ศาลรธน.กับคำตัดสินอันตราย ยุบ ”ก้าวไกล” สร้างดาบสองคม เอาผิดยาก 44 ส.ส.เสนอแก้ 112

ศาลรธน.คงพิจารณาแล้วเห็นว่า การตีความกฎหมายและวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลรธน. ในทิศทางนี้ก็รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงและส่งสัญญาณไม่ให้พรรคการเมืองมาก้าวล่วง และเกิดความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างๆ  ศาลรธน.อาจจะมองว่า คือวิธีการในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การยุบพรรคการเมืองที่มีประชาชนโหวตเลือกมากที่สุด เป็นพรรคการเมืองที่มีส.ส.มากที่สุด เพราะเหตุที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แทนที่คำวินิจฉัยจะทำให้คนพูดน้อยลง กลับดึงเอาสถาบันเข้ามาอยู่ในบทสนทนาของคนจำนวนมากในสังคมโดยไม่ได้ตั้งใจ  การยุบพรรคเพราะเหตุที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นเหมือนดาบสองคม

แม้ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลาสิบปีไปเมื่อ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งแกนนำพรรคและอดีตส.ส.ก้าวไกล ก็ได้เปิดตัวย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่อย่างเป็นทางการที่จะใช้ชื่อว่า พรรคประชาชน ไปแล้วเมื่อ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในคดียุบพรรคก้าวไกล ยังมีประเด็นให้ควรต้องศึกษา-วิเคราะห์และพูดถึงในเชิงข้อกฎหมายอีกหลายประเด็น

เพราะอย่างขณะนี้ มีความพยายามจากบางฝ่ายต้องการเร่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิดและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้เอาผิดอดีตส.ส.พรรคก้าวไกลสมัยที่ผ่านมารวม 44 คน กรณีร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 จนถูกมองกันว่า วิบากกรรมทางการเมืองของคนจากพรรคก้าวไกลอาจไม่จบแค่ผลคำตัดสินคดียุบพรรคของศาลรธน.ก็ได้ 

“ไทยโพสต์”สัมภาษณ์พิเศษ นักกฎหมาย-นักวิชาการ ที่ติดตามการวินิจฉัยคดีของศาลรธน.มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อถามถึงมุมมองและผลกระทบทางกฎหมายและการเมืองกับคำตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล นั่นก็คือ"รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

เริ่มต้นบทสนทนา โดยที่"ดร.มุนินทร์"ให้ทัศนะว่า คำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลดังกล่าว ได้ส่งสัญญาณอันตรายต่อระบบและหลักการทางกฎหมายสองเรื่อง

ผลกระทบประการแรก คือ ผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การปกครองจะต้องยึดโยงกับเสียงประชาชน ที่แสดงออกผ่านผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น ความเข้มแข็งของพรรคการเมือง จะมีผลต่อความเข้มแข็งของประชาธิปไตย หากเมื่อใด ประชาธิปไตยอ่อนแอ พรรคการเมืองก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอตามไปด้วย

ตามหลักประชาธิปไตยสากล การยุบพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามถ้าจำเป็นต้องมี ก็ต้องเกิดขึ้นในฐานะเป็นข้อยกเว้นที่ใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย ในทางสากลมีความเข้าใจร่วมกันว่า ข้อยกเว้นที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดดังกล่าว ก็คือสถานการณ์ที่พรรคการเมืองพยายามที่จะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คำนิยามของการกระทำที่เป็นการล้มล้างนั้น ศาลและองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมาธิการเวนิส" (Venice Commission) ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป หรือแม้กระทั่งศาลฎีกาของประเทศอังกฤษ ก็ได้เคยวางหลักไว้ชัดเจนว่า ต้องเป็นการล้มล้างการปกครองโดยใช้กำลังหรือความรุนแรง เช่น เมื่อพรรคการเมืองพยายามที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยการปลุกระดมให้ประชาชนใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรง หรือการปลุกระดมให้ทหารก่อการปฏิวัติ-รัฐประหารล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วเปลี่ยนเป็นระบอบการปกครองอื่น เช่น เปลี่ยนเป็นระบอบสังคมนิยม หรือมาร์กซิสต์ นี่ความหมายที่เคร่งรัดของการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในความเข้าใจในระดับสากล และในเฉพาะสถานการณ์แบบนี้เท่านั้น ศาลจึงจะมีความชอบธรรมที่จะยุบพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามกฎหมายของไทยกำหนดเหตุในการยุบพรรคการเมืองไว้กว้างกว่านั้น

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 92 ถึงเหตุต่างๆ ที่จะนำไปสู่การให้ยุบพรรคการเมืองได้ โดยพบว่ามีการบัญญัติเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้ กว้างกว่าเหตุแห่งการยุบพรรคตามหลักสากล

บางคนอาจให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของระบบกฎหมายไทย ที่มีการกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองไว้ให้แตกต่างหลักสากล โดยกำหนดให้กว้างกว่า ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ว่าการตีความเหตุต่างๆ และกระบวนการพิสูจน์ความผิดมาตรา 92 ของพรบ.พรรคการเมืองฯ ยังคงต้องกระทำอย่างเคร่งครัดและระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ซึ่งยังคงสอดคล้องกับหลักการตีความและวิธีพิจารณาสากลว่าด้วยการยุบพรรค กล่าวคือ คำวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง จะต้องมาจากกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรมและรอบคอบ โดยที่พรรคหรือคนที่ถูกกล่าวหา ควรจะต้องได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตั้งแต่ในชั้นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทางกกต.ต้องให้โอกาสกับผู้ถูกกล่าวหา ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ ได้รับทราบข้อกล่าวหาและได้นำพยานหลักฐานเข้ามาพิสูจน์แก้ข้อกล่าวหา ซึ่งในชั้นการไต่สวนของศาลรธน.ก็เช่นเดียวกัน

..ในทุกชั้นของกระบวนการพิจารณาคำร้องคดียุบพรรคการเมือง จะต้องวางอยู่บนหลักการนี้ เพราะว่าการยุบพรรคการเมือง มันไม่ควรเกิดขึ้นโดยง่าย ถ้าจะเกิดการยุบพรรคการเมือง จะต้องเกิดจากกระบวนการที่ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบอย่างยิ่งและให้โอกาสกับผู้ถูกร้องต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

ถ้าได้ฟังการอ่านคำวินิจฉัยและเอกสารเผยแพร่ของศาลรธน.จะพบว่า มีคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการในกระบวนการพิจารณาคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลทั้งในชั้นของกกต. ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าได้มีการไต่สวนและให้โอกาสผู้ถูกร้องอย่างเต็มที่ ในขณะที่กระบวนพิจารณาของศาลรธน. ก็ไม่มีความชัดเจนและแน่นอน ตอนแรกดูเหมือนศาลรธน.จะเปิดโอกาสให้ไต่สวน แต่สุดท้ายก็สั่งยุติกระบวนพิจารณาโดยไม่มีการไต่สวนใดๆ ก่อนจะมีคำวินิจฉัยในท้ายที่สุด

 จึงเห็นได้ว่า กระบวนการในทางกฎหมายมีความไม่ชัดเจนและเกิดคำถามมากมาย คำวินิจฉัยของศาลรธน.จึงออกมาพร้อมกับความไม่ชัดเจนและคำถามเหล่านั้น โดยเฉพาะคำถามที่ว่า  ศาลรธน.ได้พิจารณาคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างรอบคอบและเป็นธรรมแล้วหรือไม่

"ดร.มุนินทร์"กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบของคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่มีข้อสงสัย มีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของพรรค พอพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวนส.ส.มากที่สุด ถูกยุบ ผลกระทบต่อความรู้สึก ความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและระบบศาลของผู้สนับสนุนพรรคและคนทั่วไปย่อมมีมากกว่าปกติ จากจากนี้อาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยในสายชาวโลกอีกด้วย

นี่คือผลในทางความเป็นจริง พอยุบพรรคการเมือง ผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย ในแง่ของกฎหมายและการเมือง มันจะกว้างขวางตามขนาดของพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค

...อย่างที่มีแถลงการณ์ของบางประเทศต่อผลคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ออกมา ที่บอกว่า การยุบพรรคทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินถอยหลัง ที่ประชาธิปไตยเดินถอยหลัง เพราะเมื่อพรรคถูกยุบ ระบบพรรคการเมืองก็จะอ่อนแอ ไม่ใช่แค่หนึ่งพรรคหายไป แต่พรรคที่เหลืออยู่ก็จะอยู่ด้วยความหวาดกลัวและระแวดระวังในการเสนอและปฏิบัติตามนโยบายบางอย่าง  เมื่อระบบพรรคการเมืองอ่อนแอเสียแล้ว การทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของนักการเมืองก็จะอ่อนแอไปด้วย ก่อให้เกิดผลร้ายกับสังคมในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในทางเศรษฐกิจและสังคม หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ตอนนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พรรคการเมืองอื่นๆ ก็กลัวที่จะถูกยุบพรรค โดยเฉพาะในเรื่องที่ศาลรธน.ส่งสัญญาณว่า หากมีการไปแตะบางประเด็นโดยไม่ระมัดระวัง ก็ทำให้พรรคการเมืองอาจถูกยุบพรรค เช่น กรณีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา แม้ว่าศาลรธน.จะบอกว่าแก้ได้ ศาลไม่ได้ห้ามแก้มาตรา 112 อย่างเด็ดขาด แต่ศาลรธน.ก็กำหนดเงื่อนไขว่า จะสามารถแก้มาตรา 112 ได้ถ้าทำผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ แต่ปัญหาว่า "โดยชอบ" หมายถึง โดยชอบของใคร โดยชอบของศาลรธน.หรือไม่ ถ้าใช่ แล้วศาลรัฐธรรมนูญชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร

ในความเป็นจริง ความคลุมเครือเช่นนี้ทำให้นักการเมืองที่พยายามจะเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 อาจเกิดความหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่า สามารถทำอะไรได้แค่ไหน ผลจึงเป็นว่าไม่ทำเสียเลยดีกว่า ผลของคำวินิจฉัยในความเป็นจริง คือ ทำให้คนไม่กล้าแตะมาตรา 112 เลย เพราะกลัวว่าถูกยื่นยุบพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้กว้างขวางให้ใครก็ได้ริ่เริ่มกระบวนการวินิจฉัยการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 แห่ง รธน.

เพราะฉะนั้นผลสำคัญประการแรกจากคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในคดียุบพรรคก้าวไกล  คือ ผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ยุบพรรคก้าวไกล คำวินิจฉัย ดาบสองคม

“ดร.มุนินทร์”ให้ทัศนะต่อคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในคดียุบพรรคก้าวไกล ต่อไปว่า นอกจากผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยของไทยแล้ว ยังมีผลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจาก "เหตุที่นำไปสู่การยุบพรรค" ไปเกี่ยวข้องกับ"สถาบันพระมหากษัตริย์" ซึ่งศาลรธน.คงพิจารณาแล้วเห็นว่า การตีความกฎหมายและวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลรธน. ในทิศทางนี้ก็รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงและส่งสัญญาณไม่ให้พรรคการเมืองมาก้าวล่วง และเกิดความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างๆ  ศาลรธน.อาจจะมองว่า คือนี่วิธีการในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุด

"แต่ในความเป็นจริงแล้ว การยุบพรรคการเมืองที่มีประชาชนโหวตเลือกมากที่สุด เป็นพรรคการเมืองที่มีส.ส.มากที่สุด เพราะเหตุที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แทนที่คำวินิจฉัยจะทำให้คนพูดน้อยลง กลับดึงเอาสถาบันเข้ามาอยู่ในบทสนทนาของคนจำนวนมากในสังคมโดยไม่ได้ตั้งใจ  การยุบพรรคเพราะเหตุที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นเหมือนดาบสองคม"

..คือในทางหนึ่งแน่นอนว่า อาจเป็นความตั้งใจดีของศาลรธน. ตั้งใจดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการพิทักษ์รักษา โดยการส่งสัญญาณว่า พรรคการเมืองไม่ควรไปแตะต้อง แต่ในทางตรงกันข้าม มันอาจไม่ได้ผล อย่างที่ศาลต้องการก็ได้ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าผลทางการเมืองที่จะตามมา จะเป็นอย่างไร เนื่องจากที่ถูกยุบพรรคไป เป็นพรรคใหญ่มาก มีคนเลือก14 ล้าน คน การยุบพรรคก็จะอยู่ในบทสนทนาและความทรงจำของคน 14 ล้านคนนี้หรืออาจจะมากกว่านั้น

เพราะฉะนั้น เราเลยไม่รู้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในความเป็นจริง มันจะเป็นอย่างที่ศาลรธน.คิดหรือไม่ ซึ่งผมเองก็บอกไม่ได้ แต่มันเหมือนเป็นการเดิมพัน ที่ไม่มีใครรู้ผลในความเป็นจริงว่าผลมันจะเป็นอย่างไร ก็อยากชวนให้คิดกันว่า วิธีการแบบนี้เป็นวิธีการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยั่งยืนและได้ผลดีอย่างที่ศาลรธน.คิดจริงหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป

โดยสรุป ผลกระทบประการแรกของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ ผลกระทบที่มีต่อทั้งระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้การเมืองไทยเกิดความถดถอย และผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ได้ตั้งใจ

"ดร.มุนินทร์"กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบที่สำคัญประการที่สอง คือ ผลกระทบในทางนิติศาสตร์ คำวินิจฉัยเป็นการสัญญาณอันตรายมากต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทย กล่าวคือ ภายใต้หลักการกฎหมายทั่วไป เวลาจะมีการตัดสิทธิ์ลงโทษบุคคล หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพบุคคลใดโดยองค์กรศาลหรือองค์กรวินิจฉัยใดๆ คำตัดสินจะต้องมาจากกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรมซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมเช่น ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา การให้โอกาสนำพยานหลักฐาน เข้ามาสืบหักล้าง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ กระบวนการพิจารณาที่ถูกต้องเป็นธรรมนี้ นักกฎหมายเรียกกันว่า due process ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองและเป็นหลักการพื้นฐานของนิติรัฐและประชาธิปไตย หลักการนี้เป็นเกราะป้องกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในแง่ที่ว่า องค์กรของรัฐจะไม่สามารถเอาประชาชนเข้ากระบวนการยุติธรรมและลงโทษตามอำเภอใจได้

ถ้าเราพิจารณากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลตามหลัก due process ประกอบด้วยกระบวนการชั้น กกต.ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในของกกต.เอง ซึ่งก็คือ พรป.พรรคการเมืองฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก่อนที่จะมีการยื่นฟัอง และกระบวนการพิจารณาในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญ

เราจะเห็นว่าข้อต่อสู้หลักประการหนึ่งของ พรรคก้าวไกล คือ การที่กกต.ไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาที่เป็น due process ของ กกต. เอง คือ การแจ้งข้อกล่าวหาและการจัดให้มีการไต่สวนเพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องได้เอาพยานหลักฐานมาหักล้าง ถ้ากระบวนการนี้ กกต. ยังไม่ได้ทำให้ครบถ้วน กกต. ก็จะไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณา

"ดร.มุนินทร์-อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"ย้ำว่า สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นอำนาจฟ้องของ กกต. และปัญหา due process ในคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ได้มีการอ่านเมื่อ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา รวมที่ปรากฏในเอกสารข่าวอย่างเป็นทางการของศาลรธน.ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนที่ ศาลพยายามที่จะเล่นกับถ้อยคำของมาตรา 92 เพื่ออธิบายความชอบธรรมว่าเหตุใด กกต. จึงไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการปกติของ due process  ทั้งๆ ที่การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ได้มีความยากเย็นใดๆ ในการที่จะทำให้ครบถ้วน การที่ศาลอธิบายว่า ในคดีนี้ กกต. สามารถยื่นยุบพรรคได้หากมีหลักฐานอันควรเชื่อ เป็นการส่งสัญญาณที่อันตรายมาก เนื่องจากหลักการของ due process เป็นหลักประกันสิทธิว่าการรับฟังพยานหลักฐานต้องเกิดจากกระบวนการที่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ แม้ว่าว่า กกต. จะเชื่อไปแล้วจากหลักฐานไม่กี่ชิ้น ภายใต้หลัก due process กกต. ก็ยังไม่สามารถมีคำวินิจฉัยได้จนกว่าปล่อยให้กระบวนการรับฟังพยานหลักฐานดำเนินไปจนสิ้นสุดกระบวนการ กล่าวคือ กล่าวคือจนกว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ตามกระบวนการ

..ผมต้องอธิบายแบบนี้ว่า Due process ไม่ใช่ระบบที่ให้อำนาจคนที่พิจารณาว่าจะรับฟังพยานหลักฐานแค่ไหนก็ได้ แต่เป็นระบบที่บังคับให้ผู้พิจารณาให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหาในการต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ คำวินิจฉัยที่เกิดจากกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ไม่ให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หรือทำผิดกระบวนการ ถ้าเป็นศาลยุติธรรม กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบของศาลล่างก็จะทำให้คำพิพากษาเสียไปด้วย และกระบวนพิจารณาก็จะถูกเพิกถอนโดยศาลสูง แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงศาลเดียว ถ้าศาลรัฐธรรมนูญดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ก็ไม่มีศาลไหนสามารถมาเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรเคร่งครัดกับ due process อย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดข้อคลางแคลงใจและเพื่อป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศาลรธน.เขียนอธิบายในเอกสารของสำนักงานศาลรธน.เหมือนว่า ขึ้นอยู่กับกกต. หากกกต.คิดว่า พยานหลักฐานเพียงพอแล้ว รับฟังแค่นี้ ก็ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ได้เลย มันเทียบเคียงกับคดีอาญา เช่น หากตำรวจจับบุคคลมาสักหนึ่งคน แล้วไม่ต้องสอบสวนตามกระบวนการอะไรมากก็ได้ แค่พอมีพยานหลักฐานบ้าง แล้วก็เชื่อว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด ส่งฟ้องไปอัยการ แล้วอัยการคิดว่าบุคคลดังกล่าวน่าจะกระทำความผิด แล้วส่งตัวฟ้องกับศาล ทางศาลก็เชื่อว่าบุคคลดังกล่าว ก็น่าจะกระทำความผิด โดยไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหา ได้มีโอกาสนำพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี ไม่ต้องไปสนใจกระบวนการตามกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วนก็ได้ เอาตัวไปส่งฟ้องกับศาล แล้วศาลก็พอเชื่อ แล้วพิพากษาลงโทษ ถ้าเทียบเคียงมันจะเป็นลักษณะแบบนี้

กรณีแบบนี้ วันดีคืนดี หากต่อไป เช่นมีคนไปร้องต่อกกต.ว่ามีบางพรรคการเมืองกระทำความผิดว่าทำผิดกฎหมายในเรื่องต่างๆ แล้วกกต.รับไปดำเนินการโดยที่กกต.มีพยานหลักฐานไม่มาก แล้วเชื่อว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำความผิด แล้วยื่นคำร้องเลย ไม่ต้องให้โอกาสอย่างเต็มที่ก็ได้ ไม่เป็นไร ซึ่งการตีความแบบนี้ ของศาล มันเป็นการส่งสัญญาณอันตราย เหมือนทำให้กกต. สามารถร้องหรือวินิจฉัยว่าใครทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นระบบประกันสิทธิของบุคคลที่ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ก็ได้

"มันเป็นเรื่องอันตรายมาก เป็นการเปิดโอกาส เป็นการส่งสัญญาณไปยังพวกที่อยากจะเป็นนักร้อง ที่ชอบไปยื่นร้องอะไรต่างๆ ก็ให้ไปร้องกับกกต.กันได้เลย แล้วกกต.ไม่ต้องให้โอกาสคนที่ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ก็ได้ ถ้า กกต. เชื่อว่าผิดแล้วแม้กระบวนการรับฟังพยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วน ก็ยื่นฟ้องไปได้เลย แนวทางนี้เป็นสัญญาณอันตรายอย่ายิ่งต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย"

...จุดดังกล่าว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่แปลก เพราะปกติแล้ว เวลาศาลต่างๆ จะพิจารณาคดี ศาลต้องตรวจสอบว่าคนที่ถูกฟ้อง ถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ การสู้คดีได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายครบถ้วนหรือไม่ มีการกลั่นแกล้งหรือไม่ ศาลต้องตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าพบว่ามีการกลั่นแกล้ง ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ผ่านกระบวนการก็ต้องยกฟ้องไป เพราะถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง แต่คดียุบพรรคดังกล่าว ศาลรธน.มาช่วยอธิบายว่า ทำไม กกต.ถึงมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อให้ไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการให้ครบถ้วนในการยื่นคำร้องก็ตาม

ซึ่งเรื่องนี้ในเชิงหลักการ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องอันตราย เพราะ  Due process เป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่มีข้อยกเว้น ใช้บังคับกับคดีทั่วไป ไม่ใช่แค่คดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่กับคดีทั่วไปอื่นๆ เช่นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง ต้องมีDue processหมด เพราะเป็นหลักการพื้นฐานที่ทำให้คนที่ถูกกล่าวหา ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้ง แต่ยังมีโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่สุดท้าย ศาลจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ แต่ต้องเอาพยานหลักฐานที่ได้มาจากกระบวนการเหล่านั้นมาชั่งน้ำหนักหรือมาพิจารณาดูว่า มันน่าเชื่อแค่ไหน เพราะแต่ละคดี จะมีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ต้องมาจากกระบวนการที่ต้องอยู่บนหลัก Due process เหมือนกันหมด ไม่มีข้อยกเว้น แต่คดียุบพรรคก้าวไกลดังกล่าว ศาลรธน.หาข้อยกเว้นให้กับกกต. ที่เป็นเรื่องอันตรายต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

หลักเกณฑ์คำวินิจฉัยไม่ชัดเจน ทำขยับแก้ 112 ลำบาก พรรคการเมือง กลัวถูกยื่นเอาผิด

...เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะการเสนอแก้กฎหมายเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติ...การเสนอแก้กฎหมายโดยลำพังตัวมันเอง เป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อให้กฎหมายที่เสนอมันอาจจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม มันก็ยังไม่ใช่การกระทำผิดกระทำชั่วใดๆ เพราะการเสนอกฎหมาย เป็นเพียงการโยนคำถามให้ผู้แทนประชาชนร่วมกันถกเถียงและหาทางออก ถ้าเราไปจำกัดว่าเรื่องใดเสนอได้หรือไม่ได้ ก็จะเป็นการไปจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกเช่นนี้

-การที่คำวินิจฉัยของศาลรธน.มีผลผูกพันทุกองค์กร โดยที่คำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล อ้างอิงคำวินิจฉัยคดีที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครอง แบบนี้ต่อไป การจะทำอะไรเกี่ยวกับ  112 จะถูกปิดประตูเลยหรือไม่ เพราะคนที่คิดอาจจะขยับ ก็อาจเกรงว่าจะถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไปร้องกกต.ว่าล้มล้างการปกครอง?

               ประเด็นนี้ ขอพูดในสองมิติ คือในมิติข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

               โดยมิติในทางกฎหมาย ต้องบอกว่า ศาลรธน.ไม่เคยบอกว่า ห้ามมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลรธน.ไม่ได้บอกแบบนั้น

 เพราะฉะนั้นแล้วการจะเสนอแก้ไขมาตรา 112 ก็ยังพอเป็นไปได้ ยังทำได้ แต่จากคำวินิจฉัยของศาลรธน.เมื่อ 31 มกราคม 2567 (คดีล้มล้างการปกครองฯ) และคำวินิจฉัยเมื่อ 7 ส.ค. 2567 (คดียุบพรรคก้าวไกล) มันมีความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจนว่า แบบไหนที่เป็นการเสนอแก้กฎหมายแล้วจะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกันแน่ มันมีความไม่แน่นอน  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค. 2567 ศาลรธน.บอกว่าการเสนอแก้กฎหมายสามารถทำได้ โดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ แต่คำว่า"โดยชอบ"ไม่มีใครรู้ว่า หมายถึงอะไร ห้ามแตะเรื่องไหนกันแน่ -ห้ามย้ายหมวดในประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ , ห้ามลดโทษหรือไม่ หรือว่าทำได้แค่เสนอแก้ให้มีการเพิ่มโทษ ที่มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย

ในทางกฎหมายต้องบอกว่า คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.ดังกล่าว ไม่ได้ปิดประตูเรื่องแก้ 112 แต่ด้วยความที่ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ให้ละเอียดชัดเจน มันก็ต้องเป็นเรื่องคาดเดาว่า จะต้องทำอย่างไร ถึงจะเป็นการเสนอแก้กฎหมายโดยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

มันจะนำมาสู่ผลในทางข้อเท็จจริงข้อที่สอง ก็คือ เมื่อหลักเกณฑ์ในคำวินิจฉัย มันไม่ชัดเจน และเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะหากมีการไปแตะเรื่องนี้ แล้วเข้าเหตุที่ศาลรธน.เห็นว่า เข้าเหตุแล้ว ต่อให้คุณเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด ก็ต้องถูกยุบพรรค ประกอบกับหลักเกณฑ์ที่ไม่แน่นอนว่า ทำได้แค่ไหน

ผลในทางความเป็นจริงก็คือ ทำให้นักการเมือง พรรคการเมืองก็ไม่อยากแตะเลย อยู่ห่างๆ ไว้ ดีที่สุด แล้วมันก็จะมีผลต่อเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่น การจะเสนอให้มีการนิรโทษกรรมฯ (คดี 112) ก็ยังมีคำถามที่ยังมีการพูดคุยกันอยู่ก็คือ สมควรจะนิรโทษกรรมบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือตกเป็นจำเลยในคดี 112 ดีหรือไม่

พอเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้พวกนักการเมือง จะบอกว่าไม่เอาดีกว่า อย่าไปยุ่งเลย หากไปยุ่งจะกลายเป็นปัญหา เพราะเป็นเรื่อง sensitive  ซึ่งมันไม่ใช่ว่าไม่มี คือผลในทางเฉพาะหน้า ก็คือ จะกดคนไม่ให้พูดเรื่องนี้ เลิกไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้ แต่คำถามที่ตามมา ก็คือ การใช้อำนาจทางกฎหมายที่จะส่งผลทางกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ในการกดคนไม่ให้แตะหรือไม่ให้พูด มันเป็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืนจริงๆ หรือไม่ คนทั่วไปจะรู้สึกจริงๆ หรือไม่ว่าปัญหามันจบแล้ว  ไม่ต้องพูดกันอีกแล้ว หรือว่ามันเป็นเพียงการซื้อเวลา  ผมคิดว่าไม่มันใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะที่คนไม่พูด ก็เพราะว่ามันมีการตีความและการบังคับกฎหมายในแนวทางนี้อยู่

-ในเชิงกฎหมายคิดว่า กรณีที่ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คนสมัยที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันก็เป็นส.ส.กันหลายคน มีคนไปร้องให้ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิดส.ส.ก้าวไกลว่าทำผิดฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ กรณีร่วมกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯ คิดว่าในทางกฎหมายสามารถเอาผิดได้หรือไม่?

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะการเสนอแก้กฎหมายเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติ

 ต้องไม่ลืมว่า การที่ศาลอ้างเหตุแห่งการสั่งยุบพรรค ไม่ได้วินิจฉัยโดยอ้างจากเหตุของการเสนอแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังอ้างถึงการกระทำของ สส. ในหลายการกระทำและในหลายวาระด้วยกัน

เพราะฉะนั้นแล้ว การเสนอแก้กฎหมายโดยลำพังตัวมันเอง เป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อให้กฎหมายที่เสนอมันอาจจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม มันก็ยังไม่ใช่การกระทำผิดกระทำชั่วใดๆ เพราะการเสนอกฎหมาย เป็นเพียงการโยนคำถามให้ผู้แทนประชาชนร่วมกันถกเถียงและหาทางออก ถ้าเราไปจำกัดว่าเรื่องใดเสนอได้หรือไม่ได้ ก็จะเป็นการไปจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกเช่นนี้

แบบนี้ ต่อไป หากส.ส.ไปเสนอร่างพรบ.ต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่อง 112 แต่เป็นเรื่องอื่น ที่อาจมีการมองว่าเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ อย่างเช่นที่ก่อนหน้านี้ มีการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร หรือเสนอกฎหมายทำให้การพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือเรื่องกัญชา แล้วมีคนไปร้องศาลรธน.แล้วศาลรธน.บอกว่า การเสนอกฎหมายแบบนี้มันไม่ชอบ ไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม -คุณธรรม แล้วจะมีคนไปยื่นให้ตรวจสอบพวกส.ส.ที่ไปเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายลักษณะดังกล่าวที่เป็นเรื่องหมิ่นเหม่ ต่อศีลธรรมหรือไม่

คือมันจะมีความเสี่ยงเยอะมาก มันจะไปกระทบกับการทำหน้าที่ทางฝ่ายนิติบัญญัติของส.ส. เพราะว่าเขาไม่ได้ไปเรียกร้องให้ไปทำอะไรนอกรัฐสภา แต่ว่าเป็นการกระทำตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเขาในการทำหน้าที่ส.ส. คือก็เสนอเข้าสภาฯ แล้วก็ไปอภิปรายกันในสภาฯ จะพอใจหรือไม่พอใจ อย่างไร ก็ไปว่ากันในสภาฯ ที่สภาฯ ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธร่างกฎหมายนี้ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมมองไม่ออกว่าการเสนอแก้กฎหมายโดยผ่านกระบวนการของสภาฯ มันจะเป็นเรื่องของการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้อย่างไร

 แต่ว่าบ้านเรามันก็ไม่แน่ เพราะอย่างที่หลายคนบอก คือหลายเรื่องอาจจะเป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ก็มีคนสงสัย ตั้งคำถามลักษณะแบบนี้มาตลอด เพราะบางทีในทางกฎหมายมันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้าย มันก็เกิดผลบางอย่างทางกฎหมายขึ้นมา คนก็สงสัยว่า ทำไมหลักการตามกฎหมายมันเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมันกลับเป็นไปได้ คนก็เลยบอกว่าเป็นเพราะเป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเราก็บอกอะไรไม่ได้ แต่หากมองในเชิงกฎหมาย มันไม่มีทางที่จะเป็นเรื่องที่จะบอกว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้เลย

-หากเกิดป.ป.ช.ชี้มูล 44 ส.ส.ก้าวไกลดังกล่าวขึ้นมา จนส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาไต่สวน  ทางศาลฎีกา ก็ต้องพิจารณาคดีโดยดูจากเรื่องของเจตนาเป็นสำคัญ?

ถูกต้องครับ เพราะกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ตามหลัก due process ศาลก็ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งจริงๆ ต้องตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการป.ป.ช. ที่หากจะรับเรื่องไว้ ก็ต้องมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน ที่ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ก่อนที่ป.ป.ช.จะมีมติใดๆ

 โดยหากป.ป.ช.มีการชี้มูลคดี ก็ต้องส่งศาลฎีกา ทางศาลฎีกา ก็ต้องตั้งองค์คณะพิเศษขึ้นมาพิจารณาคำร้อง โดยต้องมี due process คือมีการสืบพยาน มีการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ได้นำพยานหลักฐานเข้าพิจารณาคดีอย่างเต็มที่ก่อนศาลฎีกาจะตัดสินคดี 

ซึ่งการพิจารณาเรื่องความผิดคดีอาญาหรือการกล่าวหาว่าละเมิดฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ต้องมีเรื่องของเจตนา เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีการพิสูจน์ว่ามีเจตนาที่จะละเมิดจริยธรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาที่จะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายหรือต้องการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตามปกติ

และอย่าลืมว่าร่างกฎหมาย จะเป็นกฎหมายหรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการอีกมากมายในระบบรัฐสภา และต้องมีการโหวตของทั้งสองสภา ในอดีตแม้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดที่ออกมาแล้วถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติคนใดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวต้องรับผิดชอบทั้งในทางกฎหมายหรือในทางจริยธรรม

คำวินิจฉัยยุบพรรคที่มีปัญหา และไม่เป็นที่ยอมรับ

จะส่งผลกระทบต่อระบบในภาพรวม

ในตอนท้าย "ดร.มุนินทร์-นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"กล่าวสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ทุกครั้งเวลาศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจและบทบาทในการกำหนดทิศทางของระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วก่อให้เกิดคำถาม และข้อคลางแคลงใจจากสังคม มันจะส่งผลกระทบต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม แม้ว่าการยุบพรรคจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  แต่คำวินิจฉัยยุบพรรคที่มีปัญหาและไม่เป็นที่ยอมรับไม่ได้ส่งผลกระทบกับเฉพาะพรรคหรือตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่จะส่งผลกระทบต่อระบบในภาพรวม ทุกครั้งที่คนไม่เชื่อมั่น มีคำถามต่อศาลและกระบวนการยุติธรรม มันจะไปเซาะกร่อนบ่อนทำลายความเชื่อมันที่มีต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายก็จะผุพังจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

"สิ่งที่้คนรุ่นต่อมาต้องทำ ไม่ใช่การพัฒนาของดีที่มีอยู่แล้ว แต่ต้องเสียเวลากับการซ่อมแซม เพราะแต่ละคดีที่เกิดขึ้นมา มันเหมือนกับเป็นการทุบกระบวนการยุติธรรมลงไปแต่ละครั้ง แต่ว่าจะทุบเบาๆ หรือทุบหนักๆ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพความร้ายแรงของแต่ละเรื่องแต่ละคดี เวลายุบพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดแล้วคนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม มันคือการทุบอย่างหนักลงไปในกระบวนการยุติธรรมของเรา ความเสียหายก็จะเกิดหนักหนาและเกิดผลเสียหายวงกว้างมากขึ้น ทำให้เราเสียเวลาเสียเวลาไปกับการซ่อมแซมความเสียหายเหล่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่น เขาวิ่งไปข้างหน้าพัฒนาไปไหนต่อไหน แต่ประเทศไทยเรายังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องแบบนี้

เวลาและทรัพยากรที่เราต้องสูญเสียไปกับการซ่อมแซมระบอบประชาธิปไตย กฎหมายและกระบวนยุติธรรมในประเทศของเรา เป็นเวลาที่เราน่าจะได้ใช้ไปกับการผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้า เป็นการสูญเปล่าของเวลาและทรัพยากรที่มหาศาล น่าเสียดายและน่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง" 

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จตุพร' ปลอบและปลุก อดทนเฝ้าคอยยังมีอีกหลายยก!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ศาล รธน.รับคำร้องคลาดเคลื่อน แม้ถูกเย้ยหยันหน้าแตก แต่ถัดจากนี้ไปขอให้ประชาชนอดทนเฝ้ารอสถานการณ์

อดีตสว.วันชัย สะใจ! โพสต์สมน้ำหน้า นักร้องถูกตบกระบาลหน้าคว่ำ หมอไม่รับเย็บ

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า สมน้ำหน้า นักร้องถูกตบกระบาลหน้าคว่ำ หมอไม่รับเย็บ....

ที่ปรึกษาของนายกฯ โชว์กึ๋นฟาด 'พลังขวาสุด' จับวาระชาตินิยมเปิดทางอำนาจนอกระบบ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 6 ข้อกล่าวหาพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง หุ้นไทยพุ่ง

สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ

สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล

ที่บริเวณ​หน้าศาลรัฐธรรมนูญ​ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์