ความแตกต่างเรื่องความคิดของคนแต่ละยุค เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย บทความนี้มาจากการพูดคุยกับคนอิสานสี่ยุค ในมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตและนโยบายรัฐบาลปัจจุบันเช่น ดิจิตัลวอลเล็ต
ขอเริ่มจากผู้อาวุโสวัย 81 ปีจากริมฝั่งโขงนครพนม อ.นิวัฒน์ โรจนพงษ์ ที่เกษียณอายุในตำแหน่งศึกษานิเทศน์ระดับ 8 เป็นเพื่อน ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร ตั้งแต่เด็ก ล่าสุดอาจารย์คือผู้สมัคร สว. กลุ่มการศึกษาที่ผ่านรอบอำเภอ แต่ไม่ได้ไปต่อ อาจารย์เชื่อว่าทุกจังหวัดมี สว.จัดตั้ง การกำหนดระดับการศึกษาเพียงภาคบังคับ มองว่าต่ำไป ด้วยความสามารถในการแต่งเพลงและร้องเพลง หลายเพลงรู้จักแพร่หลายในจังหวัด บางเพลงคนเวียดนามที่เคยถูกส่งกลับเอาทำนองและเนื้อร้องไปเติมเนื้อภาษาเวียดนามลงไป อาจารย์มองว่า ทุกวันนี้น้ำใจไมตรี ที่คนสมัยก่อนมีต่อกันหายไป ความเห็นเรื่องการศึกษา มองว่าการศึกษาปัจจุบัน ดึงคนออกจากอาชีพ จากรากเหง้า โครงการอาหารกลางวัน มีเพียงระดับประถม แถมยังมีข่าวเรื่องการยักยอก เป็นระยะๆ โครงการต่างๆ ชอบทำแบบเสื้อโหล ทำเพื่อรับรางวัล จากความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรม จึงขอให้อาจารย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายซอฟพาวเวอร์ อาจารย์บอกว่า ต้องอิงวัฒนธรรม รู้รากเหง้าที่มา อาจารย์เคยเสนอโครงการถนนวัฒนธรรมสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ผ่านระดับจังหวัดไปแล้ว เจอปฏิวัติโครงการเลยไม่เกิด ส่วนเรื่องบ้านเราเข้าสู่สังคมสูงวัย อาจารย์มองว่าปัจจุบันถือว่าดีพอ แต่บางพื้นที่ปู่ย่าตายาย ยังต้องรับภาระเลี้ยงหลานที่เกิดจากพ่อแม่ ที่ไม่พร้อม อาจารย์อยากเห็น สภาพลเมือง ในแต่ละพื้นที่ ที่มีตัวแทนจิตอาสา จากหลากหลายอาชีพ ไม่ได้สมัครรับเงินดิจิตัล เพราะไม่ชัดเจนหลายเรื่อง
มาสู่คน Gen X คุณธนวรรณ พิทยธราธร ใช้ชีวิตวัยเด็กกับพ่อแม่ที่ทำงานทีลาว กลับมาอยู่ขอนแก่นบ้านเกิดหลังการปฏิวัติในลาวตอนอายุ 3 ขวบ ความฝันวัยเด็กอยากเป็นวิศวกร เพราะพ่อและพี่ชายทำงานสายช่าง สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะผู้ปกครองไม่ยอมให้เลือกมหาวิทยาลัยนอกขอนแก่น ต่อมาสอบได้ทุน เรียน ผู้ช่วยพยาบาลของ รพ.ศรีนครินทร์ ไปเรียนที่ศิริราช แล้วมาบรรจุใช้ทุน ปี 36 หน่วยงานและท้องถิ่นส่งขึ้นเวทีประกวดนางงาม คว้ามา 2 ตำแหน่งคือ รองอันดับหนึ่งนางนพมาศ มข. และรองอันดับหนึ่ง นางสาวขอนแก่น พบรักกับหนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสเตรีย ที่มาเรียนและทำวิจัยที่ มข. แต่งงานลาออกจากงานพยาบาลไปใช้ชีวิตอยู่ออสเตรีย 8 ปี ช่วยทำงานบริษัทของสามี ที่รับงานที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี กับองค์กรระหว่างประเทศ ตัดสินใจพาครอบครัวกลับมาตั้งหลักที่ไทย ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อบริษัทออลไอที มีผลิตภัณฑ์จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาประมาณ 30 ผลงาน ซื้อลิขสิทธ์งานวิจัย มข. มาผลิตสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ ขายให้ลูกค้าต่างประเทศทั้งในอาเซียนและอาฟริกา นอกจากนั้นยังรับจ้างผลิตงานให้บริษัทจีน เช่นอีเลคโตรแมคเนติกปั๊ม ถามความคิดเห็นเรื่องการสนับสนุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คุณตั๊กบอกว่าภาครัฐสนใจแต่บริษัทขนาดใหญ่ ภาครัฐขาดการประสานงานที่ดีกับสถาบันอุดมศึกษา เคยไปใช้ห้องทดลองอุทยานวิทยาศาสตร์ เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อยากผลิตมากขึ้นเพื่อทดลองตลาด อุทยานฯ ไม่สามารถจัดการให้ได้ ถ้าจะไปจ้างบริษัทเอกชนผลิต ก็ต้นทุนสูงมาก คุณตั๊กยังมีบริษัทผลิตสินค้าสมุนไพร ขายออนไลน์ เธอบอกว่าช่วงโควิดขายได้เดือนละ 3-4 หมื่น ปัจจุบันแทบจะขายไม่ได้เลย สู้สินค้าจีนไม่ได้ ถามว่ามีคำแนะนำคนรุ่นใหม่ที่คิดค้าขายออนไลน์หรือไม่ คุณตั๊กบอกว่าอย่าเริ่มถ้าไม่มีผู้ติดตาม คิดว่าปัจจุบันคนขายของออนไลน์ประมาณ 30% ที่ไปรอด ข้อคิดสำหรับคนรุ่นใหม่คือถ้าได้ภาษาต่างประเทศ ไปต่อได้ ที่ขาดคือความอดทน สู้งาน
สำหรับ Gen Y คุณศิริพร กาญจนขุนดี คนภูเวียงโดยกำเนิด เลือกเรียน ธรณีวิทยา เพราะภูเวียงเริ่มโด่งดังจากการค้นพบไดโนเสาร์ จบ ป.ตรี ทำงานศูนย์วิจัยน้ำบาดาล 4 ปี อาจารย์ให้ทุนเรียนต่อ ป. โท สาขาเดียวกัน ตั้งความหวังอยากทำงานกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สอบไม่ได้ หลังแต่งงานเลยกลับมาตั้งหลักอยู่บ้าน เกิดอยากเรียนทำอาหารและขนมไทยในวัง เหมือนช่างฝีมือในวังหญิงจากนิยายดัง 4 แผ่นดิน ไปสมัครเรียนหลักสูตร 1 ปี โชคดีได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 45 คนจากผู้สมัครสองสามร้อยคน จบมาแล้วตระเวณดูร้านขนมต่างๆ และลองทำไปขายที่ถนนคนเดิน ลงทุนใส่ชุดไทยไปขาย ปรากฎว่าขายดี หมดภายในครึ่งชั่วโมง ตัดสินใจเอาเงินเก็บมาเปิดร้านขนมและกาแฟ ชื่อเฮือนภูเวียง ขายได้ดี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ภาพรวมมองว่าเศรษฐกิจไทยแย่ลง พ่อ แม่ซึ่งยังทำการเกษตร ก็ยังอยากให้เป็นข้าราชการ น้องสาวก็ทำการเกษตรแต่ทำแนวเกษตรสมัยใหม่ เรื่องดิจิตัลวอลเลต เธอบอกว่าสมัครเข้าโครงการในส่วนของตัวเอง แต่ทางร้านไม่ได้สมัคร เพราะมองว่าไม่สามารถนำเงินดิจิตัลไปซื้อวัตถุดิบ หรือใช้จ่ายอะไรได้แบบง่ายๆ คิดว่าถ้าแจกเงินส่วนนี้เป็นเงินสดน่าจะดีกว่า
น้องเล็ก Gen Z เพิ่งจบ ป.ตรี จากคณะเกษตรศาสตร์ มข. สาขาพืชไร่ เกิดที่พิษณุโลก แต่ครอบครัวอพยพมาทำสวนยางพาราที่กาฬสินธุ์ ตั้งแต่ยังเด็ก ณัฐธิดา พาลโนรี เล่าว่าที่เลือกเรียนเกษตร เพราะคะแนนไม่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนสายสุขภาพ ที่ทั้งตนเองและผู้ปกครองสนใจอยากให้เรียน เมื่อเข้ามาเรียนเกษตร ทำให้มองเห็นความสำคัญของการเกษตร โดยเฉพาะผลผลิตเกษตรที่ปลอดภัย ปีสุดท้ายของการเรียน ได้สมัครเข้าโครงการ Cooperative and Work Integrated Education ไปฝึกสหกิจศึกษาที่มาเลย์เซีย 1 เทอม กลับมาส่งผลงานโครงการที่ไปทำกับผู้ประกอบการเข้าประกวด ได้รับรางวัลระดับชาติ ถามถึงอาชีพในฝันเธอบอกว่าอยากเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืช หรือถ้าได้ทุนเรียนต่อก็จะไปสายวิชาการ ถามถึงปัญหาที่ภาคเกษตรปัจจุบัน ขาดคนรุ่นใหม่ ณัฐธิดาบอกว่า ต้องให้พวกเขารับรู้ความสำคัญของภาคเกษตรก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนคำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่อาจเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว หากพบว่าที่ได้เรียน ไม่ใช่ที่เราต้องการ หรือไม่ใช่ตัวตนของเรา ให้ขอโอนย้ายเปลี่ยนสาขา ดีกว่ากลับมาเริ่มต้นใหม่ ชวนคุยเรื่องการเมืองเธอบอกไม่ได้สนใจมาก เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ สำหรับดิจิตัลวออลเลต ไม่ได้สมัครเข้าโครงการ เพราะเงื่อนไขที่ให้ใช้เฉพาะในอำเภอที่มีทะเบียนบ้านอยู่ มองว่าโครงการนี้ควรมองให้ครอบคลุมถึงคนที่ไร้สิทธิ เช่นคนที่ไม่มีบัตรประชาชนด้วย
หวังว่าเสียงสะท้อนจากอิสานผ่านคนสี่ยุค จะมีประโยชน์กับรัฐบาลใหม่บ้างนะครับ
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลูกอีสาน บนเส้นทางผู้ประกอบการเกษตร
ปัญหาของภาคเกษตรโดยรวมไม่เฉพาะบ้านเรา คือเกษตรกรอายุเฉลี่ยมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ดูข่าวทีวีช่องหนึ่งไปสัมภาษณ์ชาวสวนลำไยที่ทุกคนสูงวัย และพูดถึงลูกหลานไม่สนใจทำอาชีพเกษตร
เกษตรกรอีสานกับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง
ภาคอิสานคนส่วนใหญ่คงนึกภาพถึงความแห้งแลัง เกษตรกรยากจน การศึกษาต่ำ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยหลายสิบปี และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้