บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า..      ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน

ถึงก้าวไกล บินสูง สง่าศรี

ถึงเก่งกาจ มากเส้นสาย พวกมากมี

ถ้าขาดซึ่ง คุณความดี ก็ เศษคน!

จากข้อความดังกล่าว ให้ระลึกถึงคำสอนในพุทธศาสนาที่ว่า

“พึงใช้อำนาจ ให้เป็นธรรม อย่าใช้ ธรรมเป็นอำนาจ.. ที่รวมความว่า อย่าใช้ อำนาจเป็นอธรรม.. โดยมีข้อพิจารณาในการใช้อำนาจว่า มีอำนาจ ต้องรู้จักใช้อำนาจ แต่ควรใช้ให้เหมาะสมกับอำนาจ.. หากไม่รู้จักใช้.. หรือใช้เกินไป ผู้ใช้ย่อมรับผลเชิงลบ ในฐานะ ผู้เสื่อมจากอำนาจ.. และที่สุด กล่าวสรุปไว้ว่า.. คนไม่มีอำนาจ แต่พยายามใช้อำนาจ คือ คนบ้า!

สังคมสัตว์โลกในทุกยุคทุกสมัย เกิดวิกฤตการณ์ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม.. เป็นจำนวนมาก มีผู้คนล้มหายตายจากทรัพยากรเสียหาย สังคม สิ่งแวดล้อม อารยธรรม พังทลาย ก็เพราะเรื่องการใช้ อำนาจเป็น อธรรม...

พุทธศาสนา มุ่งเน้นการสร้าง สติปัญญา เป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิต.. ก็เพื่อหวังว่า หากคนเรารู้ เข้าใจ ถูกต้องตรงตามธรรม ย่อมเคารพธรรม ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม... ยกธรรมขึ้นเป็นใหญ่ นำพาสังคม-มหาชนสู่อารยธรรม เพื่อการสร้างโลกแห่งสันติสุข ที่อ้างอิงสันติโดยธรรม (สันติธรรม)

การใช้อำนาจให้เป็นพระคุณ.. ไม่ใช้อำนาจให้เป็นพระเดช จึงเป็นศิลปะการบริหารอำนาจที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญยิ่ง โดยเปรียบเทียบ อำนาจที่เป็นธรรม ย่อมเป็นพระคุณอันยิ่ง มีความสงบเย็นอยู่ในตัว เปรียบเหมือนพระจันทร์ที่มีดวงดาวแวดล้อมเต็มไปหมด ซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจเป็นอธรรม.. มีแต่ฤทธิ์เดช ให้ความเร่าร้อนแผดเผา เหมือนพระอาทิตย์ที่ปราศจากดวงดาว..

ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้นำ.. จึงต้องเล่าเรียน ส้องเสพ เจริญให้มาก ปฏิบัติให้มาก ในหลักธรรมคำสั่งสอนที่มุ่งสู่ความเจริญ ความดีงาม.. ปราศจากความเศร้าหมองจากข้าศึกคือกิเลสทั้งปวง

ราชธรรม .. จึงถูกยกขึ้นให้เป็นบทธรรมของพระราชา.. หรือผู้ปกครองแผ่นดิน ที่จะต้องเล่าเรียน ส้องเสพ เจริญให้มาก ปฏิบัติให้มาก... ในหลักธรรม ๑๐ ประการของผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้นำ สังคม ชุมชน.. และประเทศชาติ

การเคารพในอำนาจแห่งธรรม.. จึงเป็นบทธรรมที่สำคัญยิ่งของผู้ปกครองแผ่นดิน ที่สืบทอดสังคม ประเทศชาติ สืบสานอารยธรรม มาจนถึงปัจจุบัน..

ให้น้อมนึกระลึกถึงพระราชดำรัสในรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ที่ว่า..

“..อย่าถือว่าเราเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรม สำหรับจะเทียมแอกเทียมไถ ทำการงานที่หนัก การจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้น เป็นความทุกข์ มิใช่ความสุข..”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งสอนลูกหลานราชวงศ์ รวมความว่า..

“กษัตริย์ มิใช่มีบุญ

แต่มีกรรม... มีภาระอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงรับในตำแหน่งประมุขของประเทศ...”

พระวิสัยทัศน์ของพระองค์นั้น นับเป็นที่สุด.. เมื่อทรงเห็นเค้าลางของภัยร้ายที่จะคุกคามแผ่นดินสยาม อันเกิดจากการศึกษาทางวิชาการแนวใหม่ ที่รับค่านิยมจากโลกตะวันตก ของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นๆ ที่ทรงสนับสนุนให้เดินทางไปศึกษาในโลกวิทยาการฝั่งตะวันตก ที่เจริญก้าวหน้ากว่าทางเอเชีย.. โดยให้คติธรรมในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า..

“อย่าไปลอกตำราปลูกข้าวสาลี มาปลูกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว...”

โดยทรงเตือนใจ พวกที่ไปยึดถือความรู้จากตำราของฝรั่งชาวตะวันตก ที่หวังนำมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองในบ้านเมืองของตนเอง ให้เป็นไปตามแบบอย่างในตำราที่ร่ำเรียนมา โดยมิได้คำนึงถึงบริบทของสังคมและลักษณะอุปนิสัย ภูมิความรู้ของประชาชน

ในขณะเดียวกัน .. พระองค์ท่านได้ทรงบูรณาการความรู้ตามกระแสโลกตะวันตกมาสู่การปฏิรูปการปกครองในประเทศให้ดูเป็นแบบอย่าง เพื่อการก้าวไปสู่โลกทันสมัย เทียบเท่านานาอารยประเทศ.. ในคุณลักษณะความเป็นชาติสยามหรือชาติไทย ที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ.. ด้วยการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เหมาะสมกับพื้นฐานสังคมประเทศชาติในทุกด้าน โดยใช้ลักษณะค่อยเป็นค่อยไป.. ด้วยการให้ทุกฝ่ายมีส่วนเรียนรู้ร่วมกัน.. โดยเฉพาะการเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ขึ้นครั้งแรก โดยประชาชน เพื่อแผ่นดินไทย ในปี พ.ศ.๒๔๓๕.. และการพัฒนารูปแบบการปกครองโดยการจัดตั้งมณฑลเทศบาล และเริ่มจัดตั้งระบบสุขาภิบาล ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๓๘.. เป็นต้น

การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง การปกครอง การจัดระเบียบต่างๆ จึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยของพระองค์ท่าน ที่พสกนิกรชาวไทยจักจดจำมิรู้ลืมในพระคุณของจอมกษัตริย์มหาราชพระองค์นี้ ที่ได้รับการยกย่องว่า.. “พระธรรมราชาผู้เป็นที่รักของประชาชน”.. ดังพระราชสมัญญานามที่ชาวไทยทั้งปวงน้อมถวายแด่พระองค์ท่านว่า.. “สมเด็จพระปิยมหาราช”

ด้วยความคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ความมั่งคงของประเทศชาติเป็นที่สุด จึงได้เห็นการดำเนินงานที่มิได้มุ่งประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว หากแต่คำนึงถึงความเหมาะสม รูปแบบ เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย (สยามประเทศ) เป็นที่สุด

พระองค์จึงได้ทรงแบกภาระแผ่นดินอันหนักอึ้งไว้ด้วยพระองค์เอง ในฐานะหน้าที่ของกษัตริย์ ที่จะต้องปฏิบัติ.. ต้องรับผิดชอบ ดังที่ทรงหวั่นวิตกว่า.. หากทำไม่ได้ พระองค์จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่า.. “เป็นผู้ทำให้เสียเมือง อย่างกษัตริย์สมัยอยุธยา”

การวางรากฐานการปกครอง.. มุ่งเน้นให้เกิดความเสมอภาค.. ให้คนไทย-ชาวสยามเป็นเสรีชน จึงเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ในการปฏิรูปการปกครองของประเทศชาติ.. เพื่อฝากความหวังในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ ไว้ให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน ได้มีส่วนร่วม เพื่อสืบสานความเป็นแผ่นดินคนไทย.. ความเป็นชาติไทยสืบไป ดังปรากฏในรูปพระราโชบายเลิกทาส ที่ทรงมีพระราชดำริว่า..

“.. คนไทย (ชาวสยาม) ที่เกิดในรัชกาลของพระองค์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๑ จะเริ่มพ้นจากความเป็นทาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒

ส่วนคนเกิดหลัง พ.ศ.๒๔๓๒ จะเป็นไทยทั้งหมด.....”

นับเป็นห้วงเวลาสำคัญยิ่งที่ชาวไทยในยุคสมัยดังกล่าว ได้เห็น การเสด็จประพาสต้น ของจอมกษัตริย์แห่งสยามประเทศ แม้ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์.. แต่ทรงยึดคติธรรมความเป็นพ่อแห่งแผ่นดิน.. เป็นบิดาของประชาชน-พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า จึงเกิดการเสด็จประพาสต้นขึ้นโดยพระองค์ท่าน เพื่อทรงต้องการสมาคมกับราษฎรอย่างสามัญชนต่อสามัญชน

การเสด็จประพาสต้น .. ทำให้พระองค์ท่านทรงทราบถึงความเป็นอยู่ของราษฎร-ประชาชนของพระองค์ท่านได้อย่างแจ่มแจ้งแท้จริง.. และทรงได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ เจ้าขุนมูลนายทุกลำดับชั้น ที่ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณว่า.. “ได้ปกครองดูแลประชาชนอย่างเป็นธรรมหรือไม่..” ซึ่งต่อมากลายเป็นฐานข้อมูลในการปฏิรูปการปกครองในสมัยของพระองค์ เพื่อรองรับ ระบอบประชาธิปไตย ในความเป็น ธรรมาธิปไตย โดยการวางรากฐานการปกครองแบบใหม่ ที่เป็นมาจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่..

๑.การยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์

๒.จัดระเบียบการบริหารเป็นส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค

โดยการบริหารส่วนกลาง ได้จัดตั้ง กระทรวง ทบวง กรม แบบโลกตะวันตก รวม ๑๒ กระทรวง

สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้จัดรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีเทศาภิบาล.. จากส่วนกลางไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับบัญชา โดยรวมศูนย์อำนาจการปกครองแบบ รัฐชาติ.. มิใช่ สาธารณรัฐ .. โดยการคำนึงถึง..

“ประชาชนทุกหมู่เหล่าบนแผ่นดินไทย ย่อมเป็นคนไทยเหมือนกันหมด”

และนี่คือคำตอบว่า ทำไม.. ประเทศไทยจึงแตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้าน.. ที่แม้จะหลากหลายชาติพันธุ์ แต่มีความเป็นคนไทยเหมือนกัน.. เป็นรัฐเดียว.. เป็นชาติเดียว!!!... ที่ยังคงสืบเนื่องเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้!!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .