ยุทธศาสตร์การค้าไทย ในวันที่โลกแบ่งขั้ว

“Globalization is almost dead. Free trade is almost dead,”
Morris Chang, founder of the Taiwan Semiconductor Manufacturing Co (TSMC)

การค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมาหลายทศวรรษ ในทางเศรษฐศาสตร์ การค้าเอื้อให้แต่ละประเทศ ‘แบ่งกัน’ ส่งออกสินค้าที่ตนผลิตเก่ง และนำเข้าสินค้าที่ตนผลิตไม่เก่ง ในราคาที่ถูกกว่าผลิตเอง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่ส่งออก-นำเข้าสินค้าเติบโตได้เร็ว ประโยชน์ของการค้าทำให้ประเทศในโลกค้าขายกันมากขึ้น จนผูกโยงกันเป็นห่วงโซ่การผลิต

แต่เมื่อเวลาผ่านไป แต่ละประเทศกลับได้รับประโยชน์จากการค้าไม่เท่ากัน ประเทศที่เสียดุลการค้าติดต่อกันอย่างยาวนาน นอกจากจะมีรายได้จากการส่งออกน้อยกว่ารายจ่ายจากการนำเข้าแล้ว ยังมีธุรกิจภายในประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูกกว่า ประเทศที่เสียเปรียบจึงตั้งคำถามถึงประโยชน์ของการค้าเสรี และใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ดังจะเห็นได้จากกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ปรับขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อกีดกันการส่งออกจากจีน

การกีดกันทางการค้ามีความไม่แน่นอนสูง สร้างความกังวลให้กับประเทศผู้ส่งออกที่อยู่บนห่วงโซ่เดียวกันกับจีน ประเทศผู้ส่งออกจึงหันไปค้าขายกับประเทศที่มีจุดยืนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใกล้กัน การแบ่งขั้วส่งผลให้ห่วงโซ่การค้าโลกคลายตัว และ ‘แบ่งขั้ว’ กลายเป็นห่วงโซ่การค้าขนาดเล็กลงระหว่างประเทศที่จุดยืนใกล้เคียงกัน

มองไปข้างหน้า หากประเทศต่างๆ จับขั้วกันตามความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ เราจะสามารถแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มสีน้ำเงินมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เช่น ประเทศในทวีปยุโรป และญี่ปุ่น กลุ่มสีแดงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เช่น รัสเซีย และกลุ่มสีเขียววางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เอนเอียงไปทางสีน้ำเงินหรือสีแดงมากกว่ากัน เช่น ไทย และเวียดนาม (รูปที่ 1) ด้านบน

หากสมมติให้เกิดการแบ่งขั้ว โดยกลุ่มสีน้ำเงินและสีแดงปรับอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากประเทศขั้วตรงข้ามขึ้นมาอยู่ที่ 30% ทุกกลุ่มสินค้า การแบ่งขั้วอาจส่งผลให้การค้าโลกลดลงถึง 7-8% โดยเฉพาะการส่งออกของสหรัฐและประเทศพันธมิตร อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าจีน เนื่องจากมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าถึง 1.5 เท่า ขณะที่ตลาดภายในประเทศสามารถรองรับสินค้าส่งออกได้ ในทางตรงข้าม ตลาดส่งออกใหม่ของจีน ได้แก่ ประเทศกลุ่มสีแดงและประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีขนาดใหญ่พอที่จะชดเชยการสูญเสียรายได้จากการส่งออกได้ทั้งหมด ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงถึง 2.5-3.5% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจหดตัวเพียง 0.1-0.2% เท่านั้น


รูปที่ 2 ผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ

สำหรับไทย เราจะได้รับอานิสงส์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) แต่ก็จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก (Income Effects) ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกโดยรวมของไทยทรงตัว ทั้งนี้ ภาคการผลิตจะได้รับอานิสงส์ไม่เท่ากัน โดยการผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับประโยชน์มากที่สุด ตามมาด้วยการผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ และปิโตรเคมี ในขณะที่การส่งออกสิ่งทอและเครื่องหนังจะปรับลดลง นอกจากนี้ อานิสงส์ยังขึ้นกับประเทศผู้นำเข้า เช่น ผู้ส่งออกไทยจะสามารถส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ไทยจะได้รับอานิสงส์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากภาครัฐวางแผนสนับสนุนการผลิต และการเจรจาการค้าอย่างมียุทธศาสตร์ โดยคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย (เก่ง-ไม่เก่ง) และสภาวะการแข่งขันของตลาดส่งออกเป้าหมาย (แข่งขันสูง-ไม่ต้องแข่งขันสูง) เราสามารถแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เก่ง และไม่ต้องแข่งขันสูง ภาครัฐควรสนับสนุนให้ต่อยอดความสำเร็จ เช่น สนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่ หรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกปรับปรุงกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ

กลุ่มที่ 2 ภาคการส่งออกที่เก่ง แต่แข่งขันสูง ภาครัฐควรเน้นสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและรักษาส่วนบ่งตลาด โดยการให้เงินอุดหนุนต้นทุนการผลิตเพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ส่งออกหาพันธมิตรบนห่วงโซ่การผลิตอย่างมีกลยุทธ์ เช่น สนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยเข้าถึงโอกาสในการควบรวมกับธุรกิจต่างประเทศเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

กลุ่มที่ 3 ภาคการส่งออกที่ไม่เก่ง แต่ไม่ต้องแข่งขันสูง กลุ่มนี้ไม่ควรตายใจ ภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกได้มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าบนห่วงโซ่การผลิตโลกมากยิ่งขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือให้เงินอุดนหนุนสำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดรับกับความต้องการแรงงานจากภาคการส่งออกดังกล่าว และ

กลุ่มที่ 4 ภาคการส่งออกที่ไม่เก่ง และแข่งขันสูง ภาครัฐควรช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกสามารถโยกย้ายไปยังภาคการผลิตที่มีทุนและใช้องค์ความรู้พื้นฐานใกล้เคียงธุรกิจเดิม แต่มีแนวโน้มที่จะเติบโตดีกว่า โดยภาครัฐจะมีบทบาทในการชี้เป้าหมายภาคการผลิตที่มีศักยภาพ และผู้ส่งออกมีความได้เปรียบในการปรับตัวไปยังภาคการผลิตดังกล่าว ตลอดจนให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ผู้ส่งออกย้ายภาคการผลิต

การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจเป็นความเสี่ยงที่มาพร้อมกับโอกาสมูลค่ามหาศาล ไทยจะคว้าโอกาสไว้ได้ หากภาคธุรกิจและภาครัฐทำงานร่วมกันเพื่อหากลยุทธ์การส่งออกที่เหมาะสม และเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก ถ้าทำได้ การส่งออกไทยอาจจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ ท่ามกลางโลกที่แบ่งขั้ว

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ดร สมประวิณ มันประเสริฐ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินนโยบายสาธารณะควรเป็นอย่างไรในระบบเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ส่งเสริมการเกษตรแบบประณีต (Intensification) โดยแนะนำให้เกษตรกรผสมสูตรปุ๋ยที่ผ่านการวิจัยแล้วว่าสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากที่สุด ผลปรากฎว่าปุ๋ยสูตรสำเร็จกลับล้มเหลว

รบ.เปิดโครงการลงทุนขนส่งทางน้ำ เพิ่มศักยภาพแข่งขัน การค้าระหว่างปท.

เปิดโครงการลงทุนขนส่งทางน้ำ รัฐบาลลุยเติมศักยภาพแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ หนุนภาคท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกเพิ่มความปลอดภัยการเดินทางของประชาชน

“จุรินทร์” สร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่อง ลงนาม ความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทย-กานซู่ ดันทำยอดการค้า 1,265 ล้านบาท ภายใน 1 ปี เน้นเจาะตลาดสินค้าฮาลาลโดยเฉพาะ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานสักขีพยาน

จุรินทร์ ชู CIIE 'ขายสินค้าที่จีน' งานเดียวได้ 328 ล้านบาท

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบและติดตามนโยบายด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ