กรอบการพัฒนา AI Roadmap ขององค์กร

ในยุคที่ AI เป็นประเด็นสุดร้อนแรงในทุกวงการ องค์กรต้องการได้ชื่อว่าได้ นำ AI มาใช้งานแล้ว  เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย และ มีประสิทธิภาพ มีความพยายามส่งคนไปอบรมใช้งาน Chatbot เพื่อช่วยทำงานด้านการตลาด การใช้วาดรูป วาดกราฟ หรือ ช่วยจัดทำเอกสารวิเคราะห์รายงานต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม หลังจากอบรมแล้ว และได้ทดลองใช้งานเล็ก ๆ น้อย ๆ ปรับใช้ในองค์กรแล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการช่วยงานระดับบุคคล) ผู้บริหารมักมีคำถามตามมาว่า แล้วจะยังไงต่อไป ?  เราประกาศได้แล้วใช่หรือไม่ว่านำ AI มาใช้ในองค์กร ? เราเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ?  เราใช้งาน AI เหล่านั้นคุ้มค่าแล้วหรือ ? นี่คือจบเพียงแค่นี้แล้ว ? คำถามเหล่านี้สามารถตอบได้ด้วย “การจัดทำ AI Roadmap”

AI Roadmap เป็นกระบวนการในการจัดทำแผนงานการนำ AI มาใช้งาน โดยมีการคิดวางแผน วางแผน และประเมินความคุ้มค่าอย่างเป็นระบบ เป็นขั้น เป็นตอน มีการประเมินด้านต่าง ๆ ทั้งเทคนิค และที่ไม่ใช่เทคนิค 

อันที่จริง ผมไม่อยากให้ยึดติดกับความคิดที่ว่าจะต้องตั้งต้นจากการใช้ AI ก่อน ถ้าไม่ใช่แล้ว องคกรพัฒนาไม่ได้  เนื่องจากแท้จริงแล้ว AI Roadmap ก็คือการทำ Digital Transformation รูปแบบหนึ่งนั่นเอง กล่าวคือเป็นการพัฒนาปฏิรูปองค์กรโดยอาศัยเครื่องมือทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยในการขับเคลื่อน  

ผมขอเน้นย้ำว่าใช้ AI (หรือ Digital) เป็นเครื่องมือช่วยเท่านั้น การปฏิรูปองค์กรไม่จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลเสมอไป  เพราะแค่เพียงการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ลดขั้นตอน ปรับระเบียบ ก็ถือเป็นการปฏิรูปได้แล้ว  เช่นเดียวกับ AI Roadmap ก็คือ ไม่ได้บังคับว่าต้องใช้ AI เท่านั้น องค์กรจึงจะปฏิรูปได้ 

เอาล่ะ สมมติว่าจะทำ AI Roadmap เพื่อให้เป็นไปตามกระแส (อย่างรู้เท่าทัน) จะเริ่มต้นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง ? 

องค์ประกอบต่าง ๆ ของ AI Roadmap (รับคำแนะนำจาก ChatGPT และปรับปรุงจากประสบการณ์โดยตัวผมเอง) มีดังนี้ 

1.การวิเคราะห์สถานะปัจจุบัน (Current State Assessment) 

เป็นการประเมินตนเองก่อน ว่าองค์กรของเรามีเทคโนโลยี มีระบบอะไรอยู่แล้วบ้าง และมีการใช้งาน AI ทำอะไรอยู่แล้วหรือไม่ นี่ถือเป็นขั้นตอนในการทำ inventory checking 

หลังจากประเมินแล้วก็มาดูว่าองค์กรเรามีความต้องการ หรือ มีปัญหาทางธุรกิจอะไรที่อยากแก้บ้าง และ ปัญหาไหนที่ใช้ AI ช่วยแก้ไขได้บ้าง ซึ่งมักเป็นปัญหาที่ต้องการใช้ข้อมูลจำนวนมาก ต้องการทำให้อัตโนมัติขึ้น ต้องการให้ถูกต้องมากขึ้น หรือ ต้องการความรวดเร็วมากขึ้น 

ขั้นตอนการสำรวจนี้ จะรวมไปถึงการสำรวจทักษะของบุคลากรที่จะมารับผิดชอบงานด้าน AI ด้วย 

2. การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมาย (Vision and Goal Setting) 

กำหนด (เลือก)วิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ AI มาช่วยในการบรรลุ ซึ่งก็เลือกจากวิสัยทัศน์หลักขององค์กรที่วางไว้แล้ว นำมาปรับให้จำเพาะเจาะจงและสอดคล้องล้อกับงานในส่วนที่ AI จะมาช่วย  ขั้นตอนนี้รวมถึงการกำหนดเป้าหมายที่จับต้องและตรวจวัดได้ด้วย เช่น ลดค่าใช้จ่ายอะไรเท่าไหร่ เพิ่มประสิทธิการทำงานเรื่องอะไรแค่ไหนวัดอย่างไร

ในขั้นตอนนี้ ยังประกอบด้วย การแจกแจง AI Projects และ use cases ต่าง ๆ ออกมา เพื่อประเมินความคุ้มค่า (ได้ประโยชน์มากไหม เทียบกับทรัพยากร) ความเป็นไปได้ (ยากง่ายเพียงใด) ความสำคัญ (สอดคล้องกับเป้าหมายวิสัยทัศน์หลักขององค์กรแค่ไหน ส่งเสริมวิสัยทัศน์สำคัญข้อไหนแค่ไหน) และระดับของผลกระทบ (คือ กระทบทางอ้อมกับงานอย่างอื่นเป็นลูกโซ่มากน้อยแค่ไหน) ปัจจัยเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์การจัดลำดับ (ranking) พิจารณาว่าจะบรรจุลงใน AI Roadmap หรือไม่ มีลำดับก่อนหลังอย่างไร

3.การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) 

เป็นการกำหนดและเขียนกลยุทธ์ที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ เช่น จะนำเอา AI ประเภทไหนมาใช้งาน เทคโนโลยีอะไรบ้าง แพลตฟอร์มเครื่องมืออะไรที่เหมาะสม แล้วแต่ละชิ้นส่วนทำงานร่วมกัน หรือ เชื่อมต่อกันอย่างไร ตลอดจนวางแผนกรอบเวลาในแต่ละขั้นตอนการทำงานไว้ด้วยให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ยังต้องระบุทรัพยากรที่จำเป็น (Required Resources) ออกมาไว้ล่วงหน้าเพื่อทำการจัดเตรียม และประเมินความคุ้มค่าไปในตัว

4.การพัฒนาทักษะและความรู้ (Skill and Knowledge Development) 

เป็นการจัดการฝึกอบรม ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ขาดตกบกพร่องที่ทราบจากการสำรวจในข้อแรก อาจจะเป็นการส่งไปเรียน การจ้างที่ปรึกษามาทำงานด้วยกัน หรือ รูปแบบอื่น ก็แล้วแต่เหมาะสม  

5.การดำเนินงานและการปรับใช้ (Implementation and Deployment) 

ตรงนี้ เป็นการทดลองทำงานจริง นำ AI มาใช้จริง หรือ พัฒนา AI ใช้งานจริง แต่เป็นในระดับการทดลองทดสอบกับกรอบหรือเป้าหมายเล็ก ๆ ก่อนปรับใช้งานเต็มรูปแบบ (full scale deployment) เช่น ใช้ข้อมูลจากแผนกเดียวก่อน  ทดลองใช้งานในหนึ่งทีมงานก่อน  หรือ แตกเป้าหมายใหญ่ เป็นเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วลองดำเนินการดู เพื่อให้ทราบชัดเจนว่าต้องปรับอะไรตรงไหน อย่างไร เพื่อให้มั่นใจก่อนขยายผลใช้งานจริง หรือประเมินว่าคุ้มค่าที่จะเดินต่อหรือไม่ ก่อนปรับใช้งานเต็มรูปแบบ 

6.การวัดผลและการปรับปรุง (Evaluation and Improvement) 

หลังจากปรับใช้งานเต็มรูปแบบแล้ว การวัดผลการดำเนินงานนั้นจำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์หวังผลแต่แรกหรือไม่ หากพบว่าไม่ใช่ก็ทบทวนสาเหตุและประเมินว่าจะไปต่อหรือจะยุติ ขั้นตอนนี้ก็ปรึกษาหารือ ปรับแผนปรับเป้าหมายและระดมทรัพยากรที่อาจมองข้ามไปในตอนแรก  ในส่วนตรงนี้ หากมีผู้ที่มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติบุกเบิกด้านดิจิทัลมามาก และเป็นคนที่มีความคิดยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ไร้กระบวนท่าจะได้ประโยชน์มาก เพราะเขาจะคิดนอกกรอบและแก้ปัญหาเก่ง (ภาษาอังกฤษท่านใช้คำว่า resourceful) และ ให้เลือกพนักงานที่มีคุณลักษณะแบบนี้มาดำเนินการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาเป็นพี่เลี้ยงด้วยก็ได้

7.การบริหารจัดการและการควบคุม (Governance and Control) 

เนื่องจาก AI Project “ไม่ใช่” การทำงานที่เป็นกิจวัตรที่มีขั้นตอนแบบแผนชัดเจนดิ้นไม่ได้  จึงต้องมีการบริหารจัดการให้เข้ากรอบเป็นระยะ ๆ ต้องสกัดมาตรฐาน สกัดกระบวนการที่ชัดเจนออกมาได้ด้วย เพื่อให้เอาไปเป็นกรอบแนวที่ให้ผู้อื่นลดเวลาลองผิดลองถูกลงได้ ขอเน้นอีกทีว่า AI Project มักมีคุณลักษณะปรับเปลี่ยนได้ตลอด การบริหารจัดการให้เข้ากรอบแม้ไม่ได้ผลนิ่งอย่างน้อย ก็จะทราบได้ว่ามีประเด็นอะไรที่หละหลวมไม่ได้ควบคุม หรือยังไม่มีมาตรฐานข้อตกลงบ้าง

การควบคุมนี้ยังรวมไปถึงการควบคุมให้เป็นไปตามนโยบายขององค์กร วิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกด้วย  คือ ต้องตบให้เข้าร่องเข้ารอยเป็นระยะ ๆ

8.ผู้เกี่ยวข้องและบทบาทหน้าที่ (Stakeholders’ Roles & Responsibilities)

เรื่องนี้สำคัญมาก จำเป็นต้องประชุม ทบทวนงาน และซักซ้อมกันบ่อย ๆ กำหนดหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนแต่ละแผนกพร้อมวันส่งมอบงานให้ชัด แล้วทุกคนต้องอยู่ภายใต้ความเข้าใจตรงกันว่า AI Project เป็นเรื่องใหม่ในองค์กรต้องยอมปรับยอมแก้ วนไปมาหลายรอบ อย่าหงุดหงิดง่าย

ดร. มนต์ศักดิ์  โซ่เจริญธรรม [ https://www.facebook.com/monsaks ]

นักคิดนักวิเคราะห์เพื่อสาธารณะ

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ศุภมาส” หารือ “แอนดรูว์ อึ้ง” ผู้ทรงอิทธิพลด้าน AI ระดับโลก ผนึกความร่วมมือนำ AI มาประยุกต์ใช้ในระบบอุดมศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ นายแอนดรูว์ อึ้ง (Mr.Andrew Ng)

เหล่าทัพขานรับนโยบาย 'บิ๊กทิน' ซื้ออาวุธแบบแพ็กเกจ

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า มีการหารือกันเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย

“ศุภมาส” ประกาศนโยบาย “อว. for AI” ติดอาวุธคนไทยใช้ AI พัฒนาประเทศ  ชู flagship การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยด้วย AI

วันที่ 29 พ.ค. 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย“ อว. for AI” โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

Surviving the Great Disruption

ช่วงต่อไปของเศรษฐกิจ คงต้องเรียกว่า The Great Disruption ที่ต้องเรียกเช่นนี้ก็เพราะ ความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า