สมหมาย ภาษี -อดีตรมว.คลัง รัฐบาล-ฝ่ายการเมืองต้องหยุด ยุ่มย่าม ก้าวก่าย “แบงก์ชาติ”

สำหรับพฤติการณ์ของรัฐบาลนี้ ที่ผมใช้ศัพท์ ยุ่มย่าม ก้าวก่าย ผมขอใช้ศัพท์คำนี้ ยุ่มย่ามก้าวก่าย เพราะผมเคยเห็นมา ...ถ้าหากว่านักการเมืองเข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายมาก ต่างชาติ ก็จับตามองอยู่...ถ้ารัฐบาลทำแบบนี้มันทำให้ความมีเสถียรภาพของนโยบายการเงินมันเสื่อม ค่าเงินบาทก็อาจมีปัญหา...ต้องใช้เวลาให้ถูกเรื่องถูกราว อันนี้มันสร้างความเสื่อมเสียในเรื่องความเชื่อมั่นในระบบการเงินของเรา

การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หลังได้”ขุนคลังคนใหม่-พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง”หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร น่าติดตามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่รัฐบาล-กระทรวงการคลัง จะต้องทำงานร่วมกับ”ธนาคารแห่งประเทศไทย”(ธปท.) ในยุคที่มี เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  เป็นผู้ว่าฯธปท. ทางฝ่ายรัฐบาลและธปท. จะมีแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างไร เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ

หลังที่ผ่านมา แกนนำรัฐบาลไล่ตั้งแต่ เศรษฐา นายกฯและอดีตรมว.คลัง จนถึงแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจการบริหารงานธปท.ของ เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

จนมีการจับตามองว่าในอนาคต ไม่แน่ พรรคเพื่อไทย อาจมีการเสนอให้มีการแก้ไขพรบ.ธปท.ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2551 เพื่อลดความเป็นอิสระของธปท.และทำให้การปลดผู้ว่าฯธปท.ทำได้ง่ายเหมือนในอดีต หากสุดท้าย รัฐบาลยังไม่สามารถทำงานกับธปท.ได้แบบราบรื่น

“สมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลัง-อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551”ที่มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายธปท.ครั้งใหญ่ โดยออกมาในยุครัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จนเป็นกฎหมายหลักของธปท.ในเวลานี้ โดย “สมหมาย-อดีตขุนคลัง ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและอดีตรมช.คลัง ยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์  “ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง รัฐบาลกับธปท. ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเขียนกฎหมายธปท.ที่มีการให้ความเป็นอิสระกับธปท.มากขึ้น รวมถึงทำให้การปลดผู้ว่าฯธปท.ทำได้ยากขึ้น  

โดย”สมหมาย-อดีตรมว.คลัง”ที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มามากมายเช่น อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง -อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เริ่มด้วยการกล่าวว่า สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผมได้รับการชวนจากม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ให้ไปเป็นรมช.คลัง หลังเกษียณราชการ ตอนนั้นพลเอกสุรยุทธ์ที่เข้าไปเป็นนายกฯหลังรัฐประหาร 19ก.ย. 2549 ทางรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ให้สัญญากับประชาชนว่าจะอยู่ไม่นานและจะเร่งเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงปฏิรูปด้านต่างๆ เรื่องอะไรไม่ดี ก็จะเข้าไปปฏิรูปให้ดีขึ้น

... โดยเมื่อรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศแล้ว พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยมีการให้รัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาทบทวนกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานใช้

ตอนนั้น ผมเป็นรมช.คลัง ก็ได้เข้าไปพิจารณาทบทวน-ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการคลังร่วม 10-11 ฉบับต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหนึ่งในนั้น ก็คือ พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงกฎหมายอื่นๆเช่น พรบ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยตอนนั้นคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นคนที่คว่่ำหวอดและทำงานอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเขาเห็นข้อบกพร่อง จุดอ่อนต่างๆ ก็เลยมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง

สำหรับกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขในช่วงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ทางผู้พิจารณายกร่างแก้ไขกฎหมาย ก็ดูจากเหตุการณ์ในอดีตเช่นกรณีสมัยม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าฯธปท.ที่ถูกแรงบีบแรงกดดันจนมีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯธปท.(สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ก็เป็นลักษณะที่รัฐบาลเข้าไป "ยุ่มย่าม-ก้าวก่าย" ที่ผมต้องขอเรียกแบบนั้น ในเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทยมากเกินไป

สมัยผมเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องนโยบายด้านการคลัง ผมก็เคยเจอท่านม.ร.ว.จัตุมงคล ตอนท่านยังเป็นผู้ว่าฯธปท. เพราะม.ร.ว.จัตุมงคล เคยเป็นปลัดกระทรวงการคลังมาก่อนที่จะไปเป็นผู้ว่าฯธปท. ก็คือเคยเป็นผู้บังคับบัญชาผมมาก่อน ผมก็คุ้นเคยกับท่านดี ผมก็คุยกับท่านแบบตรงไปตรงมา ผมก็ถามท่านว่า "รัฐบาลเขาบีบคั้นหนักให้ลดดอกเบี้ยหรือ บีบคั้นมาหนักใช่ไหม"เพราะตอนนั้นผมก็พอรู้  พอหม่อมเต่า ท่านได้ยิน ท่านก็ตอบผมกลับมาว่า"กูไม่ลด"พูดแบบนี้เลยนะ คือท่านก็ระบายอารมณ์ เพราะท่านก็รู้ดีว่ามันควรเป็นอย่างไร

เพราะผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เขาก็ต้องรู้ว่าธนาคารกลางมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างไร เพราะการรับผิดชอบด้านการเงินเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ และแบงก์ชาติ เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระที่สำคัญของประเทศ ดูแลทุนสำรองของประเทศที่ก็คือทรัพย์สินของประเทศ

อย่างสมัยก่อน ก็หลัก สี่หมื่นล้านถึงห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศก็เกือบแทบล้มละลาย จนตัวเลขทุนสำรองฯของประเทศไทยตอนนั้นเหลือไม่ถึงพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วงนั้นเป็นเรื่องหนักหนามาก

“สมหมาย-อดีตรมว.คลัง”กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องนักการเมืองเข้าไปก้าวก่าย ลุ่มล่ามอะไรต่างๆ ผมขอใช้คำนี้ มันเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อสถาบันและองค์กรอิสระที่เป็นธนาคารกลางของประเทศ เพราะธนาคารกลาง คือฝ่ายดูแลรับผิดชอบเรื่องการเงินของประเทศ โดยต้องดูเรื่องเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเสถียรภาพก็คือค่าเงินบาท ที่ควรจะเป็น

โดยบางทีก็ต้องให้ค่าเงินบาทแข็ง บางทีก็ต้องให้ค่าเงินบาทอ่อน ส่วนเรื่องดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่ตามมา เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องดอกเบี้ย ก็ต้องพูดถึงเรื่องค่าเงินที่จะเปลี่ยนแปลงไป ที่ก็จะโยงไปถึงเรื่อง"การส่งออก-การนำเข้า"ด้วย ตลอดจนการที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งการเข้ามาลงทุนในประเทศก็ทำให้เรามีเงินตราต่างประเทศมาก ที่เข้ามาผ่านการค้า การท่องเที่ยว ซึ่งก่อนเกิดวิกฤต ยังมีการเข้ามาลงทุนน้อย 

..ตอนที่มีการเสนอแก้ไขปรับปรุงพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย จนมาเป็นพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในปัจจุบัน ก็เพราะตอนนั้นเราเห็นว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ไปได้ดีแล้ว เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังไปได้ดี และโยงใยกับต่างประเทศ ทั้งด้านการเงิน-การคลัง โดยเฉพาะด้านการเงิน ที่เป็นกลไกสำคัญ ดำเนินไปอย่างดีมาก ทางผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติฯ เวลานั้น ก็เห็นว่า กฎหมายธปท.ที่ใช้อยู่มันเก่าไป เพราะฉะนั้นจึงเห็นควรให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่แก้ไขและยกร่างขึ้นมา ตอนนั้น ทางคณะผู้ยกร่างฯ ก็ดูจากเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในอดีต โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลงไปมาก จนมีการปรับนโยบายโดยยอมให้มีการลดค่าเงินบาท และออกมาตราการต่างๆ มามากมาย แม้กระทั่ง พระธรรมวิสุทธิมงคลหรือหลวงตาบัว ญาณสมฺปนฺโน  ที่ผมก็เคยไปกราบท่านที่วัดป่าบ้านตาดหลายครั้ง ตอนนั้นท่านก็นำขบวนทอดผ้าป่าช่วยชาติ นำเงินไปซื้อทองคำแล้วส่งเข้าคลัง จนตอนนี้มีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาท จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2540 ก็ทำให้ มีการนำปัญหาต่างๆ มาพิจารณาเพื่อแก้ไขผ่านการแก้ไขกฎหมาย

 เช่นเรื่องการบริหารเงินทุนสำรองฯ ที่ตอนนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก แต่ในส่วนนี้จริงๆ ก็ไม่ได้แก้ไขมากเพราะกฎหมายเดิม ก็วางหลักเกณฑ์การดูแลเงินทุนสำรอง ฯ ไว้แข็งแรงมาก ก็มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้การดูแลและการใช้เงินทุนสำรองกระชับมากยิ่งขึ้น ที่ก็ยืนยันได้ว่า ประเทศไทย มีกฎหมายที่ดูแลเรื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยอดเยี่ยมมากประเทศหนึ่ง ซึ่งคนที่ดูแลก็คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่รมว.คลัง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี

บนหลักคือเมื่อมีเงินทุนสำรองเข้ามา ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ก็ต้องรักษาและนำไปลงทุน เช่นลงทุนระยะสั้น ลงทุนระยะยาว ต้องมีการกระจายความเสี่ยง โดยต้องบริหารเงินทุนสำรองฯภายใต้กฎหมายที่่มีอยู่

...ที่ผ่านมา ผมก็เห็นมักมีนักการเมืองชอบพูดว่า ประเทศมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก ให้เอาทุนสำรองมาใช้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่แบบที่นักการเมืองคิด เพราะการที่ดูแลให้มีความมั่นคง สิ่งนี้คือคุณค่าของการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างดีเยี่ยม โดยต้องทำให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ เพราะยิ่งมีเสถียรภาพก็เป็นการใช้ประโยชน์ทุนสำรองฯอย่างมาก แต่พวกนักการเมืองมองไม่เห็น เพราะประเทศไหน มีเสถียรภาพทางการเงิน นักลงทุนก็จะมองว่าเป็นประเทศที่่น่าลงทุน เพราะลงทุนแล้วเขาก็อยากได้เงินกลับไป ไม่ใช่มาลงทุนในประเทศไทยแล้วค่าเงินบาทเราร่วง เขาก็จะไม่เชื่อมั่น ไม่มาลงทุน แต่ถ้าเขาเห็นว่าประเทศเรามีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเขาก็จะมาลงทุน และยิ่งหากเห็นว่าผลตอบแทนดี ก็จะยิ่งมาลงทุนกันมาก แต่เงินบาทก็ต้องดี มีความยั่งยืน โดยไม่ว่าค่าเงินบาท จะอ่อนหรือจะแข็งอย่างไร แต่ทางเดินต้องมั่นคง คนถึงมาลงทุน

หลักการ-เหตุผล ยกเครื่องพรบ.แบงก์ชาติ เพื่อวางหลักประกันความเป็นอิสระ

“สมหมาย-อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551”กล่าวต่อไปว่า กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ที่่มีการแก้ไข ในปี 2551 ทางผู้ยกร่างกฎหมายดังกล่าวในเวลานั้น เห็นว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมีความเป็นอิสระในการบริหารงานธนาคารกลาง รวมถึงความเป็นอิสระในการบริหารทรัพย์สินที่ธนาคารกลางดูแล เช่นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่จะโยงไปถึงเรื่องค่าเงินบาท ดอกเบี้ย

ถ้าเป็นแบบอดีต หากเป็นแบบนี้ ต้องไปแล้ว(ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ) แต่สมัยปัจจุบัน คนก็รู้ คนบอกว่า ทำดีแล้ว ให้อยู่รักษาสถาบันฯ ให้อยู่รักษานโยบายการเงิน...ถ้าคิดจะแก้กฎหมายเพื่อต้องการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯแบงก์ชาติ มันก็คงง่ายไป หรือจะแก้เพื่อเข้าไปดูแลอะไรต่างๆ ที่ผมก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอยู่ถึงทันพอที่สภาฯจะโหวตกฎหมายที่จะแก้ออกมาได้หรือไม่... คนที่พอรู้เรื่อง เขาก็เห็นว่ามันดีอยู่แล้ว (พรบ.ธปท.) ยิ่งหากจะเอาเรื่องเฉพาะจุดมาแก้ไขกฎหมายแบบนี้ มันจะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอาจถูกลากเข้ารกเข้าพงหนักขึ้น

...เดิมที ผู้ว่าฯธปท.ที่เข้ามา สภาพการทำงานอาจเจอสภาวะง่อนแง่น เพราะการเมืองเข้าไปยุ่มย่าม ทำให้มันก็ง่อนแง่น ซึ่งคนที่เป็นผู้ว่าฯธปท. เขาไม่ได้กลัวว่าจะต้องออกจากตำแหน่ง ผมว่าทุกคนที่เข้าไป เขาก็พร้อมหากต้องออก อย่างผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ ยังไง ก็อยู่ได้ไม่เกินสองเทอม หรือผู้ว่าฯธปท.คนก่อน นายวิรไท สันติประภพ เก่งมาก ก็ยังขอเป็นแค่เทอมเดียว คือคนมันอาจจะทนไม่ไหวหรอก หากการเมืองยังเป็นแบบนี้"

..จากที่เห็นสภาพปัญหาของธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้ตอนที่มีการยกร่างพรบ.ธปท.ที่ใช้ปัจจุบัน ในช่วงปี 2551  ก็มีการเขียนในเรื่อง การคัดเลือกผู้ว่าฯธปท.ไว้ให้ชัดมากขึ้น จากเดิมที่ รมว.คลัง ก็อาจมีการหารือกับนายกรัฐมนตรีว่าจะตั้งใครมาเป็นผู้ว่าฯธปท.โดยอาจมีการตั้งกรรมการสรรหาฯ ขึ้นมา แต่ก็จะมีการบอกว่าให้เอาคนไหน ก็มีการแก้ไขใหม่ เขียนไว้ให้ชัดว่าต้องมีคณะกรรมการสรรหาฯ บุคคลที่จะมาเป็นผู้ว่าฯธปท. เจ็ดคนเพื่อเลือกคนที่เหมาะสม แต่ก็อาจมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะยังไงไม่มีทางที่จะไม่เกี่ยวข้อง ก็อาจมีการวางคนของเขา แล้วให้เลือกกัน

ซึ่งขั้นตอนคือ กรรมการสรรหาฯ ต้องสรรหาและเสนอชื่อมาสองคน แล้วให้รมว.คลังเลือกมาหนึ่งคน แล้วเสนอต่อครม. กระบวนการก็ไม่เหมือนสมัยก่อน ซึ่งสมัยผมเป็นรมว.คลัง ก็เคยทำหน้าที่ตรงนี้มา ในช่วงที่ได้ผู้ว่าฯธปท.คือนายวิรไท สันติประภพ

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่สำคัญคือ กรณีหากจะมีการเปลี่ยนตัว ผู้ว่าฯธปท. ซึ่งได้มีการเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ธปท.มาตรา 28/19 ที่จะทำได้ 2 กรณีคือที่ปรากฏใน

(4) ที่บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

และ(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

"ซึ่งการให้แสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้ง ก็คืออาจต้องมีการแสดงเหตุผลว่าทำไมถึงให้ ผู้ว่าฯธปท.พ้นจากตำแหน่ง โดยต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาด้วย เช่น ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะทุจริต เพราะพบหลักฐานอะไรต่างๆ หรือพบว่าการทำงานหย่อนความสามารถอะไรต่างๆ ต้องประกาศให้ชัดแจ้ง อันนี้ กฎหมายเขียนเพิ่มขึ้นมาเพื่อต้องการให้แสดงเหตุผลให้ชัดแจ้ง ไม่ใช่ไม่บอกเหตุผลอะไรแบบสมัยอดีต"

...กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขปรับปรุงในช่วงปี 2551 ที่ออกมา จึงมีการเขียนให้ชัดเจนมากขึ้นทั้งการตั้งผู้ว่าฯธปท.และการให้ผู้ว่าฯธปท.ออกจากตำแหน่ง

-ก็คือเป็นการแก้ไขปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้ง หรือหาเรื่องปลดผู้ว่าฯธปท.ได้ง่ายเหมือนในอดีต?

ถ้าเป็นแบบอดีต หากเป็นแบบนี้ ต้องไปแล้ว(ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ) แต่ผมว่าสมัยปัจจุบัน คนก็รู้ คนก็บอกว่า ทำดีแล้ว อย่าไป ให้อยู่รักษาสถาบันฯ ให้อยู่รักษานโยบายการเงิน ความมีเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคงไว้ ไม่อย่างนั้น ถ้าผู้ว่าฯทำท่าจะแบบนั่นนะ ลองสิ ผมว่าสงสัยพอดอกเบี้ยป่วน ค่าเงินบาท-อัตราแลกเปลี่ยนก็จะป่วน

-หากฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงแบงก์ชาติ ทำให้แบงก์ชาติขาดความเป็นอิสระ จะส่งผลเสียต่อระบบวินัยการเงินของประเทศอย่างไร?

หากผู้ว่าฯไปทำตามการเมือง ทางคณะกรรมการธปท.ถ้าเป็นกรรมการที่ดี ก็ต้องไปปลดผู้ว่าฯธปท. บอกว่าประพฤติตัวไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพให้มั่นคง ต้องปลดผู้ว่าฯธปท.เลย หากไปทำตามนโยบายรัฐบาล

เพราะการขึ้นหรือการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เป็นตัวชี้ ตัวบอกทิศทาง ให้กับคนที่ใช้เงินบาท และคนที่มาลงทุนในประเทศไทย ที่จะต้องมีส่วนของเงินบาท มาแลกเปลี่ยนกับเงินตราของประเทศนักลงทุน ตัวนี้จะบอกทิศทาง อย่างที่ธนาคารพาณิชย์ ตอนนี้ประกาศลดดอกเบี้ย แต่ก็ลดให้หกเดือน ที่ทำได้ แต่หากแบงก์ชาติ บอกว่าจะลดดอกเบี้ยหกเดือน มันทำไม่ได้ เพราะดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยทางการ  จะมีคำว่าขาเข้ามาเสริม เช่นบอกว่าดอกเบี้ยจากนี้ไปจะเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น หรือจากนี้ไปเป็นดอกเบี้ยขาลง ต้องบอกทิศทางเศรษฐกิจ และเมื่อแบงก์ชาติบอกแล้ว นักลงทุนก็ดี คนที่จะมาลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็จะรู้ทิศทางว่าควรลงทุนหรือไม่ควรเข้ามาลงทุน

-หากฝ่ายการเมือง ยังคงส่งสัญญาณกดดันธปท.ต่อไปหลังจากนี้ จะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไรหรือไม่ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ?

เขาก็คงยิ่งเงี่ยหูฟังมากขึ้น เขาก็จะเกิดความไม่แน่ใจกับการจะเข้ามาลงทุนในไทย

"สมหมาย-อดีตรมว.คลัง"กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตามพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 7 ที่บัญญัติให้ ธปท. มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน และในวรรคถัดไปของมาตราเดียวกัน ก็บัญญัติไว้อีกว่า "การดำเนินภารกิจตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย"

ซึ่งเรื่อง เสถียรภาพทางการเงิน -เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน จะมีความแตกต่างกัน เพราะเสถียรภาพทางการเงิน ก็คือเรื่องค่าเงินบาท ส่วนเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน คือพวกธนาคารต่างๆ ขณะที่ระบบการชำระเงินคือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน 

ส่วน"การดำเนินภารกิจตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย"นั้น ไม่ได้หมายถึงให้ธปท.ทำตาม แต่ให้คำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

"ใครที่เข้ามาเป็นรมว.คลังก็ดี ใครเข้ามาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลก็คือ เพื่อให้ เรามีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทุกรัฐบาล จะต้องมีนโยบายที่ทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ก็หมายถึงระบบการเงินเอง ก็ต้องมีเสถียรภาพ มันมีความเชื่อมโยงกัน"

"สมหมาย-อดีตรมว.คลัง"กล่าวอีกว่า สำหรับพฤติการณ์ของรัฐบาลนี้ ที่ผมใช้ศัพท์ ยุ่มย่าม ก้าวก่าย ผมขอใช้ศัพท์คำนี้ ยุ่มย่ามก้าวก่าย เพราะผมเคยเห็นมา เพราะผมทำงานเรื่องนี้ ผมเคยอยู่กระทรวงการคลัง ผมจึงต้องสนใจเรื่องระบบการเงิน ต้องสนใจ ธปท.เพราะผมต้องทำงานร่วมกับธปท. เพราะอย่างตอนช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ผมก็เคยเข้าไปนั่งเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ทำให้รู้เรื่องพวกนี้ดี

"ถ้าหากว่านักการเมืองเข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายมาก ต่างชาติ ก็จับตามองอยู่ อย่างคนที่จะลงทุน ก็อาจไปเวียดนามแทน เพราะอย่างช่วงหลังเวียดนาม เริ่มมีการปรับตัวเช่นมีการออกกฎเหล็กเรื่องการปราบคอรัปชั่น หรือฝ่ายการเมืองพบว่าไม่เคยไปยุ่มย่ามกับธนาคารกลาง แต่ของไทย ถ้ารัฐบาลทำแบบนี้มันทำให้ความมีเสถียรภาพของนโยบายการเงินมันเสื่อม ค่าเงินบาทก็อาจมีปัญหา"

เตือนหากคิดแก้กม.ธปท. หวังปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ  รัฐบาลอาจอยู่ไม่ถึงตอนโหวต!

-หากต่อไปในอนาคต ถ้าฝ่ายการเมือง จะมีแนวคิดในการแก้ไขพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถเข้าไปควบคุมได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้สามารถเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ง่ายขึ้น?

ถ้าคิดจะแก้กฎหมายเพื่อต้องการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯแบงก์ชาติ มันก็คงง่ายไปหน่อย หรือจะแก้เพื่อเข้าไปดูแลอะไรต่างๆ ที่ผมก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอยู่ถึงทันพอที่สภาฯจะโหวตกฎหมายที่จะแก้ออกมาได้หรือไม่ ผมตั้งข้อสังเกต คือคนไทยปัจจุบันตื่นตัวกันมาก คนสนใจเรื่องรอบตัวเขามากขึ้น คือเรื่องนี้ไม่ต้องให้อดีตผู้ว่าฯธปท.ออกมาพูด คนที่พอรู้เรื่อง เขาก็เห็นว่ามันดีอยู่แล้ว (พรบ.ธปท.)

ยิ่งหากจะเอาเรื่องเฉพาะจุดมาแก้ไขกฎหมายแบบนี้ มันจะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะหากแก้ อาจถูกลากเข้ารกเข้าพงหนักขึ้น อย่างประเทศไทย สิ่งที่เราขาดมากๆ ก็คือ ความเป็นธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ประเทศไทยยังต่ำ ก็หมายถึง Good Governance     ของความเป็นรัฐบาลต่ำมาก พวกรัฐมนตรีมีใครเคยพูดถึงเรื่องพวกนี้บ้าง เพื่อทำให้เรื่อง  Good Governance ดูดีกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่มันเป็นทั้งระบบตามหลักแบ่งแยกอำนาจ เรื่องนี้เป็นที่กล่าวขานกันมากขึ้นว่าเราเสื่อมทรามลง

"สมหมาย-อดีตรมว.คลัง"กล่าวอีกว่า ช่วงแปดเดือนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้าบริหารประเทศ โลกมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เช่นมีเหตุการณ์ทำสงครามระหว่างประเทศ ก็ทำให้เรื่องการค้าก็ตกไป ความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตก็ลดลง ส่วนการส่งออกก็ไม่เหมือนเดิมช่วงหลังก็ไม่ค่อยเสถียร หุ้นก็ตกลงมามาก ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ค่อยโต คนที่ลงทุนในตลาดทุน-ตลาดหุ้นจะรู้ดี

 สำหรับสาเหตุที่สภาพเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ บางคนก็บอกว่าเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่การเมืองในประเทศไทยถือว่าดี เพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากถามว่ายังมีอะไรที่ไม่ดี ก็เรื่องความเชื่อถือในสถานะของประเทศไทยในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงิน ต่างชาติมองว่าชักจะมีความเสี่ยง ความเห็นก็จะออกมาในลักษณะว่ามันไม่นิ่ง มันกระเทือน แล้วต่อไปใครจะมาลงทุน ใครจะมาซื้อหุ้นเมืองไทย ไปซื้อหุ้นประเทศอื่นไม่ดีกว่าหรือ เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจของหลักทรัพย์ไทย ก็ค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็มากกว่ายี่สิบเปอร์เซ็นต์แล้ว

นักการเมืองต้องคิดถึงเรื่องพวกนี้ด้วย อย่างที่มีการพูดกันถึงเรื่องจะทำโครงการต่างๆ แล้วทำไมโครงการที่ดีๆ ของรัฐบาลก่อนหน้านี้เช่นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการอีอีซี ทำไมไม่เห็นมีใครออกมากล่าวถึงบ้าง มันติดอะไรอยู่ ทั้งที่เคยสนับสนุนกันดีๆ จนเป็นโครงการเพชรน้ำหนึ่งของประเทศ แต่ครั้นพอมีเลือกตั้ง เปลี่ยนรัฐบาลก็ไปพูดเรื่องอื่น เช่นโครงการแลนด์บริดจ์

-สุดท้ายแล้ว มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายการเมืองกับแบงก์ชาติอย่างไรบ้าง?

ผมว่ารัฐบาลเอาเวลาไปคิดเรื่องอื่นเถอะ คิดเรื่องที่ทำให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา ส่วนเรื่องนามธรรม ขายฝัน คิดหรือว่าคนจะเคลิ้มด้วย หรือก็ไม่ใช่ เพราะคนก็คิดเป็น ผมว่าต้องใช้เวลาให้ถูกเรื่องถูกราว อันนี้มันสร้างความเสื่อมเสียในเรื่องความเชื่อมั่นในระบบการเงินของเรา ไม่ใช่คิดแต่เรื่องจะแก้ จะใช้เงิน ทำเป็นว่ามีเงินมากมาย

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

'วิสุทธิ์' เผยฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย ร่างคําฟ้องเช็กบิล 'ธีรยุทธ' แล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง ว่า ตนได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

'จตุพร' ปลอบและปลุก อดทนเฝ้าคอยยังมีอีกหลายยก!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ศาล รธน.รับคำร้องคลาดเคลื่อน แม้ถูกเย้ยหยันหน้าแตก แต่ถัดจากนี้ไปขอให้ประชาชนอดทนเฝ้ารอสถานการณ์