โฉมหน้า วุฒิสภา 2567 สว. 200 เก้าอี้ มาจาก 4 กลุ่ม

สำหรับภาพรวมของ สว.ชุดใหม่หลังจากนี้ เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคิดว่า สว.ที่จะเข้าไปก็จะมีกลุ่มหลักๆ คือ 1.ตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า มีเข้าไปแน่นอน 2.ตัวแทนกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ 3.กลุ่มตัวแทนของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองก็จะแบ่งเป็นพรรคแดงกับพรรคส้ม 4.คือสัดส่วนของ สว.สายประชาชน ที่อาจจะเป็นสัดส่วนที่น้อย

สัปดาห์หน้าวันที่ 26 มิถุนายน มาถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน รอบสุดท้ายแล้ว เพราะเป็นการเลือก สว.ระดับประเทศ ที่คาดว่าช่วงเย็นวันที่ 26 มิ.ย. ก็คงพอจะเห็นรายชื่อว่าที่ สว.ชุดใหม่กันได้ แต่ก็ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการก่อน โดย กกต.ตั้งเป้าไว้ว่าจะประกาศรับรองรายชื่อในวันที่ 2 ก.ค. เพื่อให้เตรียมเข้าปฏิบัติหน้าที่การเป็น สว.ชุดใหม่ต่อไป

ก่อนที่จะได้เห็นรายชื่อ สว.ชุดใหม่ว่าจะมีโฉมหน้าทางการเมืองอย่างไร และวุฒิสภาชุดใหม่จะมีบทบาททางการเมืองหลังจากนี้อย่างไร ก็มีความเห็นจากนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ ที่มองบทบาท สว.ชุดใหม่หลังจากนี้ รวมถึงการคาดการณ์รายชื่อ สว.ชุดใหม่ว่าจะมาจากสัดส่วนใดบ้างในทางการเมือง นั่นก็คือความเห็นของ "รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา" นักวิชาการ-นักวิเคราะห์การเมืองชื่อดัง

-คิดว่าหลังการเลือก สว.ระดับประเทศเสร็จสิ้นลง จะมีการร้องเรียนเรื่องปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากหรือไม่ และจะทำให้ กกต.อาจเลื่อนการรับรองประกาศรายชื่อ สว. 200 คนออกไปหรือไม่?

ผมประเมินว่าคงมีการร้องเรียนกันแน่ แต่ กกต.คงใช้วิธีการเดิมคือ รับรองการประกาศรายชื่อไปก่อนแล้วค่อยไปสอยทีหลัง ซึ่งอันนี้จะเป็นปัญหาเพราะว่าที่ผ่านมา กกต.ก็ใช้วิธีการแบบนี้กับการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศที่ผ่านมาล่าสุด แล้วปรากฏว่า 1 ปีที่ผ่านมา กกต.ไม่ได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้แบบในเชิงประจักษ์ให้คนเห็นเลย ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการร้องเอาผิดมาตรา 157 ตามมา ในเรื่องการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ก็คือใช้วิธีการผลักปัญหาให้ไกลตัวเอาไว้ แล้วทิ้งปัญหาเอาไว้แล้วก็ทำลืมๆ กันไป ผมเข้าใจว่า กกต.คงใช้วิธีการแบบนี้คือประกาศไปก่อน โดยอ้างว่าจะสอยทีหลังแล้วก็ไม่สอย แต่ผมว่าคงมีคนไปร้องเรียนเยอะ  เพราะมันผิดสังเกตหลายๆ อย่าง มีสัญญาณบางอย่างที่เห็นได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะนักการเมืองหรือกลุ่มผู้กว้างขวางในจังหวัด แต่เรายังเห็นปรากฏการณ์ของกลุ่มทุนด้วย ที่ระดมทุนคนของตัวเองไปลงสมัคร

"รศ.ดร.โอฬาร" ประเมินว่า สำหรับภาพรวมของ สว.ชุดใหม่หลังจากนี้ เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่า สว.ที่จะเข้าไปก็จะมีกลุ่มหลักๆ คือ 1.ตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า มีเข้าไปแน่นอน 2.ตัวแทนกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ 3.กลุ่มตัวแทนของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองก็จะแบ่งเป็นพรรคแดงกับพรรคส้ม 4.คือสัดส่วนของสว.สายประชาชน ที่อาจจะเป็นสัดส่วนที่น้อย ซึ่งหากถามว่าทำไมต้องมีส่วนนี้ด้วย ก็เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เห็นว่ายังมี สว.จากประชาชน แต่จะมีสักประมาณ 10-20 คน เพื่อที่จะได้ไม่ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

-ตอนนี้บางคนก็มองไปข้างหน้าเรื่องตำแหน่งต่างๆ ในวุฒิสภาแล้ว เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  อดีตนายกฯ อาจจะมาเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่?

ใช่ๆ ก็อาจมีความเป็นไปได้ เพราะโดยคุณสมบัติและโดยลักษณะจังหวะก้าวทางการเมืองของนายกฯ ตัวจริง  และเขาก็อยู่ในสถานะน้องเขย และยังเคยเป็นอดีตนายกฯ  มีพรรคการเมืองสนับสนุน ที่ก็ทำให้มีโอกาสมากที่จะเป็นประธานวุฒิสภา ที่ก็เป็นวิธีการในสไตล์การเดินจังหวะทางการเมืองของนายทักษิณ ที่ต้องการกุมสภาพต่างๆ ให้ได้  คือบางคนไปมอง สว.ชุดใหม่เพียงแค่ว่าจะเข้าไปโหวตเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไปเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะแม้ สว.ชุดใหม่จะโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่สามารถปลดนายกฯ ได้ผ่านองค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช. หรืออย่างตัวอย่างกรณีกลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นคำร้องคดีนายเศรษฐา ทวีสินในเวลานี้ นายทักษิณเขาฉลาด คือเขาเห็นแล้วว่าตอนนี้พื้นที่การเมือง ไม่ว่าอย่างไรเสียดูจากผลโพลต่างๆ ก่อนหน้านี้ พื้นที่ซึ่งยึดครองการเมืองคือก้าวไกลกับเพื่อไทย เพียงแต่หลายคนไปมองว่า เพื่อไทยกับก้าวไกลเวลานี้คือฝ่ายตรงข้ามกัน แต่ถามว่าในอนาคตหากก้าวไกลได้ สส.มาอันดับหนึ่งหลังเลือกตั้ง ใครจะจับมือกับก้าวไกลถ้าไม่ใช่เพื่อไทย เพราะก้าวไกลไม่มีทางได้ สส. 300 เสียงขึ้นไป และหากสองพรรคคุม สว.ได้มันก็จบ

การเลือก สว.ที่มี วาระซ่อนเร้น-อำพราง

โดยก่อนหน้านี้ "รศ.ดร.โอฬาร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา" ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "ห้องข่าวไทยโพสต์" โดยได้แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์เรื่องการเลือก สว. 2567 ไว้อย่างน่าสนใจและตรงไปตรงมา โดย "ดร.โอฬาร" กล่าวว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ เป็นการเลือกที่ไม่ใช่การเลือก เป็นนวัตกรรมการเมืองที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบการเลือก สว.ได้อัปลักษณ์ที่สุดในระบบการเมืองโลก ที่เป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ คือเรามองว่าการเลือกคือประชาธิปไตยแล้ว เป็นการมองแบบฉาบฉวยและผิวเผินเกินไป

การเลือก สว.รอบนี้มันมีความซับซ้อนและมีลักษณะที่มี "วาระซ่อนเร้น-อำพราง" และที่สำคัญ "ทำลายหลักการประชาธิปไตยอย่างย่อยยับ" ทั้งที่มันมีการเลือก สว.

คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ที่ถูกร่างขึ้นมาแล้วสร้างวาทกรรมว่าจะปราบโกง แต่เราพบความจริงว่ามันส่งเสริมการโกงมากที่สุด โดยดูได้จากหน่วยงาน-องค์กรอิสระหลายแห่ง ถูกตั้งข้อสังเกตด้วยความเคลือบแคลงสงสัย องค์กรอิสระเหล่านี้เกิดจาก สว. แล้ว สว.ชุดที่ทำหน้าที่ปัจจุบันก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ออกมาเมื่อปี 2560 มันไม่ได้ส่งเสริมให้มีการยุติการคอร์รัปชัน แต่มันทำให้การคอร์รัปชันหนักหน่วงมากขึ้น ตรวจสอบไม่ได้  และการทำงานของ สว.หลายอย่างก็ถูกตั้งข้อสงสัย ถูกตั้งคำถาม มีแค่ส่วนน้อยที่สังคมสามารถไว้วางใจ สว.เหล่านั้น  อย่างไรก็ตาม สว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามา ที่เข้ามาโดยการเลือกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ดูเหมือนจะมีความเป็นประชาธิปไตย เพราะอย่างน้อยมีการกำหนดให้ประชาชน มีโอกาสลงสมัครได้หากอายุเกิน 40 ปี โดยเลือกลงในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งโดยหลักการเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เกิดการยึดโยงกับประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้มีตัวแทนของสาขาอาชีพต่างๆ ได้เข้ามาเป็น สว. แต่มันมีความซับซ้อนมากกว่านั้นและมันทำลายหลักการประชาธิปไตย

อันดับแรกเลยคือ หากเราเชื่อว่าประชาธิปไตยคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง และประชาธิปไตยต้องสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน แต่การเลือก สว.ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพราะว่ามันซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนจะเข้าใจ และมันทำให้ประชาชนถอยออกจากกระบวนการว่าด้วยการมีส่วนร่วม มันจึงเป็นโอกาสของใครบางกลุ่มที่ต้องการรักษาอำนาจและพื้นที่ของ สว.เอาไว้ ซึ่งเจตนาดังกล่าวการเมืองไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ถูกจัดวางไว้อย่างมีชั้นเชิง นอกจากนี้ กระบวนการเลือก สว.ดังกล่าวยังไปทำลายหลักการสิทธิเสรีภาพ

...ยกตัวอย่างเช่น ผมจะใช้สิทธิของผมลงสมัคร สว. ในสาขาเกี่ยวกับการศึกษา หรือสื่อ ก็อาจไปลงสมัครในสาขาสื่อมวลชน แต่เราก็ไม่สามารถใช้สิทธิของเราได้เต็มที่  เช่นต้องมีคนเซ็นรับรอง ต้องมีพยาน ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิของเรา นี่คือการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในเมื่อเขามีสิทธิ์มีเสียงก็ต้องส่งเสริมให้เขาลงสมัคร แล้วทำไมต้องหาคนมารับรอง

ประการต่อมา ประชาธิปไตยมันคือการยืนยันโอกาสและความเสมอภาค แต่ปรากฏว่าถ้าผมหรือคนอื่นๆ หากเขาไม่มีเงิน 2,500 บาทในการไปสมัคร เราก็สมัครเลือกสว.ไม่ได้

ทั้งหมดก็คือการเลือก สว.ครั้งนี้ หากดูผิวเผินหลักการดี แต่หากไปดูรายละเอียดในเชิงรัฐศาสตร์ มันมีปัญหามาก มันไม่ยืนยันและไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมันมีวาระซ่อนเร้น เพราะหากทำวิธีการแบบนี้คนส่วนหนึ่งจะหายไป ก็จะมีเฉพาะคนที่มีความพร้อม

...รัฐธรรมนูญดีไซน์การเลือก สว.รูปแบบดังกล่าว ที่จะเอื้อให้กับบุคคล 3 ประเภท 3 จำพวก คือ 1.คนมีเงิน 2.คนที่มีชื่อเสียง ที่คนรู้จัก 3.คนที่มีเพื่อนหรือมีเครือข่ายเยอะ ซึ่งสามกลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสมากที่สุด การที่ประชาชนมองโดยทั่วไปว่าการเลือก สว.แบบนี้จะทำให้ได้เลือกตามสาขาอาชีพจึงไม่ใช่ เพราะคนที่มีสิทธิ์จะได้เลือกคือคนที่ต้องไปสมัคร ต้องไปจ่ายเงิน 2,500 บาทก่อนถึงจะมีสิทธิ์ได้เลือก สว. และกระบวนการเลือกที่จากอำเภอไปจังหวัดและไปจบที่ระดับประเทศ โดยมีการให้เลือกกันเองในกลุ่มสาขาเดียวกัน แล้วสัดส่วนที่ได้ หนึ่งในห้าของกลุ่ม ก็ไปเลือกไขว้ ซึ่งการเลือกไขว้มันก็มีปัญหา เพราะอย่างหากผมอยู่ในกลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มนักวิชาการ-อาจารย์ คราวนี้ต้องไปเลือกไขว้ เราก็ไม่รู้แล้วว่าใครเป็นใคร ผมก็รู้แต่แค่คนนี้ดัง คนนี้มีชื่อเสียง หรือคนนี้จ่ายมาแล้วสัก 5 หมื่น อันนี้เป็นปัญหา คือมันซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น

ความซับซ้อนแบบนี้ ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่เชื่อว่ากระบวนการพัฒนาทางการเมือง ก็เห็นว่ารูปแบบมันควรต้องส่งเสริมให้คนเรียนรู้ได้ง่าย แต่พอรูปแบบเป็นแบบนี้  มันผลักคนออกจากการมีส่วนร่วม เพราะกระบวนการมันเยอะและซับซ้อน คือผมเห็นด้วยที่จะมีตัวแทนตามสาขาอาชีพต่างๆ แต่จะต้องให้ประชาชนที่อยู่ในสาขาอาชีพนั้นไปเลือก เช่นสมมุติว่ามีชาวนาในประเทศอยู่ 20 ล้านคน เขาก็สมควรมี สว.ตามสัดส่วนประชากรที่่แท้จริง ซึ่งดีไม่ดี อาจมี สว.ที่เป็นตัวแทนชาวนาเยอะที่สุด เพื่อที่จะได้ไปร่วมมีส่วนในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายหรือผลักดันให้มีการแก้ปัญหาของชาวนาอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะที่เขาเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรืออย่างผมเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย สัดส่วนของครูบาอาจารย์มันอาจจะน้อย ก็อาจมีสัก 5-7 คน ก็ว่าไปตามสัดส่วนเพื่อให้สัมพันธ์กับสาขาอาชีพ

แต่พอเป็นรูปแบบที่ออกมา มันไม่สัมพันธ์กันจริง มีการไปเปิดโอกาสให้คนที่มีเงิน มีชื่อเสียง ซึ่งมันมีวาระซ่อนเร้นคือมันเป็นวิธีการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกลรัฐธรรมนูญปี 2560 แม้บางคนอาจมองว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น สว.ชุดใหม่ไม่ได้มีโอกาสจะมาโหวตนายกฯ ได้แล้ว ซึ่งก็จริง สว.จะไม่ได้โหวตเลือกนายกฯ แล้ว แต่ว่ายังมีโอกาสเลือกบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ ถามว่าองค์กรอิสระที่มันเลอะเทอะขนาดนี้ก็มาจาก สว.ไม่ใช่หรือ แล้วมันทำให้องคาพยพของการเมืองไทยเสียหมดเลย อย่างล่าสุด ตกใจไหม อยากเป็น ป.ป.ช.ต้องไปกราบตักพลเอกคนหนึ่ง แล้วสุดท้าย สว.ก็พร้อมโหวตให้เขาได้เข้าไปเป็นป.ป.ช. เราต้องการสังคมแบบนี้จริงๆ หรือ สิ่งนี้คือความบิดเบี้ยวขององคาพยพของโครงสร้างการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสภาวะความอัปลักษณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่จะถูกสืบทอดอำนาจผ่าน สว.แบบนี้ โดยการกำหนดวิธีการเลือกสว.ให้มันซับซ้อนเพื่อที่จะกันคนออกไป

"รศ.ดร.โอฬาร" กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้เห็นสัญญาณของกลุ่มพลังทางการเมืองที่ออกมารณรงค์ให้คนออกไปสมัคร สว.  

-ที่ก็คือกลุ่มของนายธนาธร (คณะก้าวหน้า)?

คือเขาก็รู้ว่าหากไม่ส่งเสริมให้คนไปลงสมัคร สว.กันเยอะ โอกาสที่รัฐธรรมนูญซึ่งดีไซน์ออกมาแบบนี้ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะได้ สว.ของกลุ่มอำนาจเดิมที่บล็อกโหวตได้ ก็เลยเริ่มเห็นการเมืองในการเตรียมเลือก สว.เกิดขึ้น เช่น "ฝ่ายอำนาจเก่า" ก็เห็นว่าหากเป็นแบบนี้ก็อาจแพ้ หากไม่วางแผนกลยุทธ์ดีๆ ซึ่งผมเชื่อว่ากลุ่มของธนาธร และดีไม่ดี อาจรวมถึงกลุ่มปีกนักการเมืองจะเข้ามาคุมพื้นที่ สว.ทั้งหมด ซึ่งมันมีผลต่อการเลือกตั้ง การกำหนดตัวผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องอาศัยสภาวะความเห็นพ้องต้องกัน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านและสว.

...หาก สว.ชุดใหม่เป็นพวกเดียวกันกับซีกรัฐบาล เหมือนสมัยคุณทักษิณมันก็ง่าย นี่คือลักษณะองคาพยพทางการเมืองหลังจากนี้ จึงไม่แปลกที่กลุ่มอำนาจเก่าก็เริ่มส่งสัญญาณว่ามันจะมีการบล็อกโหวต จะมีการซื้อเสียง หากยังไม่ได้ สว.ชุดปัจจุบันก็ต้องรักษาการต่อไป เริ่มมีคำพูดแบบนี้ออกมา โดยมีการปล่อยออกมาเพื่อจะประเมินสถานการณ์ ผมถึงบอกว่ามันมีความซับซ้อน คือไม่ใช่แค่เลือก สว. แต่มันมีอะไรมากกว่าเลือก สว.

"เพราะมันจะเป็นการรักษาอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะหากเขาสามารถยึดครองสว.ได้ เขาก็สามารถรักษาองค์กรอิสระที่มีหน้าตาแบบตอนนี้ และใช้องค์กรอิสระมาจัดการกับศัตรูทางการเมืองของเขาได้ง่ายขึ้น นี่คือการฝังรูปฝังรอยหรือไสยศาสตร์ของรัฐธรรมนูญ 2560"

-คิดว่าการเลือก สว.ครั้งนี้จะได้ สว.กี่ขั้ว?

ภูมิทัศน์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2566 ผมมองเป็นสามขั้ว-สองข้าง คือ ใครหักหลังใครก่อน คนนั้นชนะ โดยหากย้อนไปหลังมีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเข้ามา (เลือกตั้งใหญ่ปี 2544 ) และจากนั้นไทยรักไทยก็เติบโตอย่างมาก เพราะช่วงนั้นหลายคนสิ้นหวังกับภาวะผู้นำ โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และเมื่อดูตัวผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงดังกล่าว ก็เจอภาวะตีบตันในเรื่องภาวะผู้นำในเวลานั้น แต่คุณทักษิณคือความหวัง เพราะมาด้วยนโยบายต่างๆ มากมายที่ไปครองใจประชาชน และกลุ่มคุณทักษิณเป็นกลุ่มทุนใหม่ เป็นกลุ่มทุนที่เติบโต แล้วก็เข้ามาสู่อำนาจรัฐ โดยเป็นกลุ่มที่ทำงานการเมืองอย่างมีความรู้และมีชั้นเชิง

ในขณะที่โครงสร้างอำนาจการเมืองไทยก็มีกลุ่มเดิมอยู่ ทั้งสองกลุ่มก็เลยสู้กัน โดยสู้กันมา 17 ปี โดยกลุ่มอำนาจเดิมก็พยายามสร้างให้คุณทักษิณเป็นปีศาจ ก็สู้กันไปมา แต่ว่าเลือกตั้งกันกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ปีกอำนาจเก่าก็ไม่เคยชนะกลุ่มของคุณทักษิณและเพื่อไทย แต่ปีกอำนาจเก่าก็มีเครื่องมือสำคัญคือกองทัพ เลือกตั้งก็รัฐประหาร ก็วนอยู่แบบนี้ และการวนแบบนี้ก็ทำให้เกิดกลุ่มพลังใหม่ ที่ไม่พอใจโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่วนอยู่ในวงจรอุบาทว์ เช่นมีความเหลื่อมล้ำมาก มีการรัฐประหาร

สภาวะแบบนี้ก็เลยทำให้เกิด "การเมืองสามขั้ว" จากเดิมที่มีสองขั้วคืออำนาจเก่ากับทุนใหม่ ก็มีกลุ่มพลังใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวความคิดแบบถอนรากถอนโคน-ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพราะไม่พอใจกับโครงสร้างอำนาจเดิม ไม่เชื่อมั่นในพลังแบบเดิม ไม่เชื่อมั่นในความคิดแบบเดิม จนได้คะแนนนิยมสูงมากจากการเลือกตั้ง

 ซึ่งข้อเสนอของกลุ่มพลังใหม่ มันไปกระทบกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำในสังคมไทยอย่างมโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำฝ่ายจารีต กลุ่มทุนผูกขาด กองทัพ เจ้าพ่อท้องถิ่น นักธุรกิจการเมือง พวกนี้้ก็เลยรู้สึกว่าปีศาจตัวเก่า กำลังโรยราไป แต่มีปีศาจตัวใหม่ที่่น่ากลัวกว่า ใช้คำว่าสยองขวัญ จนคิดว่า 17 ปีที่สู้กันมา เราน่าจะมาคุยกันหรือไม่ ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าอาจด้วยความกลัว โดยเขาไม่รู้ว่าความจริงแล้วกลุ่มทุนใหม่กับกลุ่มพลังใหม่เขาส่งซิกกันทุกวัน ส่งไลน์กันทุกวัน พอไม่มีทางออกหลังเลือกตั้ง 2566 กลุ่มอำนาจเก่าเลยเคว้ง พรรคที่เคยหนุนหลังอำนาจเก่า ไม่มีที่ยืนในทางการเมืองเลย ทั้งพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ เขาก็เลยต้องจับมือกัน (กับพรรคเพื่อไทย) แต่ผมว่าอำนาจเก่าเขาก็ไม่ได้ไว้วางใจรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีความหวาดระแวงต่อกัน เพราะมันมีสัญญาณบางอย่างเช่นมีดีลลังกาวี แต่ขณะเดียวกันก็มีดีลฮ่องกง แล้วธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็มาบอกว่าอย่างไรเสีย เพื่อไทยกับก้าวไกลคือมิตรกัน

ตรงนี้คือปัญหา เพราะการเมืองแบบอำนาจนิยม การเมืองที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ ทุกการสื่อสารของชนชั้นนำในทางการเมืองมันถูกตีความได้ แล้วพอการเมืองมันเป็นการเมืองแบบ 3 เส้าแบบนี้ มันก็มีลักษณะความหวาดระแวง ซึ่งมันก็เป็นการจับมือกันชั่วคราว ก็คือใครหักหลังใครก่อนชนะ และแค่นี้ไม่พอ ในพื้นที่การเมืองทุกวันนี้ พรรคที่ครองพื้นที่จริงๆ คือก้าวไกลกับเพื่อไทย แม้จะอยู่คนละฝั่ง แต่สำหรับผมตัวผมไม่เชื่อว่าเขาทะเลาะกันจริง การเมืองแบบนี้ในทางวิชาการเราเรียกว่า การเมืองของชนชั้นนำ ก็คือความขัดแย้ง-การสมประโยชน์-การต่อรอง

ในฐานะประชาชน ผมมีข้อเสนอเช่น ถ้าไม่พอใจ รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงๆ เช่นวิจารณ์ว่านโยบายต่างๆ เป็นอย่างไร ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงส่วนตัว 

...ผมเชื่อว่า สว.ที่จะเข้าไปหลังการคัดเลือกจะมีตัวแทนของเครือข่ายอำนาจทางการเมืองได้เข้ามาในสัดส่วนเยอะ ที่จะส่งผลในทางการเมือง เช่นเรื่องของ "องค์กรอิสระ" ก็อาจจะได้ตัวแทนที่มีความสัมพันธ์หรือมีนัยในเชิงความสัมพันธ์กับนักการเมือง หรือว่ากลุ่มการเมือง ซึ่งก็ต้องดูว่าแล้วฝ่ายการเมืองจะยังยืนอยู่กับประชาชนแค่ไหน โดยหากยังตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนแบบนี้ก็ดีไป แต่ถ้าออกมาแบบตอน สว.ที่เข้ามาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการเลือกตั้ง สว.โดยตรง ยุคนั้นคนก็วิจารณ์กันมากว่าเป็นสภาผัวเมีย คือสามีเป็น สส. ส่วนเมียเป็น สว.   แล้วก็ไปมีผลกับองค์กรอิสระที่สร้างปัญหากับการเมืองที่น่ากลัว คือไปเลือกคนเป็นองค์กรอิสระที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองบางพรรค จนทำให้การเมืองไทยบิดเบี้ยว ก็ภาวนาว่าอย่าให้กลับมาวนลูปเดิมอีก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นันทนา' คึก! ลั่นปฏิบัติการ สว.เล็กเปลี่ยนสภา

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะแกนนำสว.พันธุ์ใหม่ ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ปฏิ

เบื้องหลังจัดโผสภาสูง บ้านใหญ่บุรีรัมย์-สว.สีน้ำเงิน ป้องกันแรงต้านกินรวบไม่แบ่งเพื่อน  

เบื้องหลังการทำโผดังกล่าว เป็นที่รู้กันดีว่า โรงแรมพลูแมน ซอยรางน้ำ เป็นเซฟเฮ้าส์ทางการเมืองของ นักการเมือง-กลุ่มการเมือง ที่มีแบนด์พรรคคือสีน้ำเงิน

สว.กลุ่มอิสระ สะกิดจับตาชิง ‘รองปธ.คนที่หนึ่ง’ คาดลงแข่งเยอะแน่

สว.กลุ่มอิสระเผย จุดพีกชิงเก้าอี้ใหญ่สภาสูงคือ รองปธ.คนที่หนึ่ง คาดลงแข่งเยอะ ย้ำ ‘บุญส่ง’ เหมาะนั่งรองปธ.วุฒิฯ ยันเป็นเรื่องปกติหากจะคุยกับกลุ่มสีน้ำเงินก่อนโหวต  

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

เปิดศึกชิงเก้าอี้ ประมุขสภาสูง เสร็จสว.นํ้าเงิน

ฝุ่นตลบ! ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาสูง ล็อบบี้กันเดือด "เทวฤทธิ์” ชี้ควรเป็นคนเปิดกว้าง ให้พื้นที่เสียงส่วนน้อย ยันกลุ่มพันธุ์ใหม่ส่งชิงแน่ พร้อมเล็งเก้าอี้ประธาน

'นพดล' รับยังไม่ตัดสินใจชิงรองปธ.วุฒิสภา คนที่ 1 ขอเช็กเสียงหนุนก่อน

นายนพดล อินนา สว. กล่าวถึงกระแสข่าวการเสนอตัวชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1ว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ100% จะลงสมัครชิงตำแหน่งหรือไม่ ขอเวลาคิดอีก1-2วัน ต้องรอดูจะมีเสียงสนับสนุนจากเพื่อนสว.มากน้อยแค่ไหน