รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ยื่นแก้ไขรธน. ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม

การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการทำเพื่อนักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลคือ พรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้านคือ พรรคประชาชน  ต่างเคลื่อนไหวเสนอร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

 พบว่าทั้งสองพรรคต่างมีการเสนอแก้ไขรธน.ในบางประเด็นที่คล้ายคลึงกันเช่นประเด็นเรื่อง"มาตรฐานทางจริยธรรมฯ"ในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ตามรธน.มาตรา 160 (4) และ (5) ที่เคยทำให้ เศรษฐา ทวีสิน ต้องหลุดจากนายกฯมาแล้ว หรือกรณี พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขรธน.เรื่องการลงมติเพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง ที่ปัจจุบันใช้เสียงข้างมาก ก็เสนอแก้ไขเป็น หากจะให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งต้องมีเสียงตุลาการศาลรธน.ลงมติด้วยจำนวนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรธน.ที่ปฏิบัติหน้าที่ฯ เป็นต้น

"สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา"ที่เป็นแกนนำหลักของอดีตกลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ในคดีเศรษฐา ทวีสิน จนทำให้นายเศรษฐา พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว  ให้ความเห็นถึงความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรธน.รอบนี้ของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยระบุชัดๆว่า

"การยื่นแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เป็นการทำเพื่อนักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม"

..การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าการแก้ไขดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจศาล หรืออำนาจอื่นใด รัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) เขียนไว้ชัดเจนว่า หากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน โดยหากผลประชามติออกมาว่าประชาชนเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว จากนั้นถึงจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านการทำประชามติ 16 ล้านเสียง แต่ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่แก้ไขไม่ได้ หลักสำคัญสามอย่างที่ยังคงยืนมั่นอยู่ในรัฐธรรมนูญคือ

หนึ่ง หลักแก้ไขไม่ได้เลย ก็คือ เรื่องรัฐไทยเป็นหนึ่งเดียว สอง แก้ง่าย ที่ก็เคยแก้ไขมาแล้วในรัฐสภาสมัยที่ผ่านมาคือแก้ไขกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนจากระบบเลือกตั้งส.ส.แบบบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ สาม แก้ยาก ที่เป็นหลักความคุ้มครองหลักนิติรัฐ นิติธรรม และการปฏิรูปประเทศ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รวมถึงองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจหน้าที่ต่างๆ

อย่างการออกแบบให้มี"ศาลรัฐธรรมนูญ"ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เกิดมาตั้งแต่รธน.ปี 2540 โดยที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี อันไหนที่เห็นว่าไม่ถูกต้องก็วินิจฉัยให้ตกไป

แต่ที่ผ่านมา ฝ่ายการเมือง พอเห็นว่าผลคำวินิจฉัยคดีใด ที่ตัวเองได้ประโยชน์ ก็ขอบคุณศาลรธน.อันไหนที่เห็นว่าไม่ได้ประโยชน์ ก็ออกมาโจมตีให้ร้าย  กรณีนี้ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาชน อาจจะมีการแสวงจุดร่วมเพราะทั้งสองฝ่าย ได้เคยถูกศาลรธน.วินิจฉัยโดยหลักนิติรัฐ-นิติธรรมแล้วทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้คนไม่ดี เข้ามามีอำนาจ รธน.จึงบัญญัติเรื่อง รัฐมนตรี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฯ

อย่างที่ผมกับเพื่อนอดีตสว.รวม 40 คนไปยื่นคำร้องต่อศาลรธน.(คดีเศรษฐา ทวีสิน) ผมก็ไม่ได้ยื่นแบบพร่ำเพรื่อ แต่เพราะเห็นว่านายกฯ ไม่ยอมตรวจทานคำทักท้วง ที่กรรมการกฤษฎีกา ก็มีการทักท้วงแล้วบางระดับ ที่ก็มีพยานหลักฐานชัดเจนมาตั้งแต่การตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 (กรณีพิชิต ชื่นบาน) ที่นำคนที่มีความด่างพร้อยไปเป็นรมต.จึงเป็นความรับผิดชอบของนายกฯเวลานั้น ในการสกีนหรือคัดคน ปัญหามันจึงอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ และไม่ได้อยู่ที่ศาลรธน. แต่ปัญหามันอยู่ที่ดุลยพินิจ และการเลือกใช้คนของคุณที่เป็นระบบอุปถัมภ์ของทุนการเมืองที่ชัดเจนมาก ไม่ว่าจะทุนข้ามชาติ ทุนส่วนกลาง ทุนท้องถิ่นหรือระบบบ้านใหญ่ แล้วก็มาแบ่งโควต้า ส.ส. 7-8 คนต่อหนึ่งเก้าอี้รัฐมนตรี โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ ดีชั่ว สุจริตหรือไม่สุจริต หรือเคยประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ที่ผ่านมา เป็นแบบนี้ ที่เป็นวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยมาตลอดหลายสิบปี

รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงออกแบบมาให้ นายกรัฐมนตรี พรรคการเมือง ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ด้วยการให้ต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และไม่ประพฤติผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อมาบริหารประเทศ

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเริ่มดำเนินการต่อจากนี้ ผมจึงไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วย อยากจะแก้ไข ก็ทำกันไปในรัฐสภา ก็จะได้เป็นการพิสูจน์ว่า พรรคเพื่อไทย ที่กำลังจะเข้าไปลิดรอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เช่นการแก้ไขให้การลงมติวินิจฉัยคดีในการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งต้องใช้เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ใน 3 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว -พวกพ้อง หรือทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชน"

..และพรรคร่วมรัฐบาลเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา จะไปเห็นพ้องด้วยหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะมีพรรคฝ่ายค้านเทียม ที่ร่วมลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขรธน.ก็ได้ แต่ในที่สุด ประชาชนก็จะลงมติว่า หากฝ่ายพรรครัฐบาลนำเรื่องนี้ไปแก้ไข ก็เป็นการแก้เกี้ยว แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ผมไม่เชื่อว่าประชาชนจะออกเสียงประชามติให้ผ่าน

"สมชาย -อดีตสว."กล่าวอีกว่า การจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ผลการลงมติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งโดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรธน.ที่ปฏิบัติหน้าที่ แล้วแบบนี้ เหตุใดไม่แก้เรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาฯ และวุฒิสภาไปด้วย โดยแก้ว่า ร่างพรบ.ที่จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯและวุฒิสภา ต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ ทำไมให้ใช้เสียงแค่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ของสภาฯที่มีส.ส. 500 คน สว. 200 คน ซึ่งเมื่อก่อนเวลามีประชุม เช่น สว.มาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง สว.ลงมติเสียงข้างมาก 80 เสียง ต่อ 70 เสียง กฎหมายก็แก้ไขได้แล้ว ไม่ถึงกึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยศาลรธน. จนรธน.เขียนต่อมาว่าสมาชิกต้องมาเป็นองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง และเสียงเห็นชอบต้องมีเกินกึ่งหนึ่ง

..การวินิจฉัยคดีของศาลรธน. ไม่ได้วินิจฉัยแบบชุ่ยๆกว่าจะออกคำวินิจฉัยมา ต้องมีการไต่สวนคดี กว่าจะออกมาเป็นคำวินิจฉัย ศาลรธน.ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าเสียงข้างมากจะออกมาอย่างไร จะเป็น 5 ต่อ 4 หรือ 6 ต่อ 3 ก็ต้องใช้ดุลยพินิจกันเยอะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเวลาวินิจฉัยคดีต่างๆ แล้วส.ส.เคยเขียนอะไรหรือไม่ เวลาลงมติต่างๆ หากเข้าใจเรื่องนี้ มันก็เหมือนกันคือเป็นเรื่องหลักการเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ถูกต้องเหมาะสมแล้วสำหรับการลงมติวินิจฉัยคดีของศาลรธน.ไม่จำเป็นต้องมาแก้ไขโดยให้เป็นมติ 2 ใน 3 แต่อย่างใด รวมถึงเรื่องการตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ที่จะเสนอแก้ไขกัน ผมเห็นว่า รธน.เขียนไว้ดีอยู่แล้ว

แก้ไขรธน.-กฎหมายลูก เสี่ยงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน

ส่วนกรณีพรรคประชาชน จะเสนอทบทวนแก้ไขอำนาจการยุบพรรคการเมือง  โดยจะยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560  นั้น "สมชาย-อดีตสว."กล่าวว่า พรรคประชาชนเอง ก่อนหน้านี้  ก็มีการยุบพรรคกันมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนมาเป็นพรรคประชาชน เลยจะมาแก้ไขรธน.ไม่ให้ศาลรธน.มามีอำนาจยุบพรรคการเมืองใช่หรือไม่ แต่ถามว่า ทำไม ไม่แก้ที่ตัวเอง เพราะที่ผ่านมาที่ถูกยุบมาสองพรรค เพราะเรื่องอะไร ก็เพราะทำเรื่องผิดกฎหมาย ที่มีการไปกู้เงินมา ทั้งที่กฎหมายเขาไม่ให้พรรคการเมืองกู้มา 191 ล้านบาท ที่มันก็เห็นชัดว่าทำผิดกฎหมาย ศาลรธน.ก็ยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือกรณียุบพรรคก้าวไกล ก็เพราะไปหาเสียงเรื่องมาตรา 112 ทั้งที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความมั่นคงของชาติฯก็ต้องถูกยุบพรรค เพราะเท่ากับทำลายความมั่นคงของชาติ

"ทำผิดกฎหมาย แล้วจะมาแก้ไขกฎหมาย แบบนี้ต่อไปวันหน้า เราก็คงต้องยุบศาลยุติธรรม ยุบอัยการ ยุบตำรวจให้หมด เพราะอยากทำผิดกฎหมาย มาบอกว่า ศาล อัยการ ตำรวจไม่ดี ต้องยุบให้หมด เพราะที่ทำมาคือเสรีภาพ จะขับรถบนฟุตบาธก็ได้ ไม่ต้องมีตำรวจมาจับ แบบนี้มันไม่ใช่ เพราะเมื่อมีกฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้เลยจะมาลดทอนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ"

อย่างที่ผมต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ในคดีเศรษฐา ทวีสิน ก็เพราะพรรคก้าวไกลในตอนนั้นก่อนจะถูกยุบพรรค ที่มีส.ส.ร่วม 150 คน แต่กลับไม่ทำหน้าที่ ไม่ไปยื่นศาลรธน.ในการตั้งรัฐมนตรี แล้วมาอ้างว่า ไม่เคารพศาลรธน.เลยไม่ยื่น ผมถามว่าในอดีตที่เคยมีกรณีนายปิยะบุตร แสงกนกกุลกับพวกรวม 85 คน  เคยไปยื่นศาลรธน.ก่อนหน้านี้แล้วตอนนั้นไปยื่นทำไม มาเลือกใช้วาทกรรมเฉพาะในส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์ เวลาหัวหน้าพรรค(พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) รอดในคดีหุ้นสื่อไอทีวี ก็ชื่นชมศาลรธน. แต่พอโดนยุบพรรคก้าวไกล ก็มาด่าศาลรธน. เวลานี้เลยจะมาอ้างอำนาจประชาชน ว่ามาจากการเลือกตั้งแล้ว ใหญ่ที่สุดในโลก ผมบอกเลยว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทฤษฎีที่บอกว่า ดีที่สุดในโลก การเลือกตั้งคือวิธีหนึ่งในการหาคนเข้ามาใช้อำนาจแทน อาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้เลวที่สุด แต่ก็ไม่ได้ให้คุณมาเหลิงอำนาจ ไม่ว่าสังคมในโลกก็ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน ศาลรธน.ก็ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งหลายประเทศในยุโรปใช้ศาลรธน. และศาลรธน.ไทยก็เป็นที่พึ่งหวังได้ หลักที่ศาลรธน.ใช้ถูกแล้ว หลักนิติรัฐ-นิติธรรม มันต้องมีคนตัดสิน

"การเสนอแก้ไขรธน.รายมาตรา ทั้งเรื่องอำนาจศาลรธน.หรือแก้ไขเรื่องมาตราฐานจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ไม่เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ตรงไหน มันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของพวกคุณด้วยซ้ำไป ผมไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วย"

ผมเป็นคนหนึ่งที่จะไปออกเสียงลงประชามติไม่เห็นด้วย แต่ถ้าคุณแก้รธน.ในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในเรื่องการปฏิรูปประเทศ หรือแก้ไขในเรื่องต่างๆ ที่ทำให้ดีขึ้น แล้วมีการทำประชามติ ผมก็อาจเป็นคนหนึ่งที่จะไปร่วมออกเสียงลงประชามติว่าเห็นด้วย แต่ต้องแก้แล้วเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ แต่หากแก้แล้วเป็นประโยชน์แค่กับพวกคุณ อย่าไปทำให้เสียเวลาเลย

-เห็นเพื่อไทยบอกว่า จะมีการแก้ไขเรื่องบุคคลที่เคยถูกศาลฎีกาฯตัดสินว่าร่ำรวยผิดปกติ จากปัจจุบันที่ถูกตัดสิทธิการเลือกตั้งตลอดชีวิต ก็ให้เหลือแค่ห้าปี มีนัยยะอะไรหรือไม่ว่าต้องการช่วยทักษิณ ให้กลับมาเล่นการเมืองได้ง่ายขึ้น เพราะเคยถูกศาลฎีกาฯตัดสินยึดทรัพย์ฯ?

อยากทำอะไรก็ทำเถิด เมื่อนายกลับมาแล้ว อยากจะช่วยนาย ก็ตามสบาย เมื่อชนชั้นใดมีอำนาจ ก็เขียนกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น แต่การจะไปเขียนแบบนั้นมันไปเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรธน.มาตรา 256(8) ที่เขียนไว้ชัดมากว่า

ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ"

"สมชาย-อดีตสว."ระบุว่า คืออยากจะทำก็ทำไป แต่เมื่อทำแล้ว ต้องส่งไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แล้วประชาชน เขาคงจะเห็นด้วยกับคุณหรอก? แต่ถามว่าพวกคุณกำลังดำเนินการทำเรื่องที่ซ่อนไว้ใช่หรือไม่ คือการแก้ไขรธน.รายมาตราบางเรื่องเช่นคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรี เพื่อให้หลายคนได้กลับมาดำรงตำแหน่งได้โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกรธน.แล้วก็มาแก้ไขรธน.ในเรื่องที่ซ่อนไว้เช่นการลิดรอนอำนาจศาลรธน. -ป.ป.ช. ผ่านการอยากแก้เรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ที่ติดบ่วงเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งจริงๆ รธน.มาตรา 160 (4) และ(5) เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วและยิ่งชัดมากขึ้นเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรธน.ออกมา ยิ่งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นเรื่องที่วิญญูชนรู้ดีอยู่แล้วว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างไร อย่างเช่นเรื่องถุงขนมสองล้านบาท เรื่องนี้ก็เพียงแค่คนไหนมีปัญหาก็อย่าตั้งให้มีตำแหน่ง ถ้าตั้งโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีเบื้องลึกแอบแฝงมา หรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ก็ตั้งได้ทั้งสิ้น

"รัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้มีความผิด รธน.เขียนไว้ดีอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นประเทศชาติไปไม่ได้ ถ้าไม่มีกรอบกติกา การจะเสนอแก้ไขรธน.โดยอ้างว่า รธน. มาตรา 160 (4) และ (5) ดังกล่าว บัญญัติไม่ชัดเจนนั้น มันเป็นความไม่ชัดเจนของพวกคุณกันเอง เพราะมีทั้งคำตัดสินของศาลฎีกา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมฯ ออกมาแล้ว"

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะใส' เขย่า 'แจกเงินหมื่น' หอกทิ่มแทง วัดใจจุดเปลี่ยนรัฐบาลแพทองธาร

“สุริยะใส” ชี้จุดสลบใหญ่เรื่องเศรษฐกิจ นโยบายเรือธงอย่างดิจิทัล แจกเงินหมื่นเป็นหอกทิ่มแทง วัดใจจุดเปลี่ยนของรัฐบาลแพทองธาร

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

อดีตสว.สมชาย ส่งจม.เปิดผนึก จี้นายกฯ เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์

นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(อดีตสว.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่3) เรื่อง เพื่อพิจารณาสั่งการให้รัฐมนตรีซึ่งกํากับดูแลตรวจสอบการกระทําผิดกฎหมายพรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505