เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ระหว่าง วันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๗ ได้รับนิมนต์จากวัดป่าญาณสัมปันโนอารยาราม (ธ) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และจากฝ่ายปกครองอำเภอเชียงแสน .. แม่สาย .. แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในโครงการร้อยใจธรรม ... ร้อยอำเภอ “บูชาราชธรรม” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งสนับสนุนโดย กรมการปกครอง นับเป็น อำเภอที่ ๒๔-๒๕ และ ๒๖.. โดยจะดำเนินการต่อเนื่องให้ครบร้อยอำเภอทั่วประเทศ เพื่อการเผยแผ่อำนาจธรรมจากการบูชาราชธรรมไปให้ทั่วแผ่นดินไทย เพื่อจักได้ดำรงไว้ในความเป็นแผ่นดินธรรม .. แผ่นดินพระพุทธศาสนา อันเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรือง.. ความสงบสุขร่มเย็นของประเทศชาติสืบไป ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณแด่พสกนิกรชาวไทย
แม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูกาลมรสุม.. แต่ด้วยอำนาจแห่งธรรมก็ย่อมผ่อนคลายปัญหาอุปสรรคออกไป ให้สามารถปฏิบัติงานตามโครงการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะเป็นโครงการที่ดำเนินไปด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่งยวด.. ซึ่งไม่ว่าจะไปสู่อำเภอใด.. สถานที่ใด.. ก็เป็นไปเพื่อการเจริญภาวนา แผ่เมตตา.. บิณฑบาต ปฏิบัติศาสนธรรม..
ความเข้าใจในคำว่า “สุคโต” ของพระพุทธองค์ยิ่งแจ่มแจ้งขึ้นในความหมายที่เกิดจากความเข้าใจในการปฏิบัติตน จาริกไปตามอำเภอ..ชุมชนต่างๆ ที่นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการได้บูชาคุณของแผ่นดิน โดยการน้อมนำ “ราชธรรม” ไปกล่าวสาธยายบูชา.. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักปกครอง ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่จะได้ศึกษาทศพิธราชธรรม ดังที่กล่าวเป็นบาลีว่า..
“ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ ”
ดังที่กล่าวเบื้องต้นของราชธรรม คือ ทานํ .. ที่แปลตรงๆ ว่า การให้.. ซึ่งจะต้องคู่กับการรับ คือ คหณะ
เมื่อพูดถึง การให้ จะต้องคำนึงถึงการรับด้วย.. จึงต้องกล่าวถึง ผู้ให้และผู้รับ ว่าใน ระบบธรรมาธิปไตย ที่อิงอาศัยทศพิธราชธรรมนั้น ว่ามีคุณสมบัติเป็นอย่างไร และอะไรคือประโยชน์แท้จริงที่เกิดขึ้นจากการให้
การให้กับการรับ.. จึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ที่ดีงามให้เกิดขึ้น ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง.. ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน.. ระหว่างพระธรรมราชากับพสกนิกร...
ในส่วน สีลํ ข้อนี้ จริงๆ แล้ว ดูเป็นเรื่องปกติกับสังคมบ้านเรา ไม่น่าจะโดดเด่นอะไรมากนัก แต่จริงๆ แล้ว ตัวศีล หรือ สีลํ นี้แหละสำคัญยิ่งต่อนักปกครอง.. ผู้บริหารประเทศชาติ.. เพราะศีลจะเป็นเครื่องประกันคุณธรรมความดีของผู้ปกครองในสายตา.. ในความรู้สึกของผู้ใต้ปกครอง.. ที่สำคัญยิ่ง ในผู้ปกครอง.. ผู้นำ.. ผู้บริหารประเทศชาติ ที่จะต้องมีศีล เพราะจะเป็นเครื่องประกันความดีงามของตน เพื่อเป็นแบบอย่างของผู้ใต้ปกครอง จะได้เป็นหลักให้กับประชาชนในการดำเนินชีวิตที่จะยึดผู้ปกครองเป็นแบบฉบับ
เราต้องยอมรับว่า.. การใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองล้มเหลวในวันนี้.. การใช้อำนาจหน้าที่ของข้าราชการไม่เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรมต่อประเทศชาติในวันนี้ เพราะผู้มีบทบาทหน้าที่ในสังคม ไม่มีศีล โดยเฉพาะศีล ๕ ซึ่งเป็น คุรุธรรม ของมนุษยชาติ.. หรือที่เรียกว่า หลักมนุษยธรรม ที่หมายถึง ผู้ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ๕ ซึ่งบุคคลที่มีศีล เมื่อประกอบกิจอันใดจึงเกิดผลสัมฤทธิ์ตามประสงค์ ดังในการทำทานของผู้มีศีล ที่ย่อมขยายประโยชน์ในผลแห่งทานนั้น เพราะผลแห่งศีลที่เกิดขึ้นในบุคคลที่ทำทาน..
“ปริจฺจาคํ” ที่แปลว่า การสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จึงเกิดขึ้นได้ใน บุคคลที่มีศีลที่รู้จักการให้ (ทานํ) .. โดยจะ พัฒนาการให้ .. สู่การเสียสละ เพราะเป็นผู้เห็นคุณประโยชน์ของการมีศีลที่นำไปสู่ความสุข.. โภคะ และความสงบเย็น
“ปริจฺจาคํ” จึงเกิดขึ้นได้ในบุคคลที่มีจิตใจสูง.. มีคุณธรรมขั้นพรหม ด้วยการมีจิตเมตตากรุณา.. ที่สำคัญยิ่งของการเสียสละ.. การบริจาคที่เรียกว่า ปริจฺจาคํ นั้น จะนำไปสู่การผูกสัมพันธภาพทางจิตใจ ระหว่างผู้เสียสละกับผู้ได้รับประโยชน์จากการเสียสละนั้นไปตราบนานเท่านาน.. ดังปรากฏในผู้ปกครองที่มี ราชธรรม ในข้อนี้ที่จะได้รับการยกย่องเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ ในความรู้สึกของผู้รับ.. ผู้ใต้ปกครอง.. ประชาชนสืบตลอดไป...
ที่สำคัญประการหนึ่งของผู้เสียสละ คือ การเบาบางจางคลายจากการยึดมั่นยึดถือ.. ภาระแห่งความเห็นแก่ตัว ความอยากได้ ความแข็งกระด้าง ด้วยอำนาจกิเลสจะค่อยๆ สิ้นไปจนก่อเกิดความซื่อตรงในจิตใจ ที่เรียกว่า อาชฺชวํ ที่กินความหมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริต และความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ
ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ปกครอง.. ย่อมทำให้สังคมประเทศชาติ เข้าสู่เส้นทางตรง จะดำเนินไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มกำลัง.. ด้วยความซื่อตรงจักสร้างพลังธรรมอันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นในหมู่มหาชน ที่จะเคารพกันและกัน ไว้วางใจกันและกัน อันจะนำไปสู่อำนาจหรือพลังธรรมเพื่อแผ่นดินทันที.. ขอเพียงมีผู้นำสังคมเป็นผู้ซื่อตรง.. เป็นต้นแบบของสังคมประเทศชาติ ในความเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต.. ที่จะนำเด็กๆ เยาวชน และประชาชนไปในทิศทางเดียวกัน
คนในสังคมปัจจุบันมักจะแย้งว่า.. ซื่อตรงเกินไปก็ไม่ดี.. ผู้นำที่เก่งต้องคดบ้าง โกงบ้าง จึงจะดี โดยเฉพาะต้องโกงมาเพื่อแจกจ่ายให้พวกตนด้วย จึงมีคติของคนกลุ่มหนึ่งว่า
“การคดงอมีได้ และไม่ควรถือว่าเป็นการไม่ชอบไม่ควร หากยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและประเทศชาติด้วย”
การกล่าวอย่างนั้นในทางโลกอาจจะไม่ผิดแปลกมากนัก แต่หากเคารพในธรรมแล้วนั้น ย่อมยากที่จะรับได้ เพราะมันไม่สามารถหลีกหนี อำนาจแห่งกรรม ไปได้เลย ดังพระบาลีที่ว่า..
วโส อิสฺสริยํ โลเก
แปลว่า อำนาจเป็นใหญ่ในโลก ในอำนาจทั้งปวง อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุด
ความซื่อสัตย์สุจริต.. ความซื่อตรง จึงย่อมแตกต่างไปจากความคดงอทุจริต อย่างสิ้นเชิง ภายใต้อำนาจของกรรม.. ซึ่งผู้ปกครองที่มั่นคงในราชธรรม.. จะต้องคำนึงเสมอ เพื่อจะได้ไม่ผิดพลาด ใจอ่อนไปตามกระแสโลก จนกลายเป็นใช้ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ ผิดเพี้ยนไป.. และให้กลับมาเป็นโทษกับตนเอง
ความซื่อตรง.. ความซื่อสัตย์.. เกิดมีในจิตใจของผู้ใดแล้วนั้น.. ผู้นั้นย่อมมีจิตใจที่ดีงาม อ่อนโยน สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน ตีตัวเสมอท่าน.. ไม่ดูหมิ่นใคร ที่เรียกว่า มีความเป็นผู้อ่อนโยน คือ มทฺทวํ
ผู้ปกครองที่มีความอ่อนโยน แต่เข้มแข็ง ย่อมได้รับการเชิดชูสรรเสริญ ตั้งไว้ในจิตใจของผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนสืบตลอดไป..
การอดทน-การอดกลั้น ที่เรียกว่า ตปํ ก็จะเกิดขึ้น.. ที่จะนำไปสู่การเพียรปฏิบัติอย่างไม่ท้อถอย โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติชอบ ละอคติทั้งปวง.. โดยเผาทิ้งด้วย อำนาจตบะ (ตปํ) จะก่อเกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมในสังคม..
บุคคลที่มีความอดทน-อดกลั้นจนเป็นตบะ เพียรเผากิเลสให้สิ้นไปได้ จะเป็นผู้ชนะใจตนเอง.. ชนะซึ่งความโกรธ สู่ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ)
ความไม่โกรธ.. เป็นเรื่องยากมากในหมู่คนผู้ใช้อำนาจ.. แต่หากเข้าใจการใช้ ธรรมให้เป็นอำนาจ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น.. คำนึงถึงจิตใจของผู้อื่นอยู่เสมอ.. ความไม่โกรธก็จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความรัก.. ความเข้าใจในบุคคลนั้นๆ...
ความไม่เบียดเบียน (อวิหึสํ) ก็จะเกิดขึ้น.. จะถือคติธรรม ไม่ก่อความทุกข์ยากลำบากให้กับใครๆ เลย อย่าว่าแต่ตนเอง.. ที่สำคัญยิ่ง คือ แปลความไม่เบียดเบียนเป็นการกระทำที่สร้างสรรค์ พัฒนาชุมชน สังคม ประเทศชาติ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง พึงพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น อันเป็นผลจากความดีของคน ที่อดทนอดกลั้นต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อความเจ็บใจ ด้วยการมี ขันติธรรม ประจำใจ ว่า.. อดทนได้ เป็นความสุขสวัสดี ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงในการกระทำความเพียรชอบอย่างมีสติปัญญา เพื่อความประพฤติที่ไม่คลาดไปจากธรรม ที่เรียกว่า อวิโรธนํ
ศีลธรรมจะกลับคืนมาสู่มนุษยชาติ โลกจะสงบสุข.. ประชาชนจะตั้งมั่นอยู่ในสุจริตธรรม.. ประพฤติตน และเคารพธรรม เมื่อสังคมมนุษยชาติมีธรรมเป็นธง.. ความร่มเย็นเป็นสุขย่อมเกิดขึ้นโดยธรรม.. แท้จริง และนี่คือคุณของ ทศพิธราชธรรม .. ที่ผู้ปกครองแผ่นดินทุกยุคทุกสมัย ต้องให้ความเคารพอย่างซื่อตรง แท้จริง.. มิฉะนั้น.. จะต้องรับผลจากการจาบจ้วงล่วงเกินอำนาจราชธรรมอย่างแสนสาหัส.. เชื่อเถิดโยม!!.
เจริญพร
dhamma_araya@hotmail.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า