บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล..ในมหามงคลครบ ๖ รอบ 'ราชธรรม..สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย' (ตอนที่ ๑)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เมื่อ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ได้รับนิมนต์ไปบรรยายธรรมในที่ประชุม นายอำเภอ-ปลัดจังหวัดจากทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น ๘๗๘+๗๖=๙๕๔ คน จัดการประชุมโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในที่ประชุม

การบรรยายธรรมในวันดังกล่าว ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่าหนึ่งพันคน เมื่อนับรวมบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมด้วย นับว่าไม่น้อยเลย จึงจำเป็นต้องใช้ห้องประชุมขนาดใหญ่ เพื่อความสะดวกสบายที่จะได้เกิดความพร้อมเพรียงกัน ก่อเกิดประสิทธิภาพในการจัดการประชุม

สำหรับหัวข้อการบรรยายธรรมในครั้งนี้ ใช้ชื่อว่า “จิตวิญญาณนักปกครอง .. สู่ พลังธรรม เพื่อพลังของแผ่นดิน” น้อมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ใน ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ในปัจจุบันแห่งราชวงศ์จักรี

การบรรยายธรรมท่ามกลาง นักปกครองชั้นสูงที่มาจากนายอำเภอ ปลัดจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับสูงของกรมการปกครอง อาทิ อธิบดี รองอธิบดี ผู้อำนวยการกอง และเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย นับเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรต่อการที่จะทำให้คนจำนวนมากเป็นพันคนนิ่งสงบ จิตใจสำรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงยากต่อการจะเตรียมเนื้อหาสาระลงไปในรายละเอียดเชิงลึก ที่จะต้องพร้อมใจกันในการตั้งใจ แน่วแน่ในการสดับฟัง..

การดึงจิตใจให้คนเป็นพันคนรวมนิ่งเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการสดับ..พิจารณาตามคำบรรยาย เพื่อการร่วมกันเคารพธรรม บูชาธรรม.. จึงต้องใช้หลักปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องมือในการประสานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะมีโจทย์ปัญหาเกิดขึ้นมาข้อหนึ่ง คือ ความแตกต่างทางศาสนา.. และระดับความรู้-ความเข้าใจในธรรม...

จึงได้เห็นรูปแบบการบรรยายที่ถูกจัดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดในรูปของการปฏิบัติธรรม ที่คนทุกศาสนา ทุกเพศวัย สามารถปฏิบัติร่วมกันได้.. โดยการยก ธรรม ขึ้นเป็นใหญ่.. ยก ธรรม ขึ้นเป็นธง.. ในท่ามกลางหมู่ชนจำนวนมากนั้น ที่ยากจะปฏิเสธ หากมีฐานะเต็มคน เป็นมนุษย์ และมีหน้าที่อันต้องแสดงถึงการเป็นผู้เคารพธรรม...

การยืนปฏิบัติธรรมในชุดสีเหลือง เพื่อแสดงออกถึง ความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ จึงเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันตลอดเวลาบรรยายธรรม นำอบรมจิต ที่ใช้เวลาร่วมชั่วโมง ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยความสงบนิ่ง สำรวมระวัง มิได้ยินเสียงพูดคุยกัน.. มิได้เห็นภาพบุคคลที่ยุกๆ ยิกๆ.. ก้มหน้า เงยหน้า อยู่กับการเล่นมือถือ เหลียวซ้าย แลขวา อยู่กับการกระซิบพูดคุยกับเพื่อนที่นั่งใกล้ชิดติดกัน

ภาพเหล่านั้นไม่มีปรากฏเลย.. ในท่ามกลางการบรรยายอย่างต่อเนื่องด้วยความตั้งใจของผู้บรรยาย เพื่อหวังปลูกสร้าง เติมแต่ง ต่อยอด อุดมการณ์.. และความรู้สึกของนักปกครองเหล่านั้น ให้ยิ่งขึ้นในความเคารพต่อ ธรรม.. ที่ มนุษยชาติจะต้องยกขึ้นเป็นธงของชีวิต ที่เรียกว่า สัจธรรม จึงจะนำมาซึ่งคุณค่าของบุคคลที่มี สัจธรรม เป็นธงของชีวิต ก่อให้เกิดเกียรติคุณอันควรแก่การเคารพนับถือ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคุณธรรมของ สัจธรรม ว่า.. “ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศและความเคารพจากผู้อื่นให้คนเราได้ เท่ากับการมี “สัจจะ” .. ซึ่งการจะมี สัจธรรม ได้นั้น.. ผู้นั้นจะต้อง รู้จักการฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ ที่เรียกว่า “ทมะ”.. ที่แปลตรงตัวว่าเป็นการปฏิบัติธรรมก็ว่าได้.. โดยเฉพาะ การเจริญสติปัฏฐานธรรม อันเป็นธรรมปฏิบัติที่เป็นเอกอุในพระพุทธศาสนา...

การปฏิบัติธรรม.. โดยการเข้าถึงองค์สาม คือ สติ-สัมปชัญญะและวิริยะ จึงได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการฝึกตน ข่มจิต และพัฒนาจิตใจ ในวันนั้นที่ได้เห็นภาพคนจำนวนมาก พร้อมเพรียงกันอย่างน่าอัศจรรย์ ต่ออานิสงส์ของธรรมปฏิบัติด้วยการ เจริญสัมปชัญญะ ในอิริยาบถยืน ประกอบการฟังธรรมและพิจารณาธรรมไปตามลำดับ

นับเป็นลาภอย่างยิ่ง.. เป็นประโยชน์ที่สุดต่อนายอำเภอ ปลัดจังหวัด และเจ้าหน้าที่ปกครองของกรมการปกครองทุกคน ที่ได้มีโอกาสร่วมกันปฏิบัติธรรมโดยพร้อมเพรียงกัน ตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงในอิริยาบถยืน ที่ทุกคนคงจะไม่เคยปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อเจริญขันติธรรมควบคู่...

ในการประชุมครั้งนี้.. จึงได้เห็นความจริงเชิงประจักษ์ในอานิสงส์แห่งการมี สัจจะ ทมะ ขันติ.. โดยเฉพาะ “จาคะ” ที่แปลว่า การเสียสละ.. ซึ่งเป็นการสละกิเลสที่ไม่ควรมีในตนออกไป.. การละทิ้งซึ่งนิสัยไม่ดี ชอบเอาแต่ใจตนเอง ไร้ความอดทนอดกลั้น

การยืนหยัด.. เพื่อปฏิบัติธรรมร่วมกันตลอดหนึ่งชั่วโมง ด้วยจิตสำนึกที่ต้องเคารพธรรม.. ไม่ว่าจะเต็มใจ ครึ่งใจ หรือไม่มีใจ.. แต่ที่สุดก็ได้สร้างกำลังธรรมขึ้นในจิตใจของทุกคน อันเกิดขึ้นจากองค์ธรรมทั้ง ๔ ที่เป็นอานิสงส์ของการสร้างตัวให้มีธรรม.. ที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม ดังกล่าว นับว่าได้ผลยิ่งในเชิงปฏิบัติ เพื่อการสร้างพลังธรรม

สำคัญอย่างยิ่ง คือ ความรู้คุณของแผ่นดิน.. ความรู้คุณของบรรพชน ที่ร่วมกันสร้างแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ.. เพื่อเปลี่ยนผ่าน กระแสสังคม การเมือง เศรษฐกิจ มาในทุกวิกฤตการณ์ นับเป็นบทประวัติศาสตร์ของแผ่นดินที่คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ในการปกครอง.. ควรศึกษา เรียนรู้ ให้เข้าใจ เข้าถึง อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะผลงานของทุกพระองค์ที่ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม.. ทรงทุ่มเทอุทิศตลอดชีวิตเพื่อแผ่นดินไทย.. เพื่อพสกนิกรชาวไทย.. ของบุรพกษัตริย์ไทยและบรรพชนชาวไทย ที่นับเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง...

แค่เพียง พระราชดำรัสในรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ที่ตรัสไว้ต่อสาธารณชนในหลายครั้งว่า...

“เราจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้า เสมอตลอดไป

ย่อมยินดีในเวลาเจ้าทั้งหลายมีความสุข

และย่อมปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัย ได้ทุกข์”

อันเป็นที่มาของอุดมการณ์นักปกครองที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แด่อาณาประชาราษฎร์ นับว่ามีคุณค่ายิ่งต่อจิตวิญญาณของแผ่นดินไทย

ดังได้เห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงพยายามวางแผนเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง.. ให้ประชาชนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อความทันสมัยของประเทศ เทียบเคียงกับประเทศโลกตะวันตกที่กำลังคลั่งไคล้ ระบอบประชาธิปไตย

โดยเฉพาะในระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๕-๒๔๓๘ .. ที่ได้ให้เห็น การเลือกตั้งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ยังคงระบบการปกครองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยจัดให้ประชาชนสามารถเลือกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เพื่อเป็นผู้นำของชุมชนได้ด้วยตนเอง.. มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นแบบเทศาภิบาลและสุขาภิบาล ที่นับเป็นงานวางรากฐานเบื้องต้นของระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การวางรากฐานประเทศ.. เชิงบูรณาการแบบเหมาะควรกับศักยภาพของคนไทย ที่สามารถพัฒนาตามไปได้ จึงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน มิให้มุ่งประโยชน์ทางการเมืองอย่างเดียว โดยคำนึงถึงความเหมาะสม รูปแบบของสังคมไทย และความสามารถในการเรียนรู้ ตามได้ทันในการเปลี่ยนแปลงของประชาชน.. นับเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งที่ทรงคำนึงถึง

การเลิกประเพณีล้าหลัง การเลิกทาส.. เลิกการมีไพร่.. มีทหาร จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความเสมอกันของประชาชนชาวไทยที่ควรได้รับสิทธิอันเสมอภาค ในโอกาสทางการศึกษา การส่งเสริมอาชีพที่มั่นคง และการได้รับการคุ้มครองจากอำนาจรัฐ

การส่งต่อสยามประเทศ.. สู่ราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นรูปธรรม จึงเกิดขึ้น.. เพื่อการเปลี่ยนผ่าน ก้าวให้ทันวิวัฒนาการของสังคมโลกในยุคล่าอาณานิคม.. ดังปรากฏผลงานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็น คุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีต่อการเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน.. ที่หากไม่มี คณะราษฎร เข้ามาแทรกแซงแผนงานการเปลี่ยนผ่านการปกครองที่ริเริ่มมาจากพระมหากษัตริย์ของชาวไทยในรัชกาลที่ ๕.. เชื่อมั่นได้ว่า.. ประเทศไทยคงไม่เปลี่ยนผ่านอย่างจมปลัก แบบในปัจจุบันนี้.. นี่คือความจริงที่ควรศึกษาของชาวไทย!! (ติดตามตอนต่อไป).

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย