ลงทุนในทองคำดีไหม

ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต

ถ้าย้อนกลับไปดูราคาทองในอดีตก็จะพบว่าทองแพงขึ้นเกือบจะโดยตลอด ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ราคาทองในตลาดไทย (ดูรูป) มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 แล้วมาสะดุดอยู่ช่วงหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่หลังจากโรคระบาดโควิด-19 บรรเทาลงไป ราคาทองก็ขยับสูงขึ้นอีกมาจนถึงทุกวันนี้

ราคาทองแท่งไทยเพิ่มขึ้นจาก 400 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาทในปี พ.ศ. 2508 มาเป็นกว่า 40,000 บาทในปัจจุบัน พูดได้ว่าในช่วง 60 ปีทองแพงขึ้นถึง 100 เท่าตัว คิดคร่าวๆ ถ้าเพิ่มขึ้นทุกปีก็ปีละประมาณ 8% ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงเดียวกันอย่างแน่นอน

ทองคำมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินของโลกมาเป็นเวลาหลายพันปี การใช้ทองคำเป็นเงินตราเริ่มตั้งแต่สมัยยุคอียิปต์โบราณ ยุคกรีกโบราณ มาจนถึงยุคโรมัน 

มนุษย์ใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมทั้งเป็นสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อการออมและการสะสมมูลค่า เพราะทองคำมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเป็นสินทรัพย์ คือ
● มีความทนทาน ไม่เสื่อมสลาย ไม่หมอง รักษารูปลักษณ์และมูลค่าไว้ได้ตลอดเวลา
● เราสามารถนำทองคำมาขึ้นรูปเป็นเหรียญ เป็นแท่ง และเครื่องประดับได้ง่าย
● ปริมาณทองคำมีอยู่อย่างจำกัด เป็นแร่ที่มีต้นทุนสูงในการขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ ทำให้มีมูลค่าสูง และ
● ทองคำก็มีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายได้ง่ายในตลาดทั่วโลก

ในศตวรรษที่ 19 ทองคำได้กลายเป็นมาตรฐานการเงินและการค้าระหว่างประเทศ โดยประเทศต่างๆ ผูกค่าเงินตราของตนกับปริมาณทองคำ เพื่อเอื้อให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ มาตรฐานทองคำนี้ดำรงอยู่จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้ระบบนี้หยุดชะงักไปเมื่อโลกระงับการแลกเปลี่ยนทองคำระหว่างกัน

หลังสงคราม มีความพยายามที่จะหันไปใช้มาตรฐานทองคำเดิม แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งสำคัญในทศวรรษ 1930 และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา 

ข้อตกลงเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) ในปี ค.ศ. 1944 ได้ฟื้นฟูบทบาทของทองคำขึ้นมาอีกครั้ง โดยเชื่อมโยงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ากับทองคำ ระบบนี้ใช้มาจนถึงปี ค.ศ. 1971 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันยุติการแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำ 

ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทองคำจะไม่ถูกใช้เป็นมาตรฐานการเงินระหว่างประเทศอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นสินทรัพย์สำรองที่สำคัญของธนาคารกลางในหลายประเทศ และยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการออมและลงทุนขององค์กรและบุคคลโดยทั่วไป

อย่างที่เขาว่าแหละครับ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” การลงทุนในทองคำก็มีความเสี่ยง ดังนั้นเราจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับทองคำให้รอบคอบเสียก่อน

โดยทั่วไปการลงทุนในทองคำมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของทองคำที่เห็นได้ชัดก็คือการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ เพราะเราได้เห็นแล้วว่าราคาทองคำในระยะยาวมีอัตราเพิ่มที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ จึงช่วยปกป้องรักษากำลังซื้อของผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี

ข้อดีอีกประการหนึ่งของการลงทุนในทองคำก็คือ การที่ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ทองคำมักจะรักษามูลค่าได้เสมอ ในขณะที่การลงทุนประเภทอื่นอาจขาดทุนได้

นอกจากนั้น ทองคำยังสามารถลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ เนื่องจากราคาของทองคำมักจะเคลื่อนไหวโดยอิสระจากสินทรัพย์อื่นๆ ส่วนข้อดีของทองคำที่เกี่ยวกับสภาพคล่องและการยอมรับในระดับสากลก็เป็นสิ่งที่ผมได้กล่าวไปแล้ว

ข้อเสียของการลงทุนในทองคำก็มีอยู่บ้าง ที่สำคัญก็คือทองคำไม่ได้สร้างรายได้หรือผลตอบแทนในตัวของมันเอง ไม่เหมือนกับการลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตรซึ่งมีผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลและดอกเบี้ย ผู้ลงทุนซื้อขายทองคำได้ผลตอบแทนในรูปของการเพิ่มของราคาทองเท่านั้น

การลงทุนในทองคำไม่ว่าจะอยู่ในรูปของทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณจำเป็นต้องมีการเก็บรักษา ผู้ลงทุนจึงต้องมีต้นทุนในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์นี้โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนเลือกวิธีการลงทุนในเอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของทองคำโดยไม่ต้องครอบครองหรือเก็บรักษาทองคำนั้นไว้เอง ก็อาจไม่ต้องรับภาระการเก็บรักษาโดยตรงได้ (แต่อาจรับภาระโดยอ้อมได้ หากผู้ถือครองทองคำนั้นแทนผลักภาระมาให้ผู้ลงทุนอีกต่อหนึ่ง)

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งจะช่วยเราตอบโจทย์ว่าเราควรลงทุนในทองคำหรือไม่อย่างไร ก็คือการตอบคำถามที่ว่า “การลงทุนในทองคำเทียบกับการลงทุนในทางเลือกอื่นๆ มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร?” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงหรือความผันผวนของผลตอบแทน คู่เทียบที่สำคัญและน่าสนใจของทองคำสำหรับนักลงทุนทั่วไปก็คือการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ผมลองคำนวณอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรายปีจากการเปลี่ยนแปลงราคาทองแท่งในตลาดไทย เพื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรายปีจากการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นไทย (โดยใช้ข้อมูลดัชนีราคาหุ้นโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ของไทย หรือที่เรียกว่า SETINDEX) ในช่วงเวลาระหว่าง ปี พ.ศ. 2531 ถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2567 รวม 37 ปี) ปรากฏว่า อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของทองคำมีค่าสูงกว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นเพียงเล็กน้อย คือ 6.21% สำหรับทองคำ เทียบกับ 6.10% สำหรับหุ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของทองคำมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ (standard deviation: ทองคำ 12.47%, หุ้น 22.35%)

อย่างไรก็ตาม การคำนวณผลตอบแทนจากหุ้นยังไม่รวมผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผลและอื่นๆ ซึ่งหากรวมผลประโยชน์เหล่านี้เข้าไปแล้ว ก็อาจทำให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นสูงกว่าทองคำในระดับหนึ่ง แต่ก็คงไม่ทำให้ความผันผวนของหุ้นลดลงเท่าใดนัก ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้นเล็กน้อย แต่ก็มีความเสี่ยงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

อีกทางเลือกหนึ่งคือการซื้อหุ้นกู้ ในปัจจุบันบริษัทที่มีอันดับความเชื่อถือค่อนข้างสูงขายหุ้นกู้ให้นักลงทุนโดยจ่ายผลตอบแทนในอัตราระหว่าง 3% ถึง 4% ต่อปี ในช่วงอายุ 4 ถึง 10 ปี ทางเลือกที่เป็นหุ้นกู้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดเพราะส่วนใหญ่ผู้ลงทุนได้คืนทั้งต้นและดอกตามกำหนด แต่ในขณะเดียวกันก็มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าทองคำและหุ้น

ข้อมูลชุดสุดท้ายที่เราควรพิจารณาคือแนวโน้มในอนาคตของราคาทองคำ เราต้องเข้าใจก่อนว่าตลาดทองคำในประเทศไทยมีส่วนแบ่งที่เล็กมากเทียบกับตลาดโดยรวมของโลก ดังนั้น ราคาทองในประเทศจึงถูกกำหนดโดยราคาทองในตลาดโลก เพราะทองคำมีการค้าขายกันอย่างเสรีทั่วโลก การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศไทยจึงย่อมได้รับอิทธิพลจากปัจจัยในระดับโลกเป็นส่วนใหญ่

มีหลายปัจจัยในโลกที่ทำให้ราคาของทองคำพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลังๆ 
● ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลกอันเกิดจากความขัดแย้งและนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจตะวันตกกับจีน) และการระบาดของ โควิด-19 ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในทองคำมากขึ้นเพราะเป็นสินทรัพย์ที่ถือว่าพึ่งพาได้ในยามสับสนวุ่นวาย 
● ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจซึ่งนำไปสู่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและความไม่สงบในตะวันออกกลาง ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้นในโลก และกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อทองคำมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง
● ความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ กลายเป็นแรงผลักดันให้มีการลงทุนในทองคำมากขึ้น 

ในอนาคตอันใกล้ ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจและการเมืองของโลกยังจะเป็นจริงอยู่ต่อไป บวกกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง จะยิ่งดันให้ความต้องการถือและราคาทองคำขยับตัวสูงขึ้นไปอีก บางสำนักคาดการณ์ว่าราคาทองคำโลกในปีหน้าอาจขึ้นไปถึงระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ หรือกว่า 48,000 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท (เทียบกับ 2,500 ดอลลาร์ในปัจจุบัน)

ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า ทองคำให้อัตราผลตอบแทนที่ดีและสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งมีความผันผวนค่อนข้างน้อย นักลงทุนทั่วไปจึงควรจัดหาทองคำไว้ในพอร์ตการลงทุนเพื่อประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยงและการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองรวมทั้งความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ การมีทองคำประมาณ 10% ของพอร์ตการลงทุนน่าจะเหมาะสมและไม่ทำให้ต้องเสี่ยงกับราคาทองคำมากเกินไป 

สำหรับนักลงทุนที่ “ใจถึง” และเชื่อว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นอีกในปีสองปีข้างหน้า การซื้อทองคำเก็บไว้สูงถึง 25% ของพอร์ตในวันนี้ก็ไม่น่าจะหวือหวามากจนเกินไป

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
วันพุธที่ 28 สิงหาคม
ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีอี เตือน ระวัง เฟคนิวส์ 'ชวนลงทุนทองคำ' หวั่นตกเป็นเหยื่อ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ชวนลงทุนหุ้นทองคำ รับเงินปันผล 390-980 ต่อวัน รับรองโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ” รองลงมาคือเรื่อง “บัญชีไลน์ไอดี Bk040319 ชักชวนให้ลงทุน รับรองโดยสำนักงาน ก.ล.ต.” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือสร้างความวิตกกังวล ความเชื่อ และความเข้าใจคลาดเคลื่อนให้กับประชาชนในสังคม

เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..

ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง

ตลาดหุ้นกู้ กับ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ตลาดหุ้นกู้จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างราว 4.5 ล้านล้านบาท  จำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนก็เพิ่มขึ้นมาก  ไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน  แต่มีทั้งบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น

โอกาสของการพัฒนาภาคเกษตรไทย

ภาคเกษตรเคยเป็นพระเอกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูประชากรให้มีความอิ่มหนำสำราญ สร้างโอกาสให้คนไปทำงานอื่น ๆ แถมยังสร้างชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศด้วย

โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล

การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย