ล้างผิด 112 ให้เป็นอำนาจ คณะกรรมการนิรโทษกรรม

หากเป็นกรณีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ถ้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แล้วไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้ายฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หรืออาจมีอยู่แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ให้กรรมการนิรโทษกรรมเป็นผู้วินิจฉัยกลั่นกรอง  เช่นกรณีคนที่ทำผิด 112

ประเด็น "การนิรโทษกรรม" กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมคดี 112 หลัง "ทักษิณ ชินวัตร" ผู้มากบารมีของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องในคดี 112

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องไปที่การทำงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เพราะบทสรุปและข้อสังเกตของ กมธ.ชุดดังกล่าว อย่างน้อย สส.เพื่อไทยก็ออกมาบอกแล้วว่า  พรรคเพื่อไทยอาจนำบทสรุปดังกล่าวไปเป็นส่วนสำคัญในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเสนอเข้าสภาฯ ต่อไป  หลังที่ประชุมสภาฯ ลงมติรับรองรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว

ซึ่งผลการประชุมของ กมธ.ล่าสุดเมื่อ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญก็เช่น นิยามคำว่า "การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง" ได้ข้อสรุปว่าหมายถึง “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”

ส่วนเรื่องการจะให้นิรโทษกรรมรวมไปถึงคดี 112 ด้วยหรือไม่ กมธ.บอกว่าจะประชุมกันอีก 2-3 ครั้ง คงจะพิจารณาหาข้อสรุปได้

“นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร” กล่าวว่า ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่ กมธ.ยังคุยกันอยู่ก็คือ เรื่องฐานความผิด จะให้มีขอบเขตแค่ไหนในการได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งนายชูศักดิ์ ประธาน กมธ. เคยบอกว่า หากมีบัญชีแนบท้ายฐานความผิดในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ก็จะดี เพราะที่ผ่านมาที่เคยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็มีแนบท้ายไว้ชัดเจนว่าให้นิรโทษกรรมคดีประเภทใดบ้าง โดยก็มีการเสนอในที่ประชุม กมธ.ว่า คดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ หรือศาล สามารถใช้ดุลยพินิจได้ เช่นหากคดีใดที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม และกำลังมีการพิจารณาคดีในชั้นศาลอยู่ ยังไม่มีการตัดสิน ทางศาลก็ใช้ดุลยพินิจได้ว่า จะให้นิรโทษกรรมไปด้วยหรือไม่ หลังมีกฎหมายออกมาบังคับใช้เช่นเดียวกับให้เป็นดุลยพินิจของอัยการเช่นกัน หากคดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอัยการ ก็ให้เป็นดุลยพินิจของอัยการได้เลย และหากคดีไหนตัดสินเสร็จแล้ว และตัวบุคคลที่ถูกตัดสินอยู่ในเรือนจำ ก็ให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวออกมา หลังกฎหมายประกาศใช้ มันก็สะดวก และอีกทางหนึ่งคือการให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรม หากใช้โมเดลนี้จะให้มีอำนาจหน้าที่อย่างไร

“นพ.เชิดชัย” บอกว่า กมธ.ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ คือบางส่วนก็เสนอให้ใช้แนวทางให้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรม บางส่วนก็บอกว่าควรให้เป็นแบบตรงไปตรงมาเลย คือหากมีการระบุฐานความผิดไว้ในบัญชีแนบท้ายของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ถ้ากฎหมายประกาศใช้ ใครโดนคดีอะไรก็ให้นิรโทษกรรมได้เลย แต่บางส่วนรวมถึงผมด้วย ก็เห็นด้วยว่าอาจใช้แนวทางแบบไฮบริด-ผสมผสานระหว่างสองแนวทางนี้เข้าด้วยกัน

...คือหากเป็นกรณีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ถ้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แล้วไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้ายฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หรืออาจมีอยู่แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ให้กรรมการนิรโทษกรรมเป็นผู้วินิจฉัยกลั่นกรอง เช่นกรณีคนที่ทำผิด 112 จะเกี่ยวพันกับการได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ เพราะบางคนเขาอาจโดนเอาผิดแจ้งข้อหาหลายฐานความผิด คือมีทั้งความผิดหลัก เช่น 112 และความผิดรอง เช่นทำผิด พ.ร.บ.การจราจร,  พ.ร.บ.ความสะอาด รายละเอียดแบบนี้กรรมาธิการต้องมาคุยกันเป็นเรื่องๆ ไปให้ชัดเจน

...นอกจากนี้คณะกรรมาธิการได้มีการคุยกันว่า จะมีการเสนอไว้ในรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการที่จะเสนอต่อสภาฯ และส่งต่อไปยังรัฐบาลว่า บางเรื่องฝ่ายบริหารคือรัฐบาลสามารถไปดำเนินการก่อนได้ ในช่วงที่ยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายนิรโทษกรรม เช่นเรื่องการช่วยเหลือให้ประกันตัว (ผู้ถูกดำเนินคดี)

ย้ำเพื่อไทยต้องเสนอ ร่าง กม.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ

"นพ.เชิดชัย-สส.เพื่อไทย” ระบุว่า เมื่อคณะกรรมาธิการศึกษาการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จัดทำรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเสนอต่อสภาฯ แล้ว และเมื่อสภาฯ รับทราบรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว  จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ สส.หรือรัฐบาล ในการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาต่อไป หรือพรรคการเมืองที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ไปแล้ว จะนำรายงานผลการศึกษาดังกล่าวของคณะกรรมาธิการไปปรับแก้เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เสนอต่อสภาไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับผลการศึกษาดังกล่าวก็ได้

...สำหรับผมเห็นด้วยกับการที่จะต้องมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยทำทั้งในนามพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลจะเสนอด้วยก็ได้ แต่ในฐานะความเป็นพรรคการเมือง เพื่อไทยก็ควรเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ที่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการจะให้นิรโทษกรรมครอบคลุมถึงการทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็อาจต้องเขียนให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมมาวินิจฉัยกลั่นกรอง

เมื่อใกล้ถึงช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ ตอนที่มีการประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทย ผมก็จะเสนอต่อที่ประชุมให้พรรคเพื่อไทยต้องรีบยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรื่องนี้ต้องรีบทำ ต้องรีบร่าง แต่ต่อจากนี้จะเสนอความเห็นรวมถึงจะเสนอผ่านนายชูศักดิ์ ที่เป็นประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยด้วย ว่าขอให้รีบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  แล้วก็จะได้ให้ สส.เพื่อไทยมาร่วมกันลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย แล้วส่งเข้าสภาฯ ในนามพรรคเพื่อไทย เราก็เสนอในนามของเรา

แต่ผมก็เกรงเหมือนกัน เพราะพรรคเพื่อไทยเวลาจะออกกฎหมายแบบนี้ทีไร ดังทุกที ก็จะมาบอกว่าทำเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร อีกแล้ว เพราะตอนนี้นายทักษิณก็โดนคดี 112 ไปแล้ว แต่ยืนยันว่าจริงๆ ไม่ใช่ เราเห็นแก่เด็ก และพวกรุ่นใหม่ที่ติดอยู่ในคุก บางคนตายก็มี เราต้องรีบช่วยเยาวชนของเรา เพื่อให้ทัศนคติที่ยังเห็นไม่ตรงกันไม่กระจายออกไป จนกลายเป็นความขัดแย้ง

"และปีนี้เป็นปีมหามงคลไม่ใช่หรือ 72 พรรษา ก็เขียนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบกว้างๆ ไว้ และมีผลกับคนที่เกี่ยวข้อง บางอย่างอาจมีเงื่อนไขเขียนไว้บ้าง ก็จะได้เป็นประโยชน์กับสถาบันด้วย”

...ไม่อย่างนั้นก็ตีกันไปตีกันมา มาบอกทำเพื่อทักษิณ ทำเพื่อพวกพ้อง พวกนี้ไม่จงรักภักดี ส่วนอีกพวก ก็ว่าโหนเจ้า ว่ากันไปว่ากันมา ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นในฐานะเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ก็ต้องเกิดในช่วงปีมหามงคล ทุกคนจะได้ลดทิฐิ พวกโหนเจ้าอ้างเจ้าจะได้พูดไม่ออก กับอีกพวกหนึ่งคือพวกจะล้มเจ้า ก็จะได้พูดไม่ออกเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นความคิดของผม ที่เอา reality ในประเทศมาว่ากัน จะทำเป็นไม่สนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดไม่ได้  ต้องเอาความจริงมาคุยกัน เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สามารถแก้ไขกันได้

“นพ.เชิดชัย กรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ” กล่าวต่อไปว่า เรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อนรวมถึงมาตรา 116 ด้วย ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ที่บอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคงก็ต้องมาคุยกัน เพราะเวทีสภาฯ เป็นเวทีที่มาพูดคุยกัน โดยหากคนทำผิดไปแล้ว มีการตัดสินไปแล้ว ก็ควรให้อภัย นิรโทษกรรมว่ากันไป เพียงแต่อาจต้องเขียนเงื่อนไขไว้ในกฎหมายเช่น หากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว ออกไปแล้วอย่ากระทำผิดซ้ำอีก โดยอาจมีการระบุช่วงเวลาไว้กำกับด้วย เช่นหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้วในช่วงเวลากี่ปีห้ามกระทำผิดซ้ำอีก อย่างคนที่ไปยึดสนามบิน ไปยึดสถานที่ราชการ เมื่อได้รับการนิรโทษกรรม ก็ต้องย้ำกับคนที่ได้รับการนิรโทษกรรมว่าวันหลังอย่าไปทำอีก แต่กรรมาธิการฯ บางคนก็เสนอว่าไม่ควรต้องระบุเวลาเอาไว้  แต่บางส่วนก็เห็นว่าการระบุช่วงเวลาการห้ามกระทำผิดซ้ำอีก-ก็ดี เพราะหากต่อไปความคิดของคนที่ได้รับการนิรโทษกรรมเปลี่ยนแปลงไป เขาอาจกลับมาแสดงออกอีก

-หากจะให้นิรโทษกรรมคดี 112 เช่นให้นิรโทษกรรมกับกลุ่มเยาวชน อดีตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ หรือใครก็ตามที่ซึ่งถูกดำเนินคดี 112 จะเป็นอย่างไร?

 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ต้องมาคุยกันว่าจะเขียนอย่างไร แต่หากว่าคดียังไม่ได้ตัดสินว่าผิดก็ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แบบนี้ก็ตรงไปตรงมาเลยว่า คดี 112 ที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ก็ให้ยกเลย ประมาณนี้ก็ได้ หรือระหว่างดำเนินการทางคดี แล้วคดีที่โดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถูกกล่าวหา แบบนี้ก็ให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมาช่วยกลั่นกรองวินิจฉัยก่อน ก็จะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา ไม่ใช่เถียงกันไปเถียงกันมา โดยให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะบางคนเขาแค่ถูกกล่าวหาเฉยๆ บางคนอาจไม่เชื่อ ก็ให้เอาเรื่องส่งให้กรรมการนิรโทษกรรมมาพิจารณา เพราะบางคน ก็โดนทั้ง 112, 113, 116 เรียกว่าซัดเข้าไปเต็มเปาเลย ก็ให้ส่งไปให้กรรมการนิรโทษกรรมพิจารณาดีกว่า โดยโครงสร้างกรรมการก็ให้มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายสภาฯ ก็จะได้แม่นยำและเป็นธรรมมากขึ้น

-ไม่เกรงหรือว่าหาก สส.พรรคเพื่อไทยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้เข้าสภาฯ จะถูกมองว่าเพื่อช่วยนายทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิด?

ก็เกรงอยู่ เพราะพอขยับก็จะมาหาว่าเพื่อไทยจะเอาแล้ว แต่ต้องบอกว่าเราต้องการฟังและเห็นรายงานผลการศึกษาเรื่องการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ กมธ.ทำเสร็จออกมาก่อน พอผลการศึกษาออกมาเราก็ทำตามนั้น น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เพราะต้องนำรายงาน ข้อสังเกตเสนอที่ประชุมสภาฯ ต้องผ่านสภาฯ

แนวทางก็คือ หลัง กมธ.ศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จัดทำรายงานเสร็จและเสนอผ่านเข้าไปในสภาฯ แล้ว จากนั้นเราก็ค่อยเอาสิ่งที่ กมธ.เสนอมาพิจารณา โดยก็เขียนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้มีหลักการคล้ายกับผลการศึกษาของ กมธ.เพื่อลดความขัดแย้ง เพราะถือว่ารายงานดังกล่าวของ กมธ.ผ่านสภาฯ มาแล้ว ที่เป็นแบบนี้ เพราะเพื่อไทยไม่อยากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เริ่ม เราเริ่มไม่ได้เพราะเริ่มแล้วตายเลย คนจะบอกเอาอีกแล้ว เหมาเข่งยังไม่เข็ดอีกหรือ แต่คราวนี้เราจะอิงตามรายงานของ กมธ.

-การแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง  ยังจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมใช่หรือไม่?

จำเป็น ไม่อย่างนั้นมันก็คาราคาซัง แล้วเด็กที่ถูกดำเนินคดี 112 ก็มีเยอะ เขาจะได้เป็นไท จะได้เรียนหนังสือและดำเนินชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น เช่นไปเรียนต่อ ไปหางานทำ ไม่ใช่มาให้ติดอยู่ในคุก แบบนี้มันไม่ได้ ต้องมาเวียนวนอยู่แบบนี้ ก็สงสารเห็นใจเด็ก มันต้องก้าวข้าม  ถ้าไม่ก้าวข้ามไม่ได้ เยาวชนคืออนาคตของชาติ ต้องก้าวข้ามไป

-ควรมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เสร็จภายในไม่เกินปีนี้?

ก็ควรให้แล้วเสร็จ เพราะเป็นปีมหามงคล ก็ควรเสร็จในปีนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เด็จพี่' ได้ทีจวกเหล่านักร้อง ทำให้เกิดความปั่นป่วน ขู่เมื่อร้องผิดคีย์ต้องโดนลงโทษ

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้าง

2 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย รับคำร้อง 'ทักษิณ' สั่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ฮุนเซน น่าจะเกิดผลใช้สิทธิล้มล้างปกครองฯ

จากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูก

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2

จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

'จตุพร' ตอกย้ำศาลรธน.รับคำร้องคดีล้มล้าง เพื่อหยุดอหังการอำนาจ เริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง

ลุ้นศาล รธน.พิจารณาคำร้อง 'จตุพร' เชื่อรับไว้วินิจฉัยเพื่อหยุดอหังการอำนาจ ลั่นจะเริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง เปิดความหวังประเทศก้าวเดินสู่ผลประโยชน์ชาติ