เราต้องปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ ที่ก็ต้องแล้วแต่มุมมองผู้บริหารพรรค ว่าพอใจที่เห็นพรรคปชป. เป็นอยู่แบบนี้หรือไม่ หรือว่าอยากเห็นพรรคปชป.กลับไปรุ่งเรืองอีกครั้ง เป็นสถาบันการเมือง
หลายฝ่ายจับตา การอยู่ร่วมรัฐบาลของ"พรรคประชาธิปัตย์"ที่ตอนนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่แกนนำพรรค-ส.ส.พรรคปชป. บางส่วนและแฟนคลับพรรคสีฟ้า จำนวนมาก ก็ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น ทิศทางของพรรคปชป.ต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร มีมุมมองของ"สรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา นักการเมืองยังบลัดเลือดสีฟ้า พรรคปชป. ที่เป็นหนึ่งในสี่ส.ส.ของพรรคปชป.ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคปชป.เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย"
ก่อนจะไปคุยกันถึงเรื่องทิศทางของพรรคปชป.ต่อจากนี้ เมื่อปัจจุบัน รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เตรียมเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายรัฐบาลในสัปดาห์หน้า "สรรเพชญ"ฝากการบ้านไปถึงรัฐบาลว่า เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรต้องรีบเข้าไปทำ หลักๆ ก็คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนเดือดร้อนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องรายได้และหนี้สิน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับคืนมา -เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจเหมือนที่รัฐบาลเคยบอกไว้ ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาสังคม เรื่องสำคัญก็คือ การแก้ปัญหายาเสพติดที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว เป็นต้น
"สรรเพชญ"มองการทำงานของรัฐบาลว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่เสร็จสิ้นไป ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการจัดสรรตำแหน่งในครม.เพราะยิ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลมาก การผลักดันโยบายให้ออกมาเป็นรูปธรรม ก็เป็นเรื่องที่การทำต้องใช้เวลาและอาศัยหลายปัจจัย ดังนั้น ต้องให้เวลาและให้โอกาส นายกฯและครม.เข้าไปทำงาน ที่สังคมก็จับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด
"ไม่คิดว่ารัฐบาลจะมีช่วงเวลาฮันนีมูน เพราะเป็นรัฐบาลที่ส่งไม้ต่อมาจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จึงมีความต่อเนื่อง มีการสอดรับกันอยู่แล้วทั้งเรื่องนโยบายรัฐบาล ตัวบุคลากร และองค์ประกอบของพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้องมีฮันนีมูนพีเรียดและไม่ควรมีฮันนีมูนพีเรียด เพราะปัญหาของประเทศตอนนี้ต้องการ การขับเคลื่อนของภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ"
เพราะทุกคนตั้งความหวังไว้ที่รัฐบาล และภาครัฐ ให้เข้าไปกำหนดกลไก เช่นการกำหนดนโยบายที่จะออกมาแล้วส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐ และเอกชน ผ่านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่จะถูกกำหนดไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลซึ่งเชื่อว่านายกฯก็เห็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญ first priority เรื่องแรกๆของรัฐบาลที่ต้องแก้ไข ก็เป็นกำลังใจให้นายกฯเข้มแข็งและเด็ดขาดในการทำงาน
ปชป.หลังร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย จะเดินต่อไปทางไหนนับจากนี้?
"สรรเพชญ-ส.ส.สงขลา พรรคปชป.ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคปชป.เข้าร่วมรัฐบาล"กล่าวถึงอนาคตและทิศทางของพรรคปชป.ต่อจากนี้ โดยเล่าปูพื้นให้ฟังก่อนว่า หลังพรรคปชป.ได้รับเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาล และมีการนำเรื่องไปหารือและลงมติในที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและส.ส.ของพรรคปชป. ผมและสามอดีตหัวหน้าพรรคปชป. คือท่านชวน หลีกภัย ท่านบัญญัติบรรทัดฐาน และท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เราสี่คนลงมติว่าไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคปชป.จะไปร่วมรัฐบาล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นไปตามมติของเสียงส่วนใหญ่ในพรรคปชป. เมื่อเป็นมติของกรรมการบริหารพรรคกับส.ส.ที่ลงมติเห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล เรื่องนี้ ก็ได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาไปแล้วกับการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของคนที่สนับสนุนพรรคปชป. รวมไปถึงผู้เป็นสมาชิกพรรคปชป. รวมไปถึงสังคมโดยรวม ที่แม้เขาไม่เคยสนับสนุนพรรคปชป. แต่บางคนก็มีอารมณ์ร่วม มีความคิดที่ไม่เห็นด้วยในการที่พรรคปชป.เข้าร่วมรัฐบาล
ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่ค่อยเห็นแบบนี้บ่อยครั้งในทางการเมือง คือมีลักษณะการพูดถึงเรื่องการต่อสู้กันทางด้านความคิดและอุดมการณ์ มันเป็นเรื่องของการที่เราเคยต่อสู้ เรื่องอุดมการณ์เรื่องความคิดกันมา เป็นการคิดของสองพรรคการเมือง ที่ไม่เหมือนกันเลยในอดีตที่ผ่านมา ผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ผมได้พูดไปในที่ประชุมว่า ถ้าอยากเห็นพรรคปชป.เติบโต แล้วทำไมเราต้องทำลายฐานเสียงตัวเราเองเหมือนกับเราไปตัดช่องทางของเราเอง ที่เคยบอกว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ในการเติบโตในอนาคตของพรรค แต่สุดท้ายเมื่อมีมติพรรคออกมา พวกผมที่เป็นสมาชิกพรรคปชป. แม้ผมจะเป็นส.ส.สมัยแรก แต่การเป็นสมาชิกพรรคที่ดี ลูกพรรคที่ดี ต้องมีวินัย นักการเมืองที่ดีต้องมีวินัย ก็ให้สบายใจได้ว่า จะไม่ไปสร้างความเสื่อมเสียหรือสร้างความไม่สบายใจให้กับใคร แต่ที่ต้องพูด แสดงความคิดเห็น ก็เพราะวันหนึ่งเมื่อเดินกลับไปในพื้นที่ ประชาชนเขาถาม ผมอธิบายเขาไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีการอธิบายพูดคุยกัน ก็เป็นเสน่ห์และเป็นหลักของพรรคปชป.ที่เรายึดถือกันมาตลอด
-หลังพรรคปชป.เข้าร่วมรัฐบาล ตอนที่ลงพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ได้พบเจอประชาชนเขามีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร เข้ามาสะท้อนความรู้สึกอย่างไรบ้าง?
ก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย หลายคนก็เป็นห่วงพรรคปชป. ต้องบอกว่าเราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยครั้ง เพราะพรรคปชป.เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับระบอบทักษิณมา ที่พูดไม่ได้อยากจะลากอดีตกลับมา แต่เมื่อก่อน มีพรรคปชป.ที่คอยตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลในอดีต เคยใช้เวทีรัฐสภาตรวจสอบรัฐบาล และรัฐมนตรี เปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นรัฐมนตรีหลายคน ทำให้ประชาชนให้ความเชื่อมั่นให้ความไว้วางใจพรรคปชป. อย่างมากในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ
จนมาถึงยุคมีการรัฐประหารและต่อเนื่องด้วยรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2562 ประชาชนก็ยังให้ความเชื่อมั่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนก็มองว่าตอนนั้นเขาคือทางเลือกที่ดีที่สุด ประชาชนไว้ใจได้ แต่จะเห็นได้ว่า ฐานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากพรรคปชป. หรือแม้แต่คนที่เคยผูกพันกับพรรคปชป.มาแล้วทั้งสิ้นในอดีต ก็ทำให้ครั้งนี้ พอพรรคปชป.มีมติร่วมรัฐบาล ก็ทำให้คนเหล่านี้ที่เคยรู้สึกผูกพันกันมา จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามเกิดความรู้สึกหวงแหนเกิดขึ้น เหมือนกับได้จุดกำเนิดความรู้สึกความเป็นเจ้าของขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมมองว่ามันคือโอกาสของพรรคปชป. ในการที่จะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยน ปฏิรูปพรรค และทำการรื้อฟื้นความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้คือสิ่งที่ผมเห็นจุดร่วมตรงนี้
เพราะอย่างที่ผมลงไปในพื้นที่ ก็เจอคนที่ปกติเขาไม่เคยแสดงทัศนคติเรื่องการเมืองเลย อยู่ดีๆ เขาโทรมา หรือไลน์มาคุย ผ่านช่องทางต่างๆ หรืออย่างตอนลงพื้นที่ ประชาชนทั่วไป ที่เขาอาจไม่ได้สนับสนุนเรา แต่เขาเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม อยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่พรรคปชป.จะไปร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตามเมื่อวันนี้เป็นแบบนี้ ก็ต้องปล่อยให้ผู้บริหารพรรคปชป. ได้พิสูจน์ผลงานหลังนำพรรคปชป.ไปร่วมรัฐบาล
"สรรเพชญ"กล่าวต่อไปว่า สำหรับตอนที่ผมลงพื้นที่ ประชาชนที่เข้ามาคุยกับผม ก็ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคปชป.จะไปร่วมรัฐบาล โดยบางคนที่ไม่คิดว่าเขาจะสนับสนุนพรรคปชป.ด้วยซ้ำไป บางคนบอกว่าเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้เลือกพรรคปชป. แต่ก่อนหน้านั้นเคยเลือกพรรคปชป.เพราะมีความผูกพันกับพรรคปชป. หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ พวกนักศึกษา เขาก็เดินเข้ามาหาผมแล้วขอถ่ายรูปด้วย บอกว่าขอเป็นกำลังใจให้ ติดตามอยู่ ที่เป็นครั้งแรกในการทำงานการเมืองของผม ไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้ ที่ลงไปในพื้นที่แล้วเจอน้องๆ แสดงทัศนคติออกมาแบบนี้
มันเหมือนกับได้ทะลายกำแพงบางอย่างลงไป ว่าสิ่งที่เขาเคยมองพรรคปชป.ก่อนหน้านี้เขาอาจมองผิดไป ผมก็เสียดายที่หากเราพลิกวิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาสได้ในช่วงเวลานั้น แล้วกลับมาตั้งต้นทำพรรค ตั้งหน้าตั้งตากำหนดยุทธศาสตร์พรรคให้ดี กำหนดจุดยืนของพรรคให้ชัด เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนเขาอยากเห็นการมีจุดยืนที่ชัดเจนของเรา ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยมันมีการพูดถึงความคิด อุดมการณ์ ชุดความคิดที่มันคล้ายๆ กันอยู่ ส่วนประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องที่ประชาชนจะตัดสินใจ แต่อย่างน้อยต้องมีจุดยืน คือรู้ว่า ยืนอยู่บนพื้นฐานของอะไร ผมว่านี้คือสิ่งที่จะตัดสินในการเลือกหรือไม่เลือกของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
-กรณีที่คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พรรคปชป.หลายสมัย ไปพบและคุยกับนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคปชป.และนายนิพิฎฐ์บอกว่า นายชวน บอกว่าการตั้งพรรคใหม่มีความชอบธรรม ทำให้อาจมีการนัดอดีตส.ส.ปชป.ที่ลาออกไป ในส่วนของตัวคุณเอง มองว่าพรรคปชป.จะมีเลือดไหลออก พรรคแตกหรือไม่ แล้วหากมีการชักชวนให้ออกจากพรรคปชป.จะมีปัจจัยในการตัดสินใจอย่างไร?
ก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิดของคนที่เคยผูกพันกับพรรคปชป. มาอย่างยาวนาน เคยต่อสู้ให้กับพรรคปชป. ก็ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยพรรคปชป. ซึ่งอดีตสมาชิกพรรคปชป.หลายคน ก็ยังมีความปรารถนาดีกับพรรคอยู่ เพียงแต่วันนี้ สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้ท่านเหล่านั้นได้กลับเข้ามาที่พรรคปชป. เพราะมีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ลึกๆ แล้ว ผมเชื่อว่าอุดมการณ์ของทุกคน ยังไม่ได้เปลี่ยนไป คือยังคงเป็นสีฟ้าอยู่
ผมรู้ว่าหลายคนกรีดเลือดออกมาก็ยังเป็นสีฟ้าอยู่ ที่ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะคิดได้ ในการที่จะไปตั้งพรรคการเมืองในแนวทางที่เห็นว่าสมควรเหมาะสม
แต่ว่าการตั้งพรรคการเมือง เราก็ต้องคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะยุคปัจจุบัน และการต้องหาคนที่มีชุดความคิดแบบเดียวกันมาร่วมงานกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยความห่วงใยและยังมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ หลายคนก็มีความคิดที่สอดคล้องและสอดรับกัน ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่อาจจะเห็นการก่อตัวขึ้นของพรรคการเมืองแบบนี้ คือเกิดจากชุดความคิดเดียวกัน
แต่สำหรับผมในปัจจุบัน ก็ยังเป็นสมาชิกพรรคปชป.อยู่ วันใดวันหนึ่งที่คิดว่าด้วยหลักการ ด้วยอุดมการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไปหรืออย่างไรก็แล้วแต่ในอนาคต ที่ยังไม่อยากพูดถึง แต่ถึงวันนั้น ก็ค่อยตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง
-หากไม่มีการยุบสภาเสียก่อน ก็ยังมีเวลาอีกสามปีต่อจากนี้ถึงจะมีการเลือกตั้ง คิดว่า ผู้บริหารพรรคปชป.ที่บางคนก็เข้าไปเป็นรัฐมนตรี ควรต้องทำอะไรบ้างกับพรรคปชป.หลังมีคนพูดกันว่า เลือกตั้งรอบหน้า พรรคอาจได้ส.ส.ต่ำสิบหรืออาจสูญพันธุ์?
อันดับแรก ต้องรับฟังทั้งสองฝั่งคือฝั่งที่เห็นด้วยกับผู้บริหารพรรค และฝั่งที่ไม่เห็นด้วย
โดยต้องรับฟังอย่างตรงไปตรงมาและจริงจัง ไม่มีอคติ ถึงเสียงสะท้อนที่เข้ามา เพื่อจะได้เป็นกระจกส่องสะท้อนตัวเราเองว่าประชาชนมองพรรคอย่างไร ผมคิดว่าการเมือง ณ ปัจจุบัน เราต้องมองจากข้างนอกเข้ามา เราอย่ามองจากข้างในออกไปข้างนอกอย่างเดียว เพราะถ้ามองจากข้างในออกไปข้างนอกอย่างเดียว เราจะมองเห็นแต่แบบเดิมๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากผมอยู่ท่ามกลางคนที่สนับสนุนผม ผมก็อาจไม่รู้สึกอะไร เหมือนกับเราเป็นส.ส. คนที่อยู่ห้อมล้อมเรา ก็จะบอกว่า ดีๆ ทำถูกต้องแล้ว แต่เรายังไม่ได้ไปฟังคนข้างนอกที่อยู่อีกมุมหนึ่งของสังคม ที่เขามองเราอยู่ ผมคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านั้นเช่นกัน ก็อยากให้มองจากข้างนอกเข้ามาข้างในพรรคด้วย ว่าสิ่งที่ประชาชนคิดเห็นและสะท้อนออกมาเป็นอย่างไร เราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคปชป. ว่าพรรคจะเดินต่อไปอย่างไรในอนาคตในอีกสามปีข้างหน้า พรรคจะมีนโยบายพรรคที่จะออกมาอย่างไรเพื่อดึงฐานเสียงพรรคปชป.กลับคืนมาให้ได้ ดึงความไว้วางใจของประชาชนกลับคืนมาเพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคปชป.ในอนาคต
"ผมคิดว่าเราต้องปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ ที่ก็ต้องแล้วแต่มุมมองผู้บริหารพรรค ว่าพอใจที่เห็นพรรคปชป. เป็นอยู่แบบนี้หรือไม่ หรือว่าอยากเห็นพรรคปชป.กลับไปรุ่งเรืองอีกครั้ง เป็นสถาบันการเมือง เป็นสถาบันที่เคยสร้างนักการเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน เป็นสถาบันที่คนซึ่งอยากทำงานการเมืองอยากเข้ามาที่พรรคปชป.จริงๆ ก็ต้องถามผู้บริหารพรรคว่าจะนำพาพรรคปชป.ไปในทิศทางแบบไหน ผมคิดว่าผู้บริหารพรรค ก็มีแนวทางไว้อยู่แล้ว"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
'ดร.เอ้' เรียก 'ทีมกทม. ปชป.' ประชุมวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร เรียกประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และคณะทำงานพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเชิญ น.ต. สุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าพรรค
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
อดีตแม่ยกปชป.แฉพรรคเปลี่ยนเพราะมีคนทำลายอุดมการณ์ ยันเคียงข้าง 'ชวน-มาร์ค'
นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อค
'เด็กชวน' สวนกลับ 'ทักษิณ' อยากสารพัด แต่ผวาอยู่ 2 เรื่อง
'ราเมศ' ยัน 'ชวน' ต่อสู้สิ่งไม่ถูกต้อง ยึดหลักสุจริตมาโดยตลอด ปัดแค้นส่วนตัวกับ 'ทักษิณ' สวนกลับคงไม่อยากหนีไปต่างประเทศซ้ำอีก