ท่ามกลางกระแสข่าวสัญญาณเตือนภัยถึงวิกฤตการณ์ที่จะเกิดกับภาคการผลิตและการค้าไทยในตลาดโลก ทั้งกรณีที่สินค้าไทยถูกสินค้าต่างชาติแย่งตลาด รวมถึงกรณีสินค้าไทยเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกแล้ว ทั้งสองกรณีเป็นอาการที่ส่อถึงความถดถอยของศักยภาพในการแข่งขันของภาคการผลิตและการค้าไทยในสมรภูมิการค้าระหว่างประเทศ บทความนี้จะขอโอกาสนำเสนอมุมมองแบบย่นย่อ ประเมินความสามารถของไทยในเวทีการค้าโลก ผ่าน 2 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติ (Global Value Chains) ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆว่า GVC และทฤษฎีเส้นโค้งรอยยิ้ม (Smile Curve) เพื่อประกอบการพิจารณาว่านโยบายเรือธงที่รัฐพยายามจะผลักดันอยู่เป็นการเกาถูกที่คัน นำพาประเทศรอดพ้นจากวิกฤตความถดถอยในความสามารถในการแข่งขันได้จริงหรือไม่
การนำเสนอแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกชี้เป้าว่าศักยภาพด้านใดเป็นสมรรถนะสำคัญที่ต้องสร้างเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและทันกับการแข่งขันในเวทีการผลิตและการค้าโลก ตอนที่สองเป็นการนำเสนอกุศโลบายในการขยายฐานตลาด และสร้างอำนาจต่อรองและอิทธิพลกำกับและควบคุมทิศทางของตลาดในต่างประเทศ
1.ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในการค้าระหว่างประเทศ
ห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติหรือบางคนอาจเรียกว่า “Dispersed Manufacturing” เป็นโมเดลหรือรูปแบบที่จัดวางเครือข่ายการผลิตสินค้า ด้วยการซอยกระบวนการผลิตออกเป็นหลายส่วน และทำการกระจายฐานการผลิตของแต่ละส่วนไปอยู่ในพื้นที่ทำเลที่มีจุดเด่นเฉพาะตัวเหมาะสมกับการผลิตส่วนนั้นๆ ดังเช่นในรูปซึ่งเป็นตัวอย่างของ GVC ข้ามชาติของการผลิตกางเกงยีนส์ (1) ด้ายถูกผลิตจากโรงงานในเกาหลีใต้ (2) ด้ายถูกส่งไปทอเป็นผ้าและย้อมที่ไต้หวัน (3) ผ้าที่ได้มาถูกนำไปตัดเป็นชิ้นส่วนกางเกงที่บังคลาเทศ ในขณะที่ (4) ซิปผลิตในฟิลิปปินส์ (5) ทั้งชิ้นส่วนกางเกงและซิปถูกรวมนำมาเย็บเป็นกางเกงสำเร็จรูปในกัมพูชา และท้ายสุด (6) ผลิตภัณฑ์ถูกจำหน่ายไปทั่วโลก ทั้งนี้ รายงาน Global Value Chain Development ปี 2013 ของ UNCTAD ระบุถึงความสำคัญของโมเดล GVC ต่อเศรษฐกิจโลกว่า การค้าระหว่างประเทศมากกว่าร้อยละ 80 เกิดขึ้นภายใต้รูปแบบการผลิตแบบ GVC ของบรรดาบริษัทข้ามชาติ (Transnational Corporation, TNC) ที่มีอยู่ทั่วโลก
ทั้งนี้เครื่องจักร GVC ระหว่างประเทศจะเปล่งพลังได้สูงสุด จำเป็นต้องอาศัยความพร้อมใน 3 ปัจจัย คือ หนึ่ง ระบบ ICT เพื่อประสิทธิภาพในการประสานและเชื่อมโยงงานที่กระจายไปอยู่ตามประเทศต่างๆ สอง Trade Liberalization เปิดเสรีการค้ายกเลิกกำแพงภาษีระหว่างประเทศ รวมถึง Trade Facilitation อำนวยความสะดวกด้านพิธีการในการนำเข้าและส่งออกสินค้า และสาม เครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ทรงประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจว่า องค์กรการค้าระหว่างประเทศ และชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ซึ่งได้รับอิทธิพลและแรงกดดันจากธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้กำหนด GVC โลก จึงพร้อมกัน เรียกร้อง สนับสนุน และกดดัน ประเทศที่กำลังพัฒนา ให้เร่งดำเนินการเปิดเสรีทางการค้า อำนวยความสะดวกแก่การค้าและการขนส่ง (Trade & Transport Facilitation) รวมถึงลงทุนในการสร้าง Logistics Connectivity ด้วยการโปรยยาหอมว่า การดำเนินการเหล่านี้จะผลักดันให้ธุรกิจที่อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนามีโอกาสสูงขึ้นที่จะมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ GVC ระดับโลก ไม่ตกขบวนรถไฟโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหลายประการ อย่างไรก็ดี ถึงแม้การได้มีโอกาสเข้าร่วมใน GVC อาจจะสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจในประเทศที่กำลังพัฒนาบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเหมือนลืมหรือละเว้นที่จะพูดถึง คือ สุดท้ายแล้ว ผู้ประกอบการของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะผู้เป็นเจ้าของ GVC จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงกว่าคู่ค้ารายอื่นที่มาจากประเทศที่กำลังพัฒนาหลายเท่าตัว
ทั้งนี้ สมาชิกใน GVC เดียวกันได้รับผลประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน ลดหลั่นกันไปตามตำแหน่ง (Positioning) และบทบาทของผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลถึงอำนาจต่อรองที่ผู้ประกอบการมีอยู่กับ GVC นั้นๆ การเข้าร่วมกระแส GVC แบบไร้ยุทธศาสตร์ อาจสร้างผลดีในระยะสั้นในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศ แต่ในระยะยาว อาจไม่สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจของประเทศตามที่มุ่งหวัง จนถึงบางครั้งกลายเป็นกับดักสร้างความถดถอยต่อความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศได้ โดยรายงาน World Investment Report 2013 ของ UNCTAD เอง ยังได้เตือนผู้บริหารประเทศกำลังพัฒนาว่า การเข้าร่วมใน GVC มีความเสี่ยง ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างมียุทธศาสตร์ว่า จะส่งเสริมหรือไม่ส่งเสริมการเข้าร่วมใน GVC โดยจะต้องใช้กลยุทธ์การเข้าร่วม GVC ที่สอดรับกับกลยุทธ์การพัฒนาประเทศ ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจเปิด แทบจะเป็นภาคบังคับอยู่แล้วที่ไทยจะต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GVC แต่เราต้องรู้เท่าทันโลก และสามารถเลือกก้าวย่างที่ชาญฉลาดในการเข้าร่วมในกระแส GVC ที่ยึดโยงกับเป้าหมายการสร้างขีดวามสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนในเข้าร่วม GVC ของไทย
ทฤษฎีเส้นโค้งรอยยิ้ม ดังแสดงในรูป เป็นกรอบความคิดที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ช่วยฉายภาพการแบ่งจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกใน GVC ได้อย่างดี ทฤษฎีนี้นำเสนอโดยนาย Stan Shih ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ACER ซึ่งสรุปได้ว่า ธุรกรรมตลอดห่วงโซ่การค้ายุคใหม่สามารถแบ่งขั้นตอนการดำเนินการออกได้เป็นหลายขั้นตอนหลัก เริ่มด้วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบและการสร้างตราสินค้า การผลิต การตลาดและการกระจายสินค้า และการขายและบริการหลังการขาย ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนด้านปลายทั้ง 2 ข้างของเส้นโค้งรอยยิ้ม ปลายด้านหนึ่งจะเป็นการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปลายอีกด้านหนึ่งเป็นการกระจายสินค้าและการขาย ส่วนผู้รับจ้างผลิตที่ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง ไม่มีตลาดของตัวเอง ผลิตในลักษณะที่เรามักเรียกว่า Original Equipment Manufacturer (OEM) อาศัยการใช้แรงงานเข้มข้นที่ค่าแรงต่ำหรือเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ที่ต้องทำงานหนัก ลงทุนใช้ทั้งทรัพยากรแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก แต่กลับได้ผลตอบแทนต่ำสุดอาจเป็นเพียงแค่เศษเนื้อติดกระดูก อีกทั้งยังมีอำนาจต่อรองต่ำสุด ถูกแทนที่ได้ง่ายโดยผู้ประกอบการรายอื่นที่แทรกตัวเข้ามาด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่า เปรียบได้กับเป็นเพียง “เบี้ย” บนกระดานหมากรุกการค้าโลก
GVC ของผลิตภัณฑ์ iPhone รุ่นแรกๆ เป็นตัวอย่างที่มักถูกนำมาแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ใน GVC โดยมีบริษัท Apple เป็นเจ้าของ GVC ส่วนผู้ผลิตจีนขณะนั้นทำหน้าที่เป็นเพียงรับจ้างประกอบชิ้นส่วนต่างๆที่ผลิตโดยประเทศอื่น บริษัท Apple จะได้รับผลประโยชน์เกือบ 60% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ iPhone ในขณะที่ผู้ประกอบชิ้นส่วนในจีน จะได้รับผลประโยชน์เพียงประมาณ 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์เท่านั้น หมายความว่า จากราคาเครื่องที่สองหมื่นกว่าบาท ผู้ประกอบชิ้นส่วนในจีนได้รับผลตอบแทนเพียง 400-500 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จีนเป็นตัวอย่างที่ดีของการเข้าร่วม GVC อย่างชาญฉลาด โดยในระยะแรกเริ่มของการเปิดประเทศ จีนยอมรับเศษเนื้อจากห่วงโซ่การผลิต ด้วยการรับจ้างผลิตสินค้าให้ชาติอื่น แต่เป็นการยอมเสียเปรียบภายใต้วิสัยทัศน์ระยะยาวและกลยุทธ์เชิงรุกในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นสูง จนธุรกิจจีนมีความสามารถสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยตนเองได้ ยกตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้าของแบรนด์ เจ้าของ GVC ระดับโลก เช่น Huawei OPPO ที่กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ Apple ซึ่งเป็นเจ้าของ GVC เดิมได้
ฉันใดฉันนั้น ธุรกิจที่เริ่มเข้าร่วมใน GVC ในฐานะรับจ้างผลิต (OEM) ที่ปรารถนาจะยืนอยู่ให้ได้ในกระแสการค้าโลกอย่างมั่นคง จำเป็นต้องพัฒนาตนเอง สร้างขีดความสามารถใหม่ๆ จนสามารถดันตนเองเลื่อนชั้นไปอยู่ในตำแหน่งที่เรียกร้องและต่อรองผลประโยชน์ได้สูงขึ้น ในทางทฤษฎี การยกระดับบทบาทและผลประโยชน์ของธุรกิจใน GVC มีหลายแนวทางด้วยกัน แต่ในทางปฏิบัติ การเพิ่มอิทธิพลและอำนาจต่อรองของธุรกิจจนเป็นหนึ่งในผู้นำ GVC ได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง มีทางเลือก 2 เส้นทาง เส้นทางแรกเป็นการยกระดับบทบาทและสถานะของธุรกิจด้วยการเพิ่มความสามารถสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และการผลิต ผ่านการเรียนรู้ ดูดซับและรับการถ่ายโอนเทคโนโลยี และพัฒนาต่อยอดสู่เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจัง สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการผลิต และการออกแบบ มุ่งสู่การพัฒนาสินค้ามูลค่าสูงด้วยตนเองบนฐานเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนาอุตสาหกรรมในมณฑลเซินเจิ้นของจีนเป็นตัวอย่างของการ Disrupt ตัวเองตามเส้นทางนี้ เพื่อยกตัวเองให้มีสถานะที่สูงขึ้นใน GVC โดยในระยะแรก เซินเจิ้นเริ่มต้นจากการเป็นเพียงโรงงานของโลกรับจ้างผลิตสินค้าให้กับสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า OEM แต่ต่อมา เซินเจิ้นขวนขวายเรียนรู้และรับการถ่ายโอนเทคโนโลยี จนสามารถพัฒนาและผลักดันการผลิตสู่การสร้างแบรนด์ได้ด้วยตัวเอง ก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง OBM (Original Brand Manufacturer) อย่างเต็มตัว ส่วนเส้นทางที่สอง เป็นการสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมทางการค้า ผ่านการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญด้านการเจรจาการค้า การจัดการโลจิสติกส์และการบริหารโซ่อุปทาน การควบคุมช่องทางจัดจำหน่าย และการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกเดินตามเส้นทางไหนระหว่าง 2 เส้นทางนี้ ต่างก็มีเป้าหมายของความสำเร็จร่วมกัน คือ สามารถบริหารและคกำกับความต้องการของตลาดตลอดห่วงโซ่อุปสงค์ (Demand Chain) จนมีอำนาจชักจูงและโน้มน้าวให้ลูกค้าอยากบริโภคสินค้าของตนนั่นเอง
ในช่วงแถวปี พ.ศ. 2530 ไทยเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นเสือเศรษฐกิจที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็น ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ Newly Industrialized Countries (NICs) ร่วมชั้นเดียวกับ อีก 4 เสือเศรษฐกิจเอเชีย คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งทั้ง 4 เสือนี้ ในอดีต ก็เคยรับบทบาทเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกหรือผู้รับจ้างผลิต OEM ให้กับสินค้าต่างชาติ เป็นเบี้ยบนกระดาน GVC เช่นเดียวกับไทยมาก่อน แต่ผู้นำเขาไม่หยุดพอใจเพียงเท่านั้น เขากล้าฝัน กล้าทำ และมีความมุ่งมั่น ไปสู่สถานะที่ดีกว่า ภายใต้ความเชื่อมั่นที่จะต้องยืนบนขาของตนเองให้มากที่สุด โดยเสือ 4 ตัวต่างเลือกเส้นทางใหม่ตามศักยภาพเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมด้านการผลิต และ/หรือ นวัตกรรมทางการค้า สร้างผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดของตนเอง นำพาเศรษฐกิจก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศพัฒนาได้สำเร็จ ไม่จมอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ ที่อาศัยแต่ใบบุญของต่างชาติ ในขณะที่ไทยยังติดกับภาพความสำเร็จเก่าๆ ทั้งในฐานะที่เป็นฐานผลิตส่งออกสินค้าต่างชาติ หรือฐานะที่เป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าต่างชาติเพื่อส่งออก นโยบายรัฐที่ผ่านมาก็ยังเป็นนโยบายที่รอพึ่งต่างชาติในทุกมิติ จมอยู่กับฐานความคิด “ยืมจมูกคนอื่นหายใจ” ต้องอาศัยเขาหมดทั้งเงินลงทุน เทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาด ไม่ทุ่มความพยายามสร้างแบรนด์ของตนเอง ไม่มีดีไซน์และนวัตกรรมของตนเอง ไม่มีการทำตลาดหรือช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกด้วยตนเอง
2. กุศโลบายในการขยายอิทธิพลการค้ารุกเข้าตลาดต่างประเทศ
รูปแบบการรุกตลาดต่างประเทศรูปแบบแรกที่คุ้นเคย จะเป็นการที่ธุรกิจสามารถสร้างศักยภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการออกแบบ พัฒนา และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือด้วยการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างชาติ จากเริ่มแรกที่ผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ ตอบสนองตลาดในประเทศได้ดีก่อน จนสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก ลูกค้าในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกอยากได้สินค้าแบบเดียวกันบ้าง ไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกไปตอบสนองความต้องการในต่างประเทศ แล้วโหนกระแสความแข็งแกร่งของแบรนด์ สยายอิทธิพลออกไปอีก ด้วยการลงทุนสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศ ขยายฐานตลาดเข้าไปในพื้นที่รอบๆประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน เกิดเป็นธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ (Multinational Corporations, MNC) ทั้งหลายจากญี่ปุ่นและชาติตะวันตก ที่เราเห็นกรูเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย
ในอีกด้านหนึ่งของรูปแบบการรุกตลาดต่างประเทศ ธุรกิจเริ่มด้วยการส่งออกสินค้าเหมือนกัน แต่เป็นการส่งออกสินค้าที่อาจจะไม่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพหรือด้านการใช้งาน สินค้าขายได้ด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งมาก ทั้งนี้ การพึ่งพิงการส่งออกสินค้าราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ในระยะสั้นช่วงเริ่มต้นของการเจาะตลาดเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจยืนทอดระยะยาวในเวทีการค้าโลก ผู้ส่งออกสินค้าที่ขาดชื่อเสียงของตัวสินค้าในการผลักดันการขาย มีอำนาจต่อรองทางการค้าค่อนข้างต่ำ ถูกทดแทนด้วยผู้ประกอบการรายอื่นได้โดยง่าย
ประเด็นท้าทายของเจ้าของสินค้าที่ส่งออกสินค้าราคาถูก คือ จะรักษาฐานตลาดของตนในต่างประเทศได้อย่างไร ถ้านำคำถามนี้ไปสอบถาม ผู้ที่ผ่านหลักสูตร International Business ที่เรียนตามตำรามาตรฐานของชาติตะวันตก แทบทุกคนจะตอบเป็นสูตรสำเร็จเดียวกันว่า ให้ลงทุนพัฒนาตัวสินค้า พร้อมกับการทำการตลาด สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องใช้เงินลงทุน เวลา และสรรพกำลัง จำนวนมาก ซึ่งในทางปฏิบัติ ยังมีอีกวิธีที่ใช้เงินน้อยกว่า และอาจสร้างพลังอำนาจในการซึมลึกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้สูงกว่าอีกด้วย เพียงแค่ลองหยุดคิดสักนิดว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจต่อรองทางการค้าอย่างแท้จริง ในธุรกรรมการนำเข้าส่งออก ใครเป็นผู้กำชะตาชีวิตของผู้ส่งออกสินค้า (Exporter) ที่ไม่มีแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง ขายได้เพียงเพราะของมีราคาถูก
ชะตาชีวิตของผู้ส่งออกสินค้าที่ไร้แบรนด์ที่แข็งแกร่งนั้น อยู่ในมือของผู้นำเข้าสินค้า (Importer) ในประเทศลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำเข้าสินค้าจากผู้ประกอบการรายใดชาติใด หนทางรอดอย่างยั่งยืนของผู้ส่งออก คือ ต้องไม่ฝากชะตาชีวิตทั้งหมดของตนกับคนอื่น ตนต้องเป็นที่พึ่งของตนให้ได้ ผู้ส่งออกสินค้าราคาถูกที่ต้องการรักษาตลาดของตน จึงต้องเพิ่มบทบาทเป็นผู้นำเข้า (Importer) ในตลาดเป้าหมายเสียเอง เพื่อการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ซึ่งเมื่อเริ่มเป็นผู้นำเข้าที่นำเข้าเฉพาะสินค้าของตนในระยะแรก ต่อมาได้เรียนรู้ เข้าใจความต้องการของตลาดมากขึ้น ก็จะขยายธุรกิจสร้างเครือข่ายทางการค้าในตลาดต่างประเทศ นำไปสู่ความสามารถในการควบคุมช่องทางจัดจำหน่ายในประเทศที่ตนเข้าไปทำตลาดได้ จนผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าตัวอื่นๆอย่างหลากหลายได้ในที่สุด
ในโลกการค้าสมัยใหม่ ผู้ที่คุมช่องทางการค้าคุมช่องทางการเข้าถึงลูกค้าผู้บริโภคเป็นผู้ที่กำกับและควบคุมทุกความเป็นไปห่วงโซ่การค้า ผู้บริหารบางประเทศที่ชาญฉลาด นอกจากจะส่งเสริมการส่งออกตัวสินค้าแล้ว ยังให้การสนับสนุนการส่งออกผู้ค้า เข้าไปกุมอำนาจต่อรองการนำเข้าสินค้าของตนในตลาดต่างประเทศ คุมตลาด ช่องทางจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้าในต่างประเทศ ให้เปิดรับและรักษาตลาดสินค้าของตนในตลาด รวมถึงสร้างโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์แบบเบ็ดเสร็จครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ รวมถึงโอกาสที่จะต่อยอดขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆในต่างประเทศ เช่น จากอำนาจต่อรองจากการขายสินค้า นำไปสู่การสร้างโอกาสขยายสู่ธุรกิจบริการทางการเงิน ธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น จนสามารถครอบครองตลาดการค้าและบริการในทุกระดับของประเทศที่เป็นคู่ค้า คล้ายกับปรากฏการณ์ที่เราเริ่มเห็นชินตามากขึ้นในหลายๆธุรกิจในบ้านเรา
อนึ่ง หากติดตามประวัติศาสตร์การค้าโลก จะสามารถสรุปและแบ่งวิวัฒนาการของกุศโลบายในการรุกตลาดโลกออกได้เป็น 4 ยุค คือ การค้า 1.0 ยุคต้นของการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วโลก เริ่มจากสินค้าที่ผลิตในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก ด้วยคุณภาพที่สูงหรือราคาที่ถูกมากจนสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ ต่อมา การค้า 2.0 แผ่อิทธิพลด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อผลิตสินค้าของตน เข้าตรงถึงตลาดนอกบ้านพร้อมแก้ไขปัญหาค่าแรงในประเทศหรือปัญหาการกีดกันทางการค้า เป็นกลยุทธ์ที่นิยมของเจ้าของสินค้าจากญี่ปุ่นและชาติตะวันตก ส่วนจีนในช่วงแรกของการเติบโต นิยมวิธีซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงในต่างประเทศ เพื่อครอบครองเทคโนโลยี มากกว่าไปตั้งโรงงานของตนเอง ยุคที่สามเป็น การค้า 3.0 ส่งออกพ่อค้าไปควบคุมช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของจีนในตลาดต่างประเทศ เป็นกลยุทธ์ที่จีนนำมาใช้และประสบความสำเร็จอย่างมากในการรุกเข้าตลาดต่างประเทศทั่วโลก และในปัจจุบันเข้าสู่ยุคของ การค้า 4.0 ส่งออกกลไกที่มีอิทธิพลกำกับพฤติกรรมบริโภคของลูกค้าในต่างประเทศ แต่เดิมอาจเริ่มด้วยกลไกทางสถาบันผ่านอำนาจรัฐ เช่น ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศอื่น ตามด้วยกลไกด้านวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงซอฟต์เพาเวอร์นั่นเอง และกลไกด้านเทคโนโลยีในรูปแบบของ Digital Platform ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่ดึงดูดธุรกรรมการค้าประเภทต่างๆในต่างประเทศเข้ามาอยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าของ Platform จนสามารถมีอำนาจกำกับและมีอิทธิพลเหนือธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้า การให้บริการโลจิสติกส์ การให้บริการทางการเงิน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูล Big Data ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดสร้างธุรกิจอื่นอีกมากมาย
ปัจจุบันนี้ ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างก็พยายามใช้กลยุทธ์การค้าทั้ง 4 รูปแบบผสมผสานกันตามบริบทของการแข่งขันและศักยภาพของตน ขณะที่โลกการค้าสมัยใหม่หมุนไปสู่ยุคการค้า 4.0 แล้ว ชาติตะวันตกส่งทั้งโรงงานและ Platform เข้ามา จีนส่งพ่อค้าและ Platform เข้ามา เราจึงได้เห็นการแข่งขันกันเพื่อแผ่อำนาจเหนือการค้าโลก เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง Platform 2 ค่าย คือ Platform ของค่ายสหรัฐ กับ Platform ของค่ายจีน ในขณะที่นโยบายไทยยังคงวนเวียนอยู่กับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยุค 1.0 ย่ำอยู่กับการคิดเป็นเพียงแค่ผู้รับจ้างผลิต OEM หรือเป็นแค่ที่ตั้งของการผลิตเพื่อส่งออกให้สินค้าต่างชาติ การพึ่งพิงต่างชาติมากเกินไปลดทอนอำนาจต่องรองทางการค้าของเรา ส่งผลให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับต่างชาติ
ถึงเวลาก้าวข้ามความสำเร็จเดิม ๆ แล้ว รัฐต้องรีบสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยยกบทบาทตัวเองขึ้นในเครือข่าย GVC ระดับโลก เพิ่มอำนาจต่อรองในกระแสการค้าโลก ผ่านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รับการถ่ายโอนเทคโนโลยี จนสามารถสร้างนวัตกรรม ผลิตสินค้ามูลค่าสูงในแบรนด์ของตนเอง รวมถึงการใช้นโยบายสนับสนุนเชิงรุก ขับเคลื่อนให้ธุรกิจไทยและคนไทยรุ่นใหม่ มีโอกาส มีความสามารถ และมีความกล้าที่จะเข้าไปควบคุมช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ นโยบายที่นำเสนอนี้ หัวใจอยู่ที่การพัฒนาขีดความสามารถของคนและผู้ประกอบการไทยด้านการผลิตและการค้าอย่างก้าวกระโดด การดำเนินการไม่ใช่การทำฉาบฉวยแบบ Quick Wins ที่นิยมกัน แต่ต้องทุ่มสติปัญญาและสรรพกำลังอย่างมากและใช้เวลานานหลายปีกว่าจะออกดอกออกผล ตัวอย่างรถยนต์ EV ของจีนที่ก้าวมาเป็นแนวหน้าของโลกในวันนี้ได้ เป็นผลจากนโยบายและมาตรการเชิงรุกที่หลากรูปแบบที่ผลักดันโดยรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2009 ด้วยเงินสนับสนุนกว่าสองแสนล้านดอลลาร์ จนเกินเป้าหมายที่กำหนดในแผนแม่บท “Made in China 2025” ซึ่งเป็นนโยบายอุตสาหกรรม (Industry Policy) ที่ชี้นำการยกระดับความสามารถด้านการผลิต โดยมีนโยบายด้านอื่นๆรวมถึงนโยบายการเงินและนโยบายการคลังรับบทเป็นเพียงส่วนสนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรม
การกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมรวมถึงนโยบายเชิงรุกด้านกาค้าและการทุ่มพลังผลักดันอย่างจริงจังให้นโยบายให้เกิดมรรคผล เป็นงานที่ท้าทายและต้องอาศัยความอดทน ถึงแม้เป็นงานยากยิ่งแค่ไหน ก็ต้องเริ่มลงมือทำแล้ววันนี้ โลกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด อันเป็นผลจากนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ความห่างชั้นของเทคโนโลยีจะถูกถ่างให้กว้างออกไป ยิ่งทอดเวลานานออกไป ไม่เริ่มทำเสียในวันนี้ การไล่ให้ทันเทคโนโลยีโลกจะยากขึ้น จนแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกเลย
สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์
ที่ปรึกษา หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
DITP จับมือ Letstango.com ดันสินค้าไทยบุกตลาดออนไลน์ตะวันออกกลาง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จับมือ Letstango.com แพลตฟอร์มชั้นนำอันดับต้นๆ ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
'พิชัย' ยกทัพ KOLs อินฟลูฯ ผู้ติดตามร่วม 100 ล้านคน จัดมหกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซนานาชาติ 2567 ขายสินค้าไทยไปทั่วโลก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน International Live Commerce Expo 2024
'เซลล์แมนสแตนชิน' เดินสำรวจสินค้าไทยในซูเปอร์มาร์เก็ตนครซูริก เล็งขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 15 มกราคม เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส ภายหลังหารือเตรียมการประชุม World Economic Forum
‘อนุทิน’ ปลื้มปิดงาน OTOP Midyear 2023 ยอดจำหน่าย 447 ล้าน
มท.1 สุดปลื้ม ปิดงาน OTOP Midyear 2023 รวม 9 วัน สร้างรายได้ผู้ประกอบการ 447 ล้านบาท ทะลุเป้าที่กำหนด มีผู้เที่ยวชมงาน 1.6 แสนคน ขอบคุณประชาชนร่วมจับจ่ายใช้สอยอุดหนุนผลิตภัณฑ์มาตรฐานฝีมือคนไทย
Logistics Connectivity: ดาบ 2 คม
Logistics Connectivity การเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์และด้านการขนส่ง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค