นักเศรษฐศาสตร์ก็มีความกังวลในเรื่องนี้ เรื่องที่เราเห็นได้ชัดคือเรื่องค่าเสียโอกาส ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ถ้าไปทำเรื่องอื่นที่อัดฉีดได้เร็ว ลงไปโดยมีเป้าที่ชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา สภาวะเศรษฐกิจก็อาจมีแรงขับเคลื่อนทางภาคการคลังได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
รัฐบาลของ "แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี" อยู่ในช่วงกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อรอการเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลอยู่ก็คือ
“การแก้ปัญหาปากท้อง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ”
ขณะเดียวกันนโยบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต" ของรัฐบาลเพื่อไทย ก็มีกระแสข่าวว่าจะยังคงเดินหน้าต่อ แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม โดยทั้งหมดต้องรอความชัดเจนหลังรัฐบาลเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ
“ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) กล่าวถึงภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ตลอดจนความเห็นเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หลังก่อนหน้านี้เคยร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว เมื่อหลายเดือนก่อนในช่วงที่ยังไม่มีการปรับรูปแบบการแจกเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้
-สภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่าวิกฤตหรือไม่ และ ณ ตอนนี้เศรษฐกิจของไทยยืนอยู่ ณ จุดไหนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก?
ถ้าเทียบกับคำว่าวิกฤต อย่างที่เราเคยเผชิญในอดีต หรือที่ประเทศอื่นๆ เผชิญ ผมว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤตรูปแบบนั้น คือเราไม่ได้มีวิกฤตในส่วนของสถาบันการเงิน ระบบสถาบันการเงินของเรายังมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง เรายังมีกันชนที่รองรับความผันผวน การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนในด้านของต่างประเทศที่เป็นต้นเหตุอันหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ ค.ศ. 1997 คือทุนสำรองระหว่างประเทศเราไม่เพียงพอ มีการกู้เงินตราต่างประเทศมาก และเมื่อเจอแรงกระแทกทำให้เราอ่อนไหว เราเซ ตอนนั้นระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ มันทำให้ไม่มีกลไกที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่วันนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศเราค่อนข้างสูง เราไม่ได้ขาดดุลบัญชีเงินสะพัดมากเหมือนกับอดีต
เพราะฉะนั้นในแง่ของเสถียรภาพด้านต่างประเทศของเราค่อนข้างดี แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไทยเป็นกังวลกันมาก ก็คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน
ปัจจัยสำคัญที่เป็นประเด็นปัญหาคือ เรื่องของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทย ที่อาจไม่มีการปรับโครงสร้างได้อย่างเท่าทัน ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เราเห็นประเทศที่เมื่อก่อนเคยล้าหลังเรา แต่วันนี้วิ่งตามมาใกล้กับเรา หรืออาจแซงเราไปแล้ว ดังนั้นการปรับเรื่องโครงสร้างจึงสำคัญ
เวลาพูดถึงเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ผมจะนึกถึงคำ 4 คำที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา เวลาที่ทำเรื่องนโยบายสาธารณะและมองโครงสร้างสภาวะเศรษฐกิจ
คำแรกคือ ผลิตภาพ Productivity คนไทยต้องเก่งขึ้น ต้องทำงานแล้วได้มูลค่าของที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลิตภาพของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องมานาน โดยเฉพาะในภาคการเกษตร เพราะเราไม่ได้ทำเรื่องที่สำคัญ เช่นการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ เป็นเรื่องน่าห่วง
เรื่องที่สองคือ Inclusivity การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง-เท่าเทียมกัน เรามีความเหลื่อมล้ำสูง เวลาที่เศรษฐกิจต้องผ่านบางสภาวะเช่นโควิด ทุกครั้งที่ผ่านสภาวะแบบนี้ คนที่อยู่ด้านล่างของพีระมิดจะถูกกระแทกแรง เราถึงเห็นปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง กิจการแบบเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถแข่งขันได้ แต่คนที่อยู่บนยอดพีระมิดเขาไปต่อได้ แต่ทำให้ช่องว่างมันจะยิ่งถ่างกันมากขึ้น
เรื่องที่สามคือ ภูมิคุ้มกัน (Immunity) เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ คำถามคือเรามีกันชนรองรับแรงกระแทกมากน้อยแค่ไหน เสถียรภาพด้านต่างประเทศเราค่อนข้างดี เจอปรากฏการณ์ต่างประเทศเราไม่เซมากเหมือนเมื่อก่อน แต่ถ้ามองไปในอนาคต ด้านฐานะการคลังจะเจอกับแรงกดดันมาก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุจะสูงขึ้นมาก
เรื่องที่สี่ Adaptability หรือความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะวันนี้เราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่มาก ที่นอกเหนือจากสังคมผู้สูงอายุแล้ว ก็คือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนหลายอาชีพที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้จะเกิดผลกระทบแรงมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ด้านล่างของฐานพีระมิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับทุกคน แต่เราพูดถึงน้อยมากในประเทศไทยคือ Adaptation to Climate Change เรากำลังเกิดวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ ที่ไม่ใช่แค่อุณหภูมิสูงขึ้น แต่จะมีผลกระทบในภาคเกษตร เพราะประชากรของประเทศไทยอาจจะสักประมาณครึ่งหนึ่งพึ่งรายได้จากภาคเกษตร ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่เรายังอาจไม่ได้ตั้งรับไว้ดีพอ
เรื่องทั้งหมดไม่ใช่ว่ามีมาตรการเดียวแล้วจะแก้ได้หมดทุกอย่าง อย่างเรื่องโครงสร้างต้องมีมาตรการจัดการที่เราเรียกว่า Supply-side คือมาตราการด้านเศรษฐกิจจะมีสองมาตราการใหญ่ๆ คือ ด้าน Demand กับด้าน Supply ด้านดีมานด์ เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว ก็อัดเงินลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายการเงินการคลัง ลดดอกเบี้ยโดยหวังว่าเศรษฐกิจจะมีสภาพคล่องมากขึ้น แต่มาตรการทางดีมานด์อาจจะช่วยแก้ปัญหาตามวัฏจักรของเศรษกิจ เช่น เศรษฐกิจขาลงก็อัดทางด้านดีมานด์ แต่ปัญหาข้างต้นที่คุยกัน 4 เรื่อง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องอาศัยมาตรการทางด้านซัพพลาย ต้องเข้าไปแก้ไขในแต่ละเรื่อง
สำหรับมาตรการด้านซัพพลาย ตัวอย่างที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับทุกคนและสามารถทำได้ ก็เช่นระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่าง PromptPay หรือคิวอาร์โค้ด ที่ช่วยยกระดับผลิตภาพของประเทศ และมีอิมแพ็กที่ค่อนข้างแรง เรื่องเกี่ยวกับดิจิทัลยังทำได้อีกมาก ที่จะสร้างรากฐานใหม่ๆ ที่จะเป็นระบบของเศรษฐกิจ ระบบการเงินใหม่ๆ ที่การทำต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน มาตรการด้านซัพพลายควรเกิดขึ้นเยอะๆ และทุ่มเททรัพยากรเพราะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต
-มาตรการเหล่านี้ที่ก็ใช้เงินไม่มากเท่าใด แต่หากเรานำงบประมาณสัก 4 แสน 5 หมื่นล้านบาท หรือ 5 แสนล้านบาท มาทำมาตรการทางเศรษฐกิจที่เป็นมาตรการดีมานด์อย่างที่บอก สามารถทำได้เยอะมาก?
ผมก็คิดว่าอย่างนั้น และจะเป็นการลงทุนที่จะเกิดผล เกิดคลื่นออกไป อย่าง PromptPay เห็นเลยว่ามันเปลี่ยนบริการเยอะมาก สร้างโอกาสใหม่ๆ และตอบโจทย์คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม จากเมื่อก่อนประเทศไทยมีต้นทุนการโอนเงินสูงที่สุดประเทศหนึ่ง อย่างคนขับแท็กซี่เขาต้องโอนเงินกลับบ้านให้ครอบครัวทุกวัน บางวันหามาได้ 300-400 บาท การโอนเงินถ้าโอนเงินข้ามเขตก็เสียค่าธรรมเนียม 20-25 บาท หรือเอสเอ็มอีที่ขายสินค้าออนไลน์ แต่หากระบบการชำระเงินมันไม่เอื้อ เขาก็ไม่สามารถขายได้
-น้ำเสียงของแบงก์ชาติก่อนหน้านี้ค่อนข้างกังวลกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้งบร่วม 5 แสนล้านบาทตอนต้น ตอนหลังเหลือ 4 แสน 5 หมื่นล้านบาท และอนาคตไม่รู้จะเป็นอย่างไร แบงก์ชาติเคยเสนอว่าหากนำเงินไปช่วยกลุ่มเปราะบางน่าจะตรงเป้ามากกว่า หากยังเป็นผู้ว่าฯ ธปท.อยู่จะเสนอความเห็นแบบเดียวกับผู้ว่าฯ ธปท.คนปัจจุบันหรือไม่?
เหมือนกันแน่นอน และคงไม่ใช่ผมคนเดียวด้วย หากจำได้ก็เคยมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ที่ผมก็ร่วมลงนามด้วย ที่ออกมาแสดงความเห็นชัดเจน
เพราะหลักเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ การทำนโยบายสาธารณะที่ดีต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน นักเศรษฐศาสตร์จะถูกสอนว่าทุกอย่างมีค่าเสียโอกาส คือเรานำงบไปทุ่มทำอย่างหนึ่ง แต่ก็จะเสียโอกาสที่จะทำเรื่องดีๆ เรื่องอื่น อย่างการเอาเงินไปทำเรื่องอื่น เช่นการไปลงทุนสำหรับทำเรื่อง Supply Side หรือเรื่องการศึกษา มันอาจได้ผลดีกว่ามาก ยิ่งถ้าทำแบบเหวี่ยงแหที่แสดงว่าเป้าหมายไม่ชัดเจน เมื่อเป้าหมายไม่ชัดเจนจะทำให้กันรูรั่วต่างๆ ยาก ทำไปแล้วอาจไหลออกไปนอกประเทศก็ได้
-ที่ตอนนั้นร่วมลงชื่อคัดค้านดิจิทัลวอลเล็ตกับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะเหตุผลใด?
ก็หลายเรื่อง เรื่องแรกเพราะเราไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ที่คุ้มค่ากับการใช้เงิน และมันบั่นทอนความมั่นคงฐานะการคลังของประเทศด้วย ถ้าเรานำเงิน 5 แสนล้านบาทไปทำเรื่องที่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันเรายังมีภาระอื่นๆ อีกเยอะ เช่นเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราต้องมีกระสุนอยู่ในมือ เพราะสภาวะเศรษฐกิจโลกแม้จะฟื้นตัวแต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่เยอะ และความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์โลกก็กำลังรุนแรงขึ้นมาก
ดังนั้นต้องมีกระสุนที่พร้อมใช้ การที่เราจะไปใช้งบประมาณในเรื่องที่ยังบอกไม่ได้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นจะเป็นเท่าใด ผลก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลก็เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลจะต้องกู้ แค่ประกาศว่าจะกู้ ดอกเบี้ยมันขึ้นไปแล้ว พอกู้ก็เป็นต้นทุนให้กับทุกคนในสังคม อันนี้ยังไม่ต้องนับถึงข้อกังวลในเรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้อาจถึงจุดที่เราต้องกลับมามองโดยถอยหลังมาก้าวหนึ่ง แล้วดูในภาพใหญ่ว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายสาธารณะของประเทศไทยไปทำเรื่องที่สำคัญ เรื่องที่จำเป็น ทำด้วยความมั่นใจว่าจะเกิดประสิทธิผล เกิดความเหมาะสม เพราะเรามีนโยบายสาธารณะที่สร้างผลข้างเคียงที่ทำความเสียหายให้กับประเทศมาค่อนข้างมาก
มองย้อนกลับไปก็อย่างเช่นนโยบายจำนำข้าว อันนั้นชัดเจนมากว่าใช้เงินเยอะ และทำลายโครงสร้างของตลาดข้าว ทุกวันนี้ก็ยังชำระหนี้ตรงนั้นไม่หมด หรือนโยบายรถยนต์คันแรก ที่รัฐบาลให้เรื่องภาษีสำหรับซื้อรถคันแรก ฟังดูก็มีเหมือนกับมีเป้าหมายดี คือช่วยแก้ปัญหาอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็คือ ขายรถได้ดีปีเดียว แต่ปีต่อไปคนซื้อล่วงหน้าไปหมดแล้ว ยอดขายก็ตกทันที
นโยบายเกี่ยวกับดีมานด์ที่อัดฉีดแรงๆ มันจะเกิดผลในปีที่สองปีที่สาม ถัดไปเมื่อนโยบายอ่อนแรงลง ในภาคธุรกิจไม่มีใครขยายกำลังการผลิตเพื่อมาตอบโจทย์ปีเดียว เขาต้องมองความต่อเนื่อง อีกเรื่องหนึ่งคือคนไปกู้กันเยอะ ทำให้ช่วงนั้นหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น เพราะไปออกรถใหม่เพื่อจะได้เงินชดเชย ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เป็นเรื่องสำคัญที่การออกนโยบายสาธารณะต้องคิดให้รอบคอบ
วันนี้ที่น่ากังวลหากพูดถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในภาคการเมืองเขาก็ต้องชัดเจนคือต้องมีนโยบายหาเสียง ซึ่งช่วงหลังไปให้น้ำหนักกับประชานิยม หวังผลสั้นๆ มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันภาคราชการ ข้าราชการก็ต้องยืนหยัด และต้องนำเสนอนโยบายที่มองประโยชน์ระยะยาวของประเทศ ไม่ใช่หวั่นไหวไปตามแรงกดดันของภาคการเมือง
ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ก็ยังมีความกังวลในเรื่องนี้ อย่างเรื่องที่เราเห็นได้ชัดคือเรื่องค่าเสียโอกาส ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ถ้าไปทำเรื่องอื่นที่อัดฉีดได้เร็ว ลงไปโดยมีเป้าที่ชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา สภาวะเศรษฐกิจก็อาจมีแรงขับเคลื่อนทางภาคการคลังได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ โดยหากดูตัวเลขของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเห็นได้ชัดว่าที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ส่วนหนึ่งเพราะเงินของภาครัฐไม่ได้ออก ปัจจัยหนึ่งก็เพราะเราตั้งรัฐบาลช้า งบประมาณออกมาช้า แต่การที่เราไปกันงบกลางไว้สำหรับเฉพาะโครงการเพียงโครงการเดียวที่ยังมีความไม่แน่นอน ค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นก็คือโครงการที่กระทรวง กรมต่างๆ เขาจะไปทำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เงินตรงนั้นก็ลดน้อยถอยลง ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงค่าเสียโอกาส ต้องดูการทำอย่างไรที่จะทำให้นโยบายสาธารณะ ที่เรามีความคลางแคลงใจ มีความไม่มั่นใจ และสร้างผลเสียระยะยาวมันออกยากขึ้น ขณะเดียวกันมันมีโจทย์เรื่อง Supply Side โจทย์ที่ต้องการนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์อนาคตของประเทศอีกมาก ทำอย่างไรที่จะทำให้นโยบายสาธารณะเหล่านั้นมีพื้นที่มากขึ้น
-ถึงตอนนี้ที่บอกว่าจะเป็นการกระตุก กระชากเศรษฐกิจ (ดิจิทัลวอลเล็ต) มันเลยเวลามาแล้วใช่หรือไม่?
การที่จะกระตุก กระชาก มันเหมือนกับการจัดการด้านดีมานด์ มันก็ช่วยได้ คือธรรมชาติเศรษฐกิจพอใส่เงินลงไป มันก็ดีขึ้นมา มันเหมือนคนไม่สบายแล้วให้ออกซิเจน ให้ยาแรงๆ ให้ยากระตุ้นแรงๆ ร่างกายก็สดชื่นขึ้นมา เสร็จแล้วปัญหาโครงสร้างภายใน ปัญหาโรคอะไรต่างๆ ที่เป็นปัญหาสุขภาพของเรามันไม่ได้รับการรักษา แต่เงินนำไปซื้อออกซิเจนซื้อยาหมดแล้ว เงินที่จะนำมารักษาเรื่องกระดูกเรื่องกล้ามเนื้อมันก็มีลดน้อยถอยลง
-ที่ผ่านมา ธปท.ถูกรุกเร้าให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย หากเป็นผู้ว่าฯ ธปท.จะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย?
ผมไม่ได้ตามข้อมูลเศรษฐกิจใกล้ชิด แต่ท่านที่เป็นผู้กำกับนโยบายย่อมมีข้อมูลมากกว่าผมที่เป็นคนสังเกตการณ์อยู่ข้างนอก แต่ว่าสิ่งที่คนเราเข้าใจผิดคือ เวลาที่เราลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผลที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการเงิน ผลที่เราคิดว่าอาจจะเกิดขึ้น อาจจะเป็นหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่ง เพราะว่าต้องทำงานผ่านกลไก และเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ถ้าจะทำให้เกิดผลแรงๆ กับระบบเศรษฐกิจ ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเยอะๆ ไม่ใช่ลด 0.25 หรือ 0.50
อย่างช่วงวิกฤตโควิด สมัยนั้นมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงแบบแรง ถึงจะส่งผ่านไปถึงธนาคารพาณิชย์ที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงด้วย แต่การที่เราทำเรื่องอัตราดอกเบี้ย เราต้องคำนึงถึงการส่งผ่านของนโยบายไปสู่ระบบการเงิน ธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจโดยรวม ต้องมองบริบทของโลกเพราะเงินมันไหลเข้าไหลออก ถ้าอัตราดอกเบี้ยของเราต่างกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศมาก เงินจะไหลออก แล้วค่าเงินจะอ่อนค่าลง ก็จะกลับมาเป็นต้นทุนเรื่องน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่เราต้องนำเข้ามา ดังนั้นเราต้องหาสมดุล
-เรื่องนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ให้มีการเปิดกาสิโน ซึ่งจะมีการออกกฎหมายมารองรับ และมีใบอนุญาตประกอบการที่อาจจะมีราคาเป็นหลักหมื่นล้านบาท มองว่าจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยได้หรือไม่?
อาจจะช่วยให้มีรายได้ มีคนเข้ามาเล่น แต่ผมว่าเป็นนโยบายที่ฉาบฉวย คือไม่ได้เป็นนโยบายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนในภาพใหญ่ และผลข้างเคียงก็มีเยอะ ก็มีคนที่ศึกษากันเยอะ ทำไมหลายประเทศถึงไม่ยอมให้มีกาสิโนในประเทศ ผมว่ามันมีผลข้างเคียงทางสังคมเยอะมาก คือเราจะต้องคิดนโยบายที่ตอบโจทย์ เรื่องการเพิ่มผลิตภาพของประเทศในระยะยาว แต่ถ้าเรามัวแต่วุ่นกันหา Quick Win แล้วก็ทำอย่างเช่น กาสิโน กัญชา นึกไม่ออกว่าจะทำให้คนไทยเก่งขึ้นในระยะยาวได้อย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .
คกก.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นัดประชุมครั้งแรก 19 พ.ย. ถกแจกเงินดิจิทัลรอบใหม่
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ไม่เลิก MOU 44 ได้สอง-เสียสาม !
คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ
อันตราย! ดร.วิรไท ปลุก 11.11 อย่ายอมการเมืองครอบงำแบงก์ชาติ ทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย
ดร.วิรไท ปลุก 11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย
พฤศจิกายน ศาลรธน. รับคำร้องคดี ทักษิณ-พท. ล้มล้างการปกครองฯ
ความคืบหน้าคำร้องคดีสำคัญทางการเมือง กรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1