ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท

 
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย  เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท
 
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ 
ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท
อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท
อดีตเลขาธิการแพทยสภา
 
 
1.ความนำ
 
“…วัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงอื่นๆ ต่างกันครับ ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือวงการสุขภาพไทย มีวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของผู้คนในองค์กร มีเป้าหมายที่ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก"
 
ผมได้ตอบคำถาม เมื่อถูกเพื่อนข้าราชการกระทรวงหนึ่ง เมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว ขอให้ผมไปบรรยายให้กระทรวงของเพื่อนท่านนั้นฟัง เกี่ยวกับกระบวนการและวิธีทำงานของแพทย์ชนบทในกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย หรือแม้กระทั่งออกมาสัมภาษณ์คัดค้านการคอร์รัปชันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในกระทรวงใดเลย แม้ในปัจจุบัน
 
ผมได้ปฏิเสธเพื่อนข้าราชการซึ่งในอดีตเป็นผู้นำนักศึกษาที่ก้าวหน้าในยุค 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลาคม 19 เพราะเห็นว่า ระบบสุขภาพ หรือวงการสุขภาพไทย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข มีพัฒนาการที่ต่างจากกระทรวงอื่น แม้ว่าอยู่ภายใต้ระบบราชการรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง เหมือนกัน
 
มูลนิธิแพทย์ชนบท ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ในกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เริ่มแรก มีนาคม พ.ศ.2525 จนถึงปัจจุบัน กว่าสี่ทศวรรษแล้ว
 
ส่วน ชมรมแพทย์ชนบท นั้น เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ถือกำเนิด เมื่อกุมภาพันธ์ 2521 ทำงานอยู่ในโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือ กรรมการของชมรมปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ สามารถใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลทำงานให้มูลนิธิ ชมรมแพทย์ชนบทและทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งปฏิบัติการเชิงรุกเข้าไปในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพมาตรฐาน
 
กล่าวโดยสรุปคือ มูลนิธิแพทย์ชนบทและ ชมรมแพทย์ชนบท เป็น NGOs (Non Governmental Organizations) ที่อาศัยทรัพยากร และมีโครงสร้างทับซ้อนกับ GO (Government organization) คือ กระทรวงสาธารณสุขมี NGOs ใดบ้างในประเทศนี้ หรือพื้นที่อื่นใด บนโลกใบนี้ ที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับ GO และมีอิสระต่อกัน แต่สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
 
2.การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของชมรมแพทย์ชนบทและมูลนิธิแพทย์ชนบท มีปัจจัยที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ 
 
2.1 ช่วงก่อน และการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (The popular uprising of 14 October 1973) ตลอดจน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 (ค.เป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เกิดการรวมกลุ่ม ชมรม สมาคม วิชาชีพ และอาชีพ สาขาต่างๆ อย่างหลากหลาย  
 
การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดความตื่นตัวทางด้านสังคม มีการมองปัญหาเป็นองค์รวม ทั้งทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและการเมือง ที่มีความเชื่อมโยงกัน การเกิดกระแสตื่นตัวทางด้านสังคมและการเมือง นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกของนักศึกษาเพื่อออกไปรับใช้สังคม
 
ชมรมแพทย์ชนบทเป็นหนึ่งใน ชมรม สมาคม มูลนิธิ และกลุ่มอื่นๆ ที่รวมตัวกันเพื่อปฏิบัติภารกิจที่กลุ่มตนเผชิญปัญหาอยู่ในโรงพยาบาลอำเภอ รวมทั้งมีจิตสำนึกของนักศึกษาเพื่อออกไปรับใช้สังคม โดยเฉพาะในชนบท ดังที่จะกล่าวต่อไป
 
2.2 ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท จึงมีนโยบายบังคับแพทย์จบใหม่ให้ออกไปชดใช้ทุนในชนบทในสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชน ตามลำดับ) การทำงานท่ามกลางความขาดแคลนในทุกๆ ด้าน เป็นเวลาสามปี ตลอดจนความไม่พร้อมในการสนับสนุนจากส่วนกลาง ทำให้เกิดความกดดันต่อแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงานในชนบทเป็นอย่างมาก นอกจากนี้จิตสำนึกของการรับใช้สังคมในชนบท อันเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นปัจจัยสำคัญ หรือแรงบันดาลใจให้มีการรวมตัวกัน ในนาม “สหพันธ์แพทย์ชนบท” ในปี พ.ศ.2519 เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในชนบท ดังกล่าวข้างต้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อให้เหมาะกับบริบททางการเมือง ในขณะนั้นเป็น "ชมรมแพทย์ชนบท"
 
“ชมรมแพทย์ชนบท” ถือกำเนิดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 โดยมี นพ.อุเทน จารณศรี เป็นประธานชมรมแพทย์คนแรก (พ.ศ.2521-2522) มีวัตถุประสงค์เริ่มแรก เป็นศูนย์รวมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของแพทย์ชนบททั่วประเทศที่ประสบปัญหาในการปฏิบัติงานในชนบท เพื่อพื้นฟูความรู้ด้านบริการและวิชาการของแพทย์ชนบททั่วประเทศตลอดเวลาเป็นศูนย์กลางเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริการประชาชน ชมรมฯ ได้พยายามเป็นสื่อกลางในการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อเป้าหมายคือการกระ จายบริการสาธารณสุขไปสู่ชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ในวงการสาธารณสุขได้ยอมรับบทบาทของชมรมฯ มากขึ้น ตามลำดับ
 
ต่อมามีข้อเสนอว่า เพื่อให้ “ชมรมแพทย์ชนบท” ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมี “ทุน ปัญญา และบารมี” จึงร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิแพทย์ชนบทขึ้น โดยมี นพ.มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทคนที่สอง พ.ศ.2522-2524 เป็นผู้ดำเนินการโดยสามารถจดทะเบียนมูลนิธิได้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2525 โดยในระยะเริ่มแรกมูลนิธิแพทย์ชนบทดำเนินงานท่ามกลางความขาดแคลนงบประมาณ แต่มีความพยายามสนับสนุนการดำเนินงานในโรงพยาบาลอำเภอ โดยแพทย์อาวุโสผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจแพทย์ใหม่ที่ถูกบังคับออกไปชดใช้ทุนในโรงพยาบาลอำเภอเป็นเวลาสามปี รวมทั้งดำเนินการจัดตั้ง "กองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูลเกษร" ขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้แก่แพทย์ที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่นทุรกันดารและเสี่ยงภัย เพื่อส่งเสริมขวัญและกําลังใจของแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในชนบท โดยเฉพาะถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เสี่ยงภัย ขอบันทึกให้ทราบโดยทั่วกัน ณ ที่นี้ ว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทคนแรก ในปี พ.ศ.2525 2540
 
3.วัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงสาธารณสุข เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท
ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขทุกยุคทุกสมัย มีวัฒนธรรมเปิดกว้าง ใจกว้าง รับฟังความเห็นต่าง กระจายอำนาจสู่บุคลากรด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยมีเป้าหมายที่ประชาชนในชนบท ดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก
 
จึงกล่าวได้ว่า การสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
 
“…ขอให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง…” 
 
กลายมาเป็นวิถีชีวิตของแพทย์ บุคลากรด้านสุขภาพ พนักงาน เจ้าหน้าที่ คนงาน ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนอาสาสมัครในกระทรวงสาธารณสุข จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรในที่สุด แพทย์หนุ่มสาวที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ล้วนสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธาน
 
“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"
 
แพทย์หนุ่มสาวที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน จึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในโรงพยาบาลและชุมชน รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นคณะทำงาน หรือคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนเข้าร่วมการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ
 
4.สร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท สู่ ขบวนการแพทย์ชนบท ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ว่าวัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงสาธารณสุขเป็นวัฒนธรรมเปิดกว้าง ใจกว้าง รับฟังความเห็นต่าง กระจายอำนาจสู่บุคลากรด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยมีเป้าหมายที่ประชาชนในชนบท ดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก วัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวจึงเอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายออกไปกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ 
 
4.1 การขยายเครือข่ายออกไปต่างประเทศ นั้น ได้แสดงบทบาทในองค์การอนามัยโลกหลังจากยุค นพ.ดำรงค์ บุญยืน และ นพ.สําลี เปลี่ยนบางช้าง แล้ว โดยในช่วงปี พ.ศ.2530-2535 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เข้าไปมีบทบาททำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นผู้แทนไทยในการเข้าประชุมระดับภูมิภาคและระดับโลก นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นแพทย์ชนบทอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกปี พ.ศ.2537-2539 (แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข) และเป็นผู้แทนไทยในการสมัชชาอนามัยโลกมาทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการต่างๆ ขององค์การอนามัยโลกเป็นประจำ
 
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท (พ.ศ.2526-2527)ได้เริ่มทํางานกับองค์การอนามัยโลกประจําประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 และต่อมามีความเชื่อมโยงกับองค์การอนามัยโลกในส่วนที่เกี่ยวกับ นโยบายแห่งชาติด้านยา และมีบทบาทเรื่องการสาธารณสุขระหว่างประเทศอย่างมาก จนล่าสุดได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก รับรางวัล Award for the Heroes of Public Health (วีรบุรุษสาธารณสุข) ประจําปี ค.ศ.2023 ในฐานะผู้มีผลงานโดดเด่น สร้างระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง จากสํานักงานองค์การอนามัยโลกประจําภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO)
 
นอกจากนี้ยังได้แสดงบทบาทที่สำคัญของขบวนการแพทย์ชนบทกับการสาธารณสุขระหว่างประเทศอีกไม่น้อยย [โปรดอ่านรายละเอียดในบทความ “…ทศวรรษของขบวนการแพทย์ชนบทไทย : จากพัฒนาระบบสุขภาพในชนบท สู่การปฏิรูประบบสุขภาพและประเทศ…"]
 
4.2 การสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบทในประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง มีการขับเคลื่อนทางสังคม (social mobilization) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกับทุกส่วนของสังคม ทั้งในและนอกวงการสุขภาพ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ร่วมดำเนินการโดย 
 
โดยทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมประสานเชื่อมโยงเครือข่ายกับ องค์กร ตระกูล ส. ทั้งหลาย ตลอดจนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยมี ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ, สถาบันพระปกเกล้า ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. ดร.สมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษา พอช. และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ) นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผู้แทนด้านสุขภาพ รวมทั้งเครือข่าย อปท.ทั่วประเทศ
 
การเปิดพื้นที่ระดับจังหวัดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เป็นการปฏิรูประบบการเมืองใหม่ ให้เกิดประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยฐานล่าง ปฏิรูปให้เกิดสิ่งที่ ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ จากนิด้า เรียกว่า 
 
“สถาปนาอำนาจประชาชนให้เป็นสถาบันหลักในพื้นที่จังหวัด" 
 
สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ปรากฏในคำปรารถของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยฐานล่าง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในชุมชน (Deliberative Democracy in Thai Local community) ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเสนอต่อรัฐบาลปัจจุบันเพื่อออกมารองรับกลไกนี้ให้ทำหน้าที่เสมือนเป็น “สมัชชานโยบายสาธารณะ” ที่ไม่มีอำนาจใดๆ เพราะเป็นพื้นที่หรือแฟลตฟอร์มสาธารณะมาปรึกษาหารือกัน ในกระบวนการเปิดพื้นที่ สมัชชาสุขภาพ หรือสมัชชาพลเมือง/จังหวัด มีเป้าหมาย 15 จังหวัดภายในปี พ.ศ.2567 
 
5.ขบวนการแพทย์ชนบท จากพัฒนาการกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ดังกล่าวข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า  “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อ การสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท…” นำไปสู่ความหมายของขบวนการแพทย์ชนบท ในบริบทปัจจุบัน ดังนี้
 
“…เครือข่ายประชาสังคมที่ประกอบด้วย แพทย์หรือกลุ่มของแพทย์ที่เคยหรือกําลังปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบทซึ่งมีจิตสํานึกร่วมกันที่อาจเรียกว่า จิตสํานึกแพทย์ชนบท คือมุ่งเน้นการพัฒนาและการกระจายบริการสาธารณสุขสู่ชนบท มุ่งเน้นการทํางานเพื่อสังคม 
 
มีการจัดตั้งกลไกแพทย์ชนบท เช่น ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท กลุ่มสามพราน และมีการเชื่อมโยงกลไกต่างๆ เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงและประสานการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมด้านสุขภาพ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และด้านอื่นๆ 
 
ผ่านสื่อกระแสหลัก สื่อสังคมออนไลน์ (social media) เช่น เพจชมรมแพทย์ชนบท เพจมูลนิธิแพทย์ชนบท เพจชุมชนปฐมภูมิ และเว็บไซต์ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ตลอดจนเว็บไซต์ของ สสส. สปสช. สช. พอช. สวรส. และอื่นๆ …"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รางวัลแมกไซไซ 2567 ขบวนการแพทย์ชนบท กับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย

หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทและชื่อเสียงในสังคมไทยมายาวนาน ที่นับจากก่อตัวมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีเส้นทางการทำงานมาถึงห้าทศวรรษแล้ว นั่นก็คือ”ชมรมแพทย์ชนบท”

ชมรมแพทย์ชนบท ชำแหละ นโยบายสาธารณสุขรัฐบาลแพทองธาร

ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านโซเชียล ระบุว่า นโยบายสาธารณสุขรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นโยบายข้อสำคัญด้านสาธารณสุขของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

'ขบวนการแพทย์ชนบทไทย' คว้ารางวัลแมกไซไซ ปี67 ยกย่องแพทย์หนุ่มสาว เชื่อมั่นพลังปฏิรูประบบสุขภาพ

ขบวนการแพทย์ชนบท(RURAL DOCTORS MOVEMENT) คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี2567 ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี และเชื่อมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จ พร้อมขยายผลแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีวัฒนธรรมชุมชนเดียวกัน

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้

ดีเดย์ 15 พ.ค. 'อสม.' เฮ! รับเงิน 8 พันบาท

'เกณิกา' เผย 15 พ.ค.นี้ อสม. ทั่วประเทศ รับเงินค่าป่วยการใหม่-เงินตกเบิกย้อนหลัง รวม 8 พันต่อคน ยันรัฐบาลให้ความสำคัญจิตอาสาที่เสียสละดูแลสุขภาพประชาชน

'หมอชลน่าน' เคลื่อนไหวแล้ว โพสต์เฟซบุ๊กครั้งแรก ชี้แจงทุกประเด็นหลังหลุดเก้าอี้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรมว.สาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณ เพจแพทย์ชนบท ที่โพสตให้กำลังใจผม และท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ก็มีบางอย่างที่ผมคิดว่า