ขบวนการแพทย์ชนบทก่อกำเนิดและพัฒนาการมาถึงปัจจุบันเป็นเพราะ มีเป้าหมายที่ ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์
หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทและชื่อเสียงในสังคมไทยมายาวนาน ที่นับจากก่อตัวมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีเส้นทางการทำงานมาถึงห้าทศวรรษแล้ว นั่นก็คือ”ชมรมแพทย์ชนบท”
โดยล่าสุด ชื่อของชมรมแพทย์ชนบท ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิรามอนแมกไซไซ ได้ประกาศมอบรางวัลรามอนแมกไซไซ ที่เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย ซึ่งมีการเริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ได้ให้รางวัลประจำปี 2567 กับ“ขบวนการแพทย์ชนบท” (RURAL DOCTORS MOVEMENT) โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้
"นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท"ซึ่งเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาได้รับรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข (Leadership Award in Public Health Practice) จาก โรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health ) ที่เป็นคนไทยคนแรก และ คนเอเชียคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวที่ยกย่องผู้สำเร็จการศึกษา ที่เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในภาครัฐหรือเอกชน
โดย"นพ.ชูชัย -ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท"กล่าวถึงพัฒนาการของ "ชมรมแพทย์ชนบท"ที่นับจากวันเริ่มก่อตัวขึ้นมาถึงปัจจุบันผ่านมาถึง 5 ทศวรรษแล้ว เรียกได้ว่าเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีเส้นทางเกียรติประวัติความเคลื่อนไหว-การทำงาน ที่มีพลวัตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพไทย-การสนับสนุนการปฏิรูประบบสุขภาพและระบบสุขภาพปฐมภูมิ-บทบาทในด้านการขจัดการทุจริตคอรัปชั่นและการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
และด้วยเส้นทาง 5 ทศวรรษของ"ชมรมแพทย์ชนบท"ที่มีเรื่องราวมากมายในการทำงานและการเคลื่อนไหวในภาคสังคม-สาธารณสุข ที่มีเรื่องราวให้เล่าขานได้หลายเรื่อง แต่เราขอให้ "นพ.ชูชัย-ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท"เล่าให้เราฟังพอสังเขป ภายใต้พื้นที่การนำเสนออย่างจำกัด เพื่อให้เห็นพลวัตรการก่อตัวขึ้นของชมรมแพทย์ชนบท และบทบาทในด้านต่างๆ ของชมรมแพทย์ชนบท
"นพ.ชูชัย"กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบท เกิดขึ้นมาแล้วเกือบห้าทศวรรษ เริ่มแรก เกิดจากการรวมตัวของแพทย์จบใหม่ที่ถูกรัฐบาลบังคับให้ไปใช้ทุนโดยให้ไปทำงานสามปีหลังจบการศึกษาที่สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง แต่ตอนหลังเรียกว่ารพ.อำเภอและรพ.ชุมชน ตามลำดับ นโยบายรัฐบาลในขณะนั้นใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในช่วงนั้นที่ประสบปัญหาสมองไหล โดยการส่งไปทำงานที่สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ในช่วงดังกล่าว ก็ประสบปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ -เครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่รพ.ควรต้องมีแต่กลับไม่มี รัฐบาลไม่สามารถจัดหาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ทันท่วงที เพราะมีการบังคับให้ไปทำงานโดยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ให้ ก็ทำให้แพทย์จบใหม่มารวมตัว ปรึกษาหารือกันเพื่อหาช่วยกันแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่
ประจวบกับช่วงดังกล่าว เกิดเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งช่วงสามปีดังกล่าว เป็นช่วงเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองที่นักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ เผด็จการทหาร 3 ทรราช ที่ใช้อำนาจกดทับสังคมไทยมานานจนเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ก็ทำให้สังคมไทยเกิดการเปิดพื้นที่สาธารณะ
ช่วงนั้นจึงทำให้เกิดสมาคมฯ -ชมรม รวมถึงการรวมกลุ่มต่างๆ เกิดมูลนิธิต่างๆ มากมาย ทั้งกลุ่มของสมาคมวิชาชีพต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจและสังคม รวมถึงการรวมกลุ่มของ"ชมรมแพทย์ชนบท"
สภาพสังคมเวลานั้น จึงเอื้อต่อการรวมกลุ่มของ ชมรมแพทย์ชนบท แต่ชื่อที่แรก เราใช้ชื่อว่า"สหพันธ์แพทย์ชนบท"ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 แต่บริบทการเมืองตอนนั้น นักศึกษาฝ่ายซ้ายเริ่มโดนฝ่ายบ้านเมืองกระทำ เช่นกล่าวหาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ก็ทำให้ สหพันธ์แพทย์ชนบท ก็ต้องยุติบทบาทไป
“ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท”กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นอีกสองปีต่อมาคือช่วง กุมภาพันธ์ 2521 ก็เกิดชมรมแพทย์ชนบทขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์แรกๆ คือ เพื่อแก้ปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่ เช่นปัญหาขาดแคลนการบริการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการทำงานที่ขาดแคลน ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ ขาดแคลนเครื่องอำนวยความสะดวก จึงมีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดหาสิ่งที่ขาดแคลนในการทำงานมาให้ รวมถึงเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในสถานที่ทำงาน โดยทางชมรมแพทย์ชนบท ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่เอ็นจีโอ คือชมรมแพทย์ชนบท สามารถทำงานร่วมกับ government organization องค์กรภาครัฐ คือกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี โดยมีเป้าหมายเดียวกันก็คือ ระบบบริการสุขภาพในชนบทต้องดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น
จากนั้น พอชมรมแพทย์ชนบท ดำเนินการมาได้สักระยะหนึ่ง ก็คิดกันว่า ชมรมแพทย์ชนบท ต้องการความสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ควรจะมี"ทุน-ปัญญา-บารมี"สามสิ่งสำคัญมาช่วยสนับสนุน ประธานชมรมแพทย์ชนบท ในเวลานั้น คือ นพ.มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์จึงดำเนินการไปขอจัดตั้ง"มูลนิธิแพทย์ชนบท"ขึ้นมา จนสำเร็จเมื่อปี 2525 โดยได้ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อดีตรมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท โดยมูลนิธิแพทย์ชนบท ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ทั้งในเรื่องการให้ปัญญา-บารมี
สำหรับเรื่องทุน ไม่ได้มีทุนอะไรมาก เราก็ใช้โครงสร้าง-ทรัพยากรในกระทรวงสาธารณสุข ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะอาจารย์ผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ใจกว้าง
โดยจุดหลักสำคัญ คือมูลนิธิแพทย์ชนบท จะมีรุ่นพี่ในมูลนิธิแพทย์ชนบท ที่จบสิ้นการทำงานใช้ทุนแล้วหรือรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ ก็จะเดินทางไปเยี่ยมแพทย์ชนบทรุ่นน้องที่ทำงานตามรพ.ต่างๆ และหากแพทย์ชนบทคนใดทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่นตามแนวชายแดน ก็มอบกำลังใจให้ด้วยการมอบรางวัล เช่น รางวัลจากกองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูลเกษร ซึ่งเป็นแพทย์ที่เสียชีวิตในพื้นที่แถวชายแดน นอกจากนี้ มูลนิธิแพทย์ชนบท ก็ยังเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์ที่ไปทำงานในรพ.อำเภอ แต่นับจากปี 2525 ก็เปลี่ยนเป็นรพ.ชุมชน รวมถึงมูลนิธิแพทย์ชนบท ก็ยังมีการจัดประชุมวิชาการประจำปี เพื่อพัฒนาความรู้ทางวิชาการและยกระดับ คุณภาพมาตรฐานการบริการสุขภาพในรพ.ชุมชน
ทั้งหมดข้างต้นคือช่วงทศวรรษแรกของ แพทย์ชนบท ที่เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 -2530
ก้าวย่างชมรมแพทย์ชนบท สู่ทศวรรษที่สอง-ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
จากนั้นในช่วงทศวรรษที่สอง ของมูลนิธิแพทย์ชนบท ได้เริ่มขับเคลื่อนเรื่องเชิงนโยบาย ซึ่งนับว่าเป็นพัฒนาการที่ก้าวเร็ว ของแพทย์ชนบท จากที่เกิดจากการรวมตัวกันของแพทย์เพื่อหาทางร่วมกันแก้ปัญหาที่ตัวเองเผชิญในการทำงาน และเพื่อประสิทธิภาพในการบริการสาธารณสุขของรพ.อำเภอ -รพ.ชุมชน
ในช่วงปี พ.ศ. 2530 ตอนนั้น ผมได้รับเลือกเป็นประธานแพทย์ชนบท ปี 2529-2530 ที่ปกติ ก็จะเป็นคนละหนึ่งปี เพราะเหนื่อยมาก ภาระหน้าที่มีมาก ผมก็ได้รับเลือกเป็นประธานสองปีซ้อน โดยจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการทำงานในพื้นที่และนำไปสู่การเกิดนโยบาย ก็คือ เกิดโครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่ได้รับความสนใจและแรงสนับสนุนจากสื่อมวลชนและคนจำนวนมากทั่วประเทศ โดยเรามีแพทย์ที่เป็นคนหนุ่มสาว และบุคลากรด้านสุขภาพทั่วทั้ง 5 ภาคของประเทศไทยมาร่วมกันวิ่งภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยนัดมาเจอกันที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่ประธานสภาเวลานั้นคือนายชวน หลีกภัย และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เวลานั้น มาร่วมให้การต้อนรับที่ศาลาว่าการกทม. โดยมีศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท
ส่วนผมเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยมีการมอบรายชื่อประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวประมาณหกล้านรายชื่อ ส่งมอบให้ประธานสภาฯ โครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ดังกล่าว นำไปสู่การสร้างค่านิยมใหม่ “ไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ” และหลังจากนั้น ก็ได้ พรบ.สองฉบับคือ พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฯ กับพรบ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่ออกมาในรัฐบาลสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ถือเป็นเรื่องแรกของชมรมแพทย์ชนบท ที่มาขับเคลื่อนเรื่องนโยบาย เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมสู่นโยบายด้านสุขภาพ
"นพ.ชูชัย-ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท"กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา คนจะรู้ว่า นโยบาย-แนวคิดเรื่อง"หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า"มาจากนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท และ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลไทยรักไทย แต่คนไม่ค่อยรู้ว่า การเกิดขึ้นของ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส. ) เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มาจากบุคคลที่สำคัญสองคน โดยคนแรกคือนพ.สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เคยเป็นกรรมการชมรมแพทย์ชนบทเหมือนกัน แต่ชอบทำงานอยู่ข้างหลังเงียบๆ อีกท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจที่เป็นผู้จุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับผม จนนำมาสู่โครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และต่อมามีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดแนวคิดนโยบาย"ภาษีบาปเพื่อสุขภาพ" ซึ่งในต่างประเทศทำแล้วได้ผล เช่น รัฐวิกตอเรียที่ประเทศออสเตรเลีย ที่เอาส่วนที่ได้จากการขึ้นภาษีบุหรี่มาสร้างเสริมสุขภาพ ทางนายแพทย์สุภกร บัวสาย ก็เป็นคนสำคัญที่ทำการติดต่อประสานหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เพื่อเดินทางร่วมกันไปดูงานที่นิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย จนเกิดการร่างพรบ.กองทุนสร้างเสริมสุขภาพฯขึ้นมา
ชมรมแพทย์ชนบท กับการปฏิรูปโครงสร้างสาธารณสุข
"นพ.ชูชัย ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท"กล่าวต่อไปว่า มีการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งสำคัญครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 โดยศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(ท่านเป็นประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทคนแรก) ทำการปฏิรูปโครงสร้างครั้งสำคัญมาก ถือว่าท่านอาจารย์หมอเสม สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้กับวงการสุขภาพไทย โดยทำให้การรักษาพยาบาล การส่งเสริม-การป้องกัน-การฟื้นฟู มาบูรณาการกัน และมีความเป็นเอกภาพในระบบบริการ ตั้งแต่ล่างสุดคือตำบล-อำเภอ-จังหวัด-ระดับภาค และในกรุงเทพฯ ที่เป็นรากฐานที่สำคัญมาก และมีความสำคัญต่อการเชื่อมต่อระบบสาธารณสุขมูลฐาน หรืออสม.ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในช่วงโควิดระบาดในประเทศไทย และการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ และชุมชน ที่มูลนิธิแพทย์ชนบทกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
สิ่งสำคัญที่เป็นผลจากการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่เริ่มต้นโดยศ.นพ.เสม ที่นอกจากเรื่องการบูรณาการงานด้านการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู มารวมอยู่ด้วยกัน ต่อมาเกิดระบบสาธารณสุขมูลฐานเมื่อปี 2521 และต่อมาปี 2523 เกิดหลักสูตรอบรมระบาดวิทยาภาคสนามขึ้น เกิดระบบงานด้านระบาดวิทยา ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล
พัฒนาการดังกล่าวข้างต้น เป็นปัจจัยทำให้ระบบความมั่นคงด้านสุขภาพ ที่ทางทีมงานของ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ มาประเมินเป็นระยะ โดยประเมินล่าสุดเมื่อปี 2564 ที่ผลประเมินออกมาว่า ความมั่นคงด้านสุขภาพของไทยเราอยู่ในอันดับห้าของโลก จาก 195 ประเทศ โดยความเห็นส่วนตัวของผม ท่านอาจารย์หมออมร นนทสุต อดีตปลัด สธ. ท่านเป็นบิดาของงานสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย และยังเป็นผู้ริเริ่มเรื่องหลักประกันสุขภาพ รวมทั้ง ท่านอาจารย์หมอสุชาติ เจตนเสน ที่ถือว่าเป็นบิดาของงานระบาดวิทยา
ทั้งหมดที่กล่าวมา นั้น คือคุณความดีที่อาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขได้ทำมา แต่คนไม่ค่อยรู้ ท่านเหล่านั้นก็ทำงานของตัวเองไปเรื่อยๆ และด้วยวัฒนธรรมที่ใจกว้างของกระทรวงสาธารณสุข และวงการสุขภาพไทย ทำให้ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท ทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขได้ คือเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างดี มีการเกื้อกูลกัน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เครือข่ายแพทย์ชนบท ขยายตัวออกไปทั้งในประเทศและนอกประเทศ
“นพ.ชูชัย ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท”กล่าวต่อว่า ผมได้เขียนบทความลงในไทยโพสต์และสื่อออนไลน์ ชื่อ “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อ การสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท” เพื่อต้องการจะชี้ว่า ขบวนการแพทย์ชนบทก่อกำเนิดและพัฒนาการมาถึงปัจจุบันเป็นเพราะ มีเป้าหมายที่ ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เคยบอกไว้ว่าปัจจัยที่ทำให้แพทย์ชนบทมีบทบาทสำคัญดังกล่าวได้ เช่น มีภาวะเป็นผู้นำ เพราะการทำงานในโรงพยาบาลอำเภอ ในฐานะผู้อำนวยการ จึงมีประสบการณ์ด้านการบริหาร ,การทำงานแบบเป็นเครือข่ายแพทย์ชนบท ที่นอกจากเชื่อมโยงในประเทศแล้วก็ยังเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทำให้มีความเข้มแข็ง ,มีความไวต่อความไม่ถูกต้อง แพทย์ชนบทอยู่กับความทุกข์ยาก อยู่กับชีวิตจริง อยู่กับความถูกต้อง จึงมีบทบาทสำคัญในการออกมาเปิดโปงเรื่องการทุจริตจัดซื้อยาฯ ร่วมกับชมรมเภสัชชนบท จนรัฐมนตรีสาธารณสุขเวลานั้นต้องลาออกไปสองคน ,มีความอดทน ไม่ยอมแพ้ เพราะงานแพทย์ในชนบท เป็นงานหนักมาก ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดนตามตลอดเวลา ,มีสติปัญญาดีพอสมควรที่รู้เท่าทันเลห์กลของคนที่จะหาผลประโยชน์จากวงการสุขภาพ มีทักษะทางภาษาที่ดีระดับหนึ่ง
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ2567
"นพ.ชูชัย-ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท"ยังได้กล่าวถึงการที่ชมรมแพทย์ชนบท ได้รับรางวัลรางวัลรามอนแมกไซไซ ประจำปี 2567 ว่าได้มีการให้เหตุผลในการให้รางวัลโดยได้พูดถึงเรื่อง "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า -การออกมาต่อต้านคอรัปชั่น -การออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม"แต่ที่ผมได้ยินจากประธานกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับรางวัลแมกไซไซ ที่เขาแจ้งให้ผมทราบก่อนประกาศก็มีเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องของกองทุนสสส. ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเรื่องยากที่ประเทศอื่นจะทำได้ คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับการเกิดกองทุนเสริมสร้างสุขภาพ รวมถึงการต่อต้านคอรัปชั่น
อย่างบทบาทในเรื่องการ"ต่อต้านคอรัปชั่น"ของชมรมแพทย์ชนบท ที่สำคัญ ก็คือ ในช่วงทศวรรษที่สามของชมรมแพทย์ชนบท คือช่วงปี พ.ศ. 2540-2550 ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ต่อต้านทุจริตการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ 1,400 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข โดยช่วงดังกล่าว นพ.ยงยุทธ ธรรมวุฒิ ที่เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เวลานี้ ตอนนั้นเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ได้ลุกขึ้นมาแฉให้เห็นเป็นรูปธรรมถึงการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ในแต่ละรายการที่ราคาแพงมากกว่าปกติให้สังคมรับรู้อย่างต่อเนื่อง และต่อมาได้รับการสนับสนุนจากแพทย์อาวุโส และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขกว่าสามสิบองค์กร จนในที่สุด นายรักเกียรติ สุขธนะ รมว.สาธารณสุข กับนายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์จากพรรคกิจสังคม ได้ลาออกจากตำแหน่งไป เป็นต้น
ในตอนท้าย “นพ.ชูชัย”ย้ำว่า ประเด็นสุดท้ายที่จำเป็นต้องพูดถึงทิศทางในทศวรรษที่ห้าของขบวนการแพทย์ชนบท
ผมได้กล่าวขอบคุณและเรียนท่านประธาน ซูซานน่า ( SUSANNA B. AFAN )ประธานคณะกรรมการรางวัลแมกไซไซ ว่า รางวัลแมกไซไซเป็นพลังขับเคลื่อน สร้างแรงบันดาลใจครั้งสำคัญให้การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทยประสบผลสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้..
ทศวรรษจากนี้ไป คือ ทิศทางการปฏิรูปของระบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน เพราะหากไม่เร่งปฏิรูป ระบบสุขภาพทั้งระบบ จะแบกรับค่ารักษาพยาบาลต่อไปไม่ไหว แม้จะบอกว่าไทยเรามีระบบการจัดการเป็นเลิศ ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพต่อจีดีพี ต่ำกว่าประเทศอื่นๆทั่วโลก
ขบวนการแพทย์ชนบท มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้น คือร่วมร่างรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องมาจาก คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และผมได้มีโอกาสเป็นรองประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบหมวดปฏิรูปของประเทศ ที่ได้บัญญัติ การปฏิรูประบบการแพทย์ปฐมภูมิ แพทย์เวชศาสตร์ชุมชน และอื่นๆ ต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) อาจารย์บวรศักดิ์ให้ความเห็นว่า “…เพราะเขาอยากอยู่ยาว…” ตามที่ทราบกันในสังคมไทย ต่อมา ศาสตราจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มาเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอเข้าท่านอย่างไม่เป็นทางการ และอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องมีหมวดปฏิรูปประเทศ ในรัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียดในบทความ “ห้าทศวรรษของขบวนการแพทย์ชนบทไทย …“ โพสต์ลงในเพจมูลนิธิแพทย์ชนบท เพจติดตามการปฏิรูปประเทศกับหมอชูชัย)
ในที่สุด รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 : หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ช. ด้านอื่น ๆ (5) ให้มี(การปฏิรูป) ระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม
“…จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาตร์ของวงการสุขภาพไทย ที่บัญญัติการปฏิรูประบบการแพทย์ปฐมภูมิไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 …” พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิพ.ศ. 2562 เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ในเวลาต่อมา
นายแพทย์จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวว่า “…พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ทำให้ ทางสปสช.จัดสรรงบประมาณให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างมีประสิทธิภาพ…” (สามารถจัดสรรงบประมาณลงครัวเรือน และพื้นที่ต่างๆในชุมชน)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเอื้ออื่นๆ เช่น นโยบายถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ให้ อบจ. และ อปท อื่นๆ : รพสต.เป็น กลไกที่สำคัญในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ปฏิรูประบบจัดสรรงบประมาณจาก hospital-based ไปสู่ home and community-based care\ services โดย สปสช.ตลอดจน ระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยที่สุด(5G) TELEMEDICINE, TELEHEALTH และระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ (อุปกรณ์ทางการแพทย์ตรวจอัตโนมัติ หรือ ชุดตรวจด้วยตนเองฯ) เป็นต้น
“ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เห็นโอกาสในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ประสบผลสำเร็จ และจะนำพาความอยู่รอดของระบบสุขภาพไทย ทั้งระบบ ในที่สุด” นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .