ESG และ NET ZERO ในบริบทของกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย

   ในช่วงปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติด้านสาธารณสุขของโรคระบาดโควิด 19  ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผู้คนจำนวนมากได้กลับสู่ชีวิตเป็นปรกติแม้จะมีส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตหน้าที่การงานและมีอีกจำนวนหนึ่งที่เมื่อกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัดช่วงการระบาดแล้วก็ไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกต่อไป

           โดยในส่วนของภาคธุรกิจนั้น ยังมีความท้าทายอยู่อีกมากทั้งในบริษัทฯขนาดใหญ่ลงไปถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญด้านเศรษฐกิจฐานรากและเป็นกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางขาดเงินทุนหมุนเวียน ขาดนวัตกรรม เผชิญความเสี่ยงต่างๆทั้งในด้านของทรัพยากร ความสามารถทางการแข่งขันตลอดจนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆจนหลายธุรกิจอาจต้องเตรียมปิดตัวลง

           ในภาคประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เรื่องของหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ สังคมผู้สูงอายุ เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา คุณแม่วัยใส ยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและอีกหลายๆเรื่องที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้ไม่สามารถจะเข้าใจเทรนด์ต่างๆในสังคมโลกได้ โดยเฉพาะในคำทับศัพท์สองคำคือ ESG และ Net Zero ที่ดูเหมือนในภาคธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางต่างชูนโยบายทั้งสองเรื่องเป็นพันธกิจด้านความยั่งยืนของตนอยู่แทบทุกวันในสื่อต่างๆ ด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจหรือไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ตาม

           บทความนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ธุรกิจใหญ่ๆเองก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในคำทั้งสองคำนี้ ดังนี้

           ESGย่อมาจาก Environment (สิ่งแวดล้อม) , Social (สังคม), และ Governance (การกำกับดูแล) ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดจากทางตะวันตกของกิจการที่ผู้ลงทุนจะให้ความสนใจเลือกลงทุนภายใต้หลักของ Triple Bottom Line คือ Profits (กำไร) People (คน) และ Planet (โลก) หมายถึงการประกอบธุรกิจจะต้องเลิกคำนึงถึงกำไรแต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องให้ความใส่ใจและจัดทำรายงานซึ่งถูกเรียกว่ารายงานความยั่งยืนที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน  (Stakeholders) โดยเฉพาะพนักงาน ลูกค้าและชุมชนรอบข้างตลอดจนการปฏิบัติอย่างถูกกฎระเบียบ            มีธรรมาภิบาล โดย ESG และ CSR ต่างก็ถูกมองว่าให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาความยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก OECD และองค์การต่างๆทั่วโลกให้ความสนใจอย่างกว้างขวางแต่ถ้าถามกลับว่าความยั่งยืนที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เชื่อว่าประชาชนและนักวิชาการก็อาจจะตอบหรือให้ความเห็นที่แตกต่างกันและยิ่งถ้าเอา ESG ไปอธิบายรวมกับความยั่งยืน (Sustainability) ในภาพที่ใหญ่กว่าด้วยแล้วก็ยิ่งจะเพิ่มความสับสนมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคประชาชนและกิจการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เพราะลำพังการหารายได้และมีกำไรบ้างก็ยากเย็นแสนเข็ญมากพอแล้ว

           อีกคำหนึ่งคือ Net Zero คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ที่รัฐบาลไปลงนามพันธสัญญาไว้ว่าจะทำให้สำเร็จได้ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) และจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ก่อนเป็นอันดับแรกให้ได้ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) จึงเห็นว่ามีความเข้าใจผิดและสับสนระหว่าง Net Zero และ Carbon Neutrality อีกด้วยเพราะ Net Zero นั้นไม่สามารถจะใช้วิธีหักกลบด้วยคาร์บอนเครดิตได้เหมือนกับ Carbon Neutrality และยังต้องเป็นการจัดการก๊าซเรือนกระจกทุกประเภทไม่เฉพาะคาร์บอนเพียงประเภทเดียวแต่รวมถึงก๊าซมีเทน (Methane) จากการเลี้ยงสัตว์ที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงประมาณ 80 เท่าและก๊าซอื่นๆอีกด้วย

           ดังนั้น แม้แต่กลุ่มทุนระดับใหญ่ๆยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันขนานใหญ่เรื่อง ESG และ Net Zero แล้วนับประสาอะไรกับกลุ่มเปราะบางอย่างเอสเอ็มอีตลอดจนประชาชนคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำจะเข้าใจและปฏิบัติได้ เรื่องนี้รัฐบาลและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกรมน้องใหม่อย่าง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม  (สืบค้นรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mnre.go.th ) คงต้องช่วยๆกันสร้างการรับรู้ในสังคมอย่างถูกต้องและร่วมด้วยช่วยกันทำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบจึงจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
เทวัญ อุทัยวัฒน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

                                                                   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลตั้งเป้าสร้างรายได้ถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยปี 67 ทะลุ 7,500 ล้านบาท

“เสริมศักดิ์ ตั้งเป้ารายได้ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย กว่า 7,500 ล้านบาท ปลื้ม White Lotus S3 ชมไทยสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์โลก”

สธ.เตรียม 6 มาตรการรับอุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง

‘เกณิกา’เผย กระทรวงสาธารณสุข วาง 6 มาตรการ เตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง