ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งมันก็คงมีบ้างไม่มีบ้าง แล้วแต่บุคคล.....ทุกคนต้องมีพรรคพวก มีเพื่อน มีคนรู้จักกันทั้งนั้น แต่เรื่องสำคัญคือ สว.เป็นผู้แทนของปวงชน ซึ่ง สว.ทุกท่านพึงสำนึกถึงเกียรติที่ตนได้รับ ดังนั้นการทำหน้าที่ของตนโดยสุจริตใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น....ปฏิเสธไม่ได้ว่า สว.ไม่ว่าชุดไหนก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ โดยผ่านการเข้าเลือกเข้าไปเป็น ว่าที่ สว.ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม ซึ่งขณะนี้กำลังรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองรายชื่อ
โดย "ดร.มานะ" จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอบได้ที่ 1) ปริญญาโทวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (A.I.T.) ทุนรัฐบาลเยอรมัน (สอบได้ที่ 1) และปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมโครงสร้าง (Ph.D. Structural Engineering) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย โดยก่อนหน้าจะเข้าสู่ถนนการเมือง เคยรับราชการอยู่ที่กรมโยธาธิการ เป็นผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 3, อดีตกรรมการวิชาการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
-ในฐานะเคยมีประสบการณ์การเมืองในสภาฯ เคยเป็น สส.มา 2 สมัย ตอนนี้กำลังจะเข้าไปเป็น สว. คิดว่าวุฒิสภาชุดใหม่ภายใต้ระบบการคัดเลือกตามกติกาที่ออกแบบมา ประเมินว่าการทำงานของ สว.จะมีความเป็นอิสระจริงหรือไม่ จะมีใบสั่งให้ สว.โหวตอะไรหรือไม่?
ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งมันก็คงมีบ้างไม่มีบ้างแล้วแต่บุคคล
รอบนี้ผมหวังจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานในสภา ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และผมหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการทำงาน ที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ที่เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนใดๆ เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าผู้คนจะผิดหวัง นำมาสู่ความเบื่อหน่ายไม่เชื่อถือในระบบ
ดูอย่างหลายประเทศในยุโรปหรือแม้แต่สหรัฐฯ เอง ตอนนี้ประชาชนก็เบื่อหน่ายและค่อนข้างสิ้นหวังกับระบบที่เป็นอยู่ เพราะมันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ทุกคนต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ และชัดเจนว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ผมคิดว่าสิ่งแรกที่ทุกคนสามารถทำได้คือ พูดให้น้อยลงและทำให้มากขึ้น
ส่วนที่ถามเรื่องมองภาพรวมการทำงานของ สว.ชุดใหม่อย่างไร ก็ต้องบอกว่ามันเป็นรูปแบบการทำงานที่มีกติกาชัดเจนมาช้านานแล้ว ว่าต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ ถึงแม้จะเป็นกติกาสากลที่ทั่วโลกใช้ แต่ผมก็คิดว่ามันจะต้องมีการแก้ไข เพราะผมไม่คิดว่ามันจะแก้ปัญหาอะไรได้รวดเร็วเท่าทันกับปัญหาที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ สว. แต่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทุกองค์กรทุกหน่วยงานมานานมาก แล้วเกิดอะไรขึ้น? ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากประชุมวางแผนเสนอการปฏิรูป แค่ประชุมวางแผนปฏิรูปก็ใช้เวลาเป็นปีแล้ว ได้เอกสารมาเป็นโกดัง แล้วถามว่าใครจะมานั่งอ่าน เพราะข้อเสนอมันยาวแถมวิธีทำยังยากอีกต่างหาก ดังนั้นการปฏิรูปแต่ละเรื่องชาติหน้าตอนบ่ายจะทำได้จริงหรือ?
ขณะนี้โลกกำลังอยู่ในยุคดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน เชื่อกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่มีมนุษยชาติ เพราะของแทบทุกอย่างที่เราสัมผัสได้จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิด disruption ในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือการทำธุรกรรมจะทำได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น โปร่งใสขึ้น รวดเร็วขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมถูกลงมหาศาล การออกแบบและสร้างแพลตฟอร์มซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือดังกล่าว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในโลกขณะนี้
วิธีการที่ทำได้จริง คือต้องสร้างเครื่องมือที่ตอบโจทย์ แล้วทำโดยเอาเครื่องมือเข้าไปจับแล้วแก้ปัญหาจริงเลย เครื่องมือที่ใช้จะต้องมีกระบวนการทำงานที่สั้นและง่าย เพราะสั้นรับประกันประสิทธิภาพและง่ายรับประกันความยั่งยืน ระบบหรือเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาอย่างดีจะต้องสามารถทำคู่ขนานกับระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ ไม่ต้องเอาของเก่าทิ้ง ทำแทรกเข้าไปแบบคู่ขนานกับระบบเดิมเลย คือไม่ไปกระทบกับระบบเดิมที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลาไม่นานหรอกครับ ประชาชนจะเป็นคนเลือกเองว่าจะใช้ระบบเก่าหรือระบบปฏิรูปใหม่
ดังนั้น ในการเริ่มต้นปฏิรูปเรื่องใดต้องเปิดกว้างให้ทุกคนได้เสนอเครื่องมือ ที่สามารถทำงานกับเรื่องนั้นได้ตามทีโออาร์ที่กำหนด ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายหรือทำอะไรเพิ่มเติม ขอเพียงเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพเข้ามาทำ แล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากมีเครื่องมือหรือระบบที่ทำงานได้จริง แล้วการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ที่มีมากมายสุดคณานับในประเทศไทยจะพาเหรดตามกันมาเป็นทิวแถว
-คิดอย่างไรที่ สว.ชุดใหม่ยังไม่ได้ทันเข้าไปทำงาน สังคมก็แบ่งขั้วกันแล้ว ตั้งให้เป็น สว.มีสี เช่น สว.สีน้ำเงิน สว.สีส้ม?
มันเป็นสิทธิของสื่อและประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งจะจริงหรือไม่จริง ตรงหรือไม่ตรงกับที่พูดๆ กันหรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่ถ้าคิดในแง่บวก การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเหล่านี้ หมายความว่าสังคมให้ความสนใจกับ สว.ชุดนี้ครับ
-การที่ว่าที่ สว.ถูกปักป้ายทางการเมืองเช่น คนนี้เป็น สว.กลุ่มสีส้ม สีน้ำเงิน สีแดง หากใช้ประสบการณ์การเมืองที่มีก่อนหน้านี้ มองว่าจุดนี้มันจะทำให้การทำงานของ สว.หากเข้าไปทำงานจะมีความเป็นอิสระได้จริงหรือไม่ การทำงานของวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร?
อย่างแรกผมขอบอกว่าความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง แม้แต่องค์กรอิสระเป็นอย่างไรทุกคนก็เห็นๆ กันอยู่
ทุกคนต้องมีพรรคพวก มีเพื่อน มีคนรู้จักกันทั้งนั้น แต่เรื่องสำคัญคือ สว.เป็นผู้แทนของปวงชน ซึ่งสว.ทุกท่านพึงสำนึกถึงเกียรติที่ตนได้รับ ดังนั้นการทำหน้าที่ของตนโดยสุจริตใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น และผมคิดว่าเพียงพอแล้วในการเป็น สว.ที่ดี
-ก็คือปฏิเสธไม่ได้ว่า ว่าที่ สว.ชุดใหม่ที่จะเข้าไปทำงาน ก็มีความเชื่อมโยงกับนักการเมือง พรรคการเมือง?
ใช่ครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สว.ไม่ว่าชุดไหนก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ผมขอยืนยันอีกครั้งครับว่า เรื่องสำคัญไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งใดต้องรู้จักหน้าที่ของตน โดยเฉพาะ สว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน หากตัดสินใจเรื่องใดประชาชนมีข้อสงสัย ก็ต้องสามารถชี้แจงเหตุผลที่ได้ตัดสินใจในเรื่องนั้นต่อประชาชน
ลั่นเป็น สว.อิสระ ไม่มีขั้วสี
-แล้วตัว ดร.มานะเป็น สว.สีอะไร?
ผมไม่มีสี ผมยืนยันว่าผมเป็นอิสระ แม้แต่ตอนผมเป็นสส. คนก็ยังสงสัยเลยว่าผมพวกใคร ผมไม่ได้เป็นพวกใคร ผมก็ทำตามสิ่งที่ผมคิดว่ามันถูกต้องและเป็นประโยชน์กับประชาชน
อย่างตอนผมเป็น สส.สมัยแรก พรรคพลังธรรม ใครๆ ก็บอกว่าผมสนิทกับท่านพลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมมาก บอกว่าผมเป็นศิษย์เอกเลย แต่จริงๆ หลายเรื่องผมก็ค้าน ไม่เห็นด้วยกับพลตรีจำลองตั้งไม่รู้กี่เรื่อง แต่ท่านก็เข้าใจผม หรืออย่างต่อมาผมย้ายไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ทุกคนก็รับรู้หมดว่าผมเป็นคนแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมยืนยันในจุดยืนนี้ชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลงว่า ผมเป็น สว.อิสระ
-การที่ว่าที่ สว.ชุดใหม่ถูกมองว่ามีจำนวนมาก บางส่วนมองว่าเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงในวุฒิสภา คือเกินหนึ่งร้อยคน บางคนก็บอกว่าร่วมๆ 120 คน แบบนี้จะมีผลต่อการกำหนดทิศทางการลงมติของ สว.ในเรื่องต่างๆ เช่นการโหวตเห็นชอบคนไปทำงานเป็นองค์กรอิสระ หรือการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่เองด้วย?
จะให้ผมพูดแบบโลกสวยหรือพูดตามความเป็นจริงล่ะครับ ถ้าพูดตามความเป็นจริงมันก็ต้องมีผลกระทบ เพราะเคยมีให้เห็น แต่เราก็หวังว่าถ้าสังคมจับตามากขึ้น ตัว สว.เองก็ต้องตอบคำถาม คือไม่ว่าใครจะทำอะไร คุณต้องอธิบายได้ว่าทำไมคุณถึงเลือกซ้ายหรือเลือกขวา ไม่ใช่ไม่อธิบายอะไรเลย
-ในการโหวตเลือกประธานวุฒิสภา ส่วนตัวคิดว่าคนจะมาเป็นได้ควรมีคุณสมบัติอย่างไร?
ก็ต้องดูว่าใครเป็นใคร โดยคุณสมบัติของคนที่จะมาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ก็คือต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง คือท่านมีหน้าที่มาทำอะไร และเมื่อทำแล้วต้องอธิบายได้ว่า ทำไมถึงทำแบบนั้น
-จนถึงขณะนี้มีการประสานงาน มีการล็อบบี้อะไรหรือยังกับการเลือกประธานวุฒิสภา เพราะที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวว่า คนจะมาเป็นประธานวุฒิสภาอาจเป็นอดีตนายทหารระดับสูงยศพลเอก?
ยังไม่มีอะไร ยังไม่มีใครมาขอคะแนนหรือล็อบบี้ผม แต่ก็อาจมีการชักชวนคุยอะไรกัน ก็ตามประสาคนรู้จักกัน แต่ส่วนตัวผมสำหรับว่าที่ สว.ที่ได้รับเลือกมาชุดนี้ ผมเองก็รู้จักไม่กี่คน เขาก็มีการชวนว่ามาคุยกัน ก็โอเค ผมก็เห็นว่าก็ตามประสาเพื่อนเก่ากัน บางคนรู้จักกันมา 20-30 ปี ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะการพบปะพูดคุยกันก็เป็นเรื่องปกติ
-บทบาทหนึ่งของ สว.ที่ถูกจับตาคือ การจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ อย่างปีนี้ก็มีหลายตำแหน่ง เช่น ป.ป.ช., คตง.?
ตามกฎกติกาที่มีอยู่ก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ผมก็คิดว่า โครงสร้างที่มาขององค์กรอิสระมันไม่ควรเป็นแบบนี้ ควรต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่านี้ ผมอยากเห็นองค์กรอิสระชี้แจงเรื่องกระบวนการทำงาน และเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจนกว่านี้ แต่การโหวตเลือกองค์กรอิสระเราก็ต้องว่าไปตามกติกา แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากจะรื้อโครงสร้างและที่มาขององค์กรอิสระ ถ้าเป็นไปได้นะ (กล่าวน้ำเสียงเน้นย้ำ) ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่อยากใช้คำนี้ เพราะผมก็มีเสียงอยู่เท่านี้ แต่ถ้าผมรื้อได้-ผมรื้อ
พร้อมโหวตหนุนแก้ไข รธน. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
-อีกบทบาทหนึ่งของ สว.ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากผลการทำประชามติผ่าน แล้วต้องเอาเรื่องเข้ารัฐสภา ต้องอาศัยเสียง สว.โหวตอย่างวาระแรกก็ 1 ใน 3 ของ สว. 200 คน ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรจะมีการแก้ไข รธน.ให้มีการยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ?
ควรต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่มันคืออะไรก็ไม่รู้ เพราะมันเหนือคำบรรยาย ควรต้องมีการเขียนใหม่ อย่าให้มันยาวและยากเลยครับ เอาสั้นและง่ายให้ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจ โดยหากรัฐสภามีการพิจารณาญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะ สว.ที่มีหนึ่งเสียงก็พร้อมจะโหวตให้
ในฐานะ สว.ด้านเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนประเทศได้ ที่ผ่านมามีการพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศหลายเรื่อง อย่างเช่นเรื่อง Cashless Society-สังคมไร้เงินสด, Digital Economy-ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล จนผมเบื่อจะฟังแล้ว เพราะเห็นดีแต่พูดกัน ดีแต่จัดอีเวนต์เสียเงินแต่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เสียเวลา
เพราะสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าทำอะไรกัน แต่พอมีคนบอกว่าจะทำ ท่านก็ไม่สนใจ เพราะท่านๆ มัวแต่หาวิธีล็อกสเปกให้ใครหรือเปล่า
นี้คือปัญหาใหญ่ของประเทศ ของดีๆ ก็เลยเกิดยากในประเทศไทย ผมเชื่อว่าถ้าทำกันอย่างโปร่งใส ประชาชนส่วนใหญ่เอาด้วย เรื่องเหล่านี้จะเกิด และถ้าเกิดแล้วจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ประเทศจะเปลี่ยนแปลง
-บทบาทของ สว.ในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล เช่นการตั้งกระทู้สด กระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ คิดว่าสังคมคาดหวังกับการทำงานของ สว.ชุดใหม่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารได้หรือไม่?
ก็คงทำได้ระดับหนึ่ง แต่จุดที่ผมต้องการโฟกัสคือ ผมจะไม่ไปพูดอะไรที่มันคุยกันแล้วไม่จบ ผมจะไม่โฟกัสเรื่องเหล่านี้ แต่จะสนใจในเรื่องที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเกิดอะไรขึ้น ปฏิบัติได้จริง พิสูจน์ผลลัพธ์ได้ว่ามันแตกต่างอย่างไร
ผมว่าคนยุคนี้น่าจะสนใจเรื่องเหล่านี้มากกว่า เพราะเรื่องการไปคุยอะไรกันในรัฐสภา ผมเห็นมาเยอะแล้ว มันใช้เวลามากเกินไป แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เสนอ แล้วสุดท้าย ก็ตั้งคณะกรรมาธิการมาศึกษาพิจารณากัน แล้วก็ได้แต่เอกสารไปวางไว้บนหิ้ง มีไม่รู้กี่โกดังแล้ว สุดท้ายก็ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครสนใจ แม้แต่คนทำยังไม่อ่านเลย แนวทางของผมคือการทำงานที่ปฏิบัติได้จริง
ซึ่งสมัยอยู่พรรคพลังธรรมผมก็ทำแบบนี้ สมัยนั้นพรรคพลังธรรมเป็นรัฐบาล มีการให้รัฐมนตรีของพรรครวบรวมผลงานที่ทำมาเสนอให้พรรค ปรากฏว่ารัฐมนตรีบางคนทำเอกสารรายงานมาหนามาก แต่พอไปดูพบว่ามีแต่งานรูทีน มันไม่ใช่ผลงาน แล้วฝ่ายบริหารก็แถลงนโยบายที 50 หน้า แบบนี้มันไม่ใช่นโยบาย เพราะรัฐบาลหากทำเรื่องใหญ่ๆ แค่เรื่องเดียว ถ้ามันใช่ประเทศก็วิ่งฉิวแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าคนจำนวนมากก็คิดแบบนี้ มันต้องเป็นการทำให้ปรากฏ เพราะการพูดใครๆ ก็พูดได้
เห็นด้วยรัฐสภาไทย ในอนาคต ได้เวลามี 'สภาเดี่ยว' - ไม่ต้องมี สว.
-ประเทศไทยก็ใช้ระบบที่มา สว.แล้วหลายรูปแบบ เช่นเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด เลือกตั้งผสมกับสรรหาแต่งตั้ง รวมถึงการคัดเลือก สว.ครั้งล่าสุด ที่ให้ผู้สมัครเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพ ส่วนตัวคิดว่าระบบไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย และคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ควรใช้ระบบสภาเดี่ยว คือมีแต่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาไม่ต้องมีก็ได้?
ถ้าถึงเวลามีสภาเดี่ยวก็ได้ อยากจะบอก ณ ตรงนี้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมเคยคิดเรื่องการออกแบบโครงสร้างอำนาจอยู่ตลอดเวลา เพราะสมัยเป็น สส. ทำงานในสภาฯ ก็เห็นอะไรมาเยอะ และคิดว่าสภาฯ ควรต้องทำอะไรที่มันสามารถทำงานได้จริงๆ ไม่ใช่มาทำงานแบบแค่เป็นพิธีกรรม เราอย่ามาหลอกกันเรื่องการทำงานเลย วันนี้สหรัฐฯ, ฝรั่งเศส, อังกฤษ ที่ต่างเป็นประเทศต้นแบบ (ประชาธิปไตย) ต่างก็มีปัญหาเยอะ เพราะก็ทำงานกันแบบผิวๆ มันไม่ถึงแก่น ประชาชนก็เลยไม่พอใจกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คงต้องพูดกันยาว ซึ่งผมเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักวิชาการ หากถึงเวลาผมอาจมีการนำเสนอเรื่องการออกแบบโครงสร้างอำนาจ ว่าด้วยการเข้าสู่อำนาจ องคาพยพของอำนาจและการบริหารอำนาจ...เพราะคิดไว้เยอะจากการเห็นของจริง
ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องมี สว. คือจะให้มีสภาเดี่ยวก็ได้ แต่เรื่องสำคัญคืออำนาจสูงสุดต้องมาจากประชาชน แต่อย่ายึดโยงแบบหลอกๆ ต้องยึดโยงกับประชาชนจริงๆ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบกันได้จริงๆ ไม่ใช่ตรวจสอบกันแต่ปาก ทำแบบนี้แบบจริงจังแล้วประเทศชาติจะเจริญ
ผมพูดแบบนี้คนก็อาจถามว่า อ้าวแล้วทำไมผมถึงเข้ามาสมัครเป็น สว. ก็ต้องบอกว่าก็เมื่อกติกาเป็นแบบนี้ แล้วผมจะทำอย่างอื่นได้เหรอ ก็โอเค อย่างน้อยก็มีพื้นที่ มีที่ยืนให้ผมนำเสนออะไรได้หลายอย่าง ซึ่งผมคิดว่าถ้ามีเหตุมีผล เสนอไปแล้ว ประชาชนก็อาจจะเอาด้วยกับผม เพราะในโลกของความเป็นจริงคนต้องมี status เพราะอย่างหากผมไม่มี status ไปพูดอะไรไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าผมมี status ผมเชื่อว่ามีคนฟังหากผมมีเหตุผลพอ
-อยากมีอะไรบอกกับประชาชน เพราะตอนนี้ สว.ชุดใหม่ก็ถูกวิจารณ์จับตามองเยอะ คนก็กำลังดูว่า สว.ชุดใหม่จะเป็นแบบในอดีตที่เคยถูกตั้งฉายาเช่น สภาชิน สภาผัวเมีย หรือไม่?
ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนจะมองเข้ามา เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนจะวิพากษ์วิจารณ์ ผมคงไปก้าวก่ายอะไรไม่ได้ แต่สำหรับตัวผม ผมขอย้ำอีกครั้งว่าผมไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านั้นมาก ผมตั้งใจและมุ่งมั่นว่าผมจะทำอะไรให้ประเทศชาติ และประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ ผมเชื่อว่าศักยภาพประเทศไทย สามารถทำอะไรได้ดีกว่านี้อีกเยอะ ถ้าเรามีผู้นำที่กล้าตัดสินใจและมีความจริงใจ วันนี้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น.
ผ่าแนวคิด-วิสัยทัศน์ ดร.มานะ-ว่าที่ สว.สายเทคโนโลยี ได้เวลาไทยต้องมี 'ดิจิทัลบาท'
ทำไมต้อง Digital Baht? เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างสนใจที่จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของประเทศตนมาหลายปีแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดสามารถสร้างขึ้นมาได้จนเป็นที่น่าพอใจ หากประเทศไทยทำเรื่องนี้ได้จะเป็นประเทศแรกในโลก จึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก เนื่องจากในโลกปัจจุบันระบบการเงินถือได้ว่าเป็นความมั่นคงที่แท้จริงของแต่ละประเทศ
“ดร.มานะ" ว่าที่ สว.ซึ่งเป็นศิษย์เก่าวิศวกรรมโครงสร้างเบิร์กเลย์ และเคยผ่านงานหัวหน้าทีมพัฒนาคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำหรับ Non-Linear Structures สถาบันควบคุมนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ มาแล้ว กล่าวลงรายละเอียดถึงความตั้งใจของตัวเองในการจะเข้าไปเป็น สว.หลังจากนี้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการเสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาประเทศผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ว่าที่เข้าไปสมัครคัดเลือกเป็น สว.จนผ่านเข้ารอบสุดท้าย 200 รายชื่อ เพราะคิดว่ามีหลายเรื่องที่ประเทศควรทำได้ดีกว่านี้มากๆ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำ ซึ่งในช่วงที่ห่างหายไปจากแวดวงการเมืองกว่ายี่สิบปี ก็ได้ใช้เวลาไปศึกษา-ทำงานหลายเรื่อง เพราะตระหนักว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เรียกกันว่า Digital Transformation ซึ่งตัวผมเองได้ศึกษาและทำเรื่องดิจิทัลมาตั้งแต่เรียนหนังสือ และเมื่อจบการศึกษาปริญญาเอกก็ได้ใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ทั้งสมัยเรียน ทำงาน ทั้งการทำงานที่ต่างประเทศสองปีเศษ จนกลับมารับราชการ รวมถึงเมื่อลาออกไปทำงานด้านการเมือง เข้าไปเป็น สส.ศรีสะเกษ 2 สมัย (พรรคพลังธรรม-พรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ) ทำให้ได้เห็นอะไรพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงต้มยำกุ้ง
“ดร.มานะ-ว่าที่ สว." กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าเงินจะเป็นของสมมุติ แต่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของนวัตกรรมที่มนุษย์สามารถคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาให้คนทั้งโลกยอมรับโดยดุษฎีได้ เราเคยมีเงินที่เป็นธนบัตรในรูปแบบต่างๆ มาช้านาน เรามีเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-money หลังจากมีคอมพิวเตอร์ เรารู้จัก cryptocurrency แบบบิตคอยน์ หลังจากการเกิดขึ้นของบล็อกเชน ซึ่งทำให้เอกชนสามารถสร้างเงินขึ้นมาได้ โดยภาครัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกรู้สึกว่าเงิน e-money ที่ตนสร้างขึ้นและกำกับดูแลอยู่ถูกคุกคาม เงินดิจิทัลในบล็อกเชนที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศจึงได้เริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา นี้เอง
การพัฒนาระบบก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเงินดิจิทัล หากไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพพอ การทำงานการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ก็คงพูดกันไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น บางเรื่องอาจต้องคุยกันถึงชาติหน้าก็ทำไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันเกี่ยวข้องกับอำนาจในการสร้างและกำกับดูแลสกุลเงินของชาติ
ถึงแม้ช่วงหลังระบบดิจิทัลมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างของระบบ digital ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่เจอในโลกจริงได้อย่างน่าพอใจ การขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้มีปัจจัยสำคัญสองเรื่อง คือเรื่องที่หนึ่งตัวเทคโนโลยี เรื่องที่สองกฎกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาคือเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ปัจจัยต่างยังไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง
บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีแขนงหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ digital assets หรือสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งเงินดิจิทัลก็เป็นส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัล) ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือ บล็อกเชนที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลได้ พูดสั้นๆ ก็คือไม่สามารถตอบโจทย์ของการทำงานในโลกจริงได้
...ที่ผ่านมามีความพยายามพัฒนาด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อให้มันสามารถใช้งานได้จริงมาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว เริ่มจากประเทศจีนประกาศสร้างดิจิทัลหยวน ลงในบล็อกเชนเมื่อปี 2014 โดยขอเวลา 2 ปีและขอต่อเวลาอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี โดยคนทั่วไปเข้าใจว่าจีนสร้างดิจิทัลหยวนได้แล้ว แต่จีนก็ยังทำไม่ได้จนถึงขณะนี้
สำหรับไทยเองเมื่อสัก 7 ปีที่แล้วก็เคยมีการทำโครงการอินทนนท์ แต่มันยังไม่ใช่ เพราะทำให้แบงก์ใช้ไม่ได้ทำให้ประชาชนใช้ หลายปีที่ผ่านมาธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจในเรื่องนี้ จนธนาคารกลางของอังกฤษได้บัญญัติคำว่า CBDC (Central Bank Digital Currency) ในปี 2016 เพื่อไม่ให้ธนาคารกลางด้วยกันเกิดความสับสน (ในเวลานั้น) จนถึงขณะนี้ผู้คนส่วนใหญ่ยังสับสน แยกไม่ออกระหว่าง e-money, digital money และ cryptocurrency ว่าแตกต่างกันอย่างไร เรื่องนี้ถ้าอธิบายข้อคงยาวพอสมควร
...ผมขออธิบายสั้นๆ ก่อนว่า e-money ก็คือเงินที่เราใช้กันปัจจุบันกันทั่วโลก เงิน e-money ของประเทศต่างๆ ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ส่วน cryptocurrency เป็นเงินที่เอกชนสร้างขึ้นในบล็อกเชน ส่วนเงินดิจิทัลสกุลต่างๆ เป็นเงินที่ธนาคารกลางของประเทศนั้นสร้างขึ้นใน blockchain เงินดิจิทัลยังไม่มีประเทศใดทำได้สำเร็จ
ความแตกต่างที่สำคัญของเงินดิจิทัลกับ e-money คือวิธีการจดบันทึกว่าใครมีเงินเท่าใด ทำให้ e-money เป็นระบบเครดิต ซึ่งจำเป็นต้องผ่านสถาบันการเงินที่เป็นคนกลาง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูงกว่าเงินดิจิทัลมหาศาล เพราะเงินดิจิทัลเทียบเท่ากับเงินสด ที่คนทั่วโลกสามารถใช้กันได้โดยตรง เสมือนกับเจอกันซึ่งหน้าโดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันและไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง
“ดร.มานะ” เล่าให้ฟังถึงความสนใจในเรื่องดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาผมสนใจเรื่องเหล่านี้ เพราะผมเป็นวิศวกรโครงสร้าง ผมเห็นว่าโครงสร้างบล็อกเชนที่มีอยู่ในขณะนี้ทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เหมือนอย่างที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังจะทำดิจิทัลวอลเล็ต (ซึ่งต้องใช้กับเงินดิจิทัล) ก็ทำไม่ได้ ผมฟันธงเลย คือถึงแม้ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรเพราะรัฐบาลไม่เคยบอกไม่เคยพูด มันก็ชัดเจนว่ามันทำไม่ได้ มันไม่ใช่ดิจิทัลมันนี่ในความหมายของสิ่งที่โลกกำลังจะทำ เพราะมันเป็น e-money ซึ่งใช้กับ e-wallet เหมือนเดิม
ความแตกต่างตรงนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและสับสน อย่างดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล คนจำนวนมากยังไปเข้าใจว่ามันคือคริปโตมันนี ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะรัฐบาลต้องการแจกดิจิทัลมันนี ซึ่งยังไม่มีประเทศในโลกทำได้ในขณะนี้
ขอยกตัวอย่างอย่างวันนี้เราใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการโอนให้กัน พอโอนไปแล้ว คนที่รับโอนแท้จริงแล้วเขายังไม่ได้เงิน เพราะสิ่งที่ผมส่งไปเป็นแค่ information เป็น massage อย่างผมโอนเงินให้คุณ ผมโอนจากแบงก์สีเขียว โอนเข้าบัญชีคุณที่อยู่แบงก์สีม่วง ผมโอนไปให้หนึ่งพันบาท คุณเอาไปใช้ได้เลย แต่คุณไม่ได้ใช้เงินหนึ่งพันบาทจากผม เพราะแบงก์สีม่วงเขาเชื่อเครดิตของแบงก์สีเขียวที่ผมมีบัญชี อยู่ แล้วเขาก็จัดการให้ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเรื่องพวกนี้ที่เป็นเรื่องหลังบ้านของทั้ง 2 แบงก์ แต่หากเป็นเงินดิจิทัล ผมโอนเงินให้คุณหนึ่งพันบาท มันเป็นเงินสด โดยไม่ต้องมีใครรับรองและมันโกงกันไม่ได้ ปลอดภัยกว่า ค่าใช้จ่ายหลังบ้านก็ไม่มีคือประหยัดกว่าในท้ายที่สุด
สิ่งนี้คือเงินดิจิทัลที่โลกกำลังสนใจทำ ผมสนใจเรื่องเหล่านี้ ตั้งแต่ผมติดตามจีนพูดเรื่องดิจิทัลหยวน เมื่อปี ค.ศ. 2014 และผมเป็นวิศวกรโครงสร้าง ผมรู้ว่าระบบบล็อกเชนที่มีอยู่ในตลาดโลกวันนี้ ที่ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนนับเป็นหมื่นยี่ห้อ ยังทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เพราะโครงสร้างมันยังทำไม่ได้ เราจึงต้องสร้างบล็อกเชนสายพันธุ์ใหม่ ออกแบบระบบใหม่โครงสร้างใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด เพื่อจัดการปัญหาทุกอย่างที่มีในขณะนี้เราถึงจะทำได้ แต่ที่ผ่านมาพอไปพูดหลายคนก็ไม่เข้าใจ บางคนก็ถามว่าเป็นบิตคอยน์ใช่หรือไม่ ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ถึงแม้ผมจะไม่เคยทำงานในสถาบันการเงิน แต่ผมก็ศึกษาการทำงานหลังบ้านของระบบการเงิน และมีความเข้าใจระบบ ดีพอที่จะวิจารณ์ได้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ที่ผ่านมา เขาก็ไม่ฟังกัน อาจเป็นเพราะการบริหารเงินกับการพัฒนาการทำงานหลังบ้านของระบบการเงินมันไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง
"ดร.มานะ" กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อวันนี้หาก กกต.รับรองให้เข้าไปทำหน้าที่ สว. ก็อาจทำให้เวลานำเสนอหรือขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องเหล่านี้จะมีคนรับฟัง ซึ่งผมไม่อยากพูดอะไรมาก แต่ผมอยากท้าพิสูจน์ เพราะกูรูทั้งหลายด้านนี้ผมก็ฟังมาเยอะแล้ว ที่ออกมาพูดกันก็ใช่ว่าจะเข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้ อย่าลืมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มาก มีคนรู้ไม่มากเพราะมันเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ผมเชื่อว่าประเทศไทยของเราสามารถพุ่งทะลุขึ้นไปได้บนเวทีโลก เพราะระบบการเงินที่เป็นอิสระ โปร่งใสเป็นธรรม ทั่วโลกสนใจ...ผมขอเสนอให้กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเปิด open competition เชิญทั่วโลกเข้ามานำเสนอ สร้างดิจิทัลบาท (CBDC Bath)
หากถามว่าทำไมต้อง Digital Baht เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างสนใจที่จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของประเทศตนมาหลายปีแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดสามารถสร้างขึ้นมาได้จนเป็นที่น่าพอใจ หากประเทศไทยทำเรื่องนี้ได้จะเป็นประเทศแรกในโลก จึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก เนื่องจากในโลกปัจจุบันระบบการเงินถือได้ว่าเป็นความมั่นคงที่แท้จริงของแต่ละประเทศ
-แล้วการเข้าไปเป็น สว.จะไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างไร?
ก็ยอมรับว่าผมก็คงได้แค่นำเสนอเพราะไม่ใช่หน้าที่ของ สว. ก็หวังว่าคนมีอำนาจเขาจะฟังบ้าง ผมเสนอให้ทำ "เงินบาทดิจิทัล" โดยเชิญบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกเข้ามาแข่งกันทำ เรื่องสำคัญคือต้องไม่มีการกีดกันคนไทยกันเอง เนื่องจากเรื่องนี้ยังไม่มีใครทำได้ บริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกเขาได้พยายามทำกันมาแล้วเป็นสิบปี ผมเชื่อว่าโจทย์แบบนี้ถ้าทำได้ก็คือทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ต่อให้ทำยังไงก็ทำไม่ได้ หากไม่มี solution ใหม่ครับ
ประเด็นต่างๆ ที่จะมี สว.นำเสนอแนวคิดการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ก็ไม่อยากให้แค่นำเสนอ แต่อยากเห็นการผลักดันให้เกิดการลงมือทำจริง อย่างสิ่งที่ผมนำเสนอ เรื่อง "บาทดิจิทัล" มันยังเป็นของใหม่ ก็ควรต้องลงมือทำเลย หากยังแค่พูดคุยกันก็จะเถียงกันไม่จบสิ้น ก็ควรเปิดพื้นที่ให้มีการทดสอบทำออกมาเลย ถ้าเห็นด้วยก็ขยาย โดยสามารถทำคู่ขนานไปกับระบบปัจจุบันที่ใช้อยู่ได้ จากนั้นก็มาวัดดูกันว่าประชาชนจะใช้แบบไหน
ระบบที่มีอยู่ยังไม่รองรับการทำดิจิทัลวอลเล็ต
-ทำไมถึงเชื่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตทำไม่ได้?
เพราะผมเชื่อว่าเทคโนโลยีที่รัฐบาลมีอยู่ในมือยังไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ ที่กำลังจะทำผมเข้าใจว่าคือ e-wallet ทั่วไป
เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ตอนนี้มีปัญหาอยู่สองเรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือเรื่อง "เงินงบประมาณ" ซึ่งผมไม่อยากพูดเรื่องนี้เพราะคนพูดคุยกันเยอะแล้ว เท่าที่ฟังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่แล้วของรัฐบาล เรื่องที่สองที่ใหญ่กว่าเรื่องเงิน ก็คือไม่มีเทคโนโลยีที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต ผมฟันธงเลย โดยที่ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะรัฐบาลก็ไม่เคยพูดเลยว่ารัฐบาลจะทำยังไง เพราะเท่าที่ติดตามทั้งโลกวันนี้ก็ยังอยู่ในกรอบของ e-wallet มันยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถทะลุกรอบ e-wallet ออกมาได้
“ดร.มานะ-ว่าที่ สว.” ย้ำว่า ประเทศนี้ของบางอย่างที่เป็น physical เช่นถ้าคุณจะยิงจรวดไปดาวอังคาร ผมบอกว่าอย่าไปสนใจเลย เพราะการทำเรื่องนี้มันจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมรองรับอีกหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนที่เป็น physical ซึ่งต้องใช้เงินเยอะ แต่ของแบบนี้ (ดิจิทัลบาท) เป็นไอเดีย เป็นคอนเสปต์ ความคิด ทำในอากาศ เป็นเรื่องของจินตนาการ วิทยาศาสตร์ ซึ่งมันทันกันได้ ไม่ว่าจะอยู่เอธิโอเปีย สหรัฐฯ หรือจีน มันสามารถคิดทันกันได้ ของแบบนี้ ดังนั้นเราต้องอย่าไปคิดแค่จะเป็น good follower มาก หรือจะเป็นก็ขอให้รอบคอบหน่อย ว่าใครมีอะไรเงื่อนไขคืออะไร แต่ควรจะฟังบ้างว่าใครเสนออะไร แต่ที่ผ่านมาเล่นไม่ฟังกันเลย พอไม่ฟังก็เลยไม่รู้ว่าใครมีอะไร.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
'ครูหยุย' แนะรัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ เป็นของขวัญวันเด็ก แทนให้คำขวัญ
'ครูหยุย' แนะรัฐบาลเปลี่ยนจากให้คำขวัญวันเด็ก เป็นมอบของขวัญที่มีค่า ประกาศเจตนารมณ์ 'ไม่โกง-ซื่อสัตย์สุจริต-ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลวงเด็ก'
ข้องใจ! 'นายกฯอิ๊งค์-บิ๊กเพื่อไทย' ทำไมขยันลงพื้นที่ภูเก็ต
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "อุ๊งอิ๊ง หนีกระทู้สภา ไปกระทู้ภูเก็ต" โดยระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เช็กเลย! ของเล่นประเภทไหนบ้าง ผู้ปกครองอย่าซื้อให้เด็ก
'คารม' เตือนผู้ปกครอง ระวังอย่าซื้อของเล่นที่เป็นอันตรายกับเด็ก พร้อมแนะเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้-พัฒนาการ-จินตนาการ และผู้ปกครองควรแนะวิธีการเล่นของเล่นอย่างถูกต้อง