กระบวนการต่างๆ ในการพิจารณาคดีของศาลรธน. คงใช้เวลาไม่น่าจะเกินสามเดือน เพราะโดยตัวเรื่องตามคำร้อง ดูแล้วไม่น่าจะใช้เวลานาน และเมื่อพิจารณาจากการที่ศาลรธน.ไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ฯ แปลว่า น่าจะหมายถึงศาลรธน.อาจมองว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องไม่นาน เพราะถ้าหากคิดว่าจะใช้เวลานาน ก็อาจให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่ไม่ได้มีคำสั่งให้หยุด ผมคิดว่าคำร้องคดีนี้ การไต่สวนคดีอาจเสร็จเร็ว
หลังจากนี้ต้องติดตาม กระบวนการไต่สวนพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องที่สมาชิกวุฒิสภา 40 คน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากกรณีนาย เศรษฐา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยกระบวนการไต่สวนคำร้องของศาลรธน.ต่อจากนี้จะเดินต่อไปอย่างไร มีการอ่านเส้นทางคดีจาก”ดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 สว.”ที่ยื่นคำร้องดังกล่าว ที่เชื่อว่ากระบวนการไต่สวนวินิจฉัยคำร้องคดีดังกล่าวน่าจะใช้เวลาไม่นาน ทางตุลาการศาลรธน.น่าจะนัดลงมติอ่านคำวินิจฉัยได้ ที่คาดว่าคงใช้เวลาไม่เกินสามเดือนหลังจากรับคำร้องไปเมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา
...กระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีของศาลรธน.จะมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้คือ พรบ.ประกอบรัฐธรรมมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรธน.พ.ศ. 2561 โดยเมื่อมีการรับคำร้องและกำหนดประเด็นในการพิจารณาแล้ว ต่อไป ก็จะมีการกำหนดแนวทางแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล เพื่อให้มีความครบถ้วน จากนั้นจะมีการพิจารณาวินิจฉัยคดีต่อไป
...ศาลรธน.การพิจารณาคดีใช้”ระบบไต่สวน” คือองค์คณะตุลการศาลรธน.จะทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง ที่ก็จะพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวที่รับไว้ มีข้อกล่าวหาอะไรบ้าง และควรต้องใช้พยานหลักฐานอะไรบ้าง รวมถึงการวางหลักการให้ความเป็นธรรมในการไต่สวนคดีอย่างไร โดยตุลาการศาลรธน.สามารถเรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พยานหลักฐานที่เป็นเอกสารเกี่ยวกับการกระทำในคดีของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด รวมถึงพิจารณาว่าจะต้องมีการเรียกพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำต่อศาลรธน.หรือไม่ เพื่อให้ข้อเท็จจริงครบถ้วน
“ดิเรกฤทธิ์”ประเมินว่า ทางศาลรธน.อาจจะมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดีในห้องพิจารณาคดีของศาลรธน.อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อให้คู่กรณีได้แถลงปิดคดีต่อศาลรธน.เพื่อให้สรุปข้อเท็จจริง-ข้อกล่าวหา-ข้อกฎหมายในการสู้คดีทั้งหมด ทางคู่กรณีเช่นผู้ถูกร้องได้ส่งพยานหลักฐานอะไรต่อศาลรธน.แล้วบ้างเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง และศาลรธน.ก็อาจจะถามคู่กรณีว่าจะมีข้อมูลอะไรส่งให้ศาลรธน.เพิ่มเติมหรือไม่ หรือจะถามว่าจะคัดค้านการให้ถ้อยคำของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร ก็เป็นกระบวนการไต่สวนที่จะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
“เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนเพียงพอที่ศาลรธน.จะนัดลงมติวินิจฉัยคดีได้ ศาลรธน.ก็จะนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยคดีต่อไป”
...คำร้องทางศาลรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า น่าจะใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องไม่นาน เพราะคำร้องที่กลุ่ม 40 สว.ส่งให้ศาลรธน.ที่เป็นมูลเหตุของการกล่าวหา เราส่งให้ศาลรธน.หมดแล้ว โดยคำร้องมีความชัดเจนในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เมื่อมีความชัดเจนในคำร้อง ก็ทำให้สามารถกำหนดประเด็นที่มีความชัดเจนและครอบคลุม เพื่อให้ผู้ถูกร้อง(นายกรัฐมนตรี)ชี้แจงกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในคราวเดียว โดยจากที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้ถูกร้องส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามายังศาลรธน.ภายใน 15 วัน หากเขาไม่ขอเลื่อน ก็สามารถตอบกลับไปที่ศาลรธน.ได้เลย แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้ถูกร้องจะขอขยายในการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก็มองว่าภายในช่วง 15-30 วัน กระบวนการในการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรีก็น่าจะเสร็จสิ้นลงได้ และทางศาลรธน.หากต้องการข้อมูลจากบุคคลใดหรือตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคำร้องมาให้ข้อมูล ก็สามารถเรียกมาไต่สวนได้ จากนั้นพอได้ข้อมูลทั้งหมด ก็คาดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะนัดประชุมเพื่อสรุปเรื่องทั้งหมดว่าได้ข้อมูลจากทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องครบถ้วนเพียงพอแล้วหรือไม่ หากเห็นว่าเพียงพอแล้ว ก็คงจะมีการนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อลงมติต่อไป
"คิดว่ากระบวนการต่างๆในการพิจารณาคดีของศาลรธน. คงใช้เวลาไม่น่าจะเกินสามเดือน เพราะโดยตัวเรื่องตามคำร้อง ดูแล้วไม่น่าจะใช้เวลานาน”
...อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ฯ แปลว่า น่าจะหมายถึงศาลรธน.อาจมองว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องไม่นาน เพราะถ้าหากคิดว่าจะใช้เวลานาน ก็อาจให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่ไม่ได้มีคำสั่งให้หยุด ผมก็คิดว่าคำร้องนี้การไต่สวนคดีก็อาจเสร็จเร็ว เพราะไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ อาจจะเสียประโยชน์ เพราะต้องมารับรองความชอบ ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าหากสุดท้าย ผลคำวินิจฉัยออกมาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ ก็เลยให้ทำงานต่อไป ทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ทำด้วยความสุจริต จึงไม่ได้มีการให้ผู้ถูกร้อง หยุดพักปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯ ไว้ชั่วคราว ดังนั้นดูจากเนื้อหาในคำร้องที่ยื่นไป และข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ได้เยอะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีไม่มาก น่าจะใช้เวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่นาน ก็คงทำให้ใช้เวลาในการจะนัดตัดสินลงมติหลังจากนี้อีกไม่นาน
-มองว่าผลการวินิจฉัยคำร้องคดีดังกล่าว จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต สำหรับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ในการจะเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หลังจากนี้อย่างไร โดยเฉพาะการพิจารณาในเรื่องหลักความซื่อสัตย์สุจริตและมาตราฐานจริยธรรม?
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่สำคัญในภาพใหญ่ก็คือ จะเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้ประเทศของเรา มีการปกครองที่เป็นนิติรัฐ ที่ต้องเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง ทุกคนอยู่ใต้กฎหมาย ต้องเคารพกฎหมายในการปกครองประเทศ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจขึ้นมาตามกฎหมาย จะต้องเคร่งครัดในเรื่องเหล่านี้
โดยเฉพาะองค์อำนาจที่สำคัญสามอำนาจ (ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ) ที่ต้องมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ ในเรื่องความจงรักภักดี การปกป้องสถาบันฯ การปกป้องรัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการแต่งตั้งรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่จะเป็นบรรทัดฐานต่อผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สมาชิกรัฐสภา ทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้อย่างไร และใครทำหน้าที่อะไร ก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน อย่างการยื่นคำร้องดังกล่าว ก็เป็นกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล กลไกการวินิจฉัยความถูกต้องในการทำหน้าที่ของทุกฝ่าย
ผลคดีที่จะออกมา นอกจากจะชี้ว่าต่อไป ทำแบบไหนที่ถือว่าผิด หรือทำแบบไหนที่ถือว่าถูก ก็จะมีบรรทัดฐานต่อไป โดยเฉพาะในอนาคต หากเกิดกรณีที่ใกล้เคียงกันกับคำร้องในครั้งนี้ ก็สามารถใช้พิจารณาดูได้
แต่ว่าหลักที่สำคัญก็คือ สมาชิกรัฐสภา ถ้าต่อไปเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปล่อยไว้จะทำให้ประเทศไม่เป็นนิติรัฐ ก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องตระหนักและทำ และในส่วนของคณะรัฐมนตรี ที่เป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศ ก็จะต้องระมัดระวังในการที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ แม้แต่เรื่องการตั้งต้นเลย คือการแต่งตั้งคนไปเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์และยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง และทำตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด คือบทเรียนที่จะได้กับทุกคนในประเทศ โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในหน่วยงานของรัฐ คิดว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างมาก
-เนื่องจากคำร้องคดีนี้มีความสำคัญ คิดว่าจะมีการสร้างกระแสกดดันการวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรธน.ก่อนการตัดสินคดีหรือไม่ โดยเฉพาะการสร้างกระแสกดดันผ่านโซเชียลมีเดีย?
คิดว่าคงจะมีกระแสกดดัน รวมถึงมีประเด็นการวิเคราะห์ต่างๆ ตามมา
ยิ่งคำร้องคดีสำคัญ ๆที่มีผลทางการเมือง ที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่า มีความเคลื่อนไหวของฝายต่างๆ เพราะพอเป็นคดีที่มีผลทางการเมือง ก็จะไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ที่มีฐานประชาชน ฐานผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีสื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่คนสามารถใช้สื่อเหล่านี้ ในการสนับสนุนแนวคิด เพื่อผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดกระแสและความเชื่อว่า ฝ่ายไหนถูกหรือผิด ตรงนี้ก็คิดว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน และก็จะทำให้เป็นกระแสกดดันไปยังองค์กรศาลที่ใช้อำนาจด้วยเหมือนกัน
ดูแล้วคงเกิดแน่ๆ เรื่องการสร้างกระแสกดดัน อย่างไรก็ตาม เราก็เชื่อมั่นในสถาบัน องค์กรหลักของประเทศ อย่างองค์กรตุลาการ ที่ใช้อำนาจตุลาการในการตัดสินคดี ซึ่งเชื่อว่า คงไม่เกิดความหวั่นไหวใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระแสกดดันแบบนามธรรมผ่านจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์
เพราะขนาดที่ผ่านมา มีการคุกคามทางกายภาพ มีการไปล้อมศาล ไปปิดศาล ไปเขียนป้ายในลักษณะข่มขู่คุกคามชีวิต-ร่างกายและทรัพย์สิน แต่ก็จะพบว่า ไม่ได้มีความหวั่นไหวใดๆ จากบุคคลที่ทำหน้าที่ใช้อำนาจตุลาการในองค์กรสูงสุดที่ทำหน้าที่วินิจฉัยรัฐธรรมนูญ(ศาลรัฐธรรมนูญ) ก็คิดว่าคงมีการสร้างกระแสขึ้นมา แต่คงไม่สร้างความกดดันจนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ทำหน้าที่โดยอิสระ หรือเบี่ยงเบนความถูกต้องไปได้
ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ร้องในคำร้องคดีดังกล่าว ก็พอใจและคิดว่าเป็นความสำเร็จ และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่กลุ่ม 40 สว.ได้ทำหน้าที่อย่างชัดเจน เพราะเรามีหน้าที่ในการทำให้ประเทศของเรา เป็นประเทศนิติรัฐ ปกครองด้วยกฎหมาย โดยเราได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้ามีการทำอะไรที่จะไม่เป็นนิติรัฐ หรือเป็นการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เราก็ควรใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ ช่วยกันพิสูจน์ ช่วยกันทำให้ปัญหานั้นเป็นที่ยุติ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ขณะเดียวกัน ก็ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา คือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และที่สำคัญ คำวินิจฉัยคดีดังกล่าว จะเป็นบรรทัดฐานในการปกครองบ้านเมืองที่ดีต่อไป
"ดิเรกฤทธิ์-สมาชิกวุฒิสภา"ย้ำว่าการทำงานของสว.ชุดปัจจุบันที่ผ่านมาห้าปี ก่อนที่ตอนนี้จะอยู่ระหว่างการรักษาการสว.ว่า หากวิเคราะห์บทบาทของสว. ชุดปัจจุบันในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จะพบว่า หัวใจของการทำหน้าที่ของการทำหน้าที่สว.ก็คือ การเป็นผู้ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นกลาง ที่จะถ่วงดุลส.ส.และถ่วงดุลรัฐบาล ที่แนวโน้มจะมีความใกล้ชิดและเป็นพวกเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะเสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ ก็คือฝ่ายที่เลือกบุคคลให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ตรงนี้ สว. ได้มีการถ่วงดุลทั้งสองฝ่าย ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภา เผด็จการที่ทำอะไรตามใจก็ได้จากฝ่ายบริหาร ที่สว.เราก็ดูว่าปัญหามีอะไรบ้าง สว.ก็ต้องเข้าไปถ่วงดุล
...ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของสว.ชุดปัจจุบัน หากแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ยืนยันได้ว่า สว.ชุดปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่การเป็นสว.อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ที่จะเห็นได้ว่ามีร่างพรบ.ต่างๆ มากมายที่ก่อนจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ได้มีข้อแนะนำ ข้อทักท้วงมากมายจากสว.จนมีการนำไปปรับปรุงแก้ไข- มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายต่างๆ จนผ่านความเห็นชอบออกมาเป็นกฎหมายที่มีความสมบูรณ์ หลังมีการฟังเสียง-ฟังเหตุผลจากทุกฝ่าย จนเป็นกฎหมายใช้บังคับทั่วไปกับประชาชนทั้งประเทศ
ขณะที่เรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ทางสว.ก็มีการทำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาและกระทู้ถามผ่านทางหนังสือ ก็มีเป็นพันเรื่อง เป็นต้น
รวมถึงการตรวจสอบในภาพใหญ่เช่นการที่สว.มีการยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติรัฐบาล เพื่อให้คำแนะนำ ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและให้รัฐบาลได้ชี้แจงปัญหาและผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึงการให้ความเห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่ามีความเข้มงวดในการพิจารณา โดยมุ่งส่งเสริมให้คนดีให้เข้าสู่ตำแหน่งและสกัดคนไม่ดี ที่เห็นว่ายังไม่มีความเหมาะสม ไม่ให้เข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีผลเป็นที่ประจักษ์มากมาย ผมคิดว่า สว.ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .