อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างผันผวน ผิดเพี้ยนไปจากการเปลี่ยนแปลงโดยวิถีธรรมชาติ ที่เคยดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ.. จนเข้าสู่วิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกว่า Climate Change .. จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของประชาคมโลกที่ต้องให้ความสนใจยกขึ้นมาเป็นปัญหาระดับนานาชาติ.. ที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขป้องกัน.. เพื่อช่วยกันลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่กำลังเข้าสู่ ภาวะโลกร้อน (Global warming)

จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง.. จนก่อเกิดภัยพิบัติของธรรมชาติอย่างฉับพลัน.. อย่างยากจะป้องกันแก้ไข.. จึงเรียกว่า ภาวะโลกรวน!

สาเหตุสำคัญของ ภาวะโลกรวน คือ ก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมาก จนโลกไม่สามารถรักษาสมดุลไว้ได้

หากเราศึกษาพระสัทธรรมในพุทธศาสนา.. จะแสดงไว้ชัดเจนในเรื่องสภาพปกติ.. ความเป็นธรรมดาในธรรมชาติ ที่เป็น สามัญลักษณะ ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง...

คำว่า ไม่เที่ยง .. จากบาลีว่า อนิจจัง .. นับเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่ง ที่หากใครสามารถพัฒนาให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงได้ว่า.. ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง นับเป็นคุณค่าอันวิเศษยิ่ง

จริงๆ แล้ว ความไม่เที่ยง .. นับเป็นเรื่องปกติสามัญที่สามารถเห็นได้เป็นธรรมดาในทุกสรรพสิ่งของโลก.. ที่รวมเรียกว่า โลกธรรม โดยย่อลงเหลือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพื่อให้สอดคล้องสัมพันธ์กับชีวิตของเราทั้งหลายที่เป็นสัตว์โลก

พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นความเป็นจริงของโลกธรรมว่าเป็น อนิจจัง.. ไม่เที่ยง.. แปรปรวนเปลี่ยนแปลง และดับสูญสิ้นสลาย ไร้อัตตาตัวตน.. ยากจะต้านทาน.. โดยแสดงความเป็นธรรมดาว่า.. “สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย.. เมื่อเหตุปัจจัยสิ้นไป.. สิ่งเหล่านั้นย่อมสูญสิ้นไป ไร้อัตตาเที่ยงแท้.. ไม่เป็นไปตามความต้องการของใครๆ.. ทุกอย่างต้องสละคืน.. จะถือความเป็นเจ้าของมิได้..”

“อนิจจัง” .. ตัวเดียว สะท้อนความเป็นจริง เพื่อให้เห็นตรงตามความเป็นจริงว่า.. อย่าได้ใหญ่เกินธรรมชาติ จะฉิบหายโดยไม่เหลือซาก...

การใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท.. คือ การดำรงอยู่อย่างมีสติปัญญา.. เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพในชีวิต ที่ก่อให้เกิดสันติสุข.. จึงเป็นหลักธรรมเพื่อการบริหารชีวิตที่ประเสริฐยิ่งในพระพุทธศาสนา

“อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ”.. จึงเป็นพระพุทธดำรัสที่มีคุณค่ายิ่ง เพื่อไม่ให้ชีวิตตกไปสู่ความเสื่อม พลาดโอกาสแห่งความดีงาม.. ด้วยความหมายที่ว่า..

“เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

“ความไม่ประมาท..” เป็นอำนาจธรรมที่กลับคืนมากระตุ้นให้เราดำรงตนอยู่อย่างมี สติสัมปชัญญะ เพื่อระลึกรู้ชอบ เพื่อสร้างความรู้ทั่วถึงอย่างบริบูรณ์ด้วยตนเองโดยประการต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อนไปจากธรรม.. ที่จะได้นำไปสู่การปฏิบัติชอบตรงตามธรรม.. ไม่ละเลยการปฏิบัติที่เป็นกุศลธรรมในโอกาส เวลา ความพร้อม ที่พึงมี

“การทำกิจให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท” .. จึงสมบูรณ์ บริบูรณ์ ด้วยความหมายแห่งธรรมในพระพุทธศาสนา.. โดยอ้างอิงกับคำว่า “วะยะธัมมา สังขารา” ที่แปลว่า.. สังขาร คือ สิ่งที่ปรุงแต่งทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ดังที่กล่าวไปแล้วในความเป็น อนิจจัง ของสังขารทั้งหลาย

สิ่งที่เสื่อมไปเป็นธรรมดา.. ที่ถูกเรียกว่า สังขาร.. จึงหมายถึง โลกทั้งปวง สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งมีชีวิต.. ไม่มีชีวิต และสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณครอง.. ไม่มีจิตวิญญาณครอง.. โดยเฉพาะความเป็นรูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่มาประชุมกัน ทั้งในความเป็นชีวิตของเราก็ดี.. หรือในชีวิตของผู้อื่นก็ดี ตลอดจนถึงธาตุทั้งหลายในโลกนี้ ที่ตกอยู่ในกฎความจริงดังกล่าวนี้ ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม

พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ๕ สิ่งที่ใครๆ ไม่อาจจะขอได้ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติตามธรรมนิยาม ได้แก่

๑.ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ว่า.. จงอย่าแก่!

๒.ขอสิ่งที่มีความป่วยเป็นธรรมดา ว่า.. จงอย่าป่วย!

๓.ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ว่า.. จงอย่าตาย!

๔.ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ว่า.. จงอย่าสิ้นไป!

๕.ขอสิ่งที่มีความพินาศไปเป็นธรรมดา ว่า.. จงอย่าพินาศไป!

ความเข้าใจเช่นนี้.. ย่อมจักเป็น ทิฏฐุชุกรรม ที่จะนำไปสู่การมีปัญญารู้เห็นชอบ เพื่อ ปลง-ปลด-ปล่อย สังขาร เหล่านั้นจากการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา..

ผู้ปลงสังขารได้.. ก็ย่อมปลดเครื่องพันธนาการที่ผูกรัดมัดยึดจิตใจให้ติดอยู่กับโลกธรรมให้สิ้นไปได้.. เพื่อการเข้าถึงการปล่อยวาง.. ไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างโง่งมงายอีกต่อไป

ความสุข ความสงบ จึงเกิดขึ้นได้จริงในปัจจุบันธรรมของบุคคลนั้นๆ.. ที่รู้จักการ ปลง ปลด ปล่อย.. และละสิ้นการยึดถือผูกพัน ในโลกธาตุ .. โลกธรรมทั้งหลาย

ความสุขที่แท้จริง.. จึงเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติอย่างมีสติปัญญา.. ไม่ขัดแย้ง ไม่มีปัญหากับกฎธรรมชาติ ไม่โต้แย้งคัดง้างกับกฎธรรมดา.. ด้วยความรู้เข้าใจตรงตามความเป็นธรรมดา ว่า.. มันเป็นอย่างนั้น.. จะต้องเป็นอย่างนั้น.. จักไม่แปรเป็นอย่างอื่น!!

คนในสังคมปัจจุบัน ที่มากไปด้วยความทุกข์ เพราะไม่เข้าใจในความจริงของธรรมชาติ ที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง.. จึงขัดเคืองใจ รำคาญใจ และนำไปสู่การก่อความขัดแย้งกัน.. ทะเลาะวิวาทกัน อย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย เพราะมัวแต่วุ่นวายกับความนึกคิดที่วิบัติไปจากธรรม...

คนสองจำพวกที่อยู่ในโลก อย่างเสมือนไม่เป็นทุกข์.. คือ พระอริยเจ้ากับคนบ้า.. แม้จะมีนัยแห่งธรรมที่ตรงข้ามกับในบุคคลสองประเภทดังกล่าว ด้วยพระอริยเจ้าอยู่ร่วมกับความทุกข์อย่างไม่เป็นทุกข์.. เพราะรู้จักปล่อยวาง.. ซึ่งต่างกับคนบ้า ที่ไม่รู้ประสีประสาในความทุกข์ จึงดูเหมือนไม่เป็นทุกข์ เหมือนคนทั่วไป.. จึงมีคำกล่าวเล่นๆ ในสังคมปัจจุบันว่า.. ทำตัวบ้าเสียบ้าง.. จะได้สบายใจ!!

จึงเห็นชีวิตของคนเราในสังคม ที่โลดแล่นไปตามกระแสสังขาร อย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย เกลียดกลัวในความทุกข์ มิหนำซ้ำ ยังกลับแสดงอาการความพึงใจ ชอบใจ.. สุขใจ.. ในขณะที่เสวยอยู่กับกระแสความทุกข์นั้น.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิปลาสบุคคล ที่ดูเหมือนเป็นธรรมดา จนให้สำคัญมั่นหมายว่า เป็นปกติบุคคล ที่กลายเป็นแบบอย่างของคนในสังคมสมัยใหม่ไปอย่างน่าสังเวชยิ่ง.. ทั้งนี้ เพราะความมี มิจฉาทิฏฐิ ในจิตใจของสัตว์เหล่านั้น.. ที่นับวันยิ่งหนาแน่นขึ้น จนกลายเป็นกระแสโลกนิยม.. ว่า... คนดีในสังคม.. ต้นแบบที่ควรยกย่อง คือ คนประเภทนี้..

จึงควรพิจารณาอย่างยิ่ง.. เพื่อเข้าใจในคำว่า ความไม่ประมาท ที่พระพุทธองค์ตรัสยกเป็นยอดแห่งธรรม โดยรวมกุศลธรรมทั้งหมด ลงในความไม่ประมาทเป็นมูล.. ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่า กุศลธรรมทั้งหลาย!!

ในวันนี้ของสังคมที่เร่าร้อนด้วยเรื่องราวต่างๆ นานา.. มีแต่การเบียดเบียนทำร้ายทำลายกัน ก่อความทุกข์ให้กันและกัน.. อย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย.. ก็ด้วยมีความประมาทเป็นมูล.. อันเนื่องจากความไม่เข้าใจในเรื่องของ “สังขารว่าไม่เที่ยง”.. มันเป็นอย่างนั้นจริๆ !!..

                                                       เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .