พรรคกล้า ที่มี กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง เป็นหัวหน้าพรรค ถึงตอนนี้ตั้งพรรคมาได้ร่วมสองปี ซึ่งแม้ปัจจุบันยังไม่มี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็เป็นพรรคการเมืองที่เคลื่อนไหว-ทำกิจกรรมการเมืองต่อเนื่อง อย่างการเลือกตั้งซ่อมที่สงขลา-ชุมพร วันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.นี้ พรรคกล้าก็ส่งคนลงเลือกตั้งทั้งสองเขต ส่วนเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ ที่จะลงคะแนนเสียงกันวันที่ 30 ม.ค. อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ก็ลงสมัครเอง
สำหรับทิศทางของพรรคกล้าต่อจากนี้ วรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า-หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ที่แม้อาจเป็นชื่อใหม่ทางการเมือง แต่สำหรับวงการธุรกิจ โดยเฉพาะวงการค้าปลีก ต่างก็รู้จัก หมู-วรวุฒิ กันเป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้ทำธุรกิจ เป็นอดีตนักบริหารในภาคธุรกิจที่มีชื่อเสียงมาก่อน เช่น อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มเซ็นทรัล ผู้ก่อตั้งธุรกิจ B2S-OfficeMate ที่ทำธุรกิจขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์สํานักงานชื่อดังจนเติบโตกลายเป็นบริษัทมหาชน และเคยเป็นอดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นต้น
วันนี้เราเห็นการเมืองแบบแบ่งขั้วแบ่งข้าง ซึ่งทำให้ประชาชนหลงไปตามเกมการเมืองของพรรคการเมือง โดยเมื่อใดก็ตามที่เขาเชื่อว่า เขาเลือกเพราะความเกลียด ความกลัว ถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาสู้ เขาจะไม่สนใจนโยบายพรรค จะไม่สนใจคุณภาพตัวบุคคลที่พรรคนำเสนอ เขาสนใจแต่ว่าไม่ใช่พวกฉันก็เป็นศัตรู วิธีแบบนี้เราเรียกว่า แบ่งแยกแล้วปกครอง เป็นแนวคิดที่ทำให้ประเทศไทยติดหล่มมาร่วม 10-20 ปี กับการเมืองประเภท ไม่เลือกเรา-เขามาแน่
โดย วรวุฒิ-รองหัวหน้าพรรคกล้า พูดถึงเส้นทางการเมืองของพรรคกล้าว่า พรรคกล้าที่ตั้งพรรคมาร่วมสองปีเป็นพรรคการเมืองที่ค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง เพราะว่าเราเป็นพรรคใหม่และการมารวมตัวเป็นพรรคใหม่ ก็มาจากสมาชิกพรรคที่หลายคนหรือส่วนใหญ่ไม่ได้เคยอยู่ในแวดวงการเมืองมาก่อน อย่างตัวผมเองก็เช่นกัน เพราะมาจากการเป็นนักธุรกิจ จากธุรกิจ SME เล็กๆ จนกลายเป็นซีอีโอบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอดขายเป็นหมื่นล้านบาท แต่คนที่มารวมตัวกันที่พรรคกล้า เราเห็นอย่างหนึ่งเหมือนกันก็คือว่า พรรคการเมืองในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์เรา เรามองไปที่พรรคการเมืองไหน ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่ทุกคนรู้สึกว่าประเทศจะหยุดอยู่แบบนี้ไม่ได้ จะใช้การเมืองแบบที่มีอยู่แก้ปัญหาประเทศคงไม่ได้ พวกเราเลยตัดสินใจมาเป็นพรรคการเมืองด้วยกันเองเสียเลย
อย่างผมเองก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานประสานกับรัฐบาลชุดต่างๆ มาเป็นสิบปีแล้วในนามของสมาคมธุรกิจต่างๆ เช่น สมัยอยู่สมาคมอีคอมเมิร์ซ หรือสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงตอนอยู่สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เป็นต้น และก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาตลอดหลายปี แต่ก็รู้สึกว่าภาครัฐทำตามโจทย์ของภาคเอกชนน้อยมาก คือก็รับฟัง แต่ฟังแล้วไม่ได้นำไปดำเนินการ หรือทำแล้วก็ไม่ตรง ที่อาจเป็นเพราะมี hidden agenda ของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย
วรวุฒิ-ที่ผันตัวเองจากวงการค้าปลีก-นักธุรกิจมาเป็นนักการเมือง กล่าวต่อไปว่า จากสภาพการณ์ข้างต้นเราเลยมาทำงานการเมือง เพราะอยากเห็นประเทศไทยเจริญทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น หากเราไปดูที่สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน จะพบว่าช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเขาเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ของเราในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนน้อยมาก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของเราด้านเศรษฐกิจในช่วง 7-8 ปีหลังเป็นไปในทางขาลงด้วย ดูได้จากตัวเลขจีดีพีในประเทศที่จะพบว่าลดลงมาต่อเนื่อง การเติบโตของประเทศเติบโตน้อยลง ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิดยิ่งแสดงให้เห็นเลยว่าประเทศไทยเรากระทบทางเศรษฐกิจหนักมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ติดลบเยอะ แต่การฟื้นตัวช้า ซึ่งมันเป็นผลวิจัยออกมาเลย ไม่ใช่การพูดกันเอง
ปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวจึงทำให้เราต้องการพรรคการเมืองใหม่-นักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองแบบเก่าๆ ก็คือคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และอยากเห็นประเทศไทยดีขึ้นอย่างแท้จริง โดยการทำการเมืองไม่ได้ทำเพื่อจะไปเอื้อประโยชน์กับใคร
สิ่งเหล่านี้คือการรวมตัวกันของคนที่อยู่ในพรรคกล้า ทำให้จะเห็นได้ว่าพรรคกล้ามีอดีตนักการเมืองน้อยมาก เริ่มต้นก็แค่สามคนเองคือ คุณกรณ์ หัวหน้าพรรค-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค และภิมุข สิมะโรจน์ อดีต ส.ส.กทม. ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค แต่นอกจากนี้ก็เป็นคนที่ไม่ได้เคยอยู่การเมืองมาก่อน เป็นคนที่มาจากหลากหลายสาขา หลายอาชีพ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนจากสายเศรษฐกิจในพรรคกล้าค่อนข้างเยอะ
เศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก
พลิกฟื้นประเทศได้อย่างไร?
รองหัวหน้าพรรคกล้า พูดลงรายละเอียดถึงนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายหลักของพรรคกล้าคือเรื่อง เศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก ว่า คนในพรรคกล้ามองว่าประเทศไทย หากจะแก้ไขปัญหาจะต้องเอาเศรษฐกิจนำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องการศึกษา-สาธารณสุข-คุณภาพชีวิต ทั้งหมดต้องใช้เศรษฐกิจนำ เพราะปัญหาที่ว่ามาทั้งหมดต้องใช้เงิน ต้องใช้ภาษี แต่ถ้าเศรษฐกิจของไทยยังเป็นขาลงอยู่ แล้วเราจะเอาภาษีที่ไหนมาพัฒนาประเทศ
หลักการของพวกเราพรรคกล้าจึงมองว่าอันดับแรกต้องทำให้ประชาชน มีเงินในกระเป๋า ก่อน ซึ่งการที่จะมีเงินในกระเป๋าได้ก็ต้องมาจากระบบเศรษฐกิจ พรรคมีนโยบาย เศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก เพราะมองว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาเป็นนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนตัวใหญ่ เพราะมีความเชื่อว่าหากคนตัวใหญ่เศรษฐกิจดีแล้ว คนตัวเล็กจะดีตามไปด้วย แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นตลอดในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่ เพราะคนตัวใหญ่ก็รวยเอาๆ แต่คนตัวเล็กแทบไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก จนประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำไปติดอันดับสูงมากในการจัดอันดับของหลายประเทศทั่วโลก กระทั่งเด็กยุคใหม่ในยุคปัจจุบันเริ่มรู้สึกว่า การที่จะตั้งตัวสร้างโอกาสให้กับตัวเองในชีวิตมันเหลือน้อยลงทุกที ซึ่งแตกต่างจากสมัยเมื่อ 30 ปีก่อนที่คนยุคนั้น พอจบการศึกษามาเริ่มต้นทำงาน ที่ประเทศอยู่ในยุคโชติช่วงชัชวาล มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศมากมายมหาศาล แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะการลงทุนจากต่างประเทศในไทยวันนี้มีน้อยมาก นักลงทุนจากจีน เกาหลี ยุโรป สหรัฐ หนีไปลงทุนในเวียดนาม อินโดนีเซีย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัญหา
พรรคกล้าสู้ทุกรูปแบบ ...หวังว่าพรรคจะได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง หากเราได้ ส.ส.สัก 30 ที่นั่งขึ้นไป เชื่อว่าเราจะส่งผลและพัฒนาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ สิ่งนี้คือเป้าหมายที่พรรควางไว้
วรวุฒิ-รองหัวหน้าพรรคกล้า ย้ำว่า การที่พรรคกล้าให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก เพราะเชื่อว่าประเทศนี้จะดีได้ ต้องให้ชนชั้นกลาง-SME-เกษตรกร มีรายได้ดี ลืมตาอ้าปากได้ ที่ผ่านมาคนตัวเล็กของเรา ทำอะไรก็ติดขัดไปหมด ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสุราหรือเบียร์พื้นบ้าน โอกาสที่เราจะทำเองโดยใช้ทุนน้อย เป็นเอสเอ็มอีไม่มีเลย เพราะถูกบล็อกด้วยกฎหมาย หรือเรื่องดิวตี้ฟรี ก็บล็อกให้ผูกขาดแค่รายเดียว ซึ่งยังมีเรื่องลักษณะนี้อีกมากมายมหาศาลในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
เราจึงคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าคนตัวเล็กเติบโตได้ เศรษฐกิจจะดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาเลย เช่น ให้ SME คนตัวเล็กๆ ที่มีเป็นล้านราย เติบโตปีละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ คิดดูว่าจีดีพีของประเทศจะเติบโตขึ้นขนาดไหน เพราะการที่ SME เติบโตจะนำไปสู่การจ้างงาน หรือเมื่อ SME เติบโตเขาก็มีกำลังซื้อ สามารถไปอุดหนุนธุรกิจที่คนตัวใหญ่ทำอยู่ได้อีก นโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อจากนี้ไปต้องเน้นให้คนตัวเล็กเติบโตให้ได้
การที่พรรคกล้าบอกว่าจะผลักดันเรื่องเศรษฐกิจคนตัวเล็ก มันต้องมีข้อพิสูจน์ ผมคิดว่าเรื่องนี้คนก็พูดกันเยอะ หลายพรรคการเมืองก็พูดหมด บอกว่าจะช่วย SME แต่การจะช่วยจริงหรือไม่ รัฐบาลหน้าต้องทำเรื่องหลักๆ เช่น ต้องสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นให้กับเอสเอ็มอี เช่น การสร้างโอกาสในการส่งออก เพราะวันนี้ SME มียอดขายยอดส่งออกน้อยมาก สัดส่วนการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เรื่องที่สองต้องทำให้เศรฐกิจของคนตัวเล็ก SME มีโอกาสที่จะขายสินค้าได้ทั้งในและต่างประเทศ เพราะหากไปดูสินค้าโอท็อป-สินค้าเกษตรของไทย โอกาสขายคนในประเทศกันเองยังน้อย เพราะคนไทยนิยมใช้ของนอก และสินค้าไม่ได้ถูกส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value-Added)
หากไปดูสินค้า SME ของจีนหรือญี่ปุ่น จะเห็นเลยว่ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าทำได้ดี เช่น การทำ packaging ที่ดี นอกจากนี้การเติบโตของ SME ยังใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยต่ำมาก โดยหากไปดูโมเดลของจีนจะพบว่า เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมามีปัญหาความยากจนเช่นกัน แต่การที่ SME ของเขาแข็งแรง ทำให้ความยากจนเริ่มหายไป ก็พบว่ารัฐบาลผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบธุรกิจออนไลน์ เพราะตอนนี้ SMEโอกาสในการขายออนไลน์ยังมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยเกินไป เราต้องทำให้เขาเข้าสู่ระบบการขายออนไลน์มากกว่านี้ เพราะหาก SME ของไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้วเข้าสู่ระบบออนไลน์ ก็จะตอบโจทย์ทั้งการส่งออกไปต่างประเทศและการบริโภคในประเทศ เพราะการส่งออกด้วยการขายออนไลน์เป็นการค้าไร้พรมแดน หากมีช่องทางที่ทำให้บุกตลาดโลกได้ สินค้า SME ของไทยจะบุกตลาดโลกได้แน่นอน เช่นเดียวกับการบริโภคในประเทศ หากสินค้าดีๆ ของคนไทยหนึ่งจังหวัดขายไปยังอีก 76 จังหวัดที่เหลือได้ จังหวัดใดหากทำได้ ประชาชนก็รวย เศรษฐกิจในจังหวัดจะดีตามไปด้วย ซึ่งการจะมีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ หากไม่นำระบบออนไลน์มาช่วย ผมยังนึกไม่ออกว่าจะด้วยวิธีไหน เพราะหากจะไปด้วยวิธีการค้าปลีกแบบเดิมก็ต้องไปอาศัยห้างใหญ่ ที่ในห้างเองก็มีพื้นที่โชว์สินค้าจำกัด ก็จะผลักดันสินค้าได้ไม่กี่ราย แต่ถ้าเราผลักดันให้ธุรกิจออนไลน์แข็งแรงและเติบโตในประเทศไทย ผมว่าผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์มากมาย เพราะเขาจะตัดบายพาสคนกลางออก และทำให้ตัวเองได้รายได้จากการขายทั้งหมดโดยตรง
วรวุฒิ-อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เช่น การขาย ทุเรียน แกะเปลือกผ่านหน้าเฟซบุ๊ก-ระบบออนไลน์ที่ขายได้กิโลละ 1,200 บาท โดยโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กแล้วคนก็โอนเงินไปซื้อ โดยไม่ได้มีระบบอะไรไปช่วยเขา แต่เขาก็สามารถขายได้ หากผู้ประกอบการปรับตัวและใช้พื้นที่ทางโซเชียลมีเดียเป็น แค่นี้ก็ลืมตาอ้าปากได้แล้ว จากที่เคยขายทุเรียนพร้อมเปลือกที่เคยขายให้กับล้ง โลละ 80-120 บาท กลายเป็นทุเรียนแกะเปลือกโลละ 1,200 บาท ก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องโดนกดราคา อันนี้ยังไม่รวมถึงการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่ยังทำได้อีกหลายอย่าง เช่น เค้กทุเรียน-ทอฟฟี่ทุเรียน-ไอศรีมทุเรียน ซึ่งหากทำเรื่องพวกนี้ เราจะไม่มีปัญหาเรื่องฤดูกาลการผลิต เพราะสามารถนำสินค้าเกษตรไปแปรรูปและทำการตลาดได้ตลอด อย่างทุเรียนก็สามารถทำการตลาดได้ทั่วโลก อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเข้าใจเรื่องระบบออนไลน์และการตลาดสมัยใหม่ดีแค่ไหน
ทั้งหมดหากเข้าใจสามารถทำได้แน่นอน หากไม่เชื่อ ถ้าผมมีโอกาส ผมจะทำให้ดู เพราะผมเป็นนักธุรกิจมาตลอดชีวิต และเป็นนักธุรกิจที่ทำการตลาดแบบออนไลน์รายแรกๆ ของเมืองไทย ผมเข้าใจว่าเรื่องพวกนี้ต้องทำอย่างไร แต่ที่ผ่านมาต้องบอกเลยว่ารัฐบาลไทยไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ดีพอ ก็เหมือนกับคนทำเป็นไม่ได้ไปทำ และคนที่ทำก็ทำไม่เป็น นี่คือปัญหาที่มาจากการเมืองไทยที่ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาส โดยหากเราทำให้เกษตรกรแปรรูป ขายออนไลน์เป็น หรือส่งเสริมให้เกษตรกร-ผู้ประกอบการเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะเป็นการไปเปลี่ยน mind-set เขาได้เลย คือต่อไปไม่ได้เป็นแค่ชาวนาเฉยๆ แต่เป็นชาวนาที่เป็นพ่อค้านักธุรกิจได้ด้วย แต่ต้องรู้จักการทำ packaging-การแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและรู้จักการขายออนไลน์
เรื่องพวกนี้หากเรามีรัฐบาลที่เข้าใจจะสร้างโอกาสให้พวกเขามหาศาล นอกจากนี้รัฐบาล ต้องให้แต้มต่อ กับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น SME หรือเกษตรกรรายใดยังไม่เคยค้าขายออนไลน์ รัฐบาลอาจออกนโยบายอุดหนุนค่าขนส่งให้ฟรีหนึ่งปี รับรองได้ว่า SME จะมีการค้าขายกันอย่างคึกคัก เกษตรกรที่ไม่เคยขายออนไลน์ก็จะขายออนไลน์เป็น เรื่องพวกนี้ใช้งบไม่เยอะ ผมเคยคำนวณหากเราให้เรื่องนี้กับ SME-ผู้ประกอบการ-เกษตรกร ในการอุดหนุนค่าขนส่งฟรี คิดว่าหนึ่งปีใช้งบสักห้าพันบาท แค่ใช้เงินไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยขายออนไลน์เป็นทั้งประเทศ การให้แต้มต่อแค่นี้จะพลิกโฉมผู้ประกอบการทั้งประเทศให้ลืมต้าอ้าปากได้ทันที
นอกจากนี้ พรรคกล้ายังมีนโยบายด้านเศรษฐกิจอีกมากที่สามารถกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติจริงๆ ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่เชื่อเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี แต่ผมเชื่อเรื่อง แผนยุทธศาสตร์จังหวัดยี่สิบปี เพราะแต่ละจังหวัดมีจุดเด่นจุดแข็งไม่เหมือนกัน แต่ละจังหวัดมีสินค้าที่ดีที่มีความแตกต่างกัน โดยหากพัฒนาให้แต่ละจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของตัวเองยี่สิบปี ประเทศไทยจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เรื่องแบบนี้เราจึงต้องการรัฐบาลที่คิดเป็น ทำเป็น เข้ามาทำงาน ทั้งหมดคือที่มาของ เศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก ของพรรคกล้า
-สถานการณ์วันข้างหน้า หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น มีการยุบสภา หรือแม้แต่รัฐบาลอยู่ครบเทอม ความพร้อมของพรรคกล้าในการลงเลือกตั้งสนามใหญ่?
พรรคกล้าพร้อมสู้ทุกกติกา จริงๆ แล้วตอนที่เราตั้งพรรคกล้าตอนนั้น ยังเป็นกติกาการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว ซึ่งบอกเลยว่าน่าจะเป็นกติกาที่ดีที่สุดและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพราะทำให้คะแนนเสียงไม่ตกหล่น ทำให้พรรคขนาดเล็กที่ไม่ได้มีทุนรอนสามารถเติบโตได้ แต่เมื่อการเลือกตั้งต่อไปจะใช้บัตรสองใบ เราก็ไม่มีทางเลือก ต้องสู้เต็มที่ เพียงแต่ว่าเปอร์เซ็นต์การได้มาซึ่ง ส.ส.ของพรรคกล้า ก็ต้องยอมรับว่ามันยากขึ้น เพราะกติกาบัตรสองใบให้ความสำคัญกับ ส.ส.เขตมากกว่าปาร์ตี้ลิสต์
ต้องยอมรับตรงๆ ว่าในชนบทหรือในต่างจังหวัด เรื่องของทุน-ระบบอุปถัมภ์ เรื่องของการใช้เงินซื้อเสียง ยังมีบทบาทสูง เรื่องนี้ทำให้พรรคเล็กแข่งกับพรรคใหญ่ได้ยาก แต่หากถามว่าแล้วพรรคกล้ามีความพร้อมในการส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีความพร้อมเต็มที่ เราเชื่อว่าแม้จะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นภายในอีกไม่กี่เดือนถัดจากนี้ไป พรรคกล้าน่าจะส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตได้ไม่น้อย และปาร์ตี้ลิสต์ก็น่าจะส่งได้ในระดับหนึ่ง มีรายชื่อครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
"พรรคกล้าสู้ทุกรูปแบบ เพียงแต่ต้องยอมรับว่ามันอาจจะยากขึ้น อาจจะเหนื่อยขึ้น"
พร้อมสู้ทุกรูปแบบบนเป้าหมาย30ที่นั่งหลังเลือกตั้ง
-พรรคตั้งเป้าว่าเลือกตั้งใหญ่จะได้ ส.ส.ทั้งหมดกี่คน ทั้ง ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์?
คงประเมินยากเหมือนกัน คงต้องรอจังหวะใกล้การเลือกตั้งใหญ่ แต่เรามองว่าพรรคกล้า หากเราได้เสียง ส.ส.สักประมาณ 30 ที่นั่งขึ้นไป ก็น่าจะส่งผลและเข้าไปมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในระดับหนึ่งเลย เพราะอย่าลืมว่าพรรคเราไม่ได้เป็นพรรคที่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร พรรคเราเป็นพรรคปฏิบัตินิยม ไม่ทำตัวแบบชวนทะเลาะ เพราะเราเห็นว่าการทะเลาะกันของพรรคการเมืองหรือฝ่ายการเมืองที่แบ่งข้างกันอยู่ มันทำให้ประเทศเสียหายเยอะพอแล้ว สิ่งที่พวกเราควรต้องทำร่วมกันคือ หันหน้ามาทำมาหากิน ช่วยกันทำงาน มันไม่ใช่เวลามาทะเลาะกัน เพราะหลังโควิดผมคิดว่าปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจจะเป็นตัวกดดันประเทศไทยอย่างสูง เพราะเดิมขนาดเราไม่มีโควิด เราก็เหนื่อยยากสาหัสแล้ว เศรษฐกิจมีแนวโน้มตกลงเรื่อยๆ ยิ่งมาเจอโควิด การแก้ปัญหาปากท้องประชาชน การแก้ปัญหาครัวเรือน การทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ผู้ประกอบการกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม
สิ่งเหล่านี้คือพันธกิจหลักของประเทศ และพรรคกล้าเรามีความเชื่อว่าเราเป็นพรรคการเมืองที่มีความพร้อมในเรื่องทีมเศรษฐกิจมากที่สุดพรรคการเมืองหนึ่ง ตรงนี้คือจุดหนึ่งที่เราหวังว่าประชาชนจะเห็นความสำคัญเรื่องนี้แล้วให้โอกาสพรรคกล้าเข้าไปทำงาน
ขณะเดียวกัน พรรคกล้าก็ชูคุณกรณ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการมารวมตัวกันของคนในพรรคกล้า อย่างตัวผมเอง ก็เพราะเชื่อมั่นในตัวคุณกรณ์ เรามองว่านายกรัฐมนตรีในยุคถัดไปต้องเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์แบบคุณกรณ์ ซึ่งเป็นคนที่ทำงานภาคเอกชนจนประสบความสำเร็จมาก่อน มีประสบการณ์ในการทำงานในฐานะผู้บริหารมาอย่างเข้มข้น หลายคนอาจมองว่าคุณกรณ์คือนักการเมือง แต่อย่าลืมว่าเขาเคยเป็นอดีตผู้บริหารภาคเอกชนที่เงินเดือนสูงสุด ซึ่งต้องเป็นคนที่เก่งจริงถึงจะมีสถานะแบบนี้มาได้ และในการทำงานทางการเมืองก็เคยเป็น รมว.คลัง ที่เคยได้รางวัล รมว.คลัง ซึ่งเป็นรางวัลดีเด่นของโลกในการแก้ปัญหาเรื่องวิกฤต Hamburger Crisis ของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และในพรรคก็ยังมีอีกหลายคนที่มาจากผู้ประกอบการสายเศรษฐกิจ เป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานจริง เราอาศัยตัวจริงทางเศรษฐกิจมาทำงาน
"เราก็หวังว่าพรรคกล้าจะได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง โดยหากเราได้ ส.ส.สัก 30 ที่นั่งขึ้นไป ผมเชื่อว่าเราจะส่งผลและพัฒนาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ สิ่งนี้คือเป้าหมายที่พรรควางไว้ แต่จะได้ ส.ส.ระบบเขตกี่คน ปาร์ตี้ลิสต์กี่คน ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูด แต่เราคิดว่าเป้าหมาย 30 ที่นั่งมีความเป็นไปได้อยู่"
ต้องรู้ทันการเมือง แบบ"แบ่งแยกแล้วปกครอง”
ที่ผ่านมานอกจากพรรคกล้าจะชูนโยบายเรื่องเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็กแล้ว ยังเน้นย้ำเรื่องการดำเนินการทางการเมืองแบบ ปฏิบัตินิยม เราเลยถามถึงเรื่องนี้แบบชัดๆ กับ วรวุฒิ-รองหัวหน้าพรรคกล้า ซึ่งเขาบอกว่าแนวทางปฏิบัตินิยมคือการเน้นเรื่องการลงมือทำ เพราะวันนี้เราไม่เสียเวลาไปทะเลาะกับใครในทางการเมือง เราจะบอกว่าเราจะทำอะไรให้กับประเทศ มากกว่าที่จะพูดว่าฝั่งโน้นฝั่งนี้ไม่ดีอย่างไร
วันนี้เราเห็นการเมืองแบบแบ่งขั้วแบ่งข้าง ซึ่งทำให้ประชาชนหลงไปตามเกมการเมืองของพรรคการเมือง โดยเมื่อใดก็ตามที่เขาเชื่อว่า เขาเลือกเพราะความเกลียด ความกลัว ถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาสู้ เขาจะไม่สนใจนโยบายพรรคแล้ว จะไม่สนใจคุณภาพตัวบุคคลที่พรรคนำเสนอ เขาสนใจแต่ว่าไม่ใช่พวกฉันก็เป็นศัตรู วิธีแบบนี้เราเรียกว่า แบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้ประเทศไทยติดหล่มมาร่วม 10-20 ปีกับการเมืองประเภท ไม่เลือกเรา-เขามาแน่ แล้วสุดท้ายรู้หรือไม่ว่าพรรคที่เลือกพรรคนั้นมีนโยบายอย่างไร ไม่สนเลยว่าคุณภาพตัวบุคคลที่พรรคนั้นส่งลงสมัครเป็นใคร ไม่สนใจ สนแต่เพียงว่าฉันเกลียดพรรคโน้น จึงเลือกพรรคนี้
ปฏิบัตินิยมของพรรคกล้า เราจึงจะบอกว่าเราจะแก้ปัญหาอะไร ด้วยวิธีไหน อย่างไร อย่างเช่น เราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราบอกเลยว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจของคนตัวเล็ก เพราะเราเชื่อว่าถ้าคนตัวเล็กดี เศรษฐกิจจะดี แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะปฏิเสธคนตัวใหญ่ แต่เราคิดว่าคนตัวใหญ่ เขาสบายแล้ว แต่แค่ไปแก้กฎ กติกา สร้างความหล่อลื่น ทำให้เขาทำงานง่าย หรือสนับสนุนให้เขาไปเติบโตในต่างประเทศ แค่นี้เขาก็ติดปีกบินแล้ว เพียงแต่ว่าหากเราผลักดันคนตัวเล็ก-เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เปลี่ยนจากเกษตรกรมาเป็นผู้ประกอบการให้มากขึ้น ผมว่าเกษตรกรไทย SMEs ของไทยลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งการเปลี่ยนก็ทำโดยใช้เทคโนโลยี-อีคอมเมิร์ซเข้ามา ซึ่งจีนทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว
สิ่งที่เราพูดมันไม่ได้เลื่อนลอย ไม่ได้ขายฝัน แต่มีตัวอย่างเป็นรูปธรรม มีนโยบายที่ชัดเจนจับต้องได้ ทำได้จริง สิ่งนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าพรรคกล้าแตกต่างจากการเมืองในอดีต เพราะพวกเราไม่ใช่นักการเมือง พวกเรามาเพื่อลงมือทำ พวกเราคิดว่าเราเป็นมือทำงาน เพียงแต่เส้นทางการเมืองก็ต้องได้คะแนนก่อนถึงจะเข้าไปทำงานได้ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนแล้วว่าจะให้โอกาสพรรคแบบเรา หรือจะใช้การเมืองแบบเก่าที่แบ่งแยกแล้วปกครอง เกลียดเธอ-เกลียดเขาก็ให้มาเลือกฉัน ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ
วรวุฒิ-รองหัวหน้าพรรคกล้า ย้ำว่า จุดแข็ง-ข้อแตกต่างของพรรคกล้ากับพรรคการเมืองอื่น ก็คือพรรคกล้าชูคนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี น่าจะดีที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้ กับคุณภาพของหัวหน้าพรรค กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ที่เปรียบเทียบกันได้เลย โดยเอาโปรไฟล์ของหัวหน้าพรรคการเมืองตอนนี้มาเทียบกันเขาไม่แพ้ใครแน่นอน น่าจะดีที่สุด เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด เพราะเคยเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ และไม่ขัดแย้งกับใคร เข้าได้ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า และไม่มีปัญหากับสถาบัน
ผมว่าการไม่มีปัญหากับสถาบัน การจงรักภักดีกับสถาบัน ผมว่าทำให้ประเทศเราอยู่ในจุดที่คลื่นลมสงบ แต่ถ้าพรรคไหนมีนโยบายที่ไม่เอาสถาบัน อันนี้สร้างปัญหาแน่นอน จะสร้างความแตกแยกและสร้างปัญหาลุกลาม และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิด Civil War หรือสงครามกลางเมืองอย่างมากด้วย และการที่คิดว่าจะเลือกพรรคนี้เพื่อไปปราบพรรคโน้น ผมว่ามันทำให้ประเทศเราติดหล่ม เพราะว่าพรรคการเมืองแบบนี้เขาก็ไม่เน้นเรื่องนโยบาย แต่ไปเน้นการสร้างความเกลียดชัด ซึ่งการสร้างความเกลียดชัง ได้คะแนนง่าย ไม่ต้องมีนโยบาย ไม่ต้องคัดตัวบุคลากรที่มีคุณภาพ อันนี้คือความแตกต่าง และเราก็เชื่อว่าการที่เรารักสถาบัน ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร มีคนไทยเกือบทั้งประเทศคิดแบบเรา
ข้อแตกต่าง ข้อที่สองคือเรื่อง ปฏิบัตินิยม พรรคกล้าเป็นพรรคที่ลงมือทำ มีนโยบายที่จับต้องได้จริง ทำได้จริง โดยคนทำงานเป็น ยกตัวอย่างคนในพรรค ซึ่งไม่ได้มีแค่ผม แต่ก็ยังมีคนอื่น เช่น โจ-แอร์เอเชีย หรือธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ CEO AirAsia ประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค ทำธุรกิจสายการบิน low cost airlines จากธุรกิจเล็กๆ จนตอนนี้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ และยังมีคนอย่าง ภิมุข สิมะโรจน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ พี่เชาว์-สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ที่พัฒนาแพลตฟอร์ม Digital ต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน-เป๋าตัง” ที่เป็นมือ Tech อันดับต้นๆ ของประเทศไทย และยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่ช่วยอยู่ข้างหลัง แต่ตอนนี้ยังไม่อยากเปิดตัวเพราะอยู่ในสายธุรกิจ คนเหล่านี้ที่ผมคิดว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับพรรคการเมืองอื่น นอกจากนี้ พรรคกล้าเป็นพรรคที่จะไม่ใช้เงินซื้อเสียง เพราะเมื่อพรรคการเมืองใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง โอกาสที่จะเข้าไปถอนทุนก็มีสูง ก็จะหนีไม่พ้นวังวนของการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ขอให้ประชาชนลองให้โอกาสพรรคกล้า เราไม่ทะเลาะกับใคร เพราะเราคิดว่ามันหมดเวลาแล้ว ประเทศต้องการมือทำงานมืออาชีพที่ทำงานเป็น ไม่พูดเยอะ ไม่สร้างความแตกแยก ก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อทำให้เศรษฐกิจประเทศมันดี
-คนที่เคยทำงานการเมืองหรือทำการเมืองอยู่ปัจจุบัน จะมีใครเข้ามาร่วมงานกับพรรคกล้าอีกหรือไม่หลังก่อนหน้านี้มี พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตคนพลังประชารัฐ?
ผมว่ามีตลอด แต่อะไรที่ยังไม่ชัดเจน ไม่อยากพูดออกไป แต่ถามว่าพรรคกล้าเป็นที่สนใจของนักการเมืองเก่าๆ หรือไม่ ก็เป็นเพียงแต่หลายคนบอกว่าให้ปี่กลองเลือกตั้ง มันดังชัดเจนก่อนค่อยเปิดตัว เพราะก็มีต่อเนื่อง จากหลายพรรคหลายฝ่าย พรรคกล้าเราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ เราไม่ใช่พรรคที่มีเจ้าของ เราไม่มีนายทุน คนที่อยู่ในพรรคกล้าทุกคน ล้วนเป็นเจ้าของพรรคกล้า
เราถามปิดท้ายว่าการที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาโควิด โดยเฉพาะผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หากสมมุติพรรคกล้าเป็นรัฐบาลเวลานี้จะมีแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร วรวุฒิ-รองหัวหน้าพรรคกล้า เสนอแนะว่า อันดับแรกจะเน้นเรื่องการบริโภคภายในก่อนโดยใช้ออนไลน์มาช่วย อย่างเช่น การนำสินค้าดีๆ ของแต่ละจังหวัดมาทำให้คนอีก 76 จังหวัดได้รู้จัก และมีการซื้อขายกัน ผมว่าแค่นี้ก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง อันนี้เป็นแผนระยะสั้นและใช้กรอบเวลาไม่เกินสามเดือน และจะทำให้คนไทยหันมานิยมสินค้าไทยด้วย โดยใช้ E-Commerce และเทคโนโลยีการขายแบบใหม่ที่เรียกว่า KOL (การตลาดที่ใช้ Key Opinion Leader ที่อาศัยบุคคลที่มีชื่อเสียง มีช่องทางการติดตามบนโซเชียลมีเดีย มาช่วยโปรโมตและรีวิวสินค้าหรือสินค้า) ที่ทำได้ไม่ยาก และเรื่องการส่งออก หากเราทำให้เกษตรกรไทย-SME ของไทย ขายออนไลน์ได้ การที่เราพัฒนาแพลตฟอร์มแล้วไปเชื่อมกับตลาดต่างประเทศก็ไม่ยากเช่นกัน
การบริโภคภายใน การส่งออกโดยใช้ออนไลน์มาช่วย มันเป็นเรื่องเดียวกันสามารถทำได้ในระยะเวลาไม่นานนัก ยิ่งหากมีกลไกภาครัฐมาช่วย เช่น ระบบโลจิสติกส์ หรือการให้เงินทุนสนับสนุน ให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการ พวกนี้ใช้เวลาไม่เกินหกเดือน ผมว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นทางสว่างทันที และสิ่งที่ต้องทำต่อไปในระยะปานกลางคือการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตัวเองได้ ที่ก็จะต้องไปสร้างสถาบันบ่มเพาะและให้ความรู้กับผู้ประกอบการ เพื่อติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการ
“คือทำภายใต้หลักสร้างโอกาส-ติดอาวุธ-ให้แต้มต่อ สามสิ่งนี้หากบุกเมื่อไหร่เห็นผลทันที กรอบระยะเวลาสามเดือนเห็นผลได้ และหนึ่งปีจะเริ่มแผลงฤทธิ์แล้ว ส่วนปีที่สองต้องทำให้เขาเก่งขึ้นและทำให้ได้มากขึ้น และหากมีเวลาก็ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น กลไกระบบราชการโดยบายพาสระบบเก่า ทำฟาสต์แทร็กระบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยี โดยอาจต้องไปแก้ระเบียบ-กฎหมายบางอันที่ทำให้ขีดความสามารถในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมีอุปสรรค” รองหัวหน้าพรรคกล้ากล่าวปิดท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ ช่วยหาเสียงนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' คึกมั่นใจชนะล้านเปอร์เซ็นต์
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ 'เจ๊แดง-สมชาย-พิชัย' ต้อนรับ แวะกินก๋วยเตี๋ยวร้านมิชเชอร์ลิน 7 ปีซ้อน ก่อนช่วงเย็นขึ้นปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' ลั่นมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
ศึก 'นายก อบจ.เชียงราย' เดือด! ทักษิณไฟเขียวเปิดตัว 'เมียยงยุทธ' ชน 'วันไชยธนวงศ์'
ชิงเก้าอี้ 'นายก อบจ.เชียงราย' ระอุ! 'ยงยุทธ' นัดแถลงเปิดตัวส่งเมียลงสมัคร หลัง 'ทักษิณ' ไฟเขียว ชน 'อทิตาธร วันไชยธนวงศ์' ส่วนพรรคส้มยังเงียบ
วิปริตธรรม .. ในสังคม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง
ธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมือง
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของคาสิโนถูกกฎหมายต่อการฆาตกรรมและการข่มขืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
'ภูษิต' หลานชายเนวิน ไขก๊อก 'นายก อบจ.บุรีรัมย์'
นายภูษิต เล็กอุดากร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ หลานชาย นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.บุรีรัมย์ ก่อนครบวาระ