อย่าปรามาส..พระสัพพัญญุตญาณ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความวุ่นวาย .. วายวุ่น ไม่แพ้ทางโลกในยามนี้ ก็คงเป็นเรื่องราวของบรรพชิตในแวดวงศาสนาบ้านเรา ที่พยายามสื่อสารหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปตามความคิด .. ความเห็นของตนเอง อย่างไม่รู้ .. ไม่เข้าใจในคุณค่าอันเป็นเอก .. อเนกอนันต์ของ พระสัพพัญญุตญาณ จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจในบทและความหมาย

พระสัพพัญญุตาญาณ มาจาก คำว่า.. สพฺพ+ญุต+ญาณ แปลโดยคำว่า ทั้งปวง+รู้แล้ว+ความรู้ หมายถึง ความรู้ที่รู้แล้วในสิ่งทั้งปวง อันเป็นพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งรู้แจ้งในสิ่งทั้งปวง ตามที่ทรงปรารถนาที่จะรู้ ซึ่งเกิดจากการเพาะบ่มอบรมสั่งสมมายาวนาน มากอสงไขย จะเกิดขึ้นเมื่อตรัสรู้ด้วย อรหัตตมรรคญาณ จึงเป็นกิริยาจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเกิดที่ ชวนจิตทางมโนทวารวิถีจิต .. เมื่อการเจริญอภิญญาเกิดขึ้นสมบูรณ์.. พระสัพพัญญุตญาณ ก็จะเกิดขึ้นพร้อม อรหัตตมรรคญาณ .. บรรลุถึงการตรัสรู้ในธรรม ที่เรียกว่า สามุกกังสิกธรรม หรือ อริยสัจ ๔ อันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์..

พระสัพพัญญุตญาณในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันสำเร็จด้วยพระบารมีที่สมบูรณ์ด้วย พุทธกรณธรรม ๑๐ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญมาอย่างต่อเนื่องบริบูรณ์ด้วยบารมีธรรมทั้ง ๑๐ ประการ อันถึงพร้อมด้วย พระเมตตากรุณา ที่จะ สงเคราะห์ .. อนุเคราะห์ อุปการะเกื้อกูล สัตว์โลกทั้งหลาย ด้วยหลักธรรมที่ทรงแสดง .. เปล่งออกมาจากพระโอษฐ์ อันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ทั้งพยัญชนะและอรรถ-ความหมาย อันไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อันเป็นไปตาม พุทธวิสัย ที่จักสามารถกำหนดจิตให้เกิด พระสัพพัญญุตญาณในทุกครั้งที่จะทรงกล่าวธรรม .. แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

คำกล่าว ที่เรียกว่า พุทธดำรัส จึงเป็นสัจธรรม .. เป็นคำจริง อันเกิดจาก การแสดงเรื่องจริง เพื่อให้ผู้ฟัง เข้าใจ .. เข้าถึงในความจริงนั้น ที่มีคุณประโยชน์ เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง..

พระธรรมคำสั่งสอน แต่ละคำและความหมาย จึงมีคุณค่าแห่ง คุณธรรม .. จริยธรรม อันยากที่ใครๆ จะกระทำให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น สมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย

จึงกล่าวได้ว่า.. พระสัพพัญญุตญาณ เป็น พุทธวิสัย ไม่ใช่ ปุถุชนวิสัย.. และแม้ในอริยบุคคลที่เป็นสาวก พระสัพพัญญุตญาณ จึงเพียบพร้อมด้วยธรรมานุภาพ ที่เป็นไปเพื่อการขจัดความรู้ผิด ความเห็นผิด ที่เรียกว่า อวิชชา ให้สิ้นไปได้โดยสิ้นเชิง

ดังนั้น ทุกถ้อยกถาธรรม .. ที่หลั่งไหลออกจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงควรค่าแก่การศึกษาด้วยความเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง .. ดังที่มีการเปรียบทุกตัวอักษรที่ร้อยเรียงเป็นคำ เพื่อแสดงเป็นพระธรรมคำสั่งสอน ว่าเป็น เจติยะ (เจดีย์) อันแปลว่า ควรแก่การเคารพ..

ดังสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงทรงทำความเคารพนอบน้อมเป็นอย่างยิ่งในสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า และทรงแสดงอาการฉันทมิตร

พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลตอบว่า.. ด้วยทรงมีความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ มีชีวิตเป็นที่สุดจนตลอดชีวิต และมิได้เห็นพรหมจรรย์อื่นอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์อย่างนี้ นอกจากใน ธรรมวินัย นี้.. เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเรียกคำกล่าวที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลด้วยความเคารพยิ่งว่า.. ธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม .. และทรงแนะนำให้ภิกษุทั้งหลายว่า.. จงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ จงทรงจำธรรมเจดีย์นี้ไว้ ธรรมเจดีย์ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นอาทิพรหมจรรย์

ธรรมเจติยะ หรือ ธรรมเจดีย์ จึงถูกจัดลงในความเป็นประเภทแห่งเจดีย์ หนึ่งในสี่ประเภทที่ให้ความหมายไว้ว่า.. เป็นเจติยะที่แสดง.. การจารึกข้อความไว้บูชา ในชั้นเดิมมักเลือกเอาข้อความที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อมีการจารึกพระธรรมลงเป็นตัวอักษร ประมวลลงเป็นหมวดหมู่ดีแล้ว ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก จึงเป็น ธรรมเจดีย์ เช่นเดียวกัน โดย ธรรมเจดีย์ แตกต่างไปจาก อุเทสิกเจดีย์ ที่แสดงถึง สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย.. เพราะนั่นคือ การปรามาส .. ในพระสัพพัญญุตญาณนั้นเอง

จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการให้ความเคารพใน พระสัพพัญญุตญาณ ดุจการเคารพในธรรมเจดีย์.. ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า การเคารพธรรมเจดีย์คือ การเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. จึงไม่ควรอย่างยิ่งต่อการใช้ทิฏฐิของตนเองไปกล่าวจาบจ้วงล่วงเกินพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว โดยเฉพาะ เมื่อทรงยกพระธรรมวินัยเป็น องค์พระศาสดา เพื่อทำหน้าที่ ปกครอง สืบทอดพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไปในโลกนี้

วันนี้ ในโลกไอที .. ที่สะดวกต่อการค้นหาข้อมูลตามประสงค์ จึงเกิดความวุ่นวาย เพราะการใช้วิธีการศึกษาแบบทางโลกนิยม.. สามารถพูดวิพากษ์ได้อย่างเต็มที่ตามความคิดเห็นของตนเอง.. โดยถือทิฏฐิของตนเป็นใหญ่

จึงได้เห็นอันตรายต่อการศึกษา พระธรรมวินัย อย่างขาดระเบียบแบบแผนตามวิถีพุทธนิยม.. นับเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา อันเกิดจากการศึกษาที่ไม่เคารพในพระพุทธเจ้า ไม่เคารพในพระธรรม ไม่เคารพในพระสงฆ์ และการไม่เคารพในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

การสำเร็จความรู้ด้วยความคิดของตนเอง.. โดยมีการเผยแพร่แนวความคิดของตนผ่านทางช่องสื่อไอทีแบบต่างๆ จึงนำไปสู่การชี้ชวนชักนำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อตาม ด้วยการใช้วาทะที่เพียบพร้อมด้วยศิลปะ ประกอบจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน ในการโน้มนำจิตใจของผู้อื่นให้หลงเข้าไปเชื่อถือในกระแสความคิดของตนเอง อย่างมีจุดมุ่งหมายหรือความประสงค์

ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นในหมู่คณะบรรพชิตในทุกศาสนา เมื่อมีการอ้างธรรมมารับรองตน.. ว่า แนวทางของตนถูกต้อง.. ความคิดเห็นของตนถูกต้อง

สังคมในศาสนาจึงเกิดความแตกแยกในความรู้ ความเห็น อันเนื่องมาจากความต่างกันในความเข้าใจตามหลักพระธรรมวินัย.. โดยเฉพาะ การปฏิเสธหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ด้วยการยกความเห็นของตนเองเข้าไปบดบัง จนกลายเป็น พระสัทธรรมปฏิรูป

แม้ว่า กลไกการแก้ไขปัญหาในคณะผู้ปกครองหมู่บรรพชิตจะเกิดขึ้น แต่ก็หาเชื่อมั่นได้ไม่ว่า ปัญหาเหล่านี้จะสูญสิ้นไปได้ เพราะด้วยความรวดเร็วในการเผยแพร่ทิฏฐิของบุคคลที่มีความเห็นต่างไปจากพระพุทธศาสนา ในยุคสมัยไอทีที่เผยแพร่ไปเร็วมากในหมู่มหาชน

จึงเป็นหน้าที่ของ ศาสนิกชน ทุกคน ที่จะต้องช่วยกันทำหน้าที่ ปกปักรักษาพระธรรมวินัย ด้วยการคัดค้านการแสดงความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยการร่วมกัน .. ช่วยกัน เฝ้าระวังในพฤติกรรมของกลุ่มบรรพชิต ที่มีพฤติกรรมผิดแผกไปจากหมู่คณะ.. ทั้งโดยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม.. ที่ละทิ้งคุณธรรมและความดีงาม ในฐานะบทบาทพุทธบริษัทไปอย่างสิ้นเชิง

ดังที่ พระมหาเถระ ได้ประทานข้อแนะนำแด่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ในเรื่องการปกป้องดูแลไม่ให้มีการกล่าวสอนบิดเบือนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม ว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน.. ที่ต้องช่วยกัน และควรสำเหนียกอย่างยิ่งในเวลานี้

สำหรับในห้วงเวลา ระหว่าง ๑๘-๒๑ กันยายน ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจตามอาราธนานิมนต์ของอำเภอต่างๆ ใน จ.นครศรีธรรมราช จำนวน ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอปากพนัง เป็นต้น เพื่อการขับเคลื่อน โครงการ ร้อยใจธรรม ... ร้อยอำเภอ สืบสานราชธรรม ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ในโอกาสนี้ จึงได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมในเขตเสนาสนะป่า ณ สำนักปฏิบัติธรรมเขาขุนน้ำคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช.. โดยเฉพาะใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ที่ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๗ จึงได้นำคณะสงฆ์ จำนวน ๙ รูป ไปลงอุโบสถ เพื่อประกอบสังฆกรรม ฟังสวดศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท ณ เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อใช้พื้นที่ป่าเป็น อพัทธสีมา ตามพระพุทธานุญาต.. ในการประกอบสังฆกรรม

หลังจากนั้น.. ในภาคค่ำ ระหว่าง เวลา ๑๙.๐๐-๒๒.๐๐ น. ได้นำคณะสงฆ์และศรัทธาญาติโยมเข้าประกอบศาสนกิจ เนื่องใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ณ ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ วันพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่สำคัญ ภายในองค์พระมหาธาตุเจดีย์ที่เป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธมายาวนาน เพื่อประกอบศาสนกิจในวันมหามงคล ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นี้

จึงได้มีการเจริญพระพุทธมนต์ แสดงธรรม อบรมจิตภาวนา ในหมู่สงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนที่เดินทางมาจากหลายพื้นที่ เพื่อมาร่วมงานก่อการกุศลในวันดังกล่าว ที่นับว่าเป็นบุญกุศลอันยิ่ง เพื่อที่จะได้พลีบุญกุศลแก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้วในทุกภพชาติ สมดังที่นิยมกระทำ ปุพพเปตพลีในงานเทศกาลเดือนสิบ ของชาวพุทธเรา.. เพื่อแสดงออกถึงการมี ความกตัญญูกตเวทิตาธรรม แด่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว.. ดังนั้นจึงเป็นค่ำคืนที่สำคัญยิ่ง ในการได้มีโอกาสร่วมกันสร้างบุญกุศลอันยิ่งในองค์พระมหาธาตุเจดีย์ ที่ปกติจะปิดในยามค่ำคืน.. จึงนับเป็นวาระพิเศษของการประกอบกุศล อันเนื่องจากการเดินทางมาใน โครงการ ร้อยใจธรรม ... ร้อยอำเภอฯ ณ จ.นครศรีธรรมราช ในครั้งนี้!!.

 

เจริญพร

dhamma_araya@hotmail.com

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย