เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในยามนี้ ให้ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ ที่ว่า
“กรรมเก่าของพระอริยบุคคลทั้งหลาย สิ้นแล้ว
กรรมอันแต่งอันเกิดใหม่ ย่อมไม่มีแล้ว
พระอริยบุคคลนั้น สิ้นพืช คือ ตัณหา.. อันเป็นเหตุให้เกิดแล้ว ไม่มีความพอใจในภพอีกแล้ว เป็นผู้มีปัญญา ย่อมดับกิเลสไม่เหลือเชื้อ เสมือนประทีปอันดับไป ฉะนั้น...”
เมื่อระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์.. ที่เพียรปฏิบัติจนละกิเลสได้สิ้น.. กล่าวว่า สิ้นแล้วซึ่งพืชคือตัณหา.. ก็ให้นึกถึงพระสงฆ์ในยุคนี้ ที่นิยมแสดง ภูมิรู้-ภูมิธรรม ผ่านทางโลกดิจิทัลยุคไอที..
จนทราบว่า ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในกรรมการเถรสมาคมของคณะสงฆ์ธรรมยุตที่ผ่านมา เพื่อจัดหามาตรการควบคุมดูแลการใช้สื่อไอทีเผยแพร่คำสั่งสอน ที่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ตรงกับพระธรรมวินัย โดยเฉพาะการแสดงออกทาง อาจาระ .. โคจะระ ที่ไม่เหมาะสมกับสมณเพศ..
อาจาระ คือ การประพฤติอันสมควรของภิกษุในพระธรรมวินัย หมายถึง การประพฤติกายสุจริต วาจาสุจริต หรืออีกนัยหนึ่ง อาจาระ คือ ศีลสังวร.. เช่น การเลี้ยงชีพถูกต้องของภิกษุ ไม่เลี้ยงชีพด้วยการพูดเล่น พูดประจบแสวงหาลาภสักการะอันไม่ควรด้วยการกระทำต่างๆ นานา นำสิ่งของ เงินทอง ที่ได้มาไปแจกจ่าย ซึ่งไม่ใช่พฤติของสมณวิสัย.. และเลวร้ายยิ่ง คือ ปรารถนาในโลกธรรม..
อาจาระ ของพระภิกษุ คือ ความสำรวมระวัง.. ความเรียบร้อย สวยงาม ในการครองไตรจีวร ให้ถูกต้องตามพระวินัย.. โดยเฉพาะเมื่อสื่อภาพลักษณ์ออกสู่สาธารณะ.. ผ่านการแพร่ภาพที่สะดวก ง่ายมากในยุคไอที ด้วยเพียงแต่มีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็ทำได้.. จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงของคณะสงฆ์ไทยที่เคยถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างเรียบร้อย มีระเบียบแบบแผน.. เมื่อมาเจอสื่อในสังคมไอทีที่มีประสิทธิภาพสูง.. ให้ความเป็นอิสระในการสื่อสาร.. จนนำไปสู่การใช้สอยสื่อไอทีอย่างมีอิสรภาพในโลกสังคมไร้ขอบเขต.. จึงเห็นความวุ่นวายในแวดวงพระสงฆ์ ไม่แพ้ความวุ่นวายของชาวบ้าน จนน่าสังเวช.. กับสภาวธรรมที่กำลังผันผวนเปลี่ยนแปรไปตามกระแสไอที ที่สร้าง ภาวะ Disruption ไปทั่วทุกแวดวง.. ไม่เว้นในสังคมบรรพชิต.. นักบวช.. แม้พระภิกษุในพระพุทธศาสนา
เมื่อยกคำว่า อาจาระ มาพิจารณา.. ยิ่งเห็นชัดในพฤติกรรมที่ผันแปรไปของผู้อ้างตนเป็นนักบวชทั้งหลาย ที่ควรหาความสงบ.. แต่กลับวุ่นวายต่อการเดินทาง.. ไม่หยุดพัก โดยอ้างเหตุอันสามารถกระทำ สัตตาหกรณียฯ ได้.. ซึ่งบางกิจก็ควร.. บางกิจก็ไม่ควร.. แม้เป็นกิจที่ควร.. ก็ควรไปอย่างระมัดระวัง สำรวม.. ไม่ใช่แห่แหนกันไป เหมือนกับคณะทัวร์ออกท่องเที่ยว หรือเหมือนกับนักดนตรีออกตระเวน แสดงคอนเสิร์ต
หากจำเป็นที่ต้องไป.. ก็ควรไปด้วยความสำรวมระวังยิ่งขึ้น เพื่อแสดงถึงความพร้อมของความเป็นสมณะ ที่จะต้องคำนึงถึง อาจาระ..
เรื่อง อาจาระ ความประพฤติที่เรียบร้อย มีศีลสังวรของภิกษุ.. จึงต้องนำมาใช้คู่กับ โคจะระ เพื่อการท่องเที่ยวไปในที่อันสมควร ที่เพียบพร้อมด้วยสมณสารูปอันดีงาม.. มีศีลสังวรของภิกษุตามพระธรรมวินัย.. ไม่เที่ยวไปในที่ไม่สมควร มีสำนักหญิงแพศยา.. ไม่คลุกคลีกับพระราชาและคฤหัสถ์ เป็นต้น
โดยโคจรนั้นจะต้องคำนึงถึง ๓ ประการ ได้แก่
๑.อุปนิสัยโคจร คือ การเข้าไปอาศัยกัลยาณมิตร ผู้มีคุณธรรม มีปัญญา เข้าใจถูกในหนทางแห่งการดับกิเลส
๒.อารักขโคจร คือ ภิกษุที่ประพฤติสำรวมระวัง.. มีสังวรธรรมคุ้มครอง.. มีความสำรวมในอินทรีย์ทั้งปวงดีแล้ว.. ด้วยเป็นผู้ปกติเห็นภัยในวัฏสงสาร
การก้าวย่างไปของภิกษุเหล่านี้ จะมีสายตาทอดลงต่ำ.. ไม่แลดูสิ่งที่ไม่ควร ไม่วอกแวก เหลียวซ้ายแลขวา.. เดินโปรยยิ้มระรื่นไปสองข้างทางดุจชาวบ้าน
ไม่เดินไป ถ่ายทอดเพร่ภาพกันไป ดุจนักแสดงทางโลก
ไม่แห่แหนแวดล้อมไปด้วยคณะบุคคล.. โดยเฉพาะเพศหญิง จนน่าเกลียด เป็นที่ติเตียนของชาวโลก
จึงเป็นที่มาของการบัญญัติวินัยในธรรมชื่อ ปาจิตตีย์
ภิกษุใด ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ (อาบัติปาจิตตีย์)
เว้นไว้แต่ในสมัย คือทางเป็นที่จะต้องไปด้วยพวกเกวียน รู้กันว่าเป็นที่น่ารังเกียจมีภัยเฉพาะหน้า นี้สมัยในสมัยนั้น
นอกจากทางบกแล้ว.. การเดินทางน้ำ ด้วยชักชวนกันลงเรือ ลำเดียวกับภิกษุณี ขึ้นน้ำไปก็ดี ล่องน้ำไปก็ดี เว้นไว้แต่ข้ามฟาก ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์
นอกจากบัญญัติการระมัดระวังที่จะต้องเดินทางร่วมกับภิกษุณีแล้ว.. ยังทรงพระกรุณาบัญญัติ การชักชวนเดินทางไกลด้วยกันกับผู้หญิง (มาตุคาม) โดยที่สุด แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ในข้อที่ ๖๗ สัปปาณวรรคที่ ๗ เป็นต้น
โจทย์อาบัติข้อนี้อยู่ที่การชักชวน.. โดยไม่เป็นอาบัติ เมื่อภิกษุไม่ได้ชักชวนกันไป.. หรือมาตุคามชักชวน ภิกษุมิได้ชักชวน หรือภิกษุไปผิดวันผิดเวลา หรือมีอันตราย หรือภิกษุวิกลจริต และภิกษุอาทิกัมมิกะ จึงไม่ต้องอาบัติ..
เฉกเช่นเดียวกับกรณี พระภิกษุนั่งรถไปกับผู้หญิง โดยไม่มีผู้ชายที่รู้ความอยู่เป็นเพื่อน..
หรือมีผู้หญิงขับรถมารับพระภิกษุ.. ซึ่งมีเพื่อนพระไปด้วยในรถยนต์ โดยไม่มีผู้ชายที่รู้เดียงสาติดตามไปด้วย.. แม้ผู้หญิงคนนั้นจะเป็นญาติสาโลหิต.. ก็เป็นข้อที่นำมาสู่การพิจารณากันมาก ว่าผิดหรือไม่.. อาบัติในข้อใด..
เรื่องดังกล่าว.. ผู้มีความรู้ วินิจฉัยอ้างอิงหลักพระวินัยไว้หลายๆ ทัศนะ.. ห้ามพระภิกษุนั่งอยู่กับผู้หญิงสองต่อสอง.. หากในห้องต้องมีผู้ชายที่รู้เดียงสา หากในที่โล่งแจ้ง สาธารณะ ต้องมีเพื่อนพระอยู่ด้วย ถ้าไม่มีผู้ชายรู้เดียงสา..
แต่ถ้าในห้องหับที่ลับตา.. แม้จะมีเพื่อนพระเป็น ๑๐๐ รูป หากขาดผู้ชายที่รู้เดียงสาเพียงหนึ่งคน ก็ไม่ได้.. ส่วนภายนอกห้องหับที่ลับหูลับตา ไม่มีผู้ชายรู้เดียงสาได้.. แต่ต้องมีเพื่อนพระภิกษุแม้เพียงรูปเดียว.. ก็ไม่อาบัติ..
คำว่า ผู้หญิง หรือ มาตุคาม .. ไม่ได้ยกเว้นว่าเป็น แม่ พี่สาว น้องสาว.. ภรรยาเก่า หรือญาติมิตรใกล้ชิด เช่น ห้ามจับต้องกายผู้หญิง.. พระอรรถกถาจารย์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า..
สถานะของมารดาในพระวินัยนั้นเสมอด้วยสตรีโดยทั่วไป ที่เป็นวัตถุแห่งอาบัติตามวินัยข้อนั้นๆ
การที่ภิกษุกราบ.. จับต้องกายมารดา หรือดูแลมารดาตามวิสัยลูก ที่ขัดต่อพระวินัย ย่อมถือว่าเป็นความผิดตามวินัยทั้งสิ้น..
ในพระพุทธศาสนา จึงให้ความสำคัญยิ่งต่อ อาจาระ-โคจะระ (อาจาร-โคจร) โดยเฉพาะโคจร ๓ ประการ คือ อุปนิสัยโคจร.. อารักขโคจร ที่กล่าวไปแล้ว และ อุปนิพันธโคจร คือ สิ่งที่ผูกไว้เป็นที่เที่ยวไปของภิกษุ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ .. จึงจัดสติปัฏฐาน ๔ เป็นโคจรสัมปชัญญะ.. เป็นโคจรของภิกษุ ที่เรียกว่า อุปนิพันธโคจร ซึ่งพระภิกษุในสังคมไอทีปัจจุบัน ควรให้ความสำคัญยิ่ง.. เพื่อ ความปลอดภัยในชีวิตของผู้ครองสมณเพศ.
เจริญพร
dhamma_araya@hotmail.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า