ไพบูลย์ เลขาธิการพรรค พปชร. 'ลุงป้อม' ยังไปต่อ - 'อุ๊งอิ๊ง' ไม่ครบปี!

...หัวหน้าพรรคยังคงมีความมุ่งมั่นที่อยากดูแลพรรคให้เดินหน้าต่อไป ท่านไม่วางมือแน่ เพราะพูดเสมอว่าอยากให้เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ที่สุดในเรื่องของความจงรักภักดี ปกป้องสถาบัน

"พรรคพลังประชารัฐ" ที่แม้ในวันนี้จะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในความสนใจของหลายฝ่าย

อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายบริบทการเมืองที่โยงถึง "พรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ" เช่น เรื่องคลิปเสียงหลุดหลายคลิปที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ที่เสียงคนในคลิปบังเอิญคล้าย พล.อ.ประวิตร หรือเรื่องกระแสข่าวการทยอยลาออกจากพรรคพลังประชารัฐของอดีต สส. และอดีตแกนนำพรรค เช่นกลุ่มบ้านใหญ่โคราชตระกูล "รัตนเศรษฐ" ของวิรัช รัตนเศรษฐ หรือเรื่องบทบาทของ สส.พลังประชารัฐ ในฐานะฝ่ายค้าน ในการอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร  ชินวัตร ต่อที่ประชุมรัฐสภา เป็นต้น

"ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ" คนล่าสุด ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน เช่น อดีตสมาชิกวุฒิสภา, อดีต สส.บัญชีรายชื่อ, อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในยุค คสช. เป็นต้น และก่อนหน้านี้ ก็มีบทบาทความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายเรื่องที่สำคัญ ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เช่น เป็นบุคคลที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จนทำให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากการเป็นนายกฯ หรือการเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่เป็นพรรคในเครือข่ายเพื่อไทยตอนเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 จนมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมา เป็นต้น

ส่วนการขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐต่อจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังจาก พปชร.กลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้นจะเป็นอย่างไร "ไพบูลย์" มีคำตอบในเรื่องนี้

-พลังประชารัฐเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร มี สส.ในพรรคที่เป็นทั้ง สส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน จุดแตกหักระหว่างธรรมนัสกับหัวหน้าพรรค เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ ที่มีความต้องการอยากได้ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ โดยเฉพาะเรื่องของผลประโยชน์ เมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการก็สร้างความขัดแย้งขึ้น ก็เป็นเรื่องประมาณนี้ ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไร

-จริงไหมที่ตอนตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตรแจ้งว่ายังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่มีชื่อ ร.อ.ธรรมนัสเป็น รมต. เลยทำให้เขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา?

ก็เป็นเหตุอันอ้าง คือหากไม่มีชื่อก็บอกมา แล้วก็ใส่ชื่อไป ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ตอนหลังก็มีชื่อ ใส่ชื่อไปหมด ผมเป็นคนส่งเอกสารรายชื่อรัฐมนตรีของพรรค พปชร. เอาไปให้  นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ด้วยตัวเอง

 ก่อนไปส่งผมก็เอาเอกสารไปให้ ร.อ.ธรรมนัสดูก่อนที่กระทรวงเกษตรฯ ว่ามีการแก้ไขให้แล้ว ซึ่งหากพูดถึงความรู้สึกเก่าแก่ที่มีให้กัน มันก็น่าจะจบ แต่ที่มันไม่จบเพราะเขาคิดอะไรไว้ก่อนแล้ว และเพียงแค่เอาเรื่องนี้มาเป็นสาเหตุ ซึ่งปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ปัญหามันดับไปแล้ว แต่ก็ยังเดินต่อ ก็แสดงว่ามันเป็นสิ่งที่เตรียมไว้ตั้งแต่ต้น

-ลุงป้อมไม่เอา ร.อ.ธรรมนัสจริงหรือไม่ หรือว่าแค่ปรารภ หรือว่าไม่ได้พูดเลย?

พล.อ.ประวิตรก็ให้สัมภาษณ์สื่อ ท่านก็ให้สัมภาษณ์ไปตามที่ได้ยิน ที่มีคนบอกมา หรือได้ยินว่านายกฯ จะไม่ตั้ง ร.อ.ธรรมนัสแน่นอน ก็มีคนบอกกันไป เลยเอาชื่อออก แต่ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ด้วย หากผมอยู่ด้วยผมคงแย้งไปแล้วว่า พรรคเราไม่ได้มีหน้าที่จะต้องไปวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ เราแค่ดูในพรรคว่าใครเหมาะสม ซึ่งหากถามกันในพรรค ตัวผู้กองธรรมนัสก็เหมาะที่สุดที่จะเป็น รมว.เกษตรฯ เราก็ส่งชื่อไป แล้วก็ให้รัฐบาลส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ หากไม่ได้ก็ให้ส่งชื่อกลับมาแล้วเราค่อยเปลี่ยน เรื่องอะไรเราจะไปเปลี่ยนก่อนเพื่อให้ปัญหามันมาอยู่ที่เรา

แล้วก็เลยมาเป็นประเด็นให้มีการปลุกเร้ากลุ่ม สส. ซึ่งคุยกันตอนแรกที่ผมไปคุยที่กระทรวงเกษตรฯ ก็บอกจะไม่แถลง แต่การให้ สส.มาให้กำลังใจแล้วก็ตอบคำถามสื่อมวลชน หลายคนก็บอกว่าคือการแถลง ซึ่งผมก็ทำหมดแล้ว แต่ยังมีการเดินหน้าต่อ จนถึงขั้นที่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่เอาพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล ผมก็ทำหนังสือเพื่อทวงถาม ให้มีหลักฐานชัดเจน มีมติกรรมการบริหารพรรค ทำครบทุกด้านเพื่อว่าจะมาว่าเราไม่ได้ แต่ถ้าไม่ตั้งก็เป็นเรื่องของนายกฯ เพราะเพื่อไทยบอกว่านายกฯ มีอำนาจจะแต่งตั้งใครก็ได้ แต่การตั้งใครก็ได้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว ในคดีนายเศรษฐา  ทวีสิน ก็คือต้องตั้งให้ถูกต้อง ไม่ใช่ตั้งตามอำเภอใจได้

"สรุปได้ว่าก็คงคิดเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่พอดีมีจุดที่จะเอามาอ้างได้ เมื่ออ้างแล้วมีการแก้ไขให้แล้ว แต่ก็ยังอ้างทำเฉยต่อไปเลย แล้วก็เล่นเกมยาวเลย"

เราก็เข้าใจแผน ก็คืออยากให้ขับออกจากพรรคไป จะไปอยู่พรรคใหม่ที่ตั้งเตรียมไว้แล้ว ที่ก็มีหลักฐานหมด ตอนนี้หัวหน้าพรรคนั้นก็มาเป็นรัฐมนตรี แผนนี้ไม่ได้เพิ่งคิดกัน  เตรียมไว้แล้ว แต่เอาเรื่องนี้้มาเป็นเหตุ แต่ผมเชื่อว่าหากไม่มีเรื่องที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปให้สัมภาษณ์ว่าชื่อหลุดไป (ร.อ.ธรรมนัส) อะไรพวกนี้ ก็ยังเกิดเหตุอยู่ดี ไม่มีไม่เกิด  ผมอยู่ฝ่ายกฎหมาย ผมก็ทำตามกฎหมาย คือเราก็ไม่ต้องไปขับเขา ทำไมจะต้องไปทำอย่างที่เขาอยากได้ เราก็ไว้อย่างนี้แหละ เพราะตามกฎหมายเท่ากับเรามี สส. 40 คน แล้วหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็เหนื่อยมาก ในการที่ช่วยให้ สส.ทั้งหมด 40 คนได้เข้ามาเป็น สส.กัน

-เกมใหญ่ของเรื่องนี้มีคนต้องการเอาพลังประชารัฐ ออกจากรัฐบาลอยู่แล้ว ที่มีข่าวว่าเขาไม่ต้องการเอา วงษ์สุวรรณ ไว้?

หมายถึงคุณทักษิณ ชินวัตร ใช่ไหม ผมก็เห็นท่านก็พูดอย่างนั้น ทำนองนั้น แต่ว่าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง พรรคแกนนำรัฐบาลก็รับลูกเลย ไม่รู้เป็นอะไรกันหนักหนา รับลูกกันอย่างชนิดที่ส่งลูกกันเฉยเลย

-ตอนโหวตนายกฯ พลังประชารัฐก็โหวตให้นายกฯ อุ๊งอิ๊ง แต่ฝ่ายนั้น (ร.อ.ธรรมนัส) ไปได้โควตารัฐมนตรี 3 เก้าอี้ ก็มาจาก สส.พลังประชารัฐโหวตให้ เท่ากับใช้โควตาเราไปได้ตำแหน่งโดยที่พรรคไม่ได้?

ข้อเท็จจริงเป็นแบบนั้น สรุปได้ว่าการที่มาอ้างตอนหลัง กรรมการบริหารพรรคแกนนำรัฐบาลมาอ้างว่า หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่ไปโหวตให้นายกฯ ไปอ้างย้อนหลังด้วย ตอนที่โหวตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมันอ้างไม่ได้ คือถ้าอ้างแบบนี้ วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่้บ้านจันทร์ส่องหล้า  คุณก็บอกตัวแทนพรรคมาว่าไม่เอาแล้ว เพราะหัวหน้าพรรคเราไม่ไปร่วมโหวตให้นายเศรษฐา หรืออีกวันหนึ่งตอนที่ไปชูมือสนับสนุนนายกฯ แพทองธารที่ตึกชินวัตร ก็บอกมาว่าไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ เราก็ไม่เป็นไร เราก็จะไม่ไปโหวตให้  หรืออาจจะมีเสียงจำนวนหนึ่งไปโหวตให้ ก็แล้วแต่ แต่ว่าคนมันต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่ต้น ไม่ใช่พอไปโหวตนายกฯ ให้กันหมด แล้วอยู่ๆ มาอ้างเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมฟังดูแล้วมันไม่ซื่อสัตย์สุจริต หมายถึงการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะตัวนายกฯ ที่อาจมีการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต

-แล้วจะมีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่ กับการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต?

พรรคพลังประชารัฐไม่ทำอยู่แล้วที่จะไปยื่นฟ้องอะไรแบบนั้น แต่พวกนักตรวจสอบก็เห็นมี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม  ประธานพรรคไทยภักดี เห็นเอาประเด็นนี้ไปร้องกับ กกต. ผมว่าเรื่องนี้มันไม่เคยเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปพึงรู้ว่ามันไม่สุจริต

-พลังประชารัฐก็เดินตามข้อบังคับพรรค แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็แก้เกมใช้วิธีส่งคนที่ไม่ได้เป็น สส.พลังประชารัฐ ไปเป็นรัฐมนตรี เพราะเกรงจะมีปัญหา การแก้เกมที่เอาคนนอกมาเป็นรัฐมนตรีถือว่าเก่งไหม?

ยิ่งแก้ก็เหมือนลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ก็ตอบได้ไหม อีกคนหนึ่งที่มาเป็น รมว.เกษตรฯ เป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่มี สส.แม้แต่คนเดียว (พรรคกล้าธรรม) แต่กลับเอามาเป็น รมว.เกษตรฯ แต่ทำไมแล้วทีกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  จากพรรคเสรีรวมไทย ที่ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลแต่แรก แต่กลับไม่ให้ไปเป็นรองนายกฯ สรุปว่าเอาพรรคการเมืองที่ไม่มีสส.ไปโหวตนายกฯ เลยมาเป็นรัฐมนตรี แล้วอาศัยอะไรในการที่ไปตั้งให้เป็นรัฐมนตรี

ส่วนรัฐมนตรีอีกคนผมก็ไม่ได้ว่าอะไรที่บอกว่าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่วิญญูชนคนทั่วไปคงจะรู้ ก็ปล่อยเขาไป แต่สองคนนี้ที่อธิบายไม่ได้ เพราะไม่มีเสียงอะไรไปโหวตแล้วได้มาจากไหน

-แต่ ร.อ.ธรรมนัสบอกว่าก็ไม่ได้ผิดอะไร?

เรื่องผิดหรือไม่ผิด มันเป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มันไม่ได้เป็นเรื่องของอำนาจบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผมไม่มีสิทธิ์จะไปตัดสินใครว่าผิดหรือถูก ส่วนจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมไม่ทราบ คำร้องของหมอวรงค์จะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่ท่านผู้อาวุโส "พี่เปลว สีเงิน" ได้เขียนบทความเรื่องนี้ ซึ่งเป็นบทความที่เขียนได้ละเอียดที่สุด อ่านง่ายเข้าใจง่าย ถึงความเป็นมาเป็นไป

-สถานภาพการเมืองของพลังประชารัฐ ที่มี สส. 40 คนก็แบ่งเป็นสองซีก แล้วฝ่ายผู้กองธรรมนัสก็ชิงลาออกจากกรรมการบริหารพรรคไป ก็เลยมีการจัดทัพกรรมการบริหารพรรคกันใหม่?

เรื่องชิงลาออกไป ผมขอพูดความจริง คือหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรคของเขาลงวันที่ 20 สิงหาคม แต่เขาไปส่งที่สำนักงาน กกต. โดยลงรับหนังสือวันที่ 29 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีมติจะจัดประชุมใหญ่พรรค เขาไปยื่นบ่ายสองของวันนั้น  แต่เราประชุมกรรมการบริหารพรรคตอนเช้า คือทำหนังสือลงเลขวันที่ 20 สิงหาคม แต่ทำแล้วไม่ยื่น มันก็ไม่มีผลอะไร ถือไว้ทำไม แล้วไปยื่น กกต.วันที่ 29 สิงหาคม ตอนบ่าย

จนเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.ต้องโทรศัพท์มาบอกกับพรรคพลังประชารัฐว่ามีเรื่องแบบนี้ ขอให้ส่งคนมารับหนังสือ เขาบอกว่าการลาออกจากกรรมการบริหารพรรค โดยไปยื่นที่นายทะเบียนพรรค มันไม่ถูกตามขั้นตอน ต้องยื่นที่พรรคเลย เพราะไปยื่นที่สำนักงาน กกต.เขาก็ยังไม่ทำอะไร ก็ต้องส่งกลับมาที่พรรค ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เราก็เลยไปติดต่อประสานเพื่อให้เร็วขึ้น เราก็ส่งคนไปรับหนังสือมา และถึงลาออกก็ไม่มีผลอะไร เพราะเราจะตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ทั้งคณะอยู่แล้ว ก็ไม่เอาชื่อเข้าไปอยู่แล้ว เพราะถึงไม่มีใบลาออกก็ไม่มีชื่อ

-สรุปว่า สส.พลังประชารัฐที่ไปอยู่ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส มีกี่คน?

นับจากวันโหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระ 3 ของสภาฯ การที่มีรัฐมนตรีมาจากพรรคไหนก็ไม่รู้ ส่งให้นายกฯ ไปตั้ง มันก็ต้องมีบอกว่าจะมีกี่เสียง ก็เห็นคุยไว้เยอะว่ามีมากกว่านั้น แต่พอไปโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68 วาระสาม ที่เขาต้องมีการเกณฑ์ไปให้ครบทุกคน ก็ยังได้แค่ 19 เสียง แล้วก็มีคนหนึ่งอ้างว่าติดธุระเลยไปไม่ได้ ก็เต็มที่ก็คือ 20 เสียง แต่สื่อก็ไปจับตรงเสียงฝ่ายที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่มาดูฝ่ายที่เขาเป็นฝ่ายค้าน แต่ต้องดูฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายรัฐบาล ไปโหวตจริงๆ มีกี่เสียง ที่พบว่าตอนโหวตจริงๆ ก็มีแค่ 19 เสียง สรุปว่ามี 20 เท่านั้นเอง ยังถือว่าพลังประชารัฐ มี 40 เสียงเหมือนเดิม ส่วนผ่าครึ่งหนึ่งเป็นความคิดของฝ่ายเขา แต่ผมในฐานะเป็นนักกฎหมาย ก็มองว่ายังเป็น 40 เหมือนเดิม เพราะถ้าไม่นับเป็นคนของฝ่ายเรา กรรมการบริหารพรรคจะไปตั้งกรรมการตรวจสอบเขาได้หรือ เขายังเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอยู่

สำหรับการที่ผลการประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันอังคารที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณี 20 สส.พลังประชารัฐ (กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส) ทำผิดข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นเรื่องวาระพิจารณาของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กับการที่สส. 20 คนของพลังประชารัฐ อาจมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหรือฝ่าฝืนจริยธรรม ที่ประชุมก็มีการพิจารณากันว่าจะดำเนินการอย่างไร จนมีการเสนอให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีผมเป็นประธาน มีเวลา 60 วันในการพิจารณา กรรมการก็จะไปดูข้อเท็จจริงก่อน โดยย้อนไปตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาล ว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐแบบไหนหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ได้ฟันธงอะไร เพราะยังไม่ได้เริ่มสอบ

แต่ตอนนี้กรรมการบริหารพรรคมีมาตรการชั่วคราวไว้ก่อน คือในระหว่างรอผลการตรวจสอบให้ระงับการเสนอชื่อสส.ทั้ง 20 คนดังกล่าวของพรรคพลังประชารัฐ เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญใดๆ ของสภาฯ ที่ตอนเสนอชื่อคนไปเป็นต้องใช้โควตาของพรรคพลังประชารัฐ เราจะไม่ให้มีการเสนอชื่อพวกเขาเข้าไปมีส่วนในกรรมาธิการวิสามัญของสภาฯ พรรคจะเสนอชื่อเฉพาะคนที่ไม่ถูกตรวจสอบที่มีอยู่ 20 คน ก็มันมีหลักฐานที่ดูแล้วอาจจะฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค ก็ตั้งกรรมการตรวจสอบ แต่มีมาตรการชั่วคราวออกมาก่อน ผมว่าเป็นเรื่องปกติ

-คนสงสัยว่าแล้วจะนำไปสู่การขับทั้ง 20 คนหรือไม่  แต่เห็นคุณไพบูลย์บอกว่าจะไปขับออกจากพรรคทำไม ?

คงจะพูดเหมือนเดิม คือกรรมการบริหารพรรคก็เห็นร่วมกัน ว่าตรวจสอบยังไงก็ตาม ผิดยังไงก็ตาม ไม่มีการขับออก  ก็ทำไมต้องขับออก เพราะเราก็อยากจะมี สส.อยู่ 40 คน ทำไมต้องไปลดจำนวน สส.เราลง

-คือทำไมต้องขับออกเพื่อไปช่วยพวกเขา?

อันนั้นก็สำคัญ (หัวเราะ) ความคิดเขาก็อยากให้ทำ  เพราะเขาจะได้ไปอยู่เป็นรัฐบาล เป็นพรรคร่วมรัฐบาล กรรมการบริหารพรรคก็คิดร่วมกันว่า งั้นก็ให้เขาอยู่เป็นเพื่อนเราในพรรคร่วมฝ่ายค้านนี้แหละ เป็นฝ่ายค้านแต่ไปโหวตให้รัฐบาล สังคมเรียกว่าอะไร แต่ปัญหาหนึ่งก็คือ สส. 20 คนที่ไปละเมิดฝ่าฝืนข้อบังคับ เพราะ สส.ที่เขาเรียกกันว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ที่แม้จะเป็นฝ่ายค้านแต่ก็เต็มที่ แต่ก็เป็น สส.ที่มีความน่าภาคภูมิใจ

-กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ที่เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ จะมีการเปลี่ยนคอนเซปต์ บริบทใหม่คืออะไร?

ที่ได้คุยกับหัวหน้าพรรคก็คือ อยากให้เลขาธิการพรรค ทำงานตามข้อบังคับพรรค ซึ่งมีการกำหนดเรื่องหน้าที่ของเลขาธิการพรรค โดยเลขาธิการพรรคที่ผ่านมามักจะไม่ทำเรื่องนี้ แต่ไปทำเรื่องคุมพื้นที่ คุม สส. คุมอะไรต่างๆ

ซึ่งหน้าที่ของเลขาธิการพรรคตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ คือต้องเป็นผู้ตรวจสอบ กำกับดูแลกิจการของพรรคพลังประชารัฐตามที่หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย, เป็นผู้เสนอรายงานที่ประชุมต่อกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและ สส. และต่อที่ประชุมใหญ่, เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารงานของสำนักงานใหญ่ของพรรค  

ไม่มีเขียนไว้ตรงไหนว่าให้ไปตั้งกลุ่มตั้งก๊วน สส. แต่มีหน้าที่สนับสนุนงานของหัวหน้าพรรคกับรองหัวหน้าพรรคที่จะต้องทำ ดังนั้นก็ทำให้มันถูกตามข้อบังคับพรรค อย่างรองหัวหน้าพรรคก็ต้องทำงานตามที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย ครั้งนี้หัวหน้าพรรคมอบหมายให้รองหัวหน้าพรรคแปดคนเป็นผู้ดูแลพื้นที่แบ่งกัน ใครดูโซนไหนก็แบ่งกัน แล้วเลขาธิการพรรคก็มีหน้าที่ซัพพอร์ต คืออันนี้ถูกทางแล้ว สนับสนุนการทำงานของหัวหน้าพรรค หรือรองหัวหน้าพรรคตามที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย

-ที่ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐได้ เพราะลุงป้อมจิ้มชื่อบอกว่าให้มาเป็นหรือไม่?

คือผมหารือกับท่าน ผมก็อยากจะเปลี่ยน เรื่องเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุด เกิดจากอะไรล่ะ มันเกิดจากตำแหน่งไหน แล้วหากเรายังไปทำแบบเดิมอีก มันก็ซ้ำรอยอีก

โดยในสมัยผมก็จะไม่ซ้ำรอยแบบเลขาธิการพรรคที่ผ่านมาก็แล้วกัน ที่ผมไม่อยากจะพูดชื่อ ผมเป็นนักกฎหมาย ผมก็เอาตามข้อบังคับพรรคที่ให้อำนาจผมแบบนี้ ผมก็ทำตามนี้ ซึ่งรองหัวหน้าพรรคเขาก็พอใจ

เพราะเมื่อก่อนก็โดนเลขาธิการเบียดหมด ไม่มีบทบาทอะไรเลย ตอนนี้รองหัวหน้าพรรคก็มีบทบาทในพื้นที่ แบ่งพื้นที่กันไปเลยว่าดูตรงไหน ก็แบ่งกันไปดู แล้วก็จะได้ไม่ระแวงกัน อย่างผมก็จะไม่ไปส่งผู้สมัครลง สส.เขตแม้แต่เขตเดียว ไม่เข้าไปแทรกแซงงานที่รองหัวหน้าพรรคได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรค เพื่อจะได้ไม่ take side ไม่ไปลำเอียงว่าคนนี้เราส่ง เราเป็นคนเสนอชื่อ ต้องดูแลเป็นพิเศษ จนเกิดกลุ่มก๊วนขึ้น กลุ่มของเลขาธิการพรรค ซึ่งถ้าเลขาธิการพรรคไม่ส่งคนลงสมัคร สส.เลย มันก็ไม่มีกลุ่มก๊วนของเลขาธิการพรรค แล้วรองหัวหน้าพรรคก็กระจายพื้นที่กันอยู่แล้ว ก็ไม่มีใครจะไปก่อ จนกระทั่งเป็นปัญหาเหมือนอย่างที่ผ่านมา คือที่ผ่านมาเลขาธิการพรรคเป็นเหมือนหัวหน้าพรรคคนที่สอง แต่ทั้งหมดหัวหน้าพรรคไปลงแรงในการช่วยกันหมด สส.ทั้ง 40 คนที่เข้ามา (เลือกตั้งปี 2566)

-เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลุงป้อมช้ำไหม?

เอาใจเขามาใส่ใจเรา ท่านก็เสียใจที่ว่าไม่น่าไปเชื่อกันขนาดนั้น วิญญูชนทั่วไปก็คงรู้ และไม่ใช่คนคนเดียว แต่หลายๆ คนนั้นด้วย ก็ไปอยู่อย่างนั้น พวกนั้นนะ ผมว่าทุกคนก็รู้อยู่ในใจว่าทำแบบนี้มันถูกหรือไม่ถูก แล้วจะมาอ้างเหตุ แค่ไม่มีชื่อของทางนั้นแล้วก็เฮไป เพราะว่าเอ้ย เราอยู่เป็นฝ่ายรัฐบาลแน่นอน ก็เหมือนเดิมอย่างที่บอก ก็พูดตั้งแต่ตอนแรก ก่อนที่จะมาลงสมัคร สส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ ก็บอกเลยว่าถ้าพรรคจะไปเป็นฝ่ายค้าน ผมขออนุญาตออกจากพรรคเลยนะ จะไปตั้งกลุ่มแล้วจะไปเป็นรัฐบาลอย่างเดียว แต่อันนี้มันไม่ใช่

-เวลาลุงป้อมช้ำ แกแสดงออกอย่างไร?

ก็ไม่ พวกเราคิดว่าท่านเสียใจในเรื่องไว้วางใจคน แต่ตัวท่านเองก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเดิม

-กลืนเลือด?

ไม่เรียกว่าอย่างนั้น คือท่านอดทน ใจกว้าง แต่ไม่ใช่ว่าหมายถึง เฮ้ยไม่เป็นไร ไม่ใช่นะ

-คนปรามาสกันว่าพรรคพลังประชารัฐไม่น่าจะไปรอด ใจบันดาลแรงคงไม่มีจริง การเลือกตั้งรอบหน้าคงยากยิ่งขึ้นไปอีก?

ก็เป็นคำปรามาสของบางฝ่ายที่ก็มีมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็นตอนนี้ แต่มันก็เป็นไปตามสถานการณ์การเมือง หัวหน้าพรรคก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่อยากดูแลพรรคให้เดินหน้าต่อไป ท่านไม่วางมือแน่ เพราะท่านก็พูดเสมอว่าอยากให้เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ที่สุดในเรื่องของความจงรักภักดี ปกป้องสถาบัน ด้วยการกระทำไม่ใช่พูดอย่างเดียว

อย่างที่จะให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 หัวหน้าพรรคก็ให้ผมไปแถลงข่าวเรื่องนี้ เพราะผมเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร ผมก็อภิปรายคัดค้านอย่างเต็มรูปแบบ ก็รอให้รายงานของกรรมาธิการฯ เข้าสภาฯ เมื่อใด ผมก็จะนำสิ่งที่ผมพูดในคณะกรรมาธิการฯ มาอภิปรายให้ประชาชนได้รับฟัง

เพราะการนิรโทษกรรมคดี 112 ร้ายแรงกว่าการไปแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะการนิรโทษกรรมเท่ากับทำให้การกระทำความผิดมาตรา 112 ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป เพราะถือว่าไม่ใช่การกระทำความผิด มันหนักกว่า ขัดทั้งรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และสำหรับอุดมการณ์พรรคพลังประชารัฐรับไม่ได้อยู่แล้ว เราก็คัดค้านทุกวิถีทาง

-ที่บอกว่า พปชร.จะมีนโยบายอนุรักษนิยมทันสมั คืออย่างไร?

สิ่งที่เราควรอนุรักษ์ คือสิ่งที่ดีงาม ทั้งวัฒนธรรม  ประเพณี สิ่งที่ดีงามของเรา ก็ต้องอนุรักษ์ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ต้องอนุรักษ์ไว้ ส่วนเรื่องทันสมัยก็คือการใช้เทคโนโลยี วิทยาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น การใช้นวัตกรรมต่างๆ พรรคก็ต้องไปด้วย การเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ของโลก เราต้องทันสมัยที่จะไปกับเขา ไม่ว่าสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็ต้องทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสีเขียว การใช้ AI ต่างๆ เราต้องทันสมัยด้วย

อย่างทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรค พปชร.ก็มีมากกว่าทุกพรรค มีอดีต รมว.คลัง 2 คน อดีต รมว.พาณิชย์ 2 คน มีอดีต รมต.หลายคนมากที่อยู่ในพรรค อย่าง ดร.ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง เป็นคนมีความรู้เยอะ เป็นประธานฝ่ายวิชาการพรรค พปชร. คุณอุตตม สาวนายน กับคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็มาเป็นรองหัวหน้าพรรคพปชร.

-พปชร.จะไม่เป็นพรรคฝ่ายค้านแบบเดิมๆ แต่จะเป็นพรรคที่เน้นตรวจสอบ?

พรรคฝ่ายค้านก็เป็นไปตามข้อบังคับของสภาฯ แต่จริงๆ เราจะเป็นพรรคตรวจสอบ คือต้องมีข้อมูล ไม่ใช่ค้านอย่างเดียว ค้านไปทุกเรื่อง เขาว่าอย่างไรเราก็จะไปอีกทาง-ไม่ใช่ เราต้องตรวจสอบก่อน ส่วนการทำงานร่วมกับพรรคประชาชน เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านก็คุยกัน  เช่นเรื่องแบ่งเวลาในการอภิปรายในสภาฯ แต่เราก็รู้ทั้งพรรคประชาชนและพรรคพลังประชารัฐ เรื่องที่เห็นไม่ตรงกันอย่างแน่นอนก็คือมาตรา 112 เราก็ไม่คุยกันเรื่องนี้ ต่างคนต่างมีจุดยืน ก็ว่ากันไป.


รัฐบาล 'แพทองธาร' อยู่แบบ นับเดือน

ผมไปเชื่อฝ่ายที่วิเคราะห์ว่าอยู่ได้ไม่กี่เดือน คือนับเดือน  ซึ่งผมเห็นด้วยกับเขา อย่าลืมตอนคุณเศรษฐา ทวีสิน ก็นับเดือน ก็ได้ 11 เดือน รัฐบาลเศรษฐายังมีช่วงฮันนีมูนอยู่ตั้งยาวกว่าจะเกิดปัญหาขึ้น แต่รัฐบาลนายกฯ คนใหม่ แค่ก่อตั้ง ก็อย่างที่ผมพูด ตั้งรัฐบาลก็ยังไม่ยึดคำมั่นเลย ทำลายประเพณี...ผมเลยเชื่อฝ่ายที่วิเคราะห์ว่าจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน

ที่ผ่านมา บทบาทของ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ที่หลายคนจดจำกันได้ดีก็คือ การเป็นผู้ยื่นคำร้องคดีสำคัญทางการเมืองหลายเรื่อง เช่นคดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร, คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งปัจจุบันก็มีคนไปยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีปล่อยให้ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ครอบงำพรรคเพื่อไทย แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าบุคคลที่ไปยื่นเรื่องคือใคร

จึงมีการถามเรื่องนี้ หลังมีข่าวลือกันว่า บุคคลนิรนามดังกล่าว คอตัวเขา ซึ่ง "ไพบูลย์" ยืนยันว่า ไม่ใช่ผม และผมตรวจคำร้องมาที่ยื่นๆ กันตอนนี้ รวมถึงนักร้องนิรนามด้วย ผมว่าสำหรับมาตรฐานผมนะยังไม่เข้า แต่อาจเป็นมาตรฐานคนอื่น ที่อาจคิดว่าเอออันนี้ใช่เลย แต่ผมกำลังหาอยู่ว่าจะมีคำร้องไหนที่คิดว่าจะเป็นมาตรฐานผม ก็ยังไม่มีที่รับกับมาตรฐานของผม แต่ที่ร้องๆ ไปก็เป็นประโยชน์ หากองค์กรที่รับเรื่องจะไปดำเนินการก็เป็นเรื่องดี แต่สำหรับผมไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ถ้ามาตรฐานผมต้องไปดูที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญคดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือคดีที่ยื่นต่อกกต.ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

-ตอนนี้กำลังมีทำอยู่บ้างไหม โดยเฉพาะส่วนตัว?

พรรคพลังประชารัฐไม่ทำ ผมก็ไม่ทำ แต่ผมรอดูอยู่ จะมีคำร้องไหนที่โดนใจผม ซึ่งถ้าเห็นเมื่อใดจะมาบอก แต่มีน้ำหนักอย่างหนึ่งก็คือฝ่ายที่โดนตรวจสอบหวั่นไหวกันแล้ว มาเหมาว่าเป็นผม ก็ไม่รู้กลัวอะไรกันหนักหนา

-ไม่จำเป็นต้องทำเอง แต่อาจเขียนใส่มือคนอื่นให้ไปยื่นก็ได้?

ก็แล้วแต่ ผมก็ไม่รู้ เรียกง่ายๆ ว่ารอดูคำร้องที่ตรงมาตรฐานผม แต่ไม่ได้หมายความว่าคำร้องที่มีไม่ดี ผมก็ต้องชื่นชม ก็ทำได้ดีมาก แต่ไม่ใช่ผมทำ แต่ผมก็อยากให้ กกต.รับไป

-เรื่องข้อกล่าวหามีการปล่อยให้คนที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคเข้าไปครอบงำพรรค เท่าที่ดูปรากฏการณ์ทางกายภาพคิดว่ามันเข้าข่ายหรือยัง?

ผมก็คิดเหมือนวิญญูชนทั่วไปที่ก็คงจะรู้ คงจะเห็น ลองถามทำโพลสำรวจดูว่าได้มีการครอบงำหรือไม่

-ความเชื่อส่วนตัวคิดว่า กรณีครอบงำ ชี้นำพรรคการเมือง จะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่?

ก็มันผิดกฎหมาย หากว่ามันเกิดขึ้น ผิดมาตรา 28 กับ 29 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งถ้าเกิดกรณีนี้จริง กกต.ก็ต้องยื่นศาล รธน.

-คนก็บอกว่าบ้านป่าฯ จะเปิดแนวรบทางกฎหมาย  โดยเฉพาะเลขาธิการพรรค พปชร.คนใหม่ ไพบูลย์ นิติตะวัน  ต่อจากนี้จะเปลี่ยนเป็นนิติสงครามแล้ว?

โอ้โห เขาชมผมถึงขนาดนั้นเลยหรือ ไม่เอา ผมนิติตะวัน ของผมดีอยู่แล้ว เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ก็อย่าไปทำผิด หากมีคนทำผิด แล้วมีคนไปดำเนินการเอาผิด ไปยื่นดำเนินการ ก็ต้องไม่ไปตำหนิว่า ไปร้องอะไรวุ่นวาย อย่าไปพูดแบบนั้น ก็อย่าไปทำผิดตั้งแต่ต้น หากไม่ทำผิดตั้งแต่ต้นไม่เห็นต้องห่วงอะไรเลย หลักการมีแค่นี้

-คือบางเรื่องหากจำเป็นต้องร้องต่อ กกต.หรือศาลรธน. ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ?

ผมเป็นคนชอบศึกษา เป็นนักตรวจสอบทางกฎหมาย  ผมก็ตรวจสอบไป พูดไป มีใครเอาความคิดผมไปทำ ก็สุดแล้วแต่  

-ไม่คิดจะยื่นเองบ้างหรือ?

ไม่เอา ผมเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคผู้ใหญ่ มี พล.อ.ประวิตเป็นหัวหน้าพรรค เราทำอะไรก็เปิดเผย อย่างจะอภิปรายเรื่องความบกพร่องของรัฐบาล เราก็เอานักวิชาการระดับอดีตรัฐมนตรีมา ส่วนเรื่องกฎหมาย มีคนดำเนินการเยอะอยู่แล้ว ส่วนกรณีคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เขาไม่เคยบอกว่าทำในนามพรรคเลย  เพียงแต่เขาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่เป็นหนึ่งในหกหมื่นของสมาชิกพรรค ซึ่งเขาก็บอกตลอดว่าทำในนามส่วนตัว ต้องให้เกียรติคุณเรืองไกรด้วย เขาทำโดยมีฝีมือส่วนตัวเขา ต้องให้เครดิตส่วนตัวเขาไป

-คิดว่ารัฐบาลจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว และขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?

ผมก็ชอบดูนักวิเคราะห์การเมืองที่ก็วิเคราะห์กันไป แต่ผมไปเชื่อฝ่ายที่วิเคราะห์ว่าอยู่ได้ไม่กี่เดือนมากกว่า นับเดือน  นักวิเคราะห์พูดแบบนั้น ซึ่งผมเห็นด้วยกับเขา อย่าลืมตอนคุณเศรษฐา ทวีสิน ก็นับเดือน ก็ได้ 11 เดือนกว่า แต่ถ้าอยู่ทะลุเกิน 11 เดือน ก็ต้องนับเป็นปี รัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน ยังมีช่วงฮันนีมูนอยู่ตั้งยาว กว่าจะเกิดปัญหาขึ้น แต่รัฐบาลนายกฯ คนใหม่แค่ก่อตั้ง ก็อย่างที่ผมพูด ตั้งรัฐบาลก็ยังไม่ยึดคำมั่นเลย ทำลายประเพณี ไปตั้งอะไรก็ไม่รู้ ดูแล้วก็อาจไม่ซื่อสัตย์สุจริต ผมพูดเพื่อทำความเข้าใจให้เห็นถึงบรรยากาศ เริ่มต้นมาก็มีปัญหา ผมเลยเชื่อฝ่ายที่วิเคราะห์ว่าจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน

-แล้วเรื่องอะไรที่จะทำให้เขาจบ?

ใจเย็นๆ ผมยังหาไม่เจอ ตอนนี้ที่เห็นร้องกันไป ก็ร้องครอบคลุมประเด็นหมดแล้ว

-ก่อนหน้านี้ที่ไปยื่นคำร้องเรื่อง MOU 44 เพื่อขอให้ศาล รธน.วินิจฉัย แต่ศาลได้ยกคำร้อง แต่ก็พบว่านโยบายรัฐบาลมีการเขียนเรื่องจะให้มีการเร่งเจรจาพื้นที่กับกัมพูชาเพื่อเอาพลังงานมาใช้ แล้วจากนี้จะเคลื่อนไหวอย่างไร?

ก็เป็นดุลยพินิจของศาล รธน. โดยตุลาการศาล รธน.เสียงข้างมาก 6 คน เห็นว่าผมยังไม่ใช่ผู้เสียสิทธิในอธิปไตยทางทะเล แต่ก็มีตุลาการศาล รธน.อีก 3 ท่าน เห็นว่าเข้าแล้วควรต้องรับไว้พิจารณา เมื่อเสียงข้างมากไม่รับไว้พิจารณา ก็เลยไม่ได้ไปวินิจฉัยประเด็นอื่น

ประเด็นสำคัญที่อยู่ในคำร้องก็คือ MOU 44 เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ผ่านรัฐสภา จึงเป็น MOU ที่ขัดรัฐธรรมนูญ และ MOU เท่ากับไปรับรองแผนที่ของกัมพูชา ไม่มีใครเขาขีดเส้นกันแบบนี้ ขีดข้ามเกาะกูดมาเป็นเส้นทางทะเล มันต้องแบ่งกันระหว่างเกาะกูดกับเกาะกงตามกฎหมายทะเล ซึ่งเส้นแบ่งของไทยคือเส้นที่ถูกต้อง

ตอนคุณทักษิณไปแสดงวิสัยทัศน์ ไม่พูดเรื่องการแบ่งเขตแดนเลย พูดแต่ว่าพื้นที่ทั้งหมดทับซ้อน อันนี้อันตราย พื้นที่ทางทะเลของเกาะกูด กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนไปด้วย แล้วไปอ้างมาเลเซีย ซึ่งมันคนละอย่าง เพราะมาเลเซียไม่มี MOU เขาให้มีคณะกรรมการมาแบ่งเขตแดนให้เสร็จก่อน พอแบ่งเขตแดนกันเรียบร้อยแล้วปรากฏว่ามันทับซ้อนจริงๆ เขาถึงไปทำร่วมกัน เฉพาะพื้นที่ทับซ้อนที่ไม่กี่พันตารางกิโลเมตร

แต่กรณีนี้ฝ่ายกัมพูชาขีดตามอำเภอใจแบบผิดกฎหมาย แต่ของเราขีดโดยถูกกฎหมาย แล้วจะมาให้ทั้งหมดเป็นพื้นที่ทับซ้อน แล้วบอกว่าจะไปแบ่งผลประโยชน์เลย มันก็ขัดกับ MOU 44 ที่จะต้องทำไปพร้อมกัน ที่ตัว MOU 44 ก็มีปัญหาอยู่แล้ว ทำพร้อมกันก็มีปัญหา ถ้าจะอ้างมาเลเซีย ต้องทำการแบ่งเขตแดนก่อน แล้วเหลือหากมันซ้อนกันถึงค่อยมาตกลงกัน

คุณทักษิณไปพูดวิสัยทัศน์วันนั้น ก็ชี้นำรัฐบาล รัฐบาลก็รับลูกแล้ว ทำไมต้องไปยกพลังงานที่เป็นของเราให้กัมพูชา  ไปยกอธิปไตยให้กับเขา ทำไมไม่คิดบ้างว่ากัมพูชาก็อยากให้ทำเร็วเหมือนกัน แล้วผมทราบมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ประวิตรไปเจรจา ซึ่งทางกัมพูชาไม่ยอมแบ่งเขตแดน เขาจะเอาแต่แบ่งทรัพยากร มันไม่ได้ แต่ผมไม่ได้เลิก พรรคพลังประชารัฐ ก็มีนโยบายที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่  รอดูทีมวิชาการเรา

ไพบูลย์-เลขาธิการพรรค พปชร." กล่าวทิ้งท้ายสำหรับพรรค พปชร.ว่า ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อยากจะฝากบอกว่าพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคว่า พลังประชารัฐมีอุดมการณ์ปกป้องสถาบัน เศรษฐกิจทันสมัย มีชีวิตที่สดใส โดยอุดมการณ์หลักที่สำคัญก็คือ จงรักภักดีและปกป้องสถาบันอย่างถึงที่สุด  พรรคจะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เกิดประโยชน์กับประชาชน เราแน่วแน่ เราเป็นพรรคอนุรักษนิยม  ที่ตอนนี้น่าจะเป็นผู้นำแล้วของพรรคอนุรักษนิยม แต่มีความทันสมัย ในกลุ่มอนุรักษ์ทั้งหลาย เราก็จะเป็นพรรคชั้นนำแล้วและเราภูมิใจบทบาทดังกล่าว.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ยกไอแพดคุย 'ทรัมป์' แสดงความยินดีชนะเลือกตั้ง ยันไทยพร้อมทำงานกับสหรัฐฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิ

ฟิล์ม-รัฐภูมิ ยื่น กกต.ไขก๊อกพ้นสมาชิก พปชร. ‘ไพบูลย์’ ชี้เรื่องส่วนตัวไม่กระทบพรรค

เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ยังไม่รู้ว่าเขาผิดหรือเขาถูก เพราะเราไม่เกี่ยวข้อง และเรื่องนี้ไม่กระทบกับภาพลักษณ์พรรค ไม่ทำให้เรามีปัญหา

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

'ลุงป้อม' ร่วมลอยกระทง อวยพรคนไทย สุขสมหวัง สิ่งใดไม่ดีขอให้หลุดพ้น

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ พล.อ. กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ พล.ต.ท ปิยะ