เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากรัฐบาลแห่งรัฐมหาราษฏระ บนที่ดินของนักธุรกิจใหญ่ชาวฮินดูที่ได้มอบถวาย ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลที่เหมาะควรยิ่ง
ปัจจุบันได้ก่อสร้างพระสถูปทรงสาญจี กุฏิที่พัก วิหาร/อาคาร เสนาสนะ ที่พระสงฆ์และคณะศรัทธา-พุทธศาสนิกชน สามารถเข้าไปพำนักใช้สอยเพื่อปฏิบัติศาสนกิจได้ แม้กำลังอยู่ในห้วงเวลาของการก่อสร้าง
ด้วยความพรั่งพร้อมในศรัทธาของชาวพุทธในอินเดียและชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู .. ศาสนาเชน และอื่นๆ จึงมีการบริจาคเงินจำนวนมากพอสมควร เพื่อการสร้างวัดหรือสำนักศึกษาปฏิบัติธรรมแห่งนี้ให้แล้วเสร็จ ดังที่ปรากฏในนาม “Dhamma-Vinaya Monastery of Pune in India .. เรียกย่อๆ ว่า DVMP” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระธรรมวินัยจากพระพุทธพจน์ที่รวบรวมประมวลไว้สมบูรณ์แล้วในพระไตรปิฎก
แม้ว่าการสร้างวัดพุทธศาสนาในอินเดีย จะมีเกิดขึ้นมากมาย.. แต่การที่จะได้เห็นชาวพุทธในอินเดีย (โดยการสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย) พร้อมเพรียงกันในการร่วมกันสร้างวัด เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัยนั้น.. เกือบจะไม่ปรากฏ จะมีแต่สำนักเล็กๆ ของชาวพุทธตามหมู่บ้านต่างๆ ที่มีไว้เพื่อประกอบศาสนกิจตามประเพณีของชาวพุทธ.. ที่มีฆราวาสเป็นผู้สร้างและดูแล หรืออาจจะมีพระอินเดียประจำบ้างหรือไม่มี ก็เป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น เมื่อมีการสร้าง DVMP หรือ Dhamma-Vinaya Monastery of Pune ขึ้น เพื่อจุดประสงค์ของการเป็นศูนย์การศึกษาปฏิบัติธรรม.. จึงเป็นข่าวใหญ่โตที่ชาวอินเดียให้ความสนใจยิ่ง.. จนนำไปสู่การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อการก่อสร้างอาคารสถานที่พัก.. แม้แต่หน่วยงานป่าไม้ของรัฐบาลอินเดียยังได้ส่งมอบการใช้สอยพื้นที่ป่าไม้ จำนวนประมาณ ๘๐ เอเคอร์ หรือประมาณ ๒๐๐ ไร่ ให้ DVMP ดูแลใช้สอยเพื่อเป็น สวนป่าวิปัสสนากรรมฐาน ได้ โดยมีข้อตกลงในการปลูกป่าและอื่นๆ ที่เป็นไปในการร่วมการสร้างป่า.. ดูแลป่า เพื่อประโยชน์ในทางสิ่งแวดล้อม จึงได้ตั้งชื่อสวนป่าดังกล่าวที่มีเนื้อที่ติดต่อกับ DVMP หรือวัดของชาวพุทธอินเดียว่า “Venuwan Park Meditation”
การไปปฏิบัติศาสนกิจในครั้งนี้ จึงได้มีโอกาสเป็นประธานเปิด สวนป่าเวฬุวันวิปัสสนา ขึ้น นอกจากการแสดงธรรมอบรมสั่งสอนชาวพุทธในอินเดียที่เดินทางมากจากหลายสถานที่
ต้องยอมรับว่า แม้ชาวพุทธในอินเดียจะด้อยโอกาสต่อการได้รับการเรียนรู้ทางพุทธศาสนาที่ถูกต้อง.. แต่ก็ไม่ใช่เป็นเครื่องบั่นทอนกำลังในความศรัทธา.. และความเพียร
หากทำความศรัทธาให้ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัย.. เชื่อว่า ความเพียรของพวกเขาย่อมก่อให้เกิดผลยิ่งต่อการศึกษาปฏิบัติธรรม อันเป็นไปเพื่อการเพิ่มพูนทางปัญญา..
สิ่งที่สำคัญคือ การสั่งสอนและให้ข้อแนะนำที่ถูกต้อง ตรงตาม พระพุทธธรรม ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงความเป็นพระสัทธรรมแท้จริง...
การวางรากฐานการศึกษาอย่างเป็นไปตามลำดับในทำนอง อนุปุพพิกถา ที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาใช้มากที่สุดในวิธีการสั่งสอนหมู่ชนทั้งหลายในสมัยพุทธกาล จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง..
การไปเทศนาธรรม.. ให้การอบรมสั่งสอนชาวพุทธในครั้งนี้ จึงต้องดึงกลับมาที่การเจริญ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ และสีลานุสติ ในกระบวนการของ การเจริญสติปัฏฐานธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการก้าวกระโดดไปสู่การมุ่งเข้าไปศึกษาปฏิบัติธรรมชั้นสูง ที่นิยมชมชอบกันมากจนกลายเป็น แฟชั่น (Fashion) ในเรื่อง การปฏิบัติวิปัสสนาญาณ .. อย่างไม่รู้โครงสร้างการศึกษาของความเป็นไปเพื่อการเข้าสู่ วิปัสสนาญาณ
จริงๆ แล้ว การเผยแผ่วิธีการปฏิบัติธรรมชั้นสูงนั้นเป็นเรื่องดี หากการเผยแผ่นั้นเป็นไปสู่ผู้รับที่มีคุณภาพในฐานะพุทธบริษัท ที่ควรแก่การมีคุณสมบัติถึงพร้อมในการเข้าห้องเรียน เพื่อเป็นนักเรียนวิปัสสนากรรมฐาน.. ศึกษาธรรมปฏิบัติชั้นสูงในพระพุทธศาสนา
แต่เมื่อผู้เรียนไม่มีคุณสมบัติที่ควรแก่การจะเข้าสู่กระบวนการศึกษาในฐานะ ชาวพุทธโดยธรรม เรื่องของเรื่องจึงแปรผัน จากบวกให้เป็นลบ.. จากคุณให้เป็นโทษได้.. ดังที่ปรากฏในแวดวงศาสนาบ้านเรา
การหมิ่นเหม่.. การปรามาส.. การประมาท พระธรรมวินัย จึงเกิดขึ้น เมื่อหมู่ชนเหล่านั้นเข้าใจว่า วิปัสสนากรรมฐานสำเร็จด้วยวิธีการปฏิบัติแบบวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป ที่สามารถเข้าถึงธรรมชั้นสูงนี้ได้ด้วยความคิดนึก.. จนก่อเกิด ลัทธิวิปัสสนึก ขึ้นในหมู่นักปฏิบัติที่นิยมชมชอบ วิปัสสนาญาณ แบบไม่ยาก
การพูดคุย กล่าวอ้าง ว่า.. ผ่านการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน เป็นเวลา ๑๐ วัน ๒๐ วัน ๔๐ วัน.. ที่นั่นที่นี่.. มักจะเกิดขึ้นเมื่อได้พบกับบุคคลผู้นิยมชมชอบเหล่านั้น ที่มักจะกล่าวขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นนักวิปัสสนากรรมฐานแบบโลกนิยม..
การไปอินเดียในครั้งนี้ จึงแตกต่างไปจากทุกครั้ง ในการให้การอบรมสั่งสอนชาวพุทธในอินเดียที่มาจากเมืองต่างๆ... เพื่อจะได้เข้าใจ-เข้าถึงคุณสมบัติความเป็นชาวพุทธที่ถูกต้อง.. และเพื่อการสร้างคุณสมบัติของความเป็นพุทธบริษัทให้ถึงพร้อม
การสอนปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ จึงปูพื้นด้วยการศึกษาปฏิบัติตามหลัก เจริญอนุสติ ด้วย พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ...
แม้ว่าจะนำ อานาปานสติ.. มาเป็นแบบแผนในการเจริญสติปัฏฐานธรรม แต่การกำหนดให้ภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ.. หรือการเจริญพระพุทธคุณ ๙ ประการ พระธรรมคุณ ๖ ประการ พระสังฆคุณ ๙ ประการ และคุณของศีลนั้น เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ เพื่อให้จิตใจของชาวอินเดียมีพุทโธๆๆๆ ติดอยู่ในจิตใจตลอดไป
การสอนปฏิบัติด้วยการเจริญ พุทโธ จึงเหมาะที่สุด กับการนำมาใช้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงปฏิบัติ โดยการปูพื้นฐานความศรัทธาให้เข้มแข็ง มั่นคง จนจิตแน่วแน่อยู่ในกระแส พุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ ก่อเกิดปีติ สุข เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ทำให้จิตเข้าถึงความสงบสุข เพื่อเข้าสู่ความเป็นสมาธิ.. และยกสู่สมาธิชั้นสูง ด้วยการละวาง พุทโธ.. ละวาง ปีติ สุข.. เพื่อการเข้าสู่ความเป็น เอกัคคตาจิต-อุเบกขารมณ์ ซึ่งเป็นยอดสมาธิ.. เพื่อเป็นบาทฐานของวิปัสสนาญาณต่อไป..
การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในครั้งนี้ จึงนับได้ว่าเป็นไปเพื่อเผยแผ่พระศาสนาที่แท้จริง.. นอกจากนั้น ยังได้ไปเยี่ยมเยียนคณะศรัทธาชาวอินเดียที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ต่างๆ .. โดยทุกสถานที่ที่ไปจะได้พบกับชาวอินเดียที่มาจากทุกศาสนา จึงได้มีโอกาสให้ธรรมะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ดีแล้วจากพระสูตรต่างๆ เช่น เมื่อได้รับการนิมนต์ไปเป็นมงคลในโครงการทางธุรกิจต่างๆ ก็จะอัญเชิญ มงคลสูตร ไปสวดสาธยายและแสดงธรรม หรือไปในสถานที่พักอาศัย ก็จะสวด รัตนสูตร เพื่อประกาศคุณพระรัตนตรัย.. พร้อมทั้งแสดงให้เห็นคุณของพระรัตนตรัยว่าล้ำเลิศประเสริฐ เหนือกว่าคุณของเทพยดา บุคคล สิ่งของในโลกนี้ อย่างไร
ในวันสุดท้ายก่อนจะเดินทางกลับ ก็ยังมีกิจนิมนต์เต็มตาราง.. โดยยามเช้ารับสังฆทาน ณ บ้านพักของ Former Chief Secretary ของรัฐบาลแห่งรัฐมหาราษฏระ อินเดีย ที่เป็นแกนหลักสำคัญคนหนึ่งของชาวพุทธ.. โดยมีบุคคลสำคัญชาวอินเดียและชาวพุทธมาร่วมกันจนเต็มบ้านพัก... จากนั้น ก็เดินทางไป มหาวิทยาลัยปูเน่ .. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ได้ชื่อว่าเป็น Oxford of the East โดยการนิมนต์ของ Dr. Mahesh Deokar แห่ง Pali Department โดยได้ไปบรรยายให้กับคณาจารย์-นักศึกษาได้ฟัง.. ตลอดจนถึงไปเป็นมงคลให้กับการเตรียมสร้างอาคารสถานที่ใหม่ของ Pali Department จะได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยใช้เวลาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปูเน่พอสมควร
เสร็จแล้ว ออกเดินทางไปเยี่ยมหมู่บ้านชาวพุทธที่อยู่ใกล้กับสนามบินปูเน่.. ก่อนขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย..
โดยกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และได้เดินทางต่อไปพักที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อบิณฑบาต แสดงธรรม ให้กับนายอำเภอ ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการส่วนต่างๆ ตลอดจนถึงประชาชนในอำเภอแก่งกระจาน.. เนื่องในโครงการ ร้อยใจธรรม .. ร้อยอำเภอ “สืบสานราชธรรม” .. น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว.. ก่อนที่จะเดินทางกลับลำพูน เพื่อไปทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์.. และอธิษฐานจำพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน..
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .