมให้กระทำ เพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้น ขาดประโยชน์อันควรได้หรือลวงบุคคลใด ๆ

             ความผิดที่กฎหมายระบุไว้ในมาตราเหล่านี้ เป็นบทลงโทษที่มีทั้งปรับและจำคุก ซึ่งหากมีการกระทำใดๆ ดังกล่าวข้างต้นและผู้สอบบัญชีพบเห็นโดยมีหลักฐานสนับสนุนในเบื้องต้น ก็ต้องแจ้งกรรมการตรวจสอบเพื่อตรวจสอบต่อไป ก่อนจะแจ้งให้ ตลาดฯหรือก.ล.ต. ทราบภายในสามสิบวันตามกฎหมาย   ซึ่งล่าสุด ก.ล.ต. สั่งให้รายงานทันที่ไม่ต้องรอสามสิบวัน

             คราวนี้มาดูหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบบ้าง   ตามประกาศตามแบบ (บจ/ร 25-00) 307) เรื่อง แนวทางปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบ (Best Practice Guidelines for Audit Committee)  ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2542 เป็นแนวทางที่ดีมาก .ซึ่งถ้าหากบริษัทจดทะเบียนฯ ได้นำแนวปฏิบัติที่ดีนี้ไปเป็นแนวทางในการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และจัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยที่  คณะกรรมการตรวจสอบเองก็เข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง  ก็จะทำให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี  มีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผลอย่างแท้จริง  ก็สามารถลดทอนความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ แต่หากคณะกรรมการตรวจสอบไม่เข้าใจ หรือไม่เข้มแข็งในการทำหน้าที่ก็จะทำให้เกิดกรณีอื้อฉาว ๆ ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

          ประกาศดังกล่าวได้ระบุหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบไว้ 7 เรื่องหลัก ๆ และยังระบุความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบไว้อีก 10 เรื่อง  โดยจะขอสรุปย่อ ๆ ดังนี้

          หน้าที่ที่สําคัญของคณะกรรมการตรวจสอบ ได้แก่

  1. สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผยอย่างเพียงพอ   
  2. สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผล
  3. สอบทานการปฏิบัติของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  4. พิจารณาคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท รวมถึงพิจารณาเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี
  5. พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในกรณีที่เกิดรายการเกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องและครบถ้วน
  6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายและคณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบด้วย
  7. จัดทํารายงานกิจกรรมของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจําปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ รายการดังกล่าวควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
    1. ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทําและการเปืดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินของบริษัทถึงความถูกต้องครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้
    1. ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัท
    1. เหตุผลที่เชื่อว่าผู้สอบบัญชีของบริษัทเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งต่อไปอีกวาระหนึ่ง
    1. ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ข้อกําหนดรุปของตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
    1. รายงานอื่นใดที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขต หน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท”

                    ส่วนความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าว  สรุปโดยย่อมีดังนี้

(1) ขอคําอธิบายจากฝ่ายจัดการเกี่ยวกับผลแตกต่างที่สําคัญ ๆ ในงบการเงินระหว่างปีปัจจุบันกับปีก่อน ๆ สอบทานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (Management’s Discussion and Analysis หรือ MD&A)

(2) สอบถามผู้สอบบัญชีถึงขอบเขตที่ผู้สอบบัญชีได้พิจารณาทบทวนบทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร

(3) ขอให้ฝ่ายจัดการและผู้สอบบัญชีรายงานกรณีมีปัญหาการรายงานทางการเงินที่สําคัญ  ที่ต้องปรึกษาหารือร่วมกันในระหว่างงวดบัญชี

(4) ประชุมเป็นการเฉพาะกับผู้สอบบัญชีเพื่อขอความเห็นจากผู้สอบบัญชีในเรื่องต่าง ๆ

(5) อาจให้ผู้สอบบัญชีประชุมกับคณะกรรมการบริษัททั้งคณะเพื่อหารือถึงประเด็นสําคัญ ๆ เกี่ยวกับงบการเงิน

(6) ขอคําอธิบายจากผู้บริหารและผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่องบการเงินของบริษัท

(7) หารือร่วมกับฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีถึงเนื้อหาสําคัญ ๆ ของปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาโดยนักกฎหมายเกี่ยวกับคดีความในศาล ภาระที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า สิทธิเรียกร้องหรือการถูกประเมินใดๆ (Claims or Assessments)

(8) ทบทวนยอดการตั้งค่าใช้จ่ายค้างจ่ายทางบัญชี   การตั้งสํารอง หรือประมาณการที่มีอยู่โดยฝ่ายจัดการและเนื้อหาสําคัญที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่องบการเงิน

(9) ควรดูเกี่ยวกับปัญหาภาษีเงินได้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากรว่าจะมีรายการสําคัญใด ๆ ที่อาจมีปัญหากับกรมสรรพากรและควรสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของการสํารองภาษีที่เกี่ยวข้อง

(10) พิจารณาทบทวนหนังสือรับรองจากฝ่ายจัดการของบริษัท (Management Representative Letter) ซึ่งได้ให้กับผู้สอบบัญชี

(11) การดําเนินการอื่นใดที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร”         

               นอกจากนี้คณะกรรมการตรวจสอบยังต้องปฏิบัติตาม มาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กรณีได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีในประเด็นพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าจะเกิดการกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น    และเพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบเข้มงวดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงาน ก.ล.ต ได้มีหนังสือถึงกรรมการตรวจสอบ บริษัทจดทะเบียนไทยทุกบริษัท เป็นหนังสือที่ กลต.นร.(ว) 23/2566 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กรรมการตรวจสอบ  เพื่อเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมีส่วนสำคัญ ในการติดตามและดูแลให้บริษัทจดทะเบียนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยยึดประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ  โดยให้แนวปฏิบัติล่าสุดคือการที่กรรมการตรวจสอบต้องมีหน้าที่เพิ่มขึ้น การสอบทานต้องลงรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม   เพราะตามกฎเดิมกรรมการตรวจสอบก็สอบทาน กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วตามกฎหมายกำหนด  แต่แนวปฏิบัติใหม่ที่เพิ่มเติมให้คณะกรรมการตรวจสอบดูรายละเอียดมากขึ้น  ทั้งนี้สำนักงาน กลต. คาดหวังให้กรรมการตรวจสอบต้องกำกับดูแลการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถป้องกันและยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่อบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานพฤติการณ์อันควรสงสัยของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยทันทีเมื่อได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นหน้าที่ตามมาตรา 89/25

              นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ตได้แนบแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อป้องกันและป้องปรามพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน  มาให้กับกรรมการตรวจสอบอีก 5 ข้อใหญ่ โดยแต่ละข้อมีข้อย่อยที่ต้องปฏิบัติตามอีกหลายข้อ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามมาตรา 89/25 แล้ว  ต้องมีการดูแลระบบควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอ และเหมาะสม  ให้มีการเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานทางการเงินที่เชื่อถือได้   มีการสอดส่องและติดตามการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่านัยสำคัญ (“MT”) และการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน (“RPT”) ของบริษัทจดทะเบียน  ให้มีการติดตามการใช้เงินระดมทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการเปิดเผยไว้   ซึ่งเห็นได้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลได้มีการกำกับดูแลการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบมากขึ้น

               จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะเห็นว่าตามกฎหมาย ตามระเบียบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ล้วนแล้วแต่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือ ขึ้นอยู่กับการมีธรรมาภิบาลที่ดี การมีจริยธรรม จรรยาบรรณในการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนให้มากสุด  จึงจะลดความเสียหายให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี  และความรับผิดชอบต่อรายงานทางการเงินที่แท้จริงคือ ผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทที่เป็นผู้จัดทำ  ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชี รับผิดชอบในการสอบทานและตรวจสอบการจัดทำเท่านั้น

พรรณี วรวุฒิจงสถิต
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
วันพุธที่ 9 ตุลาคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .

ไม่เลิก MOU 44 ได้สอง-เสียสาม !

คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ

พฤศจิกายน ศาลรธน. รับคำร้องคดี ทักษิณ-พท. ล้มล้างการปกครองฯ

ความคืบหน้าคำร้องคดีสำคัญทางการเมือง กรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1

ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ ยลมหานครโคมโลก !

ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง

ความโง่ .. ศัตรูตัวทำลายให้สิ้นศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ๔-๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนาระดับนานาชาติ ที่นครเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งจัดโดย International Buddhist Confederation / IBC ร่วมกับ