เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับที่ เวฬุวัน ใกล้นครกิมมิลา พระกิมมิละได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามถึงเหตุปัจจัยที่พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่นานและอยู่ได้นาน หลังจากพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว.. ตรัสตอบว่า...
เหตุปัจจัยที่พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่นาน คือ พฤติกรรมการไม่เคารพในพระศาสดา.. พระธรรม.. พระสงฆ์.. ในสิกขา.. ในสมาธิ.. การไม่เคารพยำเกรงในความไม่ประมาท และไม่เคารพไม่ยำเกรงในปฏิสันถารของพุทธบริษัท ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา.
เรื่องความเคารพ.. จึงเป็นหัวใจสำคัญของการสืบคุณธรรมความดี.. สืบพระสัทธรรม.. ส่งต่ออายุพระพุทธศาสนา.. ให้ดำรงสืบเนื่องอยู่ในโลกนี้สืบไป ซึ่งต้องเข้าใจถึงสาระสำคัญของความเคารพ ได้แก่ การปฏิบัติ.. การประพฤติ ตามพระธรรมคำสั่งสอนอย่างเคร่งครัด.. ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงธรรม
การฟังธรรม.. การเล่าเรียนศึกษา ท่องบ่นจำทรง.. เพื่อนำไปพิจารณาให้แจ่มแจ้งใจ จนเกิดความเห็นชอบ ที่จักนำไปสู่การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงนับเป็นหัวใจสำคัญของการแสดงความเคารพ.. ในความหมายแห่งธรรมในพระพุทธศาสนา
เฉกเช่นเดียวกับ.. ในการสืบเนื่อง สังคม ประเทศชาติ ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบเนื่องตลอดไป.. ซึ่งประชาชนในประเทศชาตินั้น.. จะต้องให้ความเคารพต่อเสาหลักที่ค้ำชูบ้านเมืองให้สืบเนื่องมายาวนาน สู่ความเป็นประเทศชาติที่ดำรงเอกราชได้จนถึงปัจจุบัน
ความเคารพ.. จึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความพึงใจ (ฉันทะ) และความเชื่อมั่น (ศรัทธา) .. อย่างรู้เข้าใจในคุณประโยชน์ (ปัญญา) .. เพื่อนำไปสู่ความเพียรชอบ (วิริยะ) อย่างมี สติ..
เมื่อนำ ความเคารพ.. คำแรก มาบวกกับ สติ คำสุดท้าย.. ก็จักหมายถึง การเคารพอย่างมีสติ .. ไม่ใช่โดยความเขลา จึงมีคำพูดให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “สังคมที่มีสติ.. ย่อมเคารพธรรม (สัทธรรม) ... คือ ความถูกต้องชอบธรรม..”
ผู้ปกครองบ้านเมือง.. จึงต้องเป็นแบบอย่างใน การดำรงตนที่เคารพธรรมอย่างมีสติ.. คำนึงถึง ประโยชน์สุขโดยธรรม ของสังคม ประเทศชาติ ดุจดัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ดำรงพระสติมั่นคง.. ในท่ามกลางกระแสวิกฤตการณ์บ้านเมือง..
การวางแผนปฏิรูปการปกครองอย่างเป็นรูปธรรมจึงเกิดขึ้นในรัชกาลดังกล่าว เพื่อการดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องของแผ่นดินไทยที่ดำรงไว้ซึ่ง เสาหลักทั้งสาม อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อค้ำชูแผ่นดินไทยให้ตั้งมั่นอยู่บนแผนที่โลกทัดเทียมนานาอารยประเทศ อันเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของประชาชนชาวไทยถึงปัจจุบัน
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า.. การคิดวางแผนปฏิรูปการปกครองอย่างเร่งด่วนในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีสาเหตุใหญ่มาจาก ๑.ภัยจากภายนอก คือ อันตรายจากลัทธิล่าอาณานิคม.. ของประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก.. ที่พยายามหาข้ออ้างในการเข้าไปครอบครองในแต่ละประเทศ.. ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ โดยอ้างระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพื่อเป็นเหตุที่จะเข้าไปจัดระเบียบสังคมประเทศชาติของผู้อื่น ซึ่งแท้จริงเพื่อการเข้าไปยึดครองทรัพยากรธรรมชาติ.. และใช้เป็นพื้นที่ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในการครอบครองโลกของฝ่ายอำนาจนิยม..
๒.ภัยจากภายใน.. อันเกิดจากการปกครองระบอบเก่าๆ.. ที่อิงขุนนาง อำมาตย์ ศักดินานิยม.. ซึ่งแสดงให้เห็นถึง.. อำนาจที่แท้จริงในยุคสมัยดังกล่าวว่า.. แท้จริงอยู่ในมือของขุนนาง อำมาตย์ พ่อค้า นายทุน ที่ผูกขาดอำนาจการปกครอง.. และเศรษฐกิจในสังคม จนยากจะกระจายประโยชน์สู่ประชาชนอย่างเสมอภาค
ภาระในการกระจายอำนาจอย่าง ยุติธรรม.. การควบคุมการใช้ระเบียบการปกครอง โดยคำนึงถึง นิติธรรม จึงเป็นหน้าที่หลักของ พระมหากษัตริย์ ที่ทรงรับผิดชอบด้วยความรักและความสำนึกในหน้าที่ของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า
การปฏิรูปการปกครอง.. เพื่อสลายอำนาจขุนนาง อำมาตย์.. ศักดินานิยม จึงเกิดขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ ๕ อย่างเป็นรูปธรรม.. เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจในการปกครอง เพื่อประโยชน์ของมหาชนอย่างแท้จริง จึงทรงวางแผนการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามประเทศตะวันตกในทุกๆ ด้าน
ดังที่ได้เห็นการปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยในเชิงการกระจายอำนาจ โดยการจัดตั้ง..
๑.สภาที่ปรึกษาบริหารราชการแผ่นดิน
๒.สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์
ซึ่งผลงานของทั้งสองสภาที่ได้ถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๕ ที่สำคัญยิ่ง คือ การออกแบบ พ.ร.บ.เลิกทาสและปฏิรูปภาษีอากรแผ่นดิน และคำถวายบังคมทูลให้ปรับเปลี่ยนการปกครอง ร.ศ.๑๐๓ (๒๔๒๗)...
จากเรื่องดังกล่าว ที่เกิดขึ้นใน ร.ศ.๑๐๓ (๒๔๒๗) บันทึกไว้ว่า พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการ จำนวน ๑๑ ท่าน ซึ่งล้วนแต่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก มีความเห็นตรงกันว่า..
“..ตราบใดไม่ปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกอย่างแท้จริง
สยามประเทศจักไม่สามารถรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกได้..”
จึงได้กราบทูลรัชกาลที่ ๕ ในความเห็นดังกล่าว เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง.. บริหารราชการแผ่นดิน โดยชี้แนวทางที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันรักษาเอกราชของชาติที่ได้ผลดีที่สุดในขณะนั้น คือ..
“..จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ...”
..และคำตอบจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ในเรื่องดังกล่าว คือ..
“ทรงยอมรับ.. และทรงเห็นด้วย.. กับการดำเนินการใดๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชาติบ้านเมือง.. ในทางที่จักเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ.. ประชาชน โดยธรรม..”
..โดยมีพระราชดำริว่า.. “แต่จะต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป..” โดยจักต้องวางรากฐานการเปลี่ยนแปลงการปกครอง.. คือ.. การปฏิรูปการปกครองก่อนสิ่งใดทั้งหมด.. โดยทรงเล็งเห็นปัญหาของการปกครองที่จะติดกับดักตนเองอยู่ที่การปกครองแบบอำนาจนิยมเดิมๆ ที่สืบกันมา.. ซึ่งหากยังมิได้ปรับปรุงการปกครอง.. การจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองตามที่นำเสนอนั้น จักเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง.. และที่สุดจะนำไปสู่ความแตกแยกรบราฆ่าฟันกันเองของคนในชาติ...
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดส่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และคณะ .. ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะเสนาบดี (คณะรัฐมนตรี) ตามแบบยุโรปที่ประเทศอังกฤษ.. ซึ่งต่อมา จึงได้มีการปฏิรูปการปกครองขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในประเทศไทย.. โดยมี การแบ่งการปรับปรุงการปกครองเป็น ๓ ส่วน ได้แก่
๑.การปรับปรุงการปกครองส่วนกลาง
๒.การปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค
๓.การปรับปรุงการปกครองส่วนท้องถิ่น
ดังที่ได้มีการเลือกตั้งโดยประชาชน.. เพื่อเลือกผู้นำชุมชนของตนเองขึ้นเป็นครั้งแรก.. เป็นการเริ่มต้นให้การเมืองมีสิทธิเลือก ผู้ใหญ่บ้าน และ กำนันของตำบล ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาให้ประชาชนมีความเข้าใจใน สิทธิและหน้าที่ ตามระบอบประชาธิปไตย โดยการอิง ธรรมาธิปไตย ที่เป็นไปอย่างเหมาะควรต่อสังคมไทย
การปูพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคำนึงถึงความพร้อมของประชาชนในทุกด้าน นับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง.. อันแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในบริบทสังคมไทยอย่างแท้จริง.. ที่แตกต่างจากกลุ่มคณะบุคคลที่อ้างอิงความรู้จากต่างประเทศ แต่ขาดความเข้าใจในความพร้อมของสังคมไทย.. และที่ไม่มีอย่างยิ่ง คือ ความรักและความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่.. จึงได้เกิดการคิดแย่งชิงอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อปัญหาที่จักเกิดขึ้นในระยะยาว.. และที่สุดแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ “ขาดความรู้ – ขาดความรัก” จึงนำไปสู่ความล้มเหลวในการจัดการปกครอง ดังมีผู้บันทึกไว้ว่า..
“นับจากการแย่งชิงอำนาจโดยไม่ชอบธรรม.. แม้จะแย่งชิงเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ แต่ที่สุด.. ก็ติดกับดักอำนาจที่ได้ไป เมื่อใช้อำนาจไม่เป็น.. อำนาจจึงให้โทษต่อผู้ใช้และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติดังเช่นทุกวันนี้” (ติดตามตอนต่อไป).
ปักธงธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .