แก้ 112 พร้อมเดินหน้าต่อ เลือกตั้งรอบหน้า 270-300 เสียง เป็นไปได้

ถามว่าเราจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เราจะมองในมุมที่ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งในพรรคเราก็ยืนยันมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่อง 112 เป็นปัญหา ในพรรคมองว่ากฎหมายเรื่องนี้มีปัญหา ดังนั้นมีปัญหาต้องแก้ไข แต่จะแก้ไขอย่างไรที่จะทำให้สังคมยอมรับได้...ถ้าเราจะนำเสนอใหม่ในรอบนี้ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงให้มากคือ กรอบกฎหมายที่ศาล รธน.วางไว้ กับความรู้สึกของคนในสังคม แต่จะบอกว่าเราจะไม่แก้ไข คงไม่น่าจะใช่ เพราะพรรคยังยืนยันว่าตรงนี้มีปัญหาจริงในแง่การบังคับใช้ มันมีปัญหาเยอะ

ถึงตอนนี้ "พรรคประชาชน" ที่เกิดขึ้นหลังการยุบพรรคก้าวไกล เปิดตัวมาได้ร่วมสองเดือนแล้ว โดยมีสองแกนนำพรรคคนสำคัญ คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค และศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรค ที่ถือธงนำในการขับเคลื่อนพรรคประชาชน ที่เป็นพรรคส้มพรรคที่สาม  ต่อจากพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้

"ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน" เป็นเพื่อนสนิทกับสองอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับชัยธวัช ตุลาธน มาตั้งแต่ทั้งสามคนยังเป็นนักศึกษา และทำกิจกรรมการเมืองสังคมร่วมกัน ที่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยศรายุทธิ์ หรือติ่ง เป็นอดีตเลขาธิการ สนนท.เช่นเดียวกับชัยธวัช  อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งในช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2562 ทั้งสามคนได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยมีธนาธร เป็นหัวหน้าพรรค ส่วน "ศรายุทธิ์-ชัยธวัช" ทำงานหลังบ้านให้พรรค เช่น ผอ.พรรคอนาคตใหม่ และวันนี้เมื่อธนาธร-ชัยธวัชอยู่ในช่วงโดนตัดสิทธิการเลือกตั้ง ทำให้ศรายุทธิ์ต้องออกมาจากงานหลังบ้านเพื่อมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาชน

"ศรายุทธิ์" กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการ "ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" ถึงการเข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคประชาชน โดยยืนยันว่าไม่ได้เข้ามาเพราะธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขอร้องให้มารับตำแหน่งแต่อย่างใด แต่เป็นแกนนำพรรคก้าวไกลในตอนนั้น ทั้งแกนนำแถวสอง แถวสาม มีการปรึกษาหารือกันว่าจะเอายังไงกันต่อ หากมีการยุบพรรคก้าวไกล ก็มีการคุยกันหลายคน โดยในวงก็คิดว่าผมเหมาะสม ซึ่งก่อนที่ผมจะตอบรับ ผมก็ถามความเห็นในวงว่าผมเป็นได้ ไม่ได้ปฏิเสธที่จะเป็น  เพียงแต่ว่าหากเป็นเลขาธิการพรรค บทบาทคือต้องการทำงานในการสร้างพรรค ซึ่งก็จะเป็นบทบาทเลขาธิการพรรคที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในอดีตเรายังทำไม่ได้ ต้องเป็นบทบาทนี้ ผมจึงสามารถเป็นเลขาธิการพรรคได้ ซึ่งที่เราพูดคำว่าหลังบ้าน เพราะพรรคการเมืององค์ประกอบมันเยอะ ไม่ใช่มีแค่ สส. แต่เรากำลังพูดถึงพนักงานพรรค เครือข่ายสมาชิกพรรค เวลาเราพูดถึงหลังบ้านก็คือ สมาชิกพรรคและเครือข่ายกับพนักงานพรรคที่เป็นหลังบ้าน ผมก็จะดูแลในส่วนนั้น

 ผมก็เลยยอมรับที่จะเป็นเลขาธิการพรรค โดยที่นายธนาธรไม่ได้อยู่ในวงการพูดคุยดังกล่าว คือเวลาที่เราคุยกันในวงก็จะมีประมาณ 6-7 คน ที่มีบทบาทสำคัญตอนเป็นพรรคก้าวไกล อาทิ ชัยธวัช ตุลาธน, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, คุณไหม-สิริกัญญา ตันสกุล เป็นต้น

-คนมองว่าเลขาธิการพรรค เป็นคนใจเย็น วัยกำลังพอดี มีวุฒิภาวะ ขณะที่พรรคประชาชน จะว่าไปกำลังร้อน คือร้อนในความคิดความอ่าน เป็นปัจจัยหนึ่งหรือไม่ที่ทำให้มาเป็นเลขาธิการพรรค?

ผมคิดว่าไม่ แต่ปัจจัยหลักก็คือ ผมทำงานเครือข่ายสมาชิกพรรคมาโดยตลอด ความที่ผมรู้จักเครือข่ายเยอะ  รู้จักสมาชิกพรรคในจังหวัดต่างๆ เยอะ บทบาทดังกล่าวทำให้ผมเหมาะสมกว่าคนอื่นแค่นั้นเอง ส่วนความใจเย็น ไม่คิดว่าผมจะใจเย็นกว่าคนอื่น เพราะในพรรคก็มีหลายคนที่อายุน้อยกว่า แต่ก็ใจเย็นไม่แพ้กัน อย่างคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นคนหนึ่งที่ผมคิดว่าเขามีวุฒิภาวะสูง

-ความร้อนตรงนี้ รวมถึงความคิดทางการเมืองด้วย อย่างเช่นเรื่องมาตรา 112 ที่อาจเป็นประเด็นอ่อนไหว มีการมองว่าเลขาธิการพรรค ศรายุทธิ์ มีวุฒิภาวะเรื่องนี้ คืออาจจะเห็นด้วยกับน้องๆ ในพรรค แต่ว่าไม่ร้อน ตรงนี้มีส่วนหรือไม่?

ผมคิดว่าบุคลิกแบบนั้นเกิดจากว่า ทุกคนในพรรคก็มีอุดมคติกับสิ่งที่เราอยากจะเห็น สิ่งที่เราอยากให้เป็น ทุกคนมีหมด ความแตกต่างของผมกับคนอื่นก็คือ ผมฟังคนเยอะ  อย่างหากผมบอกว่าผมอยากได้ตรงนี้ แต่ปัจจุบันอยู่ตรงนี้  แต่ผมอยากได้ตรงนี้ ผมสามารถมีช่องว่างเยอะที่จะอยู่ตรงไหนก็ได้ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้

 เพราะฉะนั้นแนวทางของผมก็คือ พยายามฟังว่าคนแบบนี้มีกี่คน ตรงไหนอยู่ที่กึ่งกลาง จุดที่ทุกคนยอมรับได้  ผมจะมีความยืดหยุ่นในแง่นี้ เพราะเราฟังคนเยอะ โดยเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องถูกอยู่คนเดียว ความเป็นพรรค ต่างคนก็มีความถูกต้องคนละแบบ

สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ การหาฉันทามติ หาความเห็นร่วมกัน ดังนั้นเราอาจไม่จำเป็นต้องได้ตามที่เราต้องการก็ได้ ซึ่งด้วยการทำงานเครือข่ายมันมีลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว

-ที่มีการสัมมนาพรรคก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน มีการเสริมทัพ ปรับเปลี่ยนในพรรค ในเรื่องตัวบุคคลและโครงสร้างพรรค มีการตั้งรองหัวหน้าพรรค  รองเลขาธิการพรรค?

ก็เป็นไปตามภารกิจ อย่าง นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ก็เก่งกฎหมาย มีสำนักทนายความของตัวเอง และอาจมีการตั้งมาเพิ่มอีก ถ้าภารกิจบางเรื่องที่เพิ่มขึ้นก็อาจตั้งเพิ่มขึ้น ส่วนรองเลขาธิการพรรค 12 คน ก็เป็นการตั้งโดยแบ่งตามพื้นที่  เพราะด้วยความที่พรรคประชาชนพยายามออกแบบโครงสร้างของสมาชิกพรรค ที่เราอยากให้มีคณะกรรมการประจำจังหวัด อยากมีตัวแทนอำเภอ เพราะเวลาเราคิดถึงโครงสร้างที่ยึดโยงกับสมาชิกพรรค เราต้องออกแบบโครงสร้างที่ยึดโยงกับสมาชิกพรรคจริงๆ โดยตอนนี้เรามีระดับอำเภอขึ้นไปจังหวัดเรามีแล้ว แต่ระดับจังหวัดจะขึ้นมาเป็นกรรมการบริหารพรรค คิดว่าเรายังไม่มีพื้นที่ซึ่งจะทำให้คนมาเรียนรู้  เพราะการที่อยู่ดีๆ คนคนหนึ่งจะขึ้นมาบริหารพรรคเลย ไม่ได้ง่าย มันต้องเข้าใจองค์ประกอบทั้งหมด

อย่างรองเลขาธิการพรรค ที่เป็นตัวแทนจากภูมิภาค 8 คน ก็เข้ามาโดยผ่านการหยั่งเสียงในพื้นที่ ซึ่งมาจากการเลือกในห้องประชุมวันที่สัมมนาพรรค ผ่านกระบวนการหาเสียงภายใน แล้วก็มีการเลือกเข้ามา ซึ่งจริงๆ การแต่งตั้งเป็นอำนาจของเลขาธิการพรรค เพียงแต่ว่าเราฟังมติ เมื่อมติออกมาอย่างไรเราก็ตั้งตามนั้น แต่ถ้าเป็นรองเลขาธิการพรรคที่มาจากภาคแรงงานกับชาติพันธุ์ ก็มาจากการหยั่งเสียงในเครือข่ายของเขา เพราะทั้งแรงงานและชาติพันธุ์มีเครือข่ายของพรรคอยู่แล้ว

ส่วนสมาชิกพรรคประชาชน ตัวเลขที่เป็นทางการที่เข้าระบบของสำนักงาน กกต.เรียบร้อยแล้ว น่าจะมีประมาณ 7 หมื่นคน ที่หากเปรียบเทียบกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ถือว่าเร็วมาก ที่มาจากความรู้สึกร่วมของประชาชน ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคของเรา เลยทำให้ประชาชนตื่นตัว โดยจะสังเกตได้ว่าในช่วงแรก คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพด้วย เรียกว่าเกินครึ่ง ผมเข้าใจว่า 5 หมื่นคนแรกเกินครึ่ง สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชนตลอดชีพ

-มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดไม่มีชื่อ พริษฐ์ วัชรสินธุ มีตำแหน่งใดๆ ในพรรค ทั้งที่ควรจะเป็นเช่นรองหัวหน้าพรรค?

ผมคิดว่าบทบาทของคุณพริษฐ์ ในการเป็นโฆษกพรรค ทำได้ดีมาก และในจังหวะที่ยังไม่มีใครขึ้นมาเป็นโฆษกพรรคประชาชนได้ดีเท่าเขา ก็จำเป็นที่ต้องเป็นโฆษกพรรคต่อไป  ซึ่งตำแหน่งโฆษกพรรคก็ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้คิดถึงเรื่องปรับเปลี่ยนให้เป็นรองหัวหน้าพรรค

-ที่คนไปมองว่า ที่ไม่มีตำแหน่งเพื่อเป็นการเซฟ พริษฐ์ไว้ เผื่อว่าอนาคตหากพรรคประชาชนถูกยุบอีก ก็ไม่ใช่เรื่องจริง?

ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาชนก็ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่แล้ว ถ้าจะโดนยุบพรรคก็ไม่โดนอยู่ดี เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า พริษฐ์มีความเหมาะสมในการเป็นโฆษกพรรค ณ เวลานี้

-เรื่องคดีร้องเอาผิด 44 สส.ก้าวไกลเดิม กรณีลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ที่อยู่ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. มีการประเมินกันในพรรคอย่างไร?

ตอนนี้ที่เป็น สส.อยู่ก็มีประมาณ 25 คน ถ้าจะประเมิน ผมคิดว่ามันหลายทางมาก คือกระบวนการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงการตัดสินคดีต่างๆ คำวินิจฉัยต่างๆ ทำให้เราคาดการณ์ไม่ค่อยได้

 ในความคิดของเรา ดังนั้นเฉดในการแสดงความเห็น จะกว้างมาก คือไม่โดน ไม่น่าโดน ไปจนถึงโดนทั้งหมด ผมว่าก็คงอยู่ระหว่างนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราคุยกับใคร ดังนั้นในส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้ไปคิดตรงนั้นเยอะ เราแค่ทำให้ดีที่สุด ผลจะออกมาอย่างไรก็ว่ากัน

เตรียมพร้อมรับมือคดี 44 สส.ลงชื่อแก้ 112

-แต่นักสังเกตการณ์ทางการเมืองมองว่า จากท่าทีของ ป.ป.ช.เขาจะดูรูปธรรมเป็นรายบุคคล ไม่ได้ยกชุด ก็มีการเดากันว่าใน 44 คนอาจจะโดนสัก 20 คน ทางพรรคก็เตรียมการไว้แล้วใช่ไหม?

ก็ต้องเตรียม ต้องคิดไว้

-เหมือนที่เตรียมพรรคถิ่นกาขาวไว้ก่อนยุบพรรคก้าวไกล?

ก็ใช่ ถูก เราก็ต้องคิดว่าความเป็นไปได้ ถ้าโดนจะเป็นอย่างไรบ้าง แนวทางที่หนึ่งทำอย่างไร ทางที่สองจะทำอะไร

-แนวทางที่หนึ่ง ฉายหนังตัวอย่าง?

สิ่งที่เกิดแน่ๆ คนที่โดนหากเป็น สส.เขต ก็ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม อย่างนี้เราก็ต้องคิดแล้ว ว่าถ้าหากโดนมันจะเป็นอย่างไรบ้าง มีทางเลือกที่ต้องทำอะไรบ้าง ส่วน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ แน่นอนว่าจัดการยาก เพราะไม่มีคนแทนขึ้นมาได้ เราต้องคิดถึงฟังก์ชันงานว่า ถ้าขาดคนนี้ไปคนใหม่ที่เข้ามาแทนในประเด็นนั้นๆ จะเป็นใคร อันนี้คือการเตรียมการ ก็ต้องมีอย่างน้อย คือในประเด็นนโยบายใดประเด็นหนึ่ง ก็ควรต้องคนมากกว่าหนึ่งคน ที่จะเข้าใจเรื่องนั้นจริงๆ อย่างแทนที่คนนั้นจะเป็นคุณไหม สิริกัญญา เขาก็ต้องมีคนช่วยทำละ 2-3 คน อะไรประมาณนั้น คือมันต้องคิดแบบนั้น ก็ต้องคิดว่าแถวสามแถวสี่ขึ้นมา ที่จะขึ้นมาในแผงต่อไปจะมีใครบ้าง

- ในกลุ่ม 44 คนดังกล่าว  ก็มีทั้งคุณสิริกัญญา มีหัวหน้าพรรคหรือรังสิมันต์ โรม ยกเว้นไอติม พริษฐ์ ถ้าโดนก็แทบเกลี้ยงเลยนะ?

ก็ส่งผลอยู่ แต่ผมคิดว่าไม่นาน ในมุมผมก็ยังเชื่อว่า ระยะสั้นแน่นอน อาจส่งผลอยู่แล้ว แต่ระยะยาวหกเดือนถึงหนึ่งปี คิดว่าจะไม่ส่งผลมาก เหตุผลก็อย่างคุณพริษฐ์ที่เพิ่งมาเป็น สส.สมัยแรก แต่ดูบทบาทของเขาก็ชัดเจนว่า เขามีความสามารถเช่นเดียวกัน เราก็เห็นว่า สส.ของเราที่มาเป็นสส.สมัยแรกในปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ดังนั้นน่าจะทดแทนขึ้นมาได้ไม่ยาก ทันเวลา

-ก็คือรับรองจะมี ไหมสอง โรมสอง?

ก็มี มั่นใจว่ามี

-ประเมินว่าเรื่องนี้จะรู้ผลสักต้นปีหน้า หรือกลางปีหน้า?

เร็วที่สุดก็คงต้นปีหน้า แต่ถ้าปกติก็น่าจะกลางปีหน้า  แต่ถ้าจะยืดก็อาจปลายปีหน้า หรือถัดไปอีกปีเลยก็เป็นไปได้   ซึ่งเวลาเราประเมินก็ประเมินว่าเร็วที่สุดคืออะไร ช้าที่สุดได้ขนาดไหน ส่วนมันจะไปเป็นจริงขนาดไหน เราคาดการณ์ยากจริงๆ เรื่องนี้

-ระดับความกังวล ระหว่างตอนนั้นที่จะมีการยุบพรรคก้าวไกล กับคดีแก้ไข 112 ที่อาจจะมี สส.ของพรรค 20 กว่าคนอาจจะโดนชี้มูล ความกังวลอันไหนมากกว่ากัน?

ระดับความกังวล (ถอนหายใจ) ผมว่าใกล้เคียง คือมันเป็นคนละแบบกัน แต่ส่งผลกระทบใกล้เคียงกัน แต่ผมก็ยังเชื่อว่าอย่างที่เราสร้างพรรคประชาชนทดแทนพรรคก้าวไกลได้แบบไหน เช่นเดียวกันเราก็จะมีคนมาทดแทน 44 คนได้แบบนั้น นี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นแบบนั้น

            -เลือกตั้งรอบหน้าก็จะลง สส. เพราะบทบาทการเป็นเลขาธิการพรรคก็ควรจะเป็น สส.?

เรื่องนี้ก็เป็นข้อตกลงหนึ่ง ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าตัวเองจะไม่เป็น สส. ก็เลือกที่จะทำงานหลังจนจบ จนหมดวาระของเราคือ 4 ปี อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมพูดคุยกันตลอด สิ่งนี้ คือสิ่งที่ผมพูดให้คนอื่นเข้าใจสิ่งนี้ ถ้าเขายอมรับได้เราก็เป็นได้

ผมก็ประกาศทุกที่ว่าผมไม่เป็น สส. คือผมคิดว่าด้านหนึ่ง ผมอยากให้น้ำหนักกับการสร้างพรรคจริงๆ คิดว่าหากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คุณต้องมีฐานความมั่นคงระดับราก ที่ก็คือสมาชิกพรรค การสร้างสมาชิกที่มีความเข้าใจ เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนด้วยกัน มันจะทำให้เรายืนหยัดได้ ที่จะผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราต้องการได้ คิดว่าความสำคัญอยู่ตรงนี้ แน่นอนว่าสภามีความสำคัญ เพราะสภาคือที่แก้กฎหมาย การที่จะผ่านเรื่องต่างๆ ต้องผ่านสภาฯ มีความสำคัญแน่นอน แต่เชื่อว่าบทบาทนั้นมีคนทำอยู่แล้ว มีคนทำได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งก็ไว้วางใจอยู่แล้ว ที่เราจะเห็นมาตลอดว่าบทบาท สส.ของพรรคในสภาฯ ทำได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงควรมาโฟกัสในสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ และอยากทำให้ดี เลยยังเลือกที่จะเป็นเลขาธิการพรรคที่ทำงานหลังบ้าน

-แล้วแนวทางการสร้างพรรคประชาชน จะทำให้พรรคประชาชนเป็นพรรคแนวไหน ตอนนี้ก็มีวิวาทะ มีวาทกรรมกัน เป็นพรรคปฏิรูป พรรคปฏิวัติ แต่ที่เคยบอกคือจะทำให้เป็นพรรคของมวลชน?

เรื่องปฏิรูป ปฏิวัติ ผมไม่ค่อยอยากพูด เพราะว่ามันทำให้การตีความคำมันแตกต่างหลากหลาย แต่ผมอยากชี้แจงอย่างนี้ว่า แน่นอนว่าพรรคอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง  อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เราพูดเสมอว่าเราอยากสร้างประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เราอยากสร้างประเทศไทยที่เศรษฐกิจเติบโต ก้าวหน้าและเป็นธรรม ประเทศไทยที่ประชาชนมีเสรีภาพ มีความเท่าเทียม 

อย่างเช่นความเท่าเทียม ก็จะเห็นว่าประชาชนถูกปฏิบัติจากกฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกัน คนหนึ่งทำผิดไม่ต้องโดนติดคุก หรือคนรวยก็ไม่ต้องติดคุก ด้วยวิธีการต่างๆ แน่นอนว่าเราอยากเห็นความเท่าเทียม

เป้าหมายของเรา เวลาเราพูดว่าเราอยากสร้างประเทศไทย อย่างที่บอกมันคือระยะยาว มันคือการเดินทางไกล ดังนั้นถ้ามองในมุมแบบนี้ ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล ประเทศไทยก็จะถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไม่มีการผูกขาดมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น มีความเท่าเทียมมากขึ้น ทิศทางประเทศไทยก็จะไปตามเป้าหมายของเรา

ถ้ามองในมุมนี้ ถ้าจะบอกว่าปฏิวัติคือเปลี่ยนแปลง กะทันหัน รวดเร็ว พลิกฟ้าคว่่ำแผ่นดิน หมายถึงเปลี่ยนอย่างใหญ่โตมโหฬาร มันก็ไม่ใช่ เพราะโดยตัวมันเองมันค่อยๆ ทำ และอีกอย่างการที่เราเลือกทางเดินโดยการตั้งพรรค เพื่อจะเปลี่ยนความคิดคน ขณะเดียวกันก็ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้าไปเป็นตัวแทนพรรคในสภาฯ โดยรูปแบบมันปฏิวัติไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องไปหาฉันทามติในสภา

 ถ้ามองในมุมแบบนี้ มันไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็ว พลิกฟ้าคว่่ำแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันแน่นอน มันจะค่อยๆ ไปเรื่อยๆ แต่อยู่ภายใต้ธงที่เราพูดไว้ก็คือ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น เศรษฐกิจไม่มีการผูกขาด คิดว่าจะเป็นทิศทางใหญ่ ถ้าวันหนึ่งเราได้เป็นรัฐบาล

เดินหน้าต่อแก้ไข 112 แต่พร้อมลดเพดาน

-แต่บางครั้งบางเรื่องที่อ่อนไหว แล้วไปแตะทำให้คนตีความหรือมีมุมมองที่ไม่เข้าใจหรือไม่ไว้วางใจ อย่างเช่นเรื่องสถาบันฯ คนอาจคิดไปไกลถึงขนาดนั้น เรื่องนี้เราระมัดระวังมากขึ้นหรือไม่?

ผมคิดว่ามันเป็นจุดอ่อนของพรรคจริงๆ ในเรื่องการสื่อสารที่จะถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง คือที่ผ่านมาพรรคใช้โซเชียลมีเดีย การสื่อสารสมัยใหม่ในการสื่อสารกับประชาชน ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มีที่ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด ดังนั้นมันก็มีความเป็นไปได้ที่บางคำ บางประเด็น อาจจะถูกไปบิดนิดหน่อย แล้วถูกไปขยายความ ที่ทำให้เราน่ากลัวเกินจริง ผมคิดว่าสิ่งที่พรรคประชาชนทำหลังจากนี้ในการทำพรรคมวลชน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วจะทำให้เราเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น การสื่อสารของเราจะเป็นทางตรง พูดคุยกันมากขึ้น ดังนั้นก็จะทำให้ความรู้สึกของประชาชน อาจจะไม่ได้คิดเหมือนเดิม 

-คนโดยส่วนใหญ่ เท่าที่สัมภาษณ์หรือสัมผัสคน  เขาบอกว่าแนวคิดหลายเรื่องของพรรคก้าวไกล มาพรรคประชาชน เขาโอเค แต่ที่เขาไม่สบายใจ เขากังวลเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ในส่วนของเรื่อง 112 จะมีการทบทวนท่าทีหรือไม่อย่างไร?

ผมต้องอธิบายอย่างนี้ว่าเวลาเราคิดอะไร เราเชื่ออะไร เราพูดอะไรออกไป ส่วนใหญ่เราจะมีอุดมคติ อุดมคติว่าสิ่งที่ควรจะเป็น มันควรจะเป็นแบบนี้

ดังนั้น เวลาเราพูดอะไรสิ่งที่ควรจะเป็น บางครั้งก็หลุดจากความเป็นจริงของสังคมที่เป็นอยู่ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยอมรับ แต่กระบวนการที่เราใช้อย่างเช่น การทำเป็นกฎหมายเข้าไปถกเถียงในสภาฯ ด้วยกระบวนการของมันเอง ทำให้ความเป็นอุดมคติที่เราอยากได้จริงๆ มันจะถูกลดทอนเองโดยธรรมชาติด้วยกระบวนการ

ดังนั้นเวลาเราเสนอไป อย่างเรื่อง 112 ก็เช่นเดียวกัน ที่เราเคยเสนอไป ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องได้แบบนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาเราคิดกันในพรรค เราแค่คิดว่าสิ่งที่ควรจะเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่เมื่อคุยในสภาฯ แล้ว ได้ระดับไหนยอมรับกันได้ไหม ถ้าได้แค่นั้นก็ได้แค่นั้น เพราะโดยความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย เราจึงจะผลักดันกฎหมายได้ ซึ่งผมคิดว่าตรงจุดนี้แหละที่ประชาชนอาจจะยังไม่เห็นภาพตรงนี้ เขาไปมองสิ่งที่เราเสนออย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันเราก็อาจไปโฟกัสกับสิ่งที่เราเสนอ เพื่อขายความคิด โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกตรงนั้น ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันจำเป็นต้องมีการคุยกันเยอะขึ้น

ถามว่าเราจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เราจะมองในมุมที่ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งในพรรคเราก็ยืนยันมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่อง 112 เป็นปัญหา ในพรรคมองว่ากฎหมายเรื่องนี้มีปัญหา ดังนั้นมีปัญหาต้องแก้ไข แต่จะแก้ไขอย่างไรที่จะทำให้สังคมยอมรับได้ สังคมส่วนใหญ่คิดว่าแค่นี้โอเค ยอมรับได้ อันนี้ผมคิดว่าเราต้องมาคุยกัน กับอันที่สอง คือหลังมีการตัดสินคดีจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มันก็เป็นกรอบอะไรบางอย่างที่เราต้องมาคำนึงถึง

ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเราจะนำเสนอใหม่ในรอบนี้ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงให้มากคือ กรอบกฎหมายที่ศาลวางไว้กับความรู้สึกของคนในสังคม เราน่าจะเดินแบบนั้น แต่จะบอกว่าเราจะไม่แก้ไข ผมคิดว่าคงไม่น่าจะใช่ เพราะพรรคยังยืนยันว่าตรงนี้มีปัญหาจริงในแง่การบังคับใช้ มันมีปัญหาเยอะ อย่างน้อยเราเห็นว่าการบังคับใช้มีปัญหา แต่มันจะโยงไปถึงตัวบทเลยหรือไม่ อันนี้อยู่ที่มุมมอง แต่เรื่องนี้ต้องบอกว่ายังไม่ได้นั่งคุยอย่างจริงจัง เป็นเพียงการพูดคุยกันในภายในพรรค ยังไม่ได้เข้าที่ประชุม ก็เลยยังบอกไม่ได้ว่าเป็นแบบไหน

-มีความเร่าร้อนในหมู่ สส.พรรคประชาชนหรือไม่  เช่นบอกยังไงเสียชาตินี้ต้องแก้ให้ได้ ต้องเดินหน้า  อารมณ์ประมาณไหน?

ผมคิดว่าเวลามอง สส.ในพรรคอย่ามองแบบเดียว คือในพรรคเองมีความหลากหลายสูง หลากหลายมาก สส. 143 คนในปัจจุบันก็มีหลายระดับ หลายเฉด คนที่มีความคิดก้าวหน้าและอยากเห็น แสดงความมุ่งมั่นจริงจัง มันก็มีสไตล์แบบนั้น ขณะที่คนที่อาจจะมองแบบผม คือค่อยๆ เดินก็ได้  ตรงไหนก็ได้ ก็มีเยอะ คือต้องมองแบบนี้ว่า คนที่มองว่าแค่นี้ก็ได้แบบผม จะไม่พูดเยอะ เพราะเหมือนกับเรายอมรับคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ว่าอย่างไรเราก็ยอมรับได้ เขาก็เลยไม่ค่อยพูด เลยไม่ค่อยได้ยินเสียงที่เขาคิด

ในขณะที่คนที่มีความมุ่งมั่นสูง อยากจะผลักดันให้ได้ ให้สำเร็จ เป็นความมุ่งมั่นที่เขาเห็นปัญหาแล้วอยากทำให้สำเร็จ คนประเภทนี้ก็มีแรงกระตุ้นเยอะ ทำให้เขาสื่อสารออกมา ทำให้คนมองในภาพรวมว่าคนส่วนนี้คือส่วนใหญ่ แต่ผมยืนยันว่าจริงๆ ในพรรคมีความหลากหลาย มีหลายระดับมาก

-เรื่องการเลือกตั้งช่วงที่ผ่านมา นับแต่เป็นพรรคประชาชน ก็ถูกปรามาสว่าแพ้ซ้ำซาก เช่นสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ก็แพ้ที่ราชบุรี หรือบางจังหวัดแม้ไม่ได้ส่งเลือกตั้งในนามพรรค เช่นอยุธยา ก็แพ้เลือกตั้ง หรือ เลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1  พิษณุโลกล่าสุดก็แพ้?

ผมต้องปฏิเสธก่อนว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยากับที่พิษณุโลก พรรคประชาชนไม่ได้ส่งจริงๆ เพราะหากพูดถึงความเป็นพรรค ทางพรรคไม่ได้สนับสนุนอะไรเลย ไม่ได้ลงไปทำอะไร หัวหน้าพรรค หรือแกนนำพรรคก็ไม่ได้เห็นตอนหาเสียง ส่วนการที่มี สส.ของพรรคไปสนับสนุน เอาเข้าจริง ในพรรคเองก็มีการตำหนิเหมือนกันว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูก (ที่พระนครศรีอยุธยา)

ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก คนที่แสดงบทหลักก็คือ นพ.ปดิพัทธ์ สันติภาดา ซึ่งเขาไม่ได้อยู่กับพรรคอยู่แล้ว เอาเป็นว่าทั้งสองสนามเลือกตั้ง ผมขอปฏิเสธที่จะบอกว่าเราหนุนอยู่ข้างหลัง ขอปฏิเสธ

แต่สำหรับการที่พรรคแพ้ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ราชบุรี เรื่องของการเมืองท้องถิ่น ต้องยอมรับว่าแตกต่างจากการเมืองภาพใหญ่อยู่บ้าง แต่การพ่ายแพ้ของเรา เราประเมินว่ามันเสียหายอะไรหรือไม่ ในมุมพรรคเองไม่ได้มองว่าเสียหายขนาดนั้น เรามองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีของเรา ที่ได้ทดลองทำ และคะแนนนิยมของพรรคเราก็ชัดเจนว่าดีขึ้น ต้องใช้คำว่าดีขึ้น เพราะตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 คะแนนของเรา (สมัยเป็นพรรคก้าวไกล) อยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ แต่เลือกตั้งรอบนี้อยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งหายไป 20 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าความนิยมโดยรวมของเราดีขึ้นแน่นอน ดังนั้นเราไม่ได้ผิดหวังขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเรายังทำไม่สำเร็จ

ส่วนการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก เราก็รู้สึกว่าเราควรจะชนะ แต่เมื่อผลออกมาเราไม่ชนะ แต่เป็นพรรคเพื่อไทยชนะ ก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน เราต้องมีการมาดูมาปรับปรุงว่าเราผิดพลาดตรงไหน แต่ถ้าดูตัวคะแนนคนที่เคยเลือกเรา เราก็ยังได้คนกลุ่มนี้อยู่ คือคนที่เคยเลือกเราครั้งที่แล้ว (เลือกตั้งปี 2566 ) ครั้งนี้ก็ยังเลือกอยู่ ส่วนที่คะแนนลดลง เมื่อเทียบกับตอน นพ.ปดิพัทธ์ชนะ มันก็เป็นธรรมดาของการเลือกตั้งซ่อม ที่ผู้มาใช้สิทธิ์จะน้อยกว่าการเลือกตั้งใหญ่

 เรายังยืนยันจากตัวเลขว่า คนที่เคยเลือกเรายังเลือกเราอยู่ แต่สิ่งที่เรายังทำไม่ได้ คือเอาคนที่ไม่ได้เลือกเราให้เขาหันมาเลือกเรา ซึ่งในจุดนี้พรรคคงต้องนำมาประเมินและทำการบ้านให้หนักในสนามต่อไปว่า เราจะไปแย่งคนจากอีกกลุ่มให้เขาหันมาสนับสนุนเราได้อย่างไร ไปเชิญชวนคนอีกฟากให้เขามาสนับสนุนเราได้อย่างไร เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เราต้องสะสมบทเรียน สะสมประสบการณ์ตรงนี้  ซึ่งกรณีที่พิษณุโลกถือว่าเราทำไม่สำเร็จ ทำให้เราแพ้ไป

ทุภูมิภาค อย่างน้อยต้องมีนายก อบจ.-นายกเทศบาลนคร 1 คน 

-เลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศเดือน ก.พ.ปีหน้า ตั้งเป้าหรือยังว่าจะส่งกี่คนกี่จังหวัด?

อย่างน้อยก็คงประมาณ 15 จังหวัด แต่อาจจะมีเพิ่มมากกว่านี้

ส่วนเป้าหมายเราต้องการชนะทุกภูมิภาค ทุกภาคควรจะชนะนายก อบจ.อย่างน้อยภาคละหนึ่งแห่ง และทุกภูมิภาคควรจะต้องชนะในการเลือกตั้งนายกเทศบาลนคร ภูมิภาคละ 1 แห่ง อันนี้คือเป้าหมายที่เราได้คุยกัน ถ้าพลาดจากนี้ถือว่าผิดเป้า

 อย่างที่ภาคอีสาน ที่จะส่งก็มีเช่น อุดรธานี  อุบลราชธานี มุกดาหาร หนองคาย ส่วนภาคเหนือ ก็มีเช่น เชียงใหม่ ลำพูน ส่วนภาคใต้ก็มี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา สงขลา ส่วนภาคกลางตอนนี้ยังน้อยอยู่ ส่วนใหญ่ก็เป็นปริมณฑล เช่นสมุทรปราการ

-ถ้าผิดเป้า เลขาธิการพรรคจะลาออกหรือไม่?

(หัวเราะ) โดยตัวผมเองคงไม่ได้เอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน ยกเว้นว่าหากแพ้จริง ไม่ได้เลย แล้วกระแสสมาชิกพรรคไม่โอเคมาก แล้วนำไปสู่ว่าต้องปรับไหม ก็เป็นไปได้  เพียงแต่ว่าตอนนี้เราไม่ได้เอาตรงนี้เป็นเดิมพัน เพียงแต่ว่าเราตั้งเป้าหมายกัน.

.........................................................

โอกาสจับมือ เพื่อไทย? พร้อมเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ไม่มีดีลลับกับ 'ทักษิณ'     

เราต้องชนะตัวเองในอดีต เมื่อวานเราได้แค่ไหน วันพรุ่งนี้เราต้องดีกว่า หากมีการเลือกตั้งปี 2570 อย่างที่มีการประเมินกัน เรายังมีเวลาพอสมควร อย่างน้อยสองปีกว่าถึงสามปี การที่เราดีขึ้นทุกวัน อย่างที่เราประเมิน มันก็ไปได้ไกลมาก อาจไปได้ไกลถึง 270 ที่นั่ง หรือ 300 เสียง ก็เป็นไปได้ ถ้าเราดีขึ้นทุกวันอย่างที่บอก เราเปรียบเทียบกับตัวเองเมื่อวาน มันพอเห็นทิศทาง ผมมั่นใจว่าเราได้มากกว่าเดิมแน่ แต่จะมากไปถึงไหนขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำวันนี้และวันพรุ่งนี้เรื่อยๆ ไป

 “ศรายุทธิ์-เลขาธิการพรรคประชาชน” กล่าวถึงทิศทางการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งรอบหน้าของพรรคประชาชน

 หลังถูกถามว่า สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ได้มา 81 เสียง มาพรรคก้าวไกลได้ 151 เสียง แล้วมายุบพรรคก้าวไกลแบบนี้ก็ต้อง 200 เสียง หรืออาจ 250 ที่นั่ง โดย “เลขาธิการพรรคประชาชน” ระบุว่า ส่วนใหญ่ตอนนี้เราคิดว่าเราจะพัฒนาตัวเองอย่างไร ซึ่งการพัฒนาตัวเองความหมายก็คือ เราต้องชนะตัวเองในอดีต เมื่อวานเราได้แค่ไหน  วันพรุ่งนี้เราต้องดีกว่า

...หากมีการเลือกตั้งปี 2570 อย่างที่มีการประเมินกัน  เรายังมีเวลาอีกพอสมควร อย่างน้อยสองปีกว่าถึงสามปี การที่เราดีขึ้นทุกวันๆ อย่างที่เราประเมิน มันก็ไปได้ไกลมาก อาจไปได้ไกลถึง 270 ที่นั่ง หรือ 300 เสียง ก็เป็นไปได้ ถ้าเราดีขึ้นทุกวันอย่างที่บอก เราเปรียบเทียบกับตัวเองเมื่อวาน  เวลาผมพูดก็จะซีเรียสว่าต้องได้เท่านั้นเท่านี้ แต่มันพอเห็นทิศทาง มันเป็นไปได้ตั้งแต่มากกว่าเดิม ซึ่งผมมั่นใจว่าเราได้มากกว่าเดิมแน่ แต่จะมากไปถึงไหนก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำวันนี้และวันพรุ่งนี้เรื่อยๆ ไป ส่วนตัวเลขจะได้ 200 เสียงหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัวผม ผมมั่นใจว่าเราน่าจะไปได้ไกลกว่านั้น

-ไม่กลัวเขายุบสภาฯ ก่อนหรือ?

ความจริงเรื่องการยุบสภาฯ ก็แน่นอนว่าทำให้สิ่งที่เราวางแผนไว้อาจต้องปรับเปลี่ยน แต่ความเป็นพรรคการเมือง ยังไง เราก็ต้องพร้อมตลอดเวลา ดังนั้นต่อให้ยุบเร็วยังไง ผมยังมั่นใจว่าเราต้องทำได้ดีกว่าเดิม

-เรื่องการเสนอแคนดิเดตนายกฯ พรรคคงไม่เสนอคนเดียวแล้ว หลังมีบทเรียนจากเคสพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ใช่หรือไม่?

ผมตอบไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ แต่ยอมรับว่ามีการคุยจริง และหลายคนที่เป็นแกนนำพรรค ก็มองไปในทิศทางแบบนั้น  แต่จะบอกตอนนี้เลยคงไม่ได้ เพราะคงต้องไปพูดกันตอนใกล้ๆ เลือกตั้ง

-เลือกตั้งรอบหน้า แคนดิเดตนายกฯ ก็อาจเป็นสองชื่อคือ หัวหน้าพรรค ณัฐพงษ์กับศิริกัญญา?

ก็เป็นไปได้สูง ซึ่งหากถามผมส่วนตัว ผมก็ว่าควรเสนอไปเลยสามชื่อ และหากฟังคนในพรรค อย่างไรก็เสนอมากกว่าหนึ่งชื่อแน่นอน แต่จะเป็นอย่างไร ก็คงไปว่ากันตอนช่วงใกล้เลือกตั้ง

-แต่ก็ยังมีเสียงปรามาสว่า หลังเลือกตั้งรอบหน้า พรรคประชาชนก็จะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านอีก?

ผมคิดว่าอาจจะเป็นอีกหนึ่งปี สองปี หรือสามปี ซึ่งเราไม่รู้อนาคต แต่ที่ผมกล่าวข้างต้นว่า เราต้องแข่งกับตัวเอง ณ เวลานั้นเราอาจเข้มแข็งมาก จนทะลุทะลวง ได้ สส.เกิน 250 ที่นั่ง ก็เป็นไปได้

-ความมุ่งมั่นที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวกับรัฐบาลผสม มุ่งไปทางไหน?

การทำงานของเรา ด้วยความคาดหวังที่อยากเห็นประเทศมีอนาคต ทุกคนที่มาทำงานที่พรรคต่างมีความคาดหวังแบบนั้น ดังนั้นทุกคนมุ่งมั่นทำเต็มที่ ที่จะทำอย่างไรให้สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สังคมที่มีอนาคตได้เร็ว เราก็ทำเต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้นเราพยายามให้เป็นอย่างนั้น (รัฐบาลพรรคเดียว) ก็เป็นไปได้ถ้าทำสำเร็จ ก็ควรเป็นอย่างนั้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรานำเสนอ มีความปรารถนาดีต่อประเทศจริงๆ  อยากให้ประเทศเราเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี นี่คือความปรารถนาของเรา

-โอกาสที่หากพรรคประชาชนเลือกตั้งรอบหน้า  สมมุติว่าได้มา 200 เสียง โดยถ้ารวมกับพรรคเพื่อไทยแล้วเสียงในสภาฯ ท่วมท้น โอกาสจับมือกันตั้งรัฐบาลเป็นไปได้หรือไม่?

ผมคิดว่าถ้าถาม ณ วันนี้ หนึ่งปีที่ผ่านมาผมคิดว่ายาก โดยส่วนตัวผมประเมินว่าไม่ง่าย

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมบอกมันก็จะมีเวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงวันนั้น การทำงานร่วมกันในสภา ไม่ว่าพรรคการเมืองไหน ไม่ใช่ว่าแค่พรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคอื่นๆ เราก็ต้องดูว่าเราผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงแก้ไขประเทศได้แค่ไหน ถ้ามันมีบางเรื่องที่เราทำงานร่วมกันได้ ผลักดันบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ ผมคิดว่าสถานการณ์ ก็อาจเปลี่ยนไปในอนาคต ก็เป็นไปได้ หากเราจะต้องจับมือกับใคร ก็เป็นไปได้ ณ เวลานั้น

-แต่ฟังตอนนี้ดูเหมือนจะจับมือกันยากกับเพื่อไทย ?

บรรยากาศโดยภาพรวมมันทำให้มองอย่างนั้น แม้แต่ผมเองก็รู้สึกแบบนั้น คือด้วยความที่เรามีคนจำนวนมากในพรรค เราก็ต้องฟังเสียงของทุกคน

-กับเสียงวิจารณ์ว่า ที่ผ่านมาในการเป็นฝ่ายค้าน ไม่ค่อยแตะเพื่อไทย ไม่แตะทักษิณ ชินวัตร แตะก็แตะแบบลูบเบาๆ?

ไม่จริง เราก็ทำตลอด อย่างที่มีการพูดกันว่าเราไม่ตรวจสอบชั้น 14 ก็ไม่จริง ก็มีการอภิปรายในสภาฯ แต่ประเด็นที่เราจะตรวจสอบและวิธีการที่เราจะตรวจสอบ เราไม่เลือกใช้ช่องทางที่เรามองว่ามีปัญหา อย่างเช่นผ่านองค์กรอิสระต่างๆ เราไม่อยากจะใช้แบบนั้น เราไม่อยากให้เป็นนิติสงครามเหมือนที่เราโดน เราจะใช้เวทีปกติในระบบประชาธิปไตย อย่างเช่นการอภิปราย ก็อยากให้ดูว่าเราทำได้ดีแค่ไหนตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราก็จัดเต็ม ทำเต็มที่แน่นอน ถ้าอะไรที่เป็นกลไกปกติ พรรคเราทำเต็มที่แน่นอน  

-ดีลลับระหว่างธนาธรกับคุณทักษิณ มีจริงไหม?

ไม่มี โดยตัวของธนาธรไม่สามารถดีลลับได้อยู่แล้ว  ต้องบอกว่าระบบพรรคเรา คือเวลาคนอื่นมอง เขามองโดยใช้แว่นตาแบบเดิม เช่นคนนั้นเป็นเจ้าของพรรค ต้องให้คนนั้นไปดีล คือเขาไปเอามุมมองแบบนั้นมามองพรรคเรา ทำให้คิดอย่างนั้น ซึ่งในความเป็นจริง พรรคเรามีความเป็นสถาบันมากกว่านั้น ธนาธรไม่ได้มีบทบาทที่จะตัดสินใจชี้่ถูกชี้ผิดอะไรในพรรค แน่นอนว่าอาจจะมีคนในพรรคจำนวนหนึ่งอาจมีความชื่นชอบนิยม แล้วให้การยกย่องอันนี้มีจริง แต่เขาไม่ได้เข้ามาล้วงลูก มาทำอะไรในพรรค 

ในตอนท้าย "ศรายุทธิ์-เลขาธิการพรรคประชาชน" กล่าวทิ้งท้ายว่า

"ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราก็มีความขัดแย้งทางความคิดพอสมควร และเราก็เห็นแล้วว่า การที่เราจะฝ่าฟัน หลุดพ้นจากความขัดแย้งนี้ได้เราต้องคุยกัน ผมอยากให้เปิดใจกว้างต่อกันในการแลกเปลี่ยนพูดคุย มาลงรายละเอียดพูดคุยกัน ดีกว่าจะมาด้อยค่า โจมตี หรือทำอะไรที่ทำให้รู้สึกเกลียดชังกัน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ  ถ้าเราจะเดินหน้าประเทศให้มีพลัง เพราะการทำให้ประเทศกลับมาเป็นสังคมที่มีอนาคตได้ ตรงนี้จำเป็นมาก ก็ต้องมีการมาคุยกัน ให้โอกาสกัน" เลขาธิการพรรคประชาชนกล่าวทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โศกนาฏกรรม 23 ศพ ประจานระบบล้าหลัง นักการเมืองดันทุรังแก้ไขรธน. เพื่อตัวเอง

โศกนาฏกรรม 23 ศพ จากเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า

'ทักษิณ-พท.' สะดุ้ง! 'ปชน.' ประกาศกวาด 300 สส. ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

'เลขาธิการพรรคประชาชน' ลั่นเลือกตั้งรอบหน้า มีโอกาสกวาด สส. 270 - 300 ที่นั่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว โวขั้นต่ำเกินกึ่งหนึ่งแน่ แย้มชงบัญชีนายกฯ มากกว่า 1 ชื่อ

ปชน. ถอย! ไม่ส่งชิง 'นายก อบจ.สุโขทัย' ปล่อยอดีต สส. ลงแข่งอิสระ

พรรคประชาชนถอย ไม่ส่งคนชิงนายก อบจ.สุโขทัย แต่เปิดทางสมาชิกลงแข่งอิสระได้ "อดีตผู้สมัคร สส.พรรคส้ม" ลั่นสู้เต็มที่ แม้โอกาสน้อยที่จะชนะ

บทบาท“รัฐมนตรีมหาดไทย”..ที่ควรชื่นชม ในวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา วิกฤตธรรมชาติจากน้ำป่าไหลบ่าท่วมทับชุมชนเมือง ที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ เป็นดัชนีความจริงที่บ่งชี้ถึงสภาพธรรมชาติที่อ่อนแอ ไร้ความสมดุล

สภาฯคว่ำกฎหมายสุราก้าวหน้า ฉบับเท่าพิภพให้ต้มเหล้ากินเองได้ ยึดร่างเพื่อไทยเป็นหลัก

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต(ฉบับที่..)พ.ศ….จำนวน 3 ฉบับ คือฉบับที่ 1 ของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม.พรรคประชาชน และคณะเป็นผู้เสนอ

'ไอติม' ยังฝันได้รธน.ฉบับใหม่ทันเลือกตั้งปี 70 ลั่น!เสนอ 7 แพ็คเกจต่อไป

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน(ปชน.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำ