ประเทศไทยในทุกวันนี้ ประชาชนจำนวนมากมองประเทศจะต้องประสบกับภาวะความยากจน และต้องตกอยู่ในภาวะที่ขาดแคลน ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการมีหนี้สินล้นพ้น ซึ่งสาเหตุของความยากจนดังกล่าวก็เกิดจากการไม่มีงานทำ ประชากรเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของประชากร รวมถึงความเกียจคร้านและความเฉื่อยชาของประชาชนเอง ตลอดจนลักษณะของอุตสาหกรรม ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมและสังคม และขาดการกระจายรายได้ที่เหมาะสมก็ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นความจริงที่ประชาชนในประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธได้เลย เพราะถ้าหากประชาชนว่างงานก็ไม่มีรายได้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เห็นได้ชัดของความยากจนคือคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ และความยากจนยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และส่งผลไปเป็นปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม และยังครอบคลุมถึงการขาดโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การไร้ซึ่งอำนาจ และส่งผลทางด้านสุขภาพจิตของบุคคลที่ก่อให้เกิดความท้อแท้สิ้นหวังในชีวิตต่างๆ ตามมา จะเห็นได้ว่าปัญหาความยากจนเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเข้ามาแก้ไขในส่วนของเศรษฐกิจและสังคม เช่นให้การศึกษาอย่างเข้าถึงและทั่วถึง เพราะการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพที่มีความก้าวหน้า รวมทั้งส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพอนามัย และให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนสร้างอาชีพให้แก่ประชาน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ
ทั้งนี้ สาเหตุของความยากจนที่มาจากปัจจัยภายใน อาจจะมาจากการมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพต่ำ เนื่องจากประชากรขาดโอกาสในการศึกษาและพัฒนาทักษะต่างๆ การขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ การมีปัญหาสุขภาพ และการมีภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ รวมไปถึงการมีทรัพย์สินและที่ดินในการทำกินน้อย โดยปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุภายในบุคคลที่ทำให้บุคคลกลายเป็นคนจนได้ ในส่วนสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ก็อาจจะเป็นเพราะนโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุลของภาครัฐ เช่น การเน้นพัฒนาเมืองมากกว่าพัฒนาชนบทหรือการพัฒนาชนบท การเน้นแต่ทุนทางกายภาพโดยขาดการส่งเสริมทุนทางสังคม การเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมมากกว่าการเกษตร การเน้นการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เพื่อการพาณิชย์โดยไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน การเน้นเป้าหมายการเจริญเติบโต ทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าการกระจายรายได้ให้กับประชากร การเน้นการเปิดประเทศมากเกินไปในขณะที่ยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบในด้านต่างๆ ที่ดีพอ รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม และระบบราชการไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจนทั้งในแง่ขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ซับซ้อนและล่าช้า ไปจนถึงความซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่างๆ ในขั้นตอนการปฏิบัติการ อีกทั้งความไม่สอดคล้องกันของแผนงานและงบประมาณในระดับต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหลักจากภายนอก ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาความยากจนและซ้ำเติมคนจนมากขึ้นเช่นกัน
ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาความยากจน สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักคือ รัฐบาลควรเข้ามาประสานความช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจของผู้ประสบปัญหา ด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยอาจมีการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน การส่งเสริมเศรษฐกิจในอาชีพเกษตรกรรม การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในการจัดบริการพื้นฐานทางสังคมแก่คนจน และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนจน เช่น การเปิดเวทีประชาคมท้องถิ่น การขยายเครือข่ายและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน การถ่ายทอดความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน การปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเหมาะสม รวมถึงการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมและผู้ด้อยโอกาส เช่น การขยายขอบเขตการประกันสังคมและการมีสวัสดิการให้ครอบคลุมผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาส ไปจนถึงสวัสดิการโดยชุมชน เช่น การเตรียมความพร้อมในการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่ประชากรแต่ละช่วงวัย โดยเน้นวัยชราเป็นสำคัญ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การจัดระบบของการเกษตร การประมง อย่างมีวิธีการเป็นระเบียบ ตลอดจนการปรับปรุงระบบบริหารภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น การปรับกระบวนทัศน์และบทบาทหน่วยงานภาครัฐทั้งหน่วยงานส่วนกลางและระดับท้องถิ่น การจัดทำแผนงาน/โครงการที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ปรับปรุงระบบงบประมาณ และการจัดทำโครงการต่างๆ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาความยากจน
ดังนั้น ที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ถึงแม้จะมีการดำเนินงานในหลายมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา ดำเนินการโดยกระทรวง หรือหน่วยงานที่มีภาระกิจโดยตรงในมิตินั้นๆ ตามอำนาจหน้าที่ และความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน โดยยังไม่มีกลไกการกำกับดูแล ติดตาม และบูรณาการการดำเนินงานขจัดความยากจนในภาพรวม นอกจากนี้ มาตรการหรือโครงการเพื่อขจัดความยากจนของแต่ละหน่วยงานส่วนใหญ่จะเป็นการเสนอแนวทางจากระดับนโยบายสู่ระดับพื้นที่ ในลักษณะของการดำเนินงานแบบถ้วนหน้า หรือผ่านองค์กรชุมชนเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนทุกภาคส่วนควรจะมองการณ์ไกลไปในการช่วยเหลือในทุกด้าน รวมถึงการเข้ามามีบทบาทร่วมมือจากหน่วยงานความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จึงจะทำให้เห็นได้ว่าสังคมไทยนั้นยังคงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาแก้ไขปัญหาความยากจนอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คำถามในเรื่องปัญหาความยากจนในสังคมไทย ยังคงต้องได้รับการตอบสนองแก้ไขอย่างไม่มีวันจบสิ้น ทุกวันนี้ก็ยังคงกลายเป็นคำถามทุกยุคสมัยต่อๆ ไป ในการหาแนวทางแก้ไขเยียวยาปัญหาความยากจนอย่างไม่รู้จบจักสิ้น
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. มรกต ณ เชียงใหม่
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'รวยด้วยหวย' ความคาดหวังของสังคมไทย
หวยกับสังคมไทย อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต การเล่นหวยในประเทศไทยมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 2 จากการที่คนจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
ระวังคนพูดโกหกเป็นนิสัย จิตใต้สำนึกจะคิดว่าคือความจริง ผู้รับกรรมคือสังคม
นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า คนที่พูดเท็จหรือโกหกเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย
เลิกเข้าข้างคนผิด! รัฐบาล พท. อยากอยู่ครบวาระ บอก 'ทักษิณ' เข้าคุกเถอะ
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าเข้าข้างคนผิด
'10 สว.บิ๊กเนม' ผนึกกำลังตั้งมูลนิธิแก้จน 'สังศิต' นั่งประธานฯ เคาะวัตถุประสงค์ 9 ข้อ
ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์ข้อความ เรื่อง 10 สว. ผนึกกำลังตั้งมูลนิธิแก้จน มีเนื้อหาดังนี้
สังคมไทยหลังเลือกตั้ง ความหวังลดความเหลื่อมล้ำระบบสาธารณสุข
สงกรานต์และวันปีใหม่ไทยผ่านมาอีกครั้ง พร้อมกับความหวังใหม่ ๆ ที่มากับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ดิฉันได้ยินนโยบายมากมายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมาช่วงหลายเดือนนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วดิฉันคิดว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการอาจไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากไปกว่า ความต้องการที่ว่ายามเมื่อเขาเดือดร้อน ภาครัฐเป็นที่พึ่งให้เขาได้แค่ไหน สวัสดิการของรัฐได้ช่วยให้เขาพ้นวิกฤตของชีวิตได้เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาเป็นประชาชนส่วนน้อยที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กับประเทศนี้