ถ้าทั้งสองฝ่าย เริ่มไปสร้างทัพขึ้นมาทั้งสองทัพ แล้วเคลื่อนเข้าหากัน ความขัดแย้งมันจะกลับมา แล้วมันจะรุนแรง ตรงนี้รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ เพราะต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น แต่ถ้าต้องแลกด้วยความขัดแย้งที่มันจางลงไปแล้วตอนนี้ ประเทศควรสงบได้ แล้วเราจะไปจุดไฟในนาครขึ้นมาทำไม เราก็เลยจะพูดให้ชัดเลยว่า จะไม่แก้หมวดหนึ่งกับหมวดสอง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ที่มี "ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์"แกนนำรัฐบาลเพื่อไทยเป็นประธาน ที่เสนอต่อที่ประชุมครม.ถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯว่า ควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่
โดยการจัดทำประชามติครั้งที่ 1 จะกำหนดคำถามประชามติว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
ทั้งหมดคือ บันไดบนเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รายการ”ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด”โดย”สำราญ รอดเพชร”สัมภาษณ์พิเศษ"นิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560" ที่มาอธิบายกระบวนการ-ขั้นตอนการทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“นิกร แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา-โฆษกกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560"เริ่มด้วยการกล่าวว่า เรื่องรัฐธรรมนูญซับซ้อนและพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ ซึ่งมีประสบการณ์เรื่องรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2534 ที่เจอวิกฤตรัฐธรรมนูญกระแทกจนต้องร้องไห้ ที่เกิดเหตุการณ์"พฤษภาทมิฬ 35" ซึ่งประเด็นปัญหาเกิดจากเรื่องรัฐธรรมนูญ
เพราะช่วงนั้นมีความพยายามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้ง มาจากการเป็นส.ส. ก็มีการสู้กัน มีการลงถนน ที่ตอนนั้นผมก็เป็นส.ส.สงขลา จนช่วงหลังผมมักบอกกับน้องๆ นักการเมืองรุ่นหลังว่าไม่อยากให้เกิดสภาพแบบในอดีตอีกที่ช่วงนั้นมีความขัดแย้งกันรุนแรง มีประชาชนปะทะกัน จนเสียชีวิต ซึ่งจากประสบการณ์ความเจ็บช้ำจากเรื่องรัฐธรรมนูญ ทำให้ผมคิดว่าจะต้องไม่ให้เกิดอีกแล้ว แต่วิกฤตรัฐธรรมนูญมันพร้อมที่เกิดได้ตลอดเวลา
ต่อมาในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง(ปี 2538) นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ไปหาเสียงที่ภาคใต้ โดยได้ประกาศว่าจะปฏิรูปการเมือง ผมก็เคยถามท่านบรรหารว่าจะไหวหรือ มันยากมาก แต่ท่านบรรหาร ก็บอกว่าผมพูดกับประชาชนไปแล้ว ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีท่านบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นผมเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในช่วงหนึ่ง ท่านบรรหารก็เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุยกัน ท่านบรรหาร ก็บอกกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า "ผมจะปฏิรูปการเมือง จะแก้รัฐธรรมนูญ จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่"ก็มีบางพรรคบอกว่า ไม่เห็นด้วย ท่านบรรหาร ก็บอกว่า"หากไม่เห็นด้วย ก็อยู่กับรัฐบาลไม่ได้เพราะผมสัญญากับประชาชนแล้ว"ซึ่งคำตรงนี้ เป็นหลักการที่เราพยายามให้รัฐบาลพูด ซึ่งรัฐบาลปัจจุบัน ก็พูดแล้ว ตรงนี้มันคือคำมั่นสัญญาทางการเมือง และกลายเป็นนโยบายรัฐบาลไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สำหรับรัฐบาล มันเป็นเดิมพัน
"นิกร"กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ดีที่สุด เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ก็ถูกฉีกไป(หลังการรัฐประหารปี 2549) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีภาพจำที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) หลังจากนั้น ก็ไม่เคยเกิดอีก ภาพจำดังกล่าวจึงเป็นธงเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
รัฐบาลปัจจุบันมีแนวนโยบายคือทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ที่ก็คือ
หนึ่ง ให้หลุดจากความเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจที่ก็คือรัฐธรรมนูญ 2560
สอง ให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีประเด็นที่รัฐบาลเคยให้สัญญากับประชาชนไว้ก่อนหน้านี้คือ จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 ทั้งหมดคือคำสัญญาที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2
ซึ่งตอนช่วงฟอร์มรัฐบาลที่มีการข้ามฝั่ง ฟากหนึ่งไม่แก้ เพราะเหตุผลเช่นรัฐธรรมนูญดีอยู่แล้ว แต่เมื่อไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล มันมีสิ่งที่ผูกมัดอยู่สองข้อ ที่ก็รวมถึงของพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย ตอนจัดตั้งรัฐบาล คือ หนึ่ง ต้องไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 สอง แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีสสร.แต่ต้องไม่แก้ไขหมวดหนึ่ง และหมวดสอง ที่เป็นหลักการในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นเรื่องผูกมัดที่ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามคำพูด
เล็งแก้กม.ประชามติ ปลดล็อก Double majority
-มติครม.ที่เห็นชอบด้วยกับการให้ทำประชามติสามครั้ง เนื้อหาในการทำประชามติครั้งแรกให้ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ "แล้วขั้นตอนต่อจากนี้เป็นอย่างไร ?
ก่อนจะไปถึงว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เรายังต้องเจออีกหลายกำแพง ไปเจอ"กับระเบิด"อีกหลายลูก แต่ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี คือเวลาทำงานผมจะดูเป้าหมายการทำงานเป็นหลัก เราจะดูที่ "ธง"ที่จะไป ซึ่งเท่าที่คุยกันในกรรมการฯ รวมถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯที่เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯก็คือ เราตั้งใจทำให้เสร็จในช่วงวาระของสภาฯ ชุดปัจจุบัน ที่เหลือเวลาอีกประมาณสามปีครึ่ง และตั้งเป้าว่า การเลือกตั้งส.ส.ครั้งต่อไป จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะเราตั้งใจให้ประชาชนเป็นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ
ขั้นตอนต่อจากนี้หลังมีมติครม.ดังกล่าว ก็จะคุยกันว่าจะให้ทำประชามติครั้งแรกเมื่อใด โดยจะต้องถามประชาชนก่อนที่จะเริ่มทำอย่างอื่น เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนลงมติเห็นชอบให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ก็คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ก็มีบางคนเช่นนักวิชาการบอกว่า มันไม่ใช่การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะคำถามที่ถามประชาชนตอนทำประชามติ ยังคงไว้ซึ่งหมวดหนึ่งกับหมวดสอง ที่ก็คือไม่ใช่การยกเลิก ซึ่งตอบได้ว่า หากไม่ทำแบบนี้ (ทำประชามติครั้งแรก) ก็เอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญูเข้ารัฐสภาไม่ได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า ตราบใดที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยในร่างให้มี สสร. ซึ่งหากมีเรื่องนี้เมื่อใด มันก็คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า คือจะไม่ให้มีรัฐธรรมนูญ2560 จะให้มีฉบับใหม่ หลักตรงนี้ก็คือ จะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะนำหมวดหนึ่ง-หมวดสอง (ในรัฐธรรมนูญ 2560 )มาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
ขั้นตอนต่อไป ก็คือ การทำตามกฎหมายประชามติ ซึ่งตรงนี้ เป็นกำแพงใหญ่ ที่ต้องคุยกันให้ชัด โดยตอนนี้ที่เราคุยกับกกต. ก็คือเรื่องงบประมาณ ซึ่งก็ได้ตัวเลขมาคือ 3,200 ล้านบาท โดยมีหน่วยทำประชามติที่จะเหมือนกับการเลือกตั้งคือประมาณ เก้าหมื่นหน่วย และก็ต้องไปคุยรายละเอียดส่วนอื่นๆ เช่น ค่าประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมาคุยกันเรื่องกฎหมายประชามติ ว่ากกต.เห็นควรอย่างไรในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน เพราะยังมีประเด็นปัญหา เพราะคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญฯ ศึกษามาแล้วก็เห็นว่ามันจะเป็นปัญหา ดังนั้นถ้าจะต้องแก้ ก็ต้องมาดูกันก่อนว่า กฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายปฏิรูปหรือไม่ หากเป็นกฎหมายปฏิรูป ก็ต้องให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาแก้ไข หรือว่าเป็นกฎหมายปกติ เพราะว่าตอนนี้มันกำลังคาบเกี่ยวอยู่ว่า วุฒิสภาชุดปัจจุบัน กำลังจะหมดอำนาจ ซึ่งก็ได้เสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมครม.ไปแล้วเมื่อ 23 เมษายนที่ผ่านมาว่าหากจะแก้กฎหมายประชามติ จะต้องแก้ไขอะไรบ้าง
ดังนั้น ขั้นตอนต่อไป ก็คือ ต้องคุยกับกกต.ที่ก็จะคุยกันโดยเร็ว และกำหนดวันว่าจะทำประชามติเมื่อใด ทำช่วงไหน ซึ่งตามกฎหมายประชามติปัจจุบันที่ใช้อยู่ จะใช้เวลาไม่เกิน 90 วันนับจากวันที่ครม.มีมติให้ทำประชามติ แต่หากมีการแก้ไขกฎหมายประชามติหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็ขยับได้ แต่หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายประชามติ ก็ต้องมาให้ครม.เคาะโดยให้มีมติออกมาเพื่อว่าจะได้ดูว่าจะให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด แต่หากไม่คิดจะแก้กฎหมายประชามติ ก็ต้องรีบเคาะออกมา แต่เท่าที่ฟังความเห็นต่างๆ เช่นฝ่ายค้านเอง ก็มีความกังวลในเรื่องข้อกฎหมายอยู่ เพราะการทำประชามติ มันมีค่าใช้จ่ายเยอะ ที่เป็นภาษีของประชาชน
-ไม่ได้กังวลเรื่องประชามติจะไม่ผ่าน?
เรื่องนี้ก็กังวลเพราะว่าเรื่องของกฎหมายประชามติที่ใช้อยู่ มันเป็นปัญหา ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยกันหมด ก็คือเรื่องDouble majority ที่เป็นการเอาเปรียบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผ่านประชามติมาแค่ชั้นเดียว คือประชามติแบบปกติ ใช้เสียงข้างมาก แต่ต่อมามาแก้ไข พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาเขียนกฎหมาย โดยให้ทำประชามติสองชั้น พอไปให้ต้องทำประชามติสองชั้น ก็เท่ากับว่า มันไม่เหมือนกับต้นทางที่เข้ามา แบบนี้ถือว่าเอาเปรียบ ทำให้ยากขึ้น ดังนั้น ถ้าจะแก้พรบ.การออกเสียงประชามติ ก็ต้องแก้เป็นให้ใช้เสียงข้างมาก เหมือนกับตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช้แค่เสียงข้างมาก
-แนวทางจะเป็นแบบไหน คือทำประชามติครั้งแรกไปก่อน โดยใช้กฎหมายประชามติที่ใช้ปัจจุบัน แล้วค่อยไปแก้กฎหมายเพื่อไว้ใช้ทำประชามติครั้งที่สองและครั้งที่สาม หรือว่าจะแก้กฎหมายประชามติก่อนทำประชามติครั้งแรก?
ทางเลือกตรงนี้ก็เป็นได้ แต่ก็มีประเด็นว่ามันจะลักลั่นเพราะว่าเข้าไปแบบหนึ่ง แล้วพอจะทำประชามติครั้งที่สอง กฎหมายก็เป็นอีกแบบ ซึ่งตรงนี้ประเด็นที่สำคัญ ที่เราคุยกันแล้ว และทุกคนก็เห็นด้วยกัน และมีในหลายประเทศ ก็คือ กฎหมายประชามติ มันจะใช้กับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ด้วย คือกฎหมายประชามตินี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แต่ว่ามีเพื่อ สภาฯ ก็ถามได้ แต่หากถามโดยใช้งบ 3,500 ล้านบาทนั้น ค่าของคำตอบต้องแพงพอ ซึ่งเรื่องรัฐธรรมนูญดูเหมือนจะมีดุลยภาพพอ แต่หากจะถามเรื่องจะสร้างเขื่อน ที่ใช้งบ 2,500 ล้านบาท แต่การทำประชามติใช้งบครั้งละ 3,500 ล้านบาท ก็ขาดทุนไปพันล้าน ก็เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล
-แนวโน้มตอนนี้ แก้ก่อนหรือแก้ทีหลัง อันไหนมีแนวโน้มมากกว่า?
ก็กำลังนัดกับกกต.มาหารือในรายละเอียด ซึ่งการแก้ไข ถ้าจะรีบ ก็เอาเข้าไปพร้อมกับตอนที่สภาฯจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ซึ่งผมได้เสนอครม.ไปแล้วว่า ขอให้ช่วยชี้มาด้วยว่า กฎหมายประชามติ เป็นกฎหมายปฏิรูปฯหรือไม่ เพราะหากเป็นกฎหมายปฏิรูป การเอาเข้าสภาฯ จะไม่เอาเข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องเอาเข้าที่ประชุมรัฐสภา ที่ก็จะใช้เวลาพิจารณาเร็วกว่าเพราะเป็นการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา แต่ว่าทางเข้ามา คราวที่แล้ว มันเข้ามาด้วยการเป็นกฎหมายปฏิรูปฯ แต่มันมีปัญหาตอนนี้ว่า วุฒิสภาชุดปัจจุบันหมดวาระเมื่อใด ซึ่งการที่จะเป็นกฎหมายปฏิรูปตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากสว.ไม่อยู่แล้ว ยังสามารถใช้ให้เป็นกฎหมายปฏิรูปได้หรือไม่ มันยังคาบเกี่ยวตรงนี้อยู่
-ฟังเสียงสว.ชุดปัจจุบัน ก็เหมือนกับไม่อยากให้แก้ไขกฎหมายประชามติ?
ไม่อยากมาก ผมไปถามแล้ว เขาบอกอย่างนี้ว่า กฎหมายฉบับนี้ ที่สว.ชุดนี้ออกมาเอง ยังไม่ทันได้ใช้สักมาตรา แล้วจะไปแก้ทำไม
หวังเร่งให้รธน.ฉบับใหม่ กฎหมายเลือกตั้ง-พรรคการเมือง เสร็จทันก่อนสภาฯหมดวาระ
-หากสมมุติมีการทำประชามติ โดยใช้กฎหมายปัจจุบัน ไม่ได้มีการแก้ไข และหากประชามติผ่าน ขั้นตอนต่อไปทำอะไร?
หากประชามติผ่านคือประชาชนเห็นชอบให้แก้ไข ก็จะมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งตอนนี้มีร่างของพรรคเพื่อไทยกับร่างของพรรคก้าวไกลยื่นไปอยู่ ที่มีหลักคือจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผ่านวาระแรก ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของสองสภาฯขึ้นมาพิจารณา โดยจะไปดูรายละเอียดต่างๆ เช่น เรื่องสสร.จะมาจากทางใดบ้าง จะให้มีที่มาแบบสสร.ที่มากยกร่างรธน.ปี 2540 หรือไม่ หรือจะให้สสร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด หรือจะเป็นแบบผสม คือมาจากทั้งการเลือกตั้งและจากการแต่งตั้ง ก็ต้องเป็นเรื่องที่กรรมาธิการฯต้องไปพิจารณา และพอได้ข้อสรุปแล้ว ก็ส่งไปให้ประชาชนทำประชามติ และหากประชามติผ่าน ประชาชนเห็นชอบ ก็ไปคัดเลือกสสร.กันต่อไป
และพอมีสสร.ทางสสร.ก็ต้องไปตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เข้าใจว่ากระบวนการตรงนี้ใช้เวลาเป็นปี โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีการไปฟังความคิดเห็นประชาชน และพอยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็เอาร่างรัฐธรรมนูญเข้าสภาฯ แต่ขั้นตอนตรงนี้ ขึ้นอยู่กับตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะส่งไปทำประชามติตอนรอบที่สองเช่นหากให้เอาเข้าสภาฯก่อน สภาฯ ก็อาจมีสิทธิ์ทักท้วงได้ แต่หากสสร.ยืนยัน(ตามร่างที่เสนอมา) ก็ให้เอาตามที่สสร.ยืนยัน พอขั้นตอนนี้เสร็จ ก็ส่งไปทำประชามติอีกครั้ง
"ทำประชามติสามครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งตามกฎหมาย จะใช้เวลาประมาณ 90-120 วัน ตีไปว่าใช้เวลาประมาณ 100 วัน หากทำประชามติสามครั้ง ก็เท่ากับประมาณ 300 วัน หากคิดหัวท้าย ก็ประมาณหนึ่งปี ส่วนการทำงานของสสร.ก็ประมาณ 7-8 เดือน มันก็มีเวลาล็อกอยู่ในแต่ละชั้น รวมเวลาแล้ว ก็ยังคิดอยู่ว่าจะทันกับวาระสภาฯชุดนี้ หรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าในส่วนของรัฐธรรมนูญจะทัน"
เราเห็นปัญหาว่าหากทำประชามติโดยยังไม่แก้กฎหมายประชามติ โดยใช้งบประมาณไป 3,500 ล้านบาท คนมาใช้สิทธิไม่ครบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั่วประเทศหรือ 26 ล้านคนจะทำให้งบประมาณเสียไปเปล่าๆ โดยหลังจากนี้จะได้เข้าคูหาเมื่อใดนั้นต้องรอให้กฎหมายประชามติฉบับใหม่เสร็จสิ้นก่อน แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยรายละเอียดอีกทีทั้งเรื่องงบประมาณ การกำหนดวัน แต่คาดว่าจะทำได้ภายใน 5 เดือนหลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ อยากให้การทำประชามติครั้งที่ 2 ไปตรงกับการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ช่วงต้นเดือน ก.พ.2568 และขอยืนยันการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำเสร็จในกรอบเวลา 4 ปี ของรัฐบาลนี้
-ตอนนี้อายุของสภาฯ เหลืออีกประมาณสามปี กระบวนการทั้งหมดจะทันหรือไม่?
สามปีต่อจากนี้ ที่จะทำได้ ในส่วนของประชามติ กรอบเวลาลดลงไม่ได้อย่างที่บอกจะใช้ประมาณหนึ่งร้อยวัน(ต่อการทำประชามติแต่ละรอบที่จะทำสามรอบ) ก็คือสามร้อยวัน แต่หากเซฟเวลาลงก็อาจเหลือสักสองร้อยแปดสิบวัน โดยขั้นตอนต่างๆ เช่นการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก็อาจต้องลดลงเช่นไม่ให้เกินหกเดือน ดูแล้วก็ยังทัน แต่ประเด็นปัญหาคือ หากถามว่าเสร็จคืออะไร ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ แล้วประกาศใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ พอเสร็จก็ต้องไปร่างกฎหมายลูก (กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ)อีกประมาณสิบฉบับ เพราะหากไม่มีก็ไปต่อลำบาก
เช่นหากรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง เช่นเปลี่ยนเรื่องระบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งดูแล้วช่วงนั้น สภาฯ อาจกำลังใกล้หมดวาระ ถามว่าแล้วมีโอกาสกฎหมายตกได้หรือไม่ ดูแล้วไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะอย่างตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่จุดเริ่มต้นเกิดสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ตอนปี 2538 ที่ให้มีสสร. แต่กระบวนการทั้งหมดไม่ได้เสร็จสมัยรัฐบาลนายบรรหาร เพราะมาเสร็จเอาตอนปี 2540 ซึ่งการยกร่างตรงนี้ สสร.ก็ยังทำหน้าที่ได้อยู่ แม้ต่อให้มีการยุบสภาฯ แต่ที่เราต้องการคือต้องการรัฐบาลใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ก็ต้องเร่งกฎหมายลูก ซึ่งกฎหมายลูกสองฉบับ( กฎหมายพรรคการเมือง -กฎหมายการเลือกตั้งส.ส.) ก็ใช้เวลาประมาณหกเดือน เรียกว่า เร่งกันไฟแล่บ
โดยสภาฯชุดปัจจุบัน อาจต้องมาคุยกันว่า อย่าไปดึงกันมาก รัฐบาลต้องดูแล เพื่อให้นำร่างรัฐธรรมนูญส่งไปให้ประชาชนให้ได้ เพราะเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องทำให้เสร็จในสมัยรัฐบาลนี้ เพราะหากรัฐธรรมนูญเสร็จ แต่กฎหมายลูกไม่เสร็จ ก็เหมือนเสร็จตามลำพัง ที่เหมือนแม่อยู่คนเดียว มันก็กลายเป็นไม่มีครอบครัว
แจงเหตุประชามติ ไม่แตะหมวด1-หมวด2
-ที่ยังถกเถียงกันอยู่ในเรื่องคำถามประชามติ ที่จะถามประชาชนในการทำประชามติครั้งแรกว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวดหนึ่งกับหมวดสอง ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่ว้าวุ่นหรือไม่?
ไม่ว้าวุ่น แต่ถ้าไม่เว้น จะว้าวุ่น ซึ่งตอนนี้ก็มีความเห็นเป็นสองทาง ฝ่ายหนึ่ง ก็บอกว่าการไม่เว้นไว้ จะทำให้มีปัญหา นั่นคือฝ่ายที่คิดว่าแก้ด้วยดีกว่า แต่ที่จะมีปัญหาคือ พอถามโดยไม่มี ก็จะทำให้มีคนไปพยายามแก้ คราวนี้ พอพยายามแก้หมวดหนึ่ง-หมวดสอง ก็จะทำให้ฝ่ายที่เขาเห็นว่าไม่ควรแก้หมวดหนึ่ง-หมวดสอง ที่จะคิดว่า จะไปยุ่งอะไรกับหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดเรื่องความเป็นรัฐเดียว อย่างที่ก็พูดกันเรื่อง ปัตตานี มันจะมีปัญหาหรือไม่ เขาก็จะกังวลกัน ที่ก็มีสิทธิกังวลได้ ถ้าคนกลุ่มนี้เห็นว่า จะแก้อะไรก็ได้ แล้วเขาไม่มาลงคะแนนออกเสียงประชามติ เพราะกลัวจะไปแก้หมวดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เรียบร้อย ก็ไม่ผ่านประชามติเพราะความกังวล ตรงนั้นที่ผมพูดถึงความขัดแย้งในวิกฤตรัฐธรรมนูญ
ผมกลัวว่า ถ้าทั้งสองฝ่าย เริ่มไปสร้างทัพขึ้นมาทั้งสองทัพ แล้วเคลื่อนเข้าหากัน ความขัดแย้งมันจะกลับมา แล้วมันจะรุนแรง ตรงนี้รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ เพราะต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น แต่ถ้าต้องแลกด้วยความขัดแย้งที่มันจางลงไปแล้วตอนนี้ ประเทศควรสงบได้ แล้วเราจะไปจุดไฟในนาครขึ้นมาทำไม จุดตรงนี้ เราก็เลยจะพูดให้ชัดเลยว่า จะไม่แก้หมวดหนึ่งกับหมวดสอง
-เท่าที่เห็นก็มีพรรคก้าวไกล ที่ยังคาใจเรื่องนี้ คำถามประชามติอยู่?
ก็ใช่ ซึ่งถ้าพูดกันในหลักการทางการเมือง พรรคก้าวไกลมีร้อยกว่าเสียง ส่วนประชาธิปัตย์ ก็เหมือนจะเห็นด้วยกับการให้เว้นไม่ให้แก้หมวดหนึ่ง-หมวดสองด้วย ซึ่งพรรคฝ่ายรัฐบาลมีอยู่สามร้อยกว่าเสียง แล้วหากคิดถึงคนที่เลือกพรรคฝ่ายเขาเข้ามา ก็เท่ากับเขาเป็นตัวแทนของเสียงข้างนี้
ซึ่งก่อนที่คณะกรรมการฯ จะเอาเรื่องเข้าครม. ทางคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาคุยแล้ว เราก็บอกว่าเราไม่มีทางไปแล้ว เราจะให้ทำประชามติสามครั้ง และแจ้งว่า คำถามประชามติจะเป็นแบบนี้ ทุกคนก็ยืนยันว่าเมื่อนโยบายรัฐบาลเป็นแบบนั้น เราก็ถามไปตรงๆ เลย (คำถามประชามติ) โดยบอกประชาชนว่า การถามประชามติเป็นเรื่องที่รัฐบาลถามต่อนโยบายที่รัฐบาลจะทำ ในเมื่อรัฐบาลจะถาม รัฐบาลก็มีสิทธิ์จะถามในนโยบายตัวเองได้ที่เคยบอกว่าจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดหนึ่ง-หมวดสอง ดังนั้น ก็ถามไปตามนี้เลย ตรงไปตรงมา เพราะเรื่องนี้มันก็เป็นข้อตกลงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
ดังนั้นเรื่องนี้ควรจบได้แล้ว ซึ่งความเห็นของฝ่ายค้านก็ให้ความเห็นมา เราก็ฟัง แต่เราจะทำตามสิ่งที่ประกาศกับประชาชนไว้
-ก็มีบางคนวิเคราะห์ว่า ไม่แน่ ประชามติอาจไม่ผ่านตั้งแต่ยกแรกเลย?
คือมันเป็นเหรียญสองด้าน แต่ด้านไหนใหญ่กว่า ด้านไหนหัว ด้านไหนก้อย ประเด็นคือหากเราเว้นไว้ ฝ่ายที่กังวลว่าจะมีการแก้ไขหมวดหนึ่ง -หมวดสอง โดยเฉพาะหมวดสองเกี่ยวกับสถาบันฯ ที่กำลังร้อนในเรื่องเหล่านี้ เคยมีคนถามผมว่า ทำไมสมัยนายกฯบรรหาร ไม่เห็นมีการพูดกันเรื่องเหล่านี้เลย ผมก็ตอบไปว่า ก็สมัยนั้น ไม่มีใครมาให้ความเห็นเรื่องสถาบันฯ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ คนก็เลยกังวล ก็เลยกันไว้ก่อน ผมก็เรียนว่า ถ้าหากเป็นแบบนั้น ก็ไม่ผ่าน คือคนที่กังวลเรื่องนี้จะไม่มาโหวตให้ เพราะเกรงว่าหากให้ความเห็นชอบไป แล้วจะไปอ้างได้ว่า แก้ได้ทุกหมวด
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีด้วยกัน 16 หมวด บวกกับหมวดเฉพาะกาล รวมเป็น 17 หมวด ซึ่งหมวดหนึ่งกับหมวดสอง หมวดที่เหลือ ผมเคยศึกษาแล้ว ตั้งแต่หมวดสามเป็นต้นไป มีปัญหาหมดเลย ที่จะต้องแก้ เป็นปัญหามาก
ซึ่งการที่จะมาแลกกับการที่ว่าแค่ความรู้สึก แล้วพอเราเอาเข้าไป โดยที่ 16หมวดไม่ได้แก้กันเลย แล้วเราจะแลกหรือ เดี๋ยวก็เหมือนกับตอนตั้งรัฐบาล เรื่อง 112 ตั้งไม่ได้ ก็เพราะ 112 ประมาณนั้น
-คิดว่าจะมีส่วนอื่นอีกหรือไม่ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ยกเว้นเรื่องหมวดหนึ่ง กับหมวดสอง?
เรื่อง สสร.ก็อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ก็จะเป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ (คณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา) บางคนก็เสนอให้สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่สำหรับผมมีประเด็นอื่นก็คือว่า ถ้ามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันจะถูกร้องหรือไม่ว่า ไม่ยึดโยงกับสภาฯ แต่ใจผม ต้องการทำให้ได้ แต่รายละเอียด ก็ต้องแล้วแต่ประชาชน คงไม่เข้าไปยุ่ง แต่ความเห็นส่วนตัว คือให้มาจากประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ที่มาจากประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่ว่าเพื่อประชาชนแต่มาจากทหาร โดยทหาร โดยการยึดอำนาจ แบบนี้ไม่เอา อันที่สอง คือต้องเขียนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะโลกมันหมุนเร็ว ไม่ใช่ผูกไว้เหมือนปัจจุบันนี้ ที่แทบแก้ไขไม่ได้เลย ล็อกไว้ไม่รู้กี่ชั้น ซึ่งพอแก้ไขได้ ก็จะได้ไม่ถูกฉีก ที่ถูกฉีด เพราะว่าแก้ไขไม่ได้
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญเอง เหมือนกับเป็นกลไกในการบริหารประเทศ ถ้าเราตั้งหลักตรงที่ว่า โลกหมุนไป ประชาชนในยุคหน้า ถ้าเขาจะแก้ไขอะไร ก็ให้แก้ไขได้ แค่นี้เอง ผมต้องการแค่นี้ สสร.มาจากประชาชนและรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้โดยไม่ยากนัก
-แต่ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อดีเยอะ เช่นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ดังนั้น จะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ?
เรื่องปราบโกง ผมก็พูดตรงไปตรงมา เราเขียนมัดไว้ จนกระทั่งรัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ช่วยประชาชนก็ไม่ได้ จะเขียนจดหมายไปบอกว่า สะพานตรงนี้พังก็ไม่ได้ ผิด คือตรงนี้ที่เราเป็นห่วงก็คือว่า หากถามกันตรงนี้ คนที่ไม่อยากแก้ก็มี แต่ก็ไม่มากนัก จากที่ไปรับฟังความคิดเห็นมา ที่อยากให้แก้ อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเยอะกว่า แต่ตรงนี้ก็มี (ที่ไม่อยากให้แก้) เขาก็อาจตั้งอยู่ในที่ตั้ง แล้วรอตรวจสอบว่าจะมีช่องทางไหน attack ได้บ้าง หากบอกว่าแก้ได้หมด เขาก็จะบอกว่าจะมาแก้หมวดพระมหากษัตริย์ ผสมโรงด้วย พอผสมโรงด้วย ก็ขยายผล หรือไปตั้งหลักขึ้นมา แล้วตั้งเป็นกองกำลังเลย บอกว่าไม่เห็นด้วย ก็จะมีความขัดแย้ง เพื่อทำให้เกิดเรื่อง บางคนอาจจะบอกทำให้เกิดเรื่องดีกว่าเพื่อที่จะได้ยึดอำนาจอีกครั้ง ก็มีคนคิดเหมือนกัน ทำไม จะไม่มีคนคิด คือไม่ได้อยากกลับไปที่รัฐธรรมนูญแต่อยากกลับไปอีกแบบหนึ่ง ก็มีคนคิด เพราะฉะนั้นเราต้องระวังทุกเรื่องทั้งหมด ต้องไม่ให้เกิดอะไรขึ้น ความขัดแย้งต้องไม่ให้เกิดขึ้น เพราะเราติดหล่มความขัดแย้งมายี่สิบปีแล้ว ควรพอแล้ว ประเทศมันรับไม่ไหวแล้ว
-จากที่ได้ทำงานใกล้ชิดนายภูมิธรรม แกนนำของพรรคเพื่อไทย เท่าที่ได้สัมผัส ความจริงจังจริงใจของพรรคเพื่อไทยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีมากแค่ไหน?
มีสูง เพราะว่าเขาตั้งหลัก เขาพยายามแก้ไขอยู่ตลอดมาเป็นสิบปีแล้วเหมือนกัน เขามีสูง เชื่อว่าเขาอยากจะแก้จริง แต่อย่างที่บอก การแก้ไขมันยาก ถูกดักไว้เยอะ แต่อย่างที่บอก ความสำเร็จของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนปี 2540 อยู่ที่คำสัญญาทางการเมือง เพราะฉะนั้น พรรคเพื่อไทยและทุกพรรคที่มารวมกัน ได้สัญญากับประชาชนไว้แล้วว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเว้นหมวดหนึ่งกับหมวดสอง ซึ่งคำสัญญาตรงนี้ มันก็จะบังคับ ส่วนจะจริงใจ-ไม่จริงใจ ในทางลึก จะไปส่องเอ็กซ์เรย์ดูไม่ได้ แต่ว่าตรงนี้ จะต้องดำเนินการตามที่พูดในทางการเมือง ตรงนี้จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในทางเปิดเผย ซึ่งถ้าทำสำเร็จ มันก็เป็นพวกสำหรับเขา จะได้เครดิตเยอะ ในการทำเรื่องนี้สำเร็จ
สุดท้ายส่อเลื่อน ประชามติแก้ไขรธน. รอแก้กฎหมาย ก่อนโหวตออกเสียง
อย่างไรก็ตาม มีความคืบหน้า ล่าสุดของเรื่องนี้ออกมาอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทาง “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติพ.ศ. 2564” ที่นำโดย นิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการฯ ได้หารือร่วมกับ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมถึงตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง “นิกร” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ว่า ที่ต้องเชิญนายชูศักดิ์ และนายพริษฐ์ มาร่วมประชุมเพราะทั้งคู่เป็นผู้ริเริ่มการแก้ไขกฎหมายประชามาติในส่วนของสภา จึงต้องการรับฟังความคิดเห็น โดยผลการหารือคณะกรรมการพิจารณาแนวทางประชามติ ได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ โดยนำจุดแข็งของแต่ละร่างมารวมกันเพื่อให้ได้กฎหมายประชามติที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญแต่ทำประชามติได้ทุกเรื่อง
.... โดยจะเสนอในนามของคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญอาทิ การออกเสียงประชามติสามารถนำไปรวมกับการเลือกตั้งอื่นได้เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลาของประชาชนที่ต้องมาออกเสียง สามารถออกบัตรเลือกตั้งอื่นได้เช่นการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์และการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชั่น
และประเด็นสำคัญให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาออกเสียง ไม่ใช่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แทนของเดิมที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น
“นิกร”เปิดเผยว่า วันที่ 3 พ.ค. คาดว่าร่างดังกล่าวจะสามารถเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนได้ผ่านเว็บไซต์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบได้ต่อไป โดยความตั้งใจจะเสนอร่างดังกล่าวได้ทันการเปิดสภาฯสมัยวิสามัญ หลังการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2568 เมื่อสภาเปิดสมัยสามัญ เดือน ก.ค. ก็จะได้พิจารณาวาระต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้ามาแล้ว
เมื่อถามว่าสรุปแล้วจะได้ลงประชามติเดือนไหน หลังจากที่เคยระบุปลายเดือน ก.ค.ต้นเดือน ส.ค. ประชาชนจะได้ออกเสียง “นายนิกร”ตอบสื่อมวลชนไว้ว่า เราเห็นปัญหาว่าหากทำประชามติโดยยังไม่แก้กฎหมายประชามติ โดยใช้งบประมาณไป 3,500 ล้านบาท คนมาใช้สิทธิไม่ครบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั่วประเทศหรือ 26 ล้านคนจะทำให้งบประมาณเสียไปเปล่าๆ โดยหลังจากนี้จะได้เข้าคูหาเมื่อใดนั้นต้องรอให้กฎหมายประชามติฉบับใหม่เสร็จสิ้นก่อน แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยรายละเอียดอีกทีทั้งเรื่องงบประมาณ การกำหนดวัน ถ้าถามเวลาตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าจะทำได้ภายใน 5 เดือนหลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ และตนอยากให้การทำประชามติครั้งที่ 2 ไปตรงกับการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ช่วงต้นเดือน ก.พ.2568 และขอยืนยันการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำเสร็จในกรอบเวลา 4 ปี ของรัฐบาลนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
'พงษ์ศักดิ์' แชมป์เก่า 6 สมัย ร้องประธาน กกต. สั่งระงับรับรองผลเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น
นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หมายเลข 2 ได้ทำหนังสือเข้าร้องเรียน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังตรวจพบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หมายเลข 1 ได้หาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเฟสบุ๊ค จ
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
‘สนธิญา’ ยื่น กกต.สอบ ‘ทักษิณ’ ถือสัญชาติไทย-มอนเตฯ หรือไม่ เสี่ยงผิดกม.เลือกตั้งท้องถิ่น
สนธิญา ยื่น กกต.สอบ ทักษิณ ถือสัญชาติไทย-มอนเตฯ หรือไม่ เสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น-พรรคการเมือง-รธน. ห้ามคนต่างชาติเอี่ยวการเลือกตั้งทุกระดับ พ่วงร้องสอบหาเสียงหยาบคาบ เป็นเท็จ อาจทำเลือกตั้ง อบจ.อดุรฯ โมฆะ
ฟิล์ม-รัฐภูมิ ยื่น กกต.ไขก๊อกพ้นสมาชิก พปชร. ‘ไพบูลย์’ ชี้เรื่องส่วนตัวไม่กระทบพรรค
เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ยังไม่รู้ว่าเขาผิดหรือเขาถูก เพราะเราไม่เกี่ยวข้อง และเรื่องนี้ไม่กระทบกับภาพลักษณ์พรรค ไม่ทำให้เรามีปัญหา