ผลข้างเคียงจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านส่งผลให้เวียดนามต้องประสบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ต่างๆ ของสังคมไม่ว่าจะเป็นภายในพรรคฯ รัฐบาล และภาคเอกชน เอกสารสรุปกิจกรรมการเสริมสร้างและปรับปรุงข้อบังคับของพรรคฯ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 13 ส่วนหนึ่งระบุว่า “การทุจริตในบางสาขา บางพื้นที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่มีความซับซ้อน และมีรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้น ภาวะการคุกคามประชาชนและนักธุรกิจยังแพร่กระจายออกไปในหลายภาคส่วนสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในสังคม… ยิ่งไปกว่านั้น การคอร์รัปชันยังเป็นความเสี่ยงที่ท้าทายความอยู่รอดของพรรคฯ และระบอบการปกครองของประเทศ” ด้วยเหตุนี้ นายเหงียนฝูจ่อง อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงได้หยิบยกเอาประเด็นการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ โดยเขาได้กล่าวว่า “ภาวะถดถอยทางอุดมการณ์การเมือง จริยธรรม และวิถีชีวิตแบบใหม่ได้นำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชัน และนี่คือต้นตอ คือปัญหาพื้นฐานที่ต้องจัดการ” กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างถึงรากถึงโคนนั้นจำต้องเก็บกวาดนักการเมืองที่ฉ้อฉลเพื่อสร้างความโปร่งใส สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเสริมความเข้มแข็งให้แก่พรรคฯ ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 5 พรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังคงมีบทบาทในการปกครองประเทศ การลงมือแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างจริงจังและภาพลักษณ์ในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ ส่งผลให้เหงียนฝูจ่องกลายเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่งหลังจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาเกือบ 4 ทศวรรษ
‘เหงียนฝูจ่อง’ จากนักทฤษฎีการเมืองสู่เลขาธิการใหญ่ฯ ผู้ออกแบบแคมเปญเตาเผาทุจริตและกระชับอำนาจคืนสู่พรรคฯ
เส้นทางการเมืองของนายเหงียนฝูจ่องเริ่มสว่างไสวยิ่งขึ้นเมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในการประชุมสมัชชาสมัยที่ 7 (ค.ศ. 1991 – 1996) ก่อนที่จะก้าวขี้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำนครหลวงฮานอย ประธานรัฐสภา และเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตามลำดับ ในปี 2013 นายเหงียนฝูจ่องได้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการกลางว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ’ โดยกำหนดให้เลขาธิการใหญ่พรรคฯ ทำหน้าที่เป็นประธานฯ โดยตำแหน่ง นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า นอกจากจะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันแล้ว คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการกระชับอำนาจคืนสู่พรรคฯ หลังจากที่มีแนวโน้มว่าอำนาจทางการเมืองในเวียดนามกำลังไหลบ่าไปสู่ขั้วของฝ่ายบริหารที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ 2010 ลักษณะดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการที่พรรคฯ ซึ่งเป็นเสาหลักทางการเมืองจะสูญเสียอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ บริบทการพัฒนาประเทศภายใต้กลไกเศรษฐกิจการตลาดที่ดำเนินมาตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 จนถึงกลางทศวรรษ 2010 นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้วยังส่งผลให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมันตรีกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่มีอำนาจมากยิ่งขึ้น ระบบเศรษฐกิจแบบเสรียังส่งผลให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงมากยิ่งขึ้น สภาวะเช่นนี้อาจเป็นปัจจัยนำไปสู่ภาวะถดถอยทางอำนาจของพรรคฯ และอาจส่งผลต่อระบอบการปกครองของประเทศที่ยึดหลักการการบริหารภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
เมื่อก้าวเข้าสู่วาระที่ 2 ในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ฯ นายเหงียนฝูจ่องจึงได้ประกาศแคมเปญ ‘เตาเผาคอร์รัปชัน’ (đốt lò) เพื่อกวาดล้างการทุจริตที่กลายเป็นปัญหารื้อรังมานานกว่า 3 ทศวรรษ นโยบายดังกล่าวดำเนินไปอย่างเข้มข้นภายใต้วาทกรรม “ไม่มีพื้นที่ต้องห้าม ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใคร” ตัวเลขเชิงสถิติระบุว่า ตั้งแต่ปี 2012-2022 สมาชิกพรรคฯ จำนวน 7,390 คนถูกลงโทษทางวินัย คดีฟ้องร้องเนื่องจากการคอร์รัปชัน 2,439 คดีได้รับการพิจารณาในศาลชั้นต้นโดยมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 5,647 คน สามารถยึดทรัพย์สินคืนสู่รัฐมูลค่ารวม 61,000 พันล้านด่ง นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา การปราบปรามคอร์รัปชันเข้มข้นยิ่งขึ้นโดยเฉพาะคดีความสำคัญที่เกี่ยวพันกับสมาชิกระดับอาวุโสของพรรคฯ ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจภาคเอกชน อาทิ ‘คดีหว่านถิ่งฟ๊าด’ ซึ่งประเมินค่าความสูญเสียสูงถึง 27 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยศาลชั้นต้นได้ตัดสินประหารชีวิตนางเจืองหมีลาน โทษฐานยักยอกทรัพย์รวมถึงความผิดในฐานอื่นๆ การปราบปรามทุจริตอย่างเข้มข้นยังส่งผลให้คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามชุดที่ 13 (วาระ 2021 – 2026) อย่างน้อย 21 คน ต้องลาออกจากตำแหน่งและบางส่วนถูกฟ้องร้องในคดีฉ้อฉล โดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในกรมการเมืองและรัฐบาล เช่น ประธานประเทศ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ เลขาธิการพรรคประจำจังหวัด ฯลฯ ด้วยเหตุนี้นายเหงียนฝูจ่องจึงได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำตงฉินที่ใสซื่อมือสะอาดและเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคฯ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1986
‘โตเลิม’ จาก รมต.กระทรวงความมั่นคงสาธารณะสู่เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนที่ 13
หาก ‘เหงียนฝูจ่อง’ มีภาพลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองสายวิชาการผู้ออกแบบแคมเปญเตาเผาคอร์รัปชัน ในขณะเดียวกันคงไม่ผิดนักที่จะเปรียบเปรยว่า ‘โตเลิม’ ผู้สืบทอดตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ฯ เป็นนักการเมืองสายปฏิบัตินิยมที่กุมอำนาจในสายงานด้านความมั่นคง ดร. Zachary M. Abuza นักวิชาการประจำ National War Collrege, National Defense University, Washingtion, DC. ได้วิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่างนายเหงียนฝูจ่อง อดีตเลขาธิการใหญ่ฯ ผู้ล่วงลับ และ นายโตเลิม เลขาธิการใหญ่พรรคฯ คนปัจจุบันว่า “เหงียนฝูจ่องมีภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำที่ยึดโยงกับอุดมการณ์มาร์กซิสต์อย่างเข้มข้น… นอกจากนั้นเขายังต่อต้านการเติบโตทางเศรษฐกิจหากต้องแลกมาด้วยปัญหาการทุจริตและการสูญเสียอำนาจควบคุมของพรรคฯ” ดังนั้น เขาจึงกำราบนักการเมืองที่พยายามเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางอำนาจออกไปจากการควบคุมของพรรคฯ ขณะที่นายโตเลิมเป็นนายพลตำรวจมืออาชีพ โดยหนึ่งในภารกิจหลักที่เด่นชัดของเขาคือการใช้กลไกในกระทรวงความมั่นคงภายในเพื่อรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่พรรคฯ การเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ถูกเสนอชื่อจากกรมการเมืองให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ฯ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะกรรมการกลางพรรคฯ 100 % เป็นสิ่งยืนยันถึงอำนาจและบารมีของเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ภายหลังจากนายโตเลิมก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ฯ คนที่ 13 นักวิเคราะห์การเมืองในเวียดนามหลายคนจับตามองว่าเขาจะมีแนวทางในการบริหารจัดการพรรคฯ อย่างไร ทั้งนี้ โตเลิมได้เน้นย้ำในแถลงการณ์เนื่องในวาระเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ฯ ว่า “จะสืบสานและผลักดันการเสริมสร้างและปรับปรุงพรรคฯ โดยการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การประพฤติมิชอบ รวมถึงการผนึกแน่นแนวทฤษฎีและการปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางของพรรคฯ และความพึงพอใจของประชาชน” ในการแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2024 นายโตเลิมเน้นย้ำว่า “การต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบต้องดำเนินไปตามปณิธานที่ตั้งไว้ว่า ไม่หยุด ไม่พัก ไม่มีเขตหวงห้าม ไม่มีข้อยกเว้นว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร” ในช่วงเวลาเดียวกันสื่อมวลชนเวียดนามได้รายงานข่าวว่า รมต.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของเวียดนามได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง รมต. และการเป็นสมาชิกคณะกรรมการศูนย์กลางพรรคฯ เนื่องจากได้ละเมิดกฎเกณฑ์ของพรรคฯ ในการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ละเมิดกฎเกณฑ์ที่สมาชิกพรรคฯ มิพึงกระทำ ละเมิดกฎเกณฑ์ด้านการเป็นแบบอย่างที่ดี และละเมิดกฎเกณฑ์ด้านการป้องกันต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีดังกล่าวเผยให้เห็นว่าการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในเหล่าผู้บริหารและสมาชิกระดับสูงของพรรคฯ ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การกำกับของเลขาธิการใหญ่ฯ คนปัจจุบัน โดยมีกลไกที่สำคัญคือกระทรวงความมั่นคงภายใน
ทางด้านการต่างประเทศ แนวทางการทูตที่อดีตเลขาธิการใหญ่ฯ ผู้ล่วงลับนิยามว่า ‘การทูตต้นไผ่’ ที่รากฐานมั่นคง ลำต้นแข็งแรง กิ่งก้านยืดหยุ่น ยังคงได้รับการสืบสานต่อไป นอกจากนั้น เวียดนามยังเน้นย้ำแนวทางการแสวงหามิตรประเทศหากไม่ขัดต่อหลักการการรักษาผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติ ทั้งนี้ เลขาธิการใหญ่ฯ คนปัจจุบันได้กล่าวว่า พรรคฯ เน้นย้ำแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ชาติมหาอำนาจ การสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน การสานต่อความสัมพันธ์กับมิตรประเทศดั้งเดิม รวมถึงมิตรประเทศที่เป็นหุ้นส่วนในด้านต่างๆ ต่อไป แนวทางการต่างประเทศดังกล่าวอาจสอดคล้องและเชื่อมโยงกับการที่นายโตเลิมได้เลือกเดินทางไปเยือนประเทศจีนเป็นชาติแรกภายหลังจากได้รับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ทั้งนี้ การเดินทางไปเยือนจีนซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจและปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์จึงเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับแนวทางการทูตในปัจจุบัน ในขณะที่เว๊บไซต์ The Diplomat โดย David Hutt คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่นายโตเลิมจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2024 เพื่อเข้าร่วมการประชุม Summit of the Future ที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ การคาดการณ์ดังกล่าวอาจตั้งอยู่บนพื้นฐานการสร้างความสมดุลทางการทูตระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจตามแนวทางการทูตต้นไผ่ดังที่กล่าวถึงข้างต้น
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามนั้น ในปัจจุบัน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของเวียดนามในอาเซียน ในขณะที่เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 910,750 ล้านบาท) จากที่มีมูลค่าการค้าทวิภาคีประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2023 ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมให้การค้าในภูมิภาคราบรื่น ผ่านการใช้ ASEAN Single Window อย่างมีประสิทธิผล และการอำนวยความสะดวกให้แก่สินค้าผ่านแดน โดยเฉพาะที่จุดผ่านแดน รวมถึงหารือมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ของกันและกัน เช่น การเพิ่มโควตาการนำเข้าปศุสัตว์ และความตกลงยอมรับร่วมกันสำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภายใต้โครงการ OTOP ของไทย และ OCOP ของเวียดนาม การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2023 มีคนเวียดนามเดินทางมาไทยกว่า 1 ล้านคน และคนไทยเดินทางไปเวียดนามประมาณ 500,000 คน ไทยและเวียดนามดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในหลายมิติ ไทยและเวียดนามกำลังผลักดันการลงนามเพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (comprehensive strategic partnership) บทเรียนทางประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็นและการมีพรมแดนใกล้ชิดกันในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ทั้งสองชาติต้องดำเนินความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนผ่านทางด้านการเมืองในประเทศเวียดนามจึงเป็นประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองเพราะอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติของไทยในอนาคต
อ้างอิง
ดร.สุริยา คำหว่าน
ศูนย์ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลียวหลังแลหน้า 1 ทศวรรษความสัมพันธ์ขั้นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม
ไทยและเวียดนามเป็น 2 ชาติที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่สมัยรัฐจารีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยภายใต้บริบทการเมืองระดับโลก ระดับภูมิภาค และและปัจจัยทางการเมืองในแต่ละประเทศ ในปี ค.ศ. 2023 ถือเป็นวาระแห่งการครบรอบ 47 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เวียดนาม และการเฉลิมฉลอง 1 ทศวรรษแห่งการยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง
45 ปีความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม: มุมมองจากมิติทางด้านการศึกษา
ปี 2564 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยและเวียดนามเนื่องจากเป็นวาระแห่งการครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ชาติ กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติที่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519