รัฐบาลได้แถลงแนวนโยบาย ท่าที และวิสัยทัศน์ที่จะทำ “การต่างประเทศไทยสู่ยุคใหม่” มีนโยบายแบบเชิงรุก โดยหัวใจสำคัญคือการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก (Proactive Economic Diplomacy) การมองไปข้างหน้า (Forward Looking) เพื่อนำไทยกลับสู่จอเรดาร์ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก และจะทำ “การทูตที่กินได้” จับต้องได้ เป็นรูปธรรม เน้นการเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว โดยหวังว่า ในที่สุดจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดีของประชาชน
ส่วนในทางการเมือง จะใช้แนวทางความยืดหยุ่น สมดุล รักษาความเป็นกลาง รักษาระยะห่างระหว่างมหาอำนาจ ไม่เลือกข้าง และเป็นมิตรกับทุกฝ่าย โดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของไทย รวมทั้งร่วมมีบทบาทอย่างแข็งขันในประเด็นสำคัญของโลก เช่น เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เรื่องสาธารณสุข และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างเสริมความสำคัญ (relevance) ของประเทศไทยในประชาคมโลก
การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก
อันที่จริง การใช้เศรษฐกิจเป็นปัจจัยนำในการต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ เริ่มมีการให้ความสนใจ “การทูตเศรษฐกิจ” ในไทยอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเย็นในทศวรรษ 1980-1990 ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต่อด้วย “นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การต่างประเทศไทยครั้งสำคัญ
การใช้แนวทาง “เศรษฐกิจนำการเมือง” ใช้เศรษฐกิจเป็นปัจจัยนำในการกําหนดนโยบายต่างประเทศได้เข้มข้นขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตามนโยบาย“ก้าวไปข้างหน้า”(Forward Engagement) โดยมีความริเริ่มสำคัญ เช่น การจัดตั้ง ACD (Asia Cooperation Dialogue) และ ACMECS และยุทธศาสตร์ Ayeyawadee-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) เป็นต้น
ประเด็นหลักสำคัญที่จุดประกาย สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย คือวิสัยทัศน์ "Thailand Vision: IGNITE THAILAND “จุดพลังรวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง" ซึ่งตั้งเป้าให้ไทยก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค เป็นศูนย์กลาง (hub) รวม 8 ด้าน คือ
1. เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก 2. เป็นศูนย์กลางสุขภาพครบวงจรของโลก ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพของโลก 3. มุ่งสู่ครัวของโลก เป็นศูนย์กลางอาหารแห่งอนาคต 4.เป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค 5 เป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค เชื่อมต่อโลกตะวันตกและตะวันออก รวมทั้งพัฒนา Land Bridge เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรอันดามัน-อ่าวไทย 6. เป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7. เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค และ 8. เป็นศูนย์กลางทางการเงินของอาเซียน
หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ทั้งไปกล่าว ปาฐกถา เข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติ และเข้าร่วมการประชุมขององค์การระหว่างประเทศ รวม 16 ประเทศ (สหรัฐฯ กัมพูชา ฮ่องกง บรูไนมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ซาอุดีอาระเบีย สปป. ลาว ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี) ถือได้ว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ “การนำไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก” และการดำเนินการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก
อีกเรื่องที่ที่สร้างความฮือฮา คือการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ซึ่งเป็นองค์การของกลุ่มประเทศพัฒนา และการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS แกนนำของกลุ่มประเทศ “Global South” ซึ่งหากประสบผลตามมุ่งหมายก็จะเปิดพื้นที่ให้ไทยมีบทบาทในระดับระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
การเมืองเชิงรุก
อย่างไรก็ดี การเน้นใช้เศรษฐกิจนำ นั้น ต้องเตือนตนอยู่ตลอดด้วยว่า ปัจจุบัน ไทยตกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (และจีน+รัสเซีย) ซึ่งทำให้ภูมิภาคนี้เป็นสมรภูมิสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้เลือกข้าง หรือเอียงเข้าหาตน ในสภาพการณ์นี้ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geopolitics) อีกทั้ง Geo-technology เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก หรือกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะมหาอำนาจขณะนี้ต่างทำให้เรื่องเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องการเมือง ต่างทำให้การแข่งขันทางเทคโนโลยี เช่น Green Technology, AI (Artificial Intelligence) และ EVs เป็นเรื่องการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ การดำเนินการทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้หวังแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่ง และผลกำไร แต่หวังผลในการสร้างความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ หวังผลในการเพิ่มอำนาจอิทธิพลในทางการเมือง การทหาร และความมั่นคงด้วย ที่เรียกกันว่า การทำ “Geo-politization” ประเด็นเศรษฐกิจ ในสภาวะนี้ จึงจำเป็นที่ไทยต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนและกับสหรัฐฯ อย่างสุขุมรอบคอบ แยบคาย และเหมาะสม พร้อมทั้งตระหนักว่า การแยกเรื่องเศรษฐกิจออกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์นั้นเป็นไปไม่ได้ในโลกที่เป็นอยู่จริงในขณะนี้
ในขณะเดียวกันโลกกำลังคลี่คลายเข้าสู่สภาวะแบบ “โลกหลายขั้ว” (Multipolarity) มีหลายศูนย์อำนาจ (Polycentric) ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วน ไร้ระเบียบ หรือเกิดระเบียบโลกแบบแบ่งขั้ว เลือกข้าง มีการแยกมิตรแยกศัตรู อย่างชัดเจน (fragmentation) ดังปรากฏการณ์ใช้กลยุทธ์ทางภูมิเศรษฐศาสตร์ เช่น de-coupling, de-risking, friendshoring, nearshoring และการใช้นโยบายอุตสาหกกรม (industrial policy) และแนวทางกีดกันทางการค้า (Protectionism) เพื่อผลในทางภูมิรัฐศาสตร์ ไทยจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันสภาพการณ์นี้ เพื่อรักษา strategic autonomy คือการไม่เลือกข้าง ไม่ให้ตกเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายใด แต่มีจุดยืน มีหลักการ เช่น ไม่สนับสนุนการกระทำที่ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ และยึดผลประโยชน์แห่งชาติ เป็นที่ตั้ง โดยอาจใช้แนวทางที่เรียกว่า การกระจายความเสี่ยง “Strategic Hedging” ไม่เทน้ำหนักให้แก่ฝ่ายใด พร้อมกับใช้การร่วมแถวแนวร่วมแบบหลากหลาย หรือ “Multiple Alignment” เช่น การเพิ่มความร่วมมือกับประเทศอำนาจขนาดกลาง (middle power) เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ตุรกี อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย บราซิล และแอฟริกาใต้ เพื่อเปิดทางเลือกและเพิ่มอำนาจต่อรอง
การทูตเชิงรุก จึงน่าจะรวมถึงการรุกทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มพูนบทบาทในอาเซียน และปรับบทบาทในประเด็นปัญหาเมียนมาที่มากไปกว่าการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แต่จะทำอย่างไรที่จะไม่ล้ำเส้นอาเซียน เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
โดยรวม แนวนโยบายต่างประเทศของไทยในรัฐบาลนี้ คือ ไทยเป็นกลาง-มุ่งค้าขาย-ไม่ก้าวก่ายเรื่องความมั่นคงของใคร นำประเทศไทยกลับสู่เวทีโลก หลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเพื่อให้ไทยเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายสบายใจที่จะเข้ามาลงทุน มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เป็นการให้น้ำหนักแก่มิติเศรษฐกิจตามเป้าหมายนโยบายที่วางไว้ แต่ในสถานการณ์จริง โดยเฉพาะการวางตัวเป็นกลางนั้น จะทำได้เพียงใด?
แน่นอนว่า ไทยจะไม่ดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯในรูปเก่า ดังเช่นในช่วงสงครามเย็น จากสถานการณ์ความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว แต่ไทยจะปรับสมดุล (rebalance) อย่างไร ในนโยบายกับมหาอำนาจเพื่อให้มีลักษณะ omni-directional มากขึ้น เมื่อพิจารณาว่า China Factor ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการทูตการต่างประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องจากความใกล้ชิดในทุกมิติที่ทวีความสำคัญมาตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี การศึกษา ความร่วมมือทางการทหาร และจากการที่จีนได้ให้การสนับสนุนไทยในทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น
การใช้เศรษฐกิจนำการเมืองเป็นเรื่องดี แต่การบริหารการเมืองระหว่างประเทศนั้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าบริหารภูมิรัฐศาสตร์ไม่ได้ ย่อมส่งผลกระทบทางภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าไทยต้องการทั้งตรรกะทางการค้า และตรรกะของผลประโยชน์แห่งชาติในทุกมิติ
ดร.ชัยยงค์ สัจจิพานนท์
อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
และอดีตอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
คอลัมน์เวทีพิจารณ์สาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'กัณวีร์' เปิดการบ้านล่วงหน้าซักฟอก 'เศรษฐา-ปานปรีย์'
'กัณวีร์' เตรียมอภิปรายซัก 'เศรษฐา-ปานปรีย์' แนะเตรียมตัวให้พร้อม เผยทวงสัญญาที่ให้ไว้ในเวทีระหว่างประเทศ ลั่นฝ่ายค้านข้อมูลแน่น!
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง สนับสนุนใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ศรีลังกาอย่างเต็มที่
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในงาน Sri Lanka – Thailand Business Networking โดยมีนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เข้าร่วมงานด้วย
นายกฯ เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ พร้อมประชุมเต็มคณะ ความร่วมมือไทย-ศรีลังกา
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้นในเวลา 15.15 น. นายกรัฐมนตรีพบหารือแบบ Four Eyes กับนายรานิล วิกรมสิงเห (H.E. Mr. Ranil Wickremesinghe) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
นายกฯ หารือประธานาธิบดีเยอรมนี ชวนเอกชนเข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
'เศรษฐา' สรุปภาพรวมหลังประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น ให้คะแนนดีเยี่ยม ปลื้มแลนด์บริดจ์เสียงตอบรับดี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวสรุปถึงภาพรวมในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นฯ และร่วมหารือกับนักธุรกิจว่า คนญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากกว่า 60 ปี และเป็นหนึ่งประเทศที่ลงทุนมาก มูลค่าหลายๆ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายกฯ เตรียมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น 17 ธ.ค.นี้ ถกปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) เพื่อฉลองวันวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นในวันที่ 17 ธ.ค.2566 ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนจะเสนออะไรเป็นพิเศษ