ความผิดพลาดไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

ภาพจาก wiki

ช่วงหนึ่งในชีวิตการทำงานของผู้เขียน เป็นงานเกี่ยวกับการกำกับดูแล และตรวจสอบการทำงานของพนักงานในห้องค้าเงินเพื่อป้องกันการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ อันจะส่งผลเสียต่อองค์กรทั้งด้านการเงิน และการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบทั้งภายในและภายนอก ด้วยลักษณะธุรกิจของห้องค้าเงินที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปริมาณธุรกรรมที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับทั้งผู้ทำหน้าที่ควบคุม พนักงานผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงานตรวจสอบภายใน หลายครั้งเป็นความผิดซ้ำซากเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และมักจบลงที่การลงโทษพนักงานที่ปฏิบัติงานผิดพลาด 

มีการกล่าวโทษกันไปมาทำนองตำหนิว่าเดินอย่างไรให้หมาเห่า แทนที่จะทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาว่าหมาเห่าเพราะเราเดินตามคนที่ตำหนิเข้าใกล้อาณาเขตของพวกมัน หรือเพราะเรามีความจำเป็นต้องใช้เส้นทางนั้นในเวลากลางคืนเพื่อไปตามแพทย์มารักษาญาติที่เจ็บป่วยอยู่ และถ้าเราตั้งใจพิจารณาให้ลึกลงไปกว่านั้นก็อาจพบว่าญาติที่เจ็บป่วยเพราะอุบัติเหตุบ้านสร้างไว้ไม่ถูกต้องจึงเกิดความเสียหายจากพายุฤดูร้อน เราตำหนิสิ่งที่เห็นชัดเจนใกล้ตัวโดยไม่สนใจค้นหาสาเหตุเบื้องหลังอย่างจริงจัง และปล่อยให้ต้นตอของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างน่าเสียดาย    

หนังสือชื่อ Right Kind of Wrong เขียนโดยดอกเตอร์ Amy Edmondson ได้รับรางวัล Best Business Books ประจำปี 2023 ของหนังสือพิมพ์ Financial Times กล่าวถึง ความผิดพลาดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งไม่ดีเสมอไป เพราะความผิดพลาดทุกประเภทนำมาซึ่งโอกาสสำหรับการเรียนรู้และการปรับปรุงให้ดีขึ้น หนังสือได้แบ่งประเภทของความผิดพลาดตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดพลาด เพื่อชี้ให้เห็นโอกาสในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผิดพลาดไม่ให้ลุกลามบานปลาย และป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำเดิม หนังสือยกตัวอย่างจากกรณีศึกษา และผลการทดลองทั้งทางจิตวิทยาและประสาทวิทยาไว้น่าสนใจมากมายหลายชิ้น ดอกเตอร์ Amy Edmondson ปัจจุบันเป็น Professor ทางด้าน Leadership and Management อยู่ที่ Harvard Business School 

บทความนี้พยายามเก็บความรู้บางส่วนจากหนังสือดังกล่าว เพื่อสร้างมุมความคิดให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการตรวจสอบ และผู้บริหารองค์กรให้มองภาพ และพิจารณาผลการตรวจสอบในอีกแง่มุมหนึ่งที่ลึกลงไปกว่าการสาเหตุและวิธีแก้ไขอย่างฉาบฉวย และหันใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติให้ดีขึ้น แทนการมุ่งชี้ความผิดและลงโทษพนักงาน ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดความปลอดภัยที่พนักงานทุกคนสามารถพูดถึงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ปัญหา ความวิตกกังวล (แม้ว่ายังไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น) ตลอดจนร้องขอความช่วยเหลือ ได้โดยไม่ถูกตำหนิ หรือลงโทษ ซึ่งหนังสือเรียกว่า ความปลอดภัยทางจิตวิทยา (Psychological Safety) ในที่ทำงาน มิฉะนั้น ความผิดเล็กๆ น้อยๆ จะถูกซุกไว้ใต้เสื่อ และสะสมจนเป็นปัญหาใหญ่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้พนักงานมีความกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในที่สุด 

ดอกเตอร์  Edmondson ให้ความสนใจเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สนใจการพัฒนาองค์กรว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จนได้พบสิ่งหนึ่งที่มีลักษณะจำเพาะ เป็นสิ่งเล็กๆ ที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบอย่างมาก ที่เรียกว่า Psychological Safety (คำจำกัดความตามย่อหน้าที่แล้ว) ที่ช่วยให้มนุษย์ที่ต้องทำงานร่วมกันสามารถยอมรับการกระทบกระทั่งระหว่างกันได้ หรือที่หนังสือเรียกว่า Interpersonal Risk ซึ่งการยอมรับความเสี่ยงดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจว่าการที่เราต้องอยู่ร่วมกัน เราจะวางตัวของเราอย่างไร มีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนว่า Psychological Safety มีผลสนับสนุนผลงานของพนักงานโดยเฉพาะในงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหรืองานด้านนวัตกรรมหรืองานที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการ 

ในระหว่างการทำงานวิจัยดังกล่าว ดอกเตอร์ Edmondson ได้พบความเป็นไปได้ที่จะเกิดความล้มเหลว จึงได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับความล้มเหลว และยอมรับมันในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตลอดจนยอมรับความเสี่ยงที่บางครั้งเราถูกและบางครั้งเราก็อาจผิดและจบลงที่ความล้มเหลว โดยที่เราต้องไม่กลัวหรือลังเลที่จะยอมเสี่ยง

บทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ การฝ่าฝืน ที่เกิดจากการปฏิบัติผิดไปจากกฎระเบียบที่วางไว้โดยตั้งใจ ซึ่งเป็นความผิดอย่างชัดเจน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ความผิดพลาด ซึ่งหมายถึง ผลลัพธ์ที่เบี่ยงเบนไปจากผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือความคลาดเคลื่อน คือ การเบี่ยงเบนไปจากกระบวนการ หรือกฎเกณฑ์ที่วางไว้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งความผิดที่จัดว่าเป็นความผิดในแบบที่ดี (Right Kind of Wrong) คือ ความผิดที่นำข้อมูลที่มีประโยชน์ให้แก่เรามาใช้สำหรับการเรียนรู้ และการปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ต้องอาศัยทักษะหลายๆ ด้านจึงจะสามารถนำสิ่งที่ดีที่เกิดจากความผิดพลาดมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ ความรู้ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก โดยจุดเริ่มต้นต้องมาจากการยอมรับว่า ความผิดพลาด คือ ธรรมชาติของมนุษย์ และความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในกระบวนการที่จะก้าวหน้า

การศึกษาเกี่ยวกับความผิดในแบบที่ดี ระบุว่า มี 3 ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค์ต่อการเป็นความผิดในแบบที่ดี คือ สัญชาตญาณของคนที่ไม่ชอบความล้มเหลว ความสับสนเกี่ยวกับความล้มเหลวประเภทต่างๆ และความกลัวที่จะไม่ได้รับการยอมรับ 

ความไม่ชอบความล้มเหลวเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย แม้ว่าความล้มเหลวจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม คนให้น้ำหนักความพ่ายแพ้มากกว่าการชนะ โดยเฉพาะพวกผู้สมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ซึ่งยึดติดกับมาตรฐานที่สูงส่งเกินจริง ก็จะยิ่งเป็นผู้ที่ไม่ยืดหยุ่นกับผลลัพธ์ จนวิตกกังวล ซึมเศร้า ตรงข้ามกับผู้ที่มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถก้าวข้ามการไม่ชอบความล้มเหลว วิธีการหนึ่งที่หนังสือกล่าวถึง คือ การปรับกรอบความคิดเสียใหม่ โดยได้ยกตัวอย่าง นักกีฬาที่ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงโอลิมปิก นักกีฬาที่ได้เหรียญทองแดงมีความสุขมากกว่าเพราะมองว่าถัดไปอีกลำดับเดียวก็จะไม่ได้เหรียญใดๆ เลย ส่วนนักกีฬาเหรียญเงินกลับไม่มีความสุขเพราะมองว่าอีกนิดเดียวก็จะได้เหรียญทองแล้ว

ความกลัว ว่าจะถูกมองไม่ดีในสายตาผู้อื่น หรือถูกปฏิเสธจากสังคม ความกลัวจะไปยับยั้งการเรียนรู้ ความจำ และการตีความข้อมูลที่ได้รับเข้ามา ซึ่งหมายรวมกึง การเรียนรู้จากความผิดพลาด ความกลัวยังขัดขวางการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันมีแรงกดดันให้คนต้องทำตัวให้ดูประสบความสำเร็จแบบที่ไม่เคยเป็นมาในอดีต ในยุคโซเชียลมีเดีย คนหมกมุ่นอยู่กับการนำเสนอชีวิตปรุงแต่งเพื่อตามล่าหาจำนวน “Like” อย่างไม่หยุดหย่อน

งานวิจัยของดอกเตอร์ Edmondson ได้รวบรวมหลักฐานไว้จำนวนมากว่า Psychological Safety มีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา หรืองานเกี่ยวกับนวัตกรรม ต้องการความปลอดภัยนี้ในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง เพราะ Psychological Safety ช่วยให้เราทำและพูดในสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ และทำให้เกิดความก้าวหน้าในโลกที่เปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน

ถึงตรงนี้ บางคนอาจเกิดข้อขัดแย้งในใจว่า ในการทำธุรกิจมี มีแรงกดดันให้ต้องทำกำไรให้ได้ตามเป้า ไม่มีเวลามาคำนึงถึงการสร้างความปลอดภัยในทางจิตวิทยาหรอก และขณะเดียวกันก็เข้มงวดกับพนักงานที่ก่อให้เกิดความผิดพลาดและพร้อมที่จะลงโทษ บางแห่งถึงขั้นกำหนดให้ความผิดพลาดบางกรณีเป็น zero tolerant พร้อมทั้งเห็นว่า ถ้าคนไม่ยึดถือความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวแล้ว อะไรจะทำให้พวกเขาทำงานได้ดีที่สุด แต่กลับไปสนับสนุนให้ผลงานแย่ลงเสียด้วยซ้ำ หนังสือ Wright Kind of Wrong บอกว่า วัฒนธรรมที่ทำให้มีความปลอดภัยในการพูดถึงความผิดพลาด สามารถเกิดขึ้นร่วมกับมาตรฐานที่สูงในการทำงานได้ ในทางกลับกัน มาตรฐานการทำงานที่สูง แต่ปราศจากความปลอดภัยทางจิตวิทยา กลับเป็นสูตรสำเร็จของความล้มเหลว พนักงานมีแนวโน้มที่จะเกิดความวุ่นวายเนื่องจากความเครียด หรือเมื่อพนักงานมีคำถามเกี่ยวกับงานที่ทำแต่ไม่สามารถถามใครได้ (หมายเหตุ – การกำหนดความผิดพลาดเป็น zero tolerant หรือห้ามเกิดความผิดพลาดในเรื่องนั้นๆ ขึ้นเลย องค์กรต้องมั่นใจว่ามีการจัดการสภาพแวดล้อม ขบวนการทำงาน คู่มือการทำงาน เครื่องมือต่างๆ เช่น checklist และวิธีการแก้ไขเบื้องต้น ไว้ให้พร้อมด้วย)

ความสับสนเกี่ยวกับความผิดพลาด เกิดจากมีการให้ความสนใจกันมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีบริษัทใดยกย่องเชิดชูผู้จัดการโรงงานที่สายการผลิตเกิดความผิดพลาดบ่อยครั้ง จึงเกิดความสับสนขึ้น แต่ก็สามารถทำให้กระจ่างได้ด้วยการทำความเข้าใจประเภทของความล้มเหลว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามเนื้อหาสาระของความล้มเหลว คือ ความล้มเหลวแบบพื้นฐาน (Basic Failures) ความล้มเหลวที่ให้ความรู้ (Intelligent Failures) และความล้มเหลวแบบซับซ้อน (Intelligent Failures)

 ความล้มเหลวที่นำความรู้ใหม่ๆมาให้ (Intelligent Failures) เป็นความล้มเหลวประเภทเดียวที่เป็น ความผิดในแบบที่ดี (Right Kind of Wrong) ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีสูตร แบบแปลน หรือแนวทางเขียนไว้ให้นำไปปรับใช้ ลักษณะที่สำคัญคือความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประการที่สอง เป็นโอกาสที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ประการที่สาม ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์เป็นอย่างดีว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หรือการมีแรงผลักดันจากสมมติฐานที่มีการทำการบ้านอย่างหนัก และมีเหตุผลให้เชื่อว่าเราจะถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และประการสุดท้าย ความล้มเหลวมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากความล้มเหลวทำให้สิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากร   

ความล้มเหลวประเภท Intelligent นี้ เป็นเรื่องที่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ ทำให้เราต้องทำการทดลองเพื่อดูว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ งานของแผนก R&D หรือแม้แต่การหาคู่แบบนัดบอดก็มีโอกาสล้มเหลวในลักษณะนี้

ในบทที่ 5 ดอกเตอร์ Edmondson ได้กล่าวถึง Ray Dalio เจ้าของและผู้ก่อตั้งกองทุน Bridgewater ว่า ในปี 1982 ในขณะที่มีอายุได้ 33 ปี เขาได้พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำสู่ระดับวิกฤติ เขามั่นใจในการพยากรณ์ของเขาอย่างยิ่ง และบอกตัวเองว่าคนส่วนใหญ่คิดผิด เขาจึงเสี่ยงทุ่มเงินที่มีทั้งหมดไปในการลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนจำนวนมหาศาล แต่ปรากฏว่า แทนที่เศรษฐกิจจะถดถอย แต่กลับกลายเป็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐกลับเติบโตยาวนานเป็นประวัติการณ์ ถึงตรงนี้คงเห็นได้แล้วว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน แต่ความผิดพลาดของ Dalio ก็ไม่ใช่ความล้มเหลวแบบ Intelligent แม้ว่าเขายุ่งเกี่ยวกับสิ่งใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของโอกาสในการลงทุน และได้ทำการวิเคราะห์อย่างดีแล้ว แต่ Dalio พลาดเงื่อนไขสำคัญของ Intelligent ไปหนึ่งข้อ คือ ความเสี่ยงต้องมีขนาดเล็ก เขาเดิมพันสูงเกินไปเมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ Dalio กล่าวว่า “ผมถังแตกถึงขนาดต้องยืมเงินจากพ่อ 4 พันดอลลาร์ มาใช้จ่ายในครอบครัว” ปัจจุบัน Dalio ให้ตวามสำคัญกับความล้มเหลวในครั้งนั้นว่าเป็นสาเหตุสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ เพราะมันได้มอบความอ่อนน้อมถ่อมตน และลดความมุทะลุดุดันลง พร้อมทั้งเปลี่ยนกระบวนการคิดจากการคิดว่าตนถูกเสมอ ให้ถามตัวเองก่อนว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าตัวเราเองนั้นถูก เป็นบทเรียนที่เขาได้รับ    

ความล้มเหลวประเภทพื้นฐาน (Basic Failures) เป็นเรื่องของความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นภายใต้ความรู้ที่มีการพัฒนาแล้วเป็นอย่างดี มีกระบวนการ แบบแผนการปฏิบัติงานที่สามารถระบุถึงผลลัพธ์ได้แน่นอน เป็นแผนและงานที่ทำเป็นประจำ และเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากสาเหตุเดียว แม้ว่าความล้มเหลวประเภท Basic ไม่ใช่ความผิดในแบบที่ดี แต่เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับความล้มเหลวประเภทนี้ ก็เพื่อทำให้เกิดความล้มเหลวให้น้อยที่สุด ด้วยการพิจารณาว่าอะไรคือความคลาดเคลื่อนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และขณะเดียวกันก็ตรวจสอบให้เจอความคลาดเคลื่อนที่เหลืออยู่เพื่อแก้ไขได้ทันเวลา เพราะเราไม่สามารถขจัดความผิดพลาดของมนุษย์ได้ทั้งหมด และมันทำให้เราได้ฝึกฝนความรู้สึกว่าการทำผิดและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราต้องยินดีที่จะเผชิญและเรียนรู้จากการทำผิดของเรา และเอาชนะความรู้สึกไม่ชอบความล้มเหลว

ลักษณะพื้นฐานของความล้มเหลวประเภท Basic ที่น่าสนใจ คือ 

  1. เป็นความผิดพลาดที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ต้องอาศัยความฉลาดหรือการแทรกแซงใดๆ 
  2. การลงโทษนอกจากจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดประเภทนี้ได้แล้วยังมีผลให้คนไม่ยอมรับความผิดพลาดและไปเพิ่มโอกาสให้เกิดความผิดพลาดปกติสามารถหลีกเลี่ยงได้
  3. ความล้มเหลวประเภท Basic เกิดขึ้นเพราะการไม่ได้ให้ความสนใจ หรือการตั้งสมมติฐานผิดๆ หรือความมั่นใจเกินไป หรือความประมาทละเลย ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำพูดว่า ฉันเคยเห็นมาแล้ว ฉันรู้ดี หรือฉันเชื่อว่า

สุดท้าย คือ ความล้มเหลวประเภทซับซ้อน (Complex Failure) เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากหลายๆ สาเหตุร่วมกัน และมีอย่างน้อยหนึ่งปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยแต่ละสาเหตุเป็นเหตุการณ์ที่เคยมีประสบการณ์ หรือรู้จักเป็นอย่างดีมาก่อน แต่มีความมั่นใจจึงไม่ระมัดระวัง ยกตัวอย่าง นักประดาน้ำที่มีประสบการณ์สูงแต่เสียชีวิตจากการสอนดำน้ำเพราะลืมเปิดถังอากาศ ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นความล้มเหลวประเภท Basic แต่จากการสอบสวนลึกลงไปพบว่า นักเรียนเป็นพลทหารยศต่ำกว่าจึงไม่กล้าทักท้วง มีการเปลี่ยนกำหนดการดำน้ำอยู่หลายครั้ง และสุดท้ายเป็นวันหยุดของผู้ตายที่เปลี่ยนใจมาสอนในวันดังกล่าว โดยทั่วไปการเกิดความล้มเหลวประเภท Complex นี้จะมีสัญญาณเตือนซึ่งมักจะถูกละเลยหรือมองข้าม เช่น สวัสดิการที่นายจ้างจัดหาให้ลูกจ้างมีคุณภาพไม่ดี ทำให้ลูกจ้างไม่พอใจและต้องการลาออก จึงเร่งงานให้เสร็จตามกำหนดการ ทำให้ไม่ทำการตรวจสอบความปลอดภัยจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น

การพิจารณาเกี่ยวกับความล้มเหลวประเภท Complex มีความยุ่งยากกว่า 2 ประเภทแรก เนื่องจากเกิดจากปัจจัยมากกว่าหนึ่งประเภท และมีความสัมพันธ์กัน ปัจจุบันความล้มเหลวประเภท Complex มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นตามความก้าวหน้าและความซับซ้อนของเทคโนโลยีสารสนเทศที่อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ลองคิดถึงโรงงาน ห่วงโซ่อุปทาน และงานด้านปฏิบัติการ ของหลายๆ อุตสาหกรรมที่ความผิดพลาดเล็กๆ ณ จุดเดียวสามารถส่งผลกระจายเป็นใยแมงมุมจนไม่สามาถควบคุมได้ อุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกที่เชื่อมโยงทุกๆ ธนาคาร และครัวเรือนอีกนับไม่ถ้วนในแต่ละประเทศ ทำให้เรามีความอ่อนไหวต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบนอีกด้านหนึ่งของโลก ข้อมูลจำนวนมากที่เก็บไว้แบบดิจิตอลที่โตอย่างก้าวกระโดดเพราะราคาคอมพิวเตอร์ที่ถูกลง ความเชื่อมโยงเหล่านี้ทำให้ความล้มเหลวประเภท Complex แผ่กระจายฝังรากลงลึกมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ เหตุการณ์ระบาดโควิดที่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักงันไปทั่วโลก

เริ่มต้นจากการยอมรับว่า ความผิดพลาดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้พนังงานยินดีแบ่งปันข้อมูลความผิดพลาดตั้งแต่เนิ่นๆ กล้าถามคำถามและขอความช่วยเหลือ หรือที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า Psychological Safety แล้ว ยังได้มีการเสนอแนะแนวทางการลดความผิดพลาดประเภท Basic และ Complex หรือนำมาใช้เป็นความรู้ไว้หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำรายงานที่ไม่ถูกตำหนิ (Blameless Reporting) การทำ Checklist การปรับองค์กรภายในให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโลกที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น การให้ความสนใจต่อสิ่งบอกเหตุ การรู้ว่าเมื่อใดควรยกเลิกโครงการก่อนสูญเสียเวลาและทรัพยากรไปมากกว่าที่ควรจะเป็น การกล่าวคำขอโทษช่วยซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากความล้มเหลวทั้งภายในและภายนอกองค์กร 

หนังสือ Right Kind of Wrong ได้พูดถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายเรื่องยังเป็นประโยชน์แก่ความสัมพันธ์ของครอบครัว หลายๆ ตัวอย่างที่ได้ยกมาเป็นเรื่องน่าสนใจ อ่านได้สนุกสนานเพลิดเพลิน ให้มุมมองของการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
วิจักษณ์ ศิริแสร์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต

วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

นโยบายและกฎหมายรัฐบาลดิจิทัล (ตอนที่ 1) : งานหลังบ้านที่ถูกมองข้าม 

ในปี 2562 และ 2565 รัฐบาลได้ออกกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับความเป็นรัฐบาลดิจิทัล 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล (พ.ศ. 2562) และ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (พ.ศ. 2565) กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกออกแบบมาโดยเจตนาเพื่อให้กระตุ้นให้เกิดความเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างยิ่งยวด