อธิกรณ์..ติรัจฉาน เกลื่อนกลาดศาสนจักร ชาวพุทธควรศึกษา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีอายุล่วงกาลนานมาถึงสองพันหกร้อยกว่าปี ด้วยการส่งสืบต่อของพระสงฆ์สาวกที่มีสติปัญญา บารมี ในการศึกษา ท่องบ่น จำทรง รู้เข้าใจ ถือปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย ที่พระอรรถกถาจารย์ ผู้ทราบพุทธาธิบายทั้งโดยอรรถและพยัญชนะแห่งพระพุทธวจนะ ได้พยายามอรรถาธิบายพระไตรปิฎกทุกส่วนที่เข้าใจยาก ด้วยปัญหาทางภาษาบาลีที่คนในปัจจุบันไม่คุ้นเคย ให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อสะดวกต่อการนำไปศึกษาปฏิบัติ ดังปรากฏเป็นหลักฐานเป็นคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า พระสูตร, สุตตานุโลม, อาจริยวาท และอัตตโนมติ (คือ ความเห็นของผู้พูด ผู้แสดงธรรม ในพระพุทธศาสนา หากมี..) ...

ภายหลังพุทธกาลล่วงมา ๑๐๐ ปี ได้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ ณ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ด้วยการตีความพระธรรมวินัยที่แตกต่างกันไปตามความเข้าใจของตนเอง จนทำให้สูญเสียความพร้อมเพรียงกันในหมู่สงฆ์ ให้เกิดการแบ่งแยกออกไปเป็นพุทธศาสนานิกายต่างๆ มากถึง ๑๘ นิกาย จึงเห็นภาพปรากฏของคณะสงฆ์ที่แตกต่างกัน ทั้งในศีลและทิฏฐิ ที่สืบปรากฏสู่สังคมในพุทธศาสนาในปัจจุบัน จนก่อเกิดเป็นพุทธศาสนาประเทศนั้น ประเทศนี้.. นิกายนั้น นิกายนี้ ที่ทำให้ชาวโลกต่างศาสนา.. เยาวชนคนรุ่นใหม่สับสน ลังเล จนขาดความศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ด้วยไม่เข้าใจว่า พุทธศาสนาแท้จริง.. พระธรรมวินัยดั้งเดิมเป็นอย่างไรกันแน่

เมื่อต่างฝ่ายต่างยกนิกายของตนว่า ถูกต้องที่สุดตามแต่ละทิฏฐิ จึงต้องมีฝ่ายที่ผิด นิกายที่บกพร่อง ไม่ตรงตามพระธรรมวินัยดั้งเดิม.. การโต้เถียง.. วิวาทะจึงเกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธที่อ้างว่าเป็น พุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา

กาลสับสน .. กาลโกลาหล จึงเกิดขึ้นในเขตแดนพุทธศาสนา แม้ว่าจะสืบอายุพระธรรมวินัยมายาวนานมากกว่า ๒๖๐๐ ปี.. ดังปรากฏ อาจริยวาท คือ วาทะของอาจารย์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ในขั้นฎีกา .. อนุฎีกา และยิ่งมากขึ้นคือ อัตตโนมติ ที่แปลว่า ความเห็นของผู้พูด ผู้แสดง ภูมิรู้ ภูมิธรรม ในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในยุคสื่อสารไร้พรมแดนดังในปัจจุบัน ที่มีการนำความเห็นของตนเชิง อัตตโนมติ และ อาจริยวาท มาปะปนในการกล่าวอ้าง พระพุทธวจนะ มากขึ้น...

ดังปรากฏคำว่า “อนัตตา” ที่เป็นหัวใจธรรมในพระพุทธศาสนาที่ตรัสรู้ชอบโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังพระบาลีที่ว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ” ..ที่มีคณะสงฆ์บางหมู่ พยายามตีความ ขยายความ และเผยแพร่อรรถาธิบายไปในทางตรงข้ามกับพระพุทธาธิบาย จนนำไปสู่ อธิกรณ์ในคณะสงฆ์ คือ มีเรื่องเกิดขึ้นที่ต้องจัดการโดยคณะสงฆ์ เพื่อระงับปัญหาข้อขัดแย้งในศาสนจักรให้สิ้นไป อันเป็นกิจที่สงฆ์พึงทำ โดยเฉพาะในเรื่อง วิวาทาธิกรณ์ คือ วิวาทกันในเรื่องพระธรรมวินัย.. ข้อโต้แย้งว่า นี้เป็นธรรม นี้ไม่เป็นธรรม.. นี้เป็นวินัย นี้ไม่ใช่วินัย.. นี้ พระตถาคตเจ้าตรัสไว้ นี้ พระตถาคตเจ้ามิได้ตรัสไว้.. นี้เป็นอาบัติ นี้ไม่เป็นอาบัติ เป็นต้น

จากกรณี อธิกรณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมศาสนา ที่ปรากฏชัดเจนหลายเรื่องใหญ่ๆ ทั้งที่คณะสงฆ์ได้มีมติชัดเจน เพื่อระงับอธิกรณ์นั้นๆ หรืออธิกรณ์ที่ยังไม่นำเข้าสู่การประชุมของสงฆ์เพื่อประกอบสังฆกรรม.. ล้วนสะท้อนบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และ ประสิทธิภาพของคณะสงฆ์ ตลอดจนถึงคุณภาพของพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา ที่มีต่อพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง.. ดุจดัง กรณีอธิกรณ์ที่แม้คณะสงฆ์ได้ชี้ขาดชัดเจน เรื่อง ความหมายของ อนัตตา ..แต่ก็ยังไม่สามารถทำความสงบระงับให้เกิดขึ้นได้จริง จนนำไปสู่การแพร่หลายในวิวาทะเรื่องดังกล่าวแม้ในปัจจุบัน.. ที่ต่างฝ่ายต่างถือว่า ตนเองรู้จริง อาจารย์ตนเองรู้แจ้ง.. คณะของตนวิเศษสุดในพระพุทธศาสนา..

จากกรณีดังกล่าว จึงนำไปสู่การเกิดลัทธิเลียนแบบ ตั้งสำนัก.. ประกาศหมู่คณะของตนว่าเป็นเลิศ.. เป็นหนึ่ง เหนือหมู่คณะใด ที่พยายามแสดงภูมิรู้ภูมิธรรมของตนเองและคณะ ในการอธิบายธรรมที่เป็นผลจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยทิฏฐิของตน อันเป็นอันตรายมากต่อการเข้าใจผิด ตีความผิด และนำไปพูดสั่งสอนแบบผิดๆ.. โดยเฉพาะการพยายามอ้างอิงพระไตรปิฎก แบบอัตตโนมติ.. ที่ปฏิเสธพุทธมติ หรือการอ้างพุทธมติ เพื่อยกอัตตโนมติ ของตนและคณะ..

ความสับสน.. กาลโกลาหล จึงเกิดขึ้นปรากฏชัดเจน โดยเฉพาะในยุคสมัยไอที ที่แม้ว่าจะมีการเผยแพร่พระไตรปิฎกกันกว้างขวาง ที่สามารถหาศึกษาได้ไม่ยาก.. สะดวกมากในการศึกษาพระไตรปิฎกในยุคดิจิทัลดังในปัจจุบัน..

แต่กลับยิ่งมีโทษมหันต์ เมื่อผู้ใคร่ในการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหลาย.. ได้เรียนรู้ศึกษาปฏิบัติด้วยตนเองอย่างขาดครูบาอาจารย์มากขึ้น.. โดยเชื่อมั่นว่า ที่ตนอ่านมารู้มาจากพระไตรปิฎกถูกต้อง.. และกล้าหาญที่จะคัดค้านกับการบอกกล่าวสั่งสอนของครูบาอาจารย์ในอดีต แม้จะเป็นพระมหาเถระที่หมู่ชนให้ความเคารพกันมายาวนาน..

จึงได้เห็นความแข็งกระด้าง กล้ากล่าวอย่างไม่ยอมรับและไม่เกรงกลัว ในหมู่พระสงฆ์รุ่นใหม่ที่เติบโตในยุคสื่อไอทีสังคมดิจิทัล.. ที่อาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงในการศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ความคิด.. แนวคิดตนเอง ควบคู่กับ พระพุทธวจนะ เพื่ออ้างพระพุทธพจน์ในการประกาศอัตตโนมติของตนเอง

แม้ในหมู่พระปฏิบัติ.. ที่เคยเป็นอยู่ด้วยอาการสังวร.. มีความสงบตามหลักอุปสมะ ให้ความเคารพครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง ก็เช่นเดียวกัน.. ก็เริ่มกลายเป็นผึ้งแตกรัง เมื่อพระเล็กเณรน้อยเริ่มวิ่งเข้าหาแสง.. ใช้สื่อไอทีกันอย่างพร่ำเพรื่อ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา.. จนกลายเป็นพระกรรมฐานยุคไอที.. ที่กระจัดกระจายสู่กระแสโลก.. ปั่นป่วนอยู่ในกระแสธรรม จนชักจะแยกกันไม่ออกว่า.. อะไรคือคน.. อะไรคือพระ...

ประเด็นสำคัญ คือ การก่ออธิกรณ์ที่มีปรากฏมากขึ้น โดยเฉพาะในความเห็นที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย.. ด้วยการตีความตามทิฏฐิ.. ความเข้าใจของตนเอง.. และนำไปอรรถาธิบายธรรมด้วยภาษาชาวบ้านของคนรุ่นใหม่.. จนทำให้คำและความหมายแห่งธรรมคลาดเคลื่อนไป...

ทั้งนี้ ยังไม่นับ ติรัจฉานกถา .. ติรัจฉานวิชา ที่แพร่หลายมากขึ้นในหมู่พระและหมู่ชนที่แอบอ้างตนเป็นพุทธบริษัท แม้พระพุทธเจ้าจะทรงมีวินัยบัญญัติตรัสไว้ว่า.. ภิกษุไม่พึงเรียนติรัจฉานวิชา.. ภิกษุไม่พึงสอนติรัจฉานวิชา.. รูปใดเรียน รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฎ...

จริงๆ คำว่า.. “ติรจฺฉานวิชา” แปลตรงตามบาลี ว่า วิชา หรือความรู้อันต่ำทราม ย่อมอยู่ตรงข้ามกับ พุทธวิชา หรือ พุทฺธานสาสนํ ที่เป็นวิชา.. ความรู้ เป็นไปเพื่อความประเสริฐ.. เพื่อประโยชน์และความสุขแท้จริง.

ถ้าจะถามว่า.. เมื่อติรัจฉานวิชา ห้ามเรียน ห้ามสอน พิธีกรรมในพระพุทธศาสนา แล้วทำไมยังมีการศึกษาปฏิบัติกันในพระสงฆ์บางหมู่.. บางคณะ.. จนถึงกับตั้งชื่อว่าเป็น พิธีพุทธาภิเษก และถือปฏิบัติประกอบพิธีสวดเสกกันอย่างแพร่หลาย.. จนกล้าหาญขยายผลการกระทำต่อเนื่องสู่การจำหน่าย ที่เรียกว่า ให้เช่าวัตถุมงคล... แทนการบอกขายที่แพร่หลายไปทั่ว ไม่เว้น วัดราษฎร์ วัดหลวง.. จนสังคมพุทธศาสนาในประเทศเรา แยกไม่ออกว่าเป็น เทวนิยม หรือ อเทวนิยม..

และที่สำคัญยิ่งต่อการโน้มนำผู้อ้างตนว่าเป็นพุทธสาวก.. ไปสู่กระแสติรัจฉานวิชา.. ก็ด้วยโมหจิตที่ทำให้เกิดความลังเลสงสัย เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในศีล สมาธิ และปัญญา.. จึงนำไปสู่การปฏิเสธอริยมรรคองค์ธรรมแปดประการ.. ไม่ดำเนินไปบนหนทางสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา จึงเกิดความปรามาส.. ที่แปลว่า.. เกินไป.. คือ ไปเกินขอบเขตของพระธรรมวินัย ด้วยการยึดมั่นถือมั่นเกินไป ในศีลและวต (พรต) นั้น โดยเข้าใจผิดว่า ศีลและการบำเพ็ญพรตที่ถือปฏิบัตินี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข.. เป็นไปเพื่อทำให้หลุดพ้น.. จึงทำให้พวกติรัจฉานวิชาเข้าแทรกซึมในพระพุทธศาสนา เช่น พิธีไสยศาสตร์ ไสยเวทย์ มนต์กลคาถา.. ปลุกเสก เลขยันต์.. เพื่ออยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม ทั้งปวง.. ดังปรากฏเชิงประจักษ์ในสังคมพระพุทธศาสนาทุกวันนี้

ยิ่งวิถีสังคมพหุชนโน้มนำไปสู่โลภะ โมหะ โทสะ มากเท่าไร การถือปฏิบัติตาม สีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ คือ ยึดถือปฏิบัติอย่างหลงงมงาย ก็มากขึ้นเท่านั้น ความต้องการในลาภ ยศ ฐานะ โอกาส ทางโลกก็จะติดตามมา.. และที่สุด ก็จะก่อเกิด สีลัพพตปรามาสด้วยโทสะ.. พวกนี้ ใครห้ามไปตักเตือนว่ากล่าวโดยเด็ดขาด เพราะจะเรียงหน้ากันออกมาปกป้อง ฉกกัด ทำร้ายทำลายฝ่ายตรงข้ามตนได้ทุกขณะ.. โดยไม่เกรงกลัวบาปกรรม ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคง รุ่งเรือง เป็นใหญ่ของ ติรัจฉานวิชา ในโลกนี้ ที่แอบอิงซ่อนเร้นอยู่ในวิถีการสืบอายุพระพุทธศาสนา ที่ยากจะหมดสิ้น.. ตราบชาวพุทธยังติดอยู่ในข่าย โมหจิต..!!.

เจริญพร

[email protected]

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะ สว.-สภาสูง ถึง"รัฐบาล-นายกฯอุ๊งอิ๊ง" เร่งแก้ปัญหาศก.-อย่าให้ถูกครอบงำ

คาดหมายกันว่าภายในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ "รัฐบาล นส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"จะเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ หลังการจัดตั้งรัฐบาล-ฟอร์มครม.กำลังรุดหน้าไปเรื่อยๆ

ดร.วิรไท อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ดิจิทัลวอลเล็ต กับค่าเสียโอกาส ทำนโยบายสาธารณะต้องรอบคอบ

รัฐบาลของ "แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี" อยู่ในช่วงกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อรอการเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลอยู่ก็คือ

“ทศพิธราชธรรม”.. อำนาจธรรม... ต้องเคารพ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ระหว่าง วันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๗ ได้รับนิมนต์จากวัดป่าญาณสัมปันโนอารยาราม (ธ) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และจากฝ่ายปกครองอำเภอเชียงแสน .. แม่สาย .. แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในโครงการร้อยใจธรรม ...

ณัฐพงษ์ หน.พรรคประชาชน ฝ่ายอนุรักษนิยม อย่าระแวงเรา กับจุดยืน 'สถาบันฯ-แก้ 112'

บทบาทของ "พรรคประชาชน" พรรคการเมืองที่ขึ้นมารับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไป นับจากนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

ความยุติธรรม .. สร้างได้ .. หากเข้าใจ (สาระธรรม)!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ฤดูกาลฝนแม้เพิ่งเริ่มต้น กาลจำพรรษาแม้เพิ่งเข้าสู่ช่วงแรกของไตรมาส แต่สภาวธรรมที่ปรากฏไม่ได้อ่อนด้อยจืดจางลงไปเลย มิหนำซ้ำกลับเข้มข้นในการแสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ ที่พร้อมใจกัน แสดงพลังสัจธรรมว่า.. “อำนาจแห่งความจริงเหนืออำนาจความนึกคิดปรุงแต่งเสมอ..”

ศาลรธน.กับคำตัดสินอันตราย ยุบ ”ก้าวไกล” สร้างดาบสองคม เอาผิดยาก 44 ส.ส.เสนอแก้ 112

แม้ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลาสิบปีไปเมื่อ 7 ส.ค.