7 ส.ค. 'ก้าวไกล' มีโอกาสรอด ไม่ถูกสั่งยุบพรรค ในมิติการเมือง-กฎหมาย-ต่างประเทศ

ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องมีการไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนด้วยการจะไปยุบพรรคก้าวไกล เพราะจะเกิดความคับแค้น-ความเห็นใจ ... ถ้าก้าวไกลโดนยุบพรรค จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี หากการเมืองขั้วที่เหลืออยู่ เห็นหมดเสี้ยนหนาม ก้าวไกลหายไประยะหนึ่ง จะยิ่งลำพองใจ สมัยก่อนก็เคยเห็นกันแล้ว ได้มา 377 เสียง ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง... เชื่อว่าผลการลงมติของตุลาการศาลรธน.ในคดียุบพรรคก้าวไกลวันที่ 7 สิงหาคม จะไม่ออกมาแบบเอกฉันท์   

การเมืองเดือนสิงหาคม หลายฝ่ายบอกว่าเป็นเดือนที่อุณหภูมิการเมืองจะสุดร้อนแรง เพราะมีคดีสำคัญทางการเมืองที่รอผลการวินิจฉัย คำตัดสินคดีจาก ศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ คดียุบพรรคก้าวไกล ที่ศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัยวันพุธที่ 7 ส.ค.

และสัปดาห์ถัดไป ก็เป็นคดีที่ 40 อดีต สว.ชุดที่แล้วยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

โดยหากผลทางคดีออกมาเป็นคุณแก่ผู้ถูกร้อง คือพรรคก้าวไกลกับนายกฯ เศรษฐา การเมืองก็คงนิ่งสงบ แต่ถ้าออกมาตรงกันข้ามคือเป็นโทษ-ไม่เป็นคุณ การเมืองในภาพใหญ่จะกระเพื่อมแรงแน่

ก่อนถึงวันที่ 7 ส.ค.ที่เป็นวันชี้ชะตาพรรคก้าวไกล มีความเห็นและการวิเคราะห์ทิศทางคดีจาก ชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มีประสบการณ์ผ่านคดียุบพรรคของศาล รธน.มาแล้ว ซึ่งความเห็นของ ชำนาญ-อดีตแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ นั้นเชื่อว่า พรรคก้าวไกลมีโอกาสรอดจากการถูกยุบพรรค ส่วนว่าเพราะเหตุใดถึงมีความเชื่อดังกล่าว ทั้งที่แวดวงการเมืองประเมินว่าพรรคก้าวไกลน่าจะไม่รอด ลองมาติดตามกันดู

"ชำนาญ" เกริ่นนำคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลว่า คดีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจาก คดีล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยในคดีที่มีการร้องขอให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ โดยในคำวินิจฉัยกลางของศาล รธน.สั่งห้ามพรรคก้าวไกล การกระทำตามคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ให้มีการยุบพรรคการเมือง เพราะการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง และหลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ส่งคำร้องให้ศาล รธน.มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยในช่วงที่ตั้งแต่หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา จนสุดท้าย กกต.มีการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล หลายฝ่ายก็เชื่อกันว่าพรรคก้าวไกลถูกยุบแน่นอน  จนเมื่อศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย พรรคก้าวไกลก็มีการสู้คดีโดยหยิบยกประเด็นต่างๆ มาเป็นข้อต่อสู้ เช่นกระบวนการพิจารณาของ กกต.ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และระเบียบ กกต.

...สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ ในมุมมองของผม มองว่าเรื่องประเด็นเชิงกฎหมายไม่ได้มีประเด็นอะไรให้ต้องพิจารณาเลย เพราะอย่างการที่ สส.พรรคก้าวไกลในสมัยที่ผ่านมา ที่มีการเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้เป็นความผิด  เพราะเป็นการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติ และหลักทั่วไปไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใดที่เคยมีในประเทศไทย จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 29 มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้"

ซึ่งหลักนี้หลายคนอาจโต้แย้งว่าเป็นการพูดถึงเรื่องคดีอาญา แต่ว่าเมื่อพิจารณาเรื่องการยุบพรรค ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วยิ่งหนักกว่าคดีอาญาเสียอีก เพราะอย่างโทษคดีอาญา แบ่งเป็นทั้งประหารชีวิต จำคุก กักขัง ยึดทรัพย์สิน แต่ว่าคดียุบพรรคก้าวไกลที่พรรคก้าวไกลถูกร้องไป โทษตามคำร้อง หากศาลไม่ยกคำร้อง ก็คือตัดสินให้ประหารชีวิตทางการเมือง  ก็เทียบเท่ากับการประหารชีวิต ก็สอดคล้องกับหลักสากล ไม่ว่าจะเป็นหลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ, หลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ก็มีการกำหนดไว้ว่า การกระทำต่างๆ ถ้าในขณะนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดความผิดไว้ให้ลงโทษผู้กระทำการไว้ แล้วจะมาลงโทษทีหลัง มันเป็นไปไม่ได้

..ในกรณีที่เกิดขึ้นพบว่า การหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาปี 2566 พรรคก้าวไกลได้ส่งนโยบายหาเสียงให้ กกต.ดูทั้งหมด และเชื่อโดยสนิทใจว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิด ที่สำคัญหลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยคดีที่ 3/2567  ออกมา พรรคก้าวไกลก็หยุดการกระทำทันที มีการถอดนโยบายเรื่องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์พรรค และคนในพรรคก้าวไกลก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการที่จะอ้างว่าก้าวไกลมีการกระทำความผิด จึงนำหลักนี้ไปจับไม่ได้ และประเด็นที่เหลือในเชิงประเด็นกฎหมายก็ไม่มีอีกแล้วที่จะไปลงโทษพรรคก้าวไกลได้

หากยุบก้าวไกล เกิดผลกระทบ ศาล รธน.เจ้าภาพประชุมเวทีนานาชาติ ไทยสมัครเป็นสมาชิก (UNHRC)

ชำนาญ-อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าววิเคราะห์ต่อไปว่า ยิ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันอย่างที่เราทราบกัน ศาล รธน.คือศาลที่ ตัดสินคดีการเมือง ผมก็มองว่าอีกไม่นานต่อจากนี้ศาล รธน.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย  (AACC) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2567 ที่กรุงเทพมหานคร (มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ และสถาบันเทียบเท่าจากประเทศสมาชิก 18-19 ประเทศเดินทางมาเยือนประเทศไทย)

"เขาจึงทำคดีให้เสร็จก่อนการประชุม ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ก็ไม่รู้ว่าจะแบกหน้าไปคุยกับเขาได้อย่างไร เพราะการที่จะสั่งยุบพรรคการเมือง มันต้องเป็นเรื่องร้ายแรงมากๆ"

..นอกจากนี้ ช่วงปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังรณรงค์อย่างหนัก เพื่อสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในวาระปี ค.ศ. 2025-2027 ซึ่งเท่าที่ทราบถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่แค่เฉพาะคดี 112 ที่จะพบว่าเกือบทุกคดีจะไม่มีการให้ประกันตัวยกเว้นแค่บางคดี เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว แล้วยิ่งหากจะมายุบพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถ้าแบบนี้ก็ปิดประตูตายได้เลย ไม่ต้องไปลุ้นให้เหนื่อย 

แกนนำคณะก้าวหน้า-ชำนาญ ยังกล่าวต่อไปถึงความเชื่อที่ว่า 7 ส.ค.นี้ พรรคก้าวไกลน่าจะได้ข่าวดีว่า ในเชิงประเด็นการเมืองหากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล จะทำให้การเมืองไทยเหลือเพียงขั้วเดียว ซึ่งประสบการณ์ในอดีต ก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร เกิดเหตุการณ์อะไร แต่หากยังคงให้มีพรรคก้าวไกลอยู่ ก็ยังทำให้เกิดการคานกัน การถ่วงดุลกันได้อยู่

..ที่สำคัญหากไม่มีการยุบพรรคก้าวไกล แต่จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ในคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่ศาลสั่งห้ามพรรคก้าวไกลกระทำการใดๆ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตรงนี้ก็จะ ค้ำคอพรรคก้าวไกล อยู่ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไปในเรื่อง 112 แต่หากมีการยุบพรรคก้าวไกล แล้วมีการไปตั้งพรรคการเมืองมาแทนก้าวไกล พรรคการเมืองตั้งใหม่ก็จะไม่ใช่คู่กรณีหรือคู่ความตามคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองอีกต่อไปแล้ว เพราะก้าวไกลโดนยุบพรรคไปแล้ว พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาแทนก็จะไม่เกี่ยวอะไรกับก้าวไกลอีกต่อไป คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อพรรคใหม่

และที่สำคัญก็คือ อันนี้ผมสันนิษฐานเฉยๆ ไม่ได้มีข้อมูลอินไซด์อะไรก็คือ เขาอาจจะแตกเป็นสองพรรคก็ได้ อย่างเช่น หลังมีการยุบพรรคพลังประชาชน แล้วมีการตั้งพรรคเพื่อไทย  แต่ต่อมาช่วงเลือกตั้งปี 2562 ก็มี "พรรคประชาชาติ" ที่เน้นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, นโยบายเกี่ยวกับพี่น้องชาวไทย-มุสลิม อันนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ คือ พรรคหนึ่งก็เน้นไปทางเดิม อีกพรรคหนึ่งก็เป็นแบบทั่วไป  เพราะหลายคนที่เคยเลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็อาจบอกว่าอยากเลือกก้าวไกล แต่ขอได้ไหมประเด็นนี้อะไรต่างๆ ยังติดใจในประเด็นนี้อยู่ เช่นเคยบอกว่าไม่มีเรื่องนี้ได้หรือไม่ เขาก็อาจทำแบบสองพรรค พรรคหนึ่งก็ไปชูเรื่องแก้ 112 ไปเลย ส่วนอีกพรรคหนึ่ก็ชูนโยบายทั่วๆ ไป แต่จริงๆ แล้วก้าวไกลก็ไม่เคยมีนโยบายยกเลิก 112 มีแต่บอกว่าแก้ไข 112 ซึ่งการเสนอแก้ 112 ไม่ผิดอยู่แล้วจะผิดได้อย่างไร

..การยุบพรรคก้าวไกล ก็จะเหมือนกับการยุบพรรคอนาคตใหม่แบบที่ผ่านมา คือยุบเสร็จเขาก็คงเตรียมไว้แล้ว ผมก็ไม่เชื่อว่าเขาไม่ได้เตรียมไว้ สส.ก้าวไกลและสมาชิกก้าวไกล ก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ที่มาแทนก้าวไกล ที่ก็อาจต้องมีสะดุดมีขรุขระบ้างระยะแรก เช่นงานธุรการ งานด้านการสมัครสมาชิกพรรค เรื่องงานสาขาพรรค

และที่สำคัญในเชิงประเด็นการเมือง ที่ผมเชื่อว่าการยุบพรรคจะยิ่งแปรความคับแค้นอย่างคนที่อยู่กลางๆ เอง เขาก็จะมีความเห็นใจ จนกลายเป็นคะแนนให้มาอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น กับการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า และตามด้วยเทศบาล, อบต., กรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา ถ้ายิ่งไปทำแบบนี้ คนก็จะยิ่งเลือกผู้สมัครท้องถิ่นของพรรคใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ดูได้จากที่ก้าวไกลได้ สส.และมีสมาชิกพรรคมากกว่าสมัยอนาคตใหม่

"ชำนาญ" วิเคราะห์ทิศทางคดีพรรคก้าวไกลต่อไปว่า เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ผมเชื่อว่าฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งหลายก็คงคิดเก็บไว้ก่อนดีกว่า เพราะเรื่องแกนนำ-ผู้นำพรรคที่จะมาแทน ไม่ต้องห่วง ก้าวไกลมีเยอะ มีหลายแถวหลายคน คนที่มาแทนอาจไม่ได้เป็นคนเด่นๆ ที่คนมองกันอยู่ เพราะอย่างตอนยุบอนาคตใหม่ พอหมดยุคธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร  แสงกนกกุล ก็ยังมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นมาแทน หากเอาพิธากับชัยธวัชไปดองไว้ ก็ยังมีคนอื่นขึ้นมาแทนได้อีกเยอะ

ผมเคยอยู่อนาคตใหม่มา ผมรู้ดีว่าคนที่มาทำงานให้พรรค หลายคนไม่ได้หวังผลหวังตำแหน่ง เขาก็ไปทำงานเบื้องหลังให้พรรค อย่างชัยธวัชเมื่อก่อนก็ทำงานอยู่เบื้องหลังพรรคอนาคตใหม่

“เชื่อว่าไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องมีการไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนด้วยการจะไปยุบพรรคก้าวไกล”

..ส่วนเรื่องงูเห่าก็คงไม่เยอะ เพราะเห็นกันมาแล้วจากตอนยุบอนาคตใหม่ คนที่เป็น สส.ที่ย้ายพรรคไปตายเรียบ ไม่ได้เข้ามาเป็น สส.เลยสักคน ไม่ว่าจะเป็น สส.เขตหรือปาร์ตี้ลิสต์ ที่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหากคุณไปคุณก็ลำบาก ยกเว้นแต่จะยอมเสียอนาคตการเมืองไม่เอาแล้วสมัยต่อไป  แต่ว่ารัฐบาลเวลานี้เองก็มีเสียง สส.ร่วม 314 เสียง เขาก็ไม่ต้องการแล้วจะเอาไปเพิ่มอีกทำไม เอาไปก็ไม่มีค่า ไม่มีราคาอะไร ไม่เหมือนสมัยที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลเวลานั้นช่วงแรกๆ ก่อนยุบอนาคตใหม่มี สส.มากกว่าฝ่ายค้านไม่กี่คน จึงมีการดึงคนเข้าไป

เมื่อถามว่า จากที่ฟังมาข้างต้นก็คือเชื่อว่า หากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาก็จะยิ่งโตกว่าเดิม  เข้าลักษณะยิ่งยุบยิ่งโต ชำนาญ กล่าวตอบทันทีว่า "จริง  เพราะจะเกิดความคับแค้น ความเห็นใจ" ...ก้าวไกลก็อาจสะดุดแค่ช่วงแรกหากโดนยุบพรรค อาจเสียขวัญเสียกำลังใจ  ต้องใช้เวลาไปกับการทำงานเรื่องธุรการการตั้งพรรคมาแทน เช่นรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ แต่มองว่าคงไม่ใช่ลักษณะแบบไปตั้งพรรคใหม่เลย เพราะการตั้งพรรคใหม่ต้องใช้เวลาดำเนินการและอาจจะถูกสกัดได้ วิธีการก็คงทำแบบตอนอนาคตใหม่โดนยุบพรรค แล้วก็ใช้หัวพรรคผึ้งหลวง ที่ตอนนั้นจดทะเบียนกับ กกต.แล้วก็เปลี่ยนชื่อพรรค

ถ้าก้าวไกลโดนยุบพรรค จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

-มองว่าผู้มีอำนาจ กลุ่มชนชั้นนำ อาจต้องคิดมากพอสมควร หากอยากเห็นก้าวไกลโดนยุบพรรค คืออาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี?

ใช่ ถ้าก้าวไกลโดนยุบพรรคจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี  หากการเมืองขั้วที่เหลืออยู่เห็นหมดเสี้ยนหนาม ก้าวไกลหายไประยะหนึ่ง ก็จะยิ่งลำพองใจ สมัยก่อนก็เคยเห็นกันแล้ว ได้มา 377 เสียง ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง

-การที่ศาล รธน.ไม่ให้มีการเปิดไต่สวนคดี ทั้งคดียุบพรรคก้าวไกลและคดีนายกฯ เศรษฐา จากเดิมหลายฝ่ายคาดว่าน่าจะมีการเปิดห้องไต่สวน มองว่าอย่างไร?

ผมคิดว่าข้อเท็จจริงมันพอแล้ว ในส่วนก้าวไกลพูดกันตรงๆ แม้ว่าจะเคยอยู่ด้วยกันมา คือเขาอยากให้มีการไต่สวน เพื่อหวังให้ข้อมูลออกไปสู่สาธารณะ เพราะหากข้อความ คำพูดตอนไต่สวนได้สื่อออกไป อย่างเช่นคำวินิจฉัยครั้งก่อนคดีที่ 3/2567 ที่บอกว่า ฝ่ายการข่าวรายงานมาอย่างนั้น อะไรต่างๆ เขาก็อยากมีโอกาสได้ต่อสู้คดี ไม่ใช่เพียงเชื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แล้วก็เชื่อหมดหรือ พูดง่ายๆ หากให้ไต่สวนก็เข้าเนื้อ เหมือนสมัยก่อนหลัง 6 ตุลาคม 2519 มีการเรียกทหารอะไรต่างๆ มาไต่สวน ก็ยิ่งเข้าเนื้อ เลยต้องรีบนิรโทษกรรมฯ

และอย่างที่ผมบอกว่า ศาล รธน.เป็นศาลที่ตัดสินคดีการเมือง การเมืองมันพลิกผันได้ตลอดเวลา ผมเข้าใจเอาเองว่าตอนนี้มันนิ่งแล้ว เขาคิดว่าเขาชนะแล้ว เพราะแกนนำทั้งหลายก็ติดคุกติดตะรางกันเยอะแยะไปหมด ก้าวไกลก็โดนฟรีซเรื่อง 112 ทำอะไรก็ไม่ได้แล้ว เขาคอนโทรลได้หมดทุกอย่างแล้วเอาเฉพาะตอนนี้ และถ้าไม่ยุบก้าวไกลก็จะทำให้ก้าวไกลจะมีโซ่ค้ำคออยู่

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาจากที่ผมได้พบปะพูดคุยกับบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่เป็นชาวต่างประเทศ เช่น นักวิชาการ หรือเพื่อนในวงการทางการทูต ที่ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน พบว่าส่วนใหญ่เขาเชื่อว่าจะไม่มีการยุบพรรคก้าวไกล หรืออย่างเพื่อนผมที่เคยทำงานอยู่ฝ่ายความมั่นคงทั้งหลายที่ก็เป็นระดับสูง บางคนก็เป็นระดับนายพลแต่เกษียณอายุราชการแล้ว เขาก็เชื่อว่าไม่ยุบ ต่างบอกว่าจะยุบทำไม ยุบให้เปลืองตัวเปล่าๆ จะหาเรื่องทำไม

-เป็นไปได้หรือไม่ที่ศาล รธน.จะยกคำร้อง โดยอ้างเหตุเรื่องเทคนิคข้อกฎหมายว่า กระบวนการส่งคำร้องมาของ กกต.ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง และระเบียบ กกต.เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่ศาล รธน.เคยยกคำร้องคดียุบพรรค ปชป.กรณีเงินบริจาคเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้?

ก็มีโอกาส อย่างที่ผมบอกข้างต้น ศาล รธน.คือศาลที่ตัดสินคดีการเมือง ก็อยู่ที่ว่าเขาจะตัดสินไปทางไหน แต่ศาลรธน.มีคำวินิจฉัยที่ผูกพันเขาไว้แล้ว คือคำวินิจฉัยคดีที่ 3/2567 ที่บอกว่าการกระทำของก้าวไกลเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างฯ จึงสั่งห้ามการกระทำอีก แต่หากเขาจะวินิจฉัยออกมาตอนนี้ว่ามันไม่เป็นแบบนั้น มันก็จะขัดๆ กัน หากเขาจะยกคำร้องก็ต้องยกด้วยเหตุผลทางเทคนิค แต่จะใช้เทคนิคอย่างไรก็แล้วแต่ หากเขาจะไม่ลง (ยุบพรรค) แต่หากเขาจะลงก็ไม่ต้องพูดอะไรกัน ก็อ้างตามคำวินิจฉัย 3/2567

ผมเชื่อว่าผลการลงมติของตุลาการศาล รธน.ในคดียุบพรรคก้าวไกลวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะไม่ออกมาแบบเอกฉันท์ เหมือนตอนคำวินิจฉัยคดี 3/2567 อาจจะ 5 ต่อ 4  หรือ 6 ต่อ 3 อะไรประมาณนี้

แนวทางคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่จะออกมา จะมีแค่สองแนวทางเท่านั้น คือหนึ่ง ไม่ยุบพรรคก้าวไกล ส่วนหากจะออกมาเป็นแบบยกคำร้อง โดยระบุในคำวินิจฉัยว่า กระบวนการพิจารณาของ กกต.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย-ระเบียบของ กกต. ถ้าออกมาแบบนี้มันไม่ตัดสิทธิ์ที่ กกต.จะยื่นคำร้องเข้ามาใหม่อีกครั้งได้ เช่น หากตัดสินยกคำร้องด้วยเหตุว่า กกต.ไม่ได้ทำตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง ก็ยังทำให้กกต.สามารถไปเซตขึ้นมาใหม่ได้ อาจใช้เวลา 1-2 ปีก็ว่าไป  มันไม่ใช่การฟ้องซ้ำ เพราะฟ้องซ้ำคือการมาฟ้องคดีที่ตัดสินคดีไปแล้วแต่เป็นคดีประเภทเดียวกัน คู่ความคนเดียวกัน ข้อหาเดียวกัน มาฟ้องซ้ำอีก แต่ถ้าศาล รธน.ยกคำร้อง ก็หมายถึงทำไม่ถูกขั้นตอน ก็ยังให้ไปทำมาใหม่ได้ อันนี้ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอก แต่ก็อาจเป็นทางออกของเขา แต่มันก็จะเป็นชนักติดหลังพรรคก้าวไกลได้อยู่ว่า "อย่าดิ้นมาก" เดี๋ยวจะยื่นคำร้องไปศาล รธน.ใหม่ได้อีก ที่ก็ต้องไปตั้งอนุกรรมการไต่สวน มีการเรียกพยานอะไรไปชี้แจง กว่าจะเสร็จก็อาจถึงช่วงตอนเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า

แนวทางที่สองก็คือ ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งหากจะเป็นแบบนี้ก็แค่อิงคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ เมื่อ 31 ม.ค. 2567 ก็พอ อย่างไรก็ตามเรื่องการตัดสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้อง 10 ปีก็ได้ เพราะโทษ 10 ปีไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย หากจำกันได้ ตอนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ก็มีประธานศาล รธน.เวลานั้น ในคำวินิจฉัยส่วนตน ตัดสินให้ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตเลย แต่หลายคนให้ตัด 10 ปี จนในที่สุดก็ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี 

"แนวโน้มความเชื่อผมก็มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะยกคำร้อง ก็อาจจะออกมาไปในแนวทางว่า กกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน เพราะหากจะไปยกคำร้องว่าก้าวไกลไม่ผิด ทางศาลก็มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ค้ำคอเขาอยู่ ซึ่งหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับผม แต่ผมก็วิเคราะห์ทั้งเชิงวิชาการและข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และในทางการเมือง ก็ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ต้องไปยุบพรรคก้าวไกล".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราแบกความหวัง 14 ล้านเสียง แต่กลับจะถูกยุบด้วยองค์กร ที่อาจขาดความยึดโยงกับประชาชน

เราแบกความหวัง 14 ล้านเสียง แต่กลับจะถูกยุบด้วยองค์กร ที่อาจขาดความยึดโยงกับประชาชน ในช่วงนับถอยหลังรอลุ้นผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคก้าวไกล วันพุธที่ 7 สิงหาคม ก็มีมุมมอง-ทัศนะจากหนึ่งในนักการเมืองหน้าใหม่พรรคก้าวไกล

'นิพิฏฐ์' สอนมวยก้าวไกล ยกคดียุบพรรคมาเทียบกรณี ปชป. ไม่ได้ คนละประเด็นกัน

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า *กรณีการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล และ พรรคประชาธิปัตย์ -พรรคก้าวไกล ออกมาแถลงหลายครั้ง ทำนองว่า ในปี 2553 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัต

'อนาคตไกล' สับเละ 'ชัยธวัช-พิธา-ก้าวไกล' แถลงปิดคดีนอกศาล เรียกคะแนนสงสาร!

นายภวัต เชี่ยวชาญเรือ โฆษกพรรคอนาคตไกล กล่าวว่า ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงการณ์ปิดคดีนอกศาลโดยยกข้อต่อสู้ 9 ข้อในการต่อสู้นั้น ตนเห็นว่าการต่อสู้คดีต้องแถลงการณ์

'ชัยธวัช' เคลียร์กระแส 'ถิ่นกาขาวชาววิไล' พรรคสำรองก้าวไกล

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวสส.พรรคก้าวไกล ย้ายสังกัดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้พูดกันได้ แต่เรื่องยังไม่เ