เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. น้ำเหนือไหลหลาก น้ำภาคกลางไหลล้น.. น้ำภาคใต้ไหลดินถล่ม.. น้ำอีสานไหลท่วมท้นล้นริมโขง..
กรมอุตุฯ.. สำนักหมอดู.. เดียรถีย์พยากรณ์ ก็พากันป่าวประกาศแข่งขันกันว่า ให้ระวังที่นั่น.. ให้ระวังที่นี่.. น้ำป่าไหลบ่ามาแน่นอน.. อีกไม่นานน้ำจะท่วมล้นแผ่นดิน..
ความโกลาหลตกไปอยู่กับ.. ลูกเล็กเด็กแดง ตามียายมา พระสงฆ์องคเจ้า ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ.. หาค่ำกินเที่ยง.. ว่า จะอพยพไปอยู่ที่ไหนกันดีหนอ..
บ้านก็มีหลังเดียว.. ที่ดินก็มีไม่มาก.. เรือกสวนไร่นาก็เช่าเขา.. เงินกู้ก็ยังไม่ได้คืน.. เงินยืมก็ยังไม่ได้มา ดอกเบี้ยก็ผุดบานเต็มหน้าตัก จึงได้แต่คิด.. กังวล.. วุ่นวายใจ..
แม้พระท่านจะสอนว่า ใด ใด ในโลกล้วนอนิจจัง.. ก็ยอมรับว่า จริง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แต่ยากจะปล่อยวาง เพราะกิเลสยังท่วมท้น
ความทุกข์จึงจีรังยั่งยืนในชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ไม่ค่อยสูญหายลาจาก.. ไม่เหมือนความสุข.. ความสนุกสนาน มาชั่ววูบเดี๋ยวก็จางหายไป.. แสดงความจริงว่า สุขไม่จีรัง แต่ทุกข์นี่ของแท้ เป็นสัจจะประจำชีวิตสัตว์ทั้งหลาย..
ยิ่งฟัง ยิ่งสับสน ว่า.. จะเชื่อคำสั่งสอนสำนักไหนดี ในยามที่ไอทีแผ่รัศมีเข้าโจมตีวงการสำนักจิตวิญญาณทั้งหลาย.. เล่นเอาศาสนาที่มีหลักธรรมมั่นคง อย่างพุทธศาสนา ก็เริ่มวุ่นวายในแวดวงสงฆ์
ได้เห็นข่าวหลวงพี่บางรูป.. ผู้ช่วยกันขับเคลื่อนธรรมนาวา.. ร่วมกับหลายองค์กร ออกอาการเป๋.. ด้วยเจอพายุฝนคลื่นลมแรงจัดในยามนี้.. ก็ออกอาการเสียวๆ วาบๆ.. ให้นึกถึงหลายเรื่องที่ผ่านไป เมื่อพระดัง คนดัง ที่รีบเร่งเกินไป พากันดับสูญไปจากแวดวง ให้น่าเสียดาย..
สังคมบ้านเราติดกับดัก “ยามดีใช้ ยามไข้พากันละทิ้ง..” นับเป็นเรื่องธรรมดา.. แต่ที่น่าสมเพชเวทนามากยิ่ง.. คือ แม้ยังไม่ตาย ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อร่วมกันฌาปนกิจ!
หลายวันที่ผ่านมา.. ได้ยินเสียง ท่านเจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศน์ฯ ออกมาแสดงธรรมให้สาธุชนคลายความเคร่งเครียดใจ ไม่ว่าจะเป็น ๑) เรื่อง ติติง บวชในพระศาสนา ด่าสังเวชนียสถาน เจดีย์ ทำไม?
๒) เรื่อง อย่าเทศน์แบบถ่อย พูดจาสามหาว อย่ากล่าวธรรมะ
๓) เรื่อง สวดมนต์แปลกับไม่แปล เอาแน่ๆ อย่างไรกัน!?
ทั้ง ๓ เรื่อง ให้ความรู้ได้อย่างซาบซึ้ง ค่อยคลายความเป็นห่วงในความวุ่นวายไร้สมณสารูปของหมู่พระหมู่ชนที่ออกอาการเมาธรรม สำลักไอที.. พยายามปลูกสร้างลัทธิใหม่ในความเชื่อว่าเป็นแนวทางอริยบุคคล.. ด้วยความเห็นที่ไปผูกยึดอยู่กับทิฏฐิของตนเอง...
จึงใคร่ขอกราบอาราธนา ท่านเจ้าคุณ รวมถึง หลวงตาวิเวก.. พระอาจารย์สมทบ.. ได้ช่วยกันสละเวลา แสดงธรรม บอกกล่าว วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรมเนียมสงฆ์ แด่ผู้ใคร่ต่อการศึกษาในแวดวงชาวพุทธ โดยเฉพาะพระเล็ก เณรน้อย จะได้เป็นประโยชน์ต่อการสืบอายุพระศาสนาแท้จริง
แม้ในพระภิกษุบางรูป.. ที่สามารถแสดงหลักธรรมคำสั่งสอนที่ถูกต้อง ไม่ว่า กลุ่มเครือข่ายพระภิกษุรักษาพระธรรมวินัย หรือ พระภิกษุผู้ทรงภูมิรู้ทางปริยัติธรรมทั้งหลาย.. ขอกราบอาราธนาให้ช่วยกันเสนอความรู้.. เพื่อสนองความศรัทธาปสาทะของสาธุชนทั้งหลาย ที่กำลังสับสนวุ่นวายจากการเรียนรู้ รับฟัง ผ่านทางสำนักไอทีที่หลากหลาย อย่างยากจะตรวจสอบควบคุม..
วันก่อน ได้ไปนั่งประชุมในคณะสงฆ์.. ได้รับทราบถึงความเป็นห่วงเป็นใยต่อการที่มีการใช้สื่อไอทีเผยแพร่ของพระภิกษุและบุคคลต่างๆ... ที่ออกอาการผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสั่งสอนที่แท้จริง โดยเฉพาะปัญหาที่พูดกันมายาวนาน ให้ค้างคาใจจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรื่อง พระไตรปิฎก ที่ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ ว่า ถูกต้องตรงตามการปฐมสังคายนา ซึ่งเป็นพระสัทธรรมดั้งเดิม.. หรือไม่.. ดังที่ หลวงพ่อพุทธทาส ได้พูดกล่าวไว้ว่า ในตำราพระไตรปิฎกปัจจุบันมีส่วนแปลกปลอมอยู่หลายเปอร์เซ็นต์.. ซึ่งน่าจะเป็นที่มาให้หลวงพี่บางรูป.. หลายรูป นำไปเป็นฐานความคิดในประเด็นดังกล่าว จนเป็นที่มาของการถูกคณะสงฆ์ตั้งกรรมการขึ้นมาชำระ.. ตามที่เป็นข่าวในสื่อโซเชียลในห้วงเวลาที่ผ่านมา..
จริงๆ แล้ว เรื่องแนวคิดดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แปลก.. เพราะประเด็นปัญหาดังกล่าวได้เกิดปรากฏ ตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยพระอรหันตสาวก จำนวน ๕๐๐ รูป ที่มีพระมหากัสสปเถรเจ้าเป็นประธานกระทำสังคายนา ภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
ดังบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ภายหลังเสร็จสิ้นการปฐมสังคายนา ระบุว่า “..หลังการปฐมสังคายนาผ่านไปไม่นานนัก มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า ปุราณะ พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ รูป อยู่จำพรรษาที่ ทักขิณาคีรีชนบท เมื่อท่านทราบว่า การสังคายนาเสร็จสิ้นแล้ว
ท่านและบริวารได้เข้าสู่กรุงราชคฤห์ พระสังคีติกาจารย์ที่ร่วมในการทำสังคายนาได้เข้าไปแจ้งให้ท่านทราบว่า พระสงฆ์ได้ทำสังคายนากันแล้ว ขอให้ท่านยอมรับมติด้วย คือ ขอให้ท่านได้อนุโมทนาสาธุการ..
พระปุราณเถระ กลับกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลาย ได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยกันเรียนร้อยก็ดีแล้ว.. แต่ข้าพเจ้าได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าอย่างไร ข้าพเจ้าก็จะถือปฏิบัติตามนั้น”
เมื่อได้ชี้แจงแสดงความเห็นกันพอสมควรแล้ว ปรากฏว่า พระปุราณะมีความเห็นตรงกับพระสังคีติกาจารย์ส่วนมาก แต่มีเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ กรณี วัตถุ ๘ ประการ เช่น
อันโตวุฏฐะ .. เก็บอาหารไว้ในที่อยู่ของตนได้..
อันโตปักกะ .. หุงต้มอาหารในที่อยู่ของตนได้..
สามปักกะ .. ให้มีการหุงต้มปรุงอาหารด้วยตนเองได้..
อุคคหิตะ .. การหยิบของเคี้ยว ของฉัน ที่ยังมิได้ประเคน เป็นต้น
ซึ่งทั้ง ๘ ประการเป็นพุทธานุญาตพิเศษ ที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำได้ใน คราวทุพภิกขภัย แต่เมื่อภัยเหล่านั้นระงับ ก็ทรงบัญญัติมิให้กระทำอีก..
การถือตามพุทธบัญญัติที่พระปุราณะได้สดับมาต่อหน้าพระพักตร์.. แม้จะถูกหักล้างว่าเป็นชั่วคราว เฉพาะในช่วงเวลาเกิดวิกฤตการณ์ เช่น ทุพภิกขภัย แต่พระปุราณะก็ยังหักล้างได้ด้วยการมีความเห็นว่า..
“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญญุตาญาณ ไม่สมควรที่จะบัญญัติห้าม แล้วมาอนุญาต.. อนุญาตแล้ว กลับบัญญัติห้าม มิใช่หรือ...””
จากปัญหาดังกล่าว จึงนำไปสู่ความแตกต่างในทางข้อปฏิบัติ (สีลสามัญญตา) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้น ซึ่งต่อมา หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี.. เข้าสู่การสังคายนาครั้งที่ ๒.. ที่นำไปสู่การแตกเป็นนิกายต่างๆ มากถึง ๑๘ นิกาย... โดยมีเหตุปรารภทำการสังคายนาในเรื่อง วัตถุ ๑๐ ประการ เป็นสาเหตุ ข้อที่น่าสนใจของวัตถุใน ๑๐ ประการ คือ การที่ภิกษุชาววัชชีรับและยินดีในเงินทองที่เขาถวายโดยไม่เป็นอาบัติ
จึงเป็นเรื่องธรรมดา.. ที่จะต้องมีปัญหาค้างคาใจในหมู่ผู้ศึกษาพระธรรมวินัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อมาประมวลรวมลงในการจัดพิมพ์ข้อความที่แปลเป็นภาษาท้องถิ่น โดยคณะแม่กองธรรมบาลีหลวง.. ในแต่ละประเทศ ก็จะยิ่งเห็นร่องรอยการขยายความที่ออกจะมีเกิน.. มีขาด.. ซึ่งไม่แปลก โดยเฉพาะการนำไปขยายความเพื่อปะปนกับความคิดเชิงความเชื่อในท้องถิ่น.. สู่รูปแบบการสั่งสอนที่ไม่ค่อยตรงกับพระพุทธพจน์.. และอรรถกถาดั้งเดิม.. โดยเฉพาะตำราที่จัดทำขึ้นโดยความเห็นของครูบาอาจารย์ในภายหลัง ที่พยายามช่วยกันเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนตามแนวคิด.. ความรู้ ความเข้าใจของตนเอง ซึ่งออกอาการขัดแย้งกับพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิม ที่สืบเนื่องมาด้วย “วิธีมุขปาฐะ” คือ ท่องบ่นจำทรง.. ซึ่งไม่แปลกที่จะเกิดกรณี หลวงพ่อพุทธทาส พระอาจารย์คึกฤทธิ์ และอีกหลายพระอาจารย์.. ตลอดจนถึงท่านอุบาสก-อุบาสิกาทั้งหลาย รวมถึงแม่ชี สามเณร.. ที่ออกมาช่วยกันสร้างสีสัน.. ในการสั่งสอนสาธุชนทั้งหลาย
จึงเป็นเรื่องที่ธรรมดายิ่ง ที่คณะสงฆ์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการรักษาพระธรรมวินัยดั้งเดิมให้คงดำรงอยู่สืบต่อไป... จะได้ร่วมกันกระทำการสังคายนาขึ้นในอีกหลายครั้งต่อมา.. แม้ในปัจจุบัน เพื่อตรวจชำระสอบทานพระไตรปิฎกที่ประมวลรวบรวมไว้ดีแล้วจากการปฐมสังคายนา.. ว่า.. ยังคงสมบูรณ์อยู่ ๑๐๐% มิได้มีสิ่งแปลกปลอม.. และหากมีพระสัทธรรมปฏิรูปแฝงเร้นอยู่ในการจัดพิมพ์แปลมาเป็นภาษาท้องถิ่น.. ควรต้องรีบชำระให้สิ้นไป...
โดยเฉพาะ การสังคายนา.. เพื่อการชำระอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น อันเกิดจากความเห็นของบุคคล โดยเฉพาะพระภิกษุ.. ในแต่ละสมัย ที่ยังไม่จบสิ้น ให้ได้หมดสิ้นไป.. จะได้ไม่เป็นประเด็นให้นำมาขยายผลให้สับสนวุ่นวายอย่างปรากฏในปัจจุบัน!!.
เจริญพร
dhamma_araya@hotmail.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
วิปริตธรรม .. ในสังคม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง
ธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมือง
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของคาสิโนถูกกฎหมายต่อการฆาตกรรมและการข่มขืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก
แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก