แนวทางดังกล่าวของสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ จุดยืนที่เป็นรูปธรรม ก็คือต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และรับฟังการมีส่วนร่วมของประชาชน...ใครก็ได้ที่จะมานั่งตรงนี้ แต่ขอให้มีพันธะผูกพัน รับปากว่าญัตติของเรา เสียงของเราที่อาจจะเป็นเสียงส่วนน้อย จะไม่ถูกลดทอนลงไป คือผมไม่mind ว่าจะเป็นใคร สำหรับตัวผม แต่ขอว่า สำหรับตัวประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา จะไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อยของพวกเรา
สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ การโหวตเลือก"ประธานวุฒิสภา"ที่เรียกกัน"ประมุขสภาสูง"กับ"รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง" รวม 3 ตำแหน่งสำคัญในวุฒิสภา
และหนึ่งในกลุ่มสว.ที่มีการรวมตัวกันและประกาศจุดยืน-แนวทางการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ หลังเข้าไปเป็นสว.โดยมีแนวทางที่ชัดเจนนั่นก็คือ "สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่"ที่มีแกนนำเช่น ดร.นันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการสายสื่อมวลชน เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ ทางสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ บอกไว้ว่าอาจจะเสนอชื่อสว.ในกลุ่มส่งลงสมัครชิงตำแหน่งสำคัญของวุฒิสภาในวันที่ 23 ก.ค.นี้ด้วย
"เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มสื่อสารมวลชน-อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท-หนึ่งในสมาชิกสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่"กล่าวถึงเส้นทางการเมืองของตัวเองจากนักข่าว-สื่อมวลชน จนมาวันนี้เป็นสว.ซึ่งบทสนทนาครั้งนี้ ได้มีการซักถามถึงแนวทางการขับเคลื่อนทางการเมืองทั้งในนามส่วนตัวและในนามกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่รวมถึงความเห็นต่อการทำงานของสว.ชุดปัจจุบันที่จะมีวาระการทำงานห้าปีนับจากนี้
เริ่มต้นที่"เทวฤทธิ์-สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่"เล่าเส้นทางการทำงานของตัวเองก่อนหน้าจะลงสมัครคัดเลือกเป็นสว. จนผ่านเข้ามาเป็นสว.ชุดปัจจุบันว่า ก่อนหน้านี้เป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่สำนักข่าวประชาไท ตั้งแต่ปี 2555 และต่อมาก็มาเป็นบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท เมื่อปี 2562 โดยแนวทางการทำข่าวของสำนักข่าวประชาไท มีการเกาะติดความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมมาตลอด รวมถึงความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ารัฐสภาหลายฉบับ แต่ที่แก้ไขได้สำเร็จก็มีแค่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับเดียว(แก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้งส.ส.ที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์)
..ที่จะพบว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สำเร็จ เพราะติดเงื่อนไขสำคัญคือการออกเสียงของ"สมาชิกวุฒิสภา"เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติว่าต้องได้เสียงเห็นชอบจากสว.ด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเสียงสว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอต่อรัฐสภา ก็ไม่ผ่าน พอดีว่าช่วงสมัครคัดเลือกเป็นสว.อายุครบ 40 ปี พอดี ภาคประชาสังคมก็มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปลงสมัครคัดเลือกเป็นสว. ผมก็เลยไปสมัครคัดเลือกเป็นสว.
..เดิมทีผมก็ตั้งใจว่าจะลงสมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์ เพราะยังรักอาชีพสื่อมวลชน แต่พอผ่านการคัดเลือกจากระดับอำเภอ มาระดับจังหวัดจนมารอบสุดท้ายการคัดเลือกระดับประเทศ กลุ่มที่เป็นสื่อมวลชนที่มีความมุ่งหมายต้องการเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหลือเข้ารอบสุดท้ายไม่กี่คน ผมก็เลยยืนยันว่าก็ขอเป็นแคนดิเดตไปเลย ซึ่งระหว่างทางการเลือกสว.ที่ผ่านมา ก็มีการทำแคมเปญในช่วงการเลือกสว. ในระดับอำเภอ-จังหวัดว่าใครที่ลงสมัครสว.แล้วอยากได้คะแนนเราจากการโหวตเลือกสว. เราก็มีการถามจุดยืนว่า"คุณคิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ"เพื่อจะได้แลกเปลี่ยน จะได้เสนอมุมมองเรา ก็มีทั้งคนเห็นด้วยก็มาร่วมกับเรา ส่วนคนไม่เห็นด้วยกับเรา เขาก็มีความเข้าใจเรามากขึ้น
“เทวฤทธิ์-สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่”เล่าให้ฟังอีกว่า นอกจากนี้ ระหว่างทางการเลือกสว. ผมก็เห็นว่ากระบวนการเลือกสว. ไม่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย ทั้งที่คณะกรรมาธิการศึกษาการเลือกสว.ที่ออกมาเมื่อปี 2562 ก็มีข้อเสนอว่า กระบวนการเลือกสว.ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่นการแนะนำตัวของผู้สมัครสว.ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนรับรู้ เพราะอย่างตอนเลือกสว.ปี 2562 ประชาชนแทบไม่รู้เลย โดยก่อนการเลือกสว.ทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัวของผู้สมัครสว. ที่จำกัดการรับรู้คือให้เฉพาะคนที่เป็นผู้สมัครสว.เท่านั้น บวกกับข้อจำกัดในการแนะนำตัวเช่น ให้แนะนำตัวได้เฉพาะเรื่องคุณสมบัติ-ประสบการณ์ของผู้สมัคร ไม่สามารถแนะนำตัวได้ว่าคุณจะเข้าไปทำหรือไม่ทำอะไรได้ ก็เลยเป็นแรงผลักดันให้ผมไปร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบของกกต.ในการแนะนำตัวผู้สมัครสว.ดังกล่าว ซึ่งสุดท้าย ศาลปกครองก็มีคำสั่งเพิกถอนระเบียบดังกล่าว
..เส้นทางของผมก็คือ จาก voter-campaigner และไปร้องเพิกถอนระเบียบของกกต.ที่เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมในการเลือกสว. จนสุดท้าย เมื่อแทบไม่เหลือคนเข้ารอบแล้ว เราก็เลยเสนอตัวเป็นแคนดิเดตในช่วงสุดท้ายของการเลือกสว.
พร้อมขับเคลื่อน ใช้กลไกสภาสูง หนุนสื่อมีสิทธิเสรีภาพ-สวัสดิการที่ดี
"เทวฤทธิ์-สว.จากกลุ่มสื่อมวลชนฯ"กล่าวถึงการนำประสบการณ์ในการทำงานสมัยเป็นสื่อเพื่อนำมาใช้ในการทำงานเป็นสว.เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเกี่ยวกับสื่อมวลชนว่า สว.มีกลไกของคณะกรรมาธิการ วุฒิสภาในการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งกรรมาธิการที่มองไว้ว่าน่าจะเป็นคุณต่อการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะเรื่อง"สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน" ก็คือ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ดูแล้วน่าจะเป็นคณะกรรมาธิการที่มีบทบาทใกล้เคียงมากที่สุดในการเข้าไปขับเคลื่อน และอีกหนึ่งคณะก็คือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ก็น่าจะเป็นคณะกรรมาธิการที่ใกล้เคียงกับการทำงานของสื่อมวลชน
..ผมคิดว่าคณะกรรมาธิการสองคณะดังกล่าว จะเป็นเวทีซึ่งเราจะเข้าไปทำงาน นอกจากนี้ ก็ยังมีกลไกในเรื่องการแจ้งหรือรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา ที่ก่อนจะเริ่มเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ก็จะเปิดโอกาสให้สมาชิกที่มีข้อเรียกร้องหรือมีประเด็นความเดือดร้อนของประชาชน สามารถแจ้งต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ทราบได้ ซึ่งเข้าใจว่าองคาพยพต่างๆ ของภาครัฐ ก็จะมีการมอนิเตอร์อยู่ ซึ่งหากมีประเด็นปัญหาของสื่อมวลชน เช่นเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน -สวัสดิการของสื่อมวลชน ที่สื่อเผชิญปัญหาอยู่ ก็มองว่ากลไกดังกล่าว ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการบอกกล่าวหรือเรียกร้อง ที่จะสื่อสารไปยังองคาพยพต่างๆ ของภาครัฐได้ หรือเพื่อให้เพื่อนสมาชิกสว.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชน ทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนสวัสดิการในการทำงานของสื่อมวลชน ที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะจากสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมสื่อมวลชน เราก็จะเห็นบางเคสเช่น ที่สื่อมวลชน ไปติดตามทำข่าว"คดีกำนันนก"ที่ช่างภาพเป็นลม ล้มฟุกลงไป เพราะทำงานหนัก แล้วเราก็แบกเอาคุณค่าที่ว่า คุณต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องทำงานหนัก แต่จริงๆ แล้วเราควรทำงานให้เพียงพอต่อการดำรงชีพเช่นทำงานวันละแปดชั่วโมง แล้วก็มาย้อนดูว่า ที่ทำงานปกติแปดชั่วโมง แล้วค่าแรงที่สื่อได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า หากมีช่องทางนี้ในการสื่อสาร แม้ว่าสว.จะไม่สามารถเสนอกฎหมายได้โดยตรง แต่ก็เป็นการทำให้เพื่อนสว.ได้รับรู้ตรงนี้ และหากว่ามีการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ผ่านมาจากสภาฯ ผมคิดว่ามันก็เป็นการรดน้ำพรวนดิน เพื่อให้คนตระหนักและเห็นว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนและสวัสดิการของสื่อมวลชน เป็นเรื่องสำคัญ แล้วมันจะส่งผลต่อ"ระบบนิเวศน์การสื่อสารกับประชาชน"ที่จะพึ่งพาเราได้ เพราะสื่อต้องมีเสรีภาพ รวมถึงก็ต้องอิ่มท้อง จะได้ทำงานอย่างไม่ต้องกังวลใจ
-ได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสว.ที่มาจากกลุ่มสื่อสารมวลชนคนอื่นๆ นอกเหนือจากดร.นันทนา นันทวโรภาส บ้างหรือไม่ในการที่จะเข้าไปขับเคลื่อนทำงานเกี่ยวกับเรื่องสื่อ?
ก็มีได้คุยกับสว.กลุ่มสื่อบางคนเช่น คุณชิบ จิตนิยม แต่สว.คนอื่นๆ ยังไม่ได้คุย แต่ได้เห็นหน้าค่าตากัน ตอนช่วงวันโหวตเลือกสว.ระดับประเทศ ซึ่งแม้บางคนอาจจะมองว่า บางท่านอาจจะมาจากกลุ่มก้อนอะไรบางอย่าง แต่ผมคิดว่าถ้าเราเอาจุดยืนของสื่อมวลชนเป็นที่ตั้ง ผมคิดว่าก็คุยกับทุกคนได้หมด ซึ่งคิดว่าเขาก็ตระหนักอยู่แล้วในเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ต้องมาดูว่าเราจะทำอย่างไรในการที่จะผลักดันให้ได้ ที่ก็ต้องมีการพูดคุยร่วมกันและมุ่งหวังว่าสว.กลุ่มสื่อ จะเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการที่น่าจะเอื้อต่อการทำงานได้เช่น คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพฯ ซึ่งถ้าเข้าไปในสัดส่วนที่เยอะ เราก็สามารถผลักดันประเด็นเกี่ยวกับสื่อ เข้าไปอยู่ในกลไกการพิจารณาของคณะกรรมาธิการได้
สำหรับเรื่อง"การปฏิรูปสื่อ"นั้น หลักพื้นฐานที่สำคัญก็คือ"สื่อต้องมีเสรีภาพ" เพราะเสรีภาพเป็นเหมือนลมหายใจสำคัญของการที่จะทำเรื่องอื่นๆ ตราบใดที่หากเราไม่มีเสรีภาพ ก็ทำให้อะไรก็จะเจอตอ ซึ่งปัจจุบันอาจไม่ได้มีตอที่รุนแรงแบบสมัยก่อน แต่ก็จะมีกลไกที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ในการที่จะกำกับ ข่มขู่ หรือฟ้อง อย่างเช่น การฟ้องปิดปาก หรือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPPs)ที่ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนหรือเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็ถูกกดเพดานลงไป
...ดังนั้น ต้องมีลมหายใจขั้นพื้นฐานคือเสรีภาพก่อน โดยเมื่อสื่อมีเสรีภาพ ที่ก็มีทั้งสื่อที่ดีและสื่อที่ไม่ดี ผมคิดว่ากลไกหนึ่งที่จะช่วยเสริมได้ก็คือ"การให้แต้มต่อกับสื่อที่ดี" สื่อที่มีคุณภาพ สื่อที่ทำงานเชิงสืบสวนสอบสวน ที่เขาอาจไม่มี Engagement เข้ามาในเว็บไซด์ ซึ่งมันยาก โดยหากกองทุนด้านต่างๆที่มีเช่น กองทุนพัฒนาสื่อฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพ-มุมมองว่า ควรส่งเสริมสื่อที่ทำงานเชิงตรวจสอบรัฐ-สื่อที่ทำงานข่าวเชิงลึก ซึ่งหากได้มีการเปลี่ยนมุมมองของคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องเหล่านี้เช่นกองทุนสื่อฯ ก็จะได้ไปสนับสนุนสื่อที่ทำงานแบบ investigate มากขึ้น
จุดเริ่มต้น"สว.พันธุ์ใหม่" มีอะไรแตกต่างจากสว.กลุ่มอื่น?
"เทวฤทธิ์-หนึ่งในสว.จากกลุ่มพันธุ์ใหม่"กล่าวถึงการรวมตัวกันของสว.ในกลุ่มว่า เดิมที ก็คือการรวมกลุ่มกันของคนที่มีจุดยืนร่วมกันในเรื่องการผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการมาเจอกันในช่วงก่อนการคัดเลือกสว.ระดับประเทศ แต่อย่างตัวผมเอง ก็มาเข้าร่วมในช่วงการเลือกสว.ระดับประเทศ โดยมีการรวมตัวสนับสนุนกัน เพราะแต่ละคนมีจุดยืนร่วมกัน และเห็นแล้วว่าหากเข้าไปเป็นสว.จะทำอะไร ก็สนับสนุนกันทั้งในกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เดียวกัน และระหว่างกลุ่ม(จาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพ)
เมื่อกระบวนการคัดเลือกเสร็จสิ้น จำนวนที่เรามุ่งหมายไว้ว่าน่าจะได้สักอย่างน้อย 67 คน เพื่อให้สามารถไปร่วมโหวตให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ แต่ผลออกมา มันไม่ถึง เมื่อไม่ถึง ก็ทำให้เราต้องหาแนวร่วมเพิ่มเติมเพื่อซัพพอร์ต
ดังนั้น กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ จุดยืนอาจต้องยืดหยุ่นขึ้น เรื่องของรัฐธรรมนูญ อาจไม่ได้เป็นตัวตั้งมากนัก แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่ยังต้องพิจารณา แต่ก็จะพูดถึงเรื่องอื่นๆ เช่น บางคนอยากจะเข้าไปปฏิรูปสว.เพื่อเป็นไปในทางแอ็กทีฟมากขึ้น ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น และมีจุดมุ่งหมายในเรื่องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง ที่อาจไม่ได้จำกัดแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ อย่างที่กลุ่มพวกเราเสนอ ก็มารวมกัน
หลักๆ ก็จะเป็นกลุ่มสว.ที่เข้ามาเป็นสว.ที่ไม่ได้อยู่ในแพ็กใหญ่ที่อยู่ในลำดับ 1-6 (จาก 10 ชื่อใน 20 กลุ่ม) ก็พยายามที่จะแพ็กกัน อย่างน้อยในแง่ของต่อรอง คือเราไม่ได้มุ่งหมายอยากจะได้ตำแหน่งมากอดไว้ แต่ตำแหน่งดันเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะผลักดันประเด็นวาระของเรา โดยเฉพาะผ่านคณะกรรมาธิการอย่างคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ฯ ซึ่งทั้งสองคณะกรรมาธิการ ผมเชื่อว่าไม่ได้มีผลประโยชน์แบบประเภทตัวเงินเข้ามาแต่ว่าจะทำให้สามารถทำงานในเชิงการขยายพื้นที่ของประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมผ่านคณะกรรมาธิการทั้งสองคณะที่กล่าวถึงได้
ในแง่ของการเจรจา หรือการสื่อสาร ผมว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ว่าในแง่ของการให้ประโยชน์อื่นใด ที่อาจโน้มน้าวไปเกินกว่าดุลยพินิจของแต่ละคน ผมว่าเรื่องนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและประชาชนต้องจับตา...มันอาจไม่ได้รุนแรงในข้อเท็จจริง เพราะเสียงส่วนใหญ่ กลุ่มใหญ่ เขาเป็นเอกภาพ ถ้าใช้เสียงข้างมาก ยังไง เขาก็ไปของเขาได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเรียกร้องคือ ประชาธิปไตย เวลาหามติ ก็ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ แต่เราก็คาดหวังว่า คุณจะเคารพ คำนึงถึงเสียงส่วนน้อยด้วย ไม่ใช่เสียงข้างมากลากไป จะทำให้เสียงส่วนน้อยไม่สามารถทำงานได้
ส่วนที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า"สว.พันธุ์ใหม่"นั้น ก็อาจจะด้วย ที่มีตุ๊กตาในใจคือสว.ชุดเก่า ที่อาจจะมีลักษณะที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน คือเขาก็อาจมีประชาชนของเขา แต่ที่ผ่านมาเช่นการโหวตนายกฯ ซึ่งเราไม่ได้มีปัญหากับดุลยพินิจของสว.ชุดเก่า แต่ว่าความไม่คงเส้นคงวาของสว.ชุดเก่า คิดว่ามีปัญหา
ยกตัวอย่างเช่น การโหวตนายกรัฐมนตรี ปี 2562 สว.ชุดเก่าให้โหวตให้ร้อยเปอร์เซ็นต์โดยอ้าง ว่าโหวตตามสภาฯ ที่เขามีมติแบบนี้ สว.ก็โหวตไปตามนั้น แต่พอมาถึงปี 2566 ตอนโหวตนายกฯครั้งแรก(พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) เราไม่มีปัญหา คุณจะใช้ตัวแบบในการใช้ดุลยพินิจอย่างไร ก็เป็นสิทธิของคุณแต่ว่า ความไม่คงเส้นคงวาตรงนี้มีปัญหา ดังนั้น ตรงนี้ก็เหมือนเป็นคู่เปรียบ หรือเป็นตุ๊กตาที่เราตั้งไว้ว่า เราจะไม่เป็นแบบนั้น หรือกรณีของรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส่งร่างมาที่รัฐสภา แต่สุดท้าย ก็ถูกคว่่ำโดยสมาชิกวุฒิสภา ที่ผ่านมามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เสนอเข้ารัฐสภาแล้วผ่านแค่ร่างเดียวคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอเรื่องการแก้ไขระบบการเลือกตั้งส.ส.
"ดังนั้นเราก็จะฟังเสียงประชาชน ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น ซึ่งประชาชนในที่นี้ ไม่ใช่เฉพาะประชาชนที่มีจุดยืนคล้ายเรา แต่ประชาชนกลุ่มอื่นๆเราก็ฟังด้วย"
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนของกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ ที่ประกาศว่าจะขับเคลื่อนภายใต้แนวทาง"เสรีนิยมก้าวหน้า" เรื่องนี้"เทวฤทธิ์-สว.จากกลุ่มสื่อมวลชนฯ"อธิบายแนวทางดังกล่าวของสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ว่า จุดยืนที่เป็นรูปธรรม ก็คือต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และรับฟังการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะยังมีระเบียบต่างๆ เช่นประมวลจริยธรรมที่ใช้กับสว.ที่ดูแล้วยังจำกัด จึงต้องหาทางปฏิรูปเพื่อให้สว.รับฟังประชาชนมากขึ้น ส่วนเสรี ก็คือการทำให้มีการขยายเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นSLAPPs ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดเพดานสิทธิเสรีภาพ แต่ส่วนตัวผมแล้ว ผมอาจไม่ได้บอกตัวเองว่าเป็นเสรีนิยมเต็มรูปแบบเพราะว่าอย่างเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ อาจส่งเสริมเรื่อง Freetrade -การค้าเสรี แต่ในทางเศรษฐกิจ-สังคม ผมจะสนับสนุนเรื่องของ"สวัสดิการ"หรือว่าความเสมอภาคด้วย อันนี้คือจุดยืนของผม แต่เบื้องต้นในทางการเมือง ก็จะสนับสนุนเรื่องของเสรี เพราะหากมีพื้นที่ในการเสนอความเห็นอย่างมีเสรีภาพ ซึ่งหากคุณจะเป็นเสรีนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย อนุรักษ์นิยม แต่ถ้าทำในพื้นที่แพลตฟอร์มที่เป็นเสรี ก็ทำให้สามารถเสนอไอเดีย เสนอนโยบาย หรือกฎหมายต่างๆ ได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่คู่ตรงข้ามเช่นเผด็จการ ก็อาจจะมีพื้นที่จำกัดในการเสนอเรื่องต่างๆ ดังนั้น เสรีนิยมก้าวหน้า ก็ยังhealthyกับ แนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย แบบผมที่อยากจะสร้างรัฐสวัสดิการ สร้างความเสมอภาคในสังคม
-กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่บอกว่า รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับสว. แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่รวมตัวกันแบบนี้ ที่ยังไม่ทันได้เริ่มนับหนึ่งทำงาน ก็มาตั้งกลุ่มต่อรองเก้าอี้ต่างๆ เช่นรองประธานวุฒิสภา ตั้งกลุ่มมาต่อรองเก้าอี้ แล้วสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่แตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร?
ตอบในแง่หลักการก่อนก็คือ ตำแหน่ง จริงๆ แล้วควรเป็นตำแหน่งเพื่อผลักดันวาระหรือผลักดันประเด็น แต่เผอิญว่าการเลือกสว.ที่ผ่านมา ทำให้สว.เองไม่สามารถที่จะบอกหรือให้สัญญาประชาคมทางการเมืองหรือสัญญากับประชาชนได้ว่า ตัวเองจะไปผลักดันอะไรเพื่อให้ได้รับการโหวต เป็นเพียงแค่สิ่งที่เคยทำมาเช่นคุณสมบัติหรือประสบการณ์ แต่ว่าเราเอง ที่ผ่านมาก็เคยมีการผลักดันประเด็นต่างๆ เช่น การให้เพิกถอนระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัครสว.ที่ออกโดยกกต. เพื่อให้ผู้สมัครสามารถระบุได้ว่าตัวเองมีจุดยืนอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่อยู่ในข้อถกเถียงใน controversial ของกระบวนการนิติบัญญัติอย่างรัฐธรรมนูญ คุณต้องบอกได้ว่าเข้าไปแล้วคุณจะทำอะไร ซึ่งคราวนี้ พอเข้าไปเป็นสว. เรื่องของตำแหน่งต่างๆ มันไม่ใช่ตำแหน่งที่ได้ไปแล้วจะเอาไปกอดไว้ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในเชิงอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่อำนาจตรงนั้น มันจะส่งผลต่อเช่น เราจะยื่นญัตติไป ญัตติจะผ่านหรือไม่ มีหลักประกันอะไรบ้าง
สำหรับตัวผมเอง ใครก็ได้ที่จะมานั่งตรงนี้ แต่ขอให้มีพันธะผูกพัน รับปากว่าญัตติของเรา เสียงของเราที่อาจจะเป็นเสียงส่วนน้อย จะไม่ถูกลดทอนลงไป คือผมไม่mind ว่าจะเป็นใคร สำหรับตัวผม แต่ขอว่า สำหรับตัวประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา จะไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อยของพวกเรา
แต่ในแง่ของข้อเท็จจริง โดยจำนวนเสียง ถ้าจะโหวตกันเราก็คงสู้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะทำหรือจะเสนอตัวเข้าไป ก็คืออย่างน้อยจะได้มีพื้นที่ของการแสดงความวาดหวัง หรือความคาดหวังต่อวุฒิสภาว่าควรจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยถึงที่สุดแล้ว แม้เราจะโหวตแพ้ แต่อย่างน้อยสมาชิกวุฒิสภาด้วยกันเอง ก็จะได้เห็นมุมมองของเราว่า เรามีความหวังต่อวุฒิสภาอย่างไร หรือคนที่ได้รับตำแหน่งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ก็จะได้เห็นว่าสว.ในกลุ่มของเรา มีความคาดหวังอย่างไร และที่สำคัญ ประชาชนจะได้รู้ว่า สว.กลุ่มเรา คาดหวังต่อคนจะเป็นประธานวุฒิสภาอย่างไร มันก็อาจเป็นแรงส่ง แรงผลักดันให้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ที่อาจจะไม่ได้เป็นคนที่เราสนับสนุน เขาก็อาจจะประนีประนอมเช่น เขาอาจรับฟังเราจาก 100 เปอร์เซ็นต์เขาอาจรับฟังเรา 80 เปอร์เซ็นต์
การพูดคย สว.เป็นเรื่องปกติ กลุ่มพันธุ์ใหม่ก็เปิดรับการเจรจา
-ก่อนจะถึงวันประชุมวุฒิสภานัดแรก 23 ก.ค.เพื่อเลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ก็จะมีข่าวเรื่องการล็อบบี้ การยื่นเงื่อนไขผลประโยชน์อะไรให้กับสว. เช่น มีข่าวว่ามีการดึงสว.เข้ากลุ่มโดยให้เงินรายเดือน การที่มีข่าวทำนองแบบนี้ออกมาจนถึงวันโหวตวุฒิสภา ในฐานะหนึ่งในสว.มองเรื่องนี้อย่างไร กับข่าวที่ออกมาเรื่องการล็อบบี้อะไรต่างๆ?
ในแง่ของการเจรจา หรือการสื่อสาร ผมว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ว่าในแง่ของการให้ประโยชน์อื่นใด ที่อาจโน้มน้าวไปเกินกว่าดุลยพินิจของแต่ละคน ผมว่าเรื่องนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและประชาชนต้องจับตาเพราะว่า คือจำนวนสว.พวกเรา จำนวนมันน้อย เราก็หวังพึ่งประชาชนและสื่อมวลชนในการตรวจสอบ แต่เราก็พยายามตรวจสอบ-จับตา พยายามเป็นเด็กขึ้ฟ้อง แต่ว่าเราเองจะทำเฉพาะในกลุ่มพวกเราเอง คงไม่ได้แน่ๆ ก็คิดว่าสื่อมวลชน ก็ควรต้องช่วยกันตรวจสอบ แต่อยากย้ำว่า กระบวนการคุย กระบวนการเจรจาเป็นเรื่องปกติ เราเอง ก็เปิดรับการเจรจา แต่ว่าข้อเจรจาของเรา ก็อย่างเช่น ระบบที่เป็นอยู่ ใช้เสียงข้างมาก แต่ก็ควรให้พื้นที่ของเสียงส่วนน้อย ได้ทำงานหรือได้มีส่วนในการขับเคลื่อนวุฒิสภาไปด้วย อันนี้ก็เป็นข้อต่อรอง ข้อเรียกร้องของเรา แต่ว่าเขาจะฟังเราหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ต้องบอกว่า ตัวผมเอง ก็ไม่เคยได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ในลักษณะแบบนั้นเลย ซึ่งตรงนี้อาจเป็นข้อดีของการที่เราได้ประกาศจุดยืนชัด มันทำให้หากเรามีการบิดพริ้วไป เราจะโดนสังคมบีบ สังคมกดดันแน่นอน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียกร้องมาตั้งแต่ตอนมีการออกระเบียบกกต.ว่าจะทำอย่างไรให้ มีDigital Footprint ของบรรดาผู้สมัครสว.ไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะในอนาคตประชาชนเขาอาจจะคิดบัญชีคุณได้ เพราะตอนที่ยังไม่มีตำแหน่ง เคยบอกไว้ตอนสมัครสว.ว่ามีแนวทางแบบนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่พอไปมีตำแหน่ง กลับไปทำอีกอย่าง มันก็เหมือนกับเป็นการที่เราวางสายสิญจน์ป้องกันว่า ไม่เคยมีใครโทรศัพท์มาหาผม
-การที่สว.ยังไม่ทันได้เริ่มต้นทำงาน ก็ถูกมองว่าแต่ละคนมีสี เช่นสว.สีส้ม สีน้ำเงิน สีแดง จะทำให้การทำงานของสว.ขยับลำบากหรือไม่ เช่นสว.ด้วยกันเอง อาจมองว่าคนนั้นเป็นสีนั้น คนนี้สีนี้ การทำงานด้วยกันเอง จะขับเคลื่อนได้ยากหรือไม่?
ก็ต้องเป็นธรรมกับบรรดาสว.ที่เป็นกลุ่มใหญ่ หลายคน ก็มีการไปตั้งสมมุติฐานโดยดูจากผลคะแนนการเลือกสว.ระดับประเทศ แต่ผมก็ยังเชื่อว่า หากเรามีโอกาสได้คุยกัน เขาอาจจะ ไม่ได้เห็นร่วมอะไรเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาเรามองภาพว่า บางคนเป็นสีน้ำเงิน สีส้ม สีแดง สีขาว แล้วเขาทั้งหมดจะต้องมีจุดยืนเหมือนกันหมด ผมไม่เชื่อแบบนั้น ผมคิดว่าคุยกันได้ แล้วกลไกอย่างการทำงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา สว.ก็ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งผมมองว่า หากเรามั่นใจในจุดยืนของเรา ถ้าเราเชื่อว่าข้อมูลของเราถูกต้อง ข้อมูลของเราดีและแน่นพอ ผมก็เชื่อว่าเขาก็จะฟังหรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าเขาจะต่อต้านหรือคัดค้าน เขาอาจจะซอฟต์ลง ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ทำความเข้าใจ อย่างบางคนอาจจะตั้งป้อมต่อต้าน แต่เมื่อเขาได้รับฟัง หลังมีการทำความเข้าใจ เขาอาจคิดว่าฟังดูแล้วก็เป็นประโยชน์แล้วจะต่อต้านไปทำไม ลักษณะแบบนี้
-จากสถานการณ์ของสว.ที่เป็นมาก่อนหน้านี้ คิดว่าพอจบการเลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา การทำงานของสว.ที่ถูกมองว่ามีสีต่างๆ จะทำงานร่วมกันได้ การทำงานจะมีเอกภาพหรือไม่ จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นหรือไม่ หากมีการแข่งกันรุนแรงของสว.ในการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา?
มันอาจไม่ได้รุนแรงในข้อเท็จจริง เพราะเสียงส่วนใหญ่ กลุ่มใหญ่ เขาเป็นเอกภาพ ถ้าใช้เสียงข้างมาก ยังไง เขาก็ไปของเขาได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเรียกร้องคือ ประชาธิปไตย เวลาหามติ ก็ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ แต่เราก็คาดหวังว่า คุณจะเคารพ คำนึงถึงเสียงส่วนน้อยด้วย ไม่ใช่เสียงข้างมากลากไป จะทำให้เสียงส่วนน้อยไม่สามารถทำงานได้
สำหรับบทบาทของสว.ในด้านการตรวจสอบฝ่ายบริหาร-รัฐบาลนั้น คือต้องบอกว่า ตัวของเราเอง ในทางการเมืองตามระบอบ ที่มาเราไม่ชอบธรรม แม้รัฐธรรมนูญเองจะบอกว่า เราเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เหมือนกับเราคล้ายๆ เป็นส.ส. แต่ว่าที่มา ต้องยืนยันว่ามันไม่ชอบธรรมจริงๆ ผมเองก็เคยโพสต์ตั้งแต่แรกๆ ตอนที่ประกาศตัว จะลงสมัครคัดเลือกเป็นสว. ผมจะพยายามจำกัดอำนาจตัวเองให้มากที่สุด หากเป็นอำนาจในเชิงถอดถอน โดยเฉพาะจากฝ่ายบริหาร ผมจะไม่ไปแตะอำนาจตรงนั้นเลย แต่อำนาจในเชิงว่า ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล แบบนี้ต้องทำ
อย่างเช่น การเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอไป แล้วปรากฏว่าเป็นร่างพรบ.ฯที่เข้าข่ายกฎหมายการเงิน ที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรอง เอาเข้าสภาฯ แล้วนายกฯเศรษฐา เอาไปดองไว้
อย่างเช่นร่างพรบ.บำนาญผู้สูงอายุ ที่มีเนื้อหาในเรื่องของการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ ทางภาคประชาชนก็มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯ โดยมีการผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แต่ปรากฏว่าร่างพรบ.ฯดังกล่าวไปติดค้าง แบบนี้ เราก็ต้องกระทุ้ง เพราะในฐานะที่เราเอง ก็เป็นความหวังของภาคประชาชน เราก็ต้องหาช่องทางในการกระทุ้งผ่านกลไกต่างๆ เช่น การตั้งกระทู้ถามกับนายกรัฐมนตรีว่าเกิดอะไรขึ้น หรือการใช้กลไกของกรรมาธิการของวุฒิสภา ก็เป็นอีกกลไกที่เราจะทำ
ทั้งนี้ทั้งนั้น บอกกับประชาชนว่า เราเอง ก็ไม่สามารถให้หลักการันตีได้ว่า ในวันข้างหน้า เราจะไปเจอกับอะไร อย่างวันนี้ ผมก็พูดได้ เพราะเพิ่งไปรายงานตัว(สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา) ผมก็พูดได้ว่าผมจะทำอะไร แต่เมื่อเข้าไปจริงๆ เราไม่รู้ว่าเราจะเจอแรงกดดัน หรือผลประโยชน์อะไรในการล่อซื้อ แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยมีใครกล้าโทรมา คือวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าตัวเราเองจะไปเจอกับอะไร หรือตัวเราเอง อาจจะเฉื่อยชาไปเลยก็ได้
ดังนั้น ผมก็อยากเรียกร้องให้ ประชาชนอย่าเป็นเพียงแค่ผู้เฝ้ามอง แต่ต้องแอ็กทีฟ ทำงานในเชิงรุก ในการตรวจสอบ กำกับติดตาม ซึ่งสว.ส่วนใหญ่ สว.จำนวนมาก อาจไปติดตามไม่ได้ แต่สว.ที่บอกว่าตัวเองเป็นสว.ประชาชน สว.ที่แถลงจุดยืนต่างๆ ชัด ประชาชนคอยติดตามตรวจสอบสว.เหล่านี้ได้เลย หรือหากประชาชนมีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ ก็มาเสนอ ส่งให้หรือมาเรียกร้องหรือทำข้อมูลมาให้ ก็ส่งมา เราจะได้ทำงานร่วมกัน
เสนอโมเดลใหม่ โหวตองค์กรอิสระ แก้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ให้ผู้ถูกเสนอชื่อ แสดงตนต่อที่ประชุม
-เรื่องการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ รวมถึงตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายให้อำนาจสว.เช่น ประธานศาลปกครองสูงสุด จะมีแนวทางการโหวตอย่างไร โดยเฉพาะหากช่วงการลงมติมีข่าวเรื่องมีโผมาให้สว.โหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ?
อย่างที่บอกข้างต้น ต่อไปนี้ พวกเราก็จะเป็นเด็กขี้ฟ้อง ก็คือหากมีอะไร เราก็ต้องมาฟ้องประชาชน เพราะเราไม่มีหลังพิงอื่น ก็ต้องพิงประชาชน แต่ว่ามันก็มีข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาอยู่ เรื่องเกี่ยวกับข้อมูลซึ่งเป็นรายงานลับ (ห้ามนำไปเปิดเผย) แต่ก็คิดว่าเรื่องไหนที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อันนี้ต้องคัดง้างในเรื่องของข้อมูล เราต้องโปร่งใสและเปิดให้ประชาชนรับรู้
และผมคิดว่ากลไกหนึ่งที่ควรทำก็คือ การแสดงจุดยืน แสดงวิสัยทัศน์ของคนที่จะไปดำรงตำแหน่งที่จะต้องให้สว.โหวตรับรองในที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีการถ่ายทอดสด เพื่อว่าจะได้รู้ว่าคุณมีคุณสมบัติอย่างไร แม้ว่าก่อนการโหวตจะมีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการพิจารณา(คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ) แต่คนที่ได้รับการเสนอชื่อควรต้องมาแสดงตนต่อที่ประชุมวุฒิสภาด้วย
รวมถึงการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ควรให้สว.ที่ลงมติเขียนโน็ตด้วยว่า คุณลงมติเห็นชอบไม่เห็นชอบด้วยเหตุผลอะไร ควรต้องบอกกับประชาชน แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องยากเพราะต้องไปแก้ระเบียบ-ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา แต่เราก็มีความมุ่งหมาย ซึ่งถ้าสว.คนอื่นๆเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แล้วเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่รับหลักการดังกล่าว ทำไม จะรายงานต่อประชาชนไม่ได้ รายงานต่อสื่อมวลชนว่า สว.แต่ละคนให้เหตุผลในการลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ ด้วยเหตุผลอย่างไร ก็พยายามที่จะเสนอหลักการดังกล่าวนี้ แม้เราจะเป็นเสียงข้างน้อย
-ทางสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ บอกว่า เรื่องหนึ่งที่อยากเข้าไปผลักดันขับเคลื่อนคือเรื่องการช่วยเหลือเยาวชน ที่ถูกจองจำ ซึ่งขณะนี้ สภาฯ มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรม ทางสว.ในกลุ่มได้คุยกันหรือไม่ว่า เรื่องการนิรโทษกรรม สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่มีแนวทางอย่างไร?
เรื่องนี้ ก็จะมีอำนาจในเชิงบริหาร ทั้งอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะใช้กับรมว.ยุติธรรม ที่เคยมีโมเดลแบบในปี 2555 ที่อาจจะให้มีการตั้งเรือนจำแยกออกมา เพราะมูลเหตุของการกระทำความผิด มันไม่ใช่เป็นมูลเหตุของการเป็นอาชญากรโดยสันดาน แต่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งตามหลักอาชญาวิทยา การนำเขาไปรวมอยู่ ก็อาจมีแนวโน้มที่อาจจะมีการเรียนรู้ร่วมกัน ก็อาจทำให้เขาอาจมีปัญหา
ดังนั้น หากแยกออกมา โดยมีสถานที่คุมขังแยก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เคยไปเสนอถึงรมว.ยุติธรรม ในการใช้อำนาจทางบริหาร ในการที่จะหาเรือนจำข้างนอก หรือชะลอการส่งฟ้อง หรือสั่งฟ้องของตำรวจ-อัยการไว้ก่อนในระหว่างที่ ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังพิจารณาเรื่องกระบวนการนิรโทษกรรม แต่ไม่ได้หมายถึงให้ชะลอคดีไว้ตลอดกาล แต่ให้เป็นช่วงระหว่างนี้ ที่ทาง สภาฯ กำลังถกเถียงกันเรื่องนิรโทษกรรม
ดังนั้นคดีที่เข้าสู่ process ระหว่างนี้ ชะลอก่อนได้หรือไม่ รอให้มีฉันทามติร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติก่อนได้หรือไม่ ว่าจะมีทางออกอย่างไร ตรงนี้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งวุฒิสภา หากยอมรับในญัตตินี้ เราก็อาจยื่นญัตติดังกล่าวเพื่อสอบถามรมว.ยุติธรรม ว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ หากทำแล้วติดขัดอะไร รวมถึงการสอบถามเจ้าหน้าที่ทัณฑสถาน กรมราชทัณฑ์ในการดูแล หลังก่อนหน้านี้เคยมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัว-คุมขัง เพื่อจะได้เป็นบทเรียนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอีกในอนาคต เพื่อจะได้ดูว่าจะต้องมีกระบวนการป้องกันอย่างไร
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาสูง ยั๊วะ รัฐบาล ข้ามหัว เทตอบ 5 กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯนินจา’ หนีสภา
‘สภาสูง’ ยั๊วะ รบ.ข้ามหัว เทตอบ 5กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯ นินจา’ หนีสภา ‘หมอเปรม’ อาลัย ‘แพทองโพย’ ไร้รับผิดชอบ แขวะใส่ชุดนอนตรวจทหาร หิ้วผัวใต้ออกงาน
‘แพทองธาร’ ยันพรรคร่วมไร้ปัญหา หลังภาพ 'ทักษิณ-อนุทิน' ออกรอบตีกอล์ฟด้วยกัน
ความจริงแล้วตนและนายอนุทิน ก็คุยกันอยู่แล้ว ถึงจะมีปัญหาอะไรก็คุยกันเคลียร์กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆถึงเวลาถ้ามีอะไรก็คุย
อย่างหล่อ! ‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟเคลียร์ขัดแย้ง ‘ทักษิณ’ ยันการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟ ‘ทักษิณ’ เคลียร์ปมขัดแย้ง ยัน ‘การกระทำสำคัญ กว่าคำพูด’ ย้ำอีแอบ ไม่ได้หมายถึงตัวเอง - ภูมิใจไทยชัดเจน เพราะข้อเท็จจริงเข้าประชุมครม.
การเมืองมกรา’68 พรรคร่วมร้อนรุ่มแตกหัก ‘ทักษิณ’ หนาวสะท้านชั้น 14
ทักษิณขยี้หนัก โชว์ภาพตีกอล์ฟขนาบข้างทุนผูกขาด ส่อสื่อสัญญาณรุก “พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ” คาดชะตากรรมไม่แตกต่าง “ประวิตร-พปชร.” ประเมินปี 68 ปมชั้น 14 ทำการเมืองร้อนแรง
สัญญาณชัด! ‘เทพไท’ ฟันฉับความขัดแย้งในรัฐบาล เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน
เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กระโดดข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน
นักเขียนค่ายผู้จัดการ มองทางเลือก ‘ทักษิณ’ ยุบสภาล้างไพ่ใหม่ เหตุมั่นใจกระแส ’อิ๊งค์-ตัวเอง’
ทักษิณโชว์ร่วมก๊วนกอล์ฟอนุทิน โดยมีเจ้าสัวพลังงานร่วมด้วย โดยสื่อบอกว่าสยบรอยร้าว2พรรค ซึ่งจริงๆแม้ 2 พรรคจะขบเหลี่ยมทิ่มแทงกันบ้าง ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ทักษิณขู่ฟอด