เดี้ยงยกแผง พังทั้งกระดาน! คดียุบพรรคก้าวไกล รอดยาก

การที่พรรคก้าวไกลจะรอดก็คือ ศาล รธน.ต้องกลับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีล้มล้างการปกครอง เพราะคดีดังกล่าวรายละเอียดลงไปที่พฤติกรรมแบบรายบุคคล ว่าคนของพรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งถ้าพรรคก้าวไกลจะรอด ศาล รธน.ต้องบอกว่าการกระทำที่เกิดขึ้น บุคคลเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาล รธน.จะไปเปลี่ยนคำวินิจฉัยเดิมของตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าเกี่ยวข้อง จนเคยถูกนำไปชี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการล้มล้างการปกครองฯ คำวินิจฉัยเดิมดังกล่าวจึงทำให้จะวินิจฉัย (คดียุบพรรคก้าวไกล) ออกไปอย่างอื่นยาก 

เรื่อง "คดีความ" เชิงการเมืองที่หลายคนเฝ้าติดตามกันอยู่ในเวลานี้ คงไม่พ้น 3 คดีสำคัญ คือ “คดี 112” ที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร และอัยการนัดทักษิณไปรายงานตัวในวันอังคารที่ 18 มิ.ย.นี้ เพื่อนำตัวไปส่งฟ้องต่อศาลอาญา

ส่วนคดีที่สองคือ "คดีกลุ่ม 40 สว.” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งล่าสุดศาล รธน.มีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาล รธน.ภายในวันที่ 17 มิ.ย. และศาล รธน.กำหนดนัดพิจารณาต่อในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ และคดีที่สามคือ "คดียุบพรรคก้าวไกล” ที่ศาล รธน.มีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 17 มิ.ย. และศาลกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 18 มิ.ย.

ด้านมุมมองในเชิงข้อกฎหมายและแนววิเคราะห์ทางการเมืองต่อ 3 คดีสำคัญดังกล่าว มีทัศนะจาก "คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์, อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต” ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด” โดย สำราญ รอดเพชร

ลำดับแรกเริ่มที่ "คดี 112 ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อถามถึงการที่อัยการนัดนายทักษิณในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ “คมสัน-นักวิชาการด้านกฎหมาย” ออกตัวว่า ยังไม่ถึงขนาดฟันธงว่าเขาจะไปร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไม่ได้มองในทางการเมืองแต่มองในแง่กฎหมาย ซึ่งเรื่องการประกันตัวเป็นสิทธิ และโดยข้อเท็จจริงก็คือผู้ต้องหาคดี 112 ช่วงที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมให้ประกันตัวไปเกือบหมดเหมือนกัน แต่ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไม่ให้ประกันตัว เพราะกลุ่มที่ได้รับประกันตัวไปพบว่ามีการหลบหนี โดยเฉพาะหนีไปต่างประเทศ แต่ช่วงหลังพอเกิดกรณี บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคมเสียชีวิต ก็มีการให้ประกันตัว

....กรณีของนายทักษิณ หากมองในแง่ข้อกฎหมายไม่ได้มองในแง่การเมือง ก็มีทั้งโอกาสที่จะได้ประกันตัวและไม่ได้ประกันตัว แต่ที่ผ่านมาคนที่ตกเป็นจำเลยหลังศาลรับฟ้อง ศาลก็มักจะไม่ให้ประกันตัวเลยทันที มักจะผ่านไปครั้งที่สอง ครั้งที่สามที่มีการยื่นขอประกันตัว ศาลถึงจะให้ประกันตัว  เท่าที่ดูคดี 112 มา ส่วนใหญ่ก็จะให้ประกันตัวครั้งที่สองครั้งที่สาม ซึ่งกรณีนี้ (นายทักษิณ) อาจจะอยู่ในรอยเดียวกันก็ได้

"เพราะฉะนั้นเปอร์เซ็นต์ก็อาจอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ที่ศาลอาจจะไม่ให้ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะให้ แต่ก็มีเหมือนกันที่ศาลให้ประกันตัวครั้งแรกเลยก็มี ไม่ใช่ไม่มี  การจะไปคาดคิดว่าศาลจะคิดอย่างไร มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง โดยศาลก็จะไปมองพฤติกรรมของจำเลยในคดีด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเขาก็เคยหนีคดีไปแล้ว 17 ปี และหลบหนีระหว่างที่ศาลฎีกาฯ ให้ประกันตัวด้วย คือผมมองในเรื่องพฤติกรรมของคุณทักษิณเองด้วย และแนวทางการให้ประกันตัวที่ผ่านมาของศาลในคดี 112"

-คดีนี้คนมองกันว่าสุดท้ายระดับทักษิณ เลวร้ายที่สุดคือลงโทษ แต่ก็อาจรอลงอาญา?

แนวปฏิบัติที่ศาลเคยทำมาในคดี 112 ในคดีอื่นๆ คือถ้าต่อสู้คดี ไม่รับสารภาพตั้งแต่ต้น ศาลลงทุกราย อย่างเอาที่ผมเคยไปเป็นพยาน และที่เคยเห็นมาเยอะในคดี 112 ก็คือ เมื่อไปในวันแรกที่ศาลนัดพิจารณาคดี ศาลจะถามว่าจำเลยจะให้การอย่างไร จะรับสารภาพหรือไม่ ซึ่งเท่าที่เห็นกรณีที่จำเลยรับสารภาพว่าทำผิดจริง ศาลก็จะนัดให้มาฟังคำพิพากษา แล้วก็ให้รอการลงโทษ เพราะถือว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ แต่ถ้ารายไหนที่ผมเห็นมาตลอด เช่นต่อสู้ว่าไม่ได้ทำผิดหรืออะไรก็แล้วแต่ ศาลลงโทษทุกราย และไม่รอลงอาญาด้วย แต่ก็มีเหมือนกันที่บางคดีก็ยกฟ้อง เพราะพฤติกรรมในข้อเท็จจริงมันคาบลูกคาบดอก

ส่วนกรณีของคุณทักษิณ ผมว่าไม่คาบลูกคาบดอก เพราะเท่าที่ผมได้ยินจากคลิป ถ้าผมเป็นผู้พิพากษาผมก็ลง (ลงโทษ) ซึ่งเท่าที่ดูก็ต่อเนื่อง ไม่มีตรงไหนที่ขัด สะดุด ที่บอกว่าตัดต่อได้ ก็ลงครับ เพราะพฤติกรรมมันเข้า  

-มองยังไงหากคณะกรรมาธิการศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ มีผลการศึกษาโดยให้รวมการนิรโทษกรรมคดี 112 ไว้ด้วยในรายงานของ กมธ.?

มันก็จะเป็นการนิรโทษกรรมสุดซอยอีกแบบหนึ่ง เพียงแต่ไม่เอาเรื่องการนิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริตคอร์รัปชันมารวมไว้ด้วย ถ้าแบบนี้มันก็จะซ้ำรอยเดิมที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เขาถึงพยายามเร่งให้มี สว.ชุดใหม่ เพราะหากยังเป็น สว.ที่รักษาการอยู่ตอนนี้ การจะทำให้กฎหมายออกมาคงทำลำบาก ไม่น่าจะผ่าน เพราะในสภาล่างเสียง สส.ของพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลพอที่จะชนะในสภาล่างได้ แต่ในวุฒิสภา ในสภาพปัจจุบัน โอกาสจะผ่านมีปัญหาเยอะ ก็ทำให้การเลือก สว.ก็โยงมาตรงนี้ด้วยเหมือนกัน ถ้าได้ สว.ชุดใหม่เร็ว กฎหมายนี้ก็จะผ่านได้เร็ว แต่ถ้าเป็น สว.ชุดเดิมตอนนี้  โอกาสที่กฎหมายนิรโทษกรรมจะผ่านสะดวกไม่ง่าย สุดท้าย อาจต้องนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา แล้วก็ถูกดึงเรื่องไว้อีกสักพักใหญ่ ที่ไม่สมประสงค์กับนายใหญ่

เรื่องนี้ต้องไปดูเงื่อนไขการเมืองหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องคดีคุณเศรษฐา เรื่องคดียุบพรรคก้าวไกล เรื่องการเลือก สว. ซึ่งผมคิดว่าทุกปัจจัยจะนำไปสู่เรื่องนี้ได้ทั้งหมด ถ้าจะอ่านแบบยาวให้จบกระบวนการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านสภาฯ ออกมาเป็นกฎหมายได้ ก็คือต้องคุมเสียงข้างมากทั้งสองสภาได้ ถึงจะผ่านไปได้ และเงื่อนไขการจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมอาจทำให้รัฐบาลเสียงแตก และสุดท้ายก็อาจจะเป็นการกลับไปจับขั้วกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล

ซึ่งผมคิดว่าเพื่อไทยพร้อมยอมแลก เพราะที่ผ่านมาในอดีตเขาก็แลก เพียงแต่เขาไม่คิดว่าเมื่อช่วงปี 2556-2557 จะเกิดมวลชนขึ้นมา (กปปส.) แต่ตอนนี้เขาคงประเมินว่า มวลชนหากจะกลับมาเคลื่อนไหวแบบเดิมน่าจะขยับยาก คือไม่ถึงกับเชิงอ่อนแรงลง คนไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วยอยู่ แต่ก็มีช่องทางการระบายออกทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น คือคนก็ไม่ยอม แต่คนก็ไม่อยากออกไปเพราะมันเหนื่อย แล้วก็อาจต้องมีคดีอะไร พูดง่ายๆ อย่างรัฐประหารปี 2557 ชาวบ้านไม่ได้อะไร แล้วมันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คนก็ประเมินเหมือนกันว่าทหารทำรัฐประหาร คนไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้น คนก็ถนอมแรงไว้ แล้วไประบายทางโซเชียลมีเดียเยอะ แต่มาตรการทางกฎหมายมันมีหลายตัว ซึ่งมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพียงแต่ถามว่าเขากล้าไหม ก็คิดว่ากล้า เขาไม่ได้กลัวอะไรเท่าไหร่ ก็ดูจากพฤติกรรมเดิม

ส่วนเรื่องดีลลับผมก็คิดว่ามี แต่ถ้าเขาทำก็แสดงว่ามีการล้มดีลแล้ว ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่ามันอยู่ใกล้ๆ ล้มเต็มที่แล้ว เหลืออีกนิดเดียว ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่ดัน 112 หรอก แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

-คดี 40 สว.ที่ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกฯ ดูแล้วเป็นอย่างไร นายกฯ เหนื่อยไหมคดีนี้?

คำร้องคดีนี้เขาไม่ได้มุ่งที่นายพิชิต ชื่นบาน เขามุ่งที่นายกรัฐมนตรี เพราะตัวนายพิชิตเป็นแค่องค์ประกอบของการกระทำของนายเศรษฐา เพราะตัวนายพิชิตโดนจำคุกจริง ตามคำสั่งของศาลฎีกาฯ แต่โดยสถานะก็เหมือนกับคำพิพากษา ในวงการตุลาการเขาก็มีการพูดกันแบบนี้

ส่วนคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตีความโดยเล่นคำตามตัวอักษร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ยังไงตัวนายพิชิตก็มีปัญหา เรื่องลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีที่ยังมีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และยังถูกตั้งประเด็นว่าทำผิดมาตรฐานจริยธรรม ที่กรณีนี้ก็คือจรรยาบรรณวิชาชีพทนายความ ที่สภาทนายความเพิกถอนใบอนุญาตว่าความไปแล้ว ก็สะท้อนว่านายพิชิตมีปัญหาเรื่องมาตรฐานจริยธรรม

การกระทำของนายเศรษฐา ประเด็นหลักที่ดูจากคำร้องคือ ตัวนายเศรษฐารู้อยู่แล้วว่านายพิชิตมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุกกรณีละเมิดอำนาจศาล แต่ก็ยังตั้งคนที่มีปัญหาเรื่องจริยธรรมซึ่งไม่สมควรตั้งเป็นรัฐมนตรี

คำร้องคดีนี้จึงมุ่งที่นายเศรษฐา โดยเอาตัวนายพิชิตเป็นประเด็น ที่เรียกว่าเป็นสารตั้งต้นหรือองค์ประกอบของความผิด กรณีนี้จึงมีเจตนาแน่นอน เพราะก่อนนายพิชิตจะได้เป็นรัฐมนตรี เขาเคยมีชื่อเป็นแคนดิเดตจะได้เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 แต่ตอนนั้นไม่กล้าเลยยังไม่ได้ตั้ง

คดีความ 'ทักษิณ-เศรษ' ชี้ 'แม้ว' อาการหนักกว่านายกฯ

-ทั้งเศรษฐาและทักษิณ ฟังดูแล้วไม่รอดทั้งคู่ แล้วใครอาการหนักกว่า?

ทักษิณหนักกว่าเศรษฐา เพราะมาตรฐานจริยธรรมค่อนข้างเป็นนามธรรมในตัวมาตรฐาน แต่การกระทำจะเข้ามาตรฐานหรือไม่ อันนั้นเป็นเรื่องพฤติกรรม ซึ่งการจะชี้ว่าจะเข้าปัญหามาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปตีความตรงมาตรฐานจริยธรรมก่อน ซึ่งไม่เหมือนกรณีของนายทักษิณ ที่เพียงชี้ว่าการกระทำเข้าข่ายหมิ่นฯ หรือไม่ กรณีของนายเศรษฐาจึงเบากว่านายทักษิณเยอะ และมีโอกาสรอดมากกว่านายทักษิณ แต่ก็อาจรอดแบบเฉียดฉิว ดูจากมติของตุลาการศาล รธน.ที่รับคำร้องไว้วินิจฉัย (มติ 6 ต่อ 3) คือหากมองจากมติดังกล่าวอาจรอดลำบาก แต่ถ้ามองจากตัวเลขการออกเสียงซึ่งตุลาการศาล รธน.มีมติว่า นายเศรษฐาไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ มติ 5 ต่อ 4 โดยอาจมองว่า กรณีของนายเศรษฐาไม่มีผลกระทบเหมือนกับกรณีของพลเอกประยุทธ์ เพราะกรณีของพลเอกประยุทธ์เป็นเรื่องเงื่อนเวลา (การเป็นนายกฯ 8 ปี) แต่กรณีของนายเศรษฐาเป็นเรื่องที่ต้องดูพฤติกรรม ก็เลยไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

'ก้าวไกล' โอกาสรอดยาก การกระทำสำเร็จแล้ว

-คดียุบพรรคก้าวไกล เห็นมุมโอกาสรอดไม่โดนสั่งยุบพรรคหรือไม่?

ไม่เห็น เพราะการที่พรรคก้าวไกลจะรอดก็คือ ศาล รธน.ต้องกลับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีล้มล้างการปกครอง (วินิจฉัยออกมาเมื่อ 31 มกราคม 2567)

เพราะคดีดังกล่าวรายละเอียดลงไปที่พฤติกรรมแบบรายบุคคล ว่าคนของพรรคการเมือง (พรรคก้าวไกล) ไปเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งถ้าก้าวไกลจะรอด ศาล รธน.ต้องบอกว่าการกระทำที่เกิดขึ้น บุคคลเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาล รธน.จะไปเปลี่ยนคำวินิจฉัยเดิมของตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าเกี่ยวข้อง จนเคยถูกนำไปชี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการล้มล้างการปกครองฯ คำวินิจฉัยเดิมดังกล่าวจึงทำให้จะวินิจฉัย (คดียุบพรรคก้าวไกล) ออกไปอย่างอื่นยาก 

คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ เป็นการชี้สองสเตป สเตปแรกคือให้พรรคการเมืองหยุดการกระทำนั้น สเตปที่สองคือมีคนไปร้องต่อ หลังมีคำวินิจฉัยของศาล รธน.เมื่อ 31 มกราคม 2567 ซึ่งการยื่นคำร้องให้ศาล รธน.ยุบพรรคก้าวไกล เป็นการยื่นตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยใช้คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ มาประกอบการยื่นคำร้องถึงศาล รธน.

-แต่หลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยออกมา พรรคก้าวไกลก็ดึงนโยบายแก้ 112 ออกจากเว็บไซต์พรรค และไม่เคลื่อนไหวเรื่องแก้ 112 อีก?

แต่การกระทำมันสำเร็จแล้ว การนำนโยบายพรรคออกไปดังกล่าว เป็นความพยายามแก้ปัญหาของตัวเองในภายหลัง เพราะก่อนศาล รธน.วินิจฉัยคดีดังกล่าว คุณยังดำเนินการอยู่ และศาลไม่ได้รู้ว่าข้างหน้าคุณจะทำอะไร ศาลดู ณ วันที่ศาลชี้คุณยังมีการกระทำอยู่ การกระทำที่เรียกว่าการล้มล้างกระทำอยู่ แต่จะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การกระทำได้เกิดขึ้นแล้ว การกระทำสำเร็จไปแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท   

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง