บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

“..สมัยใด พระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม ในสมัยนั้น ข้าราชการ คฤหบดี ชาวนิคมชนบท ก็พลอยไม่ตั้งอยู่ในธรรมด้วย

พระจันทร์ พระอาทิตย์ ดาวฤกษ์ กลางวัน กลางคืน ฤดู เดือน ปี ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ

เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ ย่อมพัดเวียนไป

เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ พัดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ.. เมื่อเทวดากำเริบ ฝนย่อมไม่ตกตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวสุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก

แต่หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ผู้อื่นก็พลอยตั้งอยู่ในธรรมด้วย ฤดู เดือน ปี.. หมุนเวียนสม่ำเสมอ ลมไม่แปรปรวน เทวดาไม่กำเริบ ฝนก็ตกตามฤดูกาล ข้าวกล้าก็สุกเสมอกัน มนุษย์ผู้บริโภคข้าวกล้าสุกเสมอกัน ย่อมมีอายุยืน มีผิวพรรณดี มีกำลังและมีอาพาธน้อย... ฯ...”

พระพุทธองค์ตรัสสรุปในท้ายพระสูตร เพื่อแสดงความสำคัญของผู้นำ ผู้ปกครอง ผู้บริหารบ้านเมือง โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า..

“ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดได้รับการยกย่องว่าประเสริฐ หากไม่ประพฤติธรรม ประชาชนจะไม่ประพฤติธรรมด้วย แว่นแคว้นทั้งปวงก็จักเป็นทุกข์ หากตรงข้ามก็จักเป็นสุข

เปรียบเหมือน ฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด โคเหล่านั้นย่อมไปคดทั้งหมด และถ้าโคผู้นำไปตรง โคทั้งปวงก็จักว่ายน้ำไปตรง....”

การคัดเลือก ผู้นำ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร .. ในทุกองค์กรของสังคมในยุคสมัยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงก้าวหน้าสืบไปของประเทศชาติ

การสรรหาบุคคลเข้ามาใช้อำนาจในการปกครอง จึงเป็นเหตุปัจจัยหลักของการพัฒนาประเทศชาติ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด.. ซึ่งแน่นอน หากเมื่อใดที่ได้ผู้บริหาร ผู้ปกครอง.. หรือรัฐบาล ที่ไม่ดี ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน ก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปโดยธรรม.. และไม่แปลกที่จะเกิดความวุ่นวายแตกแยกของคนในชาติ.. เกิดความหายนะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง.. แม้การศาสนาก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องจากความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างอาณาจักรและศาสนจักร.. ที่ต้องอ้างอิงเกื้อกูลกันไปโดยธรรม...

ความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจึงเกิดขึ้น เมื่อมีการผลักดันให้ศาสนจักรออกมารองรับอาณาจักร.. ให้เป็นไปในทิศทางความต้องการของผู้นำ ผู้ปกครอง ในสังคมสมัยนั้นๆ.. และแน่นอน หากบุคลากรในศาสนจักรอ่อนแอ ปฏิบัติตนคลาดไปจากธรรม มีความอ่อนไหวต่อโลกธรรม ยังมุ่งแสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข..

...องค์กรศาสนจักร .. ก็จักผันผวน แปรปรวน และให้วิบัติไปจากอำนาจแห่งธรรม.. นั่นหมายถึง ความหายนะของมนุษยชาติและประเทศชาตินั้นได้เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นไปตาม ธรรมนิยาม ที่ควบคุมให้ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงการรับผลที่ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยนั้น ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ..

ปรากฏการณ์ที่แสดงออกจากความเสื่อมของฝ่ายศาสนจักร คือ ความวิปลาสในธรรมคำสั่งสอนที่เริ่มสับสนว่า อะไรคือพระสัทธรรมแท้.. อะไรคือพระสัทธรรมปลอม..

สอดคล้องกับ สุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ๒ ข้อใน ๑๖ ข้อ.. โดยปรากฏในสุบินนิมิตข้อที่ ๖ ว่า.. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิต เห็นมีหมู่มนุษย์ถือถาดทองคำอันมีค่ามหาศาล ไปวางให้สุนัขจิ้งจอกถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์สุบินนิมิต ดังกล่าวว่า.. อนาคตต่อไปในภาคหน้าโน้น กลุ่มคนที่โง่เขลาปัญญาทราม จะเอาพระธรรมคำสั่งสอนของเราตถาคตไปให้ลัทธิต่างๆ เหยียบย่ำทำลาย แล้วถ่ายทอดลัทธิของเขา เอาคำสอนของเขาที่สกปรกโสโครกด้วยกิเลสตัณหา มากลบเกลื่อนในคำสอนของเรา แล้วดัดแปลงแก้ไขคำสอนของเราให้เข้ากันกับลัทธิของเขา แล้วประกาศว่า คำสอนของเราตถาคตเป็นส่วนหนึ่งในลัทธิของเขา ให้คนทั้งหลายมีความเข้าใจผิดว่า คำสอนของเราเข้ากันได้กับคำสอนของเขา ถือว่าเป็นอันเดียวกัน ลัทธิเหล่านั้นก็จะไม่รู้คุณค่าของตถาคตแต่อย่างใด มนุษย์อย่างนี้ก็จะมีในเมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว และจะมีลัทธิต่างๆ มาอวดอ้างว่าเป็นศาสนาเป็นจำนวนมาก

สุบินนิมิตอีกข้อหนึ่ง คือ สงสัยในมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นข้อที่ ๑๐ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสุบินนิมิตเห็นหม้อข้าวหม้อเดียวมีความต่างกัน ข้าวในหม้อซีกหนึ่งสุก ซีกหนึ่งดิบๆ สุกๆ อีกซีกหนึ่งข้าวไม่สุกเลย

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์สุบินนิมิต ดังกล่าวว่า.. อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนในโลกนี้จะมีความเห็นแตกต่างกันไป กลุ่มหนึ่งจะมีความเชื่อว่า เราตถาคตเป็นที่พึ่งที่เคารพจริง พระธรรมคำสั่งสอนของเราตถาคตเป็น สวากขาตธรรม เมื่อนำไปปฏิบัติให้ถึงที่สุด แล้วจะพ้นทุกข์ได้จริง เชื่อว่ามีมรรคผลนิพพานจริง นรกสวรรค์มีจริง กรรมดี กรรมชั่ว ให้ผลแก่บุคคลผู้กระทำจริง ตายแล้ว เมื่อมีกิเลสตัณหาอยู่ เชื่อว่า ได้มาเกิดใหม่

อีกกลุ่มหนึ่ง ยังไม่แน่ใจว่า มรรคผลนิพพานในยุคสมัยนี้มีจริงหรือไม่ มีแต่ความสงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ปฏิเสธว่า มรรคผลนิพพานไม่มี ทำดี ทำชั่ว ไม่ให้ผลในภายหน้าชาติหน้า ตายแล้วไม่ได้เกิดใหม่แต่อย่างใด ในช่วงปลายพุทธศาสนาโน้น คนจะเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดมากขึ้นด้วย

จากสุบินนิมิตทั้ง ๒ ข้อ ที่ถูกพยากรณ์โดยพระพุทธเจ้า บัดนี้ ได้ปรากฏเห็นเค้าของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแวดวงของศาสนจักร อันเนื่องจาก ความไม่แน่วแน่ มั่นคง ของบุคลากรในศาสนจักร ที่ส่วนหนึ่งหวั่นไหว เปลี่ยนแปร ไปตามกระแสโลกธรรม.. ส่วนหนึ่งกำลังกระเพื่อม แม้จะยังไม่หวั่นไหว.. และอีกส่วนหนึ่ง ยังแน่วแน่ มั่นคง แต่ไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับทั้งสองส่วนที่กล่าวมา...

สิ่งสำคัญ คือ บทบาท หน้าที่ ในองค์กรศาสนจักร ที่ได้รับการแต่งตั้งและมีการอุปถัมภ์จากทางอาณาจักร มักจะอยู่ในหมู่สัดส่วนของกลุ่มที่หวั่นไหวและกระเพื่อมต่อกระแสโลกธรรม

จึงได้เห็นการใช้อำนาจหน้าที่ของกลุ่มบุคคลในสัดส่วนเหล่านี้ ในฝ่ายศาสนจักรที่อนุวัติไปตามกระแสโลกธรรม มีการจัดการงานเชิงโลกธรรมปรากฏเกิดขึ้นมากในฝ่ายศาสนจักร จนลืมฐานะ บทบาทหน้าที่ ของตนตามพระธรรมวินัย

การรับเงินทอง.. การพัฒนาทางด้านวัตถุ การแสวงหาความรู้แบบโลกนิยม จึงเกิดปรากฏมากขึ้นในฝ่ายศาสนจักร เพื่อการให้ได้มาซึ่งโลกธรรม.. การผันแปรจากสัตถุศาสตร์ เป็นวัตถุศาสตร์ จึงเกิดมากในยุคดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะวัตถุเดรัจฉานวิชา..

ความลำเอียง การดำเนินการไปผิดทาง การประพฤติล่วงธรรม จึงเกิดขึ้นมากในฝ่ายศาสนจักร ที่มากไปด้วยอธิกรณ์.. และยังขาดความใส่ใจในการชำระจากบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ฐานะในฝ่ายศาสนจักร

ดังนั้น การให้ความสำคัญต่ออำนาจแห่งธรรมอย่างจริงใจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ในทุกมิติของสังคมมนุษยชาติ

นั่นหมายถึง.. การทำให้ฝ่ายศาสนจักรคืนกลับสู่ความเคารพตั้งมั่นในพระสัทธรรม.. ละออกจากโลกธรรมอย่างสิ้นเชิงในทุกๆ ด้าน คืนสู่พุทธภูมิดังบรรพชนปฏิบัติสืบกันมา ทั้งนี้ เพื่อจะได้อาศัยฝ่ายศาสนจักรได้เกื้อกูล สงเคราะห์ ฝ่ายอาณาจักร ให้ได้ผู้นำ ผู้ปกครอง รัฐบาล-ข้าราชการ และประชาชน ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ตั้งมั่นเคารพในอำนาจแห่งธรรมอย่างแท้จริง.. เพื่อก่อเกิดสันติสุขในหมู่มนุษยชาติ!!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน

เหลียวหลังแลหน้า 92 ปี ปชต. กรีดดีลลับอันตราย! รัฐบาล มีโอกาสอยู่ครบเทอม

ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป การเมืองในรัฐสภาทั้งสภาล่างคือสภาผู้แทนราษฎร และสภาสูงคือวุฒิสภา ที่ตอนนี้ผ่านกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

โครงการร้อยใจธรรม ร้อยอำเภอ.. ถวายเป็นพระราชกุศล ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เริ่มย่างเข้าสู่กาลมหามงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว.. ครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา

โฉมหน้า วุฒิสภา 2567 สว. 200 เก้าอี้ มาจาก 4 กลุ่ม

สัปดาห์หน้าวันที่ 26 มิถุนายน มาถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน รอบสุดท้ายแล้ว เพราะเป็นการเลือก สว.ระดับประเทศ ที่คาดว่าช่วงเย็นวันที่ 26 มิ.ย.