Surviving the Great Disruption

ช่วงต่อไปของเศรษฐกิจ คงต้องเรียกว่า The Great Disruption

ที่ต้องเรียกเช่นนี้ก็เพราะ ความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า 

เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เทียบได้กับการล่องแก่ง

ช่วงต่อไป 

คงเป็นเหมือนกับจากน้ำสงบ ไหลเอื่อยๆ อยู่กันได้สบายๆ

เข้าสู่ช่วงแก่ง ที่เต็มไปด้วยโขดหิน น้ำเชี่ยว 

ที่หากเราไม่ระวัง เรือเล็กของเรา ก็อาจจะพลิกคว่ำได้

ซึ่งคงต้องใช้เวลาหลายสิบปี 

กว่าที่เราจะกลับไปสู่ช่วงสุขสงบ

ที่ทุกอย่างกลับนิ่งขึ้น ไหลเอื่อยๆ อีกครั้ง

Disruption ด้านแรก คือ เทคโนโลยี

ที่เวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา

อัตราการเร่งของการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

แขนกล หุ่นยนต์ ทำให้ธุรกิจต้องคิดว่า

ต่อไปคงต้องใช้ระบบอัตโนมัติในโรงงานเรา

ไม่มีทางหลีกเลี่ยง

แต่ก็ดูเหมือนเรื่อง Automation ยังพอมีเวลา ที่จะรอให้ต้นทุนถูกลง

อย่างไรก็ตาม AI ที่เปิดตัวกันออกมา

ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ChatGPT และผองเพื่อน 

โดยเฉพาะ Version ล่าสุดที่ออกมาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

รวมถึง สิ่งที่เปิดตัวมาแล้ว เช่น SORA 

ที่สร้างวิดิโอ สร้างคลิปที่ละเอียดเนียนมาก ด้วยคำไม่กี่คำ

ทำให้ธุรกิจต้องกลับมาคิดใหม่

เพราะกระทั่งเวลาที่เคยรอได้ 

อาจจะไม่มีเวลาให้รอแล้ว 

ต้องปรับแต่วันนี้

ถ้าเราไม่เอามาใช้ แต่คู่แข่งใช้ 

ธุรกิจของเราคงอยู่ในฐานะลำบาก

ยิ่งไปกว่านั้น อีก 2-3 เดือนให้หลัง AI ก็จะดียิ่งกว่านี้

นี่แค่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เท่านั้น

AI ที่เราใช้ตอนนี้ ยังแค่ประถมต้น 

ต่อไป AI จะถูกพัฒนาให้เก่งขึ้น

ถูกนำไปประยุกต์กับสิ่งต่างๆ 

ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มี AI Inside เข้าสู่ยุคใหม่

เปิดพื้นที่ใหม่ให้กับโลกธุรกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ความแตกต่างระหว่างคนที่รับเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ กับคนเลือกที่จะรอ 

ก็จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนตามเขาไม่ทัน

เรื่องนี้ พูดง่ายๆ “เริ่มก่อน ได้เปรียบ”

Disruption ด้านที่สอง คือ เอเชีย

เอเชียกำลังขึ้น

และจะขึ้นด้วยอัตราเร่ง

นอกจากจีนที่เป็นพลังซื้อที่มหาศาลแล้ว

อินเดียกำลังตื่น กำลังก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ต่อไป จะกลายเป็นเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก

กระทั่ง อาเซียนที่เคยเงียบๆ ก็กำลังมา พร้อมเป็นอันดับ 4

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลื่นลงทุนลูกใหม่ FDI ที่ออกจากจีน

หลั่งไหลมาเข้าสู่อาเซียน

จะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไป อย่างผิดหูผิดตาใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อโรงงานต่างๆ เหล่านี้ สร้างเสร็จ

นำไปสู่การลงทุนใน Regional Supply Chain รอบใหม่

และการลงทุนใน Infrastructure เพื่อไม่ให้มีคอขวด

รายได้ของคนในอาเซียน จะก้าวขึ้นอีกระดับ 

หมายความว่า ต่อไป TOP 4 ของโลกจะมี 3 อันดับที่อยู่ที่เอเชีย

และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายสิบปี 

เนื่องจากแรงงานในเอเชียโดยรวมยังเด็ก ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการโต

คนที่เคยทำธุรกิจกับ G3 

คุ้นเคยกับตลาดประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ

ต่อไป คงต้องมาบุกตลาดเกิดใหม่ 

จีน อินเดีย อาเซียน

หาไม่แล้ว คงต้องตกขบวนครั้งใหญ่

นำไปสู่ความเสียเปรียบอย่างยิ่งทางธุรกิจ

ทำให้เรื่องนี้ก็รอไม่ได้เช่นกัน

ต้องมี “กลยุทธ์เปิดตลาดเอเชีย” ตั้งแต่วันนี้

ปรับโครงสร้างธุรกิจองค์กร

ให้น้ำหนักกับเอเชีย ยกให้เป็นกลยุทธ์หลักของเรา

Disruption ด้านที่สาม คือ ภูมิอากาศ

ที่เคยร้อน ตอนนี้ ก็ร้อนมากมาก

จน UN บอกว่า “โลกเดือด”

ส่งผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ

โดยเฉพาะด้านการเกษตร

แต่ยิ่งไปกว่านั้น

ทุกประเทศเริ่มยอมรับว่า

ที่เคยคิดว่า “คุมได้ เอาอยู่” เรื่อง Climate Change

ตอนนี้ เริ่มคิดว่า “คงยาก”

Carbon ที่ปล่อยออกมารวมกัน น่าจะเกินกว่าที่เคยประมาณไว้ 

จะส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มทะลุ 1.5 องศาที่เคยตั้งกันเอาไว้

ยิ่งไปกว่านั้น กว่าระดับ Carbon ที่เกินไป จะลดลงมาได้ ต้องใช้เวลา 

หมายความว่า เราต้องเผชิญกับผลพวงจาก Climate Change

ต้องอยู่กับอุณหภูมิที่ร้อน และความผันผวนทางภูมิอากาศ ไปหลายสิบปีเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความพยายามของประเทศต่างๆ ที่จะต่อสู้กับการปล่อย Carbon ก็จะเข้มข้นขึ้น

ปีที่แล้ว สหภาพยุโรปประกาศ CBAM 

มาตรการที่จะเพิ่มค่าธรรมเนียมสำหรับสินค้านำเข้าที่ปล่อย Carbon ทำลายสิ่งแวดล้อม

ลงโทษธุรกิจที่ไม่ยอมปรับตัว

ถ้าไม่เปลี่ยน 2 ปีข้างหน้า ก็ไม่ต้องส่งสินค้ามา

ตอนนี้ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี ตุรกี ก็กำลังคิดเรื่องนี้ 

หมายความว่า เรื่องนี้ก็รอไม่ได้เช่นกัน

ธุรกิจต้องให้ความสำคัญเรื่อง Carbon ที่เราปล่อยออกมา

ลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะควบคุม

เพื่อให้เข้าเกณฑ์

ถ้าไม่เตรียมตัว ไม่ปรับ เมินเฉย 

คิดว่า เขาไม่เอาจริง

รอไปปรับ 2 ปีให้หลัง

สุดท้าย ก็จะสูญเสียตลาดไปอย่างไม่รู้ตัว

Disruption ด้านที่สี่ คือ สงคราม

ณ จุดนี้ คงต้องยอมรับว่า สงครามกำลังคุกรุ่น

และคงต้องคิดเรื่องนี้ อย่างจริงจัง

เตรียมการว่า “จะทำอย่างไร จะเลือกทางไหน”

เพราะจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่ทุกอย่างดูสงบ

มีปัญหาเล็กๆ ตรงนั้น ตรงนี้ เป็นหย่อมๆ

ขณะนี้ สงครามกำลังผงกหัวขึ้นมา

ในยุโรป

ในตะวันออกกลาง

และกำลังคุขึ้น ในเอเชีย

หลายประเทศ กำลังเตรียมการสะสมยุทโธปกรณ์ กำลังพล

เผื่อไว้สำหรับกรณีที่ไม่อยากให้เกิด

และยิ่งเวลาผ่านไป 

การเผชิญหน้า

การแบ่งขั้ว

การจับมือรวมกลุ่ม ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น

หมายความว่า

ความขัดแย้งระหว่างประเทศ กำลังเข้าสู่ช่วงใหม่

ที่เดิม พูดคุยกันฉันมิตร 

ตอนนี้ ภาษากำลังเปลี่ยนไป

กลายเป็นการหยั่งเชิง ประลองพลัง 

คนตัวเล็กๆ อย่างไทย 

จึงต้องเตรียมการ ว่าเราจะอยู่อย่างไรในโลกยุคเผชิญหน้า

ที่ช้างสารถามมาว่า “จะอยู่ข้างฉันหรือข้างเขา” 

ทำให้ตอนนี้เกิดการแบ่งค่ายทางเทคโนโลยี การค้า เงินตรา

กลายเป็นค่ายอเมริกา และ ค่ายจีน

โลกยุค Globalization กลายเป็นโลกยุค Fragmentation

เรื่องนี้ คงอยู่กับเราไปนานพอควร

และมีโอกาสลุกลาม บานปลาย

ทั้งหมดประกอบรวมกัน 

กลายเป็นยุค The Great Disruption ที่รอเราอยู่ ที่ธุรกิจต้องมองให้ทะลุ

คำโบราณบอกว่า “ทุกวิกฤต มีโอกาส”

รอบนี้ก็เช่นกัน

ท่ามกลาง The Great Disruption มีโอกาสมากมายเต็มไปหมด

เป็นโค้งสำคัญทางธุรกิจ และเศรษฐกิจ

เราต้องมองให้ออกว่า 

“โอกาสอยู่ตรงไหน” 

“จะหยิบฉวยโอกาสมาเป็นของเราได้อย่างไร”

ถ้าเราวางตัวถูก เลือกทางถูก

ทั้งในระดับธุรกิจ ระดับประเทศ

อนาคตที่สดใสก็จะรอเราอยู่

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ 


คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ

ดร กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ศุภมาส” หารือ “แอนดรูว์ อึ้ง” ผู้ทรงอิทธิพลด้าน AI ระดับโลก ผนึกความร่วมมือนำ AI มาประยุกต์ใช้ในระบบอุดมศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ นายแอนดรูว์ อึ้ง (Mr.Andrew Ng)

กรอบการพัฒนา AI Roadmap ขององค์กร

ในยุคที่ AI เป็นประเด็นสุดร้อนแรงในทุกวงการ องค์กรต้องการได้ชื่อว่าได้ นำ AI มาใช้งานแล้ว  เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย และ มีประสิทธิภาพ มีความพยายามส่งคนไปอบรมใช้งาน Chatbot เพื่อช่วยทำงานด้านการตลาด การใช้วาดรูป วาดกราฟ หรือ ช่วยจัดทำเอกสารวิเคราะห์รายงานต่าง ๆ