การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย

สัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสเข้าไปนำเสนอการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)—สสน. เรื่องสำคัญประการหนึ่งที่ได้หารือกัน คือ เรื่องน้ำท่วมในภาคเหนือซึ่งมีความรุนแรงในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งทางสถาบันฯ ได้สะท้อนภาพว่า การป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทยติดกับดักการบริหารจัดการอยู่มาก แม้ว่าสถาบันฯ ได้พยายามขับเคลื่อนเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ อุทกภัยและภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ผมได้เข้ามาคลุกคลีกับการบริหารข้อมูลน้ำและการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์นั้น ผมเห็นว่า หน่วยงาน สสน. ขับเคลื่อนสารสนเทศและนวัตกรรมด้านทรัพยากรน้ำเป็นอย่างดี เช่น การมีระบบสำรวจภูมิประเทศ Mobile Mapping System : MMS และระบบแสดงผลข้อมูลแผนที่ 3 มิติแบบออนไลน์ ทำให้ทราบจุดบกพร่องซึ่งนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดีขึ้นได้ มีการสำรวจและแก้ไขจุดที่คันกั้นน้ำในจังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทองที่มีปัญหา ทำให้ตั้งแต่ปี 2566 การจัดการน้ำท่วมในภาคกลางดีขึ้นมาก หรือกรณีเขื่อนบางลาง ที่เคยมีปัญหาปล่อยน้ำเข้าท่วมพื้นที่ราษฎรจนเกิดการฟ้องร้อง ก็ได้นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำทำให้กรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนมีปัญหากระทบกับราษฎรน้อยลง หรือกรณีการแจ้งเตือนว่าจำเป็นต้องปิดถนนในภาคใต้เพราะพื้นที่จริงต่ำกว่าข้อมูลที่ภาครัฐมี หรือการแจ้งเตือนเพื่อการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ทำให้มีการลดผลกระทบได้เป็นอย่างดี

ในความเป็นจริงการเกิดอุทกภัยในปี 2554 นั้น ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมาก และการแก้ไขปัญหาหลังจากนั้น กลับยังคงใช้การแจ้งเตือนที่มีระยะเวลาไม่มากนัก เพราะการประสานงานในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ การแก้ปัญหาภัยพิบัติ รวมทั้ง หน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่นที่มีอำนาจตามการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทับซ้อนกันในหลายมิติ ทำให้การป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยที่ควรจะมีเหมือนการบริหารจัดการและระบบประกันภัยพิบัติทำงานได้ไม่ดี และแทบจะไม่มีการป้องกันล่วงหน้านาน ๆ ทั้งที่หน่วยงานรัฐสามารถขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในหลายมิติ เช่น การจำลองเหตุการณ์ (Simulation) ลักษณะของพายุที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือเรียนรู้จากผลกระทบที่ส่งผลต่อประเทศไทยทั้งชีวิตและทรัพย์สินในอดีต รวมถึงการทำการสำรวจภูมิประเทศตามรอยต่อสำคัญที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการประสานงานข้ามประเทศ ข้อสังเกตสำคัญของผมคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำในประเทศไทยมีจำนวนมาก และแม้ว่าจะมีความพยายามรวมการประสานงานหน่วยงานที่มีภารกิจด้านน้ำให้มีการใช้ข้อมูลร่วมกันผ่าน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) แต่หลายหน่วยงานก็ยังบริหารจัดการงบประมาณของตนเองกระทั่งเกิดช่องว่างขนาดใหญ่ในการทำแบบจำลองที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่เน้นการป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย

กรณีน้ำท่วมที่น่าน และแพร่นั้น เราเรียนรู้ผลกระทบจากการบริหารจัดการและรู้ว่าทิศทางน้ำจะไหลไปที่ไหนกระทบพื้นที่ใดจนกว่ามวลน้ำจะไหลออกทะเลตามลำดับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับพยายามใช้โอกาสน้ำท่วมที่น่านและแพร่ ผลักดันการสร้างเขื่อนเพิ่มเติม เช่น แก่งเสือเต้น หรือ แม่วงก์ ซึ่งจากข้อมูลน้ำน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า หากทิศทางของน้ำที่น่านและแพร่เป็นลักษณะที่มีรูปแบบชัดเจน ไม่ได้มีพายุที่เปลี่ยนแนว การสร้างเขื่อนทั้งสอง กลับจะไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่น่านและแพร่ในปีนี้ได้เลย การสนับสนุนการสร้างเขื่อนทั้งสองจึงเสมอือนกับการอาศัยภัยพิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งเขื่อน

กรณีน้ำท่วมเชียงราย ซึ่งเกี่ยวพันกับทิศทางของพายุชัดเจนและมวลน้ำสมทบก็มาจากทางเมียนมาร์เป็นหลัก ในกรณีนี้เช่นนี้ หากประเทศไทยมีระบบจำลองทิศทางพายุโดยมีการสำรวจสภาพภูมิประเทศอย่างสมบูรณ์ จะทำให้ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากกรณีน้ำท่วมที่เชียงรายได้มากกว่านี้ สิ่งที่รัฐบาลนางสาวแพรทองธาร พยายามดำเนินการให้เป็นรูปธรรม (นอกจากความช่วยเหลือขั้นต้น) คือ ระบบการแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยอาศัยความร่วมมือของ กสทช. และผู้ให้บริการระบบเครือข่าย ก็เป็นการลดความสูญเสียที่ปลายทาง แต่การทำที่จะเกิดผลมากกว่าคือ การที่รัฐบาลนางสาวแพรทองธาร จะหางบประมาณและให้หน่วยงานรัฐรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาระบบจำลองเหตุการณ์โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายในระยะยาว รวมทั้งควรจัดให้มีการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อเตรียมรับมือความผันผวนดังกล่าวหากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นอีก การเจรจาระหว่างประเทศนั้นควรเริ่มเร็วที่สุด เพราะความเสียหายทั้งไทยและเมียนมาร์จากพิบัติภัยจะเป็นจุดเริ่มที่ดีในการบรรลุข้อตกลงการป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยในประเทศทั้งสองทีมีสันปันน้ำ และแม่น้ำหลายสายส่งผลกระทบกันไปมา

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติในแม่น้ำโขง ซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อประชาชนที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันในสามประเทศ การบริหารจัดการน้ำจึงจำเป็นต้องมีฉากทัศน์ที่ชัดเจนว่า หากประเทศจีนจะมีการบริหารจัดการน้ำโขงในส่วนที่อยู่ในประเทศจีนนั้น จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่รองรับ/รอรับน้ำโขงอย่างไร ซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การเจรจาจำเป็นต้องเห็นผลกระทบในแต่ละฉากทัศน์เพื่อหาข้อยุติต่อการใช้น้ำที่เกี่ยวเนื่องกัน

ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำมีลักษณะเชื่อมโยงกันทั้งในขอบเขตการรวมศูนย์การบริหารจัดการและการกระจายอำนาจการบริหารจัดการผ่านลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ หากแต่การป้องกันอุทกภัยหรือภัยพิบัติจากน้ำท่วมน้ำแล้ง มีความจำเป็นที่จะต้องจัดการบริหารข้อมูลและแบบจำลองและสื่อสารข้อมูลให้เหมาะกับผู้ใช้ข้อมูลในกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ข้อมูลน้ำจำเป็นต้องถูกใช้ในหลายมิติ และการสื่อสารข้อมูลภัยพิบัติด้านมาต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารในภาวะวิกฤติ

ในระหว่างการเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในภาคเหนือ แม้ว่าผมจะคลุกคลีกับหน่วยงานและนักวิชาการด้านน้ำจำนวนมาก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถามไถ่กันในวงการว่า มีกูรูที่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่มีที่มาที่ไป และการกระจายข้อมูลผ่านความห่วงใยและความเห็นอกเห็นใจก็ไปไวจนอาจก่อให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชนในทุกภาคส่วนได้ ในกรณีนี้ การสื่อสารในภาวะวิกฤติจึงจำเป็นต้องกำหนดรูปแบบการสื่อสารและแหล่งที่มารวมทั้งผู้รับผิดชอบในการสื่อสารให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติการสื่อสารในวิกฤติภัยพิบัติ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเสียทรัพย์โดยใช่เหตุ เช่น การกักตุนสินค้า การป้องกันภัยพิบัติด้วยตนเองด้วยการสร้างพนังหรือก่อกระสอบทราย เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศไทยสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลายมิติ ผมใคร่ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานหลักเช่น กระทรวงอุดมศึกษา ฯ สนับสนุนหน่วยงานที่จะสร้างแบบจำลองเหตุการณ์โดยอาศัยการสำรวจภูมิประเทศจริง และผสมกับข้อมูลด้านน้ำผ่านคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อพัฒนาระบบป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำ และหากเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านเกษตรกรรม ข้อมูลชุมชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งถิ่นฐานในที่น้ำหลาก) ข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลสาธารณูปโภค และสิ่งกีดขวางทางน้ำ ก็จะทำให้สามารถคำนวณโอกาสของความสูญเสียในมิติต่าง ๆ ได้อีกด้วย และการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งกลไกการชดเชยและเยียวยาจากการบริหารจัดการน้ำจะเป็นรูปธรรมและเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ระบบป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำ จะช่วยให้ประเทศสามารถลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนมากกว่าการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในฐานะปัจเจกควรมีสิทธิหลีกเลี่ยงผลกระทบต่าง ๆ และตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง ชุมชน และประเทศชาติได้ และในฐานะความเป็นรัฐก็ควรจะตัดสินใจภายใต้ประโยชน์สุทธิที่บริหารจัดการได้มากกว่าการตัดสินใจว่าจะเยียวยาอย่างไรเพียงด้านเดียว

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร ประชา คุณธรรมดี
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ ปัญหา และทางแก้ไข

สหกรณ์ออมทรัพย์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งในแง่จำนวนสมาชิกและสินทรัพย์ ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มีสมาชิกกว่า 3.2 ล้านคน จากจำนวนสมาชิกสหกรณ์ทุกประเภท 10.9 ล้านคน